การให้ที่พระเจ้าพอพระทัย
พระเยซูและเหล่าสาวกชื่นชอบการรับประทานอาหารมื้ออร่อยที่บ้านเบธาเนียร่วมกับเพื่อนสนิทหลายคน รวมทั้งมาเรีย, มาธา, และลาซะโรซึ่งได้รับการปลุกขึ้นจากตายไม่นานก่อนหน้านั้น. เมื่อมาเรียเอาน้ำมันราคาแพงประมาณสามขีดมาชโลมพระบาทของพระเยซู ยูดาอิศการิโอดรู้สึกขุ่นเคืองและพูดคัดค้านว่า “เหตุไฉนจึงไม่ขายน้ำมันหอมนั้นเป็นเงินสามร้อยเดนาริอน [เท่ากับค่าจ้างแรงงานประมาณหนึ่งปี] แล้วแจกให้แก่คนจน?” คนอื่น ๆ ก็บ่นคล้ายกันนั้นทันที.—โยฮัน 12:1-6, ล.ม.; มาระโก 14:3-5.
อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงตอบว่า “อย่าว่าเขาเลย. . . . ด้วยว่าคนยากจนมีอยู่กับท่านเป็นนิตย์, และท่านจะทำการดีแก่เขาเมื่อไรก็ทำได้ แต่เราจะไม่อยู่กับท่านเสมอไป.” (มาระโก 14:6-9) ผู้นำศาสนาชาวยิวสอนว่าการให้ทานไม่เพียงเป็นคุณความดีเท่านั้น แต่ถึงกับชดเชยบาปได้. ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูทรงทำให้ชัดแจ้งว่าการให้ที่พระเจ้าพอพระทัยมิได้จำกัดอยู่แค่การให้ทานแก่คนจน.
การพิจารณาสั้น ๆ ถึงลักษณะการให้ในประชาคมคริสเตียนยุคแรกจะเน้นวิธีที่ใช้ได้จริงบางอย่างซึ่งเราสามารถแสดงความห่วงใยและด้วยเหตุนี้ทำให้พระเจ้าพอพระทัยการให้ของเรา. นั่นจะบ่งบอกถึงการให้ชนิดที่ดีกว่าซึ่งเป็นประโยชน์มากที่สุดด้วย.
‘การทำทาน’
ในหลายโอกาส พระเยซูทรงสนับสนุนพวกสาวกให้ “ทำทาน.” (ลูกา 12:33) อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงเตือนให้ระวังการแสดงอย่างโอ้อวดที่มุ่งหมายเพียงแค่การยกย่องผู้ให้แทนที่จะถวายเกียรติพระเจ้า. พระองค์ตรัสว่า “เมื่อทำทาน, อย่าเป่าแตรข้างหน้าท่าน, เหมือนคนหน้าซื่อใจคดกระทำในธรรมศาลาและตามถนน, เพื่อจะได้ความสรรเสริญจากมนุษย์.” (มัดธาย 6:1-4) โดยนำเอาคำแนะเตือนนี้มาใช้ คริสเตียนยุคแรกจึงหลีกเลี่ยงการแสดงอย่างโอ้อวดแบบผู้นำที่เคร่งศาสนาในสมัยของเขาและเลือกที่จะช่วยคนเหล่านั้นที่ขัดสนโดยการรับใช้หรือการให้ทานเป็นส่วนตัว.
ตัวอย่างเช่น ลูกา 8:1-3 บอกเราว่ามาเรียมัฆดาลา, โยอันนา, ซูซันนา และคนอื่น ๆ ได้ใช้ “สิ่งของ” ของตนในการปรนนิบัติพระเยซูและพวกอัครสาวกโดยไม่โอ้อวด. ถึงแม้ผู้ชายเหล่านี้มิได้อัตคัดขัดสน แต่พวกเขาได้ละทิ้งแหล่งรายได้เพื่อทุ่มเทความพยายามของพวกเขาเฉพาะแต่ในงานรับใช้. (มัดธาย 4:18-22; ลูกา 5:27, 28) โดยการช่วยคนเหล่านี้ให้ทำงานมอบหมายจากพระเจ้าให้สำเร็จลุล่วง ที่แท้แล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ได้ถวายเกียรติพระเจ้า. และพระเจ้าทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าโดยการรักษาบันทึกเรื่องน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยความเมตตาของพวกเธอไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตจะอ่านได้.—สุภาษิต 19:17; เฮ็บราย 6:10.
โดระกาเป็นหญิงใจดีอีกคนหนึ่งที่ “กระทำการอันเป็นคุณประโยชน์และให้ทานมามากแล้ว.” เธอได้ทำเสื้อผ้าให้แม่ม่ายที่ขัดสนในเมืองยบเปเมืองชายทะเลที่เธออยู่. เราไม่ทราบว่า เธอออกเงินค่าผ้าทั้งหมดเอง หรือว่าเพียงแต่ตัดเย็บให้โดยไม่คิดค่าแรง. ถึงกระนั้น การงานที่ดีทำให้เธอเป็นที่รักของคนเหล่านั้นที่เธอช่วยได้ อีกทั้งเป็นที่รักของพระเจ้าผู้ทรงตอบแทนไมตรีจิตของเธอด้วยความเมตตา.—กิจการ 9:36-41, ฉบับแปลใหม่.
แรงกระตุ้นที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ
อะไรกระตุ้นบุคคลเหล่านี้ในการให้? ไม่ใช่เพียงแต่แรงผลักดันด้วยใจเมตตาที่เกิดจากการอ้อนวอนขอความช่วยเหลืออย่างน่าสงสารเท่านั้น. พวกเขารู้สำนึกเองถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะทำสิ่งที่ทำได้ในแต่ละวันเพื่อช่วยคนเหล่านี้ที่ประสบความยากจน, ความลำบาก, ความเจ็บป่วย, หรือความยุ่งยากอื่น ๆ. (สุภาษิต 3:27, 28; ยาโกโบ 2:15, 16) นี่เป็นการให้ชนิดที่พระเจ้าพอพระทัย. เป็นการให้ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความรักอย่างสุดซึ้งต่อพระเจ้าและความปรารถนาที่จะเลียนแบบบุคลิกภาพที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและเอื้ออารีของพระองค์เป็นประการสำคัญ.—มัดธาย 5:44, 45; ยาโกโบ 1:17.
อัครสาวกโยฮันเน้นแง่มุมที่สำคัญในการให้นี้เมื่อท่านถามว่า “คนใดที่มีทรัพย์สมบัติในโลกนี้, และเห็นพี่น้องของตนขัดสน, แล้วและกระทำใจแข็งกะด้างไม่สงเคราะห์เขา, ความรักของพระเจ้าจะอยู่ในคนนั้นอย่างไรได้?” (1 โยฮัน 3:17) คำตอบนั้นเห็นได้ชัด. ความรักต่อพระเจ้ากระตุ้นผู้คนให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. พระเจ้าทรงหยั่งรู้ค่าและประทานบำเหน็จแก่คนเหล่านั้นที่แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนพระองค์. (สุภาษิต 22:9; 2 โกรินโธ 9:6-11) เราเห็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบนี้ในปัจจุบันไหม? ขอพิจารณาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในประชาคมหนึ่งของพยานพระยะโฮวา.
บ้านของสตรีคริสเตียนสูงอายุคนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการซ่อมใหญ่. เธออยู่ตัวคนเดียวและไม่มีครอบครัวที่จะช่วยเหลือดูแลเธอ. ตลอดหลายปี บ้านของเธอเปิดอยู่เสมอเพื่อจัดการประชุมคริสเตียน และบ่อยครั้งเธอจะให้ใครก็ตามที่ยอมรับคำเชิญมาที่บ้านของเธอ ร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน. (กิจการ 16:14, 15, 40) เมื่อเห็นสภาพลำบากของเธอ สมาชิกของประชาคมได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือ. บางคนบริจาคเงิน บางคนสละแรงกาย. ช่วงสุดสัปดาห์สองสามครั้ง อาสาสมัครได้ปูหลังคาใหม่, ทำห้องน้ำใหม่, ฉาบปูนและทาสีชั้นล่างทั้งหมด, และติดตั้งตู้ใหม่สำหรับใส่ของในห้องครัว. การให้ความช่วยเหลือไม่เพียงสนองความจำเป็นของสตรีผู้นี้เท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาคมใกล้ชิดกันมากขึ้นและทำให้เพื่อนบ้านประทับใจในตัวอย่างของการให้แบบคริสเตียนแท้ด้วย.
มีมากมายหลายวิธีจริง ๆ ที่เราสามารถช่วยเหลือคนอื่น. เราจะให้เวลาแก่เด็กกำพร้าได้ไหม? เราจะไปซื้อของหรือเย็บผ้าให้แม่ม่ายสูงอายุที่เรารู้จักได้ไหม? เราจะทำอาหารหรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่คนที่มีเงินจำกัดได้ไหม? เราไม่ต้องเป็นคนร่ำรวยเพื่อจะช่วยเหลือคนอื่น. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้ามีน้ำใจพร้อมอยู่ก่อนแล้ว, พระเจ้าก็พอพระทัยที่จะทรงโปรดรับไว้ตามซึ่งทุกคนมีอยู่, มิใช่ตามซึ่งเขาไม่มี.” (2 โกรินโธ 8:12) แต่การให้โดยตรงเป็นส่วนตัวเช่นนั้น เป็นการให้ชนิดเดียวที่พระเจ้าจะอวยพระพรไหม? เปล่าเลย.
จะว่าอย่างไรเรื่องการบรรเทาทุกข์ที่มีการจัดระเบียบ?
บางครั้งความพยายามเป็นส่วนตัวยังไม่พอ. ที่จริง พระเยซูและพวกอัครสาวกได้เก็บเงินทุนรวมกันไว้สำหรับคนจน และพวกเขายอมรับเงินบริจาคจากผู้คนที่ห่วงใยซึ่งพบในการทำงานของพวกเขา. (โยฮัน 12:6; 13:29) เช่นเดียวกัน ประชาคมในศตวรรษแรกดำเนินการเรี่ยไรเมื่อเกิดความจำเป็นและได้จัดระเบียบการบรรเทาทุกข์ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่า.—กิจการ 2:44, 45; 6:1-3; 1 ติโมเธียว 5:9, 10.
สภาพการณ์ดังกล่าวครั้งหนึ่งได้เกิดขึ้นราว ๆ ปี ส.ศ. 55. ประชาคมต่าง ๆ ในแคว้นยูเดียได้ประสบความยากจนข้นแค้น บางทีเป็นผลมาจากการกันดารอาหารอย่างหนักที่เพิ่งเกิดขึ้น. (กิจการ 11:27-30) เนื่องจากห่วงใยคนจนเสมอ อัครสาวกเปาโลได้ขอความช่วยเหลือจากประชาคมที่อยู่ห่างไกลถึงมาซิโดเนีย. ท่านได้จัดการเรี่ยไรด้วยตัวเองและใช้คนที่ได้รับความเห็นชอบให้นำเงินนั้นไปส่งให้. (1 โกรินโธ 16:1-4; ฆะลาเตีย 2:10) ทั้งท่านและคนอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยต่างก็ไม่ได้รับเงินตอบแทนสำหรับการรับใช้เช่นนั้น.—2 โกรินโธ 8:20, 21.
พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็พร้อมจะช่วยเหลือด้วยเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น. ตัวอย่างเช่น ระหว่างฤดูร้อนปี 2001 พายุที่รุนแรงได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองฮุสตัน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา. รวมทั้งหมดแล้วบ้าน 723 หลังของพยานฯ ได้รับความเสียหายบางส่วน มีหลายหลังที่เสียหายหนัก. คณะกรรมการบรรเทาทุกข์ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนผู้ปกครองที่มีคุณวุฒิได้ถูกตั้งขึ้นทันทีเพื่อประเมินความจำเป็นของแต่ละคน และเพื่อจัดสรรเงินทุนบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือพยานฯ ในท้องถิ่นให้รับมือกับสภาพการณ์และซ่อมแซมบ้านของเขา. อาสาสมัครที่เต็มใจจากประชาคมใกล้เคียงได้ทำงานทั้งหมดนั้น. พยานฯ คนหนึ่งรู้สึกหยั่งรู้บุญคุณอย่างยิ่งต่อการช่วยเหลือนั้น จนถึงกับเมื่อเธอได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดใช้ค่าซ่อมแซมสำหรับบ้านของเธอ เธอบริจาคเงินนั้นให้กองทุนบรรเทาทุกข์ทันทีเพื่อจะช่วยเหลือคนอื่นที่มีความจำเป็น.
แต่ในเรื่องการกุศลอย่างเป็นระบบ เราจำเป็นต้องสุขุมรอบคอบขณะที่ประเมินดูคำวิงวอนขอหลายรายที่เราได้รับ. องค์การการกุศลบางองค์การมีค่าใช้จ่ายสูงในการบริหารงานหรือในการจัดหาเงินทุน ทำให้เหลือเงินเพียงส่วนน้อยซึ่งรวบรวมมาเพื่อจุดประสงค์ที่มุ่งหมายไว้. สุภาษิต 14:15 (ล.ม.) กล่าวว่า “คนใดที่ขาดประสบการณ์เชื่อคำพูดทุกคำ แต่คนฉลาดพิจารณาก้าวเท้าของตน.” ดังนั้น นับว่าเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาที่จะตรวจสอบดูข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน.
การให้ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
มีการให้ชนิดที่สำคัญยิ่งกว่าการให้เพื่อการกุศลเสียอีก. พระเยซูทรงบอกเป็นนัยถึงเรื่องนี้เมื่อผู้ปกครองหนุ่มที่มั่งคั่งคนหนึ่งถามว่าเขาต้องทำประการใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์. พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา. ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงตามเรามา.” (มัดธาย 19:16-22) โปรดสังเกตว่า พระเยซูมิได้ตรัสเพียงแต่ว่า ‘จงแจกจ่ายให้คนอนาถาและท่านจะได้ชีวิต.’ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ตรัสเสริมว่า “จงตามเรามา [“เป็นสาวกของเรา,” ฉบับแปลใหม่].” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้กิจกรรมเพื่อการกุศลเป็นสิ่งที่น่าชมเชยและเป็นประโยชน์ การเป็นสาวกคริสเตียนเกี่ยวข้องมากกว่านั้น.
พระเยซูมีความสนใจในการช่วยคนอื่นทางฝ่ายวิญญาณเป็นประการสำคัญ. ไม่นานก่อนวายพระชนม์ พระองค์ตรัสแก่ปีลาตว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงบังเกิดมาและเข้ามาในโลก เพื่อเราจะเป็นพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37) ถึงแม้นำหน้าในการช่วยเหลือคนจน, รักษาคนป่วย, และเลี้ยงอาหารคนที่หิวโหย แต่พระเยซูทรงฝึกอบรมเหล่าสาวกให้ประกาศเป็นประการสำคัญ. (มัดธาย 10:7, 8) ที่จริง ในบรรดาคำสั่งสุดท้ายที่พระองค์ตรัสแก่พวกเขาคือพระบัญชาที่ว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
แน่นอน การประกาศจะไม่แก้ปัญหาทั้งสิ้นของโลก. กระนั้น การแบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าให้แก่คนทุกชนิดเป็นการถวายเกียรติพระเจ้า เพราะการประกาศทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จและเปิดทางสู่ผลประโยชน์นิรันดร์สำหรับคนเหล่านั้นที่ยอมรับข่าวสารของพระเจ้า. (โยฮัน 17:3; 1 ติโมเธียว 2:3, 4) ลองฟังสิ่งที่พยานพระยะโฮวาพูดในคราวต่อไปที่พวกเขามาเยี่ยมคุณสิ. พวกเขานำของประทานฝ่ายวิญญาณมาด้วย. และพวกเขาทราบว่านี่เป็นวิธีดีที่สุดที่เขาจะให้คุณได้.
[ภาพหน้า 6]
มีหลายวิธีที่จะแสดงว่าเราห่วงใย
[ภาพหน้า 7]
การที่เราเผยแพร่ข่าวดีทำให้พระเจ้าพอพระทัยและเปิดทางสู่ผลประโยชน์นิรันดร์