‘บ่าวสัตย์ซื่อ’และคณะกรรมการปกครอง
“ที่จริง ใครเป็นบ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบผู้ซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของท่าน ให้แจกจ่ายอาหารแก่เขาตามเวลาที่สมควร?”—มัดธาย 24:45, ล.ม.
1. เหตุใดพระยะโฮวาจึงเต็มพระทัยมอบอำนาจ และทรงมอบแก่ใครเป็นประการแรก?
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแห่งความเป็นระเบียบ. พระองค์ยังทรงเป็นแหล่งแห่งอำนาจอันถูกต้องเป็นธรรมทั้งสิ้น. เนื่องด้วยพระองค์มั่นใจในความภักดีของผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ พระยะโฮวาจึงเต็มพระทัยมอบอำนาจให้. ผู้ที่พระองค์ทรงมอบอำนาจให้มากที่สุดคือพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์. ที่จริง พระเจ้า “ทรงปราบสิ่งสารพัดทั้งปวงลงไว้ใต้พระบาทของพระองค์ และได้ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งคริสต์จักร [ประชาคม].”—เอเฟโซ 1:22.
2. อัครสาวกเปาโลเรียกประชาคมคริสเตียนว่าอย่างไร และพระคริสต์ทรงมอบอำนาจแก่ใคร?
2 อัครสาวกเปาโลเรียกประชาคมคริสเตียนว่า “ครอบครัวของพระเจ้า” และกล่าวว่าพระคริสต์ในฐานะพระบุตรที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าถูกตั้งไว้เป็นใหญ่เหนือครอบครัวนี้. (1 ติโมเธียว 3:15; เฮ็บราย 3:6) อีกด้านหนึ่ง พระคริสต์ทรงมอบอำนาจให้บรรดาสมาชิกแห่งครอบครัวของพระเจ้า. เราทราบเรื่องนี้ได้จากคำตรัสของพระเยซูที่มีบันทึกไว้ในมัดธาย 24:45-47 (ล.ม.). พระองค์ตรัสว่า “ที่จริง ใครเป็นบ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบผู้ซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของท่าน ให้แจกจ่ายอาหารแก่เขาตามเวลาที่สมควร? บ่าวผู้นั้นก็เป็นสุขเมื่อนายมาถึง พบเขากำลังกระทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะตั้งเขาไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.”
คนต้นเรือนในศตวรรษแรก
3. ใครที่ประกอบกันขึ้นเป็น “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ” และพวกเขาแต่ละคนถูกเรียกว่าอย่างไร?
3 จากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วน เราทราบว่า ณ เวลาใดบรรดาสมาชิกแห่งครอบครัวของพระเจ้าซึ่งถูกเจิมด้วยพระวิญญาณนั้นรวมกันขึ้นเป็น “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ” “คนต้นเรือน” หรือ “พ่อบ้าน.” ในฐานะเป็นปัจเจกชน สมาชิกแต่ละคนแห่งครอบครัวของพระเจ้าถูกเรียกว่า “คนรับใช้” หรือ “หมู่คนรับใช้.”—มัดธาย 24:45; ลูกา 12:42, ล.ม. ฉบับมีข้ออ้างอิง หมายเหตุ.
4. ไม่นานก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงยกคำถามอะไรขึ้นมา และพระองค์ทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนใคร?
4 ไม่กี่เดือนก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงยกคำถามนี้ขึ้นมา ดังมีบันทึกไว้ในลูกา 12:42 (ล.ม.) ว่า “ใครเป็นคนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุมจริง ๆ ซึ่งนายของเขาจะตั้งให้ดูแลหมู่คนรับใช้ของนาย เพื่อที่จะแจกอาหารตามเวลาเสมอ?” ครั้นแล้ว ก่อนจะสิ้นพระชนม์สองสามวัน พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองเป็นเหมือนชายคนหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปเมืองไกล ผู้ได้เรียกพวกบ่าวมาและมอบสิ่งของ ๆ ตนให้พวกเขาดูแล.—มัดธาย 25:14.
5. (ก) เมื่อไรที่พระเยซูทรงมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลทรัพย์สมบัติของพระองค์? (ข) งานมอบหมายอะไรซึ่งใหญ่ขึ้นที่พระคริสต์ทรงมอบแก่คนเหล่านั้นซึ่งจะเข้ามาประกอบกันเป็นคนต้นเรือนของพระองค์?
5 เมื่อไรที่พระเยซูทรงมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลบรรดาสิ่งของของพระองค์? หลังการคืนพระชนม์ของพระองค์นั่นเอง. ตามคำตรัสที่มัดธาย 28:19, 20 ซึ่งเราคุ้นเคยดี ตอนแรกพระคริสต์ทรงมอบให้คนเหล่านั้นที่จะมาเป็นส่วนแห่งคนที่ประกอบกันเป็นคนต้นเรือนของพระองค์มีงานใหญ่ขึ้นในการสั่งสอนและทำคนเป็นสาวก. โดยที่แต่ละคนจะเป็นพยาน “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” เหล่าคนรับใช้จะขยายงานมิชชันนารีที่พระเยซูทรงเริ่มต้นขณะที่ทรงรับใช้ ณ แผ่นดินโลก. (กิจการ 1:8) งานนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของเขาในฐานะ “ราชทูตของพระคริสต์.” ในฐานะเป็น “คนต้นเรือนผู้ดูแลข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” พวกเขาจะทำคนเป็นสาวกและจะแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เขาเหล่านั้น.—2 โกรินโธ 5:20; 1 โกรินโธ 4:1, 2.
คณะกรรมการปกครองแห่งครอบครัว
6. ชนจำพวกคนต้นเรือนในศตวรรษแรกได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้จัดเตรียมอะไรขึ้นไว้?
6 โดยส่วนรวม เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นคนต้นเรือนของนาย หรือพ่อบ้านซึ่งได้รับมอบหมายให้แจกจ่ายอาหารตามเวลาแก่สมาชิกแต่ละคนแห่งครอบครัวของพระเจ้า. ระหว่างปีสากลศักราช 41 ถึง 98 สมาชิกแห่งคนต้นเรือนในศตวรรษแรกได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เขียนบันทึกทางประวัติศาสตร์ 5 ฉบับ จดหมาย 21 ฉบับ และพระธรรมวิวรณ์ขึ้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งพี่น้องของเขา. หนังสือที่ได้รับการดลบันดาลเหล่านี้บรรจุไว้ด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณอันดีเยี่ยมสำหรับหมู่ผู้รับใช้ คือผู้ถูกเจิมแต่ละคนแห่งครอบครัวของพระเจ้า.
7. พระคริสต์ทรงเลือกผู้ชายกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งจากชนจำพวกบ่าวไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร?
7 ขณะที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคนรวมกันเป็นครอบครัวของพระเจ้านั้น มีพยานหลักฐานพร้อมมูลถึงการที่พระคริสต์ทรงเลือกคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งจากชนจำพวกบ่าวนี้ให้รับใช้ในฐานะเป็นคณะกรรมการปกครองที่ประจักษ์แก่ตา. ประวัติในช่วงต้น ๆ ของประชาคมแสดงว่า อัครสาวก 12 คน รวมทั้งมัดเธียเป็นสมาชิกเริ่มแรกของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรก. พระธรรมกิจการ 1:20-26 ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนี้. เกี่ยวกับการจัดให้มีผู้มาแทนยูดาอิศการิโอดนั้น ที่นั่นมีการอ้างถึง “หน้าที่ดูแลของเขา” และ “งานรับใช้และตำแหน่งอัครสาวก.”
8. หน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกนั้นรวมถึงอะไรบ้าง?
8 หน้าที่ดูแลนั้นรวมถึงความรับผิดชอบของพวกอัครสาวกในการแต่งตั้งผู้ชายที่เหมาะสมให้รับตำแหน่งงานรับใช้และเพื่อจัดระเบียบงานรับใช้. แต่ยังมีมากกว่านั้น คือยังรวมถึงการสั่งสอนและการอธิบายความหมายของหลักคำสอนให้ชัดแจ้ง. ตามคำสัญญาของพระคริสต์ ดังที่มีบันทึกไว้ที่โยฮัน 16:13 “พระวิญญาณแห่งความจริง” จะนำประชาคมคริสเตียนทีละขั้นจนกว่าจะรู้ความจริงทั้งสิ้น. ตั้งแต่เริ่มต้น คนเหล่านั้นที่ตอบรับพระคำและมาเป็นคริสเตียนผู้รับบัพติสมาและถูกเจิมก็ยังเต็มใจรับ “การสั่งสอนของอัครสาวก” เรื่อยไป. ที่จริง เหตุที่มีการแต่งตั้งผู้ชายเจ็ดคนที่ได้รับการเสนอแนะให้จัดการธุระจำเป็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการแจกทานนั้นก็คือเพื่อ “อัครสาวกทั้งสิบสองคน” จะได้มีเวลาเพื่อ ‘หมกมุ่นในการอธิษฐาน และในงานรับใช้สั่งสอนพระคำ.’—กิจการ 2:42; 6:1-6.
9. สมาชิกคณะกรรมการปกครองในตอนเริ่มแรกลดเหลือ 11 คนอย่างไร แต่ทำไมจึงปรากฏว่าไม่ได้มีการทำให้มีจำนวน 12 คนดังเดิมทันที?
9 ดูเหมือนว่าในตอนเริ่มแรกนั้นคณะกรรมการปกครองประกอบด้วยเหล่าอัครสาวกของพระเยซูเท่านั้น. แต่จะยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอไปไหม? ราว ๆ ปีสากลศักราช 44 อัครสาวกยาโกโบน้องชายของโยฮันถูกประหารโดยเฮโรด อะฆะริปปาที่ 1. (กิจการ 12:1, 2) ดูเหมือนว่าไม่มีการพยายามให้มีการแทนท่านในหน้าที่อัครสาวก อย่างในกรณีของยูดา. ทำไมล่ะ? ไม่มีข้อสงสัยว่าคงเป็นเพราะท่านเสียชีวิตอย่างซื่อสัตย์ เป็นอัครสาวกคนแรกที่สิ้นชีวิต. ตรงกันข้าม ยูดาเป็นคนทรยศที่ชั่วช้า และจำต้องมีผู้มาแทนเพื่อให้จำนวนอัครสาวกครบ 12 ดังเดิม ซึ่งเป็นจำนวนหินรากของยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ.—เอเฟโซ 2:20; วิวรณ์ 21:14.
10. เมื่อไรและโดยวิธีใดที่มีการขยายจำนวนคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรก และพระคริสต์ทรงใช้พวกเขาอย่างไรเพื่อนำครอบครัวของพระเจ้า?
10 สมาชิกเริ่มแรกของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกคือพวกอัครสาวก ผู้ซึ่งได้ติดตามพระเยซูคริสต์และได้เป็นพยานในการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระองค์. (กิจการ 1:21, 22) แต่สภาพการณ์เปลี่ยนไป. ขณะที่หลายปีผ่านไป ชายคริสเตียนคนอื่น ๆ ได้เติบโตขึ้นทางฝ่ายวิญญาณและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองในประชาคมที่ยะรูซาเลม. อย่างช้าในปีสากลศักราช 49 มีการขยายคณะกรรมการปกครองออกไปโดยรวมเอาผู้เฒ่าผู้แก่ในยะรูซาเลมบางคนเข้าด้วย นอกจากพวกอัครสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่. (กิจการ 15:2) ดังนั้น โครงสร้างของคณะกรรมการปกครองไม่ตายตัว แต่เห็นชัดว่าพระเจ้าทรงนำในเรื่องนี้เพื่อมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพการณ์ของพลไพร่ของพระองค์. พระคริสต์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประมุขประชาคม ทรงใช้คณะกรรมการปกครองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้เพื่อจัดการกับประเด็นหลักคำสอนที่ว่า ควรให้คริสเตียนที่ไม่ใช่ชาวยิวรับสุหนัตและปฏิบัติตามกฎหมายของโมเซหรือไม่. คณะกรรมการปกครองได้เขียนจดหมายอธิบายการตัดสินของเขาและออกเป็นข้อกำหนดให้ปฏิบัติตาม.—กิจการ 15:23-29.
เวลาแห่งการคิดบัญชีกับคนต้นเรือน
11. การนำหน้าอย่างเข้มแข็งโดยคณะกรรมการปกครองได้รับการหยั่งรู้ค่าจากพวกพี่น้องหรือไม่ และอะไรแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงอวยพระพรการจัดเตรียมนี้?
11 คริสเตียนรุ่นแรก ทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นประชาคมต่างก็หยั่งรู้ค่าการนำหน้าอย่างเข้มแข็งของคณะกรรมการปกครอง. หลังจากที่ประชาคมอันติโอเกียในมณฑลซีเรียได้อ่านจดหมายจากคณะกรรมการปกครองแล้ว พวกเขามีความปีติยินดีในการหนุนใจนั้น. ขณะที่ประชาคมต่าง ๆ ได้รับข้อมูลเหล่านั้นและปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกมา พวกเขา “ต่างก็ตั้งมั่นคงในความเชื่อและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน.” (กิจการ 16:5) ประจักษ์ชัดว่า พระเจ้าทรงอวยพระพรการจัดเตรียมนี้.—กิจการ 15:30, 31.
12, 13. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์อะไรในอุปมาของพระองค์เรื่องเงินชั่งและเงินตะลันต์?
12 แต่ให้เรามาพิจารณาแง่อื่นของเรื่องที่สำคัญนี้ด้วย. ในอุปมาของพระองค์เกี่ยวกับเงินชั่ง พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองเป็นเหมือนเจ้านายผู้เดินทางไปเมืองไกลเพื่อรับขัตติยอำนาจและแล้วก็ได้กลับมา. (ลูกา 19:11, 12) ภายหลังการคืนพระชนม์ในปีสากลศักราช 33 พระเยซูคริสต์ได้ถูกยกขึ้นให้สถิตเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ที่ซึ่งพระองค์จะประทับอยู่จนกระทั่งศัตรูทั้งหลายจะถูกปราบลงเป็นเหมือนม้ารองพระบาทของพระองค์.—กิจการ 2:33-35.
13 ในอุปมาที่คล้ายคลึงกัน คืออุปมาเกี่ยวกับเงินตะลันต์ พระเยซูทรงตรัสว่า อยู่มาช้านาน นายได้มาคิดบัญชีกับบ่าวเหล่านั้น. กับบ่าวที่ซื่อสัตย์ นายกล่าวว่า “เจ้าสัตย์ซื่อในของเล็กน้อย เราจะตั้งเจ้าให้ดูแลของมาก. เจ้าจงร่วมความยินดีกับนายเถิด.” แต่กับบ่าวที่ไม่ซื่อสัตย์ นายประกาศว่า “แม้ว่าซึ่งเขามีอยู่นั้นก็จะต้องเอาไปจากเขา. เอาอ้ายข้าชาติชั่วช้าไปทิ้งเสียที่มืดภายนอก.”—มัดธาย 25:21-23, 29, 30.
14. พระเยซูทรงคาดหมายอะไรจากพวกบ่าวของพระองค์ที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ?
14 หลังจากเวลาช้านาน—เกือบ 1900 ปี—พระคริสต์ได้รับขัตติยอำนาจในปี 1914 ณ ตอนสิ้นสุดลงของ “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ.” (ลูกา 21:24) จากนั้นไม่นาน พระองค์ “เสด็จมาและคิดบัญชี” กับบ่าวของพระองค์คือคริสเตียนผู้ถูกเจิม. (มัดธาย 25:19) พระเยซูคริสต์ทรงคาดหมายอะไรจากเขาเป็นรายบุคคลและเป็นส่วนรวม? หน้าที่มอบหมายของคนต้นเรือนยังคงมีต่อเนื่องมาดังที่เคยมีตั้งแต่ศตวรรษแรก. พระคริสต์ทรงมอบเงินตะลันต์ไว้ในความรับผิดชอบของแต่ละคน—“ตามความสามารถของเขา.” ฉะนั้น พระองค์จึงคาดหมายผลลัพธ์ตามสัดส่วน. (มัดธาย 25:15, ล.ม.) 1 โกรินโธ 4:2 วางข้อเรียกร้องไว้ ซึ่งมีว่า “สิ่งที่เรียกร้องจากคนต้นเรือนทั้งหลายก็คือต้องเป็นคนสัตย์ซื่อ.” การนำเงินตะลันต์ไปค้าขายหมายถึงการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ในฐานะราชทูตของพระเจ้า การทำคนเป็นสาวก และการแจกจ่ายความจริงฝ่ายวิญญาณแก่พวกเขา.—2 โกรินโธ 5:20.
ชนจำพวก “บ่าว” และคณะกรรมการปกครองขณะที่กาลอวสานใกล้เข้ามา
15. (ก) พระคริสต์ทรงคาดหมายอะไรจากเหล่าคนต้นเรือนของพระองค์โดยส่วนรวม? (ข) อะไรที่บ่งชี้ว่าพระคริสต์ทรงคาดหมายให้ชนจำพวกบ่าวทำสิ่งนี้ก่อน ที่พระองค์เสด็จมาตรวจตราครอบครัวของพระองค์?
15 พระเยซูทรงคาดหมายให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมโดยส่วนรวมปฏิบัติหน้าที่เป็นคนต้นเรือนที่ซื่อสัตย์ แจกจ่าย “อาหารตามเวลาที่สมควร” แก่หมู่คนรับใช้ของพระองค์.” (ลูกา 12:42) ที่ลูกา 12:43 (ล.ม.) พระคริสต์ตรัสว่า “บ่าวผู้นั้นก็เป็นสุข ถ้าเมื่อนายมา พบเขาทำอย่างนั้น!” นี้แสดงว่าช่วงเวลาหนึ่งก่อน พระคริสต์เสด็จมาคิดบัญชีกับบ่าวผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ พวกเขาคงจะได้แจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณแก่บรรดาสมาชิกแห่งประชาคมคริสเตียน ครอบครัวของพระเจ้าอยู่แล้ว. พระคริสต์ทรงพบผู้ใดกำลังทำเช่นนั้นเมื่อพระองค์เสด็จมาด้วยขัตติยอำนาจในปี 1914 และดำเนินการตรวจตราวิหารของพระเจ้าเมื่อปี 1918?—มาลาคี 3:1-4; ลูกา 19:12; 1 เปโตร 4:17
16. เมื่อพระคริสต์เสด็จมาตรวจตราครอบครัวของพระเจ้าในปี 1918 ทำไมพระองค์จึงไม่พบว่าโบสถ์ทั้งหลายแห่งคริสต์ศาสนจักรกำลังแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาที่สมควร?
16 ขณะที่ช่วงเวลาอันยาวนานแห่งการรอคอยของพระเยซู ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าใกล้จะสิ้นสุด ก็ค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นว่าผู้ใดกำลังแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณแก่หมู่ผู้รับใช้ของพระคริสต์ แม้ในช่วงก่อนปี 1914 ด้วยซ้ำ. คุณคิดว่าเป็นคริสต์จักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรไหม? ไม่ใช่แน่ เพราะพวกเขามีความเกี่ยวพันแนบแน่นกับการเมือง. พวกเขาเต็มใจเป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอาณานิคม และพยายามล้ำหน้าผู้อื่นในการแสดงความรักชาติ ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการสนับสนุนลัทธิชาตินิยม. ไม่นานสิ่งนี้ก็ทำให้เขามีความผิดร้ายแรงฐานทำให้เลือดตก เมื่อเขาให้การสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นต่อรัฐบาลต่าง ๆ ฝ่ายการเมืองที่เข้าร่วมในสงครามโลกที่หนึ่ง. ในแง่ฝ่ายวิญญาณ ความเชื่อของเขาอ่อนแอลงเนื่องด้วยสมัยนิยม. วิกฤตกาลฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะพวกนักเทศน์นักบวชของเขาตกเป็นเหยื่อการวิพากษ์วิจารณ์และวิวัฒนาการอย่างง่ายดาย. จึงไม่อาจคาดหมายการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณจากพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้เลย!
17. เหตุใดพระคริสต์จึงปฏิเสธคริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคน และมีผลลัพธ์อย่างไรแก่เขา?
17 ทำนองเดียวกัน ไม่มีการแจกอาหารฝ่ายวิญญาณโดยผู้ถูกเจิมบางคนที่เป็นห่วงแต่ความรอดของตนแทนการทำให้เงินตะลันต์ของนายบังเกิดผล. พวกเขาแสดงตัวว่าเป็นคน “เกียจคร้าน” ไม่เหมาะแก่การเอาใจใส่ดูแลสิ่งของของนาย. ฉะนั้น พวกเขาจึงถูกโยนออกไปเสีย “ในที่มืดภายนอก” ที่บรรดาโบสถ์แห่งคริสต์ศาสนจักรอยู่.—มัดธาย 25:24-30.
18. ใครที่นายพบว่ากำลังแจกจ่ายอาหารตามเวลาที่สมควรแก่หมู่ผู้รับใช้ของนาย และมีอะไรพิสูจน์ให้เห็นเรื่องนี้?
18 ดังนั้น เมื่อเสด็จมาตรวจตราพวกบ่าวของพระองค์ในปี 1918 พระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายทรงพบใครกำลังแจกจ่ายอาหารตามเวลาที่สมควรแก่หมู่ผู้รับใช้ของพระองค์? และในเวลาเดียวกันนั้น ใครที่ได้ให้ความเข้าใจอันถูกต้องแก่บรรดาผู้แสวงความจริงในเรื่องเครื่องบูชาไถ่ พระนามของพระเจ้า การที่การประทับของพระคริสต์ไม่ประจักษ์แก่ตา และความสำคัญของปี 1914? ใครที่ได้เปิดโปงความเท็จของคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ จิตวิญญาณอมตะของมนุษย์ และไฟนรก? และใครที่ได้เตือนถึงอันตรายของเรื่องวิวัฒนาการและลัทธิภูติผีปีศาจ? ข้อเท็จจริงเผยให้เห็นว่า นั่นก็คือกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สมทบกับผู้จัดพิมพ์วารสารไซโอนส์ วอชเทาเวอร์ แอนด์ เฮรัลด์ ออฟ ไครสท์ส เพรสเซนซ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็คือ หอสังเกตการณ์ ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา.
19. ชนจำพวกบ่าวสัตย์ซื่อได้แสดงตัวอย่างไรก่อนปี 1918 และพวกเขาใช้เครื่องมืออะไรเพื่อแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณ และตั้งแต่เมื่อไร?
19 ในฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1944 เดอะ วอชเทาเวอร์ กล่าวว่า “ในปี 1878 สี่สิบปีก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมายังพระวิหารเมื่อปี 1918 มีกลุ่มคริสเตียนที่อุทิศตัวอย่างจริงใจกลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกมาจากองค์การต่าง ๆ ของพวกนักเทศน์นักบวชและต้องการจะเป็นคริสเตียนแท้ . . . ปีถัดไปคือ ในเดือนกรกฎาคม 1879 มีการเริ่มพิมพ์วารสาร เดอะ วอชเทาเวอร์ นี้ขึ้นเพื่อความจริงซึ่งพระเจ้าโดยทางพระคริสต์ทรงจัดเตรียมเป็น “อาหารในเวลาที่เหมาะสม” จะถูกแจกจ่ายแก่ครอบครัวทั้งสิ้นแห่งบรรดาบุตรที่อุทิศตัวแล้วของพระองค์.”
20. (ก) คณะกรรมการปกครองในสมัยปัจจุบันเริ่มเข้าดำเนินงานอย่างไร? (ข) สมาชิกคณะกรรมการปกครองดำเนินการอะไร และภายใต้การชี้นำของใคร?
20 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของคณะกรรมการปกครองสมัยปัจจุบัน วารสารเดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 1971 อธิบายว่า “ห้าปีต่อมา [ในปี 1884] สมาคมไซโอนส์ วอชเทาเวอร์ แทรคท์ได้จดทะเบียนและรับใช้ในฐานะ ‘ตัวแทน’ เพื่อจัดให้มีอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ผู้จริงใจหลายพันคนซึ่งกำลังแสวงหาเพื่อรู้จักพระเจ้าและเพื่อเข้าใจพระคำของพระองค์ . . . คริสเตียนผู้อุทิศตัวรับบัพติสมาและถูกเจิมได้เข้ามาสมทบกับสมาคมนี้ ณ สำนักงานใหญ่ที่เพ็นซิลเวเนีย. ไม่ว่าจะเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการบริหารหรือไม่ พวกเขาก็สละตัวเองให้เป็นประโยชน์เพื่องานพิเศษของชนจำพวก ‘บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ.’ พวกเขาช่วยในการบำรุงเลี้ยงและการชี้นำของชนชั้นบ่าว และด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการปกครองก็ปรากฏขึ้นมา. เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการนี้อยู่ภายใต้การทรงนำของพลังปฏิบัติการอันไม่ประจักษ์แก่ตาของพระยะโฮวาคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์นั่นเอง และภายใต้การชี้นำของประมุขแห่งประชาคมคริสเตียนคือพระเยซูพระคริสต์.”
21. (ก) พระคริสต์ทรงพบใครกำลังแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณ และพระองค์ทรงตอบแทนแก่เขาอย่างไร? (ข) มีอะไรรออยู่สำหรับบ่าวสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครอง?
21 เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงตรวจตราเหล่าผู้ที่อ้างว่าเป็นบ่าวของพระองค์ในปี 1918 พระองค์ทรงพบกลุ่มคริสเตียนจากหลายประเทศกำลังจัดพิมพ์ความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิลเพื่อใช้ทั้งภายในประชาคมและภายนอกประชาคมในงานประกาศสั่งสอน. ในปี 1919 ก็แสดงผลออกมาจริงดังที่พระคริสต์ได้ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า “บ่าวผู้นั้นก็เป็นสุขเมื่อนายมาถึงพบเขากำลังทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะตั้งเขาไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:46, 47, ล.ม.) คริสเตียนแท้เหล่านี้ได้เข้าร่วมในความยินดีกับนาย. โดยที่ได้แสดงตัว “สัตย์ซื่อในของเล็กน้อย” พวกเขาได้รับการแต่งตั้งจากนายให้ “ดูแลของมาก.” (มัดธาย 25:21) บ่าวสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองก็อยู่ในตำแหน่งพร้อมสำหรับหน้าที่มอบหมายที่ขยายกว้างขึ้น. เราน่าจะยินดีอย่างยิ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะคริสเตียนที่ภักดีทั้งหลายกำลังได้รับประโยชน์มากมายจากการที่บ่าวสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองอุทิศตัวให้กับการงานเหล่านั้น!
จุดสำคัญที่พึงจดจำ
▫ ใครเป็นประมุขแห่งครอบครัวของพระเจ้า และพระองค์นั้นทรงมอบอำนาจแก่ใคร?
▫ หน้าที่มอบหมายโดยส่วนรวมอะไรที่พระคริสต์ทรงมอบแก่ชนจำพวกบ่าว?
▫ คณะอื่นอะไรอีกที่มีอยู่ภายในชนจำพวกบ่าว และมีหน้าที่อะไรโดยเฉพาะ?
▫ เมื่อพระคริสต์เสด็จมาตรวจตราครอบครัวของพระเจ้า ใครที่กำลังจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณแก่บรรดาสมาชิกของครอบครัว?
▫ คณะกรรมการปกครองสมัยปัจจุบันปรากฏขึ้นมาอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 10]
“บ่าว” ในศตวรรษแรกมีคณะกรรมการปกครองซึ่งประกอบขึ้นด้วยเหล่าอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในประชาคมยะรูซาเลม.