ความเป็นกลางของคริสเตียนในสมัยสุดท้าย
“พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 17:16, ล.ม.
1, 2. พระเยซูตรัสเช่นไรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสาวกของพระองค์กับโลก และคำตรัสของพระองค์ทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
ในคืนสุดท้ายของชีวิตพระองค์ในฐานะมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูได้กล่าวคำอธิษฐานที่ค่อนข้างยาวซึ่งเหล่าสาวกของพระองค์สามารถได้ยิน. ขณะที่อธิษฐานอยู่นั้น พระองค์ได้ตรัสบางสิ่งที่พรรณนาถึงชีวิตคริสเตียนแท้ทุกคน. พระองค์กล่าวถึงเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “ข้าพเจ้ามอบพระคำของพระองค์แก่พวกเขาแล้ว แต่โลกได้เกลียดชังเขา เพราะเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก. ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย. พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 17:14-16, ล.ม.
2 พระเยซูได้ตรัสถึงสองครั้งว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะไม่เป็นส่วนของโลก. ยิ่งกว่านั้น การอยู่ต่างหากจากโลกจะนำไปสู่ความตึงเครียด เพราะโลกจะเกลียดชังพวกเขา. ถึงกระนั้น คริสเตียนไม่จำเป็นต้องรู้สึกวิตกกังวล เพราะพระยะโฮวาจะพิทักษ์พวกเขาไว้. (สุภาษิต 18:10; มัดธาย 24:9, 13) เมื่อคำนึงถึงคำตรัสของพระเยซู เราอาจถามว่า ‘เหตุใดคริสเตียนแท้ไม่เป็นส่วนของโลก? การไม่เป็นส่วนของโลกหมายความว่าอะไร? ถ้าคริสเตียนเป็นที่เกลียดชังของโลก พวกเขามีทัศนะเช่นไรต่อโลก? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามีทัศนะเช่นไรต่อรัฐบาลต่าง ๆ ในโลก?’ คำตอบที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักสำหรับคำถามเหล่านี้นับว่าสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อเราทุกคน.
“เราเกิดจากพระเจ้า”
3. (ก) ทำไมเราจึงอยู่ต่างหากจากโลก? (ข) มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าโลกอยู่ “ในอำนาจตัวชั่วร้าย”?
3 เหตุผลอย่างหนึ่งที่เราไม่เป็นส่วนของโลกก็เพราะว่าเรามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “เรารู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า แต่โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) ถ้อยคำของโยฮันเกี่ยวกับโลกเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด. สงคราม, อาชญากรรม, ความทารุณ, การกดขี่ข่มเหง, ความไม่ซื่อสัตย์, และการผิดศีลธรรมที่แพร่หลายในทุกวันนี้ให้หลักฐานว่าโลกอยู่ใต้อิทธิพลของซาตาน ไม่ใช่ของพระเจ้า. (โยฮัน 12:31; 2 โกรินโธ 4:4; เอเฟโซ 6:12) เมื่อคนหนึ่งคนใดเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา เขาจะไม่ประพฤติหรือเห็นชอบกับกิจปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้น และนั่นทำให้เขาไม่เป็นส่วนของโลก.—โรม 12:2; 13:12-14; 1 โกรินโธ 6:9-11; 1 โยฮัน 3:10-12.
4. ในทางใดบ้างที่เราแสดงว่าเราเป็นของพระยะโฮวา?
4 ต่างกับโลกอย่างสิ้นเชิง โยฮันกล่าวว่าคริสเตียน “เกิดจากพระเจ้า.” ทุกคนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเป็นของพระองค์. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ไม่ว่าเราอยู่ เราก็อยู่เพื่อพระยะโฮวา และถ้าเราตาย เราก็ตายเพื่อพระยะโฮวา. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นของพระยะโฮวา.” (โรม 14:8, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 116:15) เนื่องจากเราเป็นของพระยะโฮวา เราจึงถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระองค์. (เอ็กโซโด 20:4-6, ล.ม.) ดังนั้น คริสเตียนแท้ไม่อุทิศชีวิตตนเพื่อส่งเสริมเป้าหมายบางอย่างของโลก. และขณะที่เขาไม่ดูหมิ่นสัญลักษณ์ประจำชาติ แต่เขาก็ไม่เคารพบูชาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือในความคิด. เขาไม่ยกย่องบูชานักกีฬาที่เด่นดังหรือคลั่งไคล้ดาราบันเทิง. แน่นอน คริสเตียนเคารพสิทธิของคนอื่น ๆ ที่จะทำตามที่พวกเขาประสงค์ แต่เขาจะนมัสการเฉพาะพระผู้สร้างแต่องค์เดียว. (มัดธาย 4:10; วิวรณ์ 19:10) นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้เขาอยู่ต่างหากจากโลก.
“ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้”
5, 6. การเป็นราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าทำให้เราอยู่ต่างหากจากโลกอย่างไร?
5 คริสเตียนคือผู้ติดตามพระคริสต์เยซูและเป็นราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า นั่นเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก. เมื่อพระเยซูอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าปนเตียว ปีลาต พระองค์ตรัสว่า “ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้. ถ้าราชอาณาจักรของเราเป็นส่วนของโลกนี้ บริวารของเราคงได้ต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบไว้กับพวกยิว. แต่ว่าราชอาณาจักรของเรามิได้มาจากแหล่งนี้.” (โยฮัน 18:36, ล.ม.) ราชอาณาจักรเป็นเครื่องมือที่จะทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, พิสูจน์ความชอบธรรมแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์, และทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างที่สำเร็จแล้วในสวรรค์. (มัดธาย 6:9, 10) ตลอดงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูทรงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และพระองค์ตรัสว่าการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะดำเนินต่อไปโดยเหล่าสาวกของพระองค์จนถึงอวสานของระบบนี้. (มัดธาย 4:23; 24:14) ในปี 1914 ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ในวิวรณ์ 11:15 (ล.ม.) ได้สำเร็จเป็นจริงที่ว่า “อาณาจักรของโลกได้กลายเป็นราชอาณาจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์จะทรงปกครองเป็นกษัตริย์ตลอดไปเป็นนิตย์.” ในอีกไม่ช้า ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จะเป็นอำนาจการปกครองเดียวเหนือมนุษยชาติ. (ดานิเอล 2:44) เมื่อถึงเวลาหนึ่ง แม้แต่บรรดาผู้ปกครองฝ่ายโลกก็จะต้องยอมรับอำนาจการปกครองนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 2:6-12.
6 เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ได้กล่าวไปทั้งหมด คริสเตียนแท้ในปัจจุบันจึงเป็นราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าและเชื่อฟังคำแนะนำของพระเยซูที่ให้ ‘แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนเสมอไป.’ (มัดธาย 6:33, ล.ม.) การทำอย่างนั้นไม่ได้ทำให้คริสเตียนไม่ภักดีต่อประเทศที่เขาอาศัยอยู่ แต่ทำให้พวกเขาอยู่ต่างหากจากโลกในความหมายฝ่ายวิญญาณ. งานหลักของคริสเตียนในปัจจุบันเหมือนกันกับในศตวรรษแรกคือ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (กิจการ 28:23, ล.ม.) ไม่มีรัฐบาลใดของมนุษย์มีสิทธิ์ขัดขวางงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้.
7. ทำไมคริสเตียนแท้วางตัวเป็นกลาง และพวกเขาแสดงให้เห็นอย่างไรในเรื่องนี้?
7 เนื่องจากพวกเขาเป็นของพระยะโฮวาและเป็นผู้ติดตามแบบอย่างพระเยซูและเป็นราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า พยานพระยะโฮวาจึงรักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งภายในหรือระหว่างชาติในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21. พวกเขาไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด, ไม่จับอาวุธต่อสู้ใคร, และไม่แพร่คำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ใด ๆ ในทางโลก. ในเรื่องของการแสดงความเชื่อที่โดดเด่นเมื่อเผชิญการต่อต้านที่ดูเหมือนยากจะต้านทานได้ พวกเขาติดตามหลักการตามที่ได้กล่าวแก่ผู้ปกครองนาซีของเยอรมนีในปี 1934 ที่ว่า “เราไม่สนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เราได้อุทิศตัวทั้งสิ้นให้แก่ราชอาณาจักรของพระเจ้าที่มีพระคริสต์เป็นกษัตริย์. เราจะไม่ทำอันตรายหรือทำร้ายใคร. เราพอใจที่จะอยู่อย่างสันติและทำการดีแก่คนทั้งปวงตราบเท่าที่เรามีโอกาส.”
ราชทูตและอุปทูตทำหน้าที่แทนพระคริสต์
8, 9. ในทางใดที่พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้เป็นราชทูตและอุปทูต และเรื่องนี้มีผลกระทบเช่นไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับชาติต่าง ๆ?
8 เปาโลกล่าวถึงตัวท่านเองและเพื่อนคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่าเป็น “ราชทูตทำหน้าที่แทนพระคริสต์ ราวกับพระเจ้าทรงวิงวอนโดยทางเรา.” (2 โกรินโธ 5:20, ล.ม.; เอเฟโซ 6:20) ตั้งแต่ปี 1914 คริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณซึ่งเป็น “เหล่าบุตร” แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการกล่าวถึงอย่างเหมาะสมว่าเป็นราชทูตแห่งราชอาณาจักรนั้น. (มัดธาย 13:38, ล.ม.; ฟิลิปปอย 3:20; วิวรณ์ 5:9, 10) นอกจากนี้ พระยะโฮวายังได้นำ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” คริสเตียนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก ออกจากชนทุกชาติเพื่อสนับสนุนงานด้านการทูตของเหล่าบุตรที่ได้รับการเจิม. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) “แกะอื่น” เหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “อุปทูต” แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.
9 เอกอัครราชทูตและคณะเจ้าหน้าที่ทางการทูตของเขาจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่. คล้ายคลึงกัน คริสเตียนรักษาตัวเป็นกลางในกิจการทางการเมืองของชาติต่าง ๆ ในโลก. พวกเขาไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือต่อต้านกลุ่มชนใด ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีสัญชาติ, เชื้อชาติ, ฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจเช่นไร. (กิจการ 10:34, 35) ตรงกันข้าม พวกเขา “กระทำการดีแก่คนทั้งปวง.” (ฆะลาเตีย 6:10) ความเป็นกลางของพยานพระยะโฮวาทำให้ไม่มีใครจะปฏิเสธข่าวสารของพวกเขาได้โดยอ้างอย่างที่ฟังขึ้นว่าพวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายตรงข้ามในความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ, สัญชาติ, หรือเผ่าพันธุ์.
ถูกระบุตัวด้วยความรัก
10. ความรักสำคัญเพียงไรสำหรับคริสเตียน?
10 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว คริสเตียนเป็นกลางในกิจการต่าง ๆ ของโลกก็เพราะเขามีสัมพันธภาพกับคริสเตียนคนอื่น ๆ. พระเยซูตรัสแก่บรรดาผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) ความรักฉันพี่น้องเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นคริสเตียน. (1 โยฮัน 3:14) เหมือนกับสัมพันธภาพที่เขามีกับพระยะโฮวาและพระเยซู สัมพันธภาพที่คริสเตียนคนหนึ่งมีกับคริสเตียนคนอื่น ๆ ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง. ความรักของเขาไม่จำกัดอยู่แค่คนเหล่านั้นในประชาคมท้องถิ่นเท่านั้น. ความรักของเขาแผ่คลุมไปถึง “สังคมพี่น้องทั้งสิ้น . . . ในโลก.”—1 เปโตร 5:9, ล.ม.
11. ความรักที่พยานพระยะโฮวามีต่อกันและกันมีผลต่อความประพฤติของพวกเขาอย่างไร?
11 ในทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาแสดงความรักฉันพี่น้องโดยปฏิบัติตามถ้อยคำในยะซายา 2:4 ที่ว่า “เขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง; ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” เนื่องจากได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา คริสเตียนแท้จึงอยู่อย่างสันติกับพระเจ้าและมีสันติสุขต่อกัน. (ยะซายา 54:13, ล.ม.) เพราะพวกเขารักพระเจ้าและพี่น้องของตน จึงเป็นเรื่องเหลือคิดที่พวกเขาจะจับอาวุธต่อสู้เพื่อนคริสเตียนของตนหรือคนใด ๆ ในประเทศอื่น. สันติสุขและเอกภาพของพวกเขาเป็นส่วนสำคัญแห่งการนมัสการ เป็นหลักฐานแสดงว่าพวกเขามีพระวิญญาณของพระเจ้าอย่างแท้จริง. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1, ล.ม.; มีคา 2:12, ล.ม.; มัดธาย 22:37-39; โกโลซาย 3:14) พวกเขา “แสวงหาความสงบสุขและติดตามไป” เนื่องจากทราบว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:14, 15.
ทัศนะที่คริสเตียนมีต่อโลก
12. ทัศนะเช่นไรของพระยะโฮวาต่อผู้คนในโลกซึ่งพยานพระยะโฮวาเลียนแบบ และโดยวิธีใด?
12 พระยะโฮวาได้ประกาศคำพิพากษาอย่างที่เป็นผลร้ายต่อโลกนี้ไปแล้ว แต่พระองค์ยังไม่ได้พิพากษาตัดสินผู้คนทั้งสิ้นในโลก. พระองค์จะทำอย่างนั้นโดยทางพระเยซูในเวลากำหนดของพระองค์เอง. (บทเพลงสรรเสริญ 67:3, 4; มัดธาย 25:31-46; 2 เปโตร 3:10) ในระหว่างนี้ พระองค์ทรงแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติ. พระองค์ถึงกับประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 3:16) ในฐานะคริสเตียน เราเลียนแบบความรักของพระเจ้าโดยการบอกคนอื่น ๆ ถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อความรอด แม้ว่าบ่อยครั้งที่ความพยายามของเราได้รับการบอกปัด.
13. เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้ปกครองฝ่ายโลก?
13 เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้ปกครองฝ่ายโลก? เปาโลตอบคำถามดังกล่าวเมื่อท่านเขียนว่า “จงให้ทุกจิตวิญญาณยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า; อำนาจต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” (โรม 13:1, 2, ล.ม.) มนุษย์ครองอำนาจในตำแหน่ง “สูงต่ำ” (สูงกว่าหรือต่ำกว่าเมื่อเทียบกันเอง แต่ต่ำกว่าพระยะโฮวาเสมอ) เนื่องจากองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการยินยอมให้พวกเขามีอำนาจเหล่านั้น. คริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจฝ่ายบ้านเมืองเนื่องจากนั่นเป็นแง่มุมหนึ่งของการเชื่อฟังพระยะโฮวา. แต่จะว่าอย่างไรหากมีความขัดแย้งกันระหว่างข้อเรียกร้องของพระเจ้ากับข้อเรียกร้องของรัฐบาลมนุษย์?
กฎหมายของพระเจ้าและของซีซาร์
14, 15. (ก) ดานิเอลหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจโดยวิธีใด? (ข) ชายหนุ่มฮีบรูสามคนเลือกจุดยืนเช่นไรเมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจ?
14 ดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านให้ตัวอย่างที่ดีถึงวิธีรักษาความสมดุลระหว่างการยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลมนุษย์กับการยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า. เมื่อเด็กหนุ่มชาวฮีบรูทั้งสี่คนถูกเนรเทศมาอยู่บาบิโลน พวกเขาเชื่อฟังกฎหมายของดินแดนนั้นและไม่นานพวกเขาก็ถูกเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรมพิเศษ. ดานิเอลตระหนักว่าการฝึกอบรมนั้นอาจนำไปสู่การฝ่าฝืนกฎหมายของพระยะโฮวา ท่านจึงปรึกษาเรื่องนั้นกับเจ้าพนักงานที่ดูแลรับผิดชอบ. ผลคือ มีการจัดเตรียมเป็นพิเศษเพื่อคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบของเด็กหนุ่มชาวฮีบรูทั้งสี่คนนี้. (ดานิเอล 1:8-17) พยานพระยะโฮวาติดตามตัวอย่างของดานิเอลเมื่อพวกเขาอธิบายทัศนะของตนอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ไม่จำเป็น.
15 อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจ. กษัตริย์บาบิโลนตั้งรูปปั้นขนาดมหึมาบนที่ราบดูราและออกคำสั่งให้ข้าราชการระดับสูงและนักปกครองประจำเขตปกครองทุกคนมาร่วมชุมนุมเพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองรูปปั้นนั้น. จนถึงขณะนั้น เพื่อนสามคนของดานิเอลได้รับการแต่งตั้งเป็นนักปกครองประจำเขตปกครองในบาบิโลน ดังนั้น คำสั่งของกษัตริย์จึงมีผลบังคับต่อพวกเขาด้วย. ณ ตอนหนึ่งของพิธี ทุกคนที่เข้าร่วมชุมนุมต้องก้มกราบต่อรูปปั้น. แต่ชาวฮีบรูเหล่านี้รู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 5:8-10) ดังนั้น เมื่อทุกคนก้มกราบ พวกเขายังคงยืนอยู่. โดยการขัดขืนคำสั่งของกษัตริย์ พวกเขาทำให้ตนเองเสี่ยงต่อความตายอย่างน่าสะพรึงกลัว และพวกเขารอดชีวิตได้โดยการอัศจรรย์เท่านั้น; แต่พวกเขาเลือกที่จะเสี่ยงต่อการตายมากกว่าที่จะไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา.—ดานิเอล 2:49–3:29.
16, 17. เหล่าอัครสาวกตอบอย่างไรเมื่อถูกห้ามไม่ให้ประกาศ และทำไม?
16 ในศตวรรษแรก เหล่าอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ถูกเรียกตัวไปอยู่ต่อหน้าพวกผู้นำชาวยิวในกรุงเยรูซาเลมและถูกห้ามไม่ให้ประกาศในพระนามพระเยซู. พวกเขาทำเช่นไร? พระเยซูทรงมอบหมายพวกเขาให้ช่วยผู้คนจากทุกชาติเข้ามาเป็นสาวก รวมทั้งคนในแคว้นยูเดียด้วย. พระองค์ยังบอกพวกเขาให้เป็นพยานฝ่ายพระองค์ในกรุงเยรูซาเลมและในส่วนที่เหลือทั้งหมดของโลก. (มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8) เหล่าอัครสาวกรู้ว่าพระบัญชาของพระเยซูเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพวกเขา. (โยฮัน 5:30; 8:28) ดังนั้น พวกเขาจึงตอบว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 4:19, 20; 5:29, ล.ม.
17 เหล่าอัครสาวกไม่ได้เป็นพวกขัดขืนอำนาจบ้านเมือง. (สุภาษิต 24:21) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ห้ามไม่ให้พวกเขาทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พวกเขาคงกล่าวได้แต่เพียงว่า ‘เราจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่ามนุษย์.’ พระเยซูได้ตรัสว่าเราควร “คืนของของซีซาร์แก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าจงคืนแด่พระเจ้า.” (มาระโก 12:17, ล.ม.) หากเราไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าเพราะมนุษย์บอกให้เราทำอย่างนั้น เราก็กำลังให้ของที่เป็นของพระเจ้าแก่มนุษย์. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราคืนทุกสิ่งที่เป็นของซีซาร์ให้แก่ซีซาร์ แต่เรายอมรับว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระยะโฮวา. พระองค์เป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ, เป็นพระผู้สร้าง, และเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจทั้งมวล.—วิวรณ์ 4:11.
เราจะยืนหยัดมั่นคง
18, 19. พี่น้องของเราหลายคนได้วางตัวอย่างที่ดีเช่นไรในการยืนหยัดมั่นคง และเราจะเลียนแบบอย่างพวกเขาได้อย่างไร?
18 ในปัจจุบัน รัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกยอมรับฐานะความเป็นกลางของพยานพระยะโฮวา และเรารู้สึกขอบคุณในเรื่องนั้น. อย่างไรก็ตาม ในบางดินแดน พยานฯ ประสบการต่อต้านอย่างรุนแรง. ตลอดศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พี่น้องชายหญิงของเราบางคนได้ออกแรงต่อสู้อย่างหนัก ในความหมายฝ่ายวิญญาณ พวกเขาเข้าใน “การสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ.”—1 ติโมเธียว 6:12, ล.ม.
19 เราจะยืนหยัดมั่นคงเหมือนอย่างพวกเขาได้อย่างไร? ประการแรก เราต้องคาดหมายว่าจะประสบการต่อต้าน. เราไม่ควรหวั่นวิตกหรือแม้แต่ประหลาดใจหากเจอการต่อต้าน. เปาโลเตือนติโมเธียวว่า “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.; 1 เปโตร 4:12) ในโลกที่ซาตานแผ่อิทธิพลครอบงำไปทั่ว เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะไม่ เจอการต่อต้านเลย? (วิวรณ์ 12:17) ตราบใดที่เรารักษาความซื่อสัตย์ จะมีบางคนเสมอที่ ‘ฉงนและกล่าวร้ายเราอยู่เรื่อยไป.’—1 เปโตร 4:4, ล.ม.
20. เราได้รับการเตือนให้นึกถึงความจริงอะไรที่เสริมกำลัง?
20 ประการที่สอง เราเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาและเหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์จะเกื้อหนุนเรา. เหมือนอย่างที่อะลีซาแห่งยุคโบราณได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่อยู่ฝ่ายเราก็มากกว่าที่อยู่ฝ่ายเขา.” (2 กษัตริย์ 6:16; บทเพลงสรรเสริญ 34:7) อาจเป็นได้ว่าพระยะโฮวาทรงปล่อยให้ความกดดันจากผู้ต่อต้านมีอยู่ต่อไปสักระยะหนึ่งเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่ดีของพระองค์. แต่ถึงกระนั้น พระองค์จะทรงประทานกำลังที่จำเป็นแก่เราเสมอเพื่อจะอดทนได้. (ยะซายา 41:9, 10) บางคนได้สูญเสียชีวิต แต่นั่นก็ไม่ทำให้เราหวาดหวั่น. พระเยซูตรัสว่า “อย่ากลัวคนเหล่านั้นที่ฆ่าร่างกายแต่ไม่สามารถฆ่าจิตวิญญาณ; แต่จงกลัวท่านผู้นั้นที่สามารถทำลายทั้งจิตวิญญาณและร่างกายได้ในเกเฮนนา.” (มัดธาย 10:16-23, 28, ล.ม.) เราเป็นเพียง “ผู้อาศัยชั่วคราว” ในระบบนี้. เราใช้เวลาของเราขณะนี้เพื่อจะ “ยึดเอาชีวิตแท้ให้มั่น” นั่นคือชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ของพระเจ้า. (1 เปโตร 2:11, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.) ไม่มีมนุษย์คนใดจะพรากเอารางวัลนี้ไปจากเราได้ตราบใดที่เรายังคงรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า.
21. เราควรระลึกถึงสิ่งใดอยู่เสมอ?
21 ดังนั้น ให้เราระลึกเสมอว่าเรามีสัมพันธภาพอันล้ำค่ากับพระยะโฮวาพระเจ้า. ขอให้เราหยั่งรู้ค่าผลประโยชน์จากการเป็นสาวกของพระคริสต์และราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระองค์เสมอ. ขอให้เรารักพี่น้องของเราอย่างสุดหัวใจ และชื่นชมยินดีอยู่เสมอในความรักที่พวกเขามีให้เรา. เหนือสิ่งอื่นใด ให้เราเอาใจใส่ถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:14; ยะซายา 54:17) เช่นนั้นแล้ว เหมือนกับคริสเตียนที่ซื่อสัตย์จำนวนนับไม่ถ้วนที่อยู่ก่อนหน้าเรา เราจะยืนหยัดมั่นคงด้วยความหวังที่แน่นอน เป็นคริสเตียนซื่อสัตย์ที่รักษาความเป็นกลางซึ่งไม่เป็นส่วนของโลก.
คุณอธิบายได้ไหม?
• สัมพันธภาพที่เรามีกับพระยะโฮวาทำให้เราอยู่ต่างหากจากโลกอย่างไร?
• ในฐานะราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า เรารักษาฐานะที่เป็นกลางในโลกนี้อย่างไร?
• ในทางใดบ้างที่ความรักของเราต่อพี่น้องช่วยเรารักษาความเป็นกลางและอยู่ต่างหากจากโลก?
[ภาพหน้า 15]
การที่เรายอมตัวอยู่ใต้อำนาจราชอาณาจักรของพระเจ้าส่งผลกระทบเช่นไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก?
[ภาพหน้า 16]
ชาวฮูตูและทุตซีทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
[ภาพหน้า 17]
พี่น้องคริสเตียนชาวยิวและอาหรับ
[ภาพหน้า 17]
คริสเตียนชาวเซอร์เบีย, บอสเนีย, และโครเอเชียเพลิดเพลินกับมิตรภาพที่มีต่อกัน
[ภาพหน้า 18]
เราควรทำเช่นไรเมื่อผู้ปกครองฝ่ายโลกสั่งให้เราละเมิดกฎหมายของพระเจ้า?