การร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองสมัยปัจจุบัน
“นายจะตั้งเขาไว้ให้ดูแลบรรดาสิ่งของของท่าน.”—ลูกา 12:44.
1. พระคริสต์ทรงเริ่มการครอบครองในราชอาณาจักรไหนในปีสากลศักราช 33 และโดยวิธีใด?
ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 พระเยซูคริสต์ผู้เป็นประมุขประชาคมได้เริ่มการครอบครองอย่างจริงจังในราชอาณาจักรแห่งบ่าวที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. โดยวิธีใด? โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทูตสวรรค์ และคณะกรรมการปกครองที่ประจักษ์แก่ตา. ดังที่อัครสาวกเปาโลบอกให้ทราบ พระเจ้า ‘ได้ทรงช่วยเหล่าผู้ถูกเจิมให้พ้นจากอำนาจแห่งความมืด และโยกย้ายพวกเขาไปไว้ในราชอาณาจักรแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์.’—โกโลซาย 1:13-18; กิจการ 2:33, 42; 15:2; ฆะลาเตีย 2:1, 2; วิวรณ์ 22:16.
2. พระคริสต์ทรงเริ่มการปกครองในราชอาณาจักรอะไรที่ใหญ่กว่าในปี 1914?
2 ในตอนสิ้นสุดลงแห่ง “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” พระยะโฮวาทรงเพิ่มอำนาจปกครองในฐานะกษัตริย์ของพระคริสต์ให้มากขึ้น นอกเหนือจากประชาคมคริสเตียน. (ลูกา 21:24) ถูกแล้ว ในปี 1914 พระเจ้าทรงพระราชทานอำนาจปกครองเหนือ “นานาชาติ” “อาณาจักรของโลก” มนุษยชาติทั้งสิ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 2:6-8; วิวรณ์ 11:15.
ตั้งให้ “ดูแลบรรดาสิ่งของของท่าน”
3, 4. (ก) ในอุปมาของพระเยซูเรื่องเงินชั่ง เจ้าองค์นั้นเป็นภาพเล็งถึงใคร? (ข) ความก้าวหน้าอะไรของราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นในปี 1918 และ 1919?
3 สิ่งน่าสังเกตตอนนี้ก็คืออุปมาของพระเยซูเรื่องเจ้าองค์หนึ่ง. (ลูกา 19:11-27) ก่อนจะเดินทางไปเมืองไกลเพื่อรับขัตติยอำนาจ ท่านได้ให้เงิน [ชั่ง] แก่บ่าวเพื่อใช้ดำเนินกิจการ. เมื่อกลับมา ชายคนนี้ ซึ่งเป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์ ได้เรียก “บ่าวทั้งหลายที่ท่านได้ให้เงินไว้นั้นมา เพื่อตรวจสอบให้รู้แน่ว่าพวกเขาได้กำไรกี่มากน้อย.” (ลูกา 19:15) การนี้ได้เป็นไปอย่างไรหลังจากที่พระเยซูได้รับขัตติยอำนาจ?
4 ในปี 1918 พระเยซูคริสต์กษัตริย์องค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้พบคริสเตียนกลุ่มเล็กที่เพิ่งออกมาจากคริสต์ศาสนจักรไม่นานนักและกำลังหมกมุ่นเอาใจใส่ผลประโยชน์ทางแผ่นดินโลกของนาย. หลังจากถลุงพวกเขาดุจด้วยไฟแล้ว พระเยซูได้ทรงประทานอำนาจมากขึ้นแก่บ่าวของพระองค์ในปี 1919. (มาลาคี 3:1-4; ลูกา 19:16-19) พระองค์ทรงตั้งเขาไว้ให้ ‘ดูแลบรรดาสิ่งของของพระองค์.”—ลูกา 12:42-44.
“แจกจ่ายอาหารตามเวลาที่สมควร”
5, 6. (ก) หน้าที่มอบหมายอะไรที่ขยายใหญ่ขึ้นที่คนต้นเรือนของพระคริสต์ได้รับ? (ข) คำพยากรณ์อะไรที่ควรจะได้สำเร็จสมจริงภายหลังปี 1914 และชนจำพวกคนต้นเรือนมีส่วนอย่างจริงจังอย่างไรในความสำเร็จนั้น?
5 องค์มหากษัตริย์เยซูคริสต์ผู้ครองราชย์อยู่ได้ทรงมอบหมายการงานที่ขยายใหญ่ขึ้นแก่คนต้นเรือนหรือพ่อบ้านของพระองค์บนโลก. เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมรับหน้าที่เป็น “ราชทูต” ของพระเจ้า เป็นตัวแทนของมหากษัตริย์ที่ได้รับราชอำนาจให้ครอบครองประชาชนพลโลกทั้งสิ้น. (2 โกรินโธ 5:20; ดานิเอล 7:14) ความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเขาไม่ใช่เพียง “การแจกจ่ายอาหารตามเวลาที่สมควร” แก่หมู่ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระคริสต์เท่านั้น. (ลูกา 12:42) บัดนี้พวกเขาจะมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการดำเนินงานเพื่อคำพยากรณ์จะสำเร็จตามกำหนดภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรในปี 1914.
6 นี้หมายถึงอะไรในภาคปฏิบัติจริง? หมายถึงการแผ่ขยายงานประกาศ ‘ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่.’ (มัดธาย 24:14) ยิ่งกว่านั้น ยังหมายถึงการแถลงข่าวสารอันทรงพลังเรื่องการพิพากษาต่อระบบชั่วของซาตานและบรรดาผู้สนับสนุน. การนี้เกิดผลเป็น ‘การเขย่านานาชาติ.’ ด้วยเหตุนี้ “สิ่งน่าปรารถนา” คือ “แกะอื่น” ของพระคริสต์ได้เริ่มทะยอยกันเข้ามา. (ฮาฆี 2:7, ล.ม.; โยฮัน 10:16) ตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา “ชนหมู่ใหญ่” ได้เริ่มรวมกันเข้ามาสู่องค์การของพระยะโฮวาซึ่งมีอยู่ทั่วโลก. (วิวรณ์ 7:9, 10) ทั้งนี้จึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงองค์การเป็นขั้นตอน. กล่าวโดยนัย นั่นคือจะมีการเปลี่ยนเหล็กแทนหิน ทองแดงแทนไม้ เงินแทนเหล็ก และทองคำแทนทองแดง. (ยะซายา 60:17) สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1919 ภายใต้การทรงนำอย่างเอาการเอางานและใกล้ชิดของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงมอบผลประโยชน์ทั้งหมดแห่งราชอาณาจักรบนโลกนี้ หรือบรรดาสิ่งของของพระองค์ให้แก่ชนจำพวกบ่าวสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองของบ่าวนั้น.
7. หน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของคนต้นเรือนเกี่ยวข้องกับอะไร?
7 เราเข้าใจได้โดยง่ายว่า การมอบภาระรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นนี้แก่บ่าว คนต้นเรือน หรือพ่อบ้านของนายนั้นเกี่ยวข้องกับการเขียนและเรียบเรียงบทความอย่างเอาจริงเอาจัง. อาหารฝ่ายวิญญาณที่ถูกแจกจ่ายนี้จำต้องมีการพิมพ์ออกให้เหมาะกับเวลาและสม่ำเสมอในวารสาร หอสังเกตการณ์. ในปี 1919 เดอะ โกลเดน เอจ (วารสารที่ออกมาคู่กันซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคอนโซเลชัน และท้ายสุดชื่อตื่นเถิด) เริ่มมีการพิมพ์ออกเพื่อกระตุ้นความสนใจของสาธารณชน นอกเหนือจากการเสริมสร้าง “หมู่ผู้รับใช้” แล้ว. (มัดธาย 24:45) หนังสือปกแข็ง หนังสือเล็มเล็ก และใบบันทึกจำนวนมากมายก็ได้มีการผลิตออกมาด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา.
การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
8. ในตอนแรก ถือกันว่าสมาชิกคณะกรรมการปกครองตรงกันกับอะไร และวารสารเดอะ วอชเทาเวอร์ กล่าวไว้อย่างไรในปี 1944?
8 เมื่อมองย้อนหลังใน “สมัยอวสาน” นี้ เราไม่รู้สึกแปลกที่ในตอนแรก ๆ เป็นที่เข้าใจกันว่าสมาชิกคณะกรรมการปกครองเป็นพวกเดียวกันกับคณะบรรณาธิการของวอชเทาเวอร์. (ดานิเอล 12:4) บทความเรื่อง “แนวทางแห่งการปกครองของพระเจ้าในทุกวันนี้” ที่ลงในเดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1944 กล่าวว่า “อย่างมีเหตุผล บุคคลเหล่านั้นที่ได้รับมอบหมายในการจัดพิมพ์ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลที่มีการเปิดเผยออกมาถูกมองดูในฐานะคณะกรรมการปกครองที่ได้รับการเลือกโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทำการชี้นำบรรดาผู้ที่ปรารถนาจะนมัสการพระเจ้าด้วยวิญญาณและความจริงและรับใช้อย่างมีเอกภาพในการแพร่ความจริงที่ถูกเปิดเผยแล้วไปยังคนที่หิวกระหายอยู่.”
9. ต่อมา เข้าใจกันว่าคณะกรรมการปกครองเป็นอันเดียวกันกับอะไร และเพราะเหตุใด?
9 มีข้อเรียกร้องทางกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการจัดพิมพ์วารสารและคู่มืออื่น ๆ ในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ฉะนั้น สมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็คท์ จึงถูกตั้งขึ้นและจดทะเบียนในรัฐเพ็นซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา. เป็นเวลาหลายปี ถือกันว่าคณะกรรมการปกครองที่ประจักษ์แก่ตาเป็นอันเดียวกันกับคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเจ็ดคนของนิติบุคคลนี้ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อจัดพิมพ์คู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จำเป็นและที่พลไพร่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าใช้อยู่ทั่วโลก.
10, 11. มีการปรับปรุงอะไรในปี 1944 และมีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรในวารสารเดอะ วอชเทาเวอร์ ?
10 กรรมการบริหารทั้งเจ็ดของสมาคมล้วนเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์. แต่การที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลนี้อาจชวนให้คิดว่าพวกเขามีตำแหน่งในคณะกรรมการปกครองเนื่องจากถูกเลือกโดยสมาชิกตามกฎหมายของสมาคมวอชเทาเวอร์. นอกจากนั้น ตามกฎหมายแล้วสมาชิกภาพและสิทธิพิเศษในการออกเสียงก็มีการมอบเฉพาะแก่บางคนที่บริจาคทรัพย์ให้สมาคมเท่านั้น. จึงจำต้องมีการเปลี่ยนแนววิธีการดำเนินการนี้. ได้มีการจัดการเรื่องนี้ ณ การประชุมประจำปีของสมาคมวอชเทาเวอร์แห่งเพ็นซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1944. กฎข้อบังคับของสมาคมได้ถูกแก้ไขเพื่อว่าสมาชิกภาพจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องการเงินอีกต่อไป. บรรดาสมาชิกจะถูกเลือกจากพวกผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา และคนเหล่านี้รวมทั้งพวกที่รับใช้เต็มเวลาที่สำนักงานใหญ่ที่บรุคลิน นิวยอร์ก และในสำนักงานสาขาของสมาคมที่อยู่ทั่วโลกด้วย.
11 เมื่อรายงานถึงการปรับปรุงครั้งนี้ เดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1944 กล่าวว่า “เงินบริจาคไม่ควรมีผลต่อการตัดสิน ที่แท้ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบรรจุบุคคลในคณะกรรมการปกครองแห่งคณะพยานพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลก. . . . พระวิญญาณบริสุทธิ์ พลังปฏิบัติการที่มาจากพระยะโฮวาเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์คือสิ่งที่ควรจะชี้นำและตัดสินเรื่องนี้.”
ต่างจากคณะกรรมการบริหาร
12. มีอะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงอวยพระพรการปรับปรุงภายใต้การนำของคณะกรรมการปกครอง?
12 ความรุดหน้าของการงานประกาศสั่งสอนในช่วงหลายทศวรรษต่อมาพิสูจน์ว่า พระยะโฮวาทรงอวยพระพรการแก้ไขปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมการปกครองดังที่กล่าวมาแล้ว. (สุภาษิต 10:22) จำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจำนวนไม่ถึง 130,000 คนในปี 1944 เป็น 1,483,430 ในปี 1970! แต่ยังจะมีการปรับปรุงอีก.
13. (ก) สภาพการณ์เป็นอย่างไรเกี่ยวกับคณะกรรมการปกครองจนถึงปี 1971? (ข) เกิดอะไรขึ้น ณ การประชุมประจำปี 1971 ของสมาคม?
13 จนกระทั่งปี 1971 คณะกรรมการปกครองยังคงเป็นพวกเดียวกันกับสมาชิกทั้งเจ็ดคนแห่งคณะกรรมการบริหารของสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็คท์ แห่งเพ็นซิลเวเนีย. นายกสมาคมรับภาระสำคัญในการทำการตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของสาขาของสมาคมซึ่งอยู่ทั่วโลก. แต่ ณ การประชุมประจำปีที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1971 นั้นมีการกล่าวคำบรรยายสำคัญที่เปิดยุคใหม่. นายกสมาคมได้พูดในหัวเรื่อง “การนำบริสุทธิ์สถานสู่สถานภาพอันถูกต้อง” และรองนายกฯพูดเรื่อง “คณะกรรมการปกครองซึ่งต่างจากคณะนิติบุคคล.” มีความแตกต่างอะไรระหว่างคณะกรรมการปกครองกับคณะนิติบุคคล?
14. มีความแตกต่างอย่างไรระหว่างคณะนิติบุคคลกับคณะกรรมการปกครอง?
14 ดังที่กล่าวแล้ว สมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็คท์แห่งเพ็นซิลเวเนียมีคณะกรรมการบริหารซึ่งจำกัดจำนวนสมาชิกไว้เจ็ดคน. คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วเหล่านี้ถูกเลือกให้อยู่ในตำแหน่งสามปีโดยสมาชิกของนิติบุคคลซึ่งมีไม่เกิน 500 คน. คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คริสเตียนผู้ถูกเจิม. ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากนิติบุคคลนี้ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในทางกฎหมายเท่านั้น พร้อมทั้งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เฉพาะที่ จึงอาจถูกยุบได้โดยซีซาร์ หรือรัฐ. (มาระโก 12:17) แต่ทว่า คณะกรรมการปกครองไม่ใช่เครื่องมือตามกฎหมาย. สมาชิกคณะกรรมการปกครองไม่ได้ถูกเลือกขึ้นมา. พวกเขาถูกแต่งตั้งโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ภายใต้การทรงนำของพระยะโฮวาเจ้าและพระเยซูคริสต์. (เทียบดูกิจการ 20:28.) นอกจากนี้ คนเหล่านั้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการปกครองเป็นผู้ถูกแต่งตั้งโดยพระวิญญาณโดยปราศจากข้อผูกมัดในเรื่องสถานที่ตั้งที่แน่นอนหรือสำนักงานใหญ่.
15. มีคำกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับองค์การในวารสารเดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1971 และอาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับคณะกรรมการปกครองสมัยปัจจุบัน?
15 เพื่อให้เข้าใจการปรับปรุงนั้น เดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1971 กล่าวว่า “คริสเตียนพยานพระยะโฮวาได้ทราบและยืนยันด้วยความขอบคุณว่าองค์การนี้ไม่ใช่องค์การศาสนาที่นำโดยบุคคลเดียวแต่โดยมีคณะกรรมการปกครองแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ.” คณะกรรมการปกครองแห่งชนจำพวกบ่าวผู้ถูกเจิมและแห่งบรรดาเพื่อนร่วมงานนับเป็นล้าน ๆ ในจำพวกแกะอีกฝูงหนึ่งได้ถูกจัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามลำดับเพื่อเอาใจใส่หน้าที่ในการดูแล.
16. บรรดาสิ่งของของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกเพิ่มขึ้นอย่างไรตั้งแต่ปี 1971 และมีอะไรบ้างในสิ่งเหล่านี้ที่พระองค์ทรงมอบให้อยู่ในความดูแลของบ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ ซึ่งมีคณะกรรมการปกครองเป็นตัวแทน?
16 บรรดาสิ่งของบนแผ่นดินโลกของมหากษัตริย์เยซูคริสต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. ตั้งแต่ปี 1971 จำนวนพยานฯเพิ่มอย่างรวดเร็วจากไม่ถึง 1,600,000 คนเป็นกว่า 3,700,000 คนในปี 1989. ช่างแสดงถึงการอวยพระพรจากพระยะโฮวาเสียจริง ๆ! (ยะซายา 60:22) การเติบโตนี้เรียกร้องให้มีการขยายเพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่าง ๆ พร้อมด้วยการปรับปรุงวิธีการผลิตและจำหน่ายให้ทันสมัยขึ้น. ยังผลให้มีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักร และหอประชุมใหญ่ขึ้นหลายแห่งทั่วโลก. ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการปกครองยังคงทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่เสมอในการดูแลงานประกาศสั่งสอน การผลิตคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และการแต่งตั้งผู้ดูแลในสาขา ภาค หมวด และประชาคมต่าง ๆ. เหล่านี้คือผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรที่พระคริสต์ได้ทรงมอบให้อยู่ในความดูแลของบ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ ซึ่งมีคณะกรรมการปกครองเป็นตัวแทน.
17. มีการปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมในด้านการดูแล ในปี 1971, 1974 และ 1976?
17 ในศตวรรษแรก มีการขยายจำนวนคณะกรรมการปกครองขึ้นรวมเอาผู้ที่ไม่ใช่อัครสาวกของพระเยซูด้วย. ในคราวการตัดสินประเด็นการรับสุหนัตนั้น เห็นชัดว่า คณะผู้ตัดสินได้ประกอบด้วย “อัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลม.” (กิจการ 15:1, 2) เช่นกัน มีการเพิ่มจำนวนในคณะกรรมการปกครองในปี 1971 และอีกครั้งในปี 1974. เพื่อความสะดวกต่อการงานของพวกเขาในการควบคุมดูแล คณะกรรมการปกครองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นห้าคณะซึ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 1 มกราคม 1976. แต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกสามถึงหกคน แต่ละคนมีสิทธิออกเสียงเท่ากันในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ. ประธานกรรมการแต่ละคณะจะทำหน้าที่เป็นเวลาหนึ่งปี และสมาชิกคณะกรรมการปกครองแต่ละคนปฏิบัติงานในคณะกรรมการเหล่านี้ตั้งแต่หนึ่งคณะขึ้นไป. คณะกรรมการทั้งห้า แต่ละคณะดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะด้านหนึ่งของบรรดาสิ่งของของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก. คณะกรรมการคณะที่หก—คือคณะกรรมการของประธาน ซึ่งสมาชิกภาพของพวกเขาจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันทุกปี—จะดูแลปัญหาที่เร่งด่วน.
การร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองด้วยความกระตือรือร้น
18. คณะกรรมการปกครองปฏิบัติงานอย่างไร และวิธีหนึ่งที่เราจะแสดงถึงความร่วมมือของเรากับคณะกรรมการปกครองคืออย่างไร?
18 คณะกรรมการต่าง ๆ แห่งคณะกรรมการปกครองจัดให้มีการประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ ทำการตัดสินหลังจากการพิจารณาพร้อมด้วยคำอธิษฐานแล้ว และวางโครงการสำหรับการงานตามระบบการของพระเจ้าในอนาคต. ดังคำอธิบายในวรรคก่อน พระธรรมกิจการบท 15 แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญ ๆ ที่ต้องแก้ไขถูกนำเข้าสู่คณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกเพื่อพิจารณา. ทำนองเดียวกับในทุกวันนี้ ปัญหาสำคัญ ๆ จะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการปกครองครบชุดซึ่งประชุมกันสัปดาห์ละครั้ง หรือมากกว่านั้นหากจำเป็น. สมาชิกคณะกรรมการปกครองซึ่งปัจจุบันมี 12 คนแสวงหาการทรงนำของพระเจ้าโดยทางพระคัมภีร์และการอธิษฐาน. ทางหนึ่งที่เราจะแสดงถึงการร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองคือโดยการคำนึงถึงบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้โดยเฉพาะในคำอธิษฐานของเราทุกวัน.—โรม 12:12.
19. คำแนะนำต่าง ๆ ของคณะกรรมการปกครองไปถึงประชาคมต่าง ๆ อย่างไร?
19 คำแนะนำและการตัดสินต่าง ๆ ของคณะกรรมการปกครองไปถึงประชาคมทั้งหลายอย่างไร? หลังจากบรรดาสมาชิกคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกได้ทำการตัดสินด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้าแล้ว พวกเขาได้ส่งจดหมายไปถึงประชาคมต่าง ๆ. (กิจการ 15:22-29) อย่างไรก็ตาม วิธีหลักในทุกวันนี้คือโดยทางสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของคริสเตียน.
20. (ก) มีการปรับปรุงอะไรอีกในระบบองค์การเมื่อปี 1976? (ข) คณะกรรมการสาขาร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองอย่างไร?
20 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1976 แต่ละสาขาของสมาคมวอชเทาเวอร์ได้มีคณะกรรมการสาขาซึ่งประกอบด้วยบุคคลผู้มีคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการปกครอง. ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการปกครองสำหรับหนึ่งประเทศหรือมากกว่า ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของสาขานั้น พี่น้องเหล่านี้ต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ภักดี. นี้ทำให้เรานึกถึงบุคคลที่มีคุณวุฒิ เกรงกลัวพระเจ้า และไว้วางใจได้ผู้ซึ่งได้ช่วยโมเซในการตัดสินความพลไพร่ยิศราเอลโบราณ. (เอ็กโซโด 18:17-26) สมาชิกคณะกรรมการสาขานำเอาคำแนะนำที่ได้รับโดยทางสรรพหนังสือของสมาคม วารสาร และพระราชกิจของเรา รวมทั้งจดหมายที่แนะนำเรื่องทั่ว ๆ ไป และจดหมายพิเศษเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาของท้องถิ่นไปใช้ดำเนินการ. คณะกรรมการสาขาช่วยให้คณะกรรมการปกครองก้าวทันกับความรุดหน้าของงานในแต่ละประเทศและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น. รายงานเหล่านั้นจากทั่วโลกจะช่วยให้คณะกรรมการปกครองตัดสินว่า ประเด็นอะไรที่ควรมีการพิจารณาในสิ่งพิมพ์ของสมาคม.
21. ผู้ดูแลเดินทางได้รับการแต่งตั้งขึ้นอย่างไร และหน้าที่การงานของพวกเขารวมถึงอะไรบ้าง?
21 ภายใต้การนำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ คณะกรรมการสาขาเสนอแนะบุคคลฝ่ายวิญญาณที่อาวุโสเพื่อรับใช้ในฐานะผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาค. หลังจากได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการปกครอง พวกเขาก็รับใช้ในฐานะผู้ดูแลเดินทาง. พี่น้องเหล่านี้เยี่ยมตามหมวดและประชาคมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทางฝ่ายวิญญาณ และช่วยพวกพี่น้องให้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับจากคณะกรรมการปกครอง. (เทียบดูกิจการ 16:4; โรม 1:11, 12.) ผู้ดูแลเดินทางจะส่งรายงานไปยังสำนักงานสาขา. ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลบันดาล พวกเขาร่วมกับผู้ปกครองในท้องถิ่นในการเสนอแนะพี่น้องฝ่ายชายที่มีคุณวุฒิเพื่อรับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการปกครองหรือตัวแทนให้เป็นผู้รับใช้ และผู้ปกครอง.—ฟิลิปปอย 1:1; ติโต 1:5; เทียบกับ 1 ติโมเธียว 3:1-13; 4:14.
22. (ก) ผู้ปกครองในประชาคมร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองอย่างไร? (ข) อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงอวยพระพรการจัดเตรียมนี้ซึ่งเป็นไปตามระบอบการปกครองของพระองค์?
22 ส่วนคณะผู้ปกครองเองก็ ‘เอาใจใส่ต่อตนเองและฝูงแกะทั้งสิ้นที่พระวิญญาณบริสุทธิ์แต่งตั้งพวกเขาให้ดูแล.’ (กิจการ 20:28, ล.ม.) ผู้ดูแลเหล่านี้พยายามอย่างซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับจากพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ที่ผ่านมาทางบ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบและคณะกรรมการปกครอง. พระยะโฮวาทรงอวยพระพรการจัดเตรียมนี้ซึ่งเป็นไปตามระบอบการปกครองของพระองค์ เพราะ ‘ประชาคมต่าง ๆ ตั้งมั่นคงในความเชื่อและทวีจำนวนขึ้นทุกวัน.’—กิจการ 16:5.
23. เกี่ยวกับคณะกรรมการปกครอง เราควรตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
23 ช่างดีสักเพียงไรที่พระยะโฮวาเจ้าและพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายทรงให้การสนับสนุนแก่พลไพร่ของพระองค์โดยทางคณะกรรมการปกครอง! (บทเพลงสรรเสริญ 94:14) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์การของพระยะโฮวา เราแต่ละคนได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 145:14) สิ่งนี้ควรเสริมความตั้งใจของเราที่จะร่วมมือกับการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระเจ้า. ที่จริง ขณะที่เราเคลื่อนใกล้เวลาที่ “แผ่นดินโลกจะเต็มด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร” นั้น ขอให้เราถูกพบว่ากำลังร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองแห่งคณะพยานพระยะโฮวาอยู่เสมอ.—ยะซายา 11:9.
จุดสำคัญที่ควรจำ
▫ หน้าที่รับผิดชอบอะไรที่เพิ่มขึ้นซึ่งชนจำพวกคนต้นเรือนได้รับในปี 1919?
▫ เป็นเวลาหลายปีเข้าใจกันว่าคณะกรรมการปกครองที่ประจักษ์ด้วยตาเป็นอันเดียวกันกับอะไร?
▫ มีการปรับปรุงอะไรเป็นขั้น ๆ ในการแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการปกครอง?
▫ บรรดาสิ่งของบนแผ่นดินโลกของพระคริสต์อะไรบ้างที่พระองค์ทรงมอบไว้แก่ชนจำพวกบ่าวและคณะกรรมการปกครองของเขา?
▫ เราจะร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
จากสำนักงานใหญ่ ณ บรุคลิน นิวยอร์ก คณะกรรมการปกครองดูแลงานการพิมพ์เผยแพร่และงานประกาศของพวกพยานพระยะโฮวาใน 93 สาขาของสมาคมวอชเทาเวอร์
เยอรมนี
ญี่ปุ่น
แอฟริกาใต้
บราซิล