“ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน”
“สาวกคนหนึ่งของพระองค์ทูลว่า ‘พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.’”—ลูกา 11:1.
1-3. (ก) ทำไมสาวกของพระเยซูต้องการคำแนะนำเรื่องการอธิษฐาน? (ข) มีคำถามอะไรเกี่ยวด้วยการอธิษฐาน?
บางคนมีพรสวรรค์ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะมาก ๆ. บางคนมีความสามารถประจำตัวเป็นนักดนตรี. แต่ที่พวกเขาจะบรรลุซึ่งศักยภาพสูงสุด นักร้องและผู้ช่ำชองด้านเครื่องดนตรีเหล่านี้จำต้องรับการฝึกสอน. การอธิษฐานก็เช่นเดียวกัน. สาวกของพระเยซูคริสต์จึงตระหนักว่าตนต้องการคำแนะนำเพื่อพระเจ้าจะสดับฟังการอธิษฐานของเขา.
2 ตามปกติพระเยซูได้เข้าเฝ้าพระบิดาของพระองค์ด้วยการอธิษฐานเป็นการส่วนตัว ดังที่พระองค์ได้กระทำตลอดคืนก่อนเลือกอัครสาวกสิบสองคน. (ลูกา 6:12-16) ถึงแม้นพระองค์ได้สนับสนุนสาวกของพระองค์ให้อธิษฐานเป็นการส่วนตัวก็ตาม แต่พวกเขาได้ยินพระองค์อธิษฐานต่อหน้าฝูงชน และสังเกตว่าพระองค์ไม่เหมือนพวกเคร่งศาสนาหน้าซื่อใจคดซึ่งอธิษฐานเพื่อให้ปรากฏแก่สายตาประชาชน. (มัดธาย 6:5, 6) โดยเหตุผลแล้ว ผู้ติดตามพระเยซูปรารถนาจะรู้ถึงหลักการอธิษฐานขั้นต่อไป. ฉะนั้นเราอ่านว่า “เมื่อพระองค์อธิษฐานอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พอจบแล้ว สาวกของพระองค์คนหนึ่งทูลว่า ‘พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน เหมือนโยฮัน [ผู้ให้บัพติสมา] ได้สอนพวกศิษย์ของตน.”—ลูกา 11:1.
3 พระเยซูทรงตอบรับอย่างไร? เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระองค์? และเราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากคำแนะนำของพระองค์ในเรื่องการอธิษฐาน?
บทเรียนสำหรับพวกเรา
4. ทำไมจึงสมควรที่เรา “อธิษฐานเสมออย่าเว้น” และที่จะทำเช่นนั้นจะหมายถึงอะไร?
4 เราสามารถเรียนได้มากจากคำตรัสและตัวอย่างของพระเยซูฐานะที่ทรงเป็นผู้นิยมการอธิษฐาน. บทเรียนหนึ่งคือ ถ้าพระบุตรที่สมบูรณ์พร้อมของพระเจ้าต้องได้อธิษฐานเป็นประจำ สาวกของพระองค์ซึ่งล้วนเป็นคนไม่สมบูรณ์ยิ่งต้องการมากกว่านั้นอีกที่จะหมายพึ่งพระเจ้าอยู่เรื่อยไปเพื่อรับการทรงนำ การปลอบประโลม และการค้ำจุนด้านวิญญาณ. เหตุฉะนั้น เราควร “อธิษฐานเสมออย่าเว้น.” (1 เธซะโลนิเก 5:17) แน่นอน ทั้งนี้ก็ไม่หมายความว่าต้องคุกเข่าอธิษฐานตลอดเวลา. ที่จะพูดให้ถูก ภายในหัวใจของเราควรคำนึงถึงพระเจ้าและพระทัยประสงค์ของพระองค์เสมอ. เราควรหมายพึ่งการทรงนำของพระเจ้าในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิตเพื่อว่าเราจะประพฤติด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจและได้รับความพอพระทัยจากพระองค์อยู่เสมอ.—สุภาษิต 15:24.
5. อะไรอาจจะแย่งเวลาที่เราน่าจะใช้สำหรับการอธิษฐาน และเราควรทำประการใดในเรื่องนี้?
5 ใน “ยุคสุดท้าย” นี้ หลายสิ่งหลายอย่างอาจเบียดบังเวลาซึ่งเราควรใช้ในการอธิษฐาน. (2 ติโมเธียว 3:1) แต่ถ้าความห่วงกังวลกับงานที่บ้านหรือการดูแลกิจการด้านธุรกิจ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนี้เข้ามาขัดจังหวะเวลาการอธิษฐานเป็นประจำต่อพระบิดาทางภาคสวรรค์ เราก็ย่อมกังวลในชีวิตปัจจุบันมากเกินไป. สภาพการณ์อย่างนี้ควรได้รับการแก้ไขทันท่วงที เพราะการไม่อธิษฐานจะนำไปสู่การเสียความเชื่อ. เราควรจะลดหน้าที่รับผิดชอบในงานอาชีพของเราให้น้อยลง หรือไม่ก็ดูแลเอาใจใส่ชีวิตอย่างสมดุล แล้วหันเข้าหาพระยะโฮวาด้วยความจริงใจและบ่อย ๆ เพื่อขอการทรงนำ. เราพึง “เฝ้าระวังในการอธิษฐาน.”—1 เปโตร 4:7, ล.ม.
6. บัดนี้เราจะศึกษาคำอธิษฐานอะไร พร้อมกับมีจุดประสงค์อะไร?
6 ในสิ่งที่เรียกกันว่าคำอธิษฐานอันเป็นแบบฉบับนั้น พระเยซูได้สอนสาวกของพระองค์ว่าควรอธิษฐานอย่างไร ไม่ใช่โดยกำหนดไว้ตายตัวว่าจะพูดอย่างไร. บันทึกของลูกาต่างไปบ้างเล็กน้อยจากสิ่งที่มัดธายบันทึก เพราะวาระโอกาสที่ต่างกันเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. พวกเราจะศึกษาคำอธิษฐานนี้เพื่อใช้เป็นแบบอย่างของลักษณะแห่งคำอธิษฐานของเรา ในฐานะที่เป็นสาวกของพระเยซูและพยานของพระยะโฮวา.
พระบิดาของเราและพระนามของพระองค์
7. ใครมีสิทธิพิเศษจะเรียกพระยะโฮวาเป็น “พระบิดาของเรา”?
7 “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์.” (มัดธาย 6:9; ลูกา 11:2) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์และสถิตในสวรรค์สถาน จึงสมควรที่เราจะทูลพระองค์ว่า “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์.” (1 กษัตริย์ 8:49; กิจการ 17:24, 28) การใช้คำพูด “แห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย” แสดงการยอมรับว่าคนอื่น ๆ ก็เช่นกันมีสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้า. แต่ใครเล่ามีสิทธิพิเศษซึ่งไม่ถูกจำกัดเพื่อจะทูลต่อพระองค์ฐานะเป็นพระบิดาของตน? เฉพาะปัจเจกบุคคลที่ได้อุทิศตัวรับบัพติสมาแล้วในครอบครัวของพระองค์ที่ประกอบด้วยผู้นมัสการพระองค์เท่านั้น. การทูลพระยะโฮวาว่า “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย” แสดงว่าเรามีความเชื่อในพระเจ้า และตระหนักดีว่าพื้นฐานเดียวเท่านั้นเพื่อการคืนดีกับพระองค์คือ การยอมรับเอาเครื่องบูชาค่าไถ่ของพระเยซูอย่างเต็มที่.—เฮ็บราย 4:14-16; 11:6.
8. ทำไมเราควรตั้งใจใช้เวลาอธิษฐานถึงพระยะโฮวา?
8 พวกเรามีความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดาทางภาคสวรรค์อะไรเช่นนี้! เหมือนบุตรที่ไม่เคยนึกเบื่อที่จะเข้าหาบิดาของตน เราน่าจะรอหาโอกาสเพื่อใช้เวลาทูลอธิษฐานต่อพระเจ้า. การรู้สำนึกบุญคุณอย่างลึกซึ้งสำหรับพระพรนานาประการทั้งฝ่ายวิญญาณและปัจจัยต่าง ๆ ทางด้านร่างกายน่าจะเป็นพลังกระตุ้นพวกเราให้ขอบพระคุณสำหรับคุณความดีของพระองค์. เราควรมีความรู้สึกว่า น่าจะมอบภาระอันหนักอึ้งไว้กับพระองค์ โดยมีความมั่นใจว่าพระองค์จะทรงเกื้อหนุนเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) เราแน่ใจได้ว่า หากเราเป็นคนสัตย์ซื่อ ในที่สุดทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีเพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในตัวเรา.—1 เปโตร 5:6, 7.
9. การอธิษฐานขอให้พระนามพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์เป็นการทูลขอเพื่ออะไร?
9 “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” (มัดธาย 6:9; ลูกา 11:2) คำที่ว่า “นาม” บางครั้งใช้หมายตัวบุคคลผู้นั้น และ “เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” หมายความว่า “ทำให้บริสุทธิ์, แยกไว้ต่างหาก, หรือยกให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์.” (เทียบกับวิวรณ์ 3:4.) ที่ถูกแล้ว การอธิษฐานขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์นั้นเป็นการทูลขอพระยะโฮวาดำเนินการเพื่อทุกคนจะยอมรับความบริสุทธิ์ของพระองค์เอง. โดยวิธีใด? โดยขจัดการหมิ่นประมาททุกอย่างที่ผู้คนทับถมพระนามของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 135:13) เพื่อบรรลุถึงขั้นนั้น พระเจ้าจะทรงกำจัดความชั่วให้หมดสิ้น สำแดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์เองและทำให้นานาชาติรู้ว่าพระองค์คือพระยะโฮวา. (ยะเอศเคล 36:23; 38:23) ถ้าเราปรารถนาจะเห็นวันนั้นและหยั่งรู้ค่าความยิ่งใหญ่ของพระองค์จริง ๆ เราก็จะเข้าเฝ้าพระองค์ไม่ขาด ด้วยใจที่เคารพยำเกรงอย่างสูง ดังถ้อยคำที่ว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” ส่อให้เห็น.
ราชอาณาจักรของพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์
10. การที่เราอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเช่นนั้นย่อมหมายถึงอะไร?
10 “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด” (มัดธาย 6:10, ล.ม.; ลูกา 11:2) ราชอาณาจักร ณ ที่นี้หมายถึงพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา ที่ได้แสดงออกโดยรัฐบาลแห่งมาซีฮาทางภาคสวรรค์ มีพระเยซูคริสต์และบรรดา “สิทธชน” ร่วมบริหารการปกครอง. (ดานิเอล 7:13, 14, 18, 27; ยะซายา 9:6, 7; 11:1-5) การอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักร “มา” เช่นนั้นจะหมายถึงอะไร? เรื่องนี้หมายความว่า เราทูลขอราชอาณาจักรของพระเจ้ามากำจัดบรรดาผู้ขัดขวางการปกครองของพระเจ้าทางแผ่นดินโลก. หลังจากราชอาณาจักร ‘ทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ให้ย่อยยับจนหมดสิ้น’ แล้ว ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเปลี่ยนสภาพแผ่นดินโลกเป็นอุทยานทั่วทั้งพิภพ.—ดานิเอล 2:44; ลูกา 23:43.
11. ถ้าเราคอยท่าปรารถนาจะเห็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จทั่วเอกภพ เราพึงทำอะไร?
11 “พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร ก็ขอให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น.” (มัดธาย 6:10, ล.ม.) นี้คือการทูลขอพระเจ้าดำเนินงานตามที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ต่อแผ่นดินโลก ซึ่งรวมไปถึงการขจัดบรรดาศัตรูของพระองค์ด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 83:9-18; 135:6-10) อันที่จริง เรื่องนี้หมายความว่าเราคอยท่าจะเห็นพระทัยประสงค์ของพระองค์สัมฤทธิ์ผลทั่วเอกภพ. ถ้าเราใส่ใจกับเรื่องนี้ เราจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาตลอดเวลาและทำสุดความสามารถด้วย. เราไม่อาจจะวิงวอนขอเช่นนั้นได้อย่างสนิทใจ ถ้าเราไม่พยายามจะให้เป็นไปตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในกรณีของเราเอง. ดังนั้น ถ้าเราทูลอธิษฐานอย่างนี้ เราก็น่าจะทำให้เป็นที่แน่ใจว่า เราไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่ขัดกับพระทัยประสงค์ของพระองค์ เช่นการนัดพบหรือติดต่อฝากรักกับคนไม่เชื่อพระเจ้าหรือการรับเอาแนวทางของโลกมาใช้. (1 โกรินโธ 7:39; 1 โยฮัน 2:15-17) แทนที่จะทำเช่นนั้น เราควรคำนึงเสมอว่า ‘พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?’ ถูกแล้ว ถ้าเรารักพระยะโฮวาสุดหัวใจของเรา เราจะแสวงหาการชี้นำจากพระองค์เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตทุกแง่มุม.—มัดธาย 22:37.
อาหารแต่ละวัน
12. การอธิษฐานขอเพียง ‘อาหารแต่ละวันเท่านั้น’ มีผลดีกับพวกเราอย่างไร?
12 “ขอทรงโปรดประทานอาหารเลี้ยงข้าพเจ้าทั้งหลายในกาลวันนี้.” (มัดธาย 6:11) บันทึกของลูกาอ่านดังนี้ “โปรดให้อาหารสำหรับวันนี้แก่พวกข้าพเจ้าตามความจำเป็นประจำวัน.” (ลูกา 11:3, ล.ม.) การทูลขอพระเจ้าจัดเตรียมให้เรามีอาหารที่จำเป็น “สำหรับวันนี้” ส่งเสริมความเชื่อว่า พระองค์สามารถจัดหาสิ่งจำเป็นให้เราเป็นวัน ๆ ไป. ชาวยิศราเอลต้องเก็บมานา “พอกินสำหรับเฉพาะวันหนึ่ง ๆ” ไม่ใช่สำหรับสัปดาห์หนึ่งหรือหลายวัน. (เอ็กโซโด 16:4) นี้ไม่ใช่การอธิษฐานเพื่อจะได้อาหารรสโอชะและเพื่อจะมีมากเหลือเฟือ แต่พอสำหรับความต้องการที่มีขึ้นมาแต่ละวัน. การทูลขออาหารให้พอสำหรับวันหนึ่ง ๆ ยังช่วยป้องกันพวกเรามิให้กลายเป็นคนโลภ.—1 โกรินโธ 6:9, 10.
13. (ก) เมื่อไตร่ตรองให้ดีแล้ว การอธิษฐานขออาหารเป็นวัน ๆ ไปจะหมายถึงอะไร? (ข) เราควรมีท่าทีเช่นไร ถ้าถึงแม้นเราทำงานอย่างขยันขันแข็งแล้ว แต่ก็แทบไม่พอกิน?
13 เมื่อคิดตรองลึก ๆ การขออาหารแต่ละวันแสดงว่าเราไม่ถือตัวเป็นเอกเทศ แต่จะหมายพึ่งพระเจ้าอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ. ในฐานะเป็นสมาชิกที่ได้อุทิศตัวแล้วแห่งครอบครัวของพระเจ้าผู้นมัสการพระองค์ เราไว้วางใจพระบิดาของเรา แต่ไม่ใช่นั่งอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรและคอยพระองค์จัดเตรียมให้โดยวิธีการอัศจรรย์. เราทำงานและใช้อะไรก็ได้ที่เราสามารถทำได้เพื่อจะมีอาหารกินและมีปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็น. กระนั้น ก็เป็นการสมควรที่เราอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้า เพราะเราเห็นความรัก สติปัญญาและอำนาจแห่งพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์อยู่เบื้องหลังการจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ให้แก่เราเช่นนั้น. (กิจการ 14:15-17; เทียบกับลูกา 22:19.) ความขยันของเราอาจยังผลเป็นความมั่งคั่ง. แต่ถึงแม้เราขยันทำการงานและแทบจะมีไม่พอ ก็จงรู้สึกขอบคุณและอิ่มใจ. (ฟิลิปปอย 4:12; 1 ติโมเธียว 6:6-8) ที่จริง คนที่มีคุณธรรมพร้อมกับมีอาหารและเครื่องนุ่งห่มพอเหมาะพอควรอาจมีความสุขมากกว่าบางคนที่ร่ำรวยทางด้านวัตถุ. ฉะนั้น ถึงเราจะมีน้อยเพราะสภาพการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ ก็ขออย่าท้อใจ. เรายังจะเป็นคนมั่งมีทางด้านวิญญาณได้. แท้จริง เราไม่เห็นจะต้องยากไร้ขาดแคลนความเชื่อ ความหวัง และความรักสำหรับพระยะโฮวา ผู้ทรงรับคำสรรเสริญและการขอบพระคุณเมื่อเราได้อธิษฐานต่อพระองค์ด้วยความจริงใจ.
โปรดยกหนี้ของข้าพเจ้า
14. เราทูลขอการอภัยหรือการยกหนี้สำหรับสิ่งใด และพระเจ้าทรงใช้อะไรเพื่อการอภัยโทษหรือการยกหนี้?
14 “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้าด้วย.” (มัดธาย 6:12) บันทึกของลูการะบุว่าหนี้คือบาป. (ลูกา 11:4) บาปที่ตกทอดมาถึงเรานั้นแหละเป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งต่าง ๆ ตามพระทัยประสงค์ที่ดีเยี่ยมของพระบิดา. เหตุฉะนั้น ข้อบกพร่องเหล่านี้เป็นหนี้ หรือพันธกรณีที่เรามีต่อพระเจ้า เพราะเราเริ่ม ‘มีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณก็ให้เราดำเนินตามพระวิญญาณด้วย.’ (ฆะลาเตีย 5:16-25; เทียบกับโรม 7:21-25.) เราติดหนี้เหล่านี้เพราะเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์และไม่สามารถจะบรรลุถึงมาตรฐานของพระเจ้าได้อย่างเต็มที่. เราได้รับสิทธิพิเศษจะอธิษฐานขออภัยบาปเหล่านั้น. น่าปลื้มใจจริง ๆ พระเจ้าทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาค่าไถ่ของพระเยซูลบล้างหนี้หรือบาปเหล่านี้.—โรม 5:8; 6:23.
15. เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อการตีสอนที่จำเป็น?
15 ถ้าเราคาดหวังพระเจ้ายกหนี้หรือบาปให้เรา เราต้องสำนึกผิดกลับใจและเต็มใจรับการตีสอน. (สุภาษิต 28:13; กิจการ 3:19) เพราะพระยะโฮวาทรงรักพวกเรา พระองค์จึงทรงตีสอนพวกเราตามความจำเป็นของแต่ละคน เพื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขความอ่อนแอของตัวเองได้. (สุภาษิต 6:23; เฮ็บราย 12:4-6) แน่นอน เราจะเป็นสุขถ้าความเชื่อและความรู้ได้เพิ่มพูนจนกระทั่งหัวใจของเราทำงานร่วมประสานเต็มที่กับข้อบัญญัติและหลักการของพระเจ้าถึงขนาดจะไม่มีวันที่เราจะเจตนาล่วงละเมิด. แต่สมมุติเราสำนึกว่าเรามีเจตนาอยู่บ้างในการทำผิดล่ะ? ถ้าเช่นนั้น เราคงจะปวดร้าวมากทีเดียวและสมควรตั้งใจทูลขอการให้อภัย. (เฮ็บราย 10:26-31) โดยที่เราเอาคำแนะนำที่ได้รับมาปฏิบัติ เราควรจะแก้ไขการกระทำของเราทันที.
16. เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะทูลขอพระเจ้าอยู่เสมอเพื่อจะทรงโปรดให้อภัยบาปของเรา?
16 การทูลขอพระเจ้าเป็นประจำเพื่อจะทรงยกบาปโทษของเราย่อมเป็นประโยชน์. การทำอย่างนี้ทำให้เราสำนึกตลอดเวลาถึงการที่เราเป็นคนบาปและน่าจะยังผลกระทบให้เราถ่อมใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 51:3, 4, 7) เราจำเป็นต้องมีพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ “จะทรงยกบาปโทษของเรา . . . และจะทรงชำระให้พ้นจากอธรรมทั้งสิ้น.” (1 โยฮัน 1:8, 9) ยิ่งกว่านั้น การเอ่ยอ้างบาปของเราในคำอธิษฐานช่วยเราต่อสู้กับบาปอย่างหนัก. เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็เตือนตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ว่าเราจำเป็นต้องมีค่าไถ่และคุณค่าการสละโลหิตของพระเยซู.—1 โยฮัน 2:1, 2; วิวรณ์ 7:9, 14.
17. การอธิษฐานขอการให้อภัยช่วยเราอย่างไรในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น ๆ?
17 อนึ่ง การอธิษฐานขอการอภัยโทษส่งเสริมเราเป็นคนมีใจเมตตา สงสารและเผื่อแผ่ต่อคนเหล่านั้นซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้ของเรา ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก. บันทึกของลูกาแจ้งดังนี้ “ขอทรงโปรดยกความผิดของข้าพเจ้าทั้งหลาย ด้วยว่าข้าพเจ้าย่อมยกความผิดของคนทั้งปวงที่ได้ทำผิดต่อข้าพเจ้านั้น.” (ลูกา 11:4) แท้จริง เราอาจได้รับการอภัยจากพระเจ้าก็ต่อเมื่อเราเองได้ “ยกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้า” คือคนที่ทำผิดต่อเรานั้นเสียก่อน. (มัดธาย 6:12; มาระโก 11:25) พระเยซูได้ตรัสเสริมว่า “เพราะว่าถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย. แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของมนุษย์ พระบิดาของท่านก็จะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:14, 15) การอธิษฐานขอพระเจ้ายกบาปของเราก็น่าจะทำให้เราทนทานกับคนอื่น ๆ ได้ แล้วให้อภัยเขา. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.; เอเฟโซ 4:32.
การทดลองและผู้ชั่วร้าย
18. เหตุใดเราไม่ควรตำหนิพระเจ้าเพราะการล่อใจและความยากลำบากที่ตกอยู่กับเรา?
18 “และขออย่านำข้าพเจ้าเข้าสู่การทดลอง.” (มัดธาย 6:13; ลูกา 11:4) ถ้อยคำตอนนี้ไม่หมายความว่าพระยะโฮวาทดลองเราให้ทำบาป. บางครั้งพระคัมภีร์กล่าวถึงการกระทำหรือการบันดาลของพระเจ้าซึ่งพระองค์เพียงแต่ยอมให้เป็นไป. (ประวัตินางรูธ 1:20, 21; เทียบกับท่านผู้ประกาศ 11:5.) แต่สาวกยาโกโบเขียนไว้ว่า “พระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” (ยาโกโบ 1:13) ดังนั้น ขออย่าให้เราประณามพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ในเมื่อมีการทดลองหรือความยากลำบากอันเนื่องมาจากการชั่ว เพราะซาตานต่างหากเป็นตัวการที่พยายามล่อใจและใช้อุบายหลอกล่อเราให้ทำผิดต่อพระเจ้า.—มัดธาย 4:3; 1 เธซะโลนิเก 3:5.
19. เราอาจจะอธิษฐานอย่างไรเกี่ยวเนื่องกับการล่อใจ?
19 โดยคำทูลขอที่ว่า “อย่านำข้าพเจ้าเข้าสู่การทดลอง” ที่จริง เราทูลขอพระยะโฮวาช่วยเราไม่ให้พ่ายแพ้เมื่อถูกล่อใจหรือถูกกดดันให้ขัดขืนพระองค์. เราสามารถอ้อนวอนพระบิดาของเราได้โปรดชี้ทางเดินแก่เราเพื่อว่าไม่มีการล่อใจใด ๆ ที่มาถึงเราจะหนักหนาจนเราทนไม่ไหว. ในเรื่องนี้ เปาโลเขียนดังนี้ “ไม่มีการล่อใจใด ๆ มาถึงท่านทั้งหลาย เว้นไว้แต่การล่อใจซึ่งมนุษย์เคยประสบมา. แต่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ และเมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกด้วยเพื่อว่าท่านจะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) เราอาจจะอธิษฐานขอพระยะโฮวานำพวกเรา เพื่อเราจะไม่ถูกล่อใจเกินกำลังที่เราจะทนรับได้ และเพื่อพระองค์จะจัดทางออกให้เรา เมื่อเราเป็นทุกข์กลัดกลุ้มอย่างหนัก. การล่อใจต่าง ๆ นั้นเป็นมาจากพญามาร เนื้อหนังของตัวเราเองซึ่งเป็นคนผิดบาป และความบกพร่องอ่อนแอของคนอื่น แต่พระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักสามารถนำทางเราได้เพื่อว่าเราจะไม่ตรมทุกข์เกินไป.
20. ทำไมจึงอธิษฐานขอการช่วยให้พ้นจาก “ผู้ชั่วนั้น”?
20 “ขอทรงช่วยพวกข้าพเจ้าพ้นผู้ชั่วนั้น.” (มัดธาย 6:13, ล.ม.) แน่นอน พระเจ้าสามารถปกป้องเราไม่ให้ซาตาน “ผู้ชั่วนั้น” ชนะเราได้. (2 เปโตร 2:9) และสมัยไหนก็ไม่มีความจำเป็นมากเหมือนเวลานี้ในการช่วยให้รอดจากพญามาร เนื่องจาก ‘มันโกรธมาก เพราะรู้ว่ามันมีเวลาน้อย.’ (วิวรณ์ 12:12) เราเองรู้อุบายของมัน และซาตานก็รู้ถึงความอ่อนแอของเราด้วย. ดังนั้น เราจึงต้องอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยเราเพื่อศัตรูตัวร้ายซึ่งเปรียบเหมือนสิงโตจะไม่ขย้ำพวกเราได้. (2 โกรินโธ 2:11; 1 เปโตร 5:8, 9; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 141:8, 9.) ยกตัวอย่าง ถ้าเราคิดจะแต่งงาน เราอาจจะต้องทูลขอพระยะโฮวาช่วยเราให้พ้นกลลวงของซาตาน และการล่อใจให้ผูกสัมพันธ์แบบชาวโลกซึ่งสามารถนำไปสู่การผิดศีลธรรม หรืออาจจะไม่เชื่อฟังพระเจ้าโดยยอมแต่งงานกับคนไม่มีความเชื่อ. (พระบัญญัติ 7:3, 4; 1 โกรินโธ 7:39) เราอยากรวยไหม? ถ้าเช่นนั้นการอธิษฐานอาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะต้านทานการล่อใจให้เล่นพนันหรือปฏิบัติการฉ้อฉล. ด้วยความตั้งใจจะทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา ซาตานจะใช้การล่อใจแบบไหนก็ได้. ฉะนั้น ขอให้เราอธิษฐานต่อพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์อยู่เสมอไม่ขาด พระองค์จะไม่ละผู้ชอบธรรมต่อการล่อใจ ทั้งจะทรงช่วยให้รอดจากผู้ชั่วนั้นด้วย.
การอธิษฐานสร้างความเชื่อและความหวัง
21. เราได้ประโยชน์โดยวิธีใดจากการอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรมา?
21 พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ผู้ทรงช่วยเราให้พ้นจากผู้ชั่วนั้น ทรงยินดีประทานพระพรแก่พวกเราอย่างล้นเหลือ. แต่ไฉนพระองค์จึงปล่อยให้ไพร่พลที่พระองค์ทรงรักทูลอธิษฐานมาเป็นเวลานานแล้วที่ว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด”? อ้าว การอธิษฐานอย่างนี้มานานหลายปีได้เพิ่มพูนความปรารถนาของเราและการหยั่งรู้ค่าต่อราชอาณาจักรนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ. การอธิษฐานเช่นนี้สะกิดเตือนให้เรานึกถึงเรื่องความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะมีการปกครองจากสวรรค์ซึ่งยังคุณประโยชน์มากยิ่งนี้. นอกจากนั้น การอธิษฐานเช่นนี้ยังช่วยให้ความหวังอยู่ตรงหน้าเราที่จะได้ชีวิตภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรอีกด้วย.—วิวรณ์ 21:1-5.
22. เราควรมีทัศนะอะไรต่อ ๆ ไปเรื่องการอธิษฐานถึงพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์นั้น?
22 การอธิษฐานย่อมสร้างความเชื่อในพระยะโฮวาอย่างไม่มีข้อสงสัย. ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ได้รับการเสริมให้มั่นคงเมื่อพระองค์ตอบคำอธิษฐานของเรา. เหตุฉะนั้น อย่าให้เราเลื่อยล้าที่จะเข้าเฝ้าพระองค์ทุกวันพร้อมกับคำสรรเสริญ การขอบพระคุณและการวิงวอน. และขอให้เราสำนึกบุญคุณอันเป็นประโยชน์แก่เรา เมื่อพระเยซูตอบสนองคำขอของพวกสาวกที่ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.”
คุณจำได้ไหม?
▫ เราได้บทเรียนอะไรจากคำตรัสและตัวอย่างของพระเยซูฐานะทรงเป็นผู้นิยมการอธิษฐาน?
▫ เราควรอธิษฐานเพื่ออะไรเกี่ยวด้วยพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์และพระนามของพระองค์?
▫ เรากำลังขออะไรเมื่ออธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามา และให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จในแผ่นดินโลก?
▫ เรากำลังทูลขออะไรเมื่อเราอธิษฐานขออาหารแต่ละวัน?
▫ จะหมายถึงอะไรเมื่อเราอธิษฐานขอการยกหนี้ให้เรา?
▫ ทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พึงอธิษฐานเรื่องการล่อใจ และการช่วยให้พ้นจากซาตานผู้ชั่วนั้น?
[รูปภาพหน้า 16]
สาวกของพระเยซูขอพระองค์สอนวิธีอธิษฐาน. คุณทราบไหมว่าเราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากคำแนะนำของพระองค์เรื่องการอธิษฐาน?