“เสียงพวกเขาดังออกไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก”
“จงไปและทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—มัดธาย 28:19, ล.ม.
1, 2. (ก) พระเยซูทรงมอบงานอะไรแก่เหล่าสาวก? (ข) อะไรทำให้คริสเตียนในศตวรรษแรกสามารถบรรลุผลอย่างมาก?
ไม่นานก่อนพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระองค์ทรงมอบหมายงานแก่เหล่าสาวก. พระองค์บอกพวกเขาว่า “จงไปและทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) นี่เป็นงานมอบหมายที่ใหญ่โตเสียจริง ๆ!
2 คิดดูสิ! วันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 สาวกราว 120 คนได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่หลั่งลงมา และเริ่มปฏิบัติงานมอบหมายดังกล่าวด้วยการบอกคนอื่น ๆ ว่าพระเยซูคือมาซีฮาที่รอคอยกันมานาน ซึ่งพวกเขาจะได้รับความรอดโดยทางพระองค์. (กิจการ 2:1-36) คนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างนั้นจะไปถึง “คนจากทุกชาติ” ได้อย่างไรกัน? สำหรับมนุษย์แล้ว เรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ “พระเจ้าทรงกระทำได้สารพัตร.” (มัดธาย 19:26) คริสเตียนยุคแรกได้รับการหนุนหลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา และพวกเขาสำนึกถึงความเร่งด่วน. (ซะคาระยา 4:6; 2 ติโมเธียว 4:2) เพราะเหตุนี้ ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี อัครสาวกเปาโลจึงสามารถกล่าวได้ว่า ข่าวดีได้รับการประกาศแล้ว “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.”—โกโลซาย 1:23.
3. อะไรบดบัง “ข้าวดี” ซึ่งได้แก่คริสเตียนแท้ไว้จนมองไม่เห็น?
3 การนมัสการแท้แผ่ขยายไปตลอดเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษแรก. อย่างไรก็ตาม พระเยซูพยากรณ์ไว้ว่าจะมีเวลาที่ซาตานจะหว่าน “ข้าวละมาน” และ “ข้าวดี” คือคริสเตียนแท้ จะถูกบดบังเป็นเวลาหลายศตวรรษกระทั่งถึงฤดูเกี่ยว. หลังการตายของพวกอัครสาวก สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริง.—มัดธาย 13:24-39.
เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
4, 5. คริสเตียนผู้ถูกเจิมเริ่มรับเอางานอะไรในปี 1919 และทำไมสิ่งนั้นจึงก่อให้เกิดข้อท้าทายที่ใหญ่โต?
4 ปี 1919 เป็นเวลาที่ข้าวดี ซึ่งได้แก่คริสเตียนแท้ ถูกแยกออกจากข้าวละมาน. คริสเตียนผู้ถูกเจิมทราบว่า งานมอบหมายใหญ่โตที่พระเยซูมอบให้นั้นยังไม่เสร็จสิ้น. พวกเขาเชื่อมั่นว่าตนกำลังมีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” และตระหนักถึงคำพยากรณ์ของพระเยซูที่ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; มัดธาย 24:14, ล.ม.) ใช่แล้ว พวกเขารู้ว่ามีงานมากมายที่จะต้องทำ.
5 อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับสาวกในปี ส.ศ. 33 คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านั้นเผชิญกับข้อท้าทายที่ใหญ่โต. พวกเขามีกันเพียงไม่กี่พันคนในไม่กี่ประเทศ. เป็นไปได้อย่างไรที่พวกเขาจะสามารถประกาศข่าวดีไป “ทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่”? พึงระลึกว่า ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 300 ล้านคนในสมัยซีซาร์เป็นเกือบ 2 พันล้านคนหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. และตลอดศตวรรษที่ 20 ประชากรโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว.
6. การเผยแพร่ข่าวดีรุดหน้าไปถึงขีดไหนพอถึงทศวรรษ 1930?
6 ถึงกระนั้น เช่นเดียวกับพี่น้องของพวกเขาในศตวรรษแรก เหล่าผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระยะโฮวาเริ่มงานมอบหมายที่อยู่ต่อหน้าพวกเขาด้วยความวางใจเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวา และพระวิญญาณของพระองค์สถิตกับพวกเขา. พอถึงกลางทศวรรษ 1930 มีผู้เผยแพร่กิตติคุณประมาณ 56,000 คนประกาศความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลใน 115 ดินแดน. ถึงตอนนั้น มีงานมากมายที่ได้ทำไปแล้ว แต่งานก็ยังมีอีกมาก.
7. (ก) เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเผชิญข้อท้าทายอย่างใหม่อะไร? (ข) ด้วยการช่วยเหลือจาก “แกะอื่น” งานรวบรวมก้าวหน้าถึงขีดไหนแล้วในปัจจุบัน?
7 ต่อมา ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าใครคือ “ชนฝูงใหญ่” ที่กล่าวถึงในวิวรณ์ 7:9 (ล.ม.) ทำให้เกิดข้อท้าทายอย่างใหม่ และในเวลาเดียวกัน ก็ให้คำสัญญาแก่คริสเตียนที่ทำงานหนักเหล่านั้นถึงความช่วยเหลือ. ผู้คนนับไม่ถ้วนที่เป็น “แกะอื่น” ซึ่งก็คือเหล่าผู้เชื่อถือที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก จะต้องถูกรวบรวมมา “จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง.” (โยฮัน 10:16) พวกเขาจะ ‘ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวาทั้งวันทั้งคืน.’ (วิวรณ์ 7:15, ล.ม.) นั่นหมายความว่าคนเหล่านี้จะช่วยเหลือในงานประกาศและงานสอน. (ยะซายา 61:5) เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมจึงตื่นเต้นดีใจที่ได้เห็นผู้เผยแพร่กิตติคุณเพิ่มจำนวนขึ้นจากหลักหมื่นไปเป็นหลักล้าน. ในปี 2003 มียอดใหม่ของผู้เข้าร่วมในงานประกาศ 6,429,351 คน ซึ่งส่วนใหญ่ในคนเหล่านี้เป็นชนฝูงใหญ่.a เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมหยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือจากพวกเขา และแกะอื่นก็หยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษที่ได้สนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมของตน.—มัดธาย 25:34-40.
8. พยานพระยะโฮวาทำประการใดเมื่อมีความกดดันอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง?
8 เมื่อชนชั้นข้าวดีปรากฏชัดอีกครั้ง ซาตานทำสงครามกับพวกเขาอย่างหนัก. (วิวรณ์ 12:17) มันมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อชนฝูงใหญ่เริ่มปรากฏตัว? มันตอบโต้ด้วยความรุนแรงสุดขีด! เราจะสงสัยไหมที่ว่า มันอยู่เบื้องหลังการโจมตีการนมัสการแท้ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง? คริสเตียนถูกกดดันอย่างหนักจากทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกัน. พี่น้องชายหญิงผู้เป็นที่รักหลายคนประสบการทดลองอันแสนเลวร้าย บางคนเสียชีวิตเนื่องด้วยความเชื่อของตน. กระนั้น พวกเขาแสดงออกถึงความรู้สึกด้วยการกระทำเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ในพระเจ้า—ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระวจนะของพระองค์—ข้าพเจ้าจะวางใจในพระเจ้า, ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นกลัว; เนื้อหนังจะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?” (บทเพลงสรรเสริญ 56:4; มัดธาย 10:28) คริสเตียนผู้ถูกเจิมกับแกะอื่น ซึ่งได้รับการเสริมกำลังจากพระวิญญาณของพระยะโฮวา ยืนหยัดมั่นคงเคียงคู่กัน. (2 โกรินโธ 4:7) ผลคือ “พระคำของพระเจ้าจึงเจริญขึ้น.” (กิจการ 6:7) ในปี 1939 เมื่อสงครามเริ่มขึ้น มีคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ 72,475 คนรายงานการเข้าร่วมในงานประกาศ. แต่พอถึงปี 1945 ซึ่งเป็นปีที่สงครามยุติลง รายงานที่รวบรวมได้ไม่ครบแสดงว่ามีพยานพระยะโฮวา 156,299 คนที่ทำการเผยแพร่ข่าวดีอยู่ในเวลานั้น. ช่างเป็นความพ่ายแพ้อะไรเช่นนั้นสำหรับซาตาน!
9. มีคำประกาศก่อตั้งโรงเรียนใหม่อะไรบ้างระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง?
9 เห็นได้ชัดว่า ความสับสนอลหม่านเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้ทำให้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสงสัยเลยว่างานประกาศจะดำเนินต่อไปหรือไม่. ที่จริง ในปี 1943 ขณะที่สงครามกำลังถึงจุดเดือด มีคำประกาศก่อตั้งโรงเรียนใหม่สองโรงเรียน. โรงเรียนแรก ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่าโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า กำหนดไว้ว่าจะให้มีการดำเนินงานในทุกประชาคมเพื่อฝึกอบรมพยานฯ แต่ละคนให้ทำงานประกาศและทำให้คนเป็นสาวก. อีกโรงเรียนหนึ่ง คือโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมมิชชันนารีที่จะบุกเบิกงานประกาศในต่างแดน. พอไฟแห่งสงครามยุติลงในที่สุด คริสเตียนแท้ก็พร้อมแล้วสำหรับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น.
10. ความมีใจแรงกล้าของประชาชนของพระยะโฮวาเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างไรระหว่างปี 2003?
10 และงานที่พวกเขาได้ทำไปนั้นน่าทึ่งจริง ๆ! ด้วยการฝึกอบรมจากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า หนุ่มสาวและผู้สูงอายุ, พ่อแม่กับลูก ๆ, และแม้แต่ผู้ทุพพลภาพ ได้เข้าร่วมและยังคงมีส่วนร่วมในการทำงานมอบหมายที่ใหญ่โตของพระเยซู. (บทเพลงสรรเสริญ 148:12, 13; โยเอล 2:28, 29) ในปี 2003 มีเฉลี่ย 825,185 คนในแต่ละเดือนที่แสดงความสำนึกถึงความเร่งด่วนด้วยการเข้าส่วนร่วมบางช่วงหรืออย่างต่อเนื่องในงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์. ในปีเดียวกันนั้น พยานพระยะโฮวาใช้เวลา 1,234,796,477 ชั่วโมง พูดคุยกับคนอื่น ๆ ถึงข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ความมีใจแรงกล้าของประชาชนของพระยะโฮวาย่อมเป็นที่พอพระทัยพระองค์อย่างแน่นอน!
ในเขตงานต่างแดน
11, 12. ตัวอย่างอะไรที่แสดงให้เห็นถึงประวัติอันดีเยี่ยมของเหล่ามิชชันนารี?
11 ตลอดเวลาหลายปี ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกิเลียด และเมื่อไม่นานมานี้ จากโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้ ได้สร้างประวัติอันดีเยี่ยม. ตัวอย่างเช่น ในบราซิล มีผู้ประกาศไม่ถึง 400 คน เมื่อมิชชันนารีรุ่นแรกเดินทางไปถึงในปี 1945. มิชชันนารีเหล่านี้และรุ่นต่อ ๆ มาได้ทำงานอย่างหนักร่วมกับพี่น้องชาวบราซิลที่มีใจแรงกล้า และพระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของพวกเขาอย่างอุดม. เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นดีใจสักเพียงไรสำหรับคนที่ยังจำได้ถึงวันเก่าก่อนได้เห็นว่า บราซิลรายงานยอดผู้ประกาศใหม่ 607,362 คนในปี 2003!
12 ขอพิจารณาประเทศญี่ปุ่น. ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีผู้ประกาศราชอาณาจักรในประเทศนี้ประมาณร้อยคน. ระหว่างช่วงสงคราม การกดขี่ข่มเหงอย่างเหี้ยมโหดทำให้จำนวนผู้ประกาศลดลง และพอสงครามยุติ มีพยานฯ เพียงไม่กี่คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่และยังไม่ตายทางฝ่ายวิญญาณ. (สุภาษิต 14:32, ล.ม.) ในปี 1949 ผู้ที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างโดดเด่นจำนวนไม่กี่คนนี้มีความปีติยินดีเป็นแน่ที่ได้ต้อนรับมิชชันนารีรุ่นแรกที่ผ่านการอบรมจากกิเลียด 13 คน และไม่นานนัก มิชชันนารีเหล่านี้ก็ชื่นชอบความกระตือรือร้นและน้ำใจต้อนรับของพี่น้องญี่ปุ่น. กว่า 50 ปีให้หลัง ในปี 2003 ญี่ปุ่นรายงานว่ามียอดผู้ประกาศ 217,508 คน! พระยะโฮวาทรงอวยพรประชาชนของพระองค์ในประเทศนี้อย่างอุดมจริง ๆ. มีรายงานคล้าย ๆ กันนี้ในอีกหลายประเทศ. คนเหล่านั้นที่สามารถประกาศในต่างแดนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ข่าวดี จนในปี 2003 มีผู้คนใน 235 ดินแดน, หมู่เกาะ, และเขตปกครองทั่วโลกได้ยินข่าวดี. จริงทีเดียว ชนฝูงใหญ่กำลังออกมาจาก “ชาติ . . . ทั้งปวง.”
“จาก . . . ตระกูล และชนชาติและภาษาทั้งปวง”
13, 14. พระยะโฮวาแสดงถึงคุณค่าของการประกาศข่าวดีด้วย “ภาษาทั้งปวง” โดยวิธีใด?
13 การอัศจรรย์ครั้งแรกที่มีการรายงานหลังจากพวกสาวกได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 คือการที่พวกเขาพูดกับฝูงชนที่มาชุมนุมกันนั้นด้วยภาษาต่าง ๆ. คนทั้งปวงที่ได้ยินพวกเขาอาจจะพูดภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ อาจเป็นภาษากรีกก็ได้. เนื่องจากเป็น “ผู้เกรงกลัวพระเจ้า” คนเหล่านั้นคงสามารถเข้าใจการประกอบพิธีทางศาสนาในภาษาฮีบรู ณ พระวิหารด้วย. แต่เมื่อได้ยินข่าวดีในภาษาที่พวกเขาเรียนรู้มาตั้งแต่ทารก พวกเขาถูกดึงดูดให้สนใจฟังอย่างแท้จริง.—กิจการ 2:5, 7-12.
14 ทุกวันนี้ มีการใช้หลายภาษาในงานประกาศเช่นกัน. มีคำพยากรณ์ว่า ชนฝูงใหญ่ไม่เพียงแต่จะออกมาจากชาติ แต่จาก “ตระกูลและชนชาติและภาษา” ต่าง ๆ ด้วย. สอดคล้องกับข้อนี้ พระยะโฮวาทรงกล่าวคำพยากรณ์ผ่านทางซะคาระยาว่า “สิบคนจากประชาชาติทุก ๆ ภาษา จะยึดชายเสื้อคลุมของยิวคนหนึ่งไว้แล้วกล่าวว่า ‘ขอให้เราไปกับท่านทั้งหลายเถิด เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าทรงสถิตกับพวกท่าน.’ ” (ซะคาระยา 8:23, ฉบับแปลใหม่) แม้พยานพระยะโฮวาไม่มีของประทานในการพูดภาษาต่าง ๆ เช่นในอดีต แต่พวกเขาเห็นถึงคุณค่าของการสอนผู้คนโดยใช้ภาษาของคนเหล่านั้นเอง.
15, 16. พวกมิชชันนารีและคนอื่น ๆ รับเอางานประกาศในภาษาท้องถิ่นที่ท้าทายอย่างไร?
15 จริงอยู่ที่ว่า มีอยู่บางภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากในทุกวันนี้ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และสเปน. แต่คนเหล่านั้นที่ได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปรับใช้ในประเทศอื่นพยายามจะเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นเพื่อทำให้ข่าวดีเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นแก่คน “ที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.” (กิจการ 13:48, ล.ม.) การทำเช่นนั้นอาจยากลำบาก. เมื่อพี่น้องในตูวาลู แปซิฟิกใต้ จำเป็นต้องมีหนังสือในภาษาของเขาเอง มิชชันนารีคนหนึ่งรับเอางานที่ท้าทายนี้. เนื่องจากไม่มีพจนานุกรม เขาจึงเริ่มจัดทำประมวลศัพท์ภาษาตูวาลูขึ้นมา. ในเวลาต่อมา หนังสือท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลกb ก็ได้รับการพิมพ์ในภาษาตูวาลู. เมื่อมิชชันนารีไปถึงเกาะคูราเซา ไม่มีสิ่งพิมพ์ใด ๆ เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล และไม่มีพจนานุกรมในภาษาท้องถิ่น คือพาเพอเม็นโต. นอกจากนี้ ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างมากในเรื่องที่ว่าภาษานี้ควรจะเขียนกันอย่างไร. กระนั้น ภายในสองปีหลังจากมิชชันนารีกลุ่มแรกไปถึง ก็มีการออกแผ่นพับคริสเตียนเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลชิ้นแรกในภาษาดังกล่าว. ปัจจุบัน ภาษาพาเพอเม็นโตเป็นหนึ่งใน 133 ภาษาที่หอสังเกตการณ์ ได้รับการพิมพ์ออกพร้อมฉบับภาษาอังกฤษ.
16 ในประเทศนามิเบีย มิชชันนารีรุ่นแรกไม่สามารถหาพยานฯ ท้องถิ่นคนใดที่จะช่วยพวกเขาทำงานแปลได้. ยิ่งกว่านั้น ในภาษาถิ่นภาษาหนึ่ง คือภาษานามา ไม่มีคำใดที่ถ่ายทอดแนวคิดที่ใช้กันบ่อย ๆ ในหนังสือของเรา เช่นคำว่า “สมบูรณ์.” มิชชันนารีคนหนึ่งรายงานว่า “ในการแปลนั้น ส่วนใหญ่ผมอาศัยพวกครูในโรงเรียนที่กำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เนื่องจากพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับความจริงไม่มากนัก ผมจึงต้องนั่งลงกับพวกเขาเพื่อทำให้แน่ใจว่าแต่ละประโยคแปลถูกต้อง.” กระนั้น ในที่สุดแผ่นพับชีวิตในโลกใหม่ ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาถิ่นสี่ภาษาที่ใช้ในนามิเบีย. ปัจจุบัน มีการตีพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์ ออกเป็นประจำในภาษากวันยามาและภาษาดองกา.
17, 18. มีการจัดการกับข้อท้าทายอะไรในประเทศเม็กซิโกและประเทศอื่น ๆ?
17 ภาษาหลักในประเทศเม็กซิโกคือภาษาสเปน. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ชาวสเปนมาถึง มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันที่นั่น และบางภาษาก็ยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน. เวลานี้จึงมีการผลิตสรรพหนังสือของพยานพระยะโฮวาในภาษาถิ่นที่ใช้ในเม็กซิโกเจ็ดภาษา และในภาษามือเม็กซิกันด้วย. พระราชกิจฯ ภาษามายาเป็นสิ่งแรกสุดที่พิมพ์ออกเป็นประจำในภาษาของชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกา. ที่จริง มีหลายพันคนจากเผ่ามายา, แอซเทก, และอื่น ๆ อยู่ท่ามกลางผู้ประกาศราชอาณาจักร 572,530 คนในเม็กซิโก.
18 ไม่นานมานี้ ผู้คนมากมายหนีไปต่างแดนฐานะผู้ลี้ภัย หรือไม่ก็ย้ายถิ่นฐานเนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ. ผลก็คือ เป็นครั้งแรกที่เดี๋ยวนี้หลายประเทศมีเขตงานที่ใช้ภาษาต่างประเทศขนาดใหญ่. พยานพระยะโฮวารับเอาข้อท้าทายนี้. ตัวอย่างเช่น ในอิตาลี มีประชาคมและกลุ่มที่ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาอิตาลี 22 ภาษา. เพื่อช่วยพี่น้องให้ประกาศแก่ประชาชนที่พูดภาษาอื่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายชั้นเรียนถูกจัดขึ้นเพื่อสอนภาษา 16 ภาษา รวมทั้งภาษามืออิตาลี. ในอีกหลายประเทศพยานพระยะโฮวากำลังใช้ความพยายามคล้าย ๆ กันเพื่อประกาศแก่ประชากรย้ายถิ่นที่มีจำนวนมาก. จริงทีเดียว ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ชนฝูงใหญ่กำลังออกมาจากกลุ่มภาษาต่าง ๆ มากมาย.
“ไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก”
19, 20. คำกล่าวอะไรของเปาโลกำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งในปัจจุบัน? จงอธิบาย.
19 อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ในศตวรรษแรกว่า “พวกเขาได้ยินมิใช่หรือ? แท้จริงแล้ว ‘เสียงพวกเขาดังออกไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก และถ้อยคำของพวกเขาไปถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.’ ” (โรม 10:18, ล.ม.) ถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริงในศตวรรษแรกแล้ว ก็จะเป็นจริงยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดในสมัยของเรา! หลายล้านคน—อาจมากกว่าสมัยใดในประวัติศาสตร์—กำลังกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะถวายความสรรเสริญแก่พระยะโฮวาทุกเวลา; คำเพลงสรรเสริญพระองค์จะติดปากข้าพเจ้าอยู่เสมอ.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:1.
20 ยิ่งไปกว่านั้น การงานไม่ได้ลดน้อยถอยลง. จำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง. เวลามากขึ้นเรื่อย ๆ ใช้ไปในงานประกาศ. มีการกลับเยี่ยมเยียนหลายล้านรายและการศึกษาพระคัมภีร์หลายแสนราย. และมีคนใหม่ ๆ แสดงความสนใจอยู่ไม่ขาดสาย. ปีที่ผ่านมา มียอดใหม่ 16,097,622 คนที่เข้าร่วมในวาระโอกาสระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู. เห็นได้ชัดว่ายังมีงานอีกมากที่จะต้องทำ. ขอให้เราเลียนแบบความซื่อสัตย์มั่นคงของพี่น้องของเราต่อ ๆ ไปซึ่งได้อดทนการกดขี่ข่มเหงอย่างหนัก. และขอเราสำแดงความมีใจแรงกล้าเช่นเดียวกับพี่น้องของเราทั้งสิ้นที่ได้ทุ่มเทตัวเองรับใช้พระยะโฮวามาตั้งแต่ปี 1919. ขอให้ทุกคนขานรับเสียงร้องของท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ทุกสิ่งที่หายใจ ให้สรรเสริญยาห์. ท่านทั้งหลาย จงสรรเสริญยาห์!”—บทเพลงสรรเสริญ 150:6, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ดูรายงานประจำปี หน้า 18 ถึง 21 ของวารสารนี้.
b จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พี่น้องของเราเริ่มรับเอางานอะไรในปี 1919 และเหตุใดงานนี้จึงเป็นข้อท้าทาย?
• ใครถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อสนับสนุนงานประกาศ?
• เหล่ามิชชันนารีและคนอื่น ๆ ที่รับใช้ในต่างแดนได้สร้างประวัติไว้ในเรื่องใด?
• คุณจะยกหลักฐานอะไรเพื่อแสดงว่า พระยะโฮวากำลังอวยพรการงานของประชาชนของพระองค์ในปัจจุบัน?
[แผนภูมิหน้า 18-21]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 2003 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[ภาพหน้า 14, 15]
ความสับสนอลหม่านเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้ทำให้คริสเตียนสงสัยว่าจะมีการประกาศข่าวดีต่อไปหรือไม่
[ที่มาของภาพ]
Explosion: U.S. Navy photo; others: U.S. Coast Guard photo
[ภาพหน้า 16, 17]
ชนฝูงใหญ่จะออกมาจากทุกตระกูลและทุกภาษา