คุณมี “พระทัยของพระคริสต์” ไหม?
“ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.”—โรม 15:5, ล.ม.
1. มีการพรรณนาถึงพระเยซูอย่างไรในภาพวาดจำนวนมากของคริสต์ศาสนจักร และเหตุใดนี่ไม่ใช่การพรรณนาถึงพระเยซูอย่างยุติธรรม?
“ไม่เคยมีใครเห็นพระองค์ทรงพระสรวลแม้แต่ครั้งเดียว.” นั่นคือคำพรรณนาถึงพระเยซูในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งอ้างอย่างที่ไม่เป็นความจริงว่าเขียนโดยเจ้าหน้าที่ชาวโรมันโบราณผู้หนึ่ง. กล่าวกันว่าเอกสารนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในรูปแบบปัจจุบันตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 11 มีอิทธิพลต่อศิลปินมากมาย.a พระเยซูทรงปรากฏในภาพวาดจำนวนมากในฐานะบุคคลที่เคร่งขรึม ซึ่งหากเคยแย้มพระโอษฐ์ก็คงน้อยครั้งเต็มที. แต่นั่นย่อมเป็นการพรรณนาถึงพระเยซูอย่างไม่ยุติธรรม เพราะพระธรรมกิตติคุณพรรณนาถึงพระองค์ว่าทรงเป็นบุรุษที่อบอุ่น, มีพระทัยกรุณา, และมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง.
2. เราอาจปลูกฝัง “ทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี” ได้อย่างไร และการปลูกฝังดังกล่าวจะช่วยเราให้พร้อมจะทำอะไร?
2 เห็นได้ชัด เพื่อจะรู้จักตัวจริงของพระเยซู เราต้องบรรจุความคิดและหัวใจของเราด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็นจริง ๆ ขณะอยู่บนแผ่นดินโลกนี้. ด้วยเหตุนั้น ให้เราตรวจสอบเรื่องราวบางอย่างจากพระธรรมกิตติคุณที่ให้ความหยั่งเห็นเข้าใจแก่เราในเรื่อง “พระทัยของพระคริสต์”—กล่าวคือความรู้สึก, การรับรู้, ความคิด, และการหาเหตุผลของพระองค์. (1 โกรินโธ 2:16) ขณะที่เราทำอย่างนั้น ให้เราพิจารณาวิธีที่เราอาจปลูกฝัง “ทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.” (โรม 15:5, ล.ม.) โดยวิธีนี้ เราอาจพร้อมมากกว่าในการดำเนินชีวิตและในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อดำเนินตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้สำหรับเรา.—โยฮัน 13:15.
เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย
3, 4. (ก) ฉากของเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 10:13-16 เป็นอย่างไร? (ข) พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเหล่าสาวกพยายามห้ามเด็กเล็ก ๆ ไว้ไม่ให้เข้ามาหาพระองค์?
3 ผู้คนรู้สึกถูกดึงดูดให้เข้าไปหาพระเยซู. ในหลายโอกาส คนในวัยและภูมิหลังต่าง ๆ กันเข้าหาพระองค์อย่างเป็นอิสระ. ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 10:13-16. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะจวนจะถึงตอนสิ้นสุดงานรับใช้ของพระองค์ ขณะพระองค์กำลังมุ่งตรงไปยังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเผชิญหน้ากับความตายอันเจ็บปวดรวดร้าว.—มาระโก 10:32-34.
4 ขอให้นึกถึงฉากเหตุการณ์. ประชาชนเริ่มพาเด็ก ๆ รวมทั้งทารกมาให้พระเยซูอวยพร.b อย่างไรก็ตาม เหล่าสาวกพยายามห้ามพวกเด็ก ๆ ไม่ให้เข้ามาหาพระเยซู. อาจเป็นได้ พวกสาวกคิดว่าพระเยซูคงไม่ต้องการถูกรบกวนจากพวกเด็ก ๆ เป็นแน่ในช่วงสัปดาห์สำคัญที่เหลืออยู่นี้. แต่พวกเขาคิดผิด. เมื่อพระเยซูทรงทราบว่าพวกสาวกกำลังทำอะไร พระองค์แสดงความไม่พอพระทัย. พระเยซูทรงเรียกเด็ก ๆ ให้เข้าไปหาพระองค์ ตรัสว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย.” (มาระโก 10:14) ตอนนั้นเอง พระองค์ทรงทำสิ่งซึ่งเผยให้เห็นลักษณะที่อ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความรักแท้จริง. บันทึกกล่าวว่า “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้น . . . และทรงอวยพรให้.” (มาระโก 10:16) เห็นได้ชัด พวกเด็ก ๆ รู้สึกสบายใจขณะที่พระเยซูทรงอุ้มเขาไว้ในวงแขนที่อาทรของพระองค์.
5. บันทึกที่มาระโก 10:13-16 บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น?
5 บันทึกสั้น ๆ นั้นบอกเรามากทีเดียวเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น. สังเกตว่าพระองค์เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย. แม้ว่าพระองค์ทรงเคยมีตำแหน่งสูงในสวรรค์ พระองค์มิได้เหยียดหยามมนุษย์ไม่สมบูรณ์หรือทำให้เขากลัว. (โยฮัน 17:5) การที่แม้แต่เด็กก็รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์ย่อมบ่งถึงอะไรบางอย่างด้วยมิใช่หรือ? แน่นอน พวกเด็ก ๆ คงไม่รู้สึกถูกดึงดูดให้เข้าไปหาคนที่เย็นชาไร้ความยินดีผู้ไม่เคยยิ้มหรือหัวเราะ! ผู้คนทุกวัยเข้าหาพระเยซูเนื่องจากพวกเขารู้สึกได้ว่าพระองค์ทรงเป็นคนอบอุ่นเอื้ออาทร และพวกเขาเชื่อมั่นว่าพระองค์จะไม่ผลักไสพวกเขา.
6. ผู้ปกครองจะทำให้ตัวเองเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายขึ้นได้อย่างไร?
6 เมื่อใคร่ครวญในบันทึกนี้ เราอาจถามตัวเราเองว่า ‘ฉันมีพระทัยของพระคริสต์ไหม? ฉันเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายไหม?’ ในสมัยวิกฤตินี้ แกะของพระเจ้าจำเป็นต้องมีผู้บำรุงเลี้ยงที่เข้าหาได้ง่าย ชายที่เป็นเหมือน “ที่หลบซ่อนให้พ้นลม.” (ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) ผู้ปกครองทั้งหลาย หากคุณปลูกฝังความสนใจที่ออกมาจากใจอย่างแท้จริงต่อพี่น้องของคุณและเต็มใจจะสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของพวกเขา พวกเขาก็จะรับรู้ได้ถึงความห่วงใยของคุณ. พวกเขาจะเห็นได้อย่างนั้นจากการแสดงออกทางสีหน้าของคุณ, ฟังออกจากน้ำเสียงของคุณ, และสังเกตได้จากท่าทีที่กรุณาของคุณ. ความอบอุ่นและความห่วงใยแท้จริงเช่นนั้นสามารถสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ ซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นที่ผู้อื่น รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย จะเข้าหาคุณ. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งอธิบายถึงเหตุผลที่เธอสามารถเปิดใจพูดกับผู้ปกครองคนหนึ่งว่า “เขาพูดกับดิฉันด้วยท่าทีที่นุ่มนวลและเมตตารักใคร่. ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ดิฉันก็คงพูดไม่ออก. เขาทำให้ดิฉันรู้สึกปลอดภัย.”
คำนึงถึงผู้อื่น
7. (ก) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงคำนึงถึงผู้อื่น? (ข) อาจเป็นเพราะเหตุใดที่พระเยซูทรงฟื้นฟูความสามารถในการมองเห็นให้ชายตาบอดคนหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป?
7 พระเยซูทรงคำนึงถึงผู้อื่น. พระองค์ทรงมีความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น. เพียงได้เห็นคนที่ทนทุกข์ก็ทำให้สะเทือนพระทัยอย่างยิ่งจนกระตุ้นพระองค์ให้บรรเทาทุกข์ของพวกเขา. (มัดธาย 14:14) พระองค์ทรงคำนึงถึงขีดจำกัดและความจำเป็นของผู้อื่นด้วย. (โยฮัน 16:12) ครั้งหนึ่ง ผู้คนพาชายตาบอดคนหนึ่งมาขอให้พระเยซูรักษาเขา. พระเยซูทรงฟื้นฟูความสามารถในการมองเห็นให้แก่ชายคนนี้ แต่ทรงรักษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป. ทีแรก ชายคนนี้เริ่มมองเห็นผู้คนแต่เพียงรางเลือน—“เหมือนต้นไม้เดินไปเดินมา.” ต่อจากนั้น พระเยซูทรงทำให้เขามองเห็นชัดเป็นปกติ. เหตุใดพระองค์ทรงค่อย ๆ รักษาชายคนนี้ทีละน้อย? ที่ทำอย่างนั้นคงจะเพื่อให้ชายคนนี้ซึ่งคุ้นเคยกับความมืดมานานสามารถปรับสายตารับการมองเห็นโลกอันสลับซับซ้อนซึ่งสว่างจ้าด้วยแสงอาทิตย์.—มาระโก 8:22-26.
8, 9. (ก)เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระเยซูกับเหล่าสาวกเข้าไปในแขวงเดกาโปลีได้ไม่นาน? (ข) จงพรรณนาถึงการรักษาชายหูหนวกที่พระเยซูทรงทำ.
8 ขอให้พิจารณาอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นหลังวันปัศคาปี ส.ศ. 32. พระเยซูกับเหล่าสาวกได้เข้าไปในแขวงเดกาโปลี ฟากตะวันออกของทะเลฆาลิลาย. ไม่นานนัก ก็มีคนกลุ่มใหญ่พบพระเยซูกับสาวกที่นั่นและนำคนป่วยกับคนพิการจำนวนมากมาหาพระเยซู และพระองค์ทรงรักษาเขาสิ้นทุกคน. (มัดธาย 15:29, 30) ที่น่าสนใจคือ พระเยซูทรงแยกชายคนหนึ่งออกมาเพื่อให้เขาได้รับการดูแลเป็นพิเศษ. ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณมาระโก ซึ่งเป็นคนเดียวที่บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น.—มาระโก 7:31-35.
9 ชายคนนี้หูหนวกและแทบจะพูดไม่ได้. พระเยซูอาจทราบว่าชายคนนี้รู้สึกกังวลหรือกระดากอายเป็นพิเศษ. ตอนนั้นเอง พระเยซูทรงทำเรื่องที่ค่อนข้างแปลก. พระองค์ทรงพาชายคนนี้ออกจากฝูงชนไปอยู่ต่างหาก. จากนั้น พระเยซูทรงแสดงท่าทางบางอย่างเพื่อสื่อให้ชายคนนี้เข้าใจถึงสิ่งที่พระองค์กำลังจะทำ. พระองค์ “ทรงเอานิ้วพระหัตถ์ยอนเข้าที่หูของชายผู้นั้น, และทรงบ้วนน้ำลายเอานิ้วพระหัตถ์จิ้มแตะลิ้นคนนั้น.” (มาระโก 7:33) แล้วพระเยซูทรงแหงนพระพักตร์ดูฟ้าและถอนพระทัยอธิษฐาน. การแสดงออกเหล่านี้ย่อมเท่ากับเป็นการบอกชายผู้นี้ว่า ‘สิ่งที่เราจะทำแก่เจ้านี้เป็นอำนาจจากพระเจ้า.’ ในที่สุด พระเยซูตรัสว่า “จงเปิดออก.” (มาระโก 7:34) ทันใดนั้นเอง ชายคนนี้ก็สามารถได้ยินและพูดได้เป็นปกติ.
10, 11. โดยวิธีใดที่เราอาจแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นในประชาคม? ในครอบครัว?
10 ช่างคำนึงถึงผู้อื่นอะไรเช่นนี้! พระเยซูทรงไวต่อความรู้สึกของพวกเขา และการคำนึงถึงอย่างร่วมรู้สึกเช่นนี้เองที่กระตุ้นพระองค์ให้ลงมือทำด้วยวิธีที่ถนอมความรู้สึกของพวกเขา. ในฐานะคริสเตียน เราควรปลูกฝังและแสดงออกซึ่งพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้. คัมภีร์ไบเบิลเตือนสติเราว่า “ท่านทั้งหลายทุกคน จงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน, แสดงความเห็นอกเห็นใจ, มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง, ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, จิตใจถ่อม.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) แน่นอน เพื่อจะทำได้อย่างนี้จำเป็นที่เราจะต้องพูดและทำในวิธีที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น.
11 ในประชาคม เราสามารถแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของเขา ปฏิบัติต่อเขาอย่างที่เราอยากได้รับการปฏิบัติ. (มัดธาย 7:12) นั่นย่อมรวมถึงการระวังสิ่งที่เราพูด ตลอดจนวิธีที่เราพูด. (โกโลซาย 4:6) จำไว้ว่า ‘คำพูดพล่อย ๆ เหมือนการแทงของกระบี่.’ (สุภาษิต 12:18) ในครอบครัวล่ะจะว่าอย่างไร? สามีและภรรยาที่รักกันอย่างแท้จริงย่อมไวต่อความรู้สึกของกันและกัน. (เอเฟโซ 5:33) พวกเขาหลีกเลี่ยงคำพูดเกรี้ยวกราด, การวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุดหย่อน, และการพูดค่อนแคะเชือดเฉือน—ซึ่งทั้งหมดนี้อาจสร้างความเจ็บใจที่ไม่หายไปได้ง่าย ๆ. เด็ก ๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนกัน และบิดามารดาผู้มีความรักต้องคำนึงถึงเรื่องนี้. เมื่อจำเป็นต้องว่ากล่าวแก้ไข บิดามารดาผู้เปี่ยมด้วยความรักทำอย่างที่ให้ความนับถือและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของลูก ๆ และไม่ทำให้เขาได้อายโดยไม่จำเป็น.c (โกโลซาย 3:21) เมื่อเราแสดงออกด้วยการคำนึงถึงผู้อื่นอย่างนั้น ก็แสดงว่าเรามีพระทัยของพระคริสต์.
พร้อมจะไว้วางใจผู้อื่น
12. พระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลและตรงตามความเป็นจริงเช่นไรต่อเหล่าสาวก?
12 พระเยซูทรงมีทัศนะต่อเหล่าสาวกอย่างสมดุลและตรงตามความเป็นจริง. พระองค์ทรงทราบดีว่าพวกเขาไม่สมบูรณ์. ที่จริง พระองค์ทรงสามารถอ่านใจคนเราได้. (โยฮัน 2:24, 25) แม้กระนั้น พระองค์มิได้มองเห็นเฉพาะข้อบกพร่อง แต่ทรงมองเห็นคุณลักษณะที่ดีของพวกเขาด้วย. นอกจากนั้น พระองค์ทรงเห็นศักยภาพที่มีอยู่ในคนเหล่านี้ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงชักนำพวกเขา. (โยฮัน 6:44) ทัศนะในแง่ดีที่พระเยซูทรงมีต่อเหล่าสาวกเห็นได้จากวิธีที่พระองค์ทรงดำเนินการและปฏิบัติต่อพวกเขา. ประการหนึ่งนั้น พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะไว้วางใจพวกเขา.
13. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ไว้วางใจเหล่าสาวก?
13 พระเยซูทรงแสดงความไว้วางใจเช่นนั้นอย่างไร? เมื่อพระองค์ทรงจากโลกนี้ไป พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบอันหนักแก่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิม. พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์ที่มีอยู่ทั่วโลกให้พวกเขาจัดการ. (มัดธาย 25:14, 15; ลูกา 12:42-44) ระหว่างการรับใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นแม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งส่อว่าพระองค์ทรงไว้วางใจพวกเขา. เมื่อพระองค์ทรงเพิ่มปริมาณอาหารด้วยการอัศจรรย์เพื่อเลี้ยงฝูงชน พระองค์ทรงตั้งให้เหล่าสาวกรับผิดชอบในการแจกจ่ายอาหาร.—มัดธาย 14:15-21; 15:32-37.
14. คุณจะสรุปเรื่องซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 4:35-41 อย่างไร?
14 ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 4:35-41 ด้วย. ในโอกาสนี้ พระเยซูกับเหล่าสาวกลงเรือและแล่นไปทางตะวันออกข้ามทะเลฆาลิลาย. หลังจากออกเรือมาได้ไม่นาน พระเยซูก็เอนพระกายลงที่ท้ายเรือและบรรทมสนิท. แต่ในไม่ช้า “ลมพายุใหญ่ได้บังเกิดขึ้น.” พายุเช่นนั้นมักเกิดขึ้นในทะเลฆาลิลาย. เนื่องจากพื้นน้ำอยู่ในระดับต่ำ (ประมาณ 200 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล) อากาศจึงอุ่นกว่าพื้นที่โดยรอบมาก และความแตกต่างนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนของบรรยากาศ. นอกจากนี้แล้ว ยังมีลมแรงพัดลงมาตามหุบเขายาระเดนจากภูเขาเฮระโมนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ. อากาศที่สงบนิ่งอาจเปลี่ยนโดยฉับพลันกลายเป็นพายุกล้าในพริบตาต่อมา. ขอให้คิดดู: ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูทรงทราบในเรื่องพายุที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย เพราะพระองค์ทรงเติบโตในมณฑลฆาลิลาย. กระนั้น พระองค์ทรงบรรทมอย่างเป็นสุข ไว้วางใจในความชำนาญของเหล่าสาวกซึ่งบางคนเป็นชาวประมง.—มัดธาย 4:18, 19.
15. เราอาจเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกได้อย่างไร?
15 เราจะเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกได้ไหม? บางคนพบว่ายากจะมอบหน้าที่รับผิดชอบแก่ผู้อื่น. เขาต้องเป็นเสมือนคนถือท้ายเรือเสมอ. เขาอาจคิดว่า ‘ถ้าฉันต้องการให้อะไร ๆ ดำเนินไปด้วยดี ฉันต้องทำด้วยตัวเอง!’ แต่หากเราต้องทำทุกอย่างเสียเอง เราคงหมดเรี่ยวแรง และอาจไม่มีเวลาเหลือมากพอสำหรับครอบครัวโดยที่ไม่จำเป็นเลย. นอกจากนั้น หากเราไม่มอบงานและหน้าที่รับผิดชอบที่เหมาะสมแก่ผู้อื่น นั่นอาจเป็นเหมือนกับการกีดกันพวกเขาไว้ไม่ให้ได้รับประสบการณ์และการฝึกฝนที่จำเป็น. นับว่าเป็นความสุขุมที่จะเรียนรู้ในเรื่องการไว้วางใจผู้อื่น มอบงานบางอย่างแก่พวกเขา. เราควรถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า ‘ฉันมีพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้ไหม? ฉันเต็มใจจะมอบงานบางอย่างแก่ผู้อื่นไหม โดยไว้ใจว่าเขาจะทำดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้?’
พระองค์ทรงแสดงความเชื่อใจต่อเหล่าสาวก
16, 17. ในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงให้คำรับรองอะไรแก่เหล่าอัครสาวก แม้ทรงทราบว่าพวกเขาจะละทิ้งพระองค์?
16 พระเยซูทรงแสดงทัศนะในแง่ดีต่อเหล่าสาวกในอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญ. พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาทราบว่าพระองค์เชื่อมั่นในพวกเขา. เรื่องนี้เห็นได้ชัดในคำรับรองที่พระองค์ตรัสแก่เหล่าอัครสาวกในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก. โปรดสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น.
17 คืนนี้พระเยซูทรงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ. พระองค์ทรงสอนบทเรียนอันเป็นแบบอย่างในเรื่องความถ่อมแก่เหล่าอัครสาวกโดยทรงล้างเท้าพวกเขา. หลังจากนั้น พระองค์ทรงตั้งอาหารมื้อเย็นวันนั้นไว้ให้เป็นอนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระองค์. ถัดจากนั้น เหล่าอัครสาวกเริ่มถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่งว่าใครน่าจะเป็นใหญ่ที่สุด. พระเยซูยังคงอดทนอยู่ต่อไป โดยไม่ทรงดุด่าหากแต่หาเหตุผลกับพวกเขา. พระองค์ทรงบอกพวกเขาถึงสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า: “ในคืนวันนี้ท่านทุกคนจะกะดากใจเพราะเรา ด้วยมีคำกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า, เราจะตีผู้เลี้ยงแกะ, และแกะฝูงนั้นจะกระจัดกระจายไป.” (มัดธาย 26:31; ซะคาระยา 13:7) พระองค์ทรงทราบว่ามิตรสหายใกล้ชิดที่สุดของพระองค์จะละทิ้งพระองค์ในยามคับขัน. กระนั้น พระองค์ไม่ทรงตำหนิพวกเขา. ตรงกันข้ามทีเดียว พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “แต่เมื่อเราเป็นขึ้นมาแล้ว, เราจะนำหน้าท่านไปยังแขวงฆาลิลาย.” (มัดธาย 26:32) ถูกแล้ว พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาว่า แม้พวกเขาจะละทิ้งพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งพวกเขา. เมื่อการทดสอบอันแสนสาหัสนี้ผ่านพ้นไปแล้ว พระองค์จะพบพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง.
18. ที่มณฑลฆาลิลาย พระเยซูทรงมอบหมายเหล่าสาวกให้ทำหน้าที่มอบหมายสำคัญอะไร และเหล่าอัครสาวกปฏิบัติตามหน้าที่มอบหมายนี้อย่างไร?
18 พระเยซูทรงรักษาคำตรัสของพระองค์. ต่อมา ในมณฑลฆาลิลาย พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อหน้าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ทั้ง 11 คน ซึ่งดูเหมือนว่าได้ชุมนุมอยู่กับอีกหลายคน. (มัดธาย 28:16, 17; 1 โกรินโธ 15:6) ที่นั่น พระเยซูทรงมอบหมายงานสำคัญอย่างหนึ่งให้พวกเขาทำ: “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) พระธรรมกิจการให้หลักฐานชัดเจนแก่เราว่า เหล่าอัครสาวกปฏิบัติตามหน้าที่มอบหมายนั้น. พวกเขานำหน้าอย่างซื่อสัตย์ในงานประกาศข่าวดีในศตวรรษแรก.—กิจการ 2:41, 42; 4:33; 5:27-32.
19. การกระทำของพระเยซูหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์สอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระทัยของพระคริสต์?
19 บันทึกที่เปิดเผยเรื่องนี้สอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระทัยของพระคริสต์? พระเยซูทรงเคยเห็นเหล่าอัครสาวกในสภาพตกต่ำที่สุด กระนั้น พระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด.” (โยฮัน 13:1) แม้พวกเขามีข้อบกพร่องหลายอย่าง พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาทราบว่าพระองค์ทรงเชื่อใจพวกเขา. พึงสังเกตว่าความเชื่อมั่นของพระเยซูไม่สูญเปล่า. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเชื่อมั่นและความเชื่อใจที่พระองค์ได้ทรงแสดงต่อพวกเขาให้พลังเข้มแข็งแก่พวกเขาที่จะตั้งใจแน่วแน่ในการทำงานที่พระองค์ทรงบัญชาให้พวกเขาทำ.
20, 21. เราอาจแสดงทัศนะในแง่ดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อโดยวิธีใด?
20 เราจะแสดงพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้ได้อย่างไร? อย่าได้มองเพื่อนร่วมความเชื่อในแง่ร้าย. หากคุณคิดในแง่ร้ายเสียแล้ว คำพูดและการกระทำของคุณก็คงจะเผยให้เห็นอย่างนั้น. (ลูกา 6:45) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ความรัก “เชื่อทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) ความรักเป็นคุณลักษณะด้านบวก ไม่ใช่ด้านลบ. ความรักก่อร่างสร้างขึ้นแทนที่จะรื้อทำลาย. ผู้คนพร้อมจะตอบสนองต่อความรักและการให้กำลังใจมากกว่าการข่มขู่. เราสามารถเสริมสร้างและให้กำลังใจผู้อื่นโดยแสดงความเชื่อมั่นในพวกเขา. (1 เธซะโลนิเก 5:11) เช่นเดียวกับพระคริสต์ หากเรามีทัศนะในแง่ดีต่อพี่น้องของเรา เราจะปฏิบัติต่อพวกเขาในวิธีที่เสริมสร้างพวกเขาขึ้นและดึงส่วนดีที่สุดในตัวเขาให้ปรากฏออกมา.
21 การปลูกฝังและการแสดงพระทัยของพระคริสต์นั้นลึกซึ้งกว่าเพียงแค่เลียนแบบการกระทำบางอย่างของพระเยซู. ดังกล่าวไปแล้วในบทความก่อน เพื่อที่เราจะสามารถทำได้เช่นเดียวกับพระเยซูอย่างแท้จริง ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้ที่จะมองเรื่องต่าง ๆ อย่างพระองค์. พระธรรมกิตติคุณช่วยเราให้เห็นแง่มุมอื่นแห่งบุคลิกภาพของพระองค์ คือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับงานที่ทรงได้รับมอบหมาย ดังที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ในเอกสารนี้ ผู้ปลอมแปลงพรรณนาลักษณะทางกายของพระเยซูว่าน่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงสีของพระเกศา, พระทาฐิกะ (เครา), และพระจักษุ. เอดการ์ เจ. กูดสปีด ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า การปลอมแปลงนี้ “มุ่งหมายจะทำให้คำพรรณนาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะพระองค์ของพระเยซูในหนังสือคู่มือจิตรกรได้รับการยอมรับโดยทั่วไป.”
b ดูเหมือนว่า พวกเด็กอยู่ในวัยต่าง ๆ กัน. คำที่ใช้ในที่นี้ว่า “เด็กเล็ก ๆ” นั้นใช้กับลูกสาวอายุ 12 ขวบของญายโรด้วย. (มาระโก 5:39, 42; 10:13) อย่างไรก็ตาม ในบันทึกเรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้ ลูกาใช้คำซึ่งหมายถึงทารกด้วย.—ลูกา 1:41; 2:12; 18:15.
c โปรดดูบทความเรื่อง “คุณเคารพศักดิ์ศรีของเขาไหม?” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 1998.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเหล่าสาวกพยายามห้ามเด็ก ๆ ไว้ไม่ให้เข้ามาหาพระองค์?
• พระเยซูทรงแสดงการคำนึงถึงผู้อื่นในทางใดบ้าง?
• เราอาจเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกได้อย่างไร?
• เราอาจเลียนแบบความเชื่อมั่นที่พระเยซูทรงแสดงต่อเหล่าอัครสาวกได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 16]
เด็ก ๆ รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระเยซู
[ภาพหน้า 17]
พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเมตตารักใคร่
[ภาพหน้า 18]
ผู้ปกครองที่เข้าหาได้ง่ายนับเป็นพระพร