การรับใช้ฐานะผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า
“เท้าของผู้เดินตามภูเขาผู้นำข่าวดีงดงามสักเพียงไร คือผู้ซึ่งประกาศสันติสุข.”—ยะซายา 52:7, ล.ม.
1, 2. (ก) ดังบอกล่วงหน้าที่ยะซายา 52:7 ข่าวดีอะไรที่จะต้องมีการประกาศ? (ข) ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของยะซายามีความหมายเช่นไรในกรณีของชาติยิศราเอลโบราณ?
มีข่าวดีที่ต้องประกาศ! ข่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสันติสุข—สันติสุขแท้. ข่าวเรื่องการช่วยให้รอดนี้เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. นานมาแล้วผู้พยากรณ์ยะซายาเขียนเกี่ยวกับข่าวนี้ และถ้อยคำของท่านได้รับการรักษาไว้เพื่อเราดังปรากฏที่ยะซายา 52:7 (ล.ม.) ซึ่งที่นั่นเราอ่านว่า “เท้าของผู้เดินตามภูเขาผู้นำข่าวดีงดงามสักเพียงไร คือผู้ซึ่งประกาศสันติสุข ผู้ซึ่งนำข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า ผู้ซึ่งประกาศเรื่องความรอด ผู้ซึ่งบอกแก่กรุงซีโอนว่า ‘พระเจ้าของเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว!’”
2 พระยะโฮวาทรงดลใจยะซายาผู้พยากรณ์ของพระองค์ให้บันทึกข่าวสารเพื่อประโยชน์ของชาติยิศราเอลโบราณและเพื่อประโยชน์ของเราในปัจจุบัน. ถ้อยคำเชิงพยากรณ์นั้นมีความหมายเช่นไร? ในคราวที่ยะซายาเขียนถ้อยคำเหล่านี้ อาณาจักรฝ่ายเหนือของยิศราเอลอาจได้ถูกพวกอัสซีเรียกวาดไปเป็นเชลยเรียบร้อยแล้ว. ภายหลัง ผู้ที่อยู่ในอาณาจักรฝ่ายใต้แห่งยูดาก็จะถูกกวาดไปเป็นเชลยที่บาบูโลนเช่นกัน. ในช่วงเวลานั้น ยูดาเต็มไปด้วยความระทมขมขื่นและความสับสนอลหม่าน เพราะประชาชนไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาและด้วยเหตุนั้นจึงไม่มีสันติสุขกับพระเจ้า. ดังที่พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่พวกเขา การประพฤติที่ผิดบาปของพวกเขาเป็นเครื่องกีดกั้นระหว่างพวกเขากับพระเจ้า. (ยะซายา 42:24; 59:2-4) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าโดยทางยะซายาว่า ประตูเมืองบาบูโลนจะถูกกระชากเปิดเมื่อได้เวลาอันควร. ไพร่พลของพระเจ้าจะเป็นอิสระและกลับสู่มาตุภูมิของตน เพื่อจะสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่นั่น. ซีโอนจะได้รับการฟื้นฟู และจะมีการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ในกรุงยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่ง.—ยะซายา 44:28; 52:1, 2.
3. คำสัญญาเรื่องการฟื้นฟูสำหรับชาติยิศราเอลเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับสันติสุขด้วยอย่างไร?
3 คำสัญญาเรื่องการปลดปล่อยนี้ยังเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับสันติสุขด้วย. การฟื้นฟูดินแดนที่พระยะโฮวาได้ทรงประทานแก่ชาวยิศราเอลจะเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเมตตาของพระเจ้าและการกลับใจของพวกเขา ทั้งยังจะชี้ด้วยว่า พวกเขามีสันติสุขกับพระเจ้า.—ยะซายา 14:1; 48:17, 18.
“พระเจ้าของเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว!”
4. (ก) ในปี 537 ก.ส.ศ. อาจกล่าวได้ว่า ‘พระยะโฮวาทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์’ ในความหมายเช่นไร? (ข) พระยะโฮวาทรงจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างไรเพื่อผลประโยชน์แห่งไพร่พลของพระองค์ในเวลาต่อมา?
4 เมื่อพระยะโฮวาทรงทำการปลดปล่อยให้เป็นอิสระนี้ในปี 537 ก่อนสากลศักราช คำประกาศนี้นับว่าเหมาะทีเดียวที่จะกล่าวต่อซีโอน: “พระเจ้าของเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว!” อันที่จริง พระยะโฮวาทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดร์กาล.” (วิวรณ์ 15:3, ล.ม.) แต่การปลดปล่อยไพร่พลของพระองค์ในครั้งนี้เป็นการสำแดงอีกครั้งให้ประจักษ์ในพระบรมเดชานุภาพของพระองค์. การปลดปล่อยนี้พิสูจน์ให้เห็นอย่างโดดเด่นถึงฤทธานุภาพของพระองค์ที่เหนือกว่าจักรวรรดิของมนุษย์ที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงเวลานั้น. (ยิระมะยา 51:56, 57) ปฏิบัติการแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวายังผลทำให้การคบคิดที่มุ่งร้ายต่อไพร่พลของพระองค์ในครั้งอื่น ๆ ต้องคว้าน้ำเหลว. (เอศเธระ 9:24, 25) ครั้งแล้วครั้งเล่า พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงในวิธีต่าง ๆ กัน เพื่อให้พวกกษัตริย์แห่งเมโด-เปอร์เซียร่วมมือทำให้พระทัยประสงค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์เองสำเร็จ. (ซะคาระยา 4:6) เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าพิศวงซึ่งได้เกิดขึ้นในสมัยเหล่านั้นได้มีการบันทึกไว้เพื่อเราในพระธรรมเอษรา, นะเฮมยา, เอศเธระ, ฮาฆี, และซะคาระยา. และการทบทวนเรื่องราวเหล่านี้ช่างเป็นการเสริมความเชื่อจริง ๆ!
5. มีการบ่งชี้ถึงเหตุการณ์สำคัญอะไรที่ยะซายา 52:13–53:12?
5 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 537 ก.ส.ศ. และหลังจากนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้น. ทันทีที่คำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูในบท 52 จบลง ยะซายาก็เขียนเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระมาซีฮา. (ยะซายา 52:13–53:12) โดยทางพระมาซีฮา ซึ่งก็ได้แก่พระเยซูคริสต์ พระยะโฮวาทรงจัดให้มีข่าวสารเกี่ยวกับการปลดปล่อยและสันติสุขที่มีลักษณะสำคัญซึ่งยิ่งใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นในปี 537 ก.ส.ศ.
ผู้ส่งข่าวสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยะโฮวา
6. ใครคือผู้ส่งข่าวสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยะโฮวา และงานมอบหมายอะไรซึ่งผู้นั้นเข้าใจว่าพระองค์เองจะต้องทำ?
6 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงเป็นพระวาทะของพระเจ้า หรือโฆษกส่วนพระองค์ของพระยะโฮวานั่นเอง. (โยฮัน 1:14) ลงรอยกับเรื่องนี้ เมื่อผ่านไปช่วงหนึ่งหลังจากที่รับบัพติสมาที่แม่น้ำยาระเดนแล้ว พระเยซูทรงยืนขึ้นในธรรมศาลาเมืองนาซาเร็ธและอ่านออกเสียงจากยะซายาบท 61 เกี่ยวกับหน้าที่ซึ่งพระองค์ได้รับมอบหมาย. หน้าที่มอบหมายนั้นระบุชัดว่า เรื่องที่พระองค์ถูกส่งออกไปประกาศเกี่ยวข้องกับ “การปลดปล่อย” และ ‘การฟื้นฟู’ รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวา. กระนั้น พระเยซูทรงทำไม่เพียงแค่ประกาศข่าวสันติสุข. พระเจ้าได้ส่งพระองค์มาเพื่อจัดเตรียมรากฐานสำหรับสันติสุขที่ยั่งยืนด้วย.—ลูกา 4:16-21.
7. สันติสุขกับพระเจ้าก่อให้เกิดผลอะไรซึ่งเป็นไปได้โดยทางพระเยซูคริสต์?
7 คราวที่พระเยซูประสูติ ทูตสวรรค์ได้มาปรากฏต่อพวกผู้เลี้ยงแกะใกล้เมืองเบ็ธเลเฮม สรรเสริญพระเจ้าและกล่าวว่า “สง่าราศีในที่สูงเบื้องบนแด่พระเจ้า และบนแผ่นดินโลกสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ที่โปรดปราน.” (ลูกา 2:8, 13, 14, ล.ม.) ใช่แล้ว จะมีสันติสุขสำหรับคนที่พระเจ้าทรงโปรดปราน เพราะพวกเขาสำแดงความเชื่อในการจัดเตรียมที่พระองค์ทรงดำเนินการโดยทางพระบุตรของพระองค์. นั่นจะหมายถึงอะไร? ก็หมายความว่า แม้มนุษย์เกิดมาในความผิดบาป พวกเขาสามารถได้รับฐานะที่สะอาดจำเพาะพระเจ้า และมีสัมพันธภาพอันเป็นที่ยอมรับกับพระองค์ได้. (โรม 5:1) พวกเขาสามารถมีสันติสุข ความสงบสุขที่อยู่ภายใน ซึ่งไม่อาจมีได้โดยทางอื่น. เมื่อถึงเวลากำหนดของพระเจ้า จะมีการปลดปล่อยจากผลพวงของบาปที่ได้รับตกทอดมาจากอาดาม รวมทั้งความเจ็บป่วยและความตาย. จะไม่มีคนตาบอดหรือหูหนวกหรือพิการอีกต่อไป. ความอ่อนแอที่ทำให้ข้องขัดใจและความผิดปกติของจิตใจที่ทำให้หัวใจสลายจะถูกขจัดออกไปตลอดกาล. เป็นไปได้ที่จะมีชีวิตสมบูรณ์ชั่วนิรันดร์.—ยะซายา 33:24; มัดธาย 9:35; โยฮัน 3:16.
8. สันติสุขของพระเจ้าเสนอให้แก่ใคร?
8 สันติสุขของพระเจ้านั้นเสนอแก่ใคร? เสนอแก่ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า ‘พระเจ้าทรงเห็นดีที่สิ่งอื่น ๆ ทั้งสิ้นจะคืนดีกับพระองค์โดยทางพระคริสต์ โดยสร้างสันติภาพด้วยพระโลหิตที่พระเยซูได้หลั่งลงบนเสาทรมาน.’ ท่านอัครสาวกกล่าวเพิ่มเติมว่า การคืนดีนี้จะเกี่ยวพันกับ ‘สิ่งที่อยู่ในสวรรค์’ ซึ่งก็ได้แก่คนที่จะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์. การคืนดีนี้จะเกี่ยวพันกับ ‘สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก’ ด้วย ซึ่งก็คือคนที่จะได้รับโอกาสมีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกเมื่อถูกเปลี่ยนสภาพเป็นอุทยานอย่างครบถ้วนแล้ว. (โกโลซาย 1:19, 20, ล.ม.) เพราะเหตุที่พวกเขารับเอาคุณค่าแห่งค่าไถ่ของพระเยซู และเพราะพวกเขาเชื่อฟังพระเจ้าจากหัวใจ คนเหล่านี้ทุกคนสามารถมีมิตรภาพที่อบอุ่นกับพระเจ้า.—เทียบกับยาโกโบ 2:22, 23.
9. (ก) สันติสุขกับพระเจ้ามีผลกระทบต่อสัมพันธภาพอื่น ๆ เช่นไร? (ข) ด้วยทรงประสงค์จะนำสันติสุขมายังทุกหนแห่ง พระยะโฮวาทรงมอบอำนาจอะไรแก่พระบุตรของพระองค์?
9 สันติสุขกับพระเจ้านั้นสำคัญอย่างยิ่งจริง ๆ! หากไม่มีสันติสุขกับพระเจ้า ก็ไม่อาจมีสันติสุขที่ยั่งยืนหรือที่เปี่ยมด้วยความหมายในสัมพันธภาพอื่นใด. สันติสุขกับพระยะโฮวาเป็นรากฐานสำหรับสันติสุขแท้บนแผ่นดินโลก. (ยะซายา 57:19-21) เหมาะสมทีเดียว พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์สันติราช. (ยะซายา 9:6) โดยทางพระองค์นี้เองที่มนุษย์จะสามารถคืนดีกับพระเจ้า และพระยะโฮวาได้ทรงวางพระทัยมอบอำนาจปกครองแก่พระองค์ด้วย. (ดานิเอล 7:13, 14) และเกี่ยวด้วยผลแห่งการปกครองด้วยสง่าราศีของพระเยซูเหนือมนุษยชาติ พระยะโฮวาทรงสัญญาดังนี้: “สันติสุขจะไม่รู้สิ้นสุด.”—ยะซายา 9:7; บทเพลงสรรเสริญ 72:7.
10. พระเยซูทรงวางแบบอย่างในการประกาศข่าวสันติสุขของพระเจ้าอย่างไร?
10 ข่าวสันติสุขของพระเจ้านั้นจำเป็นสำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น. พระเยซูเองทรงวางตัวอย่างในการประกาศข่าวนี้อย่างกระตือรือร้น. พระองค์ทรงทำเช่นนั้นในเขตพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม, ที่เชิงเขา, ตามถนน, ต่อหญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำ, และที่บ้านของผู้คน. ที่ไหนก็ตามที่มีประชาชน พระเยซูทรงหาลู่ทางที่จะประกาศเรื่องสันติสุขและราชอาณาจักรของพระเจ้าในที่เหล่านั้น.—มัดธาย 4:18, 19; 5:1, 2; 9:9; 26:55; มาระโก 6:34; ลูกา 19:1-10; โยฮัน 4:5-26.
รับการฝึกอบรมให้เดินตามรอยพระบาทของพระคริสต์
11. งานอะไรที่พระเยซูทรงอบรมสาวกพระองค์?
11 พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้ประกาศข่าวสันติสุขของพระเจ้า. เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงเป็น “พยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง” ของพระยะโฮวา เหล่าสาวกสำนึกว่า พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต้องให้คำพยานเช่นกัน. (วิวรณ์ 3:14, ล.ม.; ยะซายา 43:10-12) พวกเขาหมายเอาพระเยซูฐานะเป็นผู้นำของตน.
12. เปาโลแสดงให้เห็นความสำคัญของกิจกรรมการประกาศอย่างไร?
12 อัครสาวกเปาโลหาเหตุผลเรื่องความสำคัญของกิจกรรมการประกาศโดยกล่าวดังนี้: “มีคำเขียนไว้แล้วว่า, ‘ผู้หนึ่งผู้ใดที่เชื่อในพระองค์จะหามีความละอาย [“ผิดหวัง,” ล.ม.] ไม่.’” กล่าวคือ จะไม่มีใครที่สำแดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ฐานะที่ทรงเป็นผู้นำความรอดองค์เอกของพระยะโฮวาต้องผิดหวัง. และภูมิหลังทางเชื้อชาติจะไม่เป็นเหตุให้ใครขาดคุณสมบัติ เพราะเปาโลกล่าวอีกว่า “พวกยูดายและพวกเฮเลนหาได้ทรงถือว่าต่างกันไม่, ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง, และทรงโปรดอย่างบริบูรณ์แก่คนทั้งปวงที่ทูลขอพระองค์ เพราะว่า ‘ทุกคนที่จะร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะรอด.’” (โรม 10:11-13) แต่ผู้คนจะเรียนรู้ในเรื่องโอกาสเช่นนั้นได้โดยวิธีใด?
13. เพื่อประชาชนจะได้ยินได้ฟังข่าวดี จำเป็นต้องมีอะไร และคริสเตียนในศตวรรษแรกตอบรับต่อความจำเป็นนั้นอย่างไร?
13 เปาโลพิจารณาความจำเป็นในเรื่องนี้โดยถามคำถามที่ผู้รับใช้แต่ละคนของพระยะโฮวาควรใคร่ครวญ. ท่านอัครสาวกถามว่า “คนที่ยังไม่ได้เชื่อในพระองค์, เขาจะร้องขอพระองค์อย่างไรได้? และคนที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์, เขาจะเชื่อในพระองค์อย่างไรได้? และเมื่อไม่มีใครประกาศให้เขาฟัง, เขาจะได้ยินถึงพระองค์อย่างไรได้? และถ้าไม่มีใครใช้เขาไป, เขาจะประกาศอย่างไรได้?” (โรม 10:14, 15) บันทึกเกี่ยวกับศาสนาคริสเตียนในยุคเริ่มแรกให้พยานหลักฐานที่แจ่มชัดว่า ชายหญิง ทั้งหนุ่มและสูงอายุ ต่างติดตามตัวอย่างที่พระคริสต์และเหล่าอัครสาวกวางไว้. พวกเขาได้มาเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่กระตือรือร้น. โดยเลียนแบบพระเยซู พวกเขาประกาศในทุกที่ที่พบประชาชนได้. โดยที่ไม่ต้องการมองข้ามใครไป พวกเขาทำงานรับใช้ทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน—กิจการ 17:17; 20:20.
14. ปรากฏให้เห็นจริงอย่างไรที่ว่า “เท้า” ของคนที่ประกาศข่าวดีนั้นช่าง “งดงาม” จริง?
14 แน่ล่ะ ไม่ใช่ทุกคนที่ต้อนรับคริสเตียนผู้ประกาศอย่างกรุณา. ถึงกระนั้น ข้อความที่เปาโลยกจากยะซายา 52:7 ปรากฏให้เห็นว่าเป็นความจริง. หลังจากถามว่า “ถ้าไม่มีใครใช้เขาไป, เขาจะประกาศอย่างไรได้?” ท่านกล่าวต่อไปว่า “เหมือนมีคำเขียนไว้แล้วว่า, ‘เท้าของคนเหล่านั้นที่ประกาศกิตติคุณแห่งความสุข และบอกข่าวซึ่งทำให้มีความยินดีนั้นก็งามสักเท่าใด.’” พวกเราส่วนมากไม่ได้คิดว่าเท้าของตนงามหรือน่าชมสักเท่าใดนัก. ถ้าอย่างนั้น ข้อนี้หมายความเช่นไร? เท้าที่ว่านี้คืออวัยวะที่ตามปกติแล้วจะพาคนเราไปในที่ต่าง ๆ ขณะที่เขาออกไปประกาศแก่คนอื่น ๆ. เท้าที่ทำหน้าที่เช่นนั้นโดยแท้แล้วหมายถึงบุคคลคนนั้น. และเราสามารถแน่ใจได้ว่า ในสายตาของหลายคนที่ได้ยินข่าวดีจากเหล่าอัครสาวกและจากสาวกคนอื่น ๆ ของพระเยซูคริสต์ในศตวรรษแรก คริสเตียนเหล่านี้งดงามจริง ๆ. (กิจการ 16:13-15) ยิ่งกว่านั้น พวกเขามีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า.
15, 16. (ก) คริสเตียนในยุคแรกแสดงให้เห็นอย่างไรว่า พวกเขาเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุข? (ข) อะไรสามารถช่วยเราให้ทำงานรับใช้ของเราต่อไปในแนวทางเดียวกับคริสเตียนในศตวรรษแรก?
15 ผู้ติดตามพระเยซูมีข่าวสันติสุข และพวกเขาส่งข่าวนี้ด้วยสันติวิธี. พระเยซูทรงมีพระบัญชาต่อเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “ถ้าจะเข้าไปในเรือนใด ๆ จงพูดก่อนว่า, ‘ให้ความสุข [“สันติสุข,” ล.ม.] มีแก่เรือนนี้เถิด.’ ถ้าลูกแห่งความสุข [“มิตรแห่งสันติสุข,” ล.ม.] อยู่ที่นั่น, ความสุข [“สันติสุข,” ล.ม.] ของท่านจะได้อยู่กับเขา ถ้าหาไม่, ความสุข [“สันติสุข,” ล.ม.] ของท่านจะกลับอยู่กับท่านอีก.” (ลูกา 10:5, 6) ชาโลมʹ หรือ “สันติสุข” เป็นคำทักทายตามธรรมเนียมของชาวยิว. อย่างไรก็ตาม พระบัญชาของพระเยซูมีความหมายยิ่งกว่านี้มาก. ฐานะเป็น “ราชทูตของพระคริสต์” สาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์กระตุ้นเตือนประชาชนให้ “คืนดีกันกับพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 5:20) สอดคล้องกับพระบัญชาของพระเยซู พวกเขาพูดคุยกับประชาชนเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า และสิ่งซึ่งราชอาณาจักรนั้นอาจหมายถึงสำหรับพวกเขาแต่ละคน. คนที่ฟังก็ได้รับพระพร; ส่วนคนที่ปฏิเสธก็พลาดพระพรนั้นไป.
16 ปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาทำงานรับใช้ของตนในแนวทางเดียวกัน. ข่าวดีที่พวกเขานำไปให้ประชาชนไม่ใช่ของพวกเขาเอง; แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงส่งพวกเขามา. งานมอบหมายของพวกเขาคือส่งข่าวสารนั้น. ถ้าประชาชนตอบรับ พวกเขาก็อยู่ในฐานะที่จะได้รับพระพรอันยอดเยี่ยม. หากพวกเขาปฏิเสธ ก็เท่ากับพวกเขาปฏิเสธสันติสุขกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์.—ลูกา 10:16.
มีสันติในโลกที่ปั่นป่วน
17. แม้แต่เมื่อเผชิญกับคนที่พูดจาหยาบหยาม เราควรประพฤติตัวอย่างไร และเพราะเหตุใด?
17 ไม่ว่าปฏิกิริยาของประชาชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม สำคัญที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาพึงระลึกอยู่เสมอว่า พวกเขาเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า. ประชาชนชาวโลกอาจทุ่มเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และระบายอารมณ์โกรธโดยใช้คำพูดที่เจ็บแสบหรือตะโกนด่าใส่คนที่ทำให้เขาขุ่นเคือง. อาจเป็นได้ว่า พวกเราบางคนเคยทำเช่นนั้นในอดีต. อย่างไรก็ดี หากเราได้สวมบุคลิกลักษณะใหม่และไม่เป็นส่วนของโลกอีกต่อไป เราจะไม่เลียนแบบแนวทางของคนพวกนี้. (เอเฟโซ 4:23, 24, 31; ยาโกโบ 1:19, 20) ไม่ว่าคนอื่นจะทำอย่างไร เราจะใช้คำแนะนำนี้ที่ว่า “หากเป็นไปได้ ตราบเท่าที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงรักษาสันติสุขกับคนทั้งปวง.”—โรม 12:18, ล.ม.
18. เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเกรี้ยวกราดกับเรา และเพราะเหตุใด?
18 บางครั้ง งานรับใช้ของเราอาจทำให้เราต้องให้การต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ. โดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตน พวกเขาอาจ ‘เรียกให้เรา’ อธิบายในเรื่องเหตุผลที่เราทำบางสิ่งบางอย่าง หรือเหตุผลที่เราไม่เข้าร่วมในกิจกรรมบางอย่าง. พวกเขาอาจต้องการทราบเหตุผลที่เราประกาศข่าวสารซึ่งเราทำกันอยู่—ข่าวที่เปิดโปงศาสนาเท็จและบอกถึงอวสานของระบบปัจจุบัน. ความนับถือของเราที่มีต่อแบบอย่างที่พระคริสต์ทรงวางไว้ จะกระตุ้นเราให้สำแดงอารมณ์อ่อนโยนและความนับถืออย่างลึกซึ้ง. (1 เปโตร 2:23; 3:15) บ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่เหล่านั้นถูกกดดันจากพวกนักเทศน์นักบวชของคริสตจักรหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่า. คำตอบที่อ่อนสุภาพอาจช่วยพวกเขาเห็นว่ากิจกรรมของเราไม่คุกคามพวกเขาหรือสันติสุขของชุมชน. คำตอบเช่นนั้นก่อให้เกิดความนับถือ, การร่วมมือ, และสันติสุขขึ้นในคนเหล่านั้นที่ยอมรับคำตอบของเรา.—ติโต 3:1, 2.
19. พยานพระยะโฮวาไม่เข้าส่วนร่วมในกิจกรรมอะไรบ้าง?
19 พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกฐานะผู้คนที่ไม่เข้าส่วนร่วมกับการแก่งแย่งชิงดีกันในโลก. พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งใด ๆ ของโลกเรื่องเชื้อชาติ, ศาสนา, หรือการเมือง. (โยฮัน 17:14) เนื่องจากพระคำของพระเจ้าชี้นำเราให้ “ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า” เราจะไม่มีส่วนร่วมแม้แต่ในทางความคิดเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในบ้านเมืองเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาล. (โรม 13:1, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาไม่เคยเข้าร่วมขบวนการใด ๆ ที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล. เมื่อคำนึงถึงมาตรฐานที่พระยะโฮวาทรงวางไว้สำหรับคริสเตียนผู้รับใช้ของพระองค์ การที่พวกเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการนองเลือดหรือความรุนแรงรูปแบบใดก็ตามนับว่าเป็นเรื่องเหลือคิดทีเดียว! คริสเตียนแท้ไม่เพียงแต่พูดในเรื่องสันติสุขเท่านั้น; พวกเขาดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาประกาศ.
20. ในเรื่องสันติสุข บาบูโลนใหญ่ได้สร้างประวัติบันทึกเอาไว้เช่นไร?
20 ไม่เหมือนกับคริสเตียนแท้ คนเหล่านั้นที่เป็นตัวแทนในองค์การศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรไม่ได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุข. ศาสนาต่าง ๆ แห่งบาบูโลนใหญ่—คริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรและศาสนาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คริสเตียนด้วย—ได้ยอมผ่อนปรน, สนับสนุน, และที่จริง นำหน้าในสงครามของชาติต่าง ๆ ด้วยซ้ำ. พวกเขายังได้ยุยงให้กดขี่ข่มเหงและกระทั่งฆ่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาด้วย. เกี่ยวด้วยบาบูโลนใหญ่ที่ได้ทำเช่นนั้น วิวรณ์ 18:24 (ล.ม.) แจ้งว่า “ในเมืองนั้นได้พบเลือดของผู้พยากรณ์และของผู้บริสุทธิ์และของคนทั้งปวงที่ถูกฆ่าฟันบนแผ่นดินโลก.”
21. คนที่มีหัวใจสุจริตมากมายตอบรับอย่างไรเมื่อพวกเขาเห็นความแตกต่างในความประพฤติของไพร่พลของพระยะโฮวาเมื่อเทียบกับคนที่ปฏิบัติศาสนาเท็จ?
21 ไม่เหมือนศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรและส่วนที่เหลือแห่งบาบูโลนใหญ่, ศาสนาแท้เป็นพลังในทางเสริมสร้างที่ทำให้เป็นเอกภาพ. พระเยซูคริสต์ตรัสต่อสาวกแท้ของพระองค์ดังนี้: “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) นั่นเป็นความรักที่มีชัยเหนือสิ่งกีดขวางใด ๆ ด้านชาติ, สังคม, เศรษฐกิจ, และเชื้อชาติ ซึ่งในปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งสิ้นที่เหลือแตกแยกกัน. เมื่อได้สังเกตเช่นนี้ จึงมีหลายล้านคนทั่วโลกกำลังกล่าวต่อผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระยะโฮวาว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.”—ซะคาระยา 8:23.
22. เรามีทัศนะอย่างไรต่องานให้คำพยานที่ยังจำเป็นต้องทำให้สำเร็จต่อไป?
22 ฐานะไพร่พลของพระยะโฮวา เรายินดีอย่างยิ่งในสิ่งที่ได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว แต่งานยังไม่แล้วเสร็จ. หลังจากไถและหว่านเมล็ดพืชแล้ว เกษตรกรไม่หยุดอยู่แค่นั้น. เขายังคงทำงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาถึงจุดสุดยอดแห่งฤดูเกี่ยว. ในฤดูเกี่ยว จำต้องมีความบากบั่นอย่างคร่ำเคร่งและไม่ถดถอย. และในขณะนี้เอง กำลังมีการรวบรวมผู้คนมากมายเข้ามานมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้อย่างที่ไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน. นี่เป็นเวลาที่น่ายินดี. (ยะซายา 9:3) จริงอยู่ เราประสบการต่อต้านและความไม่แยแส. ในส่วนตัวแต่ละคน เราอาจต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยร้ายแรง, สภาพยุ่งยากในครอบครัว, หรือสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง. แต่ความรักที่มีต่อพระยะโฮวาผลักดันเราให้บากบั่นต่อไป. ข่าวสารที่พระเจ้าทรงไว้วางพระทัยมอบให้เราเป็นสิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องได้ยินได้ฟัง. นั่นคือข่าวสันติสุข. จริงทีเดียว ข่าวนี้แหละที่พระเยซูทรงประกาศด้วยพระองค์เอง—ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ยะซายา 52:7 สำเร็จเป็นจริงกับชาติยิศราเอลโบราณเช่นไร?
▫ พระเยซูทรงพิสูจน์ให้เห็นโดยวิธีใดว่าพระองค์เป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด?
▫ อัครสาวกเปาโลเชื่อมโยงยะซายา 52:7 กับงานที่คริสเตียนมีส่วนร่วมทำอย่างไร?
▫ มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขในสมัยของเรานี้?
[รูปภาพหน้า 13]
เช่นเดียวกับพระเยซู พยานพระยะโฮวาเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า
[รูปภาพหน้า 15]
พยานพระยะโฮวารักษาสันติสุขไว้ ไม่ว่าประชาชนแสดงปฏิกิริยาต่อข่าวราชอาณาจักรอย่างไร