บทสิบแปด
“พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก”
1. (ก) ก่อนที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอธิษฐานเผื่อเหล่าสาวกของพระองค์อย่างไร? (ข) เหตุใดการ “ไม่เป็นส่วนของโลก” จึงสำคัญมาก?
ในคืนก่อนที่พระเยซูจะถูกประหาร พระองค์ทรงอธิษฐานเผื่อเหล่าสาวกของพระองค์. โดยรู้อยู่ว่าพวกเขาจะตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนักจากซาตาน พระเยซูทรงทูลต่อพระบิดาของพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย. พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:15, 16, ล.ม.) เหตุใดการแยกตัวต่างหากจากโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก? เพราะว่าซาตานเป็นผู้ครองโลกนี้. คริสเตียนจึงไม่ต้องการเป็นส่วนของโลกซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของมัน.—ลูกา 4:5-8; โยฮัน 14:30; 1 โยฮัน 5:19.
2. พระเยซูไม่เป็นส่วนของโลกในทางใด?
2 การไม่เป็นส่วนของโลกไม่ได้หมายความว่าพระเยซูไม่รักผู้อื่น. ตรงกันข้าม พระองค์ทรงรักษาคนป่วย, ปลุกคนตาย, และสอนผู้คนเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระองค์ถึงกับสละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ. แต่พระองค์ไม่รักเจตคติที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า และการกระทำของคนเหล่านั้นที่สำแดงน้ำใจแบบโลกของซาตาน. เหตุฉะนั้น พระองค์ทรงเตือนให้ระวังสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น ความปรารถนาที่ผิดศีลธรรม, วิถีชีวิตแบบที่นิยมวัตถุ, และการไขว่คว้าหาความเด่นดัง. (มัดธาย 5:27, 28; 6:19-21; ลูกา 20:46, 47) เช่นนั้นแล้ว ไม่แปลกที่พระเยซูทรงหลีกเลี่ยงการเมืองของโลกด้วย. ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นชาวยิว พระองค์ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างโรมและชาวยิว.
“ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้”
3. (ก) ข้อกล่าวหาอะไรเกี่ยวกับพระเยซูที่ผู้นำศาสนาชาวยิวแจ้งแก่ปีลาต และเพราะเหตุใด? (ข) อะไรแสดงว่าพระเยซูไม่สนพระทัยจะเป็นกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์?
3 จงพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเหล่าผู้นำศาสนาชาวยิวได้จับกุมพระเยซู และพาไปหาปอนเตียว ปีลาต ผู้สำเร็จราชการชาวโรมัน. อันที่จริง หัวหน้าศาสนาเหล่านั้นรู้สึกเดือดร้อนเพราะพระเยซูทรงเปิดโปงความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา. เพื่อให้ผู้สำเร็จราชการคนนั้นจัดการกับพระเยซู พวกเขากล่าวหาพระองค์โดยพูดว่า “พวกเราพบชายผู้นี้บ่อนทำลายชาติของเราและห้ามการเสียภาษีแก่ซีซาร์ และบอกว่าตัวเขาเองเป็นพระคริสต์กษัตริย์องค์หนึ่ง.” (ลูกา 23:2, ล.ม.) ปรากฏชัดว่า นี่เป็นการโกหก เพราะหนึ่งปีก่อนหน้านั้น เมื่อผู้คนต้องการจะตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงปฏิเสธ. (โยฮัน 6:15) พระองค์ทราบว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์ฝ่ายสวรรค์ ในอนาคต. (ลูกา 19:11, 12) นอกจากนั้น พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์มิใช่โดยมนุษย์ แต่โดยพระยะโฮวา.
4. พระเยซูทรงมีเจตคติเช่นไรในเรื่องการเสียภาษี?
4 เพียงสามวันก่อนพระเยซูถูกจับ พวกฟาริซายพยายามจะให้พระเยซูพูดอะไรบางอย่างเพื่อกล่าวหาในเรื่องการเสียภาษี. แต่พระองค์ตรัสว่า “จงเอาเงินตรา [เหรียญโรมัน] มาให้เราดูเถิด รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร?” เมื่อเขาทูลตอบว่า “ของกายะซา” พระองค์ทรงตอบว่า “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา และของของพระเจ้าจงถวายแก่พระเจ้า.”—ลูกา 20:20-25.
5. (ก) พระเยซูทรงสอนบทเรียนอะไรแก่สาวกตอนที่พระองค์ถูกจับ? (ข) พระเยซูทรงชี้แจงเหตุผลสำหรับสิ่งที่พระองค์ทรงทำอย่างไร? (ค) ผลของการพิจารณาคดีครั้งนั้นเป็นอย่างไร?
5 ถูกแล้ว พระเยซูไม่ได้สอนให้กบฏต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. เมื่อทหารและคนอื่น ๆ มาจับพระเยซู เปโตรชักดาบและฟันหูคนหนึ่งขาด. แต่พระเยซูตรัสว่า “จงเอาดาบใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ.” (มัดธาย 26:51, 52) วันต่อมา พระเยซูทรงชี้แจงแก่ปีลาตถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำ โดยตรัสว่า “ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้. ถ้าราชอาณาจักรของเราเป็นส่วนของโลกนี้ บริวารของเราคงได้ต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบไว้กับพวกยิว.” (โยฮัน 18:36, ล.ม.) ปีลาตยอมรับว่า “ไม่เห็น . . . มีความผิด” ในข้อที่เขากล่าวหาพระเยซูนั้น. กระนั้น โดยยอมทำตามที่ฝูงชนเรียกร้อง ปีลาตสั่งให้ตรึงพระเยซูเสีย.—ลูกา 23:13-15; โยฮัน 19:12-16.
เหล่าสาวกติดตามการนำของพระเยซู
6. คริสเตียนรุ่นแรกแสดงอย่างไรว่าพวกเขาหลีกเลี่ยงน้ำใจของโลก แต่ก็มีความรักต่อประชาชน?
6 โดยวิธีนั้น เหล่าสาวกของพระเยซูเข้าใจว่าการไม่เป็นส่วนของโลกนั้นมีข้อเรียกร้องอะไรสำหรับเขา. นั่นหมายถึงการหลีกเลี่ยงน้ำใจที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและการกระทำแบบโลกซึ่งรวมทั้งการบันเทิงที่แสดงออกถึงความรุนแรงและผิดศีลธรรมในโรงละครและโรงมหรสพของพวกโรมัน. เพราะเหตุนั้น เหล่าสาวกจึงถูกเรียกว่าผู้เกลียดชังมนุษยชาติ. แต่แทนที่จะเกลียดชังเพื่อนมนุษย์ พวกเขาทำงานหนักเพื่อช่วยให้คนอื่น ๆ ได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อความรอด.
7. (ก) เนื่องจากการไม่เป็นส่วนของโลก เหล่าสาวกรุ่นแรกได้ประสบอะไร? (ข) พวกเขามีทัศนะต่อผู้ปกครองบ้านเมืองและการเสียภาษีอย่างไร และเพราะเหตุใด?
7 เหล่าผู้ติดตามพระเยซูก็ถูกข่มเหงเช่นเดียวกับพระองค์ บ่อยครั้งโดยพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ได้รับข้อมูลผิด ๆ. กระนั้น ประมาณปี ส.ศ. 56 อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม กระตุ้นเตือนพวกเขาให้ “ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า [ผู้ปกครองบ้านเมือง] ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า.” มิใช่ว่าพระยะโฮวาจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายโลก แต่พระองค์ทรงยอมให้พวกเขาปกครองอยู่จนกว่าราชอาณาจักรของพระองค์จะเป็นรัฐบาลเดียวที่ปกครองทั่วแผ่นดินโลก. นับว่าเหมาะที่เปาโลแนะนำคริสเตียนให้นับถือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและเสียภาษี.—โรม 13:1-7, ล.ม.; ติโต 3:1, 2.
8. (ก) คริสเตียนต้องยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่าถึงขนาดไหน? (ข) คริสเตียนรุ่นแรกติดตามตัวอย่างของพระเยซูอย่างไร?
8 อย่างไรก็ตาม การยอมอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นมีขอบเขตจำกัด. เมื่อมีข้อแย้งระหว่างกฎหมายของพระยะโฮวาและกฎหมายของมนุษย์ คนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวาต้องเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์. ลองสังเกตสิ่งที่หนังสือบนเส้นทางสู่อารยธรรม—ประวัติศาสตร์โลก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวเกี่ยวกับคริสเตียนรุ่นแรกดังนี้: “คริสเตียนปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในหน้าที่บางอย่างของพลเมืองโรมัน. ชาวคริสเตียน . . . รู้สึกว่าการรับราชการทหารเป็นการละเมิดความเชื่อของตน. พวกเขาไม่รับตำแหน่งทางการเมือง. พวกเขาไม่บูชาจักรพรรดิ.” เมื่อศาลสูงของยิว “ออกคำสั่งเด็ดขาด” ให้สาวกเลิกประกาศ พวกเขาตอบว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:27-29, ล.ม.
9. (ก) เหตุใดคริสเตียนในกรุงเยรูซาเลมจึงทำดังที่พวกเขาทำในปี ส.ศ. 66? (ข) สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่าในทางใด?
9 ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร เหล่าสาวกรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด. ในปี ส.ศ. 66 ชาวยิวในยูเดียได้กบฏต่อซีซาร์. กองทัพโรมันรีบรุดมาล้อมกรุงเยรูซาเลม. คริสเตียนที่อยู่ในเมืองนั้นทำอย่างไร? พวกเขาระลึกถึงคำแนะนำของพระเยซูที่ให้ออกไปจากเมืองนั้น. เมื่อชาวโรมันถอยทัพไปชั่วคราว พวกคริสเตียนได้หนีข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน) ไปยังแถบภูเขาเพลลา. (ลูกา 21:20-24) ความเป็นกลางของพวกเขาเป็นแบบฉบับสำหรับคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ในสมัยต่อมา.
ความเป็นกลางของคริสเตียนในสมัยสุดท้าย
10. (ก) งานอะไรที่พยานพระยะโฮวาทำอย่างขันแข็งมาตลอด และเพราะเหตุใด? (ข) พวกเขาเป็นกลางในเรื่องอะไร?
10 บันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นไหมว่า มีกลุ่มใดในสมัยสุดท้ายที่รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างของคริสเตียนรุ่นแรก? ถูกแล้ว พยานพระยะโฮวาได้ทำเช่นนั้น. ตลอดช่วงเวลานั้น พวกเขายังคงประกาศต่อ ๆ ไปว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะนำสันติสุข, ความรุ่งเรือง, และความสุขถาวรมาสู่ผู้รักความชอบธรรม. (มัดธาย 24:14) แต่ในเรื่องความขัดแย้งท่ามกลางนานาชาติ พวกเขาได้รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด.
11. (ก) ความเป็นกลางของพวกพยานฯ ต่างกันกับกิจปฏิบัติของนักเทศน์นักบวชอย่างไร? (ข) พยานพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อสิ่งที่ผู้อื่นทำในเรื่องการเมือง?
11 ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นักเทศน์นักบวชในศาสนาต่าง ๆ ของโลกนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอย่างมากทีเดียว. ในบางประเทศ พวกเขาได้รณรงค์อย่างขันแข็งเพื่อสนับสนุนหรือไม่ก็ต่อต้านผู้สมัครรับเลือกตั้ง. นักเทศน์นักบวชบางคนถึงกับดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ. คนอื่น ๆ ได้กดดันนักการเมืองให้เห็นชอบกับโครงการที่นักเทศน์นักบวชเห็นชอบ. อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวามิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งไม่แทรกแซงเมื่อผู้อื่นเข้าร่วมพรรคการเมือง, ชิงตำแหน่งทางการเมือง, หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง. พระเยซูตรัสว่าสาวกของพระองค์ไม่เป็นส่วนของโลก ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจึงไม่เข้าส่วนร่วมทางการเมือง.
12. ผลเป็นเช่นไรเมื่อศาสนาต่าง ๆ ของโลกไม่เป็นกลาง?
12 ดังที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้า บรรดาชาติต่าง ๆ ได้ทำสงครามกันครั้งแล้วครั้งเล่า. แม้กระทั่งกลุ่มต่าง ๆ ภายในชาติก็ได้ต่อสู้กันและกัน. (มัดธาย 24:3, 6, 7) พวกผู้นำศาสนามักสนับสนุนชาติหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งให้ต่อสู้กับอีกกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ และกระตุ้นเหล่าผู้ติดตามให้กระทำอย่างเดียวกันนั้น. ผลเป็นเช่นไร? เหล่าสมาชิกในศาสนาเดียวกันฆ่ากันและกันในสงคราม เพียงเพราะความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์. สิ่งนี้ขัดกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.—1 โยฮัน 3:10-12; 4:8, 20.
13. ข้อเท็จจริงต่าง ๆ แสดงให้เห็นเช่นไรเกี่ยวกับความเป็นกลางของพยานพระยะโฮวา?
13 อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในความขัดแย้งทุกด้าน. วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1939 (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ทุกคนซึ่งอยู่ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าจะวางตัวเป็นกลางขณะที่ชาติต่าง ๆ ต่อสู้กัน.” พยานพระยะโฮวาในทุกประเทศและภายใต้สภาพการณ์ทุกอย่างยังคงยึดอยู่กับสถานะนี้. พวกเขาไม่ยอมให้การเมืองที่แบ่งแยกและสงครามของโลกมาทำลายภราดรภาพนานาชาติของพวกเขา. พวกเขา “เอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง.” เนื่องจากความเป็นกลาง พวกเขาจึงไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.—ยะซายา 2:3, 4; 2 โกรินโธ 10:3, 4.
14. เนื่องจากการรักษาตัวอยู่ต่างหากจากโลก พยานพระยะโฮวาได้ประสบกับอะไร?
14 ผลอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นกลางของพวกเขาคืออะไร? พระเยซูตรัสว่า “เพราะท่านมิได้อยู่ฝ่ายโลก, . . . โลกจึงชังท่าน.” (โยฮัน 15:19) พยานพระยะโฮวาหลายคนถูกจำคุกเนื่องจากเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า. บางคนถูกทรมาน กระทั่งถูกฆ่าตาย คล้ายกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับคริสเตียนในศตวรรษแรก. ทั้งนี้เพราะซาตานซึ่งเป็น “พระเจ้าของระบบนี้” ต่อต้านเหล่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาซึ่งไม่อยู่ฝ่ายมัน.—2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.; วิวรณ์ 12:12.
15. (ก) ทุกชาติกำลังบ่ายหน้าไปสู่อะไร และพยานพระยะโฮวาระวังที่จะไม่ทำอะไร? (ข) เหตุใดการแยกตัวอยู่ต่างหากจากโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงเพียงนั้น?
15 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความยินดีที่พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เพราะบรรดาชาติทั้งสิ้นกำลังบ่ายหน้าไปสู่จุดจบ ณ อาร์มาเก็ดดอน. (ดานิเอล 2:44; วิวรณ์ 16:14, 16; 19:11-21) เราจะรอดพ้นจากชะตากรรมนั้นเนื่องจากเราอยู่ต่างหากจากโลก. ในฐานะผู้ที่มีเอกภาพทั่วโลก เราภักดีต่อราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. จริงอยู่ โดยการไม่เป็นส่วนของโลก เราประสบกับการเยาะเย้ยและการข่มเหง. กระนั้น ในอีกไม่ช้า สิ่งนั้นจะสิ้นสุดลง เนื่องจากโลกอันชั่วช้าภายใต้การนำของซาตานในปัจจุบันจะถูกทำลายตลอดไป. ส่วนผู้ที่รับใช้พระยะโฮวาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระองค์ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า.—2 เปโตร 3:10-13; 1 โยฮัน 2:15-17.
การอภิปรายทบทวน
• พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่ามีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับการ “ไม่เป็นส่วนของโลก”?
• คริสเตียนรุ่นแรกมีเจตคติเช่นไรต่อ (ก) น้ำใจของโลก, (ข) ผู้ปกครองบ้านเมือง, และ (ค) การเสียภาษี?
• โดยวิธีใดที่พยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันให้หลักฐานของความเป็นกลางแบบคริสเตียน?
[ภาพหน้า 165]
พระเยซูทรงชี้แจงว่าพระองค์และเหล่าสาวกของพระองค์ “ไม่เป็นส่วนของโลก”