คำสอนของพระเยซูมีผลต่อคำอธิษฐานของคุณไหม?
“ครั้นพระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านี้จบแล้ว ฝูงชนก็อัศจรรย์ใจในวิธีสอนของพระองค์.”—มัด. 7:28.
1, 2. เหตุใดฝูงชนอัศจรรย์ใจในวิธีสอนของพระเยซู?
เราควรยอมรับคำสอนของพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า และใช้คำสอนของพระองค์ในชีวิตเรา. พระองค์ตรัสไม่เหมือนใครจริง ๆ. ผู้คนอัศจรรย์ใจวิธีที่พระองค์ทรงสอนในคำเทศน์บนภูเขา!—อ่านมัดธาย 7:28, 29.
2 พระบุตรของพระยะโฮวาทรงสอนไม่เหมือนกับพวกอาลักษณ์ เพราะคำพูดเยิ่นเย้อของพวกเขาอาศัยคำสอนของมนุษย์ไม่สมบูรณ์เป็นหลัก. พระคริสต์ทรงสอน “อย่างผู้ที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า” เพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสมาจากพระเจ้า. (โย. 12:50) ดังนั้น ให้เรามาพิจารณาเพิ่มเติมว่าคำสอนของพระเยซูในคำเทศน์บนภูเขาควรส่งผลต่อคำอธิษฐานของเราอย่างไร.
อย่าอธิษฐานเหมือนคนหน้าซื่อใจคด
3. จงบอกสาระสำคัญของถ้อยคำที่พระเยซูตรัสดังบันทึกที่มัดธาย 6:5.
3 คำอธิษฐานเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการนมัสการแท้ และเราควรอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นประจำ. แต่คำอธิษฐานของเราควรได้รับผลกระทบจากคำสอนของพระเยซูในคำเทศน์บนภูเขา. พระองค์ตรัสว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด เพราะพวกเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามมุมถนนใหญ่เพื่อให้คนเห็น. เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า พวกเขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.”—มัด. 6:5.
4-6. (ก) เหตุใดพวกฟาริซายชอบ “ยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามมุมถนนใหญ่”? (ข) คนหน้าซื่อใจคดเช่นนั้น “ได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว” อย่างไร?
4 เมื่ออธิษฐาน สาวกของพระเยซูต้องไม่เลียนแบบ “คนหน้าซื่อใจคด” อย่างพวกฟาริซายที่ถือว่าตัวเองชอบธรรม ซึ่งแสร้งแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขาเป็นคนเคร่งศาสนา. (มัด. 23:13-32) คนหน้าซื่อใจคดเหล่านี้ชอบ “ยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามมุมถนนใหญ่.” ทำไมเขาทำอย่างนั้น? “เพื่อให้คนเห็น.” ชาวยิวในศตวรรษแรกมีธรรมเนียมที่จะอธิษฐานร่วมกันเมื่อถวายเครื่องบูชาเผา ณ พระวิหาร (ประมาณเก้านาฬิกาในตอนเช้าและสิบห้านาฬิกาในตอนบ่าย). คนที่อาศัยในกรุงเยรูซาเลมหลายคนคงอธิษฐานไปพร้อม ๆ กับฝูงชนที่นมัสการในบริเวณพระวิหาร. ชาวยิวผู้เลื่อมใสที่อยู่นอกกรุงเยรูซาเลมมักอธิษฐานวันละสองครั้งขณะ “ยืน . . . ในธรรมศาลา.”—เทียบกับลูกา 18:11, 13.
5 เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ พระวิหารหรือธรรมศาลาเมื่อถึงเวลาอธิษฐานดังที่เพิ่งกล่าวไป พวกเขาอาจอธิษฐาน ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเขาอยู่. บางคนชอบกะเวลาให้ตัวเองมาอยู่ “ตามมุมถนนใหญ่” เมื่อถึงเวลาอธิษฐาน. พวกเขาต้องการให้คนที่ผ่านไปผ่านมาตามทางแยก “เห็น” เขา. ผู้เลื่อมใสที่หน้าซื่อใจคดพวกนี้จะ “แสร้งอธิษฐานเสียยืดยาว” เพื่อให้คนที่พบเห็นชื่นชมตัวเขา. (ลูกา 20:47) นั่นไม่ใช่เจตคติที่เราควรมี.
6 พระเยซูทรงประกาศว่าคนหน้าซื่อใจคดเช่นนั้น “ได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.” พวกเขาปรารถนาอย่างยิ่งจะได้รับการยอมรับและคำสรรเสริญจากเพื่อนมนุษย์—และนั่นคือทั้งหมดที่พวกเขาจะได้รับ. นั่นเป็นบำเหน็จทั้งหมดที่พวกเขาจะได้รับ เพราะพระยะโฮวาจะไม่ตอบคำอธิษฐานแบบหน้าซื่อใจคดของพวกเขา. ในทางตรงกันข้าม พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานของสาวกแท้ของพระคริสต์ ดังที่เห็นได้จากคำตรัสถัดจากนั้นของพระเยซูในเรื่องนี้.
7. คำแนะนำที่ให้เราอธิษฐาน “ในห้องเป็นส่วนตัว” หมายความอย่างไร?
7 “แต่เมื่อเจ้าทั้งหลายอธิษฐาน จงเข้าไปอยู่ในห้องเป็นส่วนตัว และเมื่อปิดประตูห้องแล้ว จงอธิษฐานถึงพระบิดาของเจ้าผู้อยู่ในที่ลับลี้ แล้วพระบิดาผู้ทอดพระเนตรในที่ลับลี้จะทรงตอบเจ้า.” (มัด. 6:6) คำแนะนำของพระเยซูที่ให้อธิษฐานในห้องเป็นส่วนตัวหลังจากปิดประตูแล้วไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีใครเป็นตัวแทนในการอธิษฐานที่ประชาคม. คำแนะนำนี้มีเจตนาจะเตือนว่าอย่าอธิษฐานในที่สาธารณะเพื่อดึงดูดความสนใจมายังผู้อธิษฐานและเพื่อจะได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนอื่น. เราควรจำเรื่องนี้ไว้ถ้าเรามีสิทธิพิเศษได้เป็นตัวแทนประชาชนของพระเจ้าในการอธิษฐาน. นอกจากนั้น ให้เราทำตามคำแนะนำเพิ่มเติมที่พระเยซูทรงให้ต่อไปอีกในเรื่องการอธิษฐาน.
8. ตามมัดธาย 6:7 เราควรหลีกเลี่ยงการอธิษฐานที่ไม่ถูกต้องแบบใด?
8 “เมื่ออธิษฐาน อย่ากล่าวถ้อยคำเดียวกันซ้ำซากอย่างที่ชนต่างชาติทำ เพราะพวกเขาคิดว่าถ้าพวกเขาพูดมาก ๆ พระจะโปรดฟัง.” (มัด. 6:7) โดยตรัสอย่างนั้น พระเยซูตรัสถึงการอธิษฐานแบบที่ไม่ถูกต้องอีกอย่างหนึ่ง—การพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก. พระองค์ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรกล่าวซ้ำคำวิงวอนที่ออกมาจากใจจริงและคำกล่าวขอบพระคุณในการอธิษฐาน. ที่สวนเกทเซมาเนในคืนก่อนพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอธิษฐานครั้งแล้วครั้งเล่าโดย “ทูลเหมือนคราวก่อน.”—มโก. 14:32-39.
9, 10. เราไม่ควรกล่าวซ้ำ ๆ แบบใดในคำอธิษฐาน?
9 เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เราจะเลียนแบบคำอธิษฐานแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกของ “ชนต่างชาติ.” พวกเขาท่องจำและกล่าวถ้อยคำเดิม “ซ้ำซาก” รวมถึงใช้ถ้อยคำมากมายที่ไม่จำเป็น. ไม่มีประโยชน์เลยที่ผู้นมัสการบาละร้องเรียกชื่อพระเท็จ “ตั้งแต่เช้าจนเที่ยงว่า, ‘โอ้บาละ, ขอฟังข้าพเจ้าเถิด.’ ” (1 กษัต. 18:26) ปัจจุบัน หลายล้านคนอธิษฐานโดยใช้ถ้อยคำซ้ำ ๆ และเยิ่นเย้อ โดยคิดไปเองว่าเมื่อทำอย่างนั้น “พระจะโปรดฟัง” พวกเขา. แต่พระเยซูช่วยเราให้เข้าใจว่า ‘การพูดมาก ๆ’ ในคำอธิษฐานที่ยืดยาวและใช้คำซ้ำ ๆ ไม่มีค่าอะไรเลยในทัศนะของพระยะโฮวา ดังที่เห็นได้จากคำตรัสถัดมาของพระเยซู.
10 “ดังนั้น อย่าทำตัวเหมือนพวกเขา เพราะพระเจ้าพระบิดาของเจ้าทรงทราบว่าเจ้าต้องการอะไรก่อนเจ้าจะทูลขอพระองค์.” (มัด. 6:8) หัวหน้าศาสนาชาวยิวหลายคนทำตัวเหมือนคนต่างประเทศด้วยการพูดยืดยาวเมื่ออธิษฐาน. การอธิษฐานอย่างที่ออกมาจากใจซึ่งมีคำสรรเสริญ, คำขอบพระคุณ, และคำวิงวอนเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการนมัสการแท้. (ฟิลิป. 4:6) กระนั้น คงไม่ถูกต้องที่เราจะพูดเรื่องเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยคิดว่าการพูดซ้ำซากเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเตือนให้พระเจ้ารู้ว่าเราต้องการอะไร. เมื่อเราอธิษฐาน เราควรจำไว้ว่าเรากำลังพูดกับองค์ใหญ่ยิ่งผู้ ‘ทรงทราบว่าเราต้องการอะไรก่อนเราจะทูลขอพระองค์.’
11. เราควรจำอะไรไว้ถ้าเราได้รับสิทธิพิเศษเป็นตัวแทนคนอื่นในการอธิษฐาน?
11 คำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับคำอธิษฐานที่พระเจ้าไม่พอพระทัยน่าจะเตือนให้เราจำไว้ว่าพระเจ้าไม่ทรงประทับใจคำพูดที่เลิศลอยและการใช้คำพูดมากเกินความจำเป็น. เราควรตระหนักด้วยว่า เมื่อเราเป็นตัวแทนคนอื่นในการอธิษฐาน นั่นไม่ใช่โอกาสที่จะพยายามทำให้ผู้ฟังประทับใจหรือทำให้ผู้ฟังสงสัยว่าเมื่อไรเราจึงจะจบคำอธิษฐานด้วยคำว่า “อาเมน” เสียที. นอกจากนั้น การประกาศบางเรื่องหรือการให้คำแนะนำบางอย่างแก่ผู้ฟังในคำอธิษฐานไม่สอดคล้องกับทัศนคติของพระเยซูที่ทรงแสดงให้เห็นในคำเทศน์บนภูเขา.
พระเยซูทรงสอนวิธีอธิษฐานแก่เรา
12. คุณจะอธิบายความหมายของคำขอที่ว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” อย่างไร?
12 แม้ว่าพระเยซูทรงเตือนให้ระวังอย่าใช้สิทธิพิเศษใหญ่หลวงในการอธิษฐานอย่างไม่เหมาะสม แต่พระองค์ทรงสอนวิธีอธิษฐานแก่เหล่าสาวกด้วย. (อ่านมัดธาย 6:9-13.) เราไม่ควรจดจำคำอธิษฐานแบบอย่างไว้เพื่อจะท่องจำคำอธิษฐานนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรใช้คำอธิษฐานนี้เป็นแบบอย่างสำหรับคำอธิษฐานของเราเอง. ตัวอย่างเช่น พระเยซูตรัสถึงพระเจ้าก่อนพร้อมกับคำเริ่มต้นว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” (มัด. 6:9) เป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะเรียกพระยะโฮวาว่า “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างตัวเราผู้สถิต “ในสวรรค์” ซึ่งห่างไกลจากแผ่นดินโลก. (บัญ. 32:6; 2 โคร. 6:21; กิจ. 17:24, 28) การใช้คำพหูพจน์ “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ควรทำให้เราระลึกเสมอว่าเพื่อนร่วมความเชื่อของเราก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าด้วย. “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” เป็นคำวิงวอนให้พระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อพระองค์จะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ด้วยการขจัดคำตำหนิทั้งสิ้นที่มีต่อพระนามของพระองค์นับตั้งแต่การขืนอำนาจในสวนเอเดน. พระยะโฮวาจะทรงตอบคำอธิษฐานดังกล่าวด้วยการทำลายความชั่วให้หมดไปจากแผ่นดินโลก และด้วยวิธีนั้นจึงทำให้พระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—ยเอศ. 36:23.
13. (ก) คำขอที่ว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา” จะสำเร็จอย่างไร? (ข) การทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลกจะเกี่ยวข้องกับอะไร?
13 “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” (มัด. 6:10) ในคำทูลขอนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานแบบอย่าง เราควรจำไว้ว่า “ราชอาณาจักร” คือรัฐบาลมาซีฮาในสวรรค์ซึ่งปกครองโดยพระคริสต์และ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายและสมทบกับพระองค์. (ดานิ. 7:13, 14, 18; ยซา. 9:6, 7) การอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักร “มา” เป็นคำทูลขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาจัดการผู้ต่อต้านการปกครองของพระเจ้าทั้งสิ้นที่อยู่บนโลก. นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ซึ่งเป็นการเตรียมทางไว้สำหรับอุทยานแห่งความชอบธรรม, สันติสุข, และความรุ่งเรืองตลอดทั่วโลก. (เพลง. 72:1-15; ดานิ. 2:44; 2 เป. 3:13) พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวากำลังสำเร็จในสวรรค์ และการขอให้มาสำเร็จบนแผ่นดินโลกเป็นการวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงทำให้พระประสงค์ที่พระองค์มีต่อแผ่นดินโลกนี้สำเร็จ รวมถึงการกำจัดพวกผู้ต่อต้านในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเคยทำในสมัยโบราณ.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 83:1, 2, 13-18.
14. เหตุใดจึงเหมาะที่เราจะทูลขอ ‘อาหารสำหรับวันนี้’?
14 “ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้.” (มัด. 6:11; ลูกา 11:3) โดยขออย่างนี้ในคำอธิษฐาน เรากำลังขอพระเจ้าทรงโปรดช่วยเราให้มีอาหารที่จำเป็น “สำหรับวันนี้.” นี่แสดงว่าเรามีความเชื่อในความสามารถของพระยะโฮวาที่จะดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็นในแต่ละวันไป. คำอธิษฐานนี้ไม่ใช่การขอให้พระองค์ช่วยจัดหาสิ่งที่เกินความจำเป็น. การทูลขอสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันดังกล่าวอาจทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า พระเจ้าทรงบัญชาชาวอิสราเอลให้เก็บมานา “พอกินสำหรับเฉพาะวันหนึ่ง ๆ.”—เอ็ก. 16:4.
15. จงอธิบายความหมายของคำขอที่ว่า “ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้าอย่างที่พวกข้าพเจ้าได้ยกหนี้ความผิดให้ผู้ที่ทำผิดต่อพวกข้าพเจ้า.”
15 คำขอต่อไปในคำอธิษฐานแบบอย่างทำให้เราหันมาเอาใจใส่สิ่งที่เราต้องทำ. พระเยซูตรัสว่า “ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้าอย่างที่พวกข้าพเจ้าได้ยกหนี้ความผิดให้ผู้ที่ทำผิดต่อพวกข้าพเจ้า.” (มัด. 6:12) เมื่อเรา “ได้ยกหนี้ความผิด” ให้คนที่ทำผิดต่อเราแล้วเท่านั้นเราจึงจะคาดหมายได้ว่าจะได้รับการให้อภัยจากพระยะโฮวา. (อ่านมัดธาย 6:14, 15.) เราควรให้อภัยคนอื่นอย่างใจกว้าง.—เอเฟ. 4:32; โกโล. 3:13.
16. เราควรเข้าใจคำขอเกี่ยวกับการล่อใจและการช่วยให้รอดพ้นจากซึ่งชั่วร้ายอย่างไร?
16 “ขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย.” (มัด. 6:13, ฉบับ R73) เราเข้าใจคำขอสองอย่างนี้ที่เกี่ยวข้องกันในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูอย่างไร? สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ: พระยะโฮวาไม่ทรงล่อใจเราให้ทำบาป. (อ่านยาโกโบ 1:13.) ซาตาน—“ซึ่งชั่วร้าย”—คือ “ผู้ล่อลวง” ตัวจริง. (มัด. 4:3) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระเจ้าทรงทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งที่จริงพระองค์ทรงเพียงแต่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น. (รูธ. 1:20, 21; ผู้ป. 11:5) ด้วยเหตุนั้น “ขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง” เป็นคำวิงวอนให้พระยะโฮวาช่วยเราไม่ยอมแพ้เมื่อเราถูกล่อใจให้ไม่เชื่อฟังพระองค์. สุดท้าย คำขอที่ว่า “ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย” เป็นคำขอให้พระยะโฮวาอย่ายอมให้ซาตานมีชัยเหนือเรา. และเราสามารถเชื่อมั่นว่า ‘พระเจ้าจะไม่ทรงให้พวกเราถูกล่อใจเกินกว่าจะทนได้.’—อ่าน 1 โครินท์ 10:13.
‘จงขอ, หา, และเคาะต่อ ๆ ไป’
17, 18. ‘จงขอ, หา, และเคาะต่อ ๆ ไป’ หมายความอย่างไร?
17 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” (โรม 12:12) พระเยซูทรงแนะนำอย่างหนักแน่นคล้าย ๆ กันเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงขอต่อ ๆ ไปแล้วจะได้รับ จงหาต่อ ๆ ไปแล้วจะพบ จงเคาะต่อ ๆ ไปแล้วจะเปิดให้. เพราะทุกคนที่ขอจะได้รับ ทุกคนที่หาจะพบ และทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้.” (มัด. 7:7, 8) เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะ “ขอต่อ ๆ ไป” เพื่อจะได้สิ่งใดก็ตามที่สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. สอดคล้องกับคำตรัสของพระเยซู อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “เรามั่นใจในพระเจ้าว่า สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา.”—1 โย. 5:14.
18 คำแนะนำของพระเยซูที่ให้ ‘ขอและหาต่อ ๆ ไป’ หมายความว่าเราควรอธิษฐานอย่างจริงจังและไม่ละเลิก. เป็นเรื่องจำเป็นด้วยที่เราจะ “เคาะต่อ ๆ ไป” เพื่อจะได้รับพระพร, ผลประโยชน์, และบำเหน็จจากราชอาณาจักร. แต่เราจะมั่นใจได้ไหมว่าพระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานของเรา? เรามั่นใจได้ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา เพราะพระคริสต์ตรัสว่า “ทุกคนที่ขอจะได้รับ ทุกคนที่หาจะพบ และทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้.” ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนมีประสบการณ์ที่พิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน” อย่างแท้จริง.—เพลง. 65:2.
19, 20. เมื่อคำนึงถึงคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 7:9-11 พระยะโฮวาทรงเป็นเหมือนบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักอย่างไร?
19 พระเยซูทรงเปรียบพระเจ้ากับบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักซึ่งจัดหาสิ่งดี ๆ ให้บุตร. ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในหมู่ผู้คนที่ฟังคำเทศน์บนภูเขาและได้ยินพระเยซูตรัสว่า “ในพวกเจ้ามีใครหรือจะยื่นก้อนหินให้บุตรเมื่อเขาขอขนมปัง? หรือใครเล่าจะยื่นงูให้บุตรถ้าเขาขอปลา? ฉะนั้น ถ้าเจ้าทั้งหลายซึ่งแม้เป็นคนบาปก็ยังรู้จักให้ของดีแก่บุตร ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาของเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์จะทรงประทานสิ่งดีแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์!”—มัด. 7:9-11.
20 บิดาที่เป็นมนุษย์แม้เป็นคนบาปก็มีความรักใคร่ตามธรรมชาติต่อบุตร. เขาจะไม่หลอกบุตร แต่จะพยายามให้ “ของดี” แก่บุตร. โดยทรงมีทัศนะต่อเราแบบบิดามีต่อบุตร พระบิดาองค์เปี่ยมด้วยความรักของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทาน “สิ่งดี” เช่น พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (ลูกา 11:13) พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถเสริมกำลังเราให้ถวายการรับใช้แบบที่ได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวา ผู้ทรงให้ “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง.”—ยโก. 1:17.
จงรับประโยชน์จากคำสอนของพระเยซูต่อ ๆ ไป
21, 22. มีอะไรน่าสังเกตเกี่ยวกับคำเทศน์บนภูเขา และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคำสอนเหล่านี้ของพระเยซู?
21 คำเทศน์บนภูเขาเป็นคำบรรยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างแท้จริงเท่าที่เคยมีการบรรยายบนโลกนี้. คำเทศน์นี้โดดเด่นในเรื่องเนื้อหาฝ่ายวิญญาณและความชัดเจน. ดังที่เห็นได้จากจุดต่าง ๆ ที่ยกจากคำเทศน์บนภูเขามาพิจารณากันในบทความชุดนี้ เราสามารถได้รับประโยชน์อย่างมากถ้าเราใช้คำแนะนำที่อยู่ในคำเทศน์นี้. คำสอนเหล่านี้ของพระเยซูสามารถปรับปรุงชีวิตเราในขณะนี้และทำให้เรามีความหวังจะมีความสุขในอนาคต.
22 ในบทความชุดนี้ เราได้พิจารณาคำสอนที่เปรียบดุจอัญมณีอันมีค่ายิ่งในคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซูเพียงไม่กี่อย่าง. ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนที่ได้ยินคำบรรยายของพระองค์ “อัศจรรย์ใจในวิธีสอนของพระองค์.” (มัด. 7:28) ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นคงเป็นปฏิกิริยาของเราเหมือนกันเมื่อเราน้อมรับเอาคำสอนอันล้ำค่าของพระเยซูคริสต์ ครูผู้ยิ่งใหญ่ ไว้ในจิตใจและหัวใจของเรา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระเยซูตรัสอะไรเกี่ยวกับคำอธิษฐานแบบหน้าซื่อใจคด?
• เหตุใดเราควรหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำ ๆ เมื่อเราอธิษฐาน?
• คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูมีคำขออะไรบ้าง?
• เราจะ ‘ขอ, หา, และเคาะต่อ ๆ ไป’ ได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงประณามคนหน้าซื่อใจคดที่อธิษฐานเพียงเพื่อให้คนเห็นและได้ยิน
[ภาพหน้า 17]
คุณรู้ไหมว่าทำไมจึงเหมาะสมที่เราจะอธิษฐานขอโปรดประทานอาหารในแต่ละวัน?