คำถามจากผู้อ่าน
เราพบเททรากรัมมาทอน (อักษรฮีบรูสี่ตัวที่เป็นพระนามของพระเจ้า) ปรากฏในสำเนาพระธรรมมัดธายภาษาฮีบรูที่คัดลอกโดยเชม-โทบ เบน ไอแซ็ก อิบน์ ชาพรูต แพทย์ชาวยิวในศตวรรษที่ 14 ใช่หรือไม่?
ไม่ใช่. แต่สำเนาพระธรรมมัดธายฉบับนี้ก็ใช้คำ ฮาชเชมʹ (ซึ่งเขียนเต็มคำหรือเขียนย่อ) 19 ครั้ง ดังที่ชี้แจงไว้ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 1996 หน้า 13.
คำภาษาฮีบรู ฮาชเชมʹ หมายถึง “พระนามนั้น” ซึ่งพาดพิงถึงพระนามของพระเจ้าอย่างแน่นอน. ตัวอย่างเช่น ในสำเนาของเชม-โทบ รูปคำย่อของ ฮาชเชมʹ ปรากฏที่มัดธาย 3:3 เป็นข้อความที่มัดธายยกมาจากยะซายา 40:3. เป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะลงความเห็นว่า เมื่อมัดธายยกข้อหนึ่งจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีเททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่ ท่านได้รวมเอาพระนามของพระเจ้าไว้ในกิตติคุณของท่านด้วย. ดังนั้น แม้ข้อความภาษาฮีบรูที่เชม-โทบได้นำเสนอไม่ใช้เททรากรัมมาทอนก็ตาม แต่การใช้ “พระนามนั้น” อย่างในมัดธาย 3:3 ก็สนับสนุนการใช้พระนาม “ยะโฮวา” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.
เชม-โทบคัดลอกสำเนาภาษาฮีบรูของพระธรรมมัดธายในงานเขียนเชิงโต้แย้งของเขาชื่อ เอʹเวนโบʹชาน. แต่อะไรคือแหล่งที่มาของสำเนาภาษาฮีบรูนั้น? ศาสตราจารย์ จอร์จ โฮวาร์ด ผู้ซึ่งได้วิจัยเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนแนะว่า “พระธรรมมัดธายในภาษาฮีบรูของเชม-โทบมีอายุอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งภายในสี่ศตวรรษแรกแห่งคริสต์ศักราช.”a คนอื่น ๆ อาจไม่เห็นพ้องกับเขาในเรื่องนี้.
โฮวาร์ดให้ข้อสังเกตว่า “ภาษาฮีบรูที่มัดธายนำมาใช้ในสำเนานี้มีลักษณะเฉพาะคือมีความแตกต่างหลายประการจากพระธรรมมัดธายในภาษากรีก. ตัวอย่างเช่น ตามสำเนาของเชม-โทบ พระเยซูตรัสถึงโยฮันว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า ท่ามกลางคนที่เกิดแต่สตรีนั้นไม่มีใครเคยได้รับการตั้งขึ้นให้ใหญ่กว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมา.” สำเนานี้ไม่มีคำตรัสต่อไปของพระเยซูที่ว่า “แต่ผู้ที่ต่ำต้อยในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ก็ใหญ่กว่าท่านอีก.” (มัดธาย 11:11, ล.ม.) ในแนวที่ค่อนข้างคล้ายกัน มีข้อแตกต่างหลายประการระหว่างสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรูที่ยังมีอยู่ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู กับการใช้ถ้อยคำในข้อความที่ตรงกันในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์. ขณะที่เรายอมรับว่ามีข้อแตกต่างของข้อความเหล่านั้น เมื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบก็สมควรที่จะใช้ข้อความโบราณดังกล่าวอยู่บ้าง.
ดังที่กล่าวแล้ว สำเนาพระธรรมมัดธายของเชม-โทบนั้นมี “พระนามนั้น” รวมอยู่ด้วยในที่ต่าง ๆ ที่มีเหตุผลเพียงพอจะเชื่อว่า แท้จริงแล้วมัดธายได้ใช้เททรากรัมมาทอน. ดังนั้น ตั้งแต่ปี 1950 จึงมีการใช้ข้อความของเชม-โทบเป็นข้อสนับสนุนการใช้พระนามของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และยังคงมีการอ้างถึงข้อความนี้ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง.b
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูงานวิจัยพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ), เล่ม 43, หมายเลข 1, มกราคม 1997, หน้า 58-71.
b พิมพ์ในปี 1984 โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.