จงภักดีต่อพระคริสต์และทาสสัตย์ซื่อของพระองค์
“นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.”—มัดธาย 24:45-47, ล.ม.
1, 2. (ก) พระคัมภีร์ระบุว่าใครเป็นผู้นำของเรา? (ข) อะไรแสดงว่าพระคริสต์ทรงนำประชาคมคริสเตียนอย่างขันแข็ง?
“อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า ‘ผู้นำ’ เพราะผู้นำของท่านมีแต่ผู้เดียวคือพระคริสต์.” (มัดธาย 23:10, ล.ม.) ด้วยถ้อยคำดังกล่าว พระเยซูทรงแสดงให้เหล่าสาวกเห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีใครในโลกที่จะเป็นผู้นำของพวกเขา. ผู้นำเพียงผู้เดียวของพวกเขาจะอยู่ในสวรรค์ คือพระเยซูคริสต์เอง. พระเยซูทรงอยู่ในตำแหน่งนี้โดยการแต่งตั้งจากพระเจ้า. พระยะโฮวา “ทรงบันดาลให้พระองค์เป็นขึ้นมาจากตาย . . . ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัตรแห่งคริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์.”—เอเฟโซ 1:20-23.
2 เนื่องจากพระคริสต์ทรงเป็น “ประมุขเหนือสิ่งสารพัตร” ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาคมคริสเตียน พระองค์ทรงใช้อำนาจเหนือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประชาคม. ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นภายในประชาคมที่เล็ดลอดการสังเกตของพระองค์. พระองค์ทรงคอยดูสภาพฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนแต่ละกลุ่มหรือประชาคมอย่างใกล้ชิด. เรื่องนี้เห็นได้ชัดในพระธรรมวิวรณ์ที่ประทานแก่อัครสาวกโยฮันเมื่อปลายศตวรรษแรก. พระเยซูตรัสกับประชาคมทั้งเจ็ดถึงห้าครั้งว่าพระองค์ทรงรู้จักการกระทำ, จุดดี, และจุดด้อยของพวกเขา อีกทั้งยังประทานคำแนะนำและการหนุนใจตามสภาพของแต่ละประชาคม. (วิวรณ์ 2:2, 9, 13, 19; 3:1, 8, 15) มีเหตุผลเต็มเปี่ยมที่จะเชื่อว่าพระคริสต์ทรงคุ้นเคยดีไม่น้อยกว่านั้นกับสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมอื่นในเอเชียน้อย, ปาเลสไตน์, ซีเรีย, บาบิโลเนีย, กรีซ, อิตาลี, และที่อื่น ๆ. (กิจการ 1:8) ในทุกวันนี้ล่ะเป็นอย่างไร?
ทาสสัตย์ซื่อ
3. เหตุใดจึงเหมาะสมที่จะเปรียบเทียบว่าพระคริสต์เป็นศีรษะและประชาคมของพระองค์เป็นกาย?
3 หลังจากคืนพระชนม์แล้วและไม่นานก่อนที่จะขึ้นไปหาพระบิดาในสวรรค์ พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี, ในแผ่นดินโลกก็ดี ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว.” พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “นี่แหละ, เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปเป็นนิตย์กว่าจะสิ้นโลก.” (มัดธาย 28:18-20) พระองค์จะทรงอยู่กับพวกเขาเรื่อยไปในฐานะประมุขที่นำหน้าอย่างแข็งขัน. ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์และโกโลซาย อัครสาวกเปาโลเปรียบประชาคมคริสเตียนกับ “กาย” ซึ่งมีพระคริสต์เป็นศีรษะ (ประมุข). (เอเฟโซ 1:22, 23; โกโลซาย 1:18) คัมภีร์ไบเบิลของเคมบริดจ์สำหรับโรงเรียนและวิทยาลัย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า คำอุปมาอุปไมยนี้ “แนะให้นึกถึงไม่เพียงแค่การร่วมสามัคคีกับประมุข (ศีรษะ) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่ยังแนะให้นึกถึงด้วยว่าประมุขเป็นผู้บังคับบัญชาหรือชี้นำสมาชิกของประชาคม (อวัยวะของกาย). พวกเขาเป็นเครื่องมือของพระองค์.” พระคริสต์ทรงใช้คนกลุ่มไหนเป็นเครื่องมือของพระองค์นับตั้งแต่ที่ทรงได้รับอำนาจแห่งราชอาณาจักรในปี 1914?—ดานิเอล 7:13, 14.
4. ตามที่มีบอกล่วงหน้าไว้ในคำพยากรณ์ของมาลาคี พระยะโฮวาและพระคริสต์เยซูทรงสังเกตเห็นอะไรเมื่อพระองค์ทั้งสองเสด็จมาตรวจตราพระวิหารฝ่ายวิญญาณ?
4 คำพยากรณ์ของมาลาคีบอกล่วงหน้าว่าพระยะโฮวา “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้” พร้อมกับ “ทูตแห่งสัญญาไมตรี” ของพระองค์ซึ่งก็คือพระคริสต์เยซู พระบุตรซึ่งเพิ่งขึ้นครองบัลลังก์ จะมาพิพากษาและตรวจตรา “พระวิหาร” ของพระองค์อันได้แก่พระนิเวศฝ่ายวิญญาณแห่งการนมัสการ. ตามหลักฐานที่มีอยู่ “เวลากำหนด” ที่ ‘การพิพากษาราชนิเวศของพระเจ้า’ เริ่มต้นขึ้นในปี 1918.a (มาลาคี 3:1, ล.ม.; 1 เปโตร 4:17, ล.ม.) คนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนพระเจ้าและการนมัสการแท้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกถูกตรวจสอบอย่างเหมาะสม. คริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งได้สอนข้อเชื่อต่าง ๆ ที่ไม่ถวายเกียรติพระเจ้ามาหลายศตวรรษและได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการสังหารผู้คนมากมายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกปฏิเสธ. ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์แห่งคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณถูกทดสอบ, ถูกถลุงด้วยไฟ, และได้รับการรับรอง ได้กลายมาเป็นกลุ่มชนที่ “นำเครื่องบูชาอันถูกต้องถวายแด่พระเจ้า.”—มาลาคี 3:3, ฉบับแปลใหม่.
5. สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับ “การประทับ” ของพระองค์ ปรากฏว่า “ทาส” สัตย์ซื่อได้แก่ใคร?
5 สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของมาลาคี หมายสำคัญซึ่งประกอบด้วยหลายส่วนที่พระเยซูประทานแก่เหล่าสาวกทำให้พวกเขาสามารถรู้เวลา “การประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้” รวมถึงระบุได้ว่าใครคือกลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า “ทาส.” พระเยซูทรงบอกว่า “แท้จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของนาย เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ? ทาสผู้นั้นก็เป็นสุข ถ้าตอนที่นายมาถึง พบว่าเขากำลังทำอย่างนั้น! เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:3, 45-47, ล.ม.) เมื่อทรง “มาถึง” เพื่อตรวจตราชนจำพวก “ทาส” ในปี 1918 พระคริสต์ทรงพบชนที่เหลือผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณแห่งเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ซึ่งได้ใช้วารสารนี้มาตั้งแต่ปี 1879 รวมทั้งหนังสืออื่น ๆ ที่อาศัยหลักจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้ ‘อาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะ.’ พระองค์ทรงยอมรับพวกเขาในฐานะกลุ่มชนที่เป็นเครื่องมือ หรือ “ทาส” ของพระองค์ และในปี 1919 ได้มอบหมายพวกเขาให้ดูแลจัดการทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์บนแผ่นดินโลก.
การดูแลจัดการทรัพย์สมบัติทางแผ่นดินโลกของพระคริสต์
6, 7. (ก) พระเยซูทรงใช้คำอะไรอีกคำหนึ่งตรัสถึง “ทาส” สัตย์ซื่อ? (ข) การที่พระเยซูทรงใช้คำ “คนต้นเรือน” บอกเป็นนัยถึงอะไร?
6 ไม่กี่เดือนก่อนพระเยซูจะประทานคำพยากรณ์เรื่องหมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์ ซึ่งรวมถึงการดำรงอยู่ของ “ทาส” ที่เป็นตัวแทนพระองค์บนแผ่นดินโลก พระองค์ตรัสถึง “ทาส” นี้โดยใช้คำที่ต่างออกไปเล็กน้อยซึ่งให้ความกระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าทาส. พระเยซูทรงบอกดังนี้: “แท้จริง ใครเป็นคนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุม ซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลหมู่คนรับใช้ของนาย เพื่อคอยให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ? เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลบรรดาสิ่งของทั้งสิ้นของท่าน.”—ลูกา 12:42, 44, ล.ม.
7 ในที่นี้ ทาสถูกเรียกว่าคนต้นเรือน ซึ่งเป็นคำที่แปลจากคำกรีกหมายถึง “ผู้ดูแลบ้านหรือทรัพย์สินที่ดิน.” กลุ่มคนที่ทำหน้าที่คนต้นเรือนจะไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มผู้คงแก่เรียนที่อธิบายจุดต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากจะให้อาหารฝ่ายวิญญาณที่อุดมบริบูรณ์ “ในเวลาอันเหมาะ” แล้ว “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” จะได้รับแต่งตั้งให้ดูแลหมู่คนรับใช้ทั้งหมดของพระคริสต์และได้รับมอบหมายให้ดูแล “บรรดาสิ่งของทั้งสิ้นของท่าน” ซึ่งก็คือผลประโยชน์ทั้งสิ้นของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก. นั่นเกี่ยวข้องกับอะไร?
8, 9. ชนชั้นทาสได้รับแต่งตั้งให้ดูแล “สิ่งของ” อะไร?
8 หน้าที่รับผิดชอบของชนชั้นทาสเกี่ยวข้องกับการจัดการดูแลในเรื่องอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เหล่าสาวกของพระคริสต์ใช้เพื่อทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ของคริสเตียนลุล่วง เช่น สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา รวมถึงสถานนมัสการของพวกเขา—หอประชุมราชอาณาจักรและหอประชุมสำหรับการประชุมใหญ่—ทั่วโลก. สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นทาสยังคอยดูแลให้มีการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณโดยจัดให้มีระเบียบวาระการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ณ การประชุมประจำสัปดาห์ ตลอดจนการประชุมหมวดและการประชุมภาคเป็นประจำตามวาระ. ณ การชุมนุมเหล่านี้ มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล และให้การชี้นำที่เหมาะกับเวลาในเรื่องวิธีใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลในชีวิตประจำวัน.
9 หน้าที่รับผิดชอบของคนต้นเรือนยังเกี่ยวข้องกับการดูแลงานที่มีความสำคัญสูงสุดในการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” และการทำให้ “คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” นี่เกี่ยวข้องกับการสอนผู้คนให้ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่พระคริสต์ ประมุขของประชาคม มีรับสั่งให้ทำให้เสร็จสิ้นในสมัยอวสานนี้. (มัดธาย 24:14, ล.ม.; 28:19, 20, ล.ม.; วิวรณ์ 12:17) งานประกาศและสอนได้ก่อให้เกิด “ชนฝูงใหญ่” ที่เป็นสหายผู้ภักดีของชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” เหล่านี้ถูกนับอยู่ในกลุ่มคนที่เป็น “สิ่งของ” อันมีค่าที่พระคริสต์ทรงดูแลโดยทางทาสสัตย์ซื่อ.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ฮาฆี 2:7, ล.ม.
คณะกรรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทน
10. มีคนกลุ่มใดในศตวรรษแรกที่ทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ และนั่นส่งผลเช่นไรต่อประชาคมต่าง ๆ?
10 หน้าที่รับผิดชอบหนักของทาสสัตย์ซื่อนั้นเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากมายหลายประการ. ในประชาคมคริสเตียนยุคแรก อัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงเยรูซาเลมทำหน้าที่เป็นตัวแทน ทำการตัดสินใจเพื่อประชาคมคริสเตียนทั้งหมด. (กิจการ 15:1, 2) คำตัดสินทั้งหลายของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกถูกส่งไปยังประชาคมต่าง ๆ โดยทางจดหมายและตัวแทนที่เดินทาง. คริสเตียนในยุคแรกมีความยินดีที่ได้รับการชี้นำที่ชัดเจนนี้ และการที่พวกเขาเต็มใจร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองส่งเสริมให้เกิดสันติสุขและเอกภาพ.—กิจการ 15:22-31; 16:4, 5; ฟิลิปปอย 2:2.
11. พระคริสต์ทรงใช้ใครในทุกวันนี้ให้ชี้นำประชาคมของพระองค์ และเราควรมีทัศนะอย่างไรต่อคริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มนี้?
11 เช่นเดียวกับในสมัยคริสเตียนยุคแรก ๆ เหล่าผู้ดูแลซึ่งได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการปกครองแห่งเหล่าสาวกของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้. ด้วยราชอำนาจใน “พระหัตถ์เบื้องขวา” พระคริสต์ซึ่งเป็นประมุขของประชาคมทรงชี้นำชายผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ขณะที่พวกเขาดูแลเอาใจใส่งานราชอาณาจักร. (วิวรณ์ 1:16, 20) ในบันทึกเรื่องราวชีวิตของท่าน อัลเบิร์ต ชโรเดอร์ คนหนึ่งที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองยาวนานซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นเส้นทางชีวิตบนแผ่นดินโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ได้เขียนไว้ว่า “คณะกรรมการปกครองประชุมกันทุกวันพุธ โดยเปิดการประชุมด้วยคำอธิษฐานและขอการชี้นำจากพระวิญญาณของพระยะโฮวา. คณะกรรมการพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ทุกเรื่องที่จัดการและการตัดสินใจทุกอย่างสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้า.”b เราเชื่อมั่นได้ในคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เช่นนั้น. โดยคำนึงถึงพวกเขาเป็นพิเศษ เราควรใส่ใจคำสั่งของอัครสาวกเปาโล ที่ว่า “จงเชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาทของคนเหล่านั้นที่ปกครองท่านด้วยว่าท่านเหล่านั้นคอยระวังดูจิตต์วิญญาณของท่าน.”—เฮ็บราย 13:17.
แสดงความนับถือทาสสัตย์ซื่ออย่างเหมาะสม
12, 13. มีเหตุผลอะไรตามหลักพระคัมภีร์ที่จะแสดงความนับถือต่อชนชั้นทาส?
12 เหตุผลพื้นฐานสำหรับการแสดงความนับถืออย่างเหมาะสมต่อชนชั้นทาสสัตย์ซื่อคือ แท้จริงแล้วโดยทำเช่นนั้น เราแสดงความนับถือต่อนาย คือพระเยซูคริสต์. เปาโลเขียนถึงเหล่าผู้ถูกเจิมดังนี้: “คนที่ได้รับการทรงเรียกเมื่อเป็นไท คนนั้นเป็นทาสของพระคริสต์. พระเจ้าทรงซื้อพวกท่านด้วยราคาสูง.” (1 โกรินโธ 7:22, 23, ฉบับแปล 2002; เอเฟโซ 6:6) ด้วยเหตุนั้น เมื่อเรายอมรับการชี้นำจากทาสสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองของทาสนั้นอย่างภักดี เรากำลังยอมอยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์ผู้เป็นนายของทาสนั้น. การที่เราแสดงความนับถืออย่างเหมาะสมต่อเครื่องมือที่พระคริสต์ทรงใช้เพื่อดูแลสิ่งของทางแผ่นดินโลกของพระองค์เป็นวิธีหนึ่งที่เรา “รับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อถวายเกียรติยศแด่พระเจ้าพระบิดา.”—ฟิลิปปอย 2:11, ล.ม.
13 เหตุผลอีกประการหนึ่งตามหลักพระคัมภีร์ที่ควรแสดงความนับถือต่อทาสสัตย์ซื่อคือ มีคำพรรณนาโดยนัยว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกเป็น “วิหาร” ที่พระยะโฮวาทรงสถิตโดย “พระวิญญาณ.” เพราะเหตุนั้น จึงถือว่าพวกเขา “บริสุทธิ์.” (1 โกรินโธ 3:16, 17; เอเฟโซ 2:19-22) พระเยซูทรงมอบสิ่งของทางแผ่นดินโลกไว้ให้ชนชั้นพระวิหารอันบริสุทธิ์นี้ดูแล ซึ่งหมายความว่าสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างภายในประชาคมคริสเตียนเป็นของชนชั้นทาสนี้โดยเฉพาะ. ด้วยเหตุนี้ ทุกคนในประชาคมถือว่าเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาที่จะดำเนินตามและสนับสนุนการชี้นำที่มาจากทาสสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองของทาสนั้น. จริงทีเดียว “แกะอื่น” ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่จะช่วยชนชั้นทาสในการดูแลผลประโยชน์ของนาย.—โยฮัน 10:16.
ให้การสนับสนุนอย่างภักดี
14. ตามคำพยากรณ์ของยะซายา แกะอื่นเดินตามหลังชนชั้นทาสผู้ถูกเจิมและรับใช้ในฐานะ ‘กรรมกรที่ไม่รับค่าแรง’ อย่างไร?
14 การที่แกะอื่นยอมรับอำนาจของสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณอย่างถ่อมใจนั้นมีบอกไว้ล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของยะซายา ดังนี้: “พระยะโฮวาได้ตรัสดังนี้ว่า: ‘เหล่ากรรมกร [“ที่ไม่รับค่าแรง,” ล.ม.] ของประเทศอายฆุบโต, และพวกพ่อค้าของประเทศอายธิโอบ, กับหมู่คนล่ำสันของประเทศซีบา, จะพากันเข้ามารับใช้เจ้า, และจะเดินใส่โซ่ตรวนตามหลังเจ้าไป; เขาทั้งหลายจะกราบลงต่อหน้าเจ้า, เขาทั้งหลายจะวิงวอนร้องขอต่อเจ้าว่า, “พระเจ้าได้ทรงสถิตอยู่กับท่านแต่ผู้เดียวเท่านั้น, นอกนั้นไม่มีพระอื่นอีกแล้ว.”’ ” (ยะซายา 45:14) อาจกล่าวโดยนัยได้ว่า แกะอื่นในทุกวันนี้เดินตามหลังชนชั้นทาสผู้ถูกเจิมและคณะกรรมการปกครองของทาสนั้น โดยดำเนินตามการนำของพวกเขา. ในฐานะ ‘กรรมกรที่ไม่รับค่าแรง’ แกะอื่นเต็มใจใช้กำลังกายและกำลังทรัพย์ของตนเพื่อสนับสนุนงานประกาศทั่วโลกที่พระคริสต์มอบหมายให้เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ทำบนแผ่นดินโลก.—กิจการ 1:8; วิวรณ์ 12:17.
15. คำพยากรณ์ที่ยะซายา 61:5, 6 บอกล่วงหน้าอย่างไรถึงความสัมพันธ์ระหว่างแกะอื่นกับชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ?
15 แกะอื่นยินดีและหยั่งรู้ค่าที่ได้รับใช้พระยะโฮวาภายใต้การดูแลของชนชั้นทาสและคณะกรรมการปกครองของทาสนั้น. พวกเขายอมรับว่าชนผู้ถูกเจิมเป็นสมาชิก “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.) ในฐานะ “คนต่างถิ่น” และ “คนต่างด้าว” ที่สมทบกับชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ พวกเขารับใช้ด้วยความยินดีเป็น “คนไถนาและคนแต่งเถาองุ่น” ซึ่งอยู่ใต้การชี้นำของผู้ถูกเจิม “ปุโรหิตของพระเจ้า” และ “ผู้ปรนนิบัติของพระเจ้า.” (ยะซายา 61:5, 6, ฉบับแปลใหม่) พวกเขามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและในการทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก. พวกเขาให้ความช่วยเหลืออย่างสุดหัวใจแก่ชนชั้นทาสในการบำรุงเลี้ยงและการดูแลคนใหม่ ๆ ที่มีลักษณะเยี่ยงแกะ.
16. อะไรกระตุ้นแกะอื่นให้สนับสนุนทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอย่างภักดี?
16 แกะอื่นยอมรับว่าพวกเขาได้รับประโยชน์อย่างมากจากความพยายามอย่างขันแข็งของทาสสัตย์ซื่อในการจัดอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาให้พวกเขา. พวกเขาถ่อมใจยอมรับว่าหากไม่ใช่เพราะทาสสัตย์ซื่อและสุขุมแล้ว พวกเขาคงแทบไม่รู้หรือไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความจริงอันล้ำค่าในคัมภีร์ไบเบิล เช่น พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา, การทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, ราชอาณาจักร, ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่, จิตวิญญาณ, สภาพของคนตาย, และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์. ด้วยความหยั่งรู้ค่าและความภักดีอย่างแท้จริง แกะอื่นให้การสนับสนุนด้วยความรักแก่ “พี่น้อง” ผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกในช่วงอวสานนี้.—มัดธาย 25:40.
17. คณะกรรมการปกครองเห็นว่าจำเป็นต้องทำอะไร และจะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
17 เนื่องจากจำนวนของพวกเขาลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เหล่าผู้ถูกเจิมไม่สามารถอยู่ในทุกประชาคมเพื่อตรวจให้แน่ใจว่ามีการดูแลสิ่งของของพระคริสต์. ด้วยเหตุนั้น คณะกรรมการปกครองจึงแต่งตั้งผู้ชายจากกลุ่มแกะอื่นให้รับตำแหน่งต่าง ๆ ในการดูแลสำนักงานสาขา, ภาค, หมวด, และประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา. เจตคติของเราต่อรองผู้บำรุงเลี้ยงเหล่านี้ส่งผลต่อความภักดีของเราต่อพระคริสต์และทาสสัตย์ซื่อของพระองค์ไหม? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดในเรื่องนี้ โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มีนาคม 2004 หน้า 13-18 และฉบับ 1 ธันวาคม 1992 หน้า 13.
b ลงในวารสารนี้ ฉบับ 1 มีนาคม 1988 หน้า 10-17 (ภาษาอังกฤษ).
เพื่อทบทวน
• ใครคือผู้นำของเรา และอะไรแสดงว่าผู้นำนี้รู้สภาพภายในประชาคมต่าง ๆ?
• ในการตรวจตรา “พระวิหาร” พบว่าใครกำลังทำหน้าที่เป็นทาสสัตย์ซื่อ และมีการมอบสิ่งของอะไรไว้ให้พวกเขาดูแล?
• มีเหตุผลอะไรตามหลักพระคัมภีร์ที่ควรสนับสนุนทาสสัตย์ซื่ออย่างภักดี?
[ภาพหน้า 23]
“สิ่งของ” ที่ “คนต้นเรือน” ดูแลหมายรวมถึงทรัพย์สิน, ระเบียบวาระต่าง ๆ ที่เสริมสร้างฝ่ายวิญญาณ, และกิจการงานประกาศ
[ภาพหน้า 25]
สมาชิกแกะอื่นสนับสนุนชนชั้นทาสสัตย์ซื่อโดยการประกาศอย่างกระตือรือร้น