พระธรรมเล่มที่ 42—ลูกา
ผู้เขียน: ลูกา
สถานที่เขียน: ซีซาเรีย (กายซาไรอา)
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 56-58
ครอบคลุมระยะเวลา: ปี 3 ก.ส.ศ.-ส.ศ. 33
1. ลูกาเขียนกิตติคุณแบบใด?
กิตติคุณของลูกาเขียนโดยผู้มีปัญญาเฉียบแหลมและมีหัวใจกรุณา และคุณลักษณะเหล่านี้ซึ่งประสานกันเป็นอย่างดี พร้อมกับการชี้นำของพระวิญญาณของพระเจ้า ยังผลให้มีบันทึกที่ถูกต้องแม่นยำและเต็มไปด้วยความอบอุ่นและความรู้สึก. ในข้อต้น ๆ นั้น ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าก็ตั้งใจแน่วแน่เช่นกัน เพราะข้าพเจ้าได้สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นด้วยความถูกต้องแม่นยำ เพื่อจะเขียนเรื่องเหล่านั้นถึงท่านตามลำดับเหตุการณ์.” การเสนอเรื่องของท่านในแบบที่ละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่งนั้นยืนยันคำกล่าวอ้างนี้.—ลูกา 1:3, ล.ม.
2, 3. มีหลักฐานอะไรทั้งจากภายนอกและภายในที่ชี้ว่านายแพทย์ลูกาเป็นผู้เขียนกิตติคุณเล่มนี้?
2 แม้ในบันทึกนี้ไม่มีการเอ่ยชื่อลูกาสักแห่ง แต่พวกผู้เชี่ยวชาญในสมัยโบราณต่างเห็นพ้องกันว่าท่านเป็นผู้เขียน. ในชิ้นส่วนของมูราโทรี (ประมาณปี ส.ศ. 170) กล่าวกันว่าลูกาเป็นผู้เขียนกิตติคุณเล่มนี้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยพวกนักเขียนในศตวรรษที่สอง เช่น อิเรแนอุสและเคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย. นอกจากนี้ หลักฐานภายในก็ระบุอย่างหนักแน่นว่าลูกาเป็นผู้เขียน. เปาโลกล่าวถึงท่านที่โกโลซาย 4:14 ว่า “ลูกาผู้เป็นแพทย์ที่รัก” และผลงานของท่านก็อยู่ในระดับของผู้คงแก่เรียนซึ่งคนเราย่อมคาดหมายจากผู้ที่มีการศึกษาดี เช่น แพทย์. ภาษาที่ท่านเลือกใช้เป็นอย่างดีและคำศัพท์ที่หลายหลากของท่านซึ่งมากกว่าของผู้เขียนกิตติคุณอีกสามคนรวมกันนั้นทำให้เรื่องที่สำคัญยิ่งของท่านมีการเขียนไว้ได้อย่างถี่ถ้วนที่สุดและครอบคลุมเนื้อหาอย่างทั่วถึง. บางคนถือว่าบันทึกของท่านเกี่ยวกับบุตรสุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเท่าที่มีการเขียนกันมา.
3 ลูกาใช้ศัพท์แพทย์มากกว่า 300 คำซึ่งท่านใช้อธิบายความหมายทางการแพทย์ที่ผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคนอื่น ๆ ไม่ได้ใช้ในวิธีเดียวกัน (หากจะมีการใช้).a ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงโรคเรื้อน ลูกาไม่ได้ใช้คำเดียวกับที่คนอื่นใช้เสมอไป. สำหรับคนอื่น โรคเรื้อนก็คือโรคเรื้อน แต่สำหรับแพทย์ โรคเรื้อนนั้นมีขั้นต่าง ๆ กัน ดังในคราวที่ลูกากล่าวถึง “คนเป็นโรคเรื้อนเต็มทั้งตัว.” ท่านกล่าวว่าลาซะโร “เป็นแผลทั้งตัว.” ไม่มีผู้เขียนกิตติคุณคนอื่นใดบอกว่าแม่ยายของเปโตรเป็น “ไข้หนัก.” (5:12; 16:20; 4:38) แม้ว่าอีกสามคนบอกเราว่าเปโตรฟันหูทาสของมหาปุโรหิตขาด แต่มีเพียงลูกาผู้เดียวที่กล่าวว่าพระเยซูทรงรักษาชายผู้นั้น. (22:51) การพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งว่าเธอมี “ผีเข้าสิงเป็นโรคสิบแปดปีมาแล้ว, หลังโกง. ยืดตัวขึ้นไม่ได้เลย” นั้นเหมือนเป็นแพทย์พูด. และใครล่ะนอกจาก “ลูกาผู้เป็นแพทย์ที่รัก” จะบันทึกละเอียดอย่างนั้นในเรื่องการปฐมพยาบาลที่ชาวซะมาเรียทำให้ชายคนหนึ่งโดย “เอาผ้าพันบาดแผลให้, เอาน้ำมันกับน้ำองุ่นเทใส่บาดแผลนั้น”?—13:11; 10:34.
4. พระธรรมลูกาคงเขียนขึ้นเมื่อไร และสภาพการณ์อะไรสนับสนุนความเห็นนี้?
4 ลูกาเขียนกิตติคุณของท่านเมื่อไร? กิจการ 1:1 (ล.ม.) บ่งว่าผู้เขียนพระธรรมกิจการ (ซึ่งก็คือลูกาเช่นกัน) ได้เรียบเรียง “เรื่องแรก” ไว้ก่อนแล้ว นั่นคือกิตติคุณ. คงเป็นไปได้มากที่สุดว่าพระธรรมกิจการเขียนเสร็จประมาณปี ส.ศ. 61 ขณะที่ลูกาอยู่ในกรุงโรมกับเปาโลซึ่งกำลังรออุทธรณ์ต่อซีซาร์. ดังนั้น ลูกาจึงอาจเขียนกิตติคุณเล่มนี้ในซีซาเรีย (กายซาไรอา) ประมาณปี ส.ศ. 56-58 หลังจากท่านกลับมาจากฟิลิปปอยพร้อมกับเปาโลในตอนสิ้นสุดการเดินทางเผยแพร่ในต่างแดนครั้งที่สามของเปาโล และขณะที่เปาโลถูกกักขังรออยู่ในซีซาเรียสองปีก่อนถูกนำตัวไปกรุงโรมเพื่ออุทธรณ์. เนื่องจากลูกาอยู่ที่ปาเลสไตน์ ในช่วงเวลานี้ท่านอยู่ในที่ที่เหมาะสำหรับการ “สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นด้วยความถูกต้องแม่นยำ” เกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู. ดังนั้น บันทึกของลูกาจึงดูเหมือนว่ามีอยู่ก่อนกิตติคุณของมาระโก.
5. ลูกาอาจ ‘สืบเสาะด้วยความถูกต้องแม่นยำ’ จากแหล่งใดบ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซู?
5 แน่นอนว่าลูกาไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในทุกเหตุการณ์ที่ท่านบันทึกในกิตติคุณของท่าน เนื่องจากท่านไม่ได้เป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน และอาจไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือด้วยซ้ำจนภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู. อย่างไรก็ดี ท่านคบหากับเปาโลอย่างใกล้ชิดมากในงานมิชชันนารี. (2 ติโม. 4:11; ฟิเล. 24) ดังนั้น ตามที่อาจคาดหมายได้ หนังสือของท่านแสดงหลักฐานถึงอิทธิพลของเปาโล ดังที่เห็นได้โดยการเปรียบเทียบบันทึกสองแห่งของท่านทั้งสองเกี่ยวกับอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือที่ลูกา 22:19, 20 กับ 1 โกรินโธ 11:23-25. ลูกาอาจค้นดูกิตติคุณของมัดธายเพื่อใช้เป็นแหล่งเรื่องราวอีกแหล่งหนึ่งก็ได้. ในการ ‘สืบเสาะทุกเรื่องด้วยความถูกต้องแม่นยำ’ ท่านคงสามารถสัมภาษณ์ประจักษ์พยานหลายคนในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซูได้ด้วยตนเอง เช่น สาวกที่ยังมีชีวิตอยู่และอาจเป็นนางมาเรีย มารดาของพระเยซู. เราแน่ใจได้ว่าท่านได้พยายามทุกวิถีทางในการรวบรวมรายละเอียดที่เชื่อถือได้.
6. กิตติคุณของลูกามีเนื้อเรื่องมากน้อยแค่ไหนที่มีลักษณะเฉพาะของท่านเอง และท่านเขียนเพื่อใคร? เหตุใดคุณตอบเช่นนั้น?
6 ในการตรวจสอบบันทึกกิตติคุณทั้งสี่นั้นปรากฏชัดว่าพวกผู้เขียนหาได้เพียงแต่เล่าซ้ำเรื่องของคนอื่น และไม่ได้เขียนเพียงเพื่อให้มีพยานหลาย ๆ คนสำหรับบันทึกสำคัญที่สุดนี้ในคัมภีร์ไบเบิล. บันทึกของลูกามีลักษณะเฉพาะตัวมากที่สุดในการดำเนินเรื่อง. โดยรวมแล้วมี 59 เปอร์เซ็นต์ในกิตติคุณของท่านที่มีลักษณะเฉพาะของท่าน. ท่านบันทึกการอัศจรรย์ที่เฉพาะเจาะจงอย่างน้อยหกอย่าง และอุทาหรณ์ซึ่งไม่มีกล่าวถึงในบันทึกกิตติคุณเล่มอื่น ๆ มากกว่าสองเท่าของจำนวนดังกล่าว ท่านใช้เนื้อที่หนึ่งในสามของกิตติคุณสำหรับคำบรรยายเรื่องราวและสองในสามสำหรับคำพูด; กิตติคุณของท่านจึงเป็นเล่มที่ยาวที่สุดในสี่เล่ม. มัดธายเขียนเพื่อชาวยิวเป็นอันดับแรก และมาระโกเขียนเพื่อผู้อ่านที่ไม่ใช่ยิว โดยเฉพาะชาวโรมัน. กิตติคุณของลูกานั้นเขียนถึง “ท่านเจ้าคุณเธโอฟีลุส” และถึงคนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิวโดยผ่านท่านผู้นี้. (ลูกา 1:3, 4, ล.ม.) เพื่อให้บันทึกของท่านมีแรงโน้มน้าวใจคนทั่วไป ท่านสืบเสาะลำดับวงศ์วานของพระเยซูย้อนไปถึง “อาดาม . . . บุตรพระเจ้า” และไม่เพียงแค่ถึงอับราฮามเท่านั้น เหมือนที่มัดธายทำในการเขียนเพื่อชาวยิวโดยเฉพาะ. ท่านกล่าวโดยเฉพาะถึงคำพูดเชิงพยากรณ์ของซิมโอนที่ว่า พระเยซูจะเป็นวิธีการการ “ขจัดสิ่งปิดคลุมจากชาติทั้งหลาย” และยังบอกว่า “เนื้อหนังทั้งสิ้นจะเห็นวิธีการช่วยให้รอดของพระเจ้า.”—3:38; 2:29-32; 3:6, ล.ม.
7. อะไรยืนยันอย่างหนักแน่นถึงความถูกต้องแม่นยำของกิตติคุณของลูกา?
7 ตลอดการเขียนของท่าน ปรากฏว่าลูกาเป็นผู้เล่าเรื่องที่โดดเด่นคนหนึ่ง บันทึกของท่านเรียบเรียงเป็นอย่างดีและถูกต้องแม่นยำ. ลักษณะความถูกต้องแม่นยำและความซื่อตรงในข้อความที่ลูกาเขียนเป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นถึงความเชื่อถือได้ของข้อความเหล่านั้น. นักเขียนด้านกฎหมายผู้หนึ่งเคยให้ข้อสังเกตว่า “ขณะที่นวนิยาย, ตำนานและพยานเท็จระวังในการวางเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เล่าไว้ในที่ที่ห่างไกลและเวลาที่ไม่แน่ชัด จึงละเมิดกฎข้อต้น ๆ ซึ่งพวกเราทนายความเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นทนายที่ดีที่ว่า ‘คำแถลงต้องบอกเวลาและสถานที่’ ส่วนเรื่องราวในพระคัมภีร์บอกให้เราทราบวันเวลาและสถานที่ของสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความละเอียดแม่นยำที่สุด.”b เพื่อพิสูจน์ เขาอ้างถึงลูกา 3:1, 2 ที่ว่า “เมื่อปีที่สิบห้าในรัชกาลทิเบริอุสซีซาร์ (ติเบเรียวกายะซา), ปนเตียวปีลาตเป็นเจ้าเมืองยูดาย, เฮโรดเป็นเจ้าเมืองแกลิลี, ฟีลิบน้องชายของเฮโรดเป็นเจ้าเมืองอิตูรายะกับเมืองตราโคนิต, ลุซาเนียเป็นเจ้าเมืองอะบีเลน, และอันนาศกับกายะฟาเป็นมหาปุโรหิต, คราวนั้นคำของพระเจ้ามาถึงโยฮันบุตรซะคาเรียในป่า.” ไม่มีความไม่แน่ชัดในที่นี้ในเรื่องเวลาหรือสถานที่ แต่ลูการะบุชื่อข้าราชการไม่น้อยกว่าเจ็ดชื่อเพื่อให้เราระบุเวลาการเริ่มต้นงานรับใช้ของโยฮันและของพระเยซูได้.
8. ลูการะบุเวลาประสูติของพระเยซู “ด้วยความถูกต้องแม่นยำ” อย่างไร?
8 นอกจากนั้น ลูกายังให้ข้อบ่งชี้สองอย่างสำหรับระบุเวลาประสูติของพระเยซูเมื่อท่านบอกที่ลูกา 2:1, 2 ว่า “อยู่มาคราวนั้นมีคำสั่งจากกายะซาออฆูซะโตให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน. นี่เป็นครั้งแรกที่ได้จดทะเบียนสำมะโนครัวเมื่อกุเรเนียวเป็นเจ้าเมืองซุเรีย.” นี่เป็นคราวที่โยเซฟและมาเรียขึ้นไปยังเบธเลเฮมเพื่อจดทะเบียน และพระเยซูประสูติขณะที่ทั้งสองอยู่ที่นั่น.c เราคงต้องเห็นด้วยกับผู้ให้อรรถาธิบายซึ่งบอกว่า “นี่เป็นการทดสอบที่ละเอียดถี่ถ้วนที่สุดอย่างหนึ่งในเรื่องความสามารถด้านประวัติศาสตร์ของลูกาซึ่งท่านจัดการให้บรรลุความถูกต้องแม่นยำโดยสมบูรณ์เสมอ.”d เราต้องยอมรับว่า ที่ลูกาอ้างว่าได้ “สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นด้วยความถูกต้องแม่นยำ” นั้นมีหลักฐานจริง.
9. คำพยากรณ์อะไรของพระเยซูซึ่งลูกาบันทึกไว้ได้สำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งในปี ส.ศ. 70?
9 ลูกายังชี้ให้เห็นด้วยว่าคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูสำเร็จเป็นจริงอย่างแม่นยำในพระเยซูคริสต์อย่างไร. ท่านยกคำพยานที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยการดลใจมากล่าว. (24:27, 44) นอกจากนั้น ท่านยังบันทึกคำพยากรณ์ของพระเยซูเองซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตลงไว้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ และคำพยากรณ์เหล่านี้มีหลายข้อสำเร็จเป็นจริงไปแล้วอย่างน่าทึ่งตามรายละเอียดทุกอย่างที่บอกไว้ล่วงหน้า. ตัวอย่างเช่น กรุงยะรูซาเลมถูกปิดล้อมด้วยแนวไม้ปลายแหลมและถูกทำลายด้วยการสังหารหมู่อันน่าสะพรึงกลัวในปี ส.ศ. 70 ตรงตามที่พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้. (ลูกา 19:43, 44; 21:20-24; มัด. 24:2) ฟลาวิอุส โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ของทางโลกซึ่งเป็นประจักษ์พยานอยู่กับกองทัพโรมันยืนยันว่า แถบชนบทนั้นต้นไม้ถูกโค่นเป็นระยะทางราวสิบหกกิโลเมตรเพื่อทำเสาปัก, กำแพงปิดล้อมยาวเจ็ดกิโลเมตรเศษ, ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากตายเนื่องจากความอดอยาก และชาวยิวมากกว่า 1,000,000 คนเสียชีวิตอีกทั้ง 97,000 คนถูกจับไปเป็นเชลย. ทุกวันนี้ ซุ้มประตูของทิทุสในกรุงโรมแสดงภาพขบวนแห่ฉลองชัยของชาวโรมันพร้อมกับของที่ยึดจากพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม.e เรามั่นใจได้ว่าคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งลูกาบันทึกไว้จะสำเร็จเป็นจริงอย่างแม่นยำเช่นกัน.
เนื้อเรื่องในลูกา
10. ลูกาตั้งใจจะทำอะไร?
10 คำนำของลูกา (1:1-4). ลูกาบันทึกว่าท่านได้สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นด้วยความถูกต้องแม่นยำและท่านตั้งใจจะเขียนทุกสิ่งตามลำดับเหตุการณ์เพื่อว่า “ท่านเจ้าคุณเธโอฟีลุส . . . จะได้รู้ถ้วนถี่ถึงความแน่นอน” ของเรื่องเหล่านี้.—1:3, 4, ล.ม.
11. บทแรกของพระธรรมลูกาเล่าเหตุการณ์อันน่าปีติยินดีอะไรบ้าง?
11 ชีวิตช่วงต้นของพระเยซู (1:5–2:52). ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏแก่ปุโรหิตซะคาเรียผู้ชราพร้อมด้วยข่าวน่ายินดีที่ว่า ท่านจะมีบุตรชายซึ่งท่านจะต้องตั้งชื่อว่าโยฮัน. แต่จนกว่าบุตรชายนั้นจะเกิดมา ซะคาเรียจะพูดไม่ได้. ตามที่ทรงสัญญาไว้นั้น นางเอลิซาเบทภรรยาของท่านมีครรภ์แม้ว่า “ชราแล้ว” เช่นกัน. จากนั้นอีกประมาณหกเดือน ทูตสวรรค์ฆับรีเอลปรากฏแก่มาเรียและบอกเธอว่า เธอจะตั้งครรภ์โดย “ฤทธิ์เดชของผู้สูงสุด” และให้กำเนิดบุตรชายซึ่งจะต้องตั้งชื่อว่าเยซู. มาเรียไปเยี่ยมเอลิซาเบท และหลังจากที่ทักทายกันด้วยความยินดีแล้วมาเรียจึงประกาศด้วยความปลาบปลื้มว่า “จิตต์ของข้าพเจ้าก็สรรเสริญพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.]. และวิญญาณของข้าพเจ้าก็เกิดความยินดีในพระเจ้าผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า.” เธอพูดถึงพระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาและพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ซึ่งพระองค์ทรงมีต่อผู้ที่เกรงกลัวพระองค์. ตอนโยฮันเกิด ลิ้นของซะคาเรียก็ถูกคลายออกเพื่อประกาศถึงพระเมตตาของพระเจ้าเช่นกัน และประกาศว่าโยฮันจะเป็นผู้พยากรณ์ซึ่งจะเตรียมพระมรรคาของพระยะโฮวาไว้ให้พร้อม.—1:7, 35, 46, 47.
12. มีกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับการประสูติและชีวิตวัยเยาว์ของพระเยซู?
12 ตามเวลากำหนด พระเยซูประสูติที่เบธเลเฮม และทูตสวรรค์องค์หนึ่งประกาศ “ข่าวดี . . . ซึ่งจะให้เป็นที่ชื่นชมยินดีเป็นอันมาก” แก่คนเลี้ยงแกะซึ่งเฝ้าฝูงแกะของตนในยามกลางคืน. มีการให้รับสุหนัตตามพระบัญญัติ และหลังจากนั้น เมื่อบิดามารดาของพระเยซู “เอาพระกุมารไป . . . ถวายแก่พระเจ้า” ที่พระวิหาร ซิมโอนผู้ชราและอันนาผู้พยากรณ์หญิงต่างพูดเกี่ยวกับพระกุมาร. เมื่อกลับไปยังนาซาเร็ธ พระกุมารก็ “เจริญวัยแข็งแรงขึ้นประกอบด้วยสติปัญญา, และพระคุณของพระเจ้าสถิตอยู่กับท่านด้วย.” (2:10, 22, 40) เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา ในคราวที่จากนาซาเร็ธไปยังกรุงยะรูซาเลม พระเยซูทรงทำให้พวกอาจารย์ประหลาดใจกับความเข้าใจและคำตอบของพระองค์.
13. โยฮันประกาศอะไร และเกิดอะไรขึ้นตอนที่พระเยซูรับบัพติสมาและทันทีหลังจากนั้น?
13 การเตรียมการสำหรับงานเผยแพร่ (3:1–4:13). ในปีที่ 15 แห่งรัชกาลของทิเบริอุสซีซาร์ คำแถลงของพระเจ้ามาถึงโยฮันบุตรซะคาเรีย และท่านจึงไป “ประกาศเรื่องบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับใจเพื่อการอภัยบาป” เพื่อว่ามนุษย์ทั้งปวงจะ “เห็นวิธีการช่วยให้รอดของพระเจ้า.” (3:3, 6, ล.ม.) เมื่อผู้คนทั้งปวงรับบัพติสมาที่แม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน) พระเยซูก็ทรงรับบัพติสมาด้วย และขณะที่พระองค์อธิษฐาน พระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมาบนพระองค์ และพระบิดาของพระองค์ทรงสำแดงความพอพระทัยจากสวรรค์. บัดนี้พระเยซูคริสต์ทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา. (ลูกาให้ลำดับวงศ์วานของพระองค์.) หลังจากรับบัพติสมา พระวิญญาณนำพระเยซูเข้าไปในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 วัน. ที่นี่ พญามารล่อใจพระองค์โดยไม่ประสบผลสำเร็จแล้วจึงจากไป “จนกว่าจะถึงเวลาอื่นที่เหมาะ.”—4:13, ล.ม.
14. ณ ที่ใดที่พระเยซูทรงบอกชัดเจนถึงเรื่องงานที่พระองค์ได้รับมอบหมาย งานนั้นคืออะไร และผู้ที่ฟังพระองค์ตอบรับอย่างไร?
14 งานสั่งสอนของพระเยซูในระยะแรก ส่วนใหญ่ในแกลิลี (ฆาลิลาย) (4:14–9:62). ในธรรมศาลาเมืองนาซาเร็ธบ้านเกิดของพระองค์ พระเยซูทรงบอกชัดเจนถึงเรื่องงานที่พระองค์ได้รับมอบหมายโดยทรงอ่านและใช้คำพยากรณ์ที่ยะซายา 61:1, 2 หมายถึงพระองค์เอง ซึ่งบอกว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตบนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ได้ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน พระองค์ส่งข้าพเจ้าให้ประกาศการปลดปล่อยพวกเชลยและบอกคนตาบอดว่า จะเห็นได้อีก ให้บอกคนที่ถูกบีบคั้นข่มเหงว่าจะได้พ้นทุกข์ ให้ประกาศปีที่พระยะโฮวาทรงโปรดปราน.” (4:18, 19, ล.ม.) ความพอใจในตอนแรกที่ประชาชนมีต่อคำตรัสของพระองค์กลับกลายเป็นความโกรธเมื่อพระองค์ทรงบรรยายต่อไป และพวกเขาพยายามฆ่าพระองค์. ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จไปยังเมืองกัปเรนาอูมที่ซึ่งพระองค์ทรงรักษาผู้คนมากมาย. ฝูงชนติดตามพระองค์และพยายามหน่วงเหนี่ยวพระองค์ไว้ แต่พระองค์ทรงบอกพวกเขาว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย เพราะเราถูกใช้มาเพื่อการนี้.” (4:43, ล.ม.) พระองค์เสด็จไปประกาศในธรรมศาลาต่าง ๆ ในยูเดีย.
15. จงพรรณนาถึงการเรียกเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮัน รวมทั้งมัดธายด้วย.
15 ในแกลิลี พระเยซูทรงทำให้ซีโมน (เรียกกันอีกด้วยว่าเปโตร), ยาโกโบ, และโยฮันจับปลาได้ด้วยการอัศจรรย์. พระองค์ทรงบอกซีโมนว่า “ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน.” ดังนั้น พวกเขาจึงละทุกสิ่งแล้วติดตามพระองค์. พระเยซูทรงอธิษฐานและสั่งสอนต่อไป และ “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ก็สถิตอยู่ในพระองค์เพื่อจะรักษาเขาให้หายโรค.” (5:10, 17) พระองค์ทรงเรียกเลวี (มัดธาย) คนเก็บภาษีที่ใคร ๆ ดูหมิ่น ผู้ซึ่งถวายเกียรติแด่พระองค์ด้วยการจัดงานเลี้ยงใหญ่ซึ่งมี “คนเก็บภาษี . . . มากมาย” มาร่วมด้วย. (5:29) ทั้งนี้ยังผลให้มีการปะทะกันเป็นครั้งแรกในอีกหลายครั้งกับพวกฟาริซาย ซึ่งทำให้พวกเขาโกรธแค้นและคบคิดวางแผนจะทำร้ายพระองค์.
16. (ก) พระเยซูทรงเลือกอัครสาวก 12 คนหลังจากทำอะไร? (ข) ลูกาเน้นจุดใดบ้างเมื่อบันทึกเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับคำเทศน์บนภูเขา?
16 หลังจากอธิษฐานถึงพระเจ้าตลอดคืน พระเยซูทรงเลือกอัครสาวก 12 คนจากเหล่าสาวกของพระองค์. หลังจากนั้นมีการรักษาโรคอีก. ครั้นแล้วพระองค์ตรัสคำเทศน์ที่มีบันทึกไว้ในลูกา 6:20-49 ซึ่งคล้ายกับคำเทศน์บนภูเขาในพระธรรมมัดธายบท 5 ถึง 7 แต่สั้นกว่า. พระเยซูทรงเปรียบสิ่งที่ตรงข้ามกันดังนี้: “ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายที่ยากจน เพราะราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของเจ้าทั้งหลาย. แต่วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายที่เป็นคนร่ำรวย เพราะเจ้าทั้งหลายได้รับสิ่งประโลมใจของเจ้าทั้งหลายอยู่แล้วอย่างเต็มขนาด.” (6:20, 24, ล.ม.) พระองค์ทรงเตือนสติผู้ที่ฟังพระองค์ให้รักศัตรูของตน, ให้เมตตา, ให้เป็นฝ่ายให้, และให้เอาของดีจากคลังดีแห่งหัวใจ.
17. (ก) ต่อจากนั้นพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อะไรบ้าง? (ข) พระเยซูทรงตอบผู้ส่งข่าวของโยฮันผู้ให้บัพติสมาอย่างไรในเรื่องที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮาหรือไม่?
17 เมื่อเสด็จกลับยังกัปเรนาอูม พระเยซูได้รับการขอร้องจากนายทหารคนหนึ่งให้รักษาทาสที่ป่วยอยู่. เขารู้สึกว่าไม่สมควรให้พระเยซูเข้ามาอยู่ใต้หลังคาตึกของตนและทูลขอให้พระเยซู “ตรัสสักคำเดียว” จากที่ที่พระองค์ทรงประทับอยู่. ดังนั้น ทาสผู้นั้นจึงได้รับการรักษาให้หาย และพระเยซูได้รับการกระตุ้นใจให้ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า, ถึงแม้ในพวกยิศราเอลเรามิได้พบความเชื่อมากเช่นนี้.” (7:7, 9) พระเยซูทรงปลุกคนตายให้ฟื้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวของหญิงม่ายแห่งเมืองนาอิน ซึ่งเป็นผู้ที่พระองค์ “รู้สึกสงสาร.” (7:13, ล.ม.) เมื่อข่าวเกี่ยวกับพระเยซูแพร่ไปทั่วยูเดีย โยฮันผู้ให้บัพติสมาซึ่งอยู่ในคุกจึงส่งคนไปหาพระองค์เพื่อทูลถามว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ?” พระเยซูทรงตอบผู้ส่งข่าวนั้นว่า “จงกลับไปแจ้งแก่โยฮันซึ่งท่านได้เห็นและได้ยิน คือว่าคนตาบอดก็เห็นได้, คนง่อยก็เดินได้, คนโรคเรื้อนก็หายสะอาด, คนหูหนวกก็ยินได้, คนตายแล้วก็เป็นขึ้นมา, และข่าวประเสริฐก็ประกาศแก่คนอนาถา. บุคคลผู้ใดไม่สะดุดกะดากเพราะเราก็เป็นสุข.”—7:19, 22, 23.
18. การประกาศข่าวราชอาณาจักรดำเนินต่อไปโดยอุทาหรณ์, การงาน, และคำแนะนำอะไรบ้าง?
18 โดยมีอัครสาวก 12 คนร่วมทางไปด้วย พระเยซูเสด็จ “ไปตามเมืองและตามหมู่บ้าน ทรงเทศนาและประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.” พระองค์ทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องผู้หว่าน และพระองค์ทรงทำให้การพิจารณานั้นสมบูรณ์โดยกล่าวว่า “เหตุฉะนั้น จงเอาใจใส่ว่า ท่านทั้งหลายฟังอย่างไร; ด้วยว่าผู้ใดก็ตามที่มี จะให้เขาเพิ่มอีก แต่ผู้ใดก็ตามที่ไม่มี แม้แต่สิ่งที่เขานึกว่าเขามีก็จะเอาไปจากเขา.” (8:1, 18, ล.ม.) พระเยซูทรงดำเนินงานอันยอดเยี่ยมและทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ ต่อไป. นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงให้อัครสาวก 12 คนมีอำนาจเหนือภูตผีปิศาจและมีอำนาจรักษาความเจ็บป่วยและส่งพวกเขาออกไป “ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าและรักษาโรค.” มีการเลี้ยงอาหารคนห้าพันคนด้วยการอัศจรรย์. พระเยซูทรงจำแลงพระกายบนภูเขาและในวันถัดมาก็ทรงรักษาเด็กชายที่ถูกผีสิงซึ่งพวกสาวกรักษาไม่ได้. พระองค์ทรงเตือนคนเหล่านั้นที่อยากติดตามพระองค์ว่า “จิ้งจอกมีโพรงและนกในท้องฟ้ามีที่เกาะ แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ.” เพื่อจะสมควรกับราชอาณาจักรของพระเจ้า คนเราต้องเอามือจับคันไถและไม่เหลียวมองข้างหลัง.—9:2, 58, ล.ม.
19. พระเยซูทรงให้ตัวอย่างความรักแท้ของเพื่อนบ้านอย่างไร?
19 งานเผยแพร่ช่วงต่อมาของพระเยซูในยูดาย (10:1–13:21). พระเยซูทรงส่งสาวกอีก 70 คนออกไปใน “การเก็บเกี่ยว” และพวกเขาเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีที่ประสบความสำเร็จในงานเผยแพร่. ขณะที่พระองค์กำลังประกาศ ชายผู้หนึ่งซึ่งต้องการสำแดงตัวว่าเป็นคนชอบธรรมมาถามพระเยซูว่า “ที่แท้แล้วใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” เมื่อทรงตอบ พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่องชาวซะมาเรียที่ใจดี. ชายคนหนึ่งซึ่งนอนเจ็บปางตายอยู่ริมถนนเนื่องจากถูกพวกโจรทำร้ายนั้นไม่ได้รับการเหลียวแลจากปุโรหิตที่เดินผ่านไปและจากชาวเลวี. แต่ชาวซะมาเรียซึ่งได้รับการดูถูกเป็นผู้ที่หยุด, ทำแผลของชายคนนั้นอย่างเบามือ, อุ้มเขาขึ้นบนหลังสัตว์ของตน, พาเขาไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง, และจ่ายค่าดูแลรักษาเขา. ใช่แล้ว คือ “คนที่ได้ปฏิบัติต่อเขาด้วยความเมตตา” ซึ่งสำแดงตัวเป็นเพื่อนบ้าน.—10:2, 29, 37, ล.ม.
20. (ก) พระเยซูทรงชี้ให้มาธากับมาเรียเห็นจุดสำคัญอะไร? (ข) พระองค์ทรงเน้นเรื่องการอธิษฐานอย่างไร?
20 ในบ้านมาธา พระเยซูทรงตำหนิเธออย่างนุ่มนวลที่กังวลกับงานบ้านมากเกินไป และพระองค์ทรงกล่าวชมเชยมาเรียที่เลือกส่วนที่ดีกว่า คือนั่งลงฟังถ้อยคำของพระองค์. สำหรับเหล่าสาวก พระองค์ทรงสอนคำอธิษฐานอันเป็นแบบฉบับและความจำเป็นต้องอธิษฐานไม่หยุดหย่อน โดยตรัสว่า “จงขอต่อ ๆ ไป และสิ่งนั้นจะประทานให้ท่าน; จงแสวงหาต่อ ๆ ไป และท่านจะพบ.” ต่อมา พระองค์ทรงขับผีออกและทรงประกาศว่า ความสุขย่อมมีแก่ “ผู้ที่ได้ยินพระคำของพระเจ้าและถือรักษาพระคำนั้น.” ขณะรับประทานอาหาร พระองค์ทรงโต้แย้งกับพวกฟาริซายในเรื่องพระบัญญัติ และทรงประกาศวิบัติแก่พวกเขาที่เอา “ลูกกุญแจแห่งความรู้” ไปเสีย.—11:9, 28, 52, ล.ม.
21. พระเยซูทรงให้คำเตือนอะไรเกี่ยวกับความโลภ และพระองค์ทรงกระตุ้นให้เหล่าสาวกของพระองค์ทำอะไร?
21 ขณะที่พระเยซูอยู่กับฝูงชนอีกครั้ง มีคนหนึ่งเร่งเร้าพระองค์ว่า “ขอสั่งพี่ชายของข้าพเจ้าให้แบ่งมฤดกให้กับข้าพเจ้า.” พระเยซูทรงเข้าถึงแก่นของปัญหาด้วยการตอบว่า “จงระวังและเว้นเสียจากการโลภทั่วไป เพราะว่าชีวิตของบุคคลใด ๆ มิได้อยู่ในของบริบูรณ์ซึ่งเขามีอยู่นั้น.” แล้วพระองค์ยกอุทาหรณ์เรื่องชายเศรษฐีซึ่งรื้อยุ้งฉางของตนเพื่อสร้างหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่เขาเสียชีวิตในคืนนั้นเองและทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้คนอื่น. พระเยซูทรงชี้จุดสำคัญอย่างรวบรัดว่า “คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัว และมิได้มั่งมีจำเพาะพระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นแหละ.” หลังจากทรงกระตุ้นเหล่าสาวกของพระองค์ให้แสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อน พระเยซูทรงบอกพวกเขาว่า “ฝูงเล็กเอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานราชอาณาจักรนั้นแก่ท่าน.” การที่พระองค์ทรงรักษาผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นเวลา 18 ปีในวันซะบาโตนั้นนำไปสู่การปะทะกันอีกกับพวกปรปักษ์ของพระองค์ ซึ่งถูกทำให้อับอาย.—12:13, 15, 21, 32, ล.ม.
22. ด้วยอุทาหรณ์ที่ตรงจุดอะไรบ้างที่พระเยซูทรงสั่งสอนเกี่ยวกับราชอาณาจักร?
22 งานเผยแพร่ของพระเยซูในช่วงต่อมา ส่วนใหญ่ในพีเรีย (13:22–19:27). พระเยซูทรงใช้อุทาหรณ์ที่จับความสนใจเพื่อชี้ให้ผู้ฟังพระองค์เห็นถึงราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระองค์ทรงเผยให้เห็นว่าคนที่แสวงหาความเด่นดังและเกียรติยศจะถูกลดฐานะ. ให้ผู้ที่จัดงานเลี้ยงเชิญคนจนซึ่งไม่สามารถตอบแทน เขาจะเป็นสุขและได้รับ “ตอบแทนในคราวการกลับเป็นขึ้นจากตายของเหล่าผู้ชอบธรรม.” ถัดจากนั้น มีอุทาหรณ์เรื่องชายคนที่จัดงานเลี้ยงใหญ่มื้อเย็น. ผู้ที่ได้รับเชิญคนแล้วคนเล่าพากันขอตัว: คนหนึ่งได้ซื้อที่นามา, อีกคนหนึ่งได้ซื้อโคมา, และอีกคนหนึ่งเพิ่งสมรส. ด้วยความโกรธ เจ้าของบ้านจึงส่งคนออกไปพา “คนจน, คนพิการ, คนตาบอด, และคนเขยก” เข้ามา และเขาประกาศว่าจะไม่มีใครในผู้ที่ได้รับเชิญเป็นพวกแรกได้ “ลิ้ม” อาหารของเขาเลย. (14:14, 21, 24) พระองค์ทรงเล่าอุทาหรณ์เกี่ยวกับการตามพบแกะที่หลงหายโดยตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า, เช่นนั้นแหละ, จะมีความยินดีในสวรรค์เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่, มากกว่าคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจเสียใหม่.” (15:7) อุทาหรณ์เรื่องหญิงซึ่งกวาดเรือนค้นหาเงินหนึ่งดรักมาก็แสดงจุดสำคัญที่คล้ายกัน.f
23. มีการแสดงให้เห็นอะไรในเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย?
23 จากนั้นพระเยซูทรงเล่าเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายที่ขอบิดาแบ่งทรัพย์สินส่วนของตนและผลาญทรัพย์นั้น “ด้วยการดำเนินชีวิตสำมะเลเทเมา.” เมื่อตกเข้าสู่ความอัตคัดขัดสน บุตรนั้นจึงสำนึกตัวและกลับบ้านขอความเมตตาจากบิดา. ฝ่ายบิดาซึ่งมีใจสงสารจึง “วิ่งมาซบที่คอเขาแล้วจูบเขาด้วยความอ่อนโยน.” มีการจัดเสื้อผ้าอย่างดีให้, งานเลี้ยงใหญ่ถูกจัดขึ้น, และ “เขาทั้งหลายต่างรื่นเริงกัน.” แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย. ผู้เป็นบิดาจึงปรับความคิดของเขาให้เข้าที่ด้วยความกรุณาโดยบอกว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าอยู่กับพ่อตลอดมา และทุกสิ่งที่เป็นของพ่อก็เป็นของเจ้า; แต่พวกเราต้องรื่นเริงและยินดี เพราะน้องของเจ้าคนนี้ตายแล้วและเป็นขึ้นมาอีก และเขาได้หลงหายไปและกลับมา.”—15:13, 20, 24, 31, 32, ล.ม.
24. ความจริงอะไรบ้างที่พระเยซูทรงเน้นในอุทาหรณ์เรื่องชายเศรษฐีกับลาซะโรและเรื่องฟาริซายกับคนเก็บภาษี?
24 เมื่อได้ฟังอุทาหรณ์เรื่องคนต้นเรือนอธรรม พวกฟาริซายที่รักเงินเยาะเย้ยคำสอนของพระเยซู แต่พระองค์ทรงบอกพวกเขาว่า “เจ้าทั้งหลายคือผู้ที่ประกาศตัวว่าชอบธรรมต่อหน้ามนุษย์ แต่พระเจ้าทรงทราบหัวใจเจ้าทั้งหลาย; เพราะสิ่งที่ถือว่าสูงส่งท่ามกลางมนุษย์คือสิ่งน่าสะอิดสะเอียนในสายพระเนตรพระเจ้า.” (16:15, ล.ม.) โดยอุทาหรณ์เรื่องชายเศรษฐีและลาซะโร พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าเหวที่กั้นระหว่างผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปรานและผู้ที่พระเจ้าไม่พอพระทัยนั้นกว้างใหญ่เพียงไร. พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่าจะมีเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้สะดุด แต่ “วิบัติแก่ผู้ที่ทำให้เกิดเหตุเหล่านั้น!” พระองค์ตรัสถึงความยากลำบากซึ่งจะมีขึ้น “ในวันที่บุตรมนุษย์จะปรากฏ.” พระองค์ทรงบอกพวกเขาว่า “อย่าลืมภรรยาโลต.” (17:1, 30, 32, ล.ม.) โดยอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง พระองค์ทรงรับรองว่าพระเจ้าจะทรงทำเพื่อคนเหล่านั้นที่ “ร้องถึงพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน” อย่างแน่นอน. (18:7) จากนั้น พระองค์ทรงตำหนิพวกที่ถือตัวเป็นคนชอบธรรมโดยอุทาหรณ์อีกเรื่องหนึ่งคือ ฟาริซายคนหนึ่งซึ่งอธิษฐานในพระวิหารทูลขอบพระคุณพระเจ้าที่ตนไม่เหมือนคนอื่น. คนเก็บภาษีคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่แต่ไกลและไม่อยากเงยหน้ามองฟ้าด้วยซ้ำนั้นอธิษฐานว่า “โอ้พระเจ้า ขอทรงโปรดกรุณาข้าพเจ้าผู้เป็นคนบาปเถิด.” พระเยซูทรงประเมินเรื่องนี้อย่างไร? พระองค์ทรงประกาศว่าคนเก็บภาษีชอบธรรมกว่าฟาริซายคนนั้น “เพราะทุกคนที่ยกตัวขึ้นจะถูกทำให้ต่ำลง แต่ผู้ที่ถ่อมตัวจะถูกยกขึ้น.” (18:13, 14, ล.ม.) ที่เมืองยะริโฮ พระเยซูได้รับการต้อนรับขับสู้จากคนเก็บภาษีที่ชื่อซักคายและทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องเงินสิบชั่ง ทรงเปรียบเทียบผลของการใช้เงินที่ได้รับฝากไว้อย่างซื่อสัตย์กับผลของการเก็บเงินนั้นซ่อนไว้.
25. พระเยซูทรงเข้าสู่งานเผยแพร่ช่วงสุดท้ายของพระองค์อย่างไร และพระองค์ทรงให้คำเตือนเชิงพยากรณ์อะไรบ้าง?
25 งานเผยแพร่ช่วงสุดท้ายในกรุงยะรูซาเลมและรอบ ๆ (19:28–23:25). ขณะที่พระเยซูทรงลูกลาเข้าไปในกรุงยะรูซาเลมและได้รับการโห่ร้องต้อนรับจากเหล่าสาวกในฐานะ “ท่านผู้นั้นซึ่งเสด็จมาเป็นกษัตริย์ในพระนามของพระยะโฮวา” พวกฟาริซายมาขอพระองค์ให้ตำหนิเหล่าสาวกของพระองค์. พระเยซูตรัสตอบว่า “หากคนเหล่านี้เงียบอยู่ ก้อนหินจะส่งเสียงร้อง.” (19:38, 40, ล.ม.) พระองค์ทรงกล่าวคำพยากรณ์ที่น่าจดจำในเรื่องความพินาศของกรุงยะรูซาเลมโดยตรัสว่า กรุงนี้จะถูกล้อมด้วยไม้ปลายแหลม, ถูกทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อน, และจะถูกบดขยี้ลงกับพื้นดินพร้อมกับพลเมืองของกรุงนั้นและจะไม่เหลือศิลาซ้อนทับกันเลย. พระเยซูทรงสอนประชาชนในพระวิหาร ทรงประกาศข่าวดีและทรงตอบคำถามที่แฝงเล่ห์ของพวกปุโรหิตใหญ่, พวกอาลักษณ์, และพวกซาดูกายโดยใช้อุทาหรณ์และการอ้างเหตุผลอย่างชำนิชำนาญ. พระเยซูทรงพรรณนาอย่างมีพลังถึงหมายสำคัญอันยิ่งใหญ่ของอวสาน ทรงกล่าวซ้ำเรื่องกองทัพที่ตั้งค่ายล้อมกรุงยะรูซาเลม. มนุษย์จะสลบไปเนื่องด้วยความกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ผู้ติดตามพระองค์ต้อง ‘ยืดตัวตรงและชูศีรษะขึ้น เพราะการช่วยให้รอดพ้นสำหรับพวกเขาใกล้จะถึงแล้ว.’ พวกเขาต้องตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อจะประสบผลสำเร็จในการหนีสิ่งที่ถูกกำหนดให้เกิดขึ้น.—21:28, ล.ม.
26. (ก) พระเยซูทรงตั้งสัญญาไมตรีอะไรบ้าง และพระองค์ทรงเชื่อมโยงสัญญาไมตรีเหล่านั้นกับอะไร? (ข) พระเยซูได้รับการชูกำลังภายใต้การทดลองอย่างไร และพระองค์ทรงตำหนิเรื่องอะไรในตอนที่พระองค์ถูกจับ?
26 บัดนี้เป็นวันที่ 14 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33. พระเยซูทรงฉลองปัศคาและจากนั้นทรงตั้ง “สัญญาไมตรีใหม่” กับพวกอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ ทรงเชื่อมโยงสัญญานี้กับอาหารมื้อที่มีความหมายเป็นนัยซึ่งพระองค์ทรงบัญชาพวกเขาให้ฉลองเพื่อระลึกถึงพระองค์. พระองค์ทรงบอกพวกเขาด้วยว่า “เราทำสัญญาไมตรีกับเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับพระบิดาของเราได้ทำสัญญาไมตรีกับเรา ในเรื่องราชอาณาจักร.” (22:20, 29, ล.ม.) ในคืนเดียวกันนั้น ขณะที่พระเยซูทรงอธิษฐานที่ภูเขามะกอกเทศ “ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาจากสวรรค์ปรากฏแก่พระองค์และชูกำลังพระองค์. แต่ด้วยทรงเป็นทุกข์สาหัสในพระทัยพระองค์จึงทรงอธิษฐานต่อไปด้วยความเร่าร้อนยิ่งขึ้น; และพระเสโทของพระองค์กลายเป็นเหมือนหยดเลือดตกลงบนพื้นดิน.” บรรยากาศยิ่งตึงเครียดเมื่อยูดาผู้ทรยศนำฝูงชนมาจับพระเยซู. เหล่าสาวกร้องว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พวกข้าพเจ้าจะเอาดาบฟันดีไหม?” พวกเขาคนหนึ่งฟันหูทาสของมหาปุโรหิตขาด แต่พระเยซูทรงตำหนิพวกเขาและทรงรักษาชายที่ได้รับบาดเจ็บผู้นั้น.—22:43, 44, 49, ล.ม.
27. (ก) เปโตรพลาดในเรื่องใด? (ข) พระเยซูถูกกล่าวหาอย่างไรบ้าง และพระองค์ถูกสอบสวนและถูกตัดสินลงโทษภายใต้สภาพการณ์เช่นไรบ้าง?
27 พระเยซูถูกลากตัวไปยังบ้านของมหาปุโรหิตเพื่อสอบสวน และในยามค่ำคืนที่หนาวเย็น เปโตรปะปนอยู่กับฝูงชนที่อยู่รอบกองไฟ. สามครั้งที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดตามพระเยซู และท่านปฏิเสธทั้งสามครั้ง. แล้วไก่ก็ขัน. องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเหลียวมาทอดพระเนตรเปโตร และเปโตรซึ่งหวนนึกขึ้นได้ว่าพระเยซูทรงบอกล่วงหน้าไว้อย่างไรในเรื่องนี้จึงออกไปและร้องไห้อย่างขมขื่น. หลังจากถูกลากตัวเข้าสู่ห้องประชุมศาลซันเฮดริน พระเยซูจึงถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้าปีลาตและถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายชาติ, ห้ามการเสียภาษี, และ “บอกว่าตัวเขาเองเป็นพระคริสต์กษัตริย์องค์หนึ่ง.” เมื่อรู้ว่าพระเยซูเป็นชาวแกลิลี ปีลาตจึงส่งพระองค์ไปให้เฮโรดซึ่งอยู่ในกรุงยะรูซาเลมในเวลานั้นพอดี. เฮโรดและทหารยามรักษาการณ์ของเขาล้อเลียนพระเยซู และส่งพระองค์กลับไปให้ตัดสินความต่อหน้าฝูงชนที่บ้าดีเดือด. ปีลาต ‘มอบพระเยซูให้เขาทั้งหลายทำตามใจ.’—23:2, 25, ล.ม.
28. (ก) พระเยซูทรงสัญญาอะไรกับโจรที่แสดงความเชื่อในพระองค์? (ข) ลูกาบันทึกอะไรเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์, การฝังพระศพ, และการคืนพระชนม์ของพระเยซู?
28 พระเยซูสิ้นพระชนม์, คืนพระชนม์, และเสด็จสู่สวรรค์ (23:26–24:53). พระเยซูถูกตรึงอยู่ระหว่างผู้ร้ายสองคน. คนหนึ่งเยาะเย้ยพระองค์ แต่อีกคนหนึ่งสำแดงความเชื่อและขอให้พระเยซูระลึกถึงเขาเมื่ออยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์. พระเยซูทรงสัญญาว่า “แท้จริง เราบอกเจ้าวันนี้ เจ้าจะอยู่กับเราในอุทยาน.” (23:43, ล.ม.) แล้วจึงเกิดความมืดที่ผิดปกติ, ม่านในสถานศักดิ์สิทธิ์ขาดกลาง, และพระเยซูทรงร้องว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าฝากวิญญาณข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์พระองค์.” แล้วพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ และพระศพของพระองค์ถูกเอาลงมาและนำไปวางไว้ในอุโมงค์ซึ่งเจาะไว้ในศิลา. ในวันแรกของสัปดาห์ พวกผู้หญิงซึ่งเคยมาจากแกลิลีพร้อมกับพระองค์ได้ไปที่อุโมงค์แต่ไม่อาจพบพระศพของพระเยซู. เหมือนที่พระองค์เองทรงบอกไว้ล่วงหน้า พระองค์ทรงเป็นขึ้นในวันที่สาม!—23:46, ล.ม.
29. กิตติคุณของลูกาปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่ายินดีอะไร?
29 เมื่อทรงปรากฏตัวแก่สาวกสองคนของพระองค์โดยที่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้บนเส้นทางไปหมู่บ้านเอ็มมาอู พระเยซูตรัสถึงความทนทุกข์ทรมานของพระองค์และอธิบายข้อคัมภีร์หลายข้อแก่พวกเขา. ทันใดนั้นพวกเขาก็จำพระองค์ได้ แต่พระองค์ทรงหายตัวไป. ตอนนั้น เขาทั้งสองพูดกันว่า “หัวใจพวกเราเร่าร้อนมิใช่หรือขณะที่พระองค์ตรัสกับเราตามทาง ขณะที่พระองค์ทรงเปิดเผยพระคัมภีร์แก่เราอย่างเต็มที่?” พวกเขารีบกลับไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อบอกแก่สาวกคนอื่น ๆ. ขณะที่พวกเขากำลังพูดถึงสิ่งเหล่านั้น พระเยซูทรงปรากฏตัวท่ามกลางพวกเขา. พวกเขาแทบไม่เชื่อเพราะกำลังตื่นเต้นเนื่องด้วยความยินดีและความประหลาดใจ. จากนั้น พระองค์ทรง “เปิดจิตใจพวกเขาออกเต็มที่เพื่อให้เข้าใจ” จากพระคัมภีร์ถึงความหมายของสิ่งทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้น. ลูกาปิดท้ายบันทึกกิตติคุณของท่านด้วยคำพรรณนาเรื่องการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู.—24:32, 45, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
30, 31. (ก) ลูกาสร้างความมั่นใจอย่างไรว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า? (ข) ลูกายกคำตรัสอะไรของพระเยซูเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้?
30 ข่าวดีที่ “เรียบเรียงโดยลูกา” ทำให้คนเราเกิดความมั่นใจในพระคำของพระเจ้าและเสริมความเชื่อของเขาให้เข้มแข็งเพื่อจะสามารถยืนหยัดต้านทานการโจมตีจากโลกที่เหินห่างจากพระเจ้า. ลูกาให้ตัวอย่างหลายประการที่แสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงอย่างถูกต้องแม่นยำของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. มีการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงพรรณนางานมอบหมายของพระองค์ด้วยถ้อยคำโดยเฉพาะเจาะจงจากพระธรรมยะซายา และดูเหมือนลูกาใช้สิ่งนี้เป็นอรรถบทตลอดพระธรรมนี้. (ลูกา 4:17-19; ยซา. 61:1, 2) นี่เป็นหนึ่งในหลายครั้งที่พระเยซูทรงยกถ้อยคำของพวกผู้พยากรณ์มากล่าว. นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงยกข้อความจากพระบัญญัติมากล่าวเมื่อปฏิเสธการล่อใจของพญามารสามครั้ง และทรงยกจากบทเพลงสรรเสริญมากล่าวในคราวที่ถามพวกศัตรูของพระองค์ว่า “เป็นไฉนคนทั้งหลายจึงว่าพระคริสต์เป็นบุตรของกษัตริย์ดาวิด?” บันทึกของลูกามีข้อความที่ยกจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอีกหลายตอน.—ลูกา 4:4, 8, 12; 20:41-44; บัญ. 8:3; 6:13, 16; เพลง. 110:1.
31 เมื่อพระเยซูทรงลูกลาเสด็จเข้าสู่กรุงยะรูซาเลมตามคำพยากรณ์ในซะคาระยา 9:9 ฝูงชนโห่ร้องต้อนรับพระองค์ด้วยความยินดี โดยใช้ข้อความในบทเพลงสรรเสริญ 118:26 กับพระองค์. (ลูกา 19:35-38) ในกรณีหนึ่งข้อความในพระธรรมลูกาสองข้อก็พอเพียงจะคลุมหกเรื่องที่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูพยากรณ์ถึงการวายพระชนม์ในแบบที่ถูกประณามหยามเหยียดและการคืนพระชนม์ของพระเยซู. (ลูกา 18:32, 33; เพลง. 22:7; ยซา. 50:6; 53:5-7; โยนา 1:17) ในที่สุด หลังจากพระองค์คืนพระชนม์ พระเยซูทรงทำให้พวกสาวกเข้าใจชัดเจนถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งเล่ม. “แล้วพระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า ‘นี่คือถ้อยคำที่เราได้พูดกับเจ้าทั้งหลายขณะที่เรายังอยู่กับเจ้า ว่าบรรดาสิ่งที่เขียนเกี่ยวกับเราไว้ในพระบัญญัติของโมเซและในคำพยากรณ์ทั้งหลายและในเพลงสรรเสริญจะต้องสำเร็จเป็นจริง.’ แล้วพระองค์ทรงเปิดจิตใจพวกเขาออกเต็มที่เพื่อให้เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์.” (ลูกา 24:44, 45, ล.ม.) เช่นเดียวกับพวกสาวกรุ่นแรกของพระเยซูคริสต์ พวกเราก็สามารถได้รับความเข้าใจกระจ่างและได้มาซึ่งความเชื่อที่เข้มแข็งโดยการเอาใจใส่ความสำเร็จเป็นจริงของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งได้รับการอธิบายอย่างถูกต้องโดยลูกาและผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคนอื่น ๆ.
32. บันทึกของลูกาเน้นอย่างไรในเรื่องราชอาณาจักรและเราควรมีเจตคติเช่นไรต่อราชอาณาจักร?
32 ตลอดบันทึกของท่าน ลูกาชี้นำผู้อ่านของท่านอย่างต่อเนื่องไปสู่เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ลูกาเน้นความหวังเรื่องราชอาณาจักรตั้งแต่ตอนต้นพระธรรมนี้ คราวที่ทูตสวรรค์สัญญากับมาเรียว่าบุตรชายที่เธอจะให้กำเนิดนั้น “จะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือเรือนของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และอาณาจักรของท่านจะไม่สิ้นสุด” จนกระทั่งบทท้าย ๆ คราวที่พระเยซูตรัสถึงการนำพวกอัครสาวกเข้าสู่สัญญาไมตรีสำหรับราชอาณาจักร. (1:33; 22:28, 29, ล.ม.) ท่านแสดงให้เห็นว่า พระเยซูทรงนำหน้าในการประกาศราชอาณาจักรและส่งอัครสาวก 12 คน และต่อมาอีก 70 คนออกไปทำงานนี้. (4:43; 9:1, 2; 10:1, 8, 9) พระเยซูทรงใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาเพื่อเน้นการทุ่มเทตัวอย่างเด็ดเดี่ยวซึ่งจำเป็นเพื่อจะเข้าสู่ราชอาณาจักรดังนี้: “ให้คนตายฝังคนตายเถิด แต่ท่านจงออกไปประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า” และ “ไม่มีคนใดที่ได้เอามือจับคันไถแล้วและมองดูสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจะเหมาะสมกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—9:60, 62, ล.ม.
33. จงยกตัวอย่างการที่ลูกาเน้นเรื่องการอธิษฐาน. เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
33 ลูกาเน้นการอธิษฐาน. กิตติคุณของท่านเด่นในเรื่องนี้. กิตติคุณนี้กล่าวถึงฝูงชนที่อธิษฐานขณะซะคาเรียอยู่ในพระวิหาร, กล่าวถึงการกำเนิดของโยฮันผู้ให้บัพติสมาว่าเป็นการตอบคำอธิษฐานขอเพื่อมีบุตร และกล่าวถึงนางอันนาผู้พยากรณ์หญิงที่อธิษฐานทั้งวันทั้งคืน. กิตติคุณนี้พรรณนาถึงการอธิษฐานของพระเยซูในคราวที่พระองค์รับบัพติสมา, การที่พระองค์ทรงใช้เวลาอธิษฐานทั้งคืนก่อนเลือกอัครสาวก 12 คน, และการอธิษฐานของพระองค์ระหว่างการจำแลงพระกาย. พระเยซูทรงเตือนสติพวกสาวกให้ “อธิษฐานเสมอไม่หยุดหย่อน” โดยทรงใช้อุทาหรณ์เรื่องหญิงม่ายคนหนึ่งที่อ้อนวอนผู้พิพากษาไม่ละลดจนเขาทำให้นางได้รับความยุติธรรม. เฉพาะลูกาเท่านั้นที่บอกเรื่องที่พวกสาวกทูลขอพระเยซูให้สอนพวกเขาอธิษฐานและเรื่องที่ทูตสวรรค์ชูใจพระเยซูขณะพระองค์ทรงอธิษฐานอยู่บนภูเขามะกอกเทศ; และมีแต่ท่านผู้เดียวที่บันทึกถ้อยคำในคำอธิษฐานครั้งสุดท้ายของพระเยซูที่ว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าฝากวิญญาณข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์พระองค์.” (1:10, 13; 2:37; 3:21; 6:12; 9:28, 29; 18:1 -8, ล.ม.; 11:1; 22:39-46; 23:46, ล.ม.) ในทุกวันนี้การอธิษฐานก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อเสริมกำลังทุกคนที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เช่นเดียวกับสมัยที่ลูกาเขียนกิตติคุณของท่าน.
34. ลูกาเน้นคุณสมบัติอะไรบ้างของพระเยซูว่าเป็นแบบอย่างอันดีเยี่ยมสำหรับคริสเตียน?
34 ด้วยจิตใจที่ช่างสังเกตอย่างหลักแหลมรวมทั้งการเขียนพรรณนาอย่างสละสลวย ลูกาทำให้คำสอนของพระเยซูเป็นแบบที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา. ความรัก, ความกรุณา, ความเมตตา, และความสงสารที่พระเยซูมีต่อผู้อ่อนแอ, ถูกกดขี่, และถูกเหยียบย่ำ ปรากฏออกมาว่าตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับศาสนาของพวกอาลักษณ์และฟาริซาย ซึ่งเป็นแบบเย็นชา, มีพิธีรีตอง, ใจแคบ, และหน้าซื่อใจคด. (4:18; 18:9) พระเยซูทรงให้กำลังใจเสมออีกทั้งทรงช่วยคนจน, คนที่เป็นเชลย, คนตาบอด, คนที่ใจชอกช้ำ จึงให้ตัวอย่างอันดีเลิศแก่ผู้ที่พยายาม “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.”—1 เป. 2:21, ล.ม.
35. เหตุใดเราจึงขอบพระคุณพระยะโฮวาได้อย่างแท้จริงที่ทรงจัดให้มีกิตติคุณของลูกา?
35 เช่นเดียวกับที่พระเยซู พระบุตรองค์สมบูรณ์ผู้ทรงทำการอัศจรรย์ของพระเจ้า ได้สำแดงความห่วงใยรักใคร่ต่อเหล่าสาวกของพระองค์และต่อมวลมนุษย์ที่มีหัวใจซื่อตรง เราก็เช่นกันควรพยายามทำงานรับใช้ของเราด้วยความรัก ใช่แล้ว “เนื่องด้วยความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนแห่งพระเจ้าของเรา.” (ลูกา 1:78, ล.ม.) เพื่อจะทำเช่นนั้น ข่าวดี “ที่เรียบเรียงโดยลูกา” เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและช่วยได้มากจริง ๆ. เราขอบพระคุณพระยะโฮวาได้อย่างแท้จริงที่ทรงดลใจลูกา “แพทย์ที่รัก” ให้เขียนบันทึกที่ถูกต้องแม่นยำ, ให้การเสริมสร้าง, และหนุนกำลังใจเล่มนี้ ซึ่งชี้ถึงความรอดโดยทางราชอาณาจักรโดยพระเยซูคริสต์ “วิธีการช่วยให้รอดของพระเจ้า.”—โกโล. 4:14, ล.ม.; ลูกา 3:6, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ภาษาแพทย์ของลูกา (ภาษาอังกฤษ) 1954 ดับเบิลยู. เค. โฮบาร์ต หน้า 11-28.
b ทนายความตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) 1943 ไอ. เอช. ลินตัน หน้า 38.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 766-767.
d การค้นพบสมัยปัจจุบันและคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) 1955 เอ. เรนเดิล ชอร์ต หน้า 211.
e สงครามของชาวยิว (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 5 หน้า 491-515, 523 (ตอนที่ 12 ข้อ 1-4); เล่ม 6 หน้า 420 (ตอนที่ 9 ข้อ 3); ดู การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 751-752 ด้วย.