จงเป็นคนงานเกี่ยวที่ชื่นชมยินดี!
“การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้นจงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.”—มัดธาย 9:37, 38.
1. อะไรช่วยเราให้ตั้งใจทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าต่อ ๆ ไป?
เมื่อเราระลึกถึงวันที่เรารับบัพติสมาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา ไม่ว่าจะไม่กี่ปีมานี้หรือเมื่อหลายปีมาแล้ว เรื่องนี้อาจดูราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง. การสรรเสริญพระยะโฮวากลายเป็นจุดรวมแห่งชีวิตของเราที่อุทิศแด่พระองค์. เมื่อเราใช้ทุกโอกาสเพื่อช่วยผู้อื่นให้ได้ยินได้ฟังและอาจตอบรับข่าวสารราชอาณาจักร การรับใช้พระยะโฮวาด้วยความชื่นชมยินดีเป็นเรื่องหลักที่เราสนใจ. (เอเฟโซ 5:15, 16) จนถึงวันนี้ เราพบว่าเวลาดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อเรามีงานยุ่ง “มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) แม้ว่าเราเผชิญปัญหาต่าง ๆ แต่ความยินดีของเราในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาจะกระตุ้นให้เราทำงานนี้ต่อ ๆ ไป.—นะเฮมยา 8:10.
2. อะไรทำให้เราประสบความยินดีในงานเกี่ยวโดยนัย?
2 ในฐานะคริสเตียน เราเข้าร่วมในงานเกี่ยวโดยนัย. พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบการรวบรวมคนสู่ชีวิตนิรันดร์ว่าเหมือนกับการเกี่ยว. (โยฮัน 4:35-38) เนื่องจากเราร่วมในงานเกี่ยวเช่นนี้ การพิจารณาเกี่ยวกับความยินดีของคนงานเกี่ยวที่เป็นคริสเตียนในยุคแรกย่อมจะให้กำลังใจแก่เรา. เราจะทบทวนปัจจัยสามประการที่ทำให้เรามีความยินดีในงานเกี่ยวสมัยนี้. ปัจจัยดังกล่าวคือ (1) ข่าวสารเกี่ยวกับความหวังของเรา, (2) ความสำเร็จในการเสาะหาของเรา, และ (3) เจตคติของเราที่มุ่งสร้างสันติในฐานะคนงานเกี่ยว.
ถูกส่งออกไปในฐานะคนงานเกี่ยว
3. เหล่าสาวกยุคแรกของพระเยซูประสบความยินดีในเรื่องใด?
3 ชีวิตของคนงานเกี่ยวยุคแรก—โดยเฉพาะ อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนของพระเยซู—เปลี่ยนไปสักเพียงไรเมื่อถึงวันหนึ่งในปีสากลศักราช 33 เมื่อพวกเขาไปที่ภูเขาลูกหนึ่งในแกลิลี (ฆาลิลาย) เพื่อพบกับพระคริสต์ผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์! (มัดธาย 28:16) “พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคน” อาจอยู่ด้วยในโอกาสนั้น. (1 โกรินโธ 15:6) เสียงของพระเยซูที่ประทานงานมอบหมายแก่พวกเขายังคงกังวานอยู่ที่หู. พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “จงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก, ให้รับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัตรซึ่งเราได้สั่งพวกท่านไว้.” (มัดธาย 28:19, 20) แม้ถูกข่มเหงอย่างรุนแรง พวกเขาประสบความยินดีอย่างยิ่งในงานเกี่ยว เมื่อพวกเขาเห็นประชาคมแห่งสาวกของพระคริสต์ตั้งขึ้นแห่งแล้วแห่งเล่า. ในไม่ช้า ‘ข่าวดีก็ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.’—โกโลซาย 1:23; กิจการ 1:8; 16:5.
4. เหล่าสาวกของพระคริสต์ถูกส่งออกไปภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
4 ในช่วงแรก ๆ แห่งงานรับใช้ในแกลิลี พระเยซูทรงเรียกอัครสาวก 12 คนมาและส่งพวกเขาออกไปให้ประกาศโดยเฉพาะว่า “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.” (มัดธาย 10:1-7, ล.ม.) ส่วนพระองค์เองได้ “เสด็จดำเนินไปรอบบ้านรอบเมือง [ในแกลิลี] ทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของเขา, ประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า, และได้ทรงรักษาโรคและความป่วยไข้ของพลเมืองให้หาย.” พระเยซูทรงรู้สึกสงสารฝูงชน “ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:35, 36) จากนั้น ด้วยความสะเทือนพระทัยอย่างยิ่ง พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้นจงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น [พระยะโฮวาพระเจ้า], ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.” (มัดธาย 9:37, 38) การประเมินของพระเยซูเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีคนงานเกี่ยวในยูเดีย (ยูดาย) ก็ยังคงเหมือนเดิมเมื่องานรับใช้ของพระองค์ทางแผ่นดินโลกเหลืออีกเพียงหกเดือน. (ลูกา 10:2) ในทั้งสองช่วง พระองค์ทรงส่งเหล่าสาวกออกไปในฐานะคนงานเกี่ยว.—มัดธาย 10:5; ลูกา 10:3.
ข่าวสารแห่งความหวังของเรา
5. เราประกาศข่าวสารชนิดใด?
5 ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน เราตอบรับด้วยความชื่นชมยินดีต่อการเรียกให้มาเป็นคนงานเกี่ยว. ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีความยินดีอย่างมากคือ เรานำข่าวสารแห่งความหวังไปมอบให้แก่คนที่ท้อแท้และซึมเศร้า. เช่นเดียวกับเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรก ช่างเป็นสิทธิพิเศษสักเพียงไรที่เรามีในการประกาศข่าวดี—ข่าวสารแห่งความหวังที่แท้จริง—แก่คนที่ “อิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง”!
6. เหล่าอัครสาวกเข้าร่วมในกิจกรรมอะไรในศตวรรษแรก?
6 ในช่วงกลางศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลมีงานยุ่งในการประกาศข่าวดี. และงานเกี่ยวของท่านมีประสิทธิภาพอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในข้อความที่ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธ ประมาณปี ส.ศ. 55 ท่านกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย, ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านระลึกถึงกิตติคุณที่ข้าพเจ้าได้เคยประกาศไว้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว, ซึ่งท่านได้ยอมรับไว้แล้วด้วย, อันจะเป็นฐานซึ่งท่านทั้งหลายยืนอยู่.” (1 โกรินโธ 15:1) เหล่าอัครสาวกและคริสเตียนยุคแรกคนอื่น ๆ เป็นคนงานเกี่ยวที่ขยันขันแข็ง. แม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเราว่ามีอัครสาวกกี่คนที่มีชีวิตรอดผ่านเหตุการณ์สำคัญซึ่งปิดฉากลงด้วยความพินาศของกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 70 เราทราบว่าหลังจากนั้นประมาณ 25 ปี อัครสาวกโยฮันก็ยังคงประกาศอยู่.—วิวรณ์ 1:9.
7, 8. ข่าวสารเกี่ยวกับความหวังอะไรที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวากำลังประกาศด้วยความเร่งด่วนยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา?
7 ต่อจากนั้นก็มาถึงหลายศตวรรษแห่งการครอบงำโดยพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร “คนละเลยกฎหมาย” ที่ออกหาก. (2 เธซะโลนิเก 2:3, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้จะสิ้นศตวรรษที่ 19 ผู้ที่พยายามดำเนินชีวิตตามคำสอนของศาสนาคริสเตียนดั้งเดิมรับเอาข่าวสารแห่งความหวัง และประกาศเรื่องราชอาณาจักร. ที่จริง นับตั้งแต่ฉบับแรก (กรกฎาคม 1879) ชื่อของวารสารนี้มีวลีต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย: “ผู้ประกาศการประทับของพระคริสต์,” “ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระคริสต์” หรือ “ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา.”
8 ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าถูกสถาปนาขึ้นโดยมีพระเยซูคริสต์ปกครองในปี 1914 และในเวลานี้เรากำลังประกาศข่าวสารเกี่ยวกับความหวังด้วยความเร่งด่วนยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา. เพราะเหตุใด? เพราะสิ่งหนึ่งในบรรดาสิ่งดีทั้งหลายที่การปกครองแห่งราชอาณาจักรจะทำให้เกิดขึ้นนั้นได้แก่การนำอวสานมาสู่ระบบปัจจุบันอันชั่วช้าซึ่งจวนจะถึงอยู่แล้ว. (ดานิเอล 2:44) มีข่าวสารใดที่ดีกว่านี้? และมีความยินดีอะไรที่เราสามารถมีได้มากไปกว่าการมีส่วนร่วมในการประกาศราชอาณาจักรก่อนที่ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” จะมาถึง?—มัดธาย 24:21; มาระโก 13:10.
การเสาะหาที่ประสบผลสำเร็จ
9. พระเยซูมีพระบัญชาอะไรแก่เหล่าสาวก และประชาชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าวสารราชอาณาจักร?
9 ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้เรามีความยินดีในฐานะคนงานเกี่ยวคือความสำเร็จของการเสาะหาคนที่จะมาเป็นสาวกและร่วมกับเราในงานเกี่ยว. ย้อนไปในปี ส.ศ. 31-32 พระเยซูทรงบัญชาเหล่าสาวกว่า “ท่านมาถึงนครใดหรือหมู่บ้านใดจงสืบดูว่าใครเป็นคนเหมาะสมในที่นั้น.” (มัดธาย 10:11, ฉบับแปลใหม่) ไม่ใช่ทุกคนเป็นคนเหมาะสม ดังที่เห็นได้จากปฏิกิริยาของพวกเขาต่อข่าวสารราชอาณาจักร. อย่างไรก็ตาม เหล่าสาวกของพระเยซูประกาศข่าวดีด้วยใจแรงกล้าในที่ใดก็ตามที่พบประชาชน.
10. เปาโลเสาะหาคนที่เหมาะสมโดยวิธีใด?
10 ภายหลังการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระเยซู การเสาะหาคนที่เหมาะสมดำเนินต่อไปอย่างมีพลัง. เปาโลหาเหตุผลกับชาวยิวในธรรมศาลาและกับผู้คนที่ตลาดในเมืองเอเธนส์ (อะเธนาย). เมื่อท่านให้คำพยานบนภูเขาอารีโอพากุส (อาเรียว) ในเมืองกรีกแห่งนี้ “มีลางคนติดตามเปาโลไปและได้เชื่อถือ ในคนเหล่านั้นมีดิโอนุเซียวผู้เป็นคนหนึ่งในกรรมการของศาลากลางบนเขาอาเรียวกับหญิงคนหนึ่งชื่อดะมารี และคนอื่น ๆ ด้วย.” ไม่ว่าเปาโลจะไปที่ไหน ท่านเป็นแบบอย่างในการประกาศ “ในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.”—กิจการ 17:17, 34; 20:20, ล.ม.
11. มีการใช้วิธีอะไรในงานรับใช้เมื่อหลายปีก่อนโน้น?
11 ในช่วงสองสามทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 คริสเตียนผู้ถูกเจิมเข้าร่วมอย่างกล้าหาญในการเสาะหาคนที่เหมาะสม. ในบทความที่ชื่อ “ได้รับการเจิมให้ประกาศ” หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ฉบับกรกฎาคม/สิงหาคม 1881 กล่าวดังนี้: “การประกาศ ข่าวดี . . . กำลังดำเนินต่อ ๆ ไป ‘ถึงผู้อ่อนน้อม’—คนเหล่านั้นที่เต็มใจและพร้อมจะฟัง เพื่อพวกเขาจะบังเกิดเป็นพระกายของพระคริสต์หรือรัชทายาทร่วม.” คนงานเกี่ยวของพระเจ้ามักพบกับผู้คนขณะที่คนเหล่านี้กำลังกลับจากโบสถ์ และให้แผ่นพับที่บรรจุข่าวสารของพระคัมภีร์ซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อช่วยคนที่เหมาะสมให้ตอบรับ. หลังจากพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีนี้ในการให้คำพยาน หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤษภาคม 1903 กระตุ้นคนงานเกี่ยวให้แจกแผ่นพับ “ตามบ้านเรือน ในตอนเช้าวันอาทิตย์.”
12. เราได้ทำให้งานประกาศของเราบังเกิดผลมากขึ้นโดยวิธีใด? จงยกตัวอย่าง.
12 เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราได้ขยายงานรับใช้ของเราออกไปโดยติดต่อกับผู้คนตามสถานที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากบ้านของพวกเขา. การขยายงานออกไปอย่างนี้ปรากฏว่าเกิดผลมากในหลายดินแดนที่ภาวะเศรษฐกิจและการมุ่งติดตามกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจทำให้ผู้คนไม่อยู่บ้านในเวลาที่เราไปเยี่ยมตามปกติ. เมื่อพยานฯ คนหนึ่งในอังกฤษและเพื่อนของเธอสังเกตว่านักท่องเที่ยวซึ่งมาพักผ่อนที่ชายหาดจะนั่งรถประจำทางกลับกันเป็นปกติ ทั้งสองรวบรวมความกล้า ขึ้นไปบนรถประจำทาง เสนอวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! แก่ผู้โดยสาร. ภายในเดือนเดียว ทั้งสองแจกจ่ายวารสารได้ถึง 229 เล่ม. ทั้งสองรายงานดังนี้: “เราไม่กลัวการให้คำพยานตามชายหาด, ย่านธุรกิจ, หรือข้อท้าทายใด ๆ ที่เราอาจเผชิญ เพราะเราทราบว่าพระยะโฮวาทรงอยู่กับเราเสมอ.” ทั้งสองสร้างสายเวียนส่งวารสาร, เริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, และทั้งคู่ได้ร่วมรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบ.
13. ปัจจุบัน ในบางแห่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นไรในงานรับใช้?
13 ขณะที่การเสาะหาคนที่เหมาะสมดำเนินต่อไป ในบางแห่งอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าควรปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในงานรับใช้ไหม. แม้ว่าเป็นกิจวัตรประจำที่พยานฯ หลายคนเข้าร่วมการประกาศตามบ้านตอนเช้าวันอาทิตย์ แต่ในบางเขตพวกเขาพบว่าการเยี่ยมประชาชนตามบ้านในช่วงเช้าเกิดผลน้อยเนื่องจากเจ้าของบ้านอาจกำลังพักผ่อนนอนหลับอยู่. โดยปรับตารางเวลาของตน ตอนนี้พยานฯ หลายคนเสาะหาคนที่เหมาะสมในช่วงเวลาอื่นหลังจากนั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นหลังจากการประชุมคริสเตียน. และการเสาะหาอย่างนี้ปรากฏว่าเกิดผลทีเดียว. ปีที่แล้ว จำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.3 เปอร์เซ็นต์. นี่นับเป็นการถวายพระเกียรติแด่เจ้าของงานเกี่ยวและนำความยินดีมาสู่หัวใจเรา.
จงรักษาสันติสุขในงานเกี่ยว
14. เราเสนอข่าวสารด้วยเจตคติเช่นไร และเพราะเหตุใด?
14 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งสำหรับความยินดีของเราเกี่ยวข้องกับเจตคติที่มุ่งสร้างสันติสุขที่เราแสดงออกมาในงานเกี่ยว. พระเยซูตรัสว่า “ขณะเมื่อขึ้นเรือนจงให้พรแก่ครัวเรือนนั้น ถ้าครัวเรือนนั้นสมควรรับพรก็ให้สันติสุขของท่านอยู่กับเรือนนั้น.” (มัดธาย 10:12, 13, ฉบับแปลใหม่) ทั้งคำทักทายในภาษาฮีบรูและคำที่ตรงกันในภาษากรีกซึ่งใช้ในคัมภีร์ไบเบิลต่างก็สื่อแนวคิดที่ว่า ‘ขอให้เป็นสุขเถิด.’ เจตคติอย่างนี้ชี้นำเราในการเข้าพบผู้คนเมื่อเราประกาศข่าวดี. เราหวังอยากให้เขาตอบรับข่าวสารราชอาณาจักร. สำหรับคนที่ตอบรับ มีความหวังที่เขาจะกลับคืนดีกับพระเจ้าเมื่อเขากลับใจจากบาปของตน, หันกลับ, และทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. จากนั้น สันติสุขกับพระเจ้าก็จะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—โยฮัน 17:3; กิจการ 3:19; 13:38, 48; 2 โกรินโธ 5:18-20.
15. เราจะรักษาเจตคติที่เปี่ยมด้วยสันติสุขได้อย่างไรเมื่อเราเผชิญกับการไม่ตอบรับในงานประกาศ?
15 เราจะรักษาสันติสุขได้อย่างไรเมื่อเราเผชิญกับการไม่ตอบรับ? พระเยซูทรงชี้ว่า “ถ้าครัวเรือนนั้นไม่สมควรรับพรก็ให้สันติสุขนั้นกลับคืนมาสู่ท่านอีก.” (มัดธาย 10:13, ฉบับแปลใหม่) ในบันทึกของลูกาเกี่ยวกับการส่งสาวก 70 คนออกไป พระเยซูตรัสว่า “ถ้าลูกแห่งสันติสุขอยู่ที่นั่น สันติสุขของท่านจะอยู่กับเขา ถ้าหาไม่ สันติสุขของท่านจะกลับอยู่กับท่านอีก.” (ลูกา 10:6, ฉบับแปลใหม่) เมื่อเรานำข่าวดีไปหาผู้คน เราทำอย่างเหมาะสมด้วยอารมณ์อันแจ่มใสและท่าทีที่เปี่ยมสันติสุข. ปฏิกิริยาที่แสดงออกซึ่งความไม่แยแส, คำบ่น, หรือคำพูดที่ไม่กรุณาจากเจ้าของบ้านเพียงแต่ทำให้ข่าวสารแห่งสันติสุขของเรา ‘กลับคืนมายังเรา’ เท่านั้นเอง. แต่ไม่มีสิ่งใดจะพรากสันติสุขซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างหนึ่งของพระยะโฮวาไปจากเรา.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
เป้าหมายที่ดีสำหรับคนงานเกี่ยว
16, 17. (ก) เป้าหมายของเราเมื่อกลับเยี่ยมเยียนคืออะไร? (ข) เราจะช่วยคนที่มีคำถามเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด?
16 ในฐานะคนงานเกี่ยว เรายินดีที่มีส่วนในการรวบรวมผู้คนสู่ชีวิตนิรันดร์. และเรายินดีสักเพียงไรเมื่อคนที่เราประกาศตอบรับอย่างดี, ต้องการเรียนมากขึ้น, และพิสูจน์ตัวว่าเป็น “ลูกแห่งสันติสุข”! เขาอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล และเราพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบทุกอย่างในการเยี่ยมครั้งหนึ่ง. เนื่องจากอาจไม่เหมาะสมที่จะอยู่นานในการพบกันครั้งแรก เราอาจทำอย่างไร? เราอาจตั้งเป้าไว้เหมือนกับที่เคยมีแนะนำไว้เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว.
17 “พยานพระยะโฮวาทุกคนควรอยู่พร้อมที่จะนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยใช้หนังสือเล่มเล็กนี้.” คำกล่าวนี้ปรากฏในหนังสือเล่มที่สามในชุดหนังสือคู่มือเล่มเล็กที่ชื่อวิธีนำการศึกษา ซึ่งจัดพิมพ์ในช่วงปี 1937 ถึง 1941. หนังสือนี้กล่าวต่อไปอีกว่า “ผู้ประกาศ [ราชอาณาจักร] ทุกคนควรขยันขันแข็งในการช่วยเหลือผู้คนซึ่งเป็นที่โปรดปรานที่แสดงความสนใจในข่าวสารราชอาณาจักร ในทุกวิธีที่ทำได้. ควรกลับเยี่ยมเยียนคนเหล่านั้น, ตอบคำถามต่าง ๆ . . . และจากนั้นก็เริ่มนำการศึกษา . . . เร็วเท่าที่คุณจะทำได้.” ใช่แล้ว เป้าหมายของเราในการกลับเยี่ยมเยียนคือเพื่อเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านและทำเช่นนั้นเป็นประจำ.a เจตคติแบบที่แสดงความเป็นมิตรและความห่วงใยด้วยความรักต่อผู้สนใจกระตุ้นเราให้เตรียมตัวอย่างดีและนำการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ.
18. เราจะช่วยคนใหม่ ๆ ให้เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ได้โดยวิธีใด?
18 โดยอาศัยหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ และจุลสารต่าง ๆ เช่น พระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา? เราสามารถนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยเหตุนั้นจึงสามารถช่วยผู้สนใจใหม่ ๆ ให้เป็นสาวก. ขณะที่เราพยายามเลียนแบบครูผู้ยิ่งใหญ่ คือพระเยซูคริสต์ นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทั้งหลายก็คงจะเรียนรู้เช่นกันจากท่าทีอันเปี่ยมด้วยสันติสุขและความยินดี, ความจริงใจ, และความนับถือของเราต่อมาตรฐานและการชี้นำของพระยะโฮวา. เมื่อเราช่วยคนใหม่ ๆ ด้วยการตอบคำถามของเขา ให้เราทำเท่าที่ทำได้เพื่อสอนวิธีที่เขาจะตอบคนที่ถามเขาด้วย. (2 ติโมเธียว 2:1, 2; 1 เปโตร 2:21) ในฐานะผู้ทำงานเกี่ยวโดยนัย เรายินดีแน่นอนที่โดยเฉลี่ยมีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านทั่วโลก 4,766,631 รายในปีรับใช้ที่ผ่านไป. เรายินดีเป็นพิเศษหากเราเองเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของคนงานเกี่ยวที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน.
จงรักษาความยินดีในการเกี่ยว
19. เหตุใดจึงมีเหตุผลที่จะยินดีในการเกี่ยวในช่วงที่พระเยซูทรงรับใช้และช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้น?
19 มีเหตุผลที่ดีหลายประการที่จะยินดีในการเกี่ยวในช่วงที่พระเยซูทรงรับใช้และช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้น. ในตอนนั้น หลายคนตอบรับข่าวดี. มีความยินดีมากมายเป็นพิเศษในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 เพราะในวันนั้นมีประมาณ 3,000 คนตอบรับการชี้นำของเปโตร, รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา, และได้มาเป็นส่วนหนึ่งแห่งชาติยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. จริงทีเดียว จำนวนของพวกเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความยินดีท่วมท้นเมื่อ “พระยะโฮวาทรงทำให้คนทั้งหลายที่ได้รับการช่วยให้รอดมาสมทบกับพวกเขาทุกวัน.”—กิจการ 2:37-41, 46, 47, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:16; 1 เปโตร 2:9.
20. อะไรทำให้เรามีความยินดีมากล้นในงานเกี่ยว?
20 ในเวลานั้น คำพยากรณ์ของยะซายาปรากฏว่าเป็นจริง ที่ว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงโปรดให้พลเมืองทวีมากขึ้น, พระองค์ได้ทรงกระทำให้เขามีความชื่นชมยินดียิ่งขึ้น: เขามีความยินดีต่อพระพักตร์พระองค์เหมือนกับความยินดีในฤดูเกี่ยว, เหมือนกับคนทั้งหลายที่ยินดีเมื่อเขาแบ่งปันทรัพย์สินแก่กัน.” (ยะซายา 9:3) แม้ว่าในเวลานี้เราเห็นว่าชนผู้ถูกเจิมซึ่งเป็น ‘พลเมืองที่ทวีมากขึ้น’ เกือบครบจำนวนแล้ว ความยินดีของเรามีมากล้นเมื่อเราสังเกตเห็นจำนวนคนงานเกี่ยวอีกกลุ่มหนึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี.—บทเพลงสรรเสริญ 4:7; ซะคาระยา 8:23; โยฮัน 10:16.
21. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 แน่นอน เรามีเหตุผลมากมายที่จะรักษาความยินดีในงานเกี่ยว. ข่าวสารเกี่ยวกับความหวัง, การเสาะหาคนที่เหมาะสม, และเจตคติที่มุ่งสร้างสันติสุขของเรา—ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เรายินดีในฐานะคนงานเกี่ยว. ถึงกระนั้น ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไม่ดีจากหลายคน. อัครสาวกโยฮันพบกับปฏิกิริยาอย่างนี้. ท่านถูกคุมขังบนเกาะปัตโมส “เนื่องด้วยได้กล่าวถึงพระเจ้าและให้คำพยานถึงพระเยซู.” (วิวรณ์ 1:9, ล.ม.) ถ้าอย่างนั้น เราจะรักษาความยินดีของเราเมื่อเผชิญกับการข่มเหงและการต่อต้านได้โดยวิธีใด? อะไรจะช่วยเราให้อดทนกับทัศนะที่แข็งกระด้างของหลายคนที่เราประกาศ? บทความถัดไปของเราจะช่วยตอบคำถามเหล่านี้โดยอาศัยพระคัมภีร์.
[เชิงอรรถ]
a ในตอนแรก การศึกษาจัดให้มีขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้สนใจสามารถมาชุมนุมกัน. อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าก็ได้มีการนำการศึกษาเป็นรายบุคคลและกับครอบครัวด้วย.—โปรดดูพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) หน้า 574 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• งานเกี่ยวโดยนัยคืออะไร?
• เราประกาศข่าวสารชนิดใด?
• เหตุใดการเสาะหาของเราเพื่อจะได้สาวกจึงประสบผลสำเร็จ?
• เรารักษาสันติสุขในงานเกี่ยวโดยวิธีใด?
• เหตุใดเราจึงรักษาความยินดีในงานเกี่ยว?
[ภาพหน้า 12, 13]
การประกาศในศตวรรษแรกและศตวรรษที่ 20
[ภาพหน้า 13]
เช่นเดียวกับเปาโล คนงานเกี่ยวในสมัยปัจจุบันพยายามเข้าถึงผู้คนทุกหนแห่ง
[ภาพหน้า 13]
จงประกาศข่าวดีด้วยอารมณ์อันแจ่มใส