บทสิบเอ็ด
‘จงแสวงหาราชอาณาจักรก่อนเสมอไป’
1. (ก) เหตุใดพระเยซูกระตุ้นผู้ที่ฟังพระองค์ให้แสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก? (ข) คำถามอะไรที่เราควรจะถามตัวเอง?
กว่า 1,900 ปีมาแล้วเมื่อพระเยซูทรงเทศนาที่แกลิลี พระองค์กระตุ้นผู้ที่ฟังพระองค์ว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของ [พระเจ้า] ก่อนเสมอไป.” เหตุใดจึงรีบด่วนขนาดนั้น? เวลาที่พระคริสต์จะได้รับอำนาจแห่งราชอาณาจักรนั้นยังอยู่อีกหลายศตวรรษมิใช่หรือ? ถูกแล้ว แต่ราชอาณาจักรมาซีฮาจะเป็นวิถีทางที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทำให้พระประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อแผ่นดินโลกนั้นสำเร็จเป็นจริง. ใครก็ตามที่เข้าใจความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างแท้จริง ย่อมถือเอาราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิตของตน. ถ้าเป็นเช่นนั้นในศตวรรษแรก สมัยนี้จะสำคัญยิ่งกว่านั้นสักเท่าไร ในเมื่อตอนนี้พระคริสต์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว! ดังนั้น คำถามคือ วิถีชีวิตของฉันแสดงว่าฉันกำลังแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกไหม?—มัดธาย 6:33, ล.ม.
2. ผู้คนทั่วไปมุ่งแสวงหาสิ่งใดอย่างใจจดใจจ่อ?
2 ปัจจุบันนี้ ที่จริงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก. พวกเขากำลังแสดงตัวว่าสนับสนุนการปกครองแห่งราชอาณาจักรโดยให้ชีวิตของตนรวมจุดอยู่ที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาด้วยการอุทิศตัวแด่พระองค์. อีกด้านหนึ่ง มนุษยชาติส่วนใหญ่สนใจแต่จะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ฝ่ายโลก. ผู้คนมุ่งหาเงินและทรัพย์สมบัติ และความเพลิดเพลินที่เงินอาจซื้อได้ หรือมิฉะนั้นก็ทุ่มเทกำลังส่วนใหญ่เพื่อส่งเสริมอาชีพการงานของตน. วิถีชีวิตของพวกเขาสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาถูกครอบงำด้วยสิ่งฝ่ายวัตถุและความเพลิดเพลิน. หากจะมีความเชื่ออยู่บ้าง พวกเขาก็จัดให้พระเจ้าอยู่ในอันดับรองลงมา.—มัดธาย 6:31, 32.
3. (ก) พระเยซูสนับสนุนเหล่าสาวกของพระองค์ให้แสวงหาทรัพย์สมบัติชนิดใด? และเพราะเหตุใด? (ข) เหตุใดจึงไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไปในเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุ?
3 อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงให้คำแนะนำแก่เหล่าสาวกดังนี้: “อย่าสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก” เนื่องจากทรัพย์สมบัติเช่นนั้นไม่ยั่งยืน. พระองค์ตรัสว่า “แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์” โดยการรับใช้พระยะโฮวา. พระเยซูทรงกระตุ้นเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้รักษาตาของเขาให้ “ปกติ” โดยมุ่งเอาใจใส่และทุ่มเทกำลังในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองด้วยก็ไม่ได้.” แต่จะว่าอย่างไรกับความจำเป็นด้านวัตถุ เช่น อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่พักอาศัย? พระเยซูทรงแนะนำว่า “อย่ากระวนกระวาย.” พระองค์ชี้ให้ดูนกซึ่งพระเจ้าทรงเลี้ยงดูมัน. พระเยซูหนุนกำลังใจเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้เรียนบทเรียนจากดอกไม้ที่พระเจ้าทรงตกแต่งไว้. เหล่าผู้รับใช้พระยะโฮวาที่เป็นมนุษย์ประกอบด้วยเชาวน์ปัญญามีค่ามากกว่าสิ่งเหล่านั้นมิใช่หรือ? พระเยซูตรัสว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่น [ที่จำเป็น] เหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.” (มัดธาย 6:19-33; 6:34, ล.ม.) การกระทำของคุณแสดงให้เห็นว่าคุณเชื่อเช่นนั้นไหม?
อย่าปล่อยให้ความจริงเรื่องราชอาณาจักรถูกปิดกั้น
4. ถ้าคนเราให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุมากเกินไป อาจจะเกิดผลเช่นไร?
4 นับว่าเหมาะที่จะเป็นห่วงเรื่องการสนองความจำเป็นด้านวัตถุสำหรับตนเองและครอบครัวอย่างพอเพียง. อย่างไรก็ดี ถ้าคนเราเป็นห่วงเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุมากเกินไปก็อาจยังผลเป็นความหายนะได้. แม้เขาจะอ้างว่ามีความเชื่อในเรื่องราชอาณาจักร แต่ถ้าเขาจัดให้สิ่งอื่น ๆ มาเป็นอันดับแรกในหัวใจของเขา ความจริงเรื่องราชอาณาจักรย่อมจะถูกปิดกั้น. (มัดธาย 13:18-22) ตัวอย่างเช่น คราวหนึ่งขุนนางหนุ่มผู้มั่งคั่งถามพระเยซูว่า “ข้าพเจ้าจะทำประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรมและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดี กระนั้นเขาเป็นห่วงทรัพย์สมบัติของตนมากเหลือเกิน. เขาไม่อาจสละทรัพย์สมบัติเพื่อจะมาเป็นสาวกของพระคริสต์ได้. ดังนั้น เขาปล่อยให้โอกาสที่จะได้ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์นั้นหลุดลอยไป. พระเยซูตรัสในโอกาสนั้นว่า “คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าก็ยากนักหนา.”—มาระโก 10:17-23.
5. (ก) เปาโลหนุนใจติโมเธียวให้มีความอิ่มใจพอใจในสิ่งใด และเพราะเหตุใด? (ข) ซาตานใช้ “การรักเงิน” เป็นกับดักที่นำไปสู่ความหายนะอย่างไร?
5 หลายปีต่อมา อัครสาวกเปาโลเขียนถึงติโมเธียวซึ่งตอนนั้นอยู่ที่เมืองเอเฟโซสอันเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่รุ่งเรือง. เปาโลเตือนท่านดังนี้: “เราไม่ได้นำอะไรเข้ามาในโลกฉันใด เราไม่อาจนำอะไรออกไปจากโลกได้ฉันนั้น. ดังนั้น ถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค เราจะอิ่มใจด้วยของเหล่านี้.” การทำงานเพื่อจะมี “เครื่องอุปโภคบริโภค” สำหรับตนเองและครอบครัวนับว่าเหมาะสม. แต่เปาโลเตือนว่า “คนเหล่านั้นที่มุ่งจะร่ำรวยก็ตกเข้าสู่การล่อใจและบ่วงแร้วและความปรารถนาหลายอย่างแบบไร้สติและที่ก่อความเสียหาย ซึ่งทำให้คนตกเข้าสู่ความพินาศและความหายนะ.” ซาตานมีเล่ห์เหลี่ยม. เริ่มแรกมันอาจล่อใจคนเราด้วยเรื่องเล็ก ๆ และอาจตามด้วยความกดดันในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น บางทีเป็นโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้งานดีขึ้นซึ่งทำให้ได้ค่าจ้างสูงขึ้น แต่เรียกร้องเวลาซึ่งแต่เดิมเคยจัดไว้สำหรับเรื่องฝ่ายวิญญาณ. ถ้าเราไม่ระวัง “การรักเงิน” อาจปิดกั้นผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรซึ่งนับว่าสำคัญกว่ามาก. เปาโลบอกไว้ดังนี้: “โดยการมุ่งแสวงหาความรักแบบนี้บางคนถูกชักนำให้หลงจากความเชื่อและได้ทิ่มแทงตัวเองทั่วทั้งตัวด้วยความเจ็บปวดมากหลาย.”—1 ติโมเธียว 6:7-10, ล.ม.
6. (ก) เราต้องทำอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงการติดบ่วงแร้วด้านวัตถุนิยม? (ข) เราอาจมั่นใจได้เช่นไรแม้เมื่อคิดถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน?
6 ด้วยความรักแท้ที่มีต่อพี่น้องคริสเตียน เปาโลกระตุ้นเตือนติโมเธียวดังนี้: “จงหนีจากสิ่งเหล่านี้” และ “จงเข้าในการสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ.” (1 ติโมเธียว 6:11, 12, ล.ม.) ความเพียรพยายามอย่างจริงจังเป็นสิ่งจำเป็น หากเราต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกพัดพาไปพร้อมกับวิถีชีวิตแบบนิยมวัตถุของโลกที่อยู่รอบตัวเรา. แต่ถ้าเราทุ่มเทตัวเองประสานกับความเชื่อของเรา พระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งเรา. ไม่ว่าภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานจะมีอยู่อย่างแพร่หลายก็ตาม พระองค์จะทรงทำให้แน่ใจว่าเรามีสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ. เปาโลเขียนดังนี้: “จงให้วิถีชีวิตของท่านพ้นจากการรักเงิน ขณะที่ท่านอิ่มใจด้วยสิ่งของที่มีอยู่นั้น. เพราะ [พระเจ้า] ได้ตรัสไว้แล้วว่า ‘เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.’ เพื่อเราจะมีใจกล้าและกล่าวว่า ‘พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะไม่กลัว. มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?’ ” (เฮ็บราย 13:5, 6, ล.ม.) และกษัตริย์ดาวิดเขียนไว้ว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นคนหนุ่ม, จนบัดนี้เป็นคนชราแล้ว; ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:25.
สาวกรุ่นแรกวางแบบอย่างไว้
7. เกี่ยวกับการประกาศ พระเยซูทรงให้คำแนะนำเรื่องอะไรแก่เหล่าสาวก และเหตุใดคำแนะนำนั้นจึงเหมาะสม?
7 หลังจากพระเยซูได้ให้การฝึกอบรมที่เหมาะสมแก่เหล่าอัครสาวกแล้ว พระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปในแผ่นดินอิสราเอลเพื่อเผยแพร่ข่าวดีและประกาศว่า “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.” นับว่าเป็นข่าวสารที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ! พระเยซูคริสต์ กษัตริย์มาซีฮา ได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา. เนื่องจากเหล่าอัครสาวกได้ทุ่มเทตัวเพื่อรับใช้พระเจ้า พระเยซูทรงกระตุ้นเตือนพวกเขาให้มีความมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงดูแลพวกเขา. ฉะนั้น พระองค์ตรัสว่า “อย่าเอาอะไรไปใช้ตามทาง, เช่นไม้เท้า, หรือย่าม, หรืออาหาร, หรือเงิน, หรือเสื้อคนละสองตัว, และถ้าเข้าไปในเรือนไหน. ก็จงอาศัยอยู่ในเรือนนั้นจนกว่าจะไป.” (มัดธาย 10:5-10, ล.ม.; ลูกา 9:1-6) พระยะโฮวาจะทรงคอยดูแลเพื่อสนองความจำเป็นของพวกเขา โดยการเจือจุนจากชาวอิสราเอลเพื่อนร่วมชาติซึ่งมีน้ำใจต้อนรับแขกเป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว.
8. (ก) ไม่นานก่อนที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์ เหตุใดพระองค์ให้คำแนะนำที่ต่างออกไปในเรื่องการประกาศ? (ข) อะไรยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในชีวิตของเหล่าสาวกพระเยซู?
8 ต่อมา ก่อนที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงกระตุ้นเหล่าสาวกให้ตื่นตัวด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ในอนาคตพวกเขาจะทำงานภายใต้สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต่อต้านงานของพวกเขา น้ำใจเผื่อแผ่ที่มีแก่พวกเขาจึงอาจมีไม่มากนักในอิสราเอล. อนึ่ง ในไม่ช้าพวกเขาจะนำข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปยังดินแดนต่าง ๆ ของชาวต่างชาติด้วย. บัดนี้พวกเขาต้อง นำ “ถุงเงิน” และ “ย่าม” ไปด้วย. กระนั้น พวกเขาต้องแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระยะโฮวาก่อนเสมอไป โดยมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงอวยพรความเพียรพยายามของเขาที่จะได้เครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น.—ลูกา 22:35-37.
9. เปาโลจัดการอย่างไรเพื่อให้ราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิตของท่านขณะที่ต้องเอาใจใส่ความจำเป็นทางด้านร่างกายด้วย และท่านให้คำแนะนำอะไรในเรื่องนี้?
9 อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ซึ่งนำคำแนะนำของพระเยซูไปปฏิบัติ. เปาโลทำให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน. (กิจการ 20:24, 25) เมื่อท่านเข้าไปยังดินแดนหนึ่งเพื่อประกาศ ท่านดูแลตัวเองเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นทางวัตถุ แม้กระทั่งทำงานเย็บกระโจม. ท่านไม่ได้คาดหมายให้ผู้อื่นเลี้ยงดูท่าน. (กิจการ 18:1-4; 1 เธซะโลนิเก 2:9) กระนั้น ท่านตอบรับน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรับสิ่งของต่าง ๆ ด้วยความขอบคุณเมื่อผู้อื่นแสดงความรักในวิธีนี้. (กิจการ 16:15, 34; ฟิลิปปอย 4:15-17) เปาโลหนุนใจคริสเตียนมิให้ละเลยพันธะหน้าที่ต่อครอบครัวเพื่อจะไปประกาศ แต่ให้มีความสมดุลในหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ของตน. ท่านแนะนำพวกเขาให้ทำงาน, ให้รักครอบครัวของตน, และเผื่อแผ่ผู้อื่น. (เอเฟโซ 4:28; 2 เธซะโลนิเก 3:7-12) ท่านกระตุ้นพวกเขาให้วางใจในพระเจ้า มิใช่ในทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุ และให้ใช้ชีวิตของตนในวิธีที่แสดงว่าพวกเขาเข้าใจอย่างแท้จริงว่าสิ่งไหนสำคัญกว่า. สอดคล้องกับคำสอนของพระเยซู ข้อนี้จึงหมายถึงการแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์เป็นอันดับแรก.—ฟิลิปปอย 1:9-11.
จงให้ราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิตคุณ
10. การแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกหมายความเช่นไร?
10 โดยส่วนตัวแล้ว เรามีส่วนในการบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรแก่ผู้อื่นถึงขนาดไหน? ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของเราและขึ้นอยู่กับว่าเราหยั่งรู้ค่าลึกซึ้งแค่ไหน. จำไว้เสมอว่า พระเยซูมิได้ตรัสว่า ‘จงแสวงหาราชอาณาจักรเมื่อคุณไม่มีอะไรอื่นที่จะทำ.’ โดยทราบเกี่ยวกับความสำคัญของราชอาณาจักร พระองค์ได้แสดงให้เห็นพระทัยประสงค์ของพระบิดาโดยกล่าวว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรของพระองค์เรื่อยไป.” (ลูกา 12:31, ล.ม.) แม้ว่า พวกเราส่วนใหญ่ต้องทำงานเพื่อทั้งตัวเราเองและครอบครัวของเราจะมีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ แต่ถ้าเรามีความเชื่อ ชีวิตของเราจะรวมจุดอยู่ที่งานราชอาณาจักรซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้เราทำ. ในขณะเดียวกัน เราจะเอาใจใส่ต่อหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวของเรา.—1 ติโมเธียว 5:8.
11. (ก) พระเยซูทรงยกตัวอย่างให้เห็นอย่างไรว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำการเผยแพร่ข่าวสารราชอาณาจักรได้ในระดับเดียวกัน? (ข) การที่คนเราจะทำได้มากน้อยเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?
11 พวกเราบางคนสามารถอุทิศเวลาได้มากกว่าผู้อื่นเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. แต่ในคำอุปมาของพระเยซูที่พูดถึงเรื่องดินชนิดต่าง ๆ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าทุกคนซึ่งสภาพหัวใจของเขาเปรียบได้กับดินดีย่อมจะเกิดผล. ถึงขีดไหน? สภาพการณ์ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป. อายุ, สุขภาพ, และความรับผิดชอบในครอบครัวล้วนเป็นปัจจัยทั้งนั้น. แต่เมื่อมีความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงก็ย่อมบรรลุผลได้มาก.—มัดธาย 13:23.
12. เป้าหมายฝ่ายวิญญาณที่ดีงามอะไรซึ่งคนหนุ่มสาวได้รับการสนับสนุนให้พิจารณาเป็นพิเศษ?
12 นับว่าเหมาะที่จะตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยให้เราขยายงานประกาศราชอาณาจักรออกไปได้อีก. คนหนุ่มสาวควรคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับตัวอย่างอันดีเยี่ยมของติโมเธียวหนุ่มคริสเตียนผู้มีใจแรงกล้า. (ฟิลิปปอย 2:19-22) มีอะไรดีไปกว่าที่พวกเขาจะเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาเมื่อสำเร็จการศึกษาฝ่ายโลกแล้ว? ผู้ใหญ่ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยการตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณที่ดีงาม.
13. (ก) ใครเป็นผู้ตัดสินในสิ่งที่เราแต่ละคนสามารถทำได้ในงานราชอาณาจักร? (ข) ถ้าเราแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกอย่างแท้จริงแล้ว เราให้ข้อพิสูจน์อะไร?
13 แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่เราอาจรู้สึกว่าเขาน่าจะทำได้มากกว่านี้ ความเชื่อน่าจะกระตุ้นเราให้ลงมือปรับปรุงตัวเอง เพื่อว่าเราอาจจะรับใช้พระเจ้าได้เต็มขีดความสามารถตามที่สภาพการณ์ของตัวเราเอง อำนวย. (โรม 14:10-12; ฆะลาเตีย 6:4, 5) ดังที่กรณีของโยบแสดงให้เห็น ซาตานโต้แย้งว่าเราให้ความสนใจเป็นอันดับแรกกับเรื่องทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุ, ความสะดวกสบายของเราเอง, และสวัสดิภาพส่วนตัว และว่าเจตนารมณ์ของเราในการรับใช้พระเจ้าเป็นอย่างที่เห็นแก่ตัว. แต่ถ้าเราแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกจริง ๆ เราก็มีส่วนในการพิสูจน์ว่าพญามารเป็นผู้พูดมุสาที่ร้ายกาจ. เรากำลังให้หลักฐานว่าสิ่งที่มาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเราก็คือการรับใช้พระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ โดยคำพูดและการกระทำ เราพิสูจน์ว่าเรามีความรักอันลึกซึ้งต่อพระยะโฮวา, เราสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ด้วยความภักดี, และเรารักเพื่อนมนุษย์.—โยบ 1:9-11; 2:4, 5; สุภาษิต 27:11.
14. (ก) เหตุใดการมีตารางเวลาสำหรับการรับใช้ในเขตงานจึงมีประโยชน์? (ข) พยานฯ หลายคนเข้าร่วมในงานเผยแพร่ตามบ้านถึงขนาดไหน?
14 การมีตารางเวลาจะช่วยเราให้สามารถทำได้มากกว่าที่เราอาจทำได้โดยไม่มีตารางเวลา. พระยะโฮวาเองทรงมี “เวลากำหนด” เพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์ดำเนินไปจนสำเร็จ. (เอ็กโซโด 9:5; มาระโก 1:15) ถ้าเป็นไปได้ นับว่าดีที่จะเข้าร่วมในงานประกาศตามเวลาที่มีการนัดหมายกันสักหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้นในแต่ละสัปดาห์. พยานพระยะโฮวาหลายแสนคนทั่วโลกได้สมัครเป็นไพโอเนียร์สมทบ โดยใช้เวลาประมาณวันละสองชั่วโมงในการประกาศข่าวดี. ส่วนคนอื่น ๆ อีกหลายแสนคนรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ โดยใช้เวลาวันละประมาณสองชั่วโมงครึ่งเพื่อประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ไพโอเนียร์พิเศษและมิชชันนารีใช้เวลามากกว่านั้นอีกเพื่องานราชอาณาจักร. นอกจากนั้น เราอาจหาช่วงที่สบโอกาสเพื่อแบ่งปันความหวังเรื่องราชอาณาจักรแก่ผู้ใดก็ตามที่จะฟังเรา. (โยฮัน 4:7-15) เราควรปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานนี้เท่าที่สภาพการณ์ของเราอำนวย เพราะพระเยซูตรัสล่วงหน้าว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.”—มัดธาย 24:14, ล.ม.; เอเฟโซ 5:15-17.
15. ในเรื่องงานรับใช้ของเรา เหตุใดคุณรู้สึกว่าคำแนะนำที่ 1 โกรินโธ 15:58 จึงเหมาะแก่เวลา?
15 ในทุกส่วนของแผ่นดินโลก ไม่ว่าประเทศใดที่พวกเขาอาศัยอยู่ พยานพระยะโฮวากำลังเข้าร่วมในสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่แห่งงานรับใช้นี้ด้วยความเป็นเอกภาพ. พวกเขานำคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจมาใช้กับตัวเองที่ว่า “จงตั้งมั่นคง, ไม่สะเทือนสะท้าน, มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่า การงานของท่านเกี่ยวด้วยองค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ไร้ประโยชน์.”—1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.
การอภิปรายทบทวน
• เมื่อพระเยซูตรัสว่า ‘จงแสวงหาราชอาณาจักรก่อน’ เสมอไป พระองค์ทรงชี้ว่าอะไรควรเป็นอันดับรองลงมา?
• เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อการเอาใจใส่ความจำเป็นทางด้านร่างกายของตัวเราเองและครอบครัว? พระเจ้าจะให้ความช่วยเหลืออะไรแก่เรา?
• เราอาจเข้าร่วมในการรับใช้ราชอาณาจักรในลักษณะใดบ้าง?
[ภาพหน้า 107]
เวลานี้พยานพระยะโฮวากำลังประกาศข่าวดีในทุกดินแดนก่อนที่อวสานจะมาถึง