จงเกรงกลัวพระยะโฮวา ผู้สดับคำอธิษฐาน
“ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
1. ทำไมเราควรคาดหมายพระยะโฮวาจะทรงวางข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ปรารถนาเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการอธิษฐาน?
พระเจ้ายะโฮวาเป็น ‘พระมหากษัตริย์ตลอดกาล.’ นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ซึ่ง “บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์.” (วิวรณ์ 15:3; บทเพลงสรรเสริญ 65:2) แต่มนุษย์ควรจะเข้าเฝ้าพระองค์โดยวิธีใด? กษัตริย์ทั้งหลายที่เป็นมนุษย์ได้วางระเบียบเป็นต้นว่า การแต่งกายและธรรมเนียมสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า. เช่นนั้นแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่า เราพึงคาดหมายพระมหากษัตริย์ตลอดกาลจะตั้งข้อเรียกร้องสำหรับบุคคลผู้ซึ่งปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยคำวิงวอนและด้วยการขอบพระคุณ.—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
2. เกี่ยวกับการอธิษฐานมีคำถามอะไรขึ้นมา?
2 พระมหากษัตริย์ตลอดกาลทรงเรียกร้องอะไรจากผู้ที่เข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการอธิษฐาน? ใครอาจจะอธิษฐานแล้วคำอธิษฐานของเขาได้รับการสดับฟัง? และเขาจะอธิษฐานเกี่ยวกับอะไร?
การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ตลอดกาล
3. คุณจะยกตัวอย่างอะไรได้บ้างเกี่ยวด้วยการเสนอคำอธิษฐานโดยผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยโบราณ และคนเหล่านั้นทูลต่อพระเจ้าผ่านผู้กลางไหม?
3 ก่อนอาดาม “บุตรของพระเจ้า” กลายเป็นคนบาป เห็นได้ชัดว่าเขาเคยได้สนทนากับพระมหากษัตริย์ตลอดกาล. (ลูกา 3:38; เยเนซิศ 1:26-28) เมื่อเฮเบลบุตรชายอาดามได้นำ “แกะหัวปีจากฝูง” ถวายพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยว่าการถวายเครื่องบูชาครั้งนี้ควบคู่ไปกับคำวิงวอนและคำสรรเสริญ. (เยเนซิศ 4:2-4) โนฮา อับราฮาม ยิศฮาคและยาโคบได้สร้างแท่นถวายเครื่องบูชาและเสนอคำอธิษฐานแด่พระเจ้า. (เยเนซิศ 8:18-22; 12:7, 8; 13:3, 4, 18; 22:9-14; 26:23-25; 33:18-20; 35:1, 3, 7) และคำอธิษฐานของซะโลโม เอษรา และท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าแสดงว่า ชาวยิศราเอลเข้าเฝ้าพระเจ้าโดยไม่ผ่านคนกลาง.—1 กษัตริย์ 8:22-24; เอษรา 9:5, 6; บทเพลงสรรเสริญ 6:1, 2; 43:1; 55:1; 61:1; 72:1; 80:1; 143:1.
4. (ก) วิธีใหม่อะไรที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าโดยการอธิษฐานซึ่งได้บัญญัติขึ้นในศตวรรษแรกนั้น? (ข) ทำไมจึงเป็นสิ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะอธิษฐานขอในนามของพระเยซู?
4 วิธีใหม่ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยคำอธิษฐานถูกจัดขึ้นในศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช. วิธีนี้ผ่านพระเยซูคริสต์พระบุตรผู้ทรงมีความรักต่อมนุษย์เป็นพิเศษ. ขณะทรงสภาพเป็นอยู่ก่อนกำเนิดเป็นมนุษย์ พระเยซูทรงปฏิบัติหน้าที่เป็น “นายช่าง” ด้วยความร่าเริงยินดี ทรงพอใจกับกิจการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับมนุษยชาติ. (สุภาษิต 8:30, 31) ขณะที่เป็นมนุษย์อยู่ในโลก ด้วยความรักพระเยซูได้ช่วยด้านวิญญาณแก่มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ทรงรักษาคนป่วย กระทั่งปลุกคนตายให้ฟื้น. (มัดธาย 9:35-38; ลูกา 8:1-3, 49-56) สำคัญที่สุด พระเยซู ‘สละจิตวิญญาณของพระองค์เพื่อไถ่คนเป็นอันมาก.’ (มัดธาย 20:28) ดังนั้น นับว่าเหมาะสมเสียจริง ๆ สำหรับคนเหล่านั้นที่ได้ประโยชน์แห่งค่าไถ่ควรเข้าเฝ้าพระเจ้าผ่านท่านผู้นี้ ซึ่งรักมนุษย์มากยิ่ง! บัดนี้ ทางนี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่เราจะเฝ้าพระมหากษัตริย์ตลอดกาล เพราะพระเยซูได้ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดา เว้นไว้มาทางเรา” และ “ถ้าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดา พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่านในนามของเรา.” (โยฮัน 14:6; 16:23) การทูลขอสิ่งต่าง ๆ ในนามของพระเยซูหมายถึงการยอมรับพระองค์ฐานะเป็นทางที่จะเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงสดับคำอธิษฐาน.
5. พระเจ้าทรงมีทัศนะเช่นไรต่อโลกแห่งมนุษยชาติ และเรื่องนี้มีผลกระทบการอธิษฐานอย่างไร?
5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราควรหยั่งรู้ค่าที่พระยะโฮวาทรงสำแดงความรักด้วยการจัดเตรียมค่าไถ่. พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลก [มนุษยชาติ] มากถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) ความซาบซึ้งแห่งความรักของพระเจ้าได้แสดงเป็นคำพูดอย่างเหมาะเจาะโดยผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญว่า “ด้วยฟ้าสวรรค์สูงจากพื้นดินมากเท่าใด พระองค์ทรงพระกรุณาแก่คนที่ยำเกรงพระองค์มากเท่านั้น. ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:11-14) เรารู้สึกเบิกบานใจเพียงใดที่รู้ว่าการอธิษฐานของพยานพระยะโฮวาผู้ซึ่งอุทิศตนแล้วขึ้นไปถึงพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักเช่นนั้นโดยผ่านทางพระบุตรของพระองค์!
สิทธิพิเศษที่ถูกจำกัด
6. เมื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานคนเราจำต้องแสดงท่าทีแบบไหน?
6 บรรดากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ไม่อนุญาตใครก็ได้เข้าไปถึงราชฐานโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า. การเข้าเฝ้ากษัตริย์นับว่าเป็นสิทธิพิเศษจำกัด. การอธิษฐานต่อพระมหากษัตริย์ตลอดกาลก็เป็นอย่างนั้นด้วย. แน่นอน ผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์พร้อมด้วยการหยั่งรู้ค่าสง่าราศีอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ ย่อมคาดหมายได้ว่าพระเจ้าจะสดับคำอธิษฐานของตน. การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ตลอดกาลนั้นจะต้องกระทำด้วยความเคารพควบกับท่าทีซึ่งแสดงว่าเป็นการนมัสการ. และผู้ที่ปรารถนาจะให้พระเจ้าสดับจึงต้องแสดง “ความเกรงกลัวพระยะโฮวา.”—สุภาษิต 1:7.
7. “ความเกรงกลัวพระยะโฮวา” หมายถึงอะไร?
7 “ความเกรงกลัวพระยะโฮวา” หมายถึงอะไร? หมายถึงความเคารพยำเกรงพระเจ้าอย่างสุดซึ้ง ควบคู่กับความกลัวอย่างมีเหตุผลที่จะขัดพระทัยพระเจ้า. ความเกรงขามอย่างนี้เกิดจากความซาบซึ้งในความกรุณารักใคร่และความดีของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 106:1) รวมไปถึงการรับรู้สถานะของพระองค์ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตลอดกาล ผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจจะลงโทษหรือสำเร็จโทษผู้ที่ขัดขืนพระองค์. ผู้ที่แสดงตนว่ามีความเกรงกลัวพระยะโฮวาย่อมทูลอธิษฐานต่อพระองค์ได้ด้วยคาดหมายว่าพระองค์จะสดับฟัง.
8. เพราะเหตุใดพระเจ้าสดับคำอธิษฐานของผู้ที่เกรงกลัวพระองค์?
8 เป็นธรรมดาอยู่เอง พระเจ้าไม่ทรงตอบคำอธิษฐานของคนชั่ว คนไม่ซื่อสัตย์และคนที่คิดว่าตนถูกต้องชอบธรรม. (สุภาษิต 15:29; ยะซายา 1:15; ลูกา 18:9-14) แต่พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของคนที่ยำเกรงพระองค์เพราะเขาได้ประพฤติประสานกับมาตรฐานอันเที่ยงธรรมของพระองค์. กระนั้นเขาได้ทำมากกว่านั้น. คนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาได้อุทิศตนแด่พระเจ้าด้วยการอธิษฐาน แล้วแสดงนัยการอุทิศตัวโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. ด้วยเหตุนั้นเขาจึงมีสิทธิพิเศษเกี่ยวกับการอธิษฐานอย่างไม่จำกัด.
9, 10. คนที่ไม่รับบัพติสมาจะอธิษฐานด้วยมีความคาดหวังได้ไหมว่าพระเจ้าจะสดับฟัง?
9 เพื่อพระเจ้าจะสดับคำอธิษฐาน คนเราต้องแสดงถึงความรู้สึกอย่างที่ประสานกับพระทัยพระเจ้า. แน่ละ เขาต้องเป็นคนจริงใจ แต่เท่านั้นยังไม่พอ. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อแล้วจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็หามิได้ เพราะว่าผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) เมื่อเป็นเช่นนั้น ควรจะหนุนใจคนที่ยังไม่รับบัพติสมาให้อธิษฐานไหมโดยหวังจะให้พระเจ้าสดับคำอธิษฐานของเขา?
10 เมื่อทราบว่าการอธิษฐานเป็นสิทธิพิเศษจำกัด กษัตริย์ซะโลโมได้ทูลขอพระยะโฮวาสดับฟังเฉพาะคนต่างประเทศซึ่งได้อธิษฐานโดยการหันหน้าไปยังวิหารของพระเจ้าในกรุงยะรูซาเลมเท่านั้น. (1 กษัตริย์ 8:41-43) อีกหลายศตวรรษต่อมา โกระเนเลียวคนต่างชาติ “อธิษฐานพระเจ้าเสมอ” เพราะเป็นคนมีศรัทธา. ครั้นได้รับความรู้ถ่องแท้แล้ว โกระเนเลียวจึงได้อุทิศตัวแด่พระเจ้า แล้วพระเจ้าจึงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เขา. ต่อจากนั้น โกระเนเลียวและชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ได้รับบัพติสมา. (กิจการ 10:1-44) เช่นเดียวกับโกระเนเลียว ทุกวันนี้ ใครก็ตามซึ่งก้าวหน้าถึงขั้นจะอุทิศตัวก็อาจได้รับการสนับสนุนให้อธิษฐาน. แต่คนที่ศึกษาพระคัมภีร์อย่างไม่จริงใจ ไม่รู้ข้อเรียกร้องของพระเจ้าสำหรับการอธิษฐาน ทั้งยังไม่แสดงท่าทีว่าจะทำให้พระเจ้าชอบพระทัย จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเขาเกรงกลัวพระยะโฮวา มีความเชื่อหรือตั้งใจจริงจังจะแสวงหาพระองค์. บุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะจะเสนอคำอธิษฐานอย่างที่พระเจ้ารับรองเอาได้.
11. เกิดอะไรขึ้นกับบางคนที่เคยก้าวหน้าไปสู่ขั้นอุทิศตัว และเขาน่าจะถามตัวเองอย่างไร?
11 มีบางคนเคยก้าวหน้าถึงขั้นรับบัพติสมา แต่แล้วดูเหมือนจะรั้งรออยู่. ถ้าในหัวใจของเขาไม่มีความรักต่อพระยะโฮวามากพอที่จะอุทิศตัวแด่พระองค์โดยไม่มีเงื่อนไข เขาก็น่าจะถามตัวเองว่าเขายังคงมีสิทธิพิเศษอันดียิ่งเช่นนี้หรือไม่ที่จะอธิษฐาน. คงจะไม่มี เพราะคนที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องแสวงหาพระองค์ด้วยความจริงใจ ด้วยความชอบธรรมและความอ่อนสุภาพ. (ซะฟันยา 2:3) ทุกคนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาจริง ๆ เป็นผู้ที่มีความเชื่อที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าและแสดงนัยโดยการรับบัพติสมา. (กิจการ 8:13; 18:8) และเฉพาะผู้มีความเชื่อและรับบัพติสมาแล้วเท่านั้นมีสิทธิพิเศษไม่จำกัดในการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ตลอดกาลด้วยคำทูลอธิษฐาน.
“อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”
12. ตอนไหนซึ่งจะพูดได้ว่าคนเรา “อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”?
12 หลังจากคนเราอุทิศตัวแด่พระเจ้าและแสดงนัยการอุทิศตัวโดยรับบัพติสมา เขาอยู่ในฐานะจะ ‘อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยูดาเขียนไว้ว่า “แต่ท่านที่รักทั้งหลาย โดยเสริมสร้างตัวท่านเองในความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่งของท่านและอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จงรักษาตัวท่านให้อยู่ในความรักของพระเจ้า ขณะที่ท่านทั้งหลายรอคอยความเมตตาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา—พระเยซูคริสต์—พร้อมด้วยความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (ยูดา 20, 21, ล.ม.) คนเราอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ต่อเมื่ออธิษฐานภายใต้อิทธิฤทธิ์แห่งพระวิญญาณของพระเจ้าหรือพลังปฏิบัติการ และประสานกันกับสิ่งที่กล่าวไว้ในพระวจนะของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิล ซึ่งได้รับการจารึกโดยการดลบันดาลแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวานั้น กล่าวไว้ถึงวิธีอธิษฐานและพึงอธิษฐานขอสิ่งใด. ยกตัวอย่าง เราสามารถอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เรา. (ลูกา 11:13) เมื่อเราอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำอธิษฐานของเราย่อมเผยให้เห็นสภาพหัวใจแบบที่พระยะโฮวาทรงรัก.
13. ถ้าเราอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะหลีกเว้นสิ่งใด และเราจะปฏิบัติตามคำแนะนำข้อใดของพระเยซู?
13 เมื่อเราอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราคงไม่กล่าวคำอธิษฐานด้วยการใช้ถ้อยคำหรู ๆ. คำอธิษฐานคงจะไม่เป็นคำพูดที่ท่องขึ้นใจและพูดซ้ำซาก. ไม่ใช่อย่างนั้นเลย คำอธิษฐานไม่ใช่เพลงสวดที่ไร้ความหมาย กล่าวสดุดีอย่างไม่จริงใจ. การอธิษฐานแบบนี้พบเห็นมากในคริสต์ศาสนจักรและในศาสนาอื่นซึ่งเป็นส่วนแห่งบาบูโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จ. แต่คริสเตียนแท้เชื่อฟังคำเตือนของพระเยซูที่ว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจะอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด เพราะเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามถนน เพื่อจะให้คนทั้งปวงเห็น . . . เมื่อท่านอธิษฐาน อย่ากล่าวคำซ้ำให้มากเหมือนคนต่างประเทศ เพราะเขาคิด [ผิดไป] ว่าพูดมากหลายคำพระจึงจะโปรดฟัง. อย่าทำเหมือนเขาเลย.”—มัดธาย 6:5-8.
14. บางคนกล่าวไว้อย่างไรซึ่งแสดงถึงความเข้าใจเรื่องการอธิษฐาน?
14 นอกจากพระเยซูและผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลแล้ว บางคนเคยกล่าวถึงเรื่องการอธิษฐานไว้อย่างเหมาะสม. อาทิ นักเขียนชาวอังกฤษชื่อ จอห์น บันยัน (ปี 1628-1688) กล่าวดังนี้ “การอธิษฐานเป็นการระบายความคิดของตนกับพระเจ้าโดยผ่านทางพระคริสต์ด้วยความจริงใจ มีสติสัมปชัญญะและอย่างอบอุ่น โดยอาศัยพลังและการสนับสนุนของพระวิญญาณเพื่อขอสิ่งต่าง ๆ ตามที่พระเจ้าได้ทรงสัญญา.” โทมัส บรุกส์ (1608-1680) นักเทศน์พยูริตันให้ข้อสังเกตดังนี้ “พระเจ้าหาได้มองดูสำนวนโวหารแห่งคำอธิษฐานของคุณไม่ จะใช้คำพูดสละสลวยแค่ไหน หรือไม่คอยดูว่าคำอธิษฐานยาวหรือสั้นแค่ไหน หรือใช้คำมากน้อยแค่ไหน พระองค์หาได้ทรงพิจารณาว่าคำอธิษฐานของคุณมีเหตุผล หรือจัดให้เป็นระเบียบถูกวิธีอย่างไร แต่พระองค์มองดูความจริงใจแห่งคำอธิษฐานนั้นต่างหาก.” เราอาจเพิ่มคำพูดของบันยันเข้ากับข้อสังเกตดังกล่าวว่า “เรื่องการอธิษฐานนั้น ความจริงใจโดยไม่ประดิษฐ์คำพูดย่อมดีกว่ามีคำพูด แต่ไม่จริงใจ.” แต่ถ้าเราจริงใจและบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระมหากษัตริย์ตลอดกาลจะสดับคำอธิษฐานของเรา?
ไม่เคยเมินเฉย
15. สรุปแล้ว พระเยซูทรงกล่าวไว้อย่างไรที่ลูกา 11:5-8?
15 พระเจ้ายะโฮวาไม่เคยเลยที่จะไม่ใฝ่พระทัยรับฟังคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระองค์. เรื่องนี้กระจ่างชัดเมื่อพระเยซูตรัสถ้อยคำอันแสดงถึงความรักใคร่ของพระองค์ในคราวที่สาวกได้ขอคำแนะนำจากพระองค์. ตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดในพวกท่านมีมิตรสหายคนหนึ่ง และจะไปหามิตรสหายนั้นในเวลาเที่ยงคืนพูดกับเขาว่า ‘มิตรสหายเอ๋ย ขอให้ฉันยืมขนมปังสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันพึ่งเดินทางมาหาฉัน และฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน’? ฝ่ายมิตรสหายที่อยู่ข้างในจะตอบว่า ‘อย่ารบกวนฉันเลย ประตูก็ปิดเสียแล้ว ทั้งพวกลูกก็นอนกันแล้ว ฉันจะลุกขึ้นหยิบให้ท่านไม่ได้.’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า แม้เขาจะไม่ลุกขึ้นหยิบให้คนนั้นเพราะเป็นมิตรสหายกัน แต่ว่าเพราะวิงวอนมากเข้าเขาจึงลุกขึ้นหยิบให้ตามที่เขาต้องการ.” (ลูกา 11:1, 5-8) อะไรเป็นจุดสำคัญของอุทาหรณ์เรื่องนี้?
16. เกี่ยวด้วยการอธิษฐาน พระเยซูทรงประสงค์ให้เราทำประการใด?
16 แน่นอน พระเยซูไม่ได้หมายความว่าพระยะโฮวาไม่เต็มพระทัยจะช่วยเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระคริสต์ทรงประสงค์จะให้เราไว้ใจพระเจ้าโดยสิ้นเชิงและรักพระองค์มากพอที่จะไม่ล้มเลิกการอธิษฐาน. ดังนั้น พระเยซูจึงตรัสต่อไปว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอต่อ ๆ ไปและสิ่งนั้นจะประทานให้ท่าน; จงแสวงหาต่อ ๆ ไป และท่านจะพบ; จงเคาะต่อ ๆ ไปและจะเปิดให้แก่ท่าน. เพราะว่าทุกคนที่ขอก็จะได้ และทุกคนที่แสวงหาก็จะพบ และทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา.” (ลูกา 11:9, 10, ล.ม.) เช่นนั้น เป็นที่แน่นอนว่าเราควรอธิษฐานอยู่เรื่อยไปเมื่อเราประสบการกดขี่ข่มเหง ความทุกข์ร้อนอันเนื่องมาจากความอ่อนแอประจำตัวบางอย่างหรือความลำเค็ญในด้านใดด้านหนึ่ง. พระยะโฮวาทรงพร้อมเสมอที่จะช่วยบรรดาผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์. พระองค์ไม่เคยบอกเราว่า “เลิกรบกวนเสียที.”
17, 18. (ก) พระเยซูทรงสนับสนุนพวกเราโดยวิธีใดที่ให้ทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอะไรเสริมน้ำหนักแห่งคำตรัสของพระเยซู? (ข) พระเยซูทรงเปรียบเทียบไว้อย่างไรระหว่างการปฏิบัติของบิดาที่เป็นมนุษย์กับวิธีการปฏิบัติของพระเจ้า?
17 ถ้าเราหวังจะชื่นชมในสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับพระเจ้า เราจำต้องได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการจากพระองค์. ฉะนั้น พระเยซูทรงกล่าวต่อดังนี้ “มีผู้ใดในพวกท่านที่เป็นบิดา ถ้าบุตรขอปลาจะเอางูให้เขาแทนปลาหรือ? หรือถ้าขอไข่จะเอาแมงป่องให้เขาหรือ? เหตุฉะนั้น ถ้าท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ทูลขอจากพระองค์!” (ลูกา 11:11-13) มัดธาย 7:9-11 พูดถึงการให้หินแทนขนมปัง คำตรัสของพระเยซูยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นถ้าเราตระหนักว่า ขนมปังในประเทศยิศราเอลสมัยก่อนนั้นลักษณะของมันคล้ายกับหินกลม ๆ แต่แบน. งูบางชนิดมีลักษณะเหมือนปลาบางอย่าง และมีแมงป่องขาวตัวเล็ก ๆ ซึ่งดูคล้ายกับไข่. แต่ถ้าขอขนมปัง ขอปลา หรือขอไข่ บิดาคนไหนจะให้ก้อนหิน งู หรือแมงป่องแก่ลูก?
18 ต่อจากนั้น พระเยซูได้เปรียบเทียบการติดต่อของบิดาที่เป็นมนุษย์และการกระทำของพระเจ้ากับสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่นมัสการพระองค์. ถ้าพวกเรา แม้ว่าเป็นคนชั่วเนื่องจากได้รับบาปที่ตกทอดมาถึง กระนั้น เราก็ยังให้ของดีแก่ลูก ยิ่งกว่านั้นสักเท่าไรที่เราพึงคาดหมายได้ว่า พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งดีวิเศษแก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ที่ทูลขอด้วยความถ่อมใจ!
19. (ก) ถ้อยคำของพระเยซูที่บันทึกในลูกา 11:11-13 และมัดธาย 7:9-11 แสดงถึงสิ่งใด? (ข) ถ้าเรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำ เราควรมองความทุกข์ยากของเราด้วยทัศนะเช่นไร?
19 คำตรัสของพระเยซูแสดงว่าเราควรทูลขอพระองค์ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เราให้มากขึ้น. ถ้าเรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์นำเรา เราจะไม่ ‘โอดครวญเมื่อชีวิตของเราประสบความทุกข์ยาก’ และไม่คิดว่าความยากลำบากหรือความผิดหวังจะก่อความเสียหายแก่เราจริง ๆ. (ยูดา 16) จริง “มนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก” และคนจำนวนมากไม่มีชีวิตอยู่นานพอจะได้เห็นปัญหาและความปวดร้าวของตนหมดไป. (โยบ 14:1) แต่เราอย่ามองความยากลำบากของเราประหนึ่งเป็นก้อนหิน งู และแมงป่องซึ่งผู้สดับคำอธิษฐานได้หยิบยื่นให้เรา. พระองค์ทรงเป็นความรัก และไม่ใช้สิ่งร้าย ๆ เป็นการทดลองคนหนึ่งคนใด. ตรงกันข้าม พระองค์ทรงประทาน ‘ของประทานอันดีทุกอย่างและของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่าง’ แก่เรา. ในที่สุด พระองค์จะทรงจัดทุกสิ่งให้เหมาะสำหรับทุกคนที่รักและเกรงกลัวพระองค์. (ยาโกโบ 1:12-17, ล.ม.; 1 โยฮัน 4:8) บรรดาผู้ที่ดำเนินในทางแห่งความจริงนานหลายปีเรียนรู้โดยประสบการณ์ว่า โดยการอธิษฐานด้วยความเชื่อ ความยากลำบากหนักฉกรรจ์ที่พวกเขาประสบมาก็ได้ผ่านไปอย่างที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเอง ทั้งได้เพิ่มพูนผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าให้กับชีวิตด้วย. (3 โยฮัน 4) ที่จริง เราจะเรียนรู้การหมายพึ่งพระบิดาทางภาคสวรรค์ได้โดยวิธีใดที่ดีกว่า แล้วได้รับการสนับสนุนเพื่อจะพัฒนาให้เกิดผลแห่งพระวิญญาณซึ่งได้แก่ ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดกลั้นทนนาน ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนสุภาพและการบังคับตัวเอง?—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
20. คำตรัสของพระเยซูที่ลูกา 11:5-13 น่าจะมีผลกระทบพวกเราอย่างไร?
20 คำตรัสของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ที่ลูกา 11:5-13 ทำให้เรามีหลักค้ำประกันอันดียิ่งว่า เราจะได้รับความรักและความเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากพระยะโฮวา. ทั้งนี้ย่อมทำให้หัวใจของเราเต็มตื้นด้วยความสำนึกในพระคุณและความรักอย่างลึกซึ้ง. ความสำนึกเช่นนี้น่าจะเสริมความเชื่อให้มั่นคงและกระตุ้นเราให้ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ตลอดกาลเป็นเนืองนิตย์ตรงที่รองพระบาท และอยู่ให้นาน ๆ ต่อหน้าบังลังก์ประทับของพระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก. ยิ่งกว่านั้น คำตรัสของพระเยซูทำให้เราแน่ใจได้ว่าพระองค์จะไม่ปฏิเสธคำทูลขอของเรา. พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงปลาบปลื้มพระทัยมากยิ่งที่เราได้มอบภาระไว้กับพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 121:1-3) และเมื่อพวกเรา ซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ที่อุทิศตัวแล้วเช่นนี้ ทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ พระองค์ย่อมจะประทานแก่เราอย่างไม่อั้น. นี้แหละคือพระเจ้าของเราผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก และเราสามารถมีความเชื่อเต็มที่ว่าพระองค์เป็นผู้สดับคำอธิษฐานของเรา.
คุณจำได้ไหม?
▫ เมื่อเราเข้าเฝ้าพระเจ้าเราต้องอธิษฐานผ่านผู้ใด และทำไม?
▫ การอธิษฐานเป็นสิทธิพิเศษจำกัดในแง่ไหน?
▫ ที่จะ ‘อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ หมายความอย่างไร?
▫ คุณจะพิสูจน์ตามหลักพระคัมภีร์ได้อย่างไรว่า พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของพยานผู้ซื่อสัตย์ซึ่งรับบัพติสมาแล้ว?
[รูปภาพหน้า 14]
บิดาที่เป็นมนุษย์ ให้ของดีแก่บุตรของตนฉันใดพระยะโฮวาก็จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนเหล่านั้นที่ทูลจากพระองค์ฉันนั้น