พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโยฮัน
โยฮัน—“สาวกที่พระเยซูทรงรัก”—เป็นบุคคลสุดท้ายที่เขียนเรื่องราวที่ได้รับการดลใจเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระคริสต์. (โย. 21:20) ข่าวดีที่เรียบเรียงโดยโยฮัน ซึ่งได้รับการเขียนประมาณปี ส.ศ. 98 บันทึกรายละเอียดซึ่งแทบจะไม่ได้ปรากฏเลยในข่าวดีอื่น ๆ อีกสามเล่ม.
อัครสาวกโยฮันเขียนข่าวดีของท่านด้วยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน. เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านบันทึก ท่านกล่าวว่า “เรื่องนี้เขียนไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และเพราะพวกท่านเชื่อ พวกท่านจะได้รับชีวิตเนื่องด้วยพระนามของพระองค์.” (โย. 20:31) เนื้อหาในพระธรรมนี้มีค่ายิ่งสำหรับเราจริง ๆ.—ฮีบรู 4:12.
“ดูสิ พระเมษโปดกของพระเจ้า”
เมื่อเห็นพระเยซู โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ประกาศด้วยความมั่นใจว่า “ดูสิ พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป!” (โย. 1:29) ขณะที่พระเยซูทรงเดินทางตลอดทั่วซะมาเรีย, แกลิลี, ยูเดีย, และดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เพื่อประกาศ, สั่งสอน, และกระทำการอัศจรรย์ ทำให้ ‘คนมากมายมาหาพระองค์และมีความเชื่อในพระองค์.’—โย. 10:41, 42.
หนึ่งในการอัศจรรย์ที่โดดเด่นที่สุดที่พระเยซูทรงกระทำคือการปลุกลาซะโรให้ฟื้นขึ้นจากตาย. หลายคนได้แสดงความเชื่อในพระเยซูเมื่อพวกเขาเห็นชายที่ตายไปแล้วสี่วันกลับมีชีวิตอีก. อย่างไรก็ตาม ปุโรหิตใหญ่และพวกฟาริซายปรึกษากันที่จะฆ่าพระเยซู. ดังนั้น พระเยซูทรงออกจากที่นั่นไปยัง “บริเวณใกล้ ๆ ถิ่นทุรกันดาร เข้าไปในเมืองหนึ่งชื่อเอฟรายิม.”—โย. 11:53, 54.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:35, 40—นอกจากอันเดรอัส ใครเป็นสาวกอีกคนหนึ่งที่ยืนอยู่กับโยฮันผู้ให้บัพติสมา? ผู้เขียนได้อ้างถึงโยฮันผู้ให้บัพติสมาเสมอว่าเป็น “โยฮัน” และไม่เคยเปิดเผยชื่อของตนเองในข่าวดีที่ตนเขียน. ดังนั้น ดูเหมือนว่าสาวกที่ไม่เปิดเผยชื่อก็คือโยฮันผู้เรียบเรียงข่าวดี.
2:20—พระวิหารหลังไหน “ใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปี”? ชาวยิวพาดพิงถึงการบูรณะพระวิหารของซะรูบาเบลโดยกษัตริย์เฮโรดแห่งยูเดีย. นักประวัติศาสตร์โยเซฟุสได้ระบุว่างานบูรณะได้เริ่มในปีที่ 18 แห่งรัชกาลของเฮโรดหรือระหว่างปี 18 หรือ 17 ก่อน ส.ศ. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และส่วนที่สำคัญอื่น ๆ ของพระวิหารได้รับการสร้างในเวลาแปดปี. อย่างไรก็ตาม งานบูรณะส่วนอื่น ๆ ของพระวิหารยังดำเนินการมาจนกระทั่งหลังจากปัศคาปี ส.ศ. 30 ซึ่งเป็นเวลาเมื่อชาวยิวบอกว่าพระวิหารใช้เวลา 46 ปีในการสร้าง.
5:14—ความเจ็บป่วยเป็นผลจากการทำบาปหรือ? ไม่เสมอไป. ชายคนที่พระเยซูรักษาได้ป่วยมาเป็นเวลา 38 ปีเพราะความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับเป็นมรดก. (โย. 5:1-9) สิ่งที่พระเยซูหมายถึงคือตั้งแต่นี้ไป เมื่อชายคนนั้นได้รับความเมตตาแล้ว เขาต้องติดตามทางแห่งความรอดและไม่จงใจทำบาปอีก มิฉะนั้นเขาจะพบกับสิ่งที่เลวร้ายกว่าความเจ็บป่วย. ชายคนนั้นอาจกลายมามีความผิดโดยการทำบาปชนิดที่ให้อภัยไม่ได้ซึ่งคู่ควรกับความตายที่ไม่มีการกลับเป็นขึ้นมาอีก.—มัด. 12:31, 32; ลูกา 12:10; ฮีบรู 10:26, 27.
5:24, 25—ใครคือผู้ที่ ‘ผ่านพ้นความตายเข้าสู่ชีวิต’? พระเยซูกำลังตรัสถึงคนซึ่งเมื่อก่อนตายฝ่ายวิญญาณแต่เมื่อได้ยินพระคำของพระองค์ก็แสดงความเชื่อในพระองค์และหยุดจากการเดินในแนวทางที่ผิดบาปของตน. พวกเขา ‘ผ่านพ้นความตายเข้าสู่ชีวิต’ ในข้อที่ว่าการปรับโทษด้วยความตายของพวกเขาถูกยกเลิก และเขาได้รับความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์เพราะความเชื่อของพวกเขาในพระเจ้า.—1 เป. 4:3-6.
5:26; 6:53 (ฉบับแปลเก่า)—ถ้อยคำที่ว่ามี ‘ชีวิตในตัวเอง’ หมายความอย่างไร? สำหรับพระเยซูคริสต์ ข้อนี้หมายถึงการรับความสามารถสองประการจากพระเจ้า ได้แก่ ความสามารถที่จะให้มนุษยชาติมีฐานะที่ดีกับพระยะโฮวาและอำนาจที่จะประทานชีวิตโดยปลุกคนตายให้ฟื้น. สำหรับผู้ติดตามพระเยซู ‘การมีชีวิตในพวกเขา’ หมายถึงการเข้าสู่ชีวิตในความหมายที่ครบถ้วน. คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้เข้าสู่ชีวิตเช่นนั้นเมื่อพวกเขาถูกปลุกสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์. ผู้ซื่อสัตย์ที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกจะประสบความครบถ้วนของชีวิตเฉพาะเมื่อพวกเขาผ่านการทดลองครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากสิ้นสุดการปกครองหนึ่งพันปีของพระคริสต์.—1 โค. 15:52, 53; วิ. 20:5, 7-10.
6:64—พระเยซูทราบตั้งแต่ตอนที่เลือกยูดาอิสการิโอตไหมว่ายูดาจะทรยศพระองค์? ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทราบ. อย่างไรก็ตาม ณ โอกาสหนึ่งในปี ส.ศ. 32 พระเยซูตรัสกับเหล่าอัครสาวกว่า “คนหนึ่งในพวกเจ้ากลับเป็นคนใส่ร้ายผู้อื่น.” อาจเป็นไปได้ว่า ในตอนนั้นเองที่พระเยซูทรง “เริ่ม” สังเกตเห็นแนวทางที่ผิดของยูดาอิสการิโอต.—โย. 6:66-71.
บทเรียนสำหรับเรา:
2:4. พระเยซูกำลังชี้แจงกับมาเรียว่าในฐานะพระบุตรที่รับบัพติสมาและได้รับการเจิมจากพระเจ้า พระองค์ต้องรับคำสั่งจากพระบิดาฝ่ายสวรรค์. แม้ว่าพระเยซูเพิ่งเริ่มงานรับใช้ แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักอย่างเต็มที่ในเรื่องช่วงเวลาที่มีอยู่สำหรับงานที่ได้รับมอบหมายซึ่งก็รวมถึงการวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชา. แม้กระทั่งสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิด เช่น มาเรียก็ไม่อาจขัดขวางพระองค์ในการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า. เราควรรับใช้พระยะโฮวาเจ้าด้วยความมุ่งมั่นอย่างเดียวกันนั้น.
3:1-9. ตัวอย่างของนิโคเดมุสซึ่งเป็นผู้นำชาวยิว สอนบทเรียนสองประการแก่เรา. ประการแรก นิโคเดมุสแสดงความถ่อมใจ, ความหยั่งเห็น, และความสำนึกในความต้องการด้านวิญญาณของตนเอง โดยการยอมรับลูกชายของช่างไม้ผู้ต่ำต้อยว่าเป็นครูที่พระเจ้าส่งมา. ความถ่อมใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้. ประการที่สอง นิโคเดมุสไม่ยอมเข้ามาเป็นสาวกขณะที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก. บางทีอาจเป็นเพราะการกลัวมนุษย์, การยึดติดกับตำแหน่งของตนในศาลซันเฮดริน, หรือการรักสมบัติเงินทอง. จากเรื่องนี้เราจึงได้เรียนบทเรียนที่มีค่า: เราต้องไม่ปล่อยให้แนวโน้มดังกล่าวหน่วงเหนี่ยวเราไว้จากการ ‘แบกเสาทรมานของเราวันแล้ววันเล่าแล้วตามพระเยซูเรื่อยไป.’—ลูกา 9:23.
4:23, 24. เพื่อการนมัสการของเราจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า การนมัสการนั้นต้องสอดคล้องกับความจริงที่เปิดเผยในพระคัมภีร์และต้องได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.
6:27. ที่จะทำงานเพื่อได้ “อาหารที่คงอยู่ได้นานซึ่งทำให้ได้ชีวิตนิรันดร์” หมายถึงการใช้ความพยายามเพื่อสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา. เมื่อเราทำเช่นนี้ เราย่อมมีความสุข.—มัด. 5:3.
6:44. พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยในพวกเราเป็นส่วนตัว. พระองค์ชักนำเราแต่ละคนให้มายังพระบุตรของพระองค์โดยผ่านทางงานการประกาศและโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ช่วยเราให้เข้าใจความจริงฝ่ายวิญญาณและนำความจริงนั้นไปใช้.
11:33-36. การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ.
‘จงติดตามพระองค์ต่อ ๆ ไป’
ขณะที่เทศกาลปัศคาปี ส.ศ. 33 ใกล้เข้ามา พระเยซูทรงกลับมาที่หมู่บ้านเบทาเนีย. ในวันที่ 9 เดือนไนซาน พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมประทับบนหลังลูกลา. ในวันที่ 10 เดือนไนซาน พระเยซูกลับมาที่พระวิหารอีก. พระสุรเสียงจากสวรรค์ได้ตรัสตอบต่อคำอธิษฐานของพระองค์ที่ขอให้พระนามพระบิดาได้รับการสรรเสริญว่า “เราทำให้นามของเราได้รับการเทิดทูนแล้วและจะทำให้ได้รับการเทิดทูนอีก.”—โย. 12:28.
ขณะที่สาวกกำลังรับประทานอาหารปัศคา พระเยซูทรงให้คำแนะนำสำคัญเพราะพระองค์กำลังจะจากไปรวมทั้งทรงอธิษฐานเพื่อพวกเขา. หลังจากพระเยซูถูกจับ, ถูกทดลอง, และถูกตรึง พระองค์ได้รับการปลุกให้ฟื้นคืนพระชนม์.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
14:2—พระเยซูจะ “ไปเตรียมที่” ในสวรรค์สำหรับสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์อย่างไร? เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่พระเยซูทรงทำให้คำสัญญาใหม่มีผลบังคับใช้โดยทรงปรากฏพระองค์จำเพาะพระเจ้าและถวายคุณค่าแห่งพระโลหิตของพระองค์. การเตรียมการยังเกี่ยวข้องกับการที่พระคริสต์จะได้รับพระราชอำนาจ ซึ่งหลังจากนั้นการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ของเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมก็เริ่มขึ้น.—1 เทส. 4:14-17; ฮีบรู 9:12, 24-28; 1 เป. 1:19; วิ. 11:15.
19:11—พระเยซูทรงหมายถึงยูดาอิสการิโอตไหมเมื่อพระองค์ตรัสกับปีลาตเกี่ยวกับคนที่มอบพระองค์ไว้? แทนที่จะพาดพิงโดยตรงว่าเป็นยูดาหรือใครคนอื่น ดูเหมือนว่าพระเยซูกำลังหมายถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในความบาปแห่งการฆ่าพระองค์. คนเหล่านี้หมายรวมถึงยูดา, “พวกปุโรหิตใหญ่กับสมาชิกทุกคนของสภาซันเฮดริน,” และแม้กระทั่ง “ฝูงชน” ที่ถูกยุยงให้ขอปล่อยบารับบัส.—มัด. 26:59-65; 27:1, 2, 20-22.
20:17—ทำไมพระเยซูตรัสกับมาเรียมักดาลาไม่ให้รั้งพระองค์ไว้? ดูเหมือนว่ามาเรียเหนี่ยวรั้งพระเยซูเพราะเธอคิดว่าพระองค์กำลังจะเสด็จสู่สวรรค์และเธอจะไม่เห็นพระองค์อีก. พระเยซูรับรองกับเธอว่าพระองค์ยังไม่จากไป โดยบอกเธอให้หยุดรั้งพระองค์และไปบอกข่าวการกลับฟื้นคืนพระชนม์ให้กับเหล่าสาวก.
บทเรียนสำหรับเรา:
12:36. เพื่อจะได้เป็น “ลูกของความสว่าง” หรือผู้ถือความสว่าง เราจำต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้า. หลังจากนั้น เราต้องใช้ความรู้นั้นเพื่อนำคนอื่น ๆ ออกจากความมืดฝ่ายวิญญาณเข้าสู่ความสว่างของพระเจ้า.
14:6. ไม่มีทางอื่นที่เราจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้ายกเว้นโดยทางพระเยซูคริสต์. เฉพาะโดยการแสดงความเชื่อในพระเยซูและการติดตามตัวอย่างของพระองค์เท่านั้น เราจึงจะสามารถเข้าใกล้พระยะโฮวาได้.—1 เป. 2:21.
14:15, 21, 23, 24; 15:10. การเชื่อฟังพระเจ้าจะทำให้เราเป็นที่รักของพระองค์และของพระบุตรของพระองค์เสมอ.—1 โย. 5:3.
14:26; 16:13. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาทำหน้าที่ประหนึ่งครูและผู้เตือนความจำ. พระวิญญาณยังดำเนินการในการเปิดเผยความจริงด้วย. ดังนั้น พระวิญญาณสามารถช่วยเราให้เติบโตในความรู้, สติปัญญา, ความหยั่งเห็น, ดุลยพินิจ, และความสามารถในการคิด. เราจึงควรหมกมุ่นในการอธิษฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขอรับพระวิญญาณดังกล่าว.—ลูกา 11:5-13.
21:15, 19. พระเยซูตรัสถามเปโตรว่าท่านรักพระองค์มากกว่ารัก “ปลาเหล่านี้” ที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาหรือ. ด้วยวิธีนี้ พระเยซูจึงเน้นความจำเป็นที่เปโตรจะเลือกติดตามพระองค์เต็มเวลาแทนที่จะเลือกอาชีพจับปลา. หลังจากพิจารณาบันทึกข่าวดีเล่มต่าง ๆ ขอให้เรามั่นคงในการตัดสินใจของเราที่จะรักพระเยซูมากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่อาจดึงดูดใจเรา. ถูกแล้ว ขอให้เราติดตามพระองค์ต่อ ๆ ไปด้วยสิ้นสุดหัวใจของเรา.
[ภาพหน้า 31]
เราได้บทเรียนอะไรจากตัวอย่างของนิโคเดมุส?