‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’
“เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่ง . . . พระวิญญาณบริสุทธิ์.”—มัดธาย 28:19, ล.ม.
1. โยฮันผู้ให้รับบัพติสมาได้ใช้สำนวนใหม่อะไรเมื่อพูดถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์?
ปีสากลศักราช 29 โยฮันผู้ให้รับบัพติสมาทำงานอย่างแข็งขันในแผ่นดินยิศราเอลตระเตรียมทางสำหรับพระมาซีฮา และในระหว่างที่ท่านปฏิบัติงาน ท่านประกาศสิ่งใหม่เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์. แน่ละ ชาวยิวรู้เรื่องพระวิญญาณตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. พวกเขาคงรู้สึกประหลาดใจ เมื่อโยฮันบอกว่า “เราให้เจ้ารับบัพติสมาด้วยน้ำสำคัญว่าเป็นที่กลับใจเสียใหม่ก็จริง แต่พระองค์ที่จะมาภายหลังเรา . . . จะทรงให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 3:11) “รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” เป็นสำนวนใหม่.
2. สำนวนใหม่อะไรที่พระเยซูทรงใช้เกี่ยวข้องกับพระวิญญาณบริสุทธิ์?
2 พระองค์ที่จะมานั้นได้แก่พระเยซู. ในระหว่างชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูไม่ได้ให้คนหนึ่งคนใดรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์จริง ๆ แม้นพระองค์ตรัสเรื่องพระวิญญาณหลายครั้งก็ตาม. ยิ่งกว่านั้น หลังจากพระองค์ได้รับการปลุกคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงอ้างถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในแนวใหม่อีกแบบหนึ่ง. พระองค์รับสั่งแก่เหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดา, และพระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) คำพูดที่ว่า “ในนามแห่ง” หมายถึง “ด้วยการยอมรับ.” การรับบัพติสมาด้วยน้ำคือการยอมรับพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งต่างไปจากการรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเป็นสำนวนใหม่อีกด้วยซึ่งเกี่ยวข้องกับพระวิญญาณบริสุทธิ์.
บัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์
3, 4. (ก) บัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไร? (ข) นอกจากการให้รับบัพติสมาแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ปฏิบัติการเช่นไรต่อสาวกของพระเยซู ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33?
3 เกี่ยวกับการรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้น พระเยซูทรงสัญญากับเหล่าสาวกก่อนพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ว่า “แต่ไม่ช้าไม่นานท่านทั้งหลายจะรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (กิจการ 1:5, 8) ไม่นานหลังจากนั้น คำสัญญานั้นได้สำเร็จผลสมจริง. พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้หลั่งลงมาอยู่กับสาวก 120 คนซึ่งชุมนุมกัน ณ ห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลม เมื่อพระเยซูคริสต์ จากสวรรค์ โปรดให้มีการรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นครั้งแรก. (กิจการ 2:1-4, 33) ผลเป็นอย่างไร? บรรดาสาวกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายของพระคริสต์ด้านวิญญาณ. ดังที่อัครสาวกเปาโลชี้แจงว่า “[พวกเขา] ได้รับบัพติสมาแต่พระวิญญาณเดียวเข้าไปเป็นกายอันเดียว.” (1 โกรินโธ 12:13) ในเวลาเดียวกัน พวกเขาได้รับการเจิมที่จะเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในวันข้างหน้าในราชอาณาจักรของพระเจ้าทางภาคสวรรค์. (เอเฟโซ 1:13, 14; 2 ติโมเธียว 2:12; วิวรณ์ 20:6) นอกจากนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นประหนึ่งตราประทับและเครื่องหมายแสดงตัวทายาทที่จะได้รับมรดกอันรุ่งโรจน์ในภายหน้า แต่ยังไม่จบเพียงแค่นั้น.—2 โกรินโธ 1:21, 22.
4 สองสามปีก่อนหน้านี้ พระเยซูได้ตรัสแก่นิโกเดโมว่า “ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่แล้ว เขาจะเห็นราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้. . . . ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดจากน้ำและจากวิญญาณ เขาจะเข้าไปในราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้.” (โยฮัน 3:3, 5, ล.ม.) มาบัดนี้ 120 คนได้บังเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง. โดยอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาถูกรับเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า เป็นพี่น้องของพระคริสต์. (โยฮัน 1:11-13; โรม 8:14, 15) กิจกรรมเหล่านี้ทุกอย่างอันเกี่ยวด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินไปในแนวทางที่ผิดแผก ประหลาดยิ่งเสียกว่าการอัศจรรย์. ยิ่งกว่านั้น ไม่เหมือนการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็หาได้ระงับไปภายหลังการตายของพวกอัครสาวกไม่ แต่ยังดำเนินการอย่างเข้มแข็งเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน. นับว่าเป็นสิทธิพิเศษของพยานพระยะโฮวาที่มีสมาชิกฝ่ายพระกายของพระคริสต์ซึ่งได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณรุ่นสุดท้ายยังอยู่ท่ามกลางพวกเขา และชนกลุ่มนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็น “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” ที่จัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณแจกจ่ายตามเวลาอันสมควร.—มัดธาย 24:45-47.
รับบัพติสมา “ในนามแห่ง . . . พระวิญญาณบริสุทธิ์”
5, 6. การรับบัพติสมาครั้งแรกด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์นำไปสู่การรับบัพติสมาด้วยน้ำอย่างไร?
5 แต่จะว่าอย่างไรเรื่องการรับบัพติสมาด้วยน้ำที่สัญญาไว้ในนามแห่งพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์? สาวกชุดแรกซึ่งรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณไม่ได้รับบัพติสมาด้วยน้ำในแบบที่ว่านี้. พวกเขารับบัพติสมาด้วยน้ำจากโยฮันมาแล้ว และเนื่องจากเป็นวิธีการซึ่งพระยะโฮวาทรงรับรองในเวลานั้น เขาจึงไม่ต้องรับบัพติสมาอีก. แต่ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ผู้คนจำนวนมากได้ยอมรับบัพติสมาในน้ำในรูปแบบใหม่. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างไร?
6 บัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์สำหรับ 120 คนนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับเสียงดังสนั่นสะดุดใจฝูงชน. ผู้คนต่างก็ประหลาดใจเมื่อได้ยินพวกสาวกพูดได้หลายภาษาเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งประชาชนที่นั่นก็เข้าใจ. อัครสาวกเปโตรชี้แจงว่าการอัศจรรย์ครั้งนี้เป็นหลักฐานแสดงว่าพระเยซู ผู้ซึ่งรับการปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว และบัดนี้ประทับ ณ เบื้องขวาพระหัตถ์พระเจ้าในสวรรค์ได้ทรงหลั่งพระวิญญาณของพระเจ้าลงมา. เปโตรกล่าวหนุนใจผู้ฟังของท่านว่า “ให้ชาติยิศราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ . . . ให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์.” ครั้นแล้วท่านกล่าวสรุปดังนี้: “จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติสมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ประมาณสามพันคนได้ตอบรับ.—กิจการ 2:36, 38, 41.
7. สามพันคนที่ได้รับบัพติสมาในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ได้รับบัพติสมาในนามพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ในแง่ใด?
7 จะพูดได้ไหมว่าคนเหล่านี้รับบัพติสมาในนามแห่ง (ด้วยการยอมรับ) พระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์? แน่นอน. แม้เปโตรไม่ได้บอกพวกเขาให้รับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาก็ตาม พวกเขายอมรับพระยะโฮวาเป็นองค์บรมมหิศรอยู่แล้ว เพราะคนเหล่านั้นเป็นยิวโดยกำเนิด เป็นสมาชิกของชาติที่อุทิศแด่พระองค์แล้ว. เปโตรได้กล่าวว่า ‘จงรับบัพติสมาในนามแห่งพระบุตร.’ ฉะนั้น บัพติสมาของพวกเขาแสดงเครื่องหมายว่าเขายอมรับพระเยซูเป็นพระคริสต์และองค์พระผู้เป็นเจ้า. บัดนี้ พวกเขาเป็นสาวกของพระองค์และรับรองว่าจากนี้ต่อไปการยกบาปนั้นจะผ่านทางพระองค์. ประการสุดท้าย บัพติสมานั้นเป็นการยอมรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเขารับบัพติสมานี้เป็นการตอบรับคำสัญญาที่ว่าพวกเขาจะได้รับพระวิญญาณเป็นของประทาน.
8. (ก) นอกเหนือจากการรับบัพติสมาด้วยน้ำแล้ว คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับบัพติสมาแบบไหนอีก? (ข) นอกจากชน 144,000 คนแล้วมีใครอีกได้รับบัพติสมาด้วยน้ำในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์?
8 บรรดาผู้ที่รับบัพติสมาด้วยน้ำในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ก็ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณเช่นกัน คือได้รับการเจิมที่จะเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในอนาคตในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. ตามที่ระบุในพระธรรมวิวรณ์ บุคคลเหล่านี้มีจำนวน 144,000 คนเท่านั้น. ดังนั้น ผู้ที่ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในที่สุด ‘ถูกประทับตรา’ ในฐานะที่เป็นทายาทราชอาณาจักรจึงมีเพียง 144,000 คน. (วิวรณ์ 7:4; 14:1) อย่างไรก็ดี สาวกใหม่ทุกคน—ไม่ว่าความหวังของเขาจะเป็นอย่างไร—จึงได้รับบัพติสมาในน้ำในนามแห่งพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์. (มัดธาย 28:19, 20) เมื่อเป็นเช่นนั้น การรับบัพติสมาในนามแห่ง พระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นหมายถึงอะไรสำหรับคริสเตียนทุกคน ไม่ว่าเขาอยู่ในจำพวก “แกะฝูงน้อย” หรือ “แกะอื่น”? (ลูกา 12:32; โยฮัน 10:16) ก่อนตอบเรื่องนี้ ให้เราพิจารณากิจกรรมบางอย่างของพระวิญญาณในยุคสมัยคริสเตียน.
ผลของพระวิญญาณ
9. กิจกรรมอะไรของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคริสเตียนทุกคน?
9 กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แก่การสนับสนุนเราที่จะพัฒนาบุคลิกแบบคริสเตียน. จริงอยู่ เนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์ เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการทำบาปเสียได้. (โรม 7:21-23) แต่เมื่อเราสำนึกผิดด้วยจริงใจ พระยะโฮวาทรงอภัยเราโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระคริสต์. (มัดธาย 12:31, 32; โรม 7:24, 25; 1 โยฮัน 2:1, 2) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราต่อต้านแนวโน้มจะทำบาป และพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราทำเช่นนั้น. เปาโลกล่าวอย่างนี้: “จงดำเนินตามพระวิญญาณ และท่านจะไม่ได้ประพฤติตามราคะตัณหาของเนื้อหนัง.” (ฆะลาเตีย 5:16) เปาโลกล่าวสืบไปเพื่อชี้ให้เห็นว่า พระวิญญาณสามารถก่อคุณลักษณะต่าง ๆ อันดีเยี่ยมภายในตัวเรา. ท่านเขียนดังนี้: “ผลแห่งพระวิญญาณคือความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนสุภาพ, การรู้จักบังคับตน.”—ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.
10. ผลของพระวิญญาณได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างไรภายในตัวบุคคลที่เป็นคริสเตียน?
10 พระวิญญาณทำอย่างไรเพื่อที่จะบังเกิดผลดังกล่าวในตัวของคริสเตียน? ข้อนี้มิใช่ว่าจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพียงเพราะเราเป็นคริสเตียนซึ่งอุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้ว. เราต้องมุ่งปฏิบัติ. ถ้าเราคบกับเพื่อนคริสเตียนผู้ซึ่งแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ ถ้าเราทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าขอพระวิญญาณของพระองค์ช่วยเราพัฒนาคุณลักษณะเฉพาะอย่าง ถ้าเราเลี่ยงการคบหาที่ไม่ดีและหมั่นศึกษาพระคัมภีร์เพื่อจะได้คำแนะนำและตัวอย่างที่ดี เมื่อนั้นแหละ ผลของพระวิญญาณจะวัฒนาขึ้นภายในตัวเรา.—สุภาษิต 13:20; 1 โกรินโธ 15:33; ฆะลาเตีย 5:24-26; เฮ็บราย 10:24, 25.
รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์
11. พวกผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในทางใด?
11 ขณะที่เปาโลกล่าวปราศรัยต่อพวกผู้ปกครองในเมืองเอเฟโซ ท่านแนะนำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อท่านพูดว่า “จงเอาใจใส่ตัวของท่านและฝูงแกะทั้งสิ้นที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านไว้เป็นผู้ดูแลเพื่อบำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรของพระองค์เอง.” (กิจการ 20:28, ล.ม.) ใช่แล้ว ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองในประชาคมได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. โดยวิธีใด? โดยที่ผู้ปกครองซึ่งถูกแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ซึ่งได้มาโดยการดลบันดาล. (1 ติโมเธียว 3:1-13; ติโต 1:5-9) พวกเขาสามารถพัฒนาเพื่อบรรลุคุณสมบัติต่าง ๆ เช่นนี้ได้โดยการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น. ยิ่งกว่านั้น คณะผู้ปกครองซึ่งเสนอแนะผู้ปกครองคนใหม่ย่อมอธิษฐานขอการชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อจะหยั่งเห็นว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่. และการแต่งตั้งจริง ๆ นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ.
จงให้พระวิญญาณนำทาง
12. พระวิญญาณสามารถเป็นแรงชักจูงเราได้อย่างไรโดยคัมภีร์ไบเบิล?
12 คริสเตียนรับรู้ว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นี้ได้รับการจารึกภายใต้ฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์. ดังนั้น พวกเขาจึงได้ค้นคว้าในบทจารึกอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะได้สติปัญญาอันเป็นมาแต่การดลบันดาลของพระวิญญาณ ดังที่พยานพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียนได้กระทำ. (สุภาษิต 2:1-9) พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ คิดรำพึงถึงข้อที่ได้อ่าน และให้พระคัมภีร์นำวิถีชีวิตของตน. (บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 2 ติโมเธียว 3:16) ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงรับการช่วยเหลือโดยพระวิญญาณที่จะ ‘หยั่งรู้ข้อลึกลับต่าง ๆ ของพระเจ้า.’ (1 โกรินโธ 2:10, 13; 3:19) การนำทางผู้รับใช้ของพระเจ้าด้วยวิธีนี้เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่พระวิญญาณของพระเจ้ากระทำอยู่ในสมัยของเรา.
13, 14. พระเยซูทรงใช้อะไรเพื่อจัดการกับปัญหาในประชาคม และพระองค์ทำเช่นเดียวกันอย่างไรในสมัยนี้?
13 มากกว่านี้ ในพระธรรมวิวรณ์ พระเยซูผู้ซึ่งคืนพระชนม์แล้วยังได้ส่งข่าวสารถึงเจ็ดประชาคมในมณฑลเอเชียน้อย. (วิวรณ์บท 2 และบท 3) ในข่าวสารนั้นพระองค์เปิดเผยว่าพระองค์ได้ตรวจตราประชาคมต่าง ๆ และแลเห็นสภาพฝ่ายวิญญาณในประชาคมเหล่านั้น. พระองค์ทราบว่า บางประชาคมได้วางตัวอย่างที่ดีด้านความเชื่อ. บางประชาคม พวกผู้ปกครองปล่อยให้มีการแตกแยกกันเป็นนิกาย, มีการผิดศีลธรรม, และความเฉื่อยชา อันเป็นเหตุให้สมาชิกประชาคมเสื่อมถอยลง. ประชาคมซาร์ดีสได้ตายฝ่ายวิญญาณ ยกเว้นเพียงไม่กี่คน. (วิวรณ์ 3:1, 4) พระเยซูทรงจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร? โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. เมื่อพระเยซูทรงให้คำแนะนำแก่ประชาคมทั้งเจ็ดนั้นพระองค์ได้สรุปข่าวสารสำหรับแต่ละประชาคมโดยตรัสว่า “ใครมีหูก็ให้ฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัสแก่ประชาคมทั้งหลายเถิด.”—วิวรณ์ 2:7, 11, 17, 29; 3:6, 13, 22.
14 ทุกวันนี้พระเยซูทรงตรวจตราประชาคมทั้งหลายเช่นกัน. และเมื่อพระองค์เล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ พระองค์ก็ยังคงจัดการกับปัญหาโดยอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระวิญญาณสามารถช่วยเรารับรู้ปัญหาและแก้ปัญหาได้โดยตรงจากการที่เราอ่านคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนี้ การช่วยเหลือจะมีมาทางสรรพหนังสือด้านพระคัมภีร์ซึ่งจัดพิมพ์โดยบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ. หรือการช่วยเหลืออาจมาจากผู้ปกครองในประชาคมซึ่งรับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณ. ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ไม่ว่าคำแนะนำนั้นให้แก่บุคคลเป็นรายตัวหรือกับประชาคมโดยส่วนรวม เราเชื่อฟังคำตรัสของพระเยซูไหมที่ว่า “ใครมีหูก็ให้ฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัส”?
พระวิญญาณกับงานประกาศสั่งสอน
15. พระวิญญาณปฏิบัติการเช่นไรต่อพระเยซูเกี่ยวกับงานประกาศสั่งสอน?
15 ณ โอกาสหนึ่งขณะที่พระเยซูทรงสั่งสอนในธรรมศาลาเมืองนาซาเร็ธ พระองค์ทรงระบุกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของพระวิญญาณ. เราอ่านบทจารึกดังนี้: “พระองค์ทรงคลี่ม้วนหนังสือนั้นออก และพบข้อที่เขียนไว้ว่า ‘พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตบนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ได้ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน พระองค์ส่งข้าพเจ้าให้ประกาศการปลดปล่อยพวกเชลย และบอกคนตาบอดว่าจะเห็นได้อีก ให้บอกคนที่ถูกบีบคั้นข่มเหงว่าจะได้พ้นทุกข์.’ แล้วพระองค์เริ่มตรัสกับเขาว่า ‘วันนี้ข้อคัมภีร์ที่ท่านทั้งหลายเพิ่งได้ยินก็สำเร็จสมจริงแล้ว.’” (ลูกา 4:17, 18, 21, ล.ม.; ยะซายา 61:1, 2) ถูกแล้ว พระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อจะทำการประกาศข่าวดี.
16. ในศตวรรษแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งอย่างไรกับงานประกาศกิตติคุณ?
16 ไม่นานก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงงานประกาศสั่งสอนซึ่งบรรดาสาวกของพระองค์จะทำในขอบข่ายใหญ่โตกว้างขวาง. พระองค์ตรัสว่า “กิตติคุณจะต้องประกาศทั่วประเทศทั้งปวงก่อน.” (มาระโก 13:10) ถ้อยแถลงนี้สำเร็จครั้งแรกในศตวรรษที่หนึ่ง และพระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทสำคัญต่องานนี้อย่างน่าทึ่ง. พระวิญญาณบริสุทธิ์นี้เองได้นำฟิลิปให้ประกาศแก่ขันทีชาวเอธิโอเปีย. พระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำเปโตรไปหาโกระเนเลียว และพระวิญญาณบริสุทธิ์สั่งการให้ส่งเปาโลกับบาระนาบาในฐานะอัครสาวกจากอันติโอเกีย. ต่อมา เมื่อเปาโลใคร่ประกาศในเอเชียและบิตุเนีย โดยวิธีการบางอย่าง พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ยับยั้งท่านไว้. พระเจ้าทรงประสงค์ให้งานประกาศมุ่งไปทางยุโรป.—กิจการ 8:29; 10:19; 13:2; 16:6, 7.
17. สมัยนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับงานประกาศสั่งสอน?
17 ทุกวันนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างล้ำลึกกับงานประกาศสั่งสอน. ที่จะให้สำเร็จสมจริงขั้นต่อไปตามยะซายา 61:1, 2 พระวิญญาณของพระยะโฮวาได้ทรงเจิมพี่น้องทั้งหลายของพระเยซูไว้สำหรับงานประกาศ. ความสำเร็จขั้นสุดท้ายตามมาระโก 13:10 นั้น บรรดาผู้ถูกเจิมพร้อมกับชนฝูงใหญ่ที่เข้ามาสมทบจึงได้ประกาศสั่งสอน “ทั่วประเทศทั้งปวง” ตามตัวอักษรจริง ๆ. (วิวรณ์ 7:9) และพระวิญญาณได้สนับสนุนพวกเขาทุกคนในงานนี้. อย่างที่เคยเป็นมาในศตวรรษแรก พระวิญญาณบันดาลให้มีเขตทำงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง และชี้นำการคืบหน้าของการงานโดยทั่วไป. พระวิญญาณหนุนกำลังบุคคลต่าง ๆ เฉพาะราย ช่วยเขาให้เอาชนะความขลาดกลัวและพัฒนาทักษะการสั่งสอน. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูได้ตรัสแก่เหล่าสาวกดังนี้: “เขาจะส่งท่านไปต่อหน้าเจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อท่านจะได้เป็นพยานต่อผู้เหล่านั้นและต่อพวกต่างประเทศ. แต่เมื่อเขาจะอายัดท่านไว้นั้น อย่าคิดกระวนกระวายในใจว่าจะพูดอย่างไรหรือจะกล่าวอะไร . . . ด้วยมิใช่ท่านพูดเอง แต่พระวิญญาณแห่งพระบิดาเป็นผู้ตรัสแทนท่าน.”—มัดธาย 10:18-20.
18, 19. พระวิญญาณร่วมประสานกับเจ้าสาวอย่างไร เมื่อเชิญคนใจถ่อมให้ “รับเอาน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า”?
18 ในพระธรรมวิวรณ์ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวย้ำอีกทีหนึ่งเรื่องพระวิญญาณเกี่ยวข้องกับงานประกาศสั่งสอน. ที่นั่น อัครสาวกโยฮันรายงานไว้ดังนี้: “พระวิญญาณและเจ้าสาวตรัสต่อไปว่า ‘เชิญมาเถิด!’ และให้ผู้ใดที่ได้ยินกล่าวว่า ‘เชิญมาเถิด!’ และให้ผู้ใดที่กระหายมา ให้ผู้ใดที่ปรารถนามารับเอาน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) เจ้าสาวซึ่งหมายถึงชนที่เหลือแห่งจำนวน 144,000 คนซึ่งยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก จึงกล่าวเชิญทุกคนให้รับเอาน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า. แต่จงสังเกต พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็กล่าวเช่นกันว่า “เชิญมาเถิด!” ในแง่ไหน?
19 ในแง่ที่ว่าข่าวสารซึ่งชนจำพวกเจ้าสาวประกาศ—พร้อมกับชนฝูงใหญ่แห่งแกะอีกฝูงหนึ่งในปัจจุบัน—มาจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้รับการจารึกภายใต้ฤทธิ์เดชพระวิญญาณบริสุทธิ์. และพระวิญญาณเดียวกันนี้ได้เปิดใจและความคิดของชนจำพวกเจ้าสาวให้เข้าใจพระวจนะที่รับโดยการดลใจและชี้แจงให้คนอื่นเข้าใจ. บรรดาคนที่รับบัพติสมาเป็นสาวกใหม่ของพระเยซูคริสต์รู้สึกปีติยินดีที่ได้รับเอาน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า. และพวกเขาตื่นเต้นยินดีที่จะร่วมมือกับพระวิญญาณและเจ้าสาวด้วยการกล่าวแก่คนอื่นว่า “เชิญมาเถิด!” ทุกวันนี้ มีมากกว่าสี่ล้านคนร่วมกับพระวิญญาณทำงานนี้.
ดำเนินชีวิตให้สมกับที่เราได้รับบัพติสมา
20, 21. เราจะดำเนินชีวิตสมกับการที่เราได้รับบัพติสมาในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยวิธีใด และเราควรมีทัศนะเช่นไรต่อการรับบัพติสมาดังกล่าว?
20 การรับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นการประกาศตัวโดยเปิดเผยว่าเรารับเอาพระวิญญาณบริสุทธิ์ อีกทั้งรับรู้บทบาทของพระวิญญาณในวัตถุประสงค์ของพระยะโฮวา. การรับบัพติสมาในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ยังบ่งบอกด้วยว่าเราจะร่วมงานกับพระวิญญาณ ไม่ทำสิ่งใดซึ่งจะขัดขวางการดำเนินงานแห่งพระวิญญาณท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา. เหตุฉะนั้น เรารับรู้และร่วมมือกับบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด. เราร่วมมือกับวิธีการจัดเตรียมเกี่ยวกับผู้ปกครองในประชาคม. (เฮ็บราย 13:7, 17; 1 เปโตร 5:1-4) เราดำเนินชีวิตโดยสติปัญญาฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่สติปัญญาฝ่ายเนื้อหนัง และยอมให้พระวิญญาณหล่อหลอมบุคลิกของเรา ทำให้เป็นเยี่ยงพระคริสต์มากขึ้น. (โรม 13:14) และเราร่วมประสานกับพระวิญญาณและเจ้าสาวด้วยความเต็มใจโดยพูดว่า “เชิญมาเถิด!” กับประชาชนอีกหลายคนซึ่งยังจะขานรับ.
21 นับว่าเป็นเรื่องจริงจังทีเดียวจะรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’! กระนั้น ก็ยังผลเป็นพระพรมากมายจริง ๆ! ขอให้คนรับบัพติสมาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ. และขอให้พวกเราทุกคนดำเนินชีวิตสมตามความหมายของการรับบัพติสมาดังกล่าว ขณะที่พวกเราทำงานเป็นทาสรับใช้พระยะโฮวาและยังคง “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ” อยู่ต่อ ๆ ไป.—โรม 12:11, ล.ม.
คุณจำอะไรได้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์?
▫ พระวิญญาณบริสุทธิ์ปฏิบัติการในทางใดบ้าง ณ วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33?
▫ เราสามารถผลิตผลแห่งพระวิญญาณได้โดยวิธีใด?
▫ พวกผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร?
▫ พระเยซูทรงจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในประชาคมโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นอย่างไร?
▫ โดยวิธีใดพระวิญญาณมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับงานประกาศสั่งสอน?
[รูปภาพหน้า 15]
[รูปภาพหน้า 17]
พระวิญญาณเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับการประกาศกิตติคุณ