การสารภาพบาป—วิธีของมนุษย์ หรือของพระเจ้า?
ในท่ามกลางชาวคาทอลิก การสารภาพบาปได้เปลี่ยนไปอย่างน่าสังเกตตลอดศตวรรษต่าง ๆ. ในช่วงต้น ๆ ของคริสต์จักรคาทอลิกมีการเรียกร้องการสารภาพบาปและการบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปนั้น เฉพาะแต่สำหรับความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น. หนังสือศาสนาในโลกตะวันตกในยุคกลาง ชี้แจงว่า “จนกระทั่งปลายศตวรรษที่หก กฏเกณฑ์การบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปนั้นเข้มงวดทีเดียว: มีการดำเนินพิธีนั้นได้เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต การสารภาพบาปเป็นแบบเปิดเผย การบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปมีระยะยาวนานและรุนแรง.”
การบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปดังกล่าวนั้นรุนแรงแค่ไหน? ในปี 1052 ผู้สารภาพบาปคนหนึ่งถูกสั่งให้เดินเท้าเปล่าตลอดทางจากเมืองบรูซในเบลเยี่ยมไปถึงกรุงยะรูซาเลม! หนังสือศาสนาคริสเตียนในโลกตะวันตก 1400-1700 แจ้งว่า “ในปี 1700 ยังคงพบชาวคาทอลิก ณ บ่อน้ำหรือน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ งอเข่าขึ้นถึงคออยู่ในน้ำที่เย็นเจี๊ยบเพื่อกล่าวคำอธิษฐานในการบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปของเขา.” เนื่องจากในสมัยนั้นมีการยับยั้งการอภัยโทษไว้จนกระทั่งหลังจากการบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปเสร็จสิ้น หลายคนจึงถ่วงการสารภาพของตนไว้จนกระทั่งเขาจวนจะตาย.
กิจปฏิบัติเกี่ยวกับการสารภาพบาปในสมัยปัจจุบันเริ่มต้นเมื่อไร? หนังสือศาสนาในโลกตะวันตกในยุคกลาง แถลงว่า “มีการนำการบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปในรูปแบบใหม่เข้ามาในฝรั่งเศสในตอนปลายศตวรรษที่หกโดยพวกพระชาวเคลท์. . . . นี้เป็นการสารภาพบาปแบบกระซิบกระซาบ ซึ่งผู้สำนึกผิดสารภาพบาปของเขาเป็นส่วนตัวกับบาทหลวง และนั่นเป็นการดัดแปลงกิจปฏิบัติของวัดในเรื่องการให้คำแนะนำทางฝ่ายวิญญาณ.” ตามกิจปฏิบัติของวัดที่เก่าแก่กว่า พวกพระสารภาพความบาปของตนต่อกันและกันเพื่อรับความช่วยเหลือทางฝ่ายวิญญาณในอันที่จะเอาชนะข้ออ่อนแอของเขา. อย่างไรก็ดี ในการสารภาพบาปแบบกระซิบกระซาบที่ใหม่กว่า คริสต์จักรอ้างว่าบาทหลวงมี “สิทธิ์ หรืออำนาจในการให้อภัยบาป”.—นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย.
พระเยซูประทานความสามารถดังกล่าวให้แก่สาวกบางคนของพระองค์จริง ๆ ไหม? พระองค์ตรัสเช่นไรซึ่งได้นำบางคนไปสู่การลงความเห็นเช่นนี้?
“ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร”
ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงแจ้งแก่อัครสาวกเปโตรว่า “เราจะให้ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์แก่เจ้า สิ่งใดที่เจ้าผูกมัดไว้บนแผ่นดินโลก จะถือว่าผูกมัดไว้ในสวรรค์ สิ่งใดที่เจ้าปล่อยไว้บนแผ่นดินโลกจะถือว่าปล่อยไว้ในสวรรค์.” (มัดธาย 16:19, เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) ด้วยถ้อยคำที่ว่า “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” พระเยซูทรงหมายความประการใด? เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นหากเราพิจารณาดูอีกโอกาสหนึ่งเมื่อพระเยซูใช้คำ “ลูกกุญแจ.”
ครั้งหนึ่งพระเยซูแจ้งแก่พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวที่รอบรู้ในพระบัญญัติของโมเซว่า “อนิจจา พวกเจ้านักกฎหมายที่ได้เอาลูกกุญแจแห่งความรู้ไปเสีย. พวกเจ้าเองก็ไม่เข้าไป และได้ขัดขวางคนอื่น ๆ ที่ต้องการเข้าไป.” (ลูกา 11:52, เจบี) ขัดขวางคนอื่น ๆ ‘จากการเข้าไป’ ที่ไหน? พระเยซูแจ้งให้เราทราบที่มัดธาย 23:13 ว่า “อนิจจาพวกเจ้า อาลักษณ์และฟาริซาย เจ้าคนหน้าซื่อใจคด! เจ้าผู้ที่ปิดราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ไว้ต่อหน้ามนุษย์ เจ้าเองไม่เข้าไป ทั้งไม่ยอมให้คนอื่นที่ต้องการนั้นเข้าไป.” (เจบี) ประหนึ่งว่าพวกนักศาสนาชาวยิวปิดประตูกั้นหลายคนไว้ โดยตัดโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับพระเยซูคริสต์ในสวรรค์ไปเสียจากพวกเขา. “ลูกกุญแจ” ที่หัวหน้าศาสนาเหล่านั้น “เอาไปเสีย” มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับการให้อภัยความบาป. นั่นเป็นลูกกุญแจไปสู่ความรู้ที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้.
ในทำนองเดียวกัน “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” ที่ทรงมอบแก่เปโตรนั้น มิได้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจในการแจ้งแก่สวรรค์ว่าความบาปของผู้ใดควรได้รับการให้อภัย หรือไม่รับการให้อภัย. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว กุญแจเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงสิทธิพิเศษอันเลิศล้ำในการเปิดทางไปสู่สวรรค์โดยการเผยแพร่ความรู้ที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้โดยทางงานรับใช้ของท่าน. ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่อพวกยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นก็เพื่อชาวซะมาเรีย และในที่สุดก็เพื่อคนต่างชาติ.—กิจการ 2:1-41; 8:14-17; 10:1-48.
“สิ่งใดที่เจ้าผูกมัดไว้บนแผ่นดินโลก”
ต่อมา สิ่งที่พระเยซูได้แจ้งแก่เปโตรนั้น ได้มีการย้ำกับสาวกคนอื่น ๆ. พระเยซูตรัสว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายอย่างเป็นทางการว่า สิ่งใดที่เจ้าผูกมัดไว้บนแผ่นดินโลก จะถือว่าผูดมัดไว้ในสวรรค์; สิ่งใดที่เจ้าปล่อยไว้บนแผ่นดินโลกจะถือว่าปล่อยไว้ในสวรรค์.” (มัดธาย 18:18, เจบี) ในที่นี้ พระคริสต์ได้มอบอำนาจอะไรให้แก่พวกสาวก? บริบทแสดงให้เห็นว่าพระองค์กำลังตรัสถึงเรื่องการจัดการปัญหาระหว่างผู้มีความเชื่อเป็นรายตัว และการรักษาประชาคมให้สะอาดปราศจากผู้กระทำชั่วที่ไม่กลับใจ.—มัดธาย 18:15-17.
ในเรื่องที่พัวพันกับการละเมิดกฏหมายของพระเจ้าอย่างร้ายแรงนั้น พวกผู้ชายที่มีความรับผิดชอบในประชาคมคงต้องพิจารณาเรื่องราวและตัดสินว่าผู้กระทำผิดควรถูก “ผูกมัด” (ถือว่ามีความผิด) หรือ “ปล่อยไว้” (ถูกตัดสินว่าพ้นผิด). ทั้งนี้หมายความว่าสวรรค์คงติดตามการตัดสินใจของมนุษย์กระนั้นหรือ? เปล่าเลย. ดังที่โรเบิร์ต ยัง ผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ชี้แจงว่า การตัดสินใจใด ๆ ที่พวกสาวกได้ทำลงไปนั้นคงจะติดตามการตัดสินของสวรรค์ หาใช่มาก่อนสวรรค์ไม่. เขาบอกว่า ควรอ่านข้อ 18 ตามตัวอักษรว่า สิ่งที่เจ้าผูกมัดบนแผ่นดินโลกโลก “จะเป็นดังที่ถูกผูกมัด (อยู่แล้ว)” ในสวรรค์.
ที่จริง ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์คนใดสามารถทำการตัดสินใจอย่างที่จะผูกมัดบรรดาผู้ที่อยู่ในศาลทางภาคสวรรค์. นับว่ามีเหตุผลมากกว่านักที่จะกล่าวว่า ตัวแทนที่ถูกแต่งตั้งของพระคริสต์จะติดตามการชี้นำของพระองค์เพื่อที่จะรักษาประชาคมให้สะอาด. พวกเขาจะกระทำเช่นนี้โดยทำการตัดสินใจที่อาศัยหลักการที่วางไว้ในสวรรค์อยู่แล้ว. พระเยซูเองจะนำเขาในการทำเช่นนี้.—มัดธาย 18:20.
มนุษย์คนใดสามารถ “เป็นตัวแทนของพระคริสต์ในฐานะผู้พิพากษาเยี่ยงบิดา” ถึงขีดที่ตัดสินอนาคตถาวรของเพื่อนผู้นมัสการได้ไหม? (นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย) บาทหลวงที่ฟังคำสารภาพ แทบจะให้อภัยบาปอยู่เสมอ ถึงแม้ “ดูเหมือนว่าเป็นความเชื่อโดยที่ยังไม่พูดออกมา [ในท่ามกลางนักเทววิทยาคาทอลิก] ที่ว่ามีน้อยคนที่เสียใจอย่างแท้จริงต่อความบาปของเขา.” (เดอะ นิวเอ็นไซโคลพีเดีย บริแทนนิกา) ที่จริง เมื่อไรเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณได้ยินเรื่องบาทหลวงปฏิเสธการให้อภัยบาป หรือปฏิเสธที่จะตัดสินว่าผู้กระทำผิดนั้นพ้นบาป? ดูเหมือนว่า นี้เป็นเพราะบาทหลวงเป็นรายบุคคลมิได้คิดว่าเขามีความสามารถในการตัดสินว่าผู้ที่กระทำบาปนั้นกลับใจหรือไม่. แต่หากเป็นเช่นนี้ ทำไมเขาอ้างว่ามีอำนาจที่ให้อภัยบาป?
ขอให้นึกภาพศาลที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในศาลนั้น ผู้พิพากษาที่เมตตาสงสารตัดสินให้จำเลยพ้นโทษอยู่เป็นนิจสิน แม้แต่ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่เรื่อย ๆ เพราะเขาผ่านพิธีในการยอมรับความผิดของเขา แล้วบอกว่าเขาเสียใจ. ถึงแม้การทำเช่นนี้อาจสนองความพอใจของผู้กระทำผิดก็ตาม ทัศนะแห่งความเมตตาที่ถูกนำไปผิดทางเช่นนั้นคงจะบ่อนทำลายความนับถือต่อความยุติธรรมทีเดียว. เป็นได้ไหมที่การสารภาพบาปดังที่ปฏิบัติในคริสต์จักรคาทอลิกนั้นทำให้ประชาชนแข็งกระด้างขึ้นในแนวทางแห่งความบาป?—ท่านผู้ประกาศ 8:11.
โดยอาศัยประสบการณ์ของเธอในเรื่องการสารภาพบาปฐานะเป็นคาทอลิกตั้งแต่เธออายุเจ็ดขวบนั้น ราโมนาบอกว่า “การสารภาพบาปมิได้ก่อให้เกิดแนวโน้มใด ๆ ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงบาปในอนาคต.” เธอกล่าวเสริมว่า “การสารภาพบาปพัฒนาความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงให้อภัยไปเสียหมดทุกอย่าง และไม่ว่าเนื้อหนังอันไม่สมบูรณ์ของคุณชักนำคุณให้ทำอะไรก็ตาม พระองค์ก็จะทรงให้อภัย. นั่นมิได้พัฒนาความปรารถนาอันลึกซึ้งที่จะทำสิ่งถูกต้อง.”a
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกในโยฮัน 20:22, 23? ที่นั่นพระองค์แจ้งแก่พวกสาวกของพระองค์ว่า “จงให้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด. เพราะคนเหล่านั้นที่ท่านให้อภัยความผิดของเขา ความผิดนั้นก็ได้รับการอภัยแล้ว สำหรับคนเหล่านั้นที่ท่านไม่อภัยความผิดของเขา ความผิดนั้นก็ยังคงมีอยู่.” (เจบี) ในที่นี้ พระเยซูทรงมอบอำนาจให้พวกสาวกของพระองค์เป็นพิเศษที่จะให้อภัยบาปไหม?
ถ้าอ่านเฉพาะตอนนี้ ข้อคัมภีร์นั้นอาจดูเหมือนว่ากล่าวไว้เช่นนั้น. อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้พร้อมกับเรื่องราวที่มัดธาย 18:15-18 และสิ่งอื่นทุกอย่างที่พระคัมภีร์สอนในเรื่องการสารภาพบาป และการให้อภัยแล้ว เราต้องลงความเห็นประการใด? ลงความเห็นว่า ที่โยฮัน 20:22, 23 พระเยซูทรงมอบอำนาจให้พวกสาวกของพระองค์ที่จะขับไล่ผู้กระทำผิดร้ายแรงที่ไม่ยอมกลับใจนั้นออกไปจากประชาคม. ขณะเดียวกัน พระคริสต์ทรงมอบอำนาจให้พวกสาวกของพระองค์แผ่ความเมตตาและให้อภัยผู้กระทำผิดที่กลับใจ. แน่นอน พระเยซูมิได้ตรัสว่าพวกสาวกของพระองค์ควรสารภาพความผิดทุกอย่างต่อบาทหลวง.
ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความรับผิดชอบในประชาคมจึงได้รับอำนาจที่จะตัดสินว่าจะจัดการอย่างไรกับคนเหล่านั้นที่กระทำผิดอย่างร้ายแรง. การตัดสินดังกล่าวคงจะทำภายใต้การชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า และประสานกับการทรงนำของพระเจ้าที่ทรงประทานผ่านทางพระเยซูคริสต์และพระคัมภีร์บริสุทธิ์. (เปรียบเทียบกิจการ 5:1-5; 1 โกรินโธ 5:1-5, 11–13.) โดยวิธีนี้ พวกผู้ชายที่มีความรับผิดชอบจะตอบรับเอาการชี้นำจากสวรรค์ หาใช่บีบบังคับยัดเยียดการตัดสินของเขาให้สวรรค์ไม่.
“จงสารภาพความบาปของท่านต่อกันและกัน”
ดังนั้นแล้ว เมื่อไรที่นับว่าเหมาะสมสำหรับคริสเตียนที่จะสารภาพบาปต่อกันและกัน? ในกรณีของบาปร้ายแรง (มิใช่ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกอย่าง) ปัจเจกบุคคลควรสารภาพต่อผู้ดูแลผู้มีความรับผิดชอบในประชาคม. ถึงแม้ว่าบาปนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หากแต่สติรู้สึกผิดชอบของผู้กระทำผิดรบกวนเขาเหลือเกิน ก็มีคุณประโยชน์มากทีเดียวในการสารภาพบาป และแสวงหาความช่วยเหลือทางฝ่ายวิญญาณ.
ยาโกโบผู้เขียนพระคัมภีร์กล่าวในเรื่องนี้ว่า “หากคนหนึ่งในพวกท่านป่วย [ทางฝ่ายวิญญาณ] เขาควรเรียกผู้ปกครองในคริสต์จักรมา และพวกเขาต้องเอาน้ำมันทาเขาในนามของพระผู้เป็นเจ้า และอธิษฐานเกี่ยวด้วยเขา. คำอธิษฐานด้วยความเชื่อจะช่วยคนป่วยนั้น และองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำให้เขาฟื้นตัวขึ้นอีก และถ้าเขาได้กระทำบาปใด ๆ เขาจะได้รับการให้อภัย. ดังนั้น จงสารภาพบาปของท่านต่อกันและกันและอธิษฐานเผื่อกันและกัน.”—ยาโกโบ 5:14-16, เจบี.
ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ไม่มีข้อเสนอแนะในเรื่องการสารภาพบาปเป็นทางการ ตามพิธี และกระซิบกระซาบ. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว เมื่อคริสเตียนมีภาระหนักเกี่ยวด้วยความผิดจนกระทั่งเขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถอธิษฐานได้ เขาควรเรียกผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่ได้รับการแต่งตั้งของประชาคมมา และพวกเขาจะอธิษฐานด้วยกันกับเขา. เพื่อช่วยเขาให้หายป่วยทางฝ่ายวิญญาณ พวกเขาจะนำน้ำมันแห่งพระวจนะของพระเจ้ามาใช้ด้วย.—บทเพลงสรรเสริญ 141:5; เปรียบเทียบลูกา 5:31, 32; วิวรณ์ 3:18.
ที่น่าสังเกตก็คือคำตักเตือนของโยฮันผู้ให้บัพติสมาที่ว่า “จงประพฤติให้ผลสมกับใจซึ่งกลับเสียใหม่.” (มัดธาย 3:8; เปรียบเทียบกิจการ 26:20.) ผู้กระทำผิดที่กลับใจอย่างแท้จริงละทิ้งแนวทางผิดบาปของเขา. เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิดแห่งยิศราเอลโบราณ ผู้กระทำบาปที่กลับใจซึ่งได้สารภาพความผิดของตนต่อพระเจ้าจะได้รับการอภัย. ดาวิดเขียนว่า “บาปของข้าพเจ้า ๆ ทูลสารภาพต่อพระองค์ และไม่ได้ปิดบังซ่อนการอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้าไว้. ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า ‘การล่วงละเมิดนั้น ข้าพเจ้าจะรับสารภาพต่อพระยะโฮวา.’ และพระองค์ได้ทรงโปรดยกความอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้าเสีย.”—บทเพลงสรรเสริญ 32:5.
การบำเพ็ญทุกข์เพื่อไถ่บาปไม่สามารถทำให้ผู้กระทำบาปได้รับการอภัยดังกล่าวได้. เฉพาะแต่พระเจ้าองค์เดียวที่ทรงให้อภัยบาปได้. พระองค์ทรงคำนึงถึงข้อเรียกร้องในเรื่องความยุติธรรมที่สมบูรณ์พร้อม แต่การให้อภัยของพระองค์แสดงถึงความรักของพระองค์ต่อมนุษยชาติ. การอภัยของพระองค์เป็นการสำแดงถึงความกรุณาอันไม่พึงได้รับที่อาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ และแผ่ไปถึงเฉพาะแต่ผู้กระทำบาปที่กลับใจผู้ซึ่งได้หันหนีจากสิ่งที่ไม่ดีในสายพระเนตรของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 51:7; ยะซายา 1:18; โยฮัน 3:16; โรม 3:23-26) เฉพาะคนเหล่านั้นที่ได้รับการให้อภัยจากพระยะโฮวาพระเจ้าจะได้รับชีวิตถาวร. และเพื่อได้รับการอภัยดังกล่าว เราต้องสารภาพบาปตามวิธีของพระเจ้า มิใช่วิธีของมนุษย์.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อเปรียบเทียบ โปรดดูมาระโก 3:29; เฮ็บราย 6:4-6; 10:26; ในข้อคัมภีร์เหล่านี้ ผู้เขียนพระคัมภีร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้ามิทรงให้อภัยบาปทุกอย่าง.
[รูปภาพหน้า 7]
ดาวิดสารภาพบาปต่อพระยะโฮวา ผู้ประทานการให้อภัย