เหล่าคริสเตียนพยานฯ ที่เป็นพลเมืองฝ่ายสวรรค์
“แต่เราเป็นพลเมืองของสวรรค์.”—ฟิลิปปอย 3:20, ฉบับประชานิยม.
1. พระยะโฮวาทรงมีพระประสงค์อันดีเยี่ยมอะไรเกี่ยวกับมนุษย์บางคน?
บุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์จะปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในสวรรค์ ปกครองทูตสวรรค์ด้วยซ้ำ. (1 โกรินโธ 6:2, 3; วิวรณ์ 20:6) ช่างเป็นความจริงอันน่าอัศจรรย์ใจอะไรเช่นนั้น! กระนั้น พระยะโฮวาทรงประสงค์เช่นนั้น และพระองค์ทรงกระทำให้สำเร็จโดยทางพระเยซูคริสต์ พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์. ทำไมพระผู้สร้างของเราจึงทรงกระทำกิจดังกล่าว? และความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบคริสเตียนสมัยนี้อย่างไร? ให้เราดูว่าคัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบอย่างไรสำหรับคำถามเหล่านี้?
2. โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ป่าวประกาศว่าพระเยซูจะทรงทำสิ่งใหม่อะไร และสิ่งใหม่นี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
2 เมื่อโยฮันผู้ให้บัพติสมาจัดเตรียมทางสำหรับพระเยซู ท่านได้ประกาศว่าพระเยซูจะทรงกระทำสิ่งใหม่บางอย่าง. บันทึกแจ้งว่า “[โยฮัน] ได้ประกาศว่า, ‘พระองค์ผู้จะเสด็จมาภายหลังเราเป็นใหญ่กว่าเราอีก, ซึ่งเราจะน้อมตัวลงแก้สายฉลองพระบาทของพระองค์ก็หาสมควรไม่. เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติสมาด้วยน้ำก็จริง, แต่พระองค์นั้นจะให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.’” (มาระโก 1:7, 8) ก่อนเวลานั้น ไม่มีผู้ใดได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. นั่นนับว่าเป็นการจัดเตรียมใหม่เกี่ยวข้องกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จวนได้รับการเปิดเผยอยู่แล้ว ที่จะเตรียมมนุษย์ไว้สำหรับการปกครองทางภาคสวรรค์.
“บังเกิดใหม่”
3. พระเยซูทรงชี้แจงสิ่งใหม่อะไรแก่นิโกเดโมซึ่งเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์?
3 ในการพบกันเป็นการส่วนตัวกับชาวฟาริซายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง พระเยซูได้ทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องนี้มากขึ้น. นิโกเดโมชาวฟาริซายได้มาหาพระเยซูตอนกลางคืน และพระเยซูได้ตรัสแก่เขาว่า “ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่แล้ว เขาจะเห็นราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้.” (โยฮัน 3:3, ล.ม.) นิโกเดโมในฐานะที่เป็นฟาริซายคนหนึ่งคงต้องเคยศึกษาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมาแล้ว จึงรู้บางอย่างเกี่ยวกับความจริงอันวิเศษเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระธรรมดานิเอลได้พยากรณ์ว่าจะมีการมอบราชอาณาจักรแก่ “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” และให้แก่ “เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น.” (ดานิเอล 7:13, 14, 27) ราชอาณาจักรนั้นจะ “ทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้นและจะดำรงอยู่เป็นนิตย์.” (ดานิเอล 2:44) นิโกเดโมคงจะนึกว่าคำพยากรณ์เหล่านี้จะสำเร็จเป็นจริงกับชาติยิว แต่พระเยซูได้ตรัสว่า ที่จะเห็นราชอาณาจักรนั้น คนเราต้องบังเกิดใหม่. นิโกเดโมไม่เข้าใจ ดังนั้น พระเยซูจึงตรัสต่อไปว่า “ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดจากน้ำและจากวิญญาณ เขาจะเข้าไปในราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้.”—โยฮัน 3:5, ล.ม.
4. สำหรับคนเหล่านั้นที่บังเกิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ สัมพันธภาพระหว่างพวกเขากับพระยะโฮวาจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
4 โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้พูดถึงการรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. มาบัดนี้ พระเยซูตรัสเสริมว่า คนเราต้องได้บังเกิด จากพระวิญญาณบริสุทธิ์หากว่าเขาจะเข้าสู่ราชอาณาจักรของพระเจ้า. โดยการกำเนิดเป็นพิเศษเฉพาะเช่นนี้ ชายหญิงผู้ไม่สมบูรณ์จึงเข้าสู่สัมพันธภาพพิเศษสุดกับพระเจ้ายะโฮวา. พวกเขากลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์. เราอ่านดังนี้: “เท่าที่ได้ต้อนรับ [พระเยซู] พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาได้สำแดงความเชื่อในพระนามของพระองค์; และเขามิได้เกิดมาจากเลือด หรือจากความประสงค์ของเนื้อหนัง หรือจากความประสงค์ของมนุษย์ แต่เกิดมาจากพระเจ้า.”—โยฮัน 1:12, 13, ล.ม.; โรม 8:15.
บุตรของพระเจ้า
5. สาวกผู้ซื่อสัตย์กลุ่มแรกได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อไร และเวลาเดียวกัน ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องอะไรจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เกิดขึ้น?
5 เมื่อพระเยซูตรัสแก่นิโกเดโม พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้สถิตกับพระเยซูอยู่แล้ว เจิมพระองค์ไว้ให้เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าในวันข้างหน้า และพระเจ้าก็ทรงยอมรับพระเยซูอย่างเปิดเผยว่าเป็นพระบุตรของพระองค์. (มัดธาย 3:16, 17) พระยะโฮวาทรงให้กำเนิดบุตรฝ่ายวิญญาณมากขึ้น ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33. สาวกผู้ซื่อสัตย์ที่ได้รวมตัวอยู่ ณ ห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลมต่างก็ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ขณะเดียวกัน พวกเขาเกิดใหม่จากพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. (กิจการ 2:2-4, 38; โรม 8:15) ยิ่งกว่านั้น เขาได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยจุดมุ่งหมายจะรับมรดกภายหน้าทางภาคสวรรค์ และจะได้รับตราประทับเบื้องแรกด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์แสดงความแน่นอนในเรื่องความหวังทางภาคสวรรค์.—2 โกรินโธ 1:21, 22.
6. จุดมุ่งหมายของพระยะโฮวาคืออะไรเกี่ยวด้วยราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ และเหตุใดจึงเป็นการเหมาะสมที่มนุษย์จะมีส่วนในราชอาณาจักรนี้ด้วย?
6 บุคคลเหล่านี้เป็นมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์พวกแรกที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้เข้าสู่ราชอาณาจักร. นั้นคือ หลังจากพวกเขาสิ้นชีวิตไปและถูกปลุกขึ้นจากตายแล้ว พวกเขาจะเข้ามามีส่วนกับองค์การราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ ซึ่งจะปกครองมนุษย์และบรรดาทูตสวรรค์. พระยะโฮวาทรงประสงค์ว่า โดยวิถีทางแห่งราชอาณาจักรนี้ พระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์จะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และพระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะรับการพิสูจน์ว่าถูกต้องต่อหน้าสรรพสิ่งทั้งปวง. (มัดธาย 6:9, 10; โยฮัน 12:28) เหมาะสมเพียงใดที่มนุษย์มีส่วนในราชอาณาจักรนั้น! ซาตานเคยใช้มนุษย์ตอนเริ่มแรกเมื่อมันท้าทายต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาในสวนเอเดน และเวลานี้พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายจะให้มนุษย์มีส่วนร่วมตอบโต้การท้าทายนั้น. (เยเนซิศ 3:1-6; โยฮัน 8:44) อัครสาวกเปโตรได้เขียนถึงบุคคลที่ถูกเลือกให้ปกครองในราชอาณาจักรดังนี้: “พระพรมีแด่พระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เพราะตามพระเมตตาอันใหญ่ยิ่งของพระองค์ พระองค์ได้ทรงให้เราบังเกิดใหม่เพื่อจะมีความหวังอันมีชีวิตอยู่โดยการปลุกพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นจากตาย เพื่อรับมรดกซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า ปราศจากมลทินและไม่ร่วงโรย. มรดกนั้นมีสงวนไว้ในสวรรค์สำหรับท่านทั้งหลาย.”—1 เปโตร 1:3, 4, ล.ม.
7. พวกที่รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์มีสัมพันธภาพอันเลอเลิศเช่นไรกับพระเยซู?
7 ในฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า คริสเตียนเหล่านี้ที่สรรไว้แล้วจึงกลายเป็นพี่น้องของพระเยซูคริสต์. (โรม 8:16, 17; 9:4, 26; เฮ็บราย 2:11) เนื่องจากพระเยซูได้พิสูจน์ตนเป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาที่ให้แก่อับราฮาม คริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณเหล่านี้จึงสมทบหรือเป็นส่วนอันดับรองของพงศ์พันธุ์นั้น ซึ่งจะถ่ายทอดพระพรมาสู่มนุษยชาติที่มีความเชื่อ. (เยเนซิศ 22:17, 18; ฆะลาเตีย 3:16, 26, 29) พระพรอะไร? นั่นก็คือโอกาสจะได้รับการไถ่บาปและกลับคืนดีกับพระเจ้า และรับใช้พระองค์ในปัจจุบันและตลอดไป. (มัดธาย 4:23; 20:28; โยฮัน 3:16, 36; 1 โยฮัน 2:1, 2) คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลกชี้นำบรรดาผู้มีหัวใจเป็นธรรมให้รับเอาพระพรนี้โดยให้การเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์พี่ชายฝ่ายวิญญาณของพวกเขาและถึงพระยะโฮวาพระเจ้าพระบิดาผู้อุปการะของเขา.—กิจการ 1:8; เฮ็บราย 13:15.
8. อะไรคือ “การปรากฏ” แห่งบรรดาบุตรที่รับกำเนิดโดยพระวิญญาณของพระเจ้า?
8 คัมภีร์ไบเบิลพูดถึง “การปรากฏ” แห่งบุตรเหล่านี้ของพระเจ้าที่รับกำเนิดโดยพระวิญญาณ. (โรม 8:19) โดยการเข้าสู่ราชอาณาจักรฐานะเป็นกษัตริย์สมทบกับพระเยซู พวกเขาจึงมีส่วนในการทำลายระบบโลกของซาตาน. หลังจากนั้น เป็นเวลาหนึ่งพันปี เขาช่วยนำผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่มาสู่มนุษยชาติ และด้วยวิธีนี้จึงยกระดับเผ่าพันธุ์มนุษย์กระทั่งบรรลุความสมบูรณ์ซึ่งอาดามทำให้สูญเสียไป. (2 เธซะโลนิเก 1:8-10; วิวรณ์ 2:26, 27; 20:6; 22:1, 2) การปรากฏของเขารวมเอาการทำกิจกรรมทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้ว. นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้มีความเชื่อตั้งตาคอยด้วยความประสงค์อย่างใจจดใจจ่อ.
9. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั่วโลก?
9 กลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั่วโลกเป็น “ประชาคมแห่งบุตรหัวปีซึ่งลงทะเบียนในสวรรค์.” (เฮ็บราย 12:23, ล.ม.) พวกเขาเป็นกลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. นอกจากนั้น พวกเขายังเป็น “กายของพระคริสต์” ซึ่งแสดงถึงสัมพันธภาพใกล้ชิดระหว่างกันและกับพระเยซู. (1 โกรินโธ 12:27) เปาโลเขียนดังนี้: “ด้วยกายนั้นเป็นกายเดียว, แต่ยังมีอวัยวะหลายส่วน, และอวัยวะทั้งปวงนั้นหากมีหลายส่วนยังเป็นกายอันเดียวฉันใด, พระคริสต์ก็เป็นฉันนั้น. เพราะว่าถึงเราเป็นพวกยูดายก็ดี, เป็นพวกเฮเลนก็ดี, เป็นทาสก็ดีหรือมิใช่ทาสก็ดี, เราทั้งหลายได้รับบัพติสมาแต่พระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียว, และพระวิญญาณองค์เดียวนั้นซาบซ่านอยู่.”—1 โกรินโธ 12:12, 13; โรม 12:5; เอเฟโซ 1:22, 23; 3:6.
“ยิศราเอลของพระเจ้า”
10, 11. ในศตวรรษแรก ทำไมจึงจำเป็นต้องมีชาติยิศราเอลใหม่ และใครบ้างที่ประกอบกันเป็นชนชาติใหม่นี้?
10 ชนชาติยิศราเอลโดยสายเลือดเป็นไพร่พลพิเศษของพระยะโฮวามานานกว่า 1,500 ปีก่อนการเสด็จของพระเยซูฐานะเป็นมาซีฮาตามคำสัญญา. ทั้งที่มีการเตือนสติเป็นประจำ ชาตินี้โดยรวมแล้วได้พิสูจน์ตนไม่ซื่อสัตย์. ครั้นพระเยซูเสด็จปรากฏ ชนชาตินี้กลับปฏิเสธพระองค์. (โยฮัน 1:11) ดังนั้น พระเยซูจึงตรัสแก่ผู้นำฝ่ายศาสนาชาวยิวดังนี้: “แผ่นดินของพระเจ้าจะต้องเอาไปจากท่าน, ยกให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดินนั้น.” (มัดธาย 21:43) การยอมรับ “ประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดิน” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับความรอด.
11 ชาติใหม่นี้คือประชาคมคริสเตียนที่ถูกเจิม ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีสากลศักราช 33. สมาชิกประชาคมกลุ่มแรกเป็นสาวกชาวยิวของพระเยซู ซึ่งรับรองเอาพระองค์เป็นกษัตริย์ของเขาทางภาคสวรรค์. (กิจการ 2:5, 32-36) อย่างไรก็ดี พวกเขาเป็นสมาชิกชาติใหม่ของพระเจ้า ไม่ใช่อาศัยพื้นฐานที่เป็นเชื้อสายยิว แต่บนพื้นฐานของความเชื่อในพระเยซู. ดังนั้น ยิศราเอลใหม่ของพระเจ้าจึงเป็นบางสิ่งที่พิเศษ คือเป็นชาติฝ่ายวิญญาณ. เมื่อชาวยิวส่วนใหญ่ไม่ยอมรับพระเยซู คำเชิญที่จะเข้ามาเป็นส่วนของชาติใหม่นี้จึงได้แผ่ออกไปยังชาวซะมาเรีย แล้วถึงคนต่างชาติ. ชาติใหม่นี้เรียกว่า “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16.
12, 13. มีหลักฐานชี้ชัดอย่างไรว่า ชาติยิศราเอลใหม่ไม่ใช่นิกายหนึ่งในลัทธิยูดา?
12 สมัยยิศราเอลโบราณ เมื่อคนต่างชาติเปลี่ยนมาเข้าศาสนายิว เขาต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ และผู้ชายต้องรับสุหนัตเป็นสัญลักษณ์. (เอ็กโซโด 12:48, 49) คริสเตียนชาวยิวบางคนถือว่าหลักการเดียวกันนี้ควรนำมาใช้กับคนที่ไม่ใช่ยิวท่ามกลางยิศราเอลของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาทรงมีพระราชดำริบางประการซึ่งต่างออกไป. พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ชี้นำอัครสาวกเปโตรไปยังบ้านโกระเนเลียวคนต่างชาติ. ครั้นโกระเนเลียวพร้อมกับคนในครอบครัวได้ตอบรับการประกาศของเปโตร พวกเขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์—ก่อนเขารับบัพติสมาในน้ำเสียด้วยซ้ำ. ทั้งนี้แสดงให้เห็นชัดว่าพระยะโฮวาทรงรับเอาคนต่างชาติเหล่านั้นเป็นสมาชิกแห่งยิศราเอลของพระเจ้า โดยไม่มีการเรียกร้องให้เขาปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซแต่อย่างใด.—กิจการ 10:21-48.
13 ผู้มีความเชื่อบางคนรู้สึกว่าการยอมรับนั้นยาก และหลังจากนั้นไม่นาน พวกอัครสาวกและผู้ปกครองที่กรุงยะรูซาเลมจึงต้องนำเรื่องทั้งหมดนี้เข้าสู่การพิจารณา. คณะบุคคลที่มีอำนาจนั้นได้รับฟังคำให้การแจ้งรายละเอียดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจอย่างไรต่อผู้มีความเชื่อที่ไม่ใช่คนยิว. การสืบค้นหาหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิลได้แสดงให้เห็นว่า การนี้ได้สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (ยะซายา 55:5; อาโมศ 9:11, 12) การตัดสินที่ถูกต้องเป็นดังนี้: คริสเตียนซึ่งไม่ใช่คนยิวไม่ต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ. (กิจการ 15:1, 6-29) ดังนั้น ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณจึงเป็นชาติใหม่อย่างแท้จริง และหาใช่เป็นเพียงนิกายหนึ่งของลัทธิยูดาไม่.
14. การที่ยาโกโบเรียกชื่อประชาคมคริสเตียนว่า “สิบสองตระกูลที่อยู่กระจัดกระจาย” เช่นนั้นบอกเป็นนัยถึงสิ่งใด?
14 สอดคล้องกับเรื่องนี้ เมื่อสาวกยาโกโบเขียนจดหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมในศตวรรษแรก ท่านเขียนจดหมายถึง “สิบสองตระกูลที่อยู่กระจัดกระจาย.” (ยาโกโบ 1:1, ล.ม.; วิวรณ์ 7:3-8) แน่นอน พลเมืองของชาติยิศราเอลใหม่นี้หาได้มอบหมายเป็นตระกูลใดโดยเฉพาะไม่. ภายในชาติยิศราเอลใหม่นี้ไม่มีการแบ่งแยกเป็น 12 ตระกูลดังที่เคยเป็นมาในชาติยิศราเอลโดยสายเลือด. กระนั้นก็ดี คำพูดของยาโกโบที่รับการดลใจแสดงว่า ในทัศนะของพระยะโฮวา พระองค์ทรงถือว่ายิศราเอลของพระเจ้าได้เข้ามาแทนที่ 12 ตระกูลแห่งชาติยิศราเอลโดยกำเนิดอย่างหมดสิ้น. หากชาวยิศราเอลโดยกำเนิดเข้ามาเป็นส่วนของชาติใหม่นี้ การเป็นเชื้อสายทางสายเลือด—แม้ว่าผู้นั้นอยู่ในตระกูลยูดาหรือเลวีก็ตาม—ก็ไม่มีความสำคัญแต่ประการใด.—ฆะลาเตีย 3:28; ฟิลิปปอย 3:5, 6.
คำสัญญาไมตรีใหม่
15, 16. (ก) พระยะโฮวาทรงมีทัศนะเช่นไรต่อสมาชิกแห่งยิศราเอลของพระเจ้าซึ่งไม่ใช่คนยิว? (ข) ยิศราเอลใหม่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานอะไร?
15 ตามทัศนะของพระยะโฮวา สมาชิกที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลแห่งชาติใหม่นี้เป็นชาวยิวฝ่ายวิญญาณโดยครบถ้วน! อัครสาวกเปาโลชี้แจงดังนี้: “คนที่ปรากฏเป็นชาติยูดายภายนอกเท่านั้นมิได้เป็นชาติยูดายแท้, และการรับพิธีสุหนัตซึ่งปรากฏที่เนื้อหนังเท่านั้นมิได้เป็นการรับพิธีสุหนัตแท้. แต่ว่าคนที่เป็นชาติยูดายแท้นั้นคือคนที่เป็นชาติยูดายภายใน และการรับพิธีสุหนัตอันแท้นั้นคือการรับพิธีสุหนัตซึ่งอยู่ในวิญญาณจิต, มิใช่ทำตามพอเป็นพิธีซึ่งมิได้รับการสรรเสริญจากมนุษย์, แต่ได้รับการสรรเสริญจากพระเจ้า.” (โรม 2:28, 29) คนต่างชาติจำนวนมากขานรับคำเชิญให้เข้ามาเป็นส่วนแห่งยิศราเอลของพระเจ้า และความเป็นไปในด้านนี้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล. ยกตัวอย่าง ผู้พยากรณ์โฮเซอาได้เขียนว่า “เราจะแสดงความเมตตาต่อนางซึ่งไม่ได้รับความเมตตา และเราจะกล่าวแก่คนเหล่านั้นที่ไม่ใช่ไพร่พลของเราว่า ‘เจ้าเป็นไพร่พลของเรา’; ส่วนพวกเขาจะกล่าวว่า ‘พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า.’”—โฮเซอา 2:23, ล.ม.; โรม 11:25, 26.
16 หากยิศราเอลฝ่ายวิญญาณไม่อยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติของโมเซ พวกเขาจะเป็นส่วนแห่งชาติใหม่นี้บนพื้นฐานอะไร? พระยะโฮวาได้ตั้งคำสัญญาไมตรีใหม่กับชาติฝ่ายวิญญาณนี้ผ่านทางพระเยซู. (เฮ็บราย 9:15) เมื่อพระเยซูทรงเริ่มจัดตั้งวันอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระองค์ ณ วันที่ 14 เดือนไนซาน สากลศักราช 33 พระองค์ได้ส่งขนมปังและเหล้าองุ่นผ่านให้อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนและตรัสว่า เหล้าองุ่นหมายถึง “โลหิตแห่งคำสัญญา.” (มัดธาย 26:28; ยิระมะยา 31:31-34) ตามบันทึกของลูกา พระเยซูตรัสว่าเหล้าองุ่นจอกนั้นหมายถึง “คำสัญญาใหม่.” (ลูกา 22:20) ความสำเร็จเป็นจริงตามคำตรัสของพระเยซู คราวที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้หลั่งลงมาในวันเพ็นเตคอสเตและยิศราเอลของพระเจ้าถือกำเนิดขึ้นมา ราชอาณาจักรจึงถูกเอาไปจากชาติยิศราเอลโดยสายเลือดแล้วมอบให้ชาติใหม่ ชาติฝ่ายวิญญาณ. แทนที่จะเป็นยิศราเอลโดยสายเลือด เวลานี้ ชาติใหม่นี้เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาประกอบด้วยเหล่าพยานของพระองค์.—ยะซายา 43:10, 11.
“ยะรูซาเลมใหม่”
17, 18. ในพระธรรมวิวรณ์มีการพรรณนาไว้อย่างไรถึงเกียรติอันรุ่งโรจน์ซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมคอยท่าจะได้รับ?
17 ช่างเป็นเกียรติอันรุ่งโรจน์อะไรเช่นนั้นที่คอยท่าบรรดาผู้มีสิทธิพิเศษเข้าร่วมในการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์! และเป็นความปีติยินดีจริง ๆ เมื่อเรียนรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ อันน่าพิศวงซึ่งรอพวกเขาอยู่! พระธรรมวิวรณ์ให้ภาพที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวด้วยมรดกของเขาในสวรรค์. อย่างเช่น ที่วิวรณ์ 4:4 (ล.ม.) เราอ่านดังนี้: “ล้อมรอบราชบัลลังก์ [ของพระยะโฮวา] นั้นมีบัลลังก์ยี่สิบสี่บัลลังก์ และบนบัลลังก์เหล่านั้นข้าพเจ้าได้เห็นผู้ปกครองยี่สิบสี่คนนั่งอยู่ สวมเสื้อชั้นนอกสีขาว และมีมงกุฎทองคำบนศีรษะ.” ผู้ปกครอง 24 คนเหล่านี้คือคริสเตียนผู้ถูกเจิม ถูกปลุกขึ้นจากตายและบัดนี้ครองตำแหน่งในสวรรค์ตามที่พระยะโฮวาทรงสัญญากับเขา. มงกุฎและบัลลังก์ของเขาทำให้เรานึกถึงฐานะกษัตริย์. อนึ่ง คิดถึงสิทธิพิเศษอันสูงส่งแสนวิเศษของพวกเขาด้วยที่ปฏิบัติรับใช้อยู่รอบ ๆ ราชบัลลังก์ของพระยะโฮวา!
18 ที่วิวรณ์ 14:1 (ล.ม.) เราได้ภาพอีกแวบหนึ่งของพวกเขา ดังนี้: “ข้าพเจ้าได้เห็น และ นี่แน่ะ! พระเมษโปดกทรงยืนอยู่บนภูเขาซีโอน และกับพระองค์มีแสนสี่หมื่นสี่พันคนซึ่งมีพระนามของพระองค์และพระนามพระบิดาของพระองค์เขียนไว้ที่หน้าผากของเขา.” ที่นี่ เราเห็นว่า จำนวนผู้ถูกเจิมมีจำกัด คือ 144,000 คน. เราหยั่งเห็นเข้าใจฐานะการเป็นกษัตริย์ของเขาได้ก็เพราะเขายืนอยู่กับพระเยซู “พระเมษโปดก” กษัตริย์องค์ทรงราชย์ของพระยะโฮวา. และพวกเขายืนอยู่บนภูเขาซีโอนทางภาคสวรรค์. ภูเขาซีโอนทางแผ่นดินโลกเป็นที่ตั้งของกรุงยะรูซาเลม ราชธานีแห่งยิศราเอล. ภูเขาซีโอนทางภาคสวรรค์เป็นสัญลักษณ์แสดงตำแหน่งของพระเยซูและทายาทร่วมของพระองค์ที่รับการเทิดไว้สูง ประกอบกันขึ้นเป็นยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์.—2 โครนิกา 5:2; บทเพลงสรรเสริญ 2:6.
19, 20. (ก) คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะเป็นส่วนแห่งองค์การอะไรฝ่ายสวรรค์? (ข) ช่วงระยะใดที่พระยะโฮวาได้ทรงเลือกสรรคนเหล่านั้นซึ่งจะเป็นพลเมืองของสวรรค์?
19 ประสานกับเรื่องนี้ มีการพูดถึงผู้ถูกเจิมที่ได้รับสง่าราศีทางภาคสวรรค์ว่าเป็น “ยะรูซาเลมใหม่” เช่นกัน. (วิวรณ์ 21:2) ยะรูซาเลมทางแผ่นดินโลกเคยเป็น “ราชธานีของพระมหากษัตริย์” และเป็นทำเลที่ตั้งของพระวิหารด้วย. (มัดธาย 5:35) ยะรูซาเลมใหม่ทางภาคสวรรค์คือองค์การราชอาณาจักร ซึ่งพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร และพระเยซูกษัตริย์ผู้ได้รับการแต่งตั้งทรงครองราชย์อยู่ขณะนี้ และซึ่งมีการปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตอันเป็นพระพรไหลลงมาจากราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาเพื่อการบำบัดรักษามนุษยชาติ. (วิวรณ์ 21:10, 11; 22:1-5) อีกนิมิตหนึ่ง โยฮันได้ยินการพูดถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อ ซึ่งรับการปลุกขึ้นจากตายว่า เป็น ‘มเหสีของพระเมษโปดก.’ ช่างเป็นภาพที่ทำให้อบอุ่นหัวใจอะไรเช่นนั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่พวกเขามีกับพระเยซู และการที่พวกเขาเต็มใจยอมอยู่ในอำนาจพระองค์! ลองนึกภาพความปีติยินดีในสวรรค์ เมื่อคนสุดท้ายแห่งชนกลุ่มนี้ได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์ในที่สุด. บัดนี้ ในที่สุด “การอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก” ก็มาถึงแล้ว! ตอนนั้นแหละ องค์การแห่งกษัตริย์ฝ่ายสวรรค์จะครบถ้วน.—วิวรณ์ 19:6-8, ล.ม.
20 ใช่แล้ว พระพรอันวิเศษมีไว้แล้วสำหรับบรรดาชนที่อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “แต่เราเป็นพลเมืองของสวรรค์.” (ฟิลิปปอย 3:20, ฉบับประชานิยม.) เป็นเวลาเกือบสองพันปี พระยะโฮวาทรงเลือกสรรบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์ และทรงเตรียมเขาไว้เพื่อรับมรดกฝ่ายสวรรค์. ดังที่หลักฐานทุกอย่างแสดง ราชกิจการเลือกสรรและการตระเตรียมก็จวนจะสำเร็จ. แต่มีอีกหลายสิ่งจะตามมา ดังได้สำแดงนิมิตแก่โยฮันซึ่งบันทึกอยู่ในวิวรณ์บท 7. ฉะนั้น เวลานี้เราจึงมุ่งความสนใจไปที่คริสเตียนอีกกลุ่มหนึ่ง และเราจะพิจารณาชนกลุ่มดังกล่าวในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
▫ อะไรคือปฏิบัติการแห่งพระวิญญาณที่ต่างออกไปต่อคนเหล่านั้นซึ่งจะได้มรดกฝ่ายสวรรค์?
▫ พวกผู้ถูกเจิมมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดเช่นไรกับพระยะโฮวาและพระเยซู?
▫ ประชาคมคริสเตียนแห่งผู้ถูกเจิมได้รับการพรรณนาอย่างไรในคัมภีร์ไบเบิล?
▫ ยิศราเอลของพระเจ้าได้รับการสถาปนาบนพื้นฐานอะไร?
▫ สิทธิพิเศษอะไรทางภาคสวรรค์มีไว้รอคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
[รูปภาพหน้า 10]
ในช่วงระยะเกือบสองพันปี พระยะโฮวาได้ทรงเลือกสรรชนเหล่านั้นที่จะปกครองในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์