จงมุ่งมั่นประกาศอย่างถี่ถ้วน
“พระองค์ทรงสั่งพวกข้าพเจ้าให้ประกาศแก่ผู้คนและเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วถึงกัน.”—กิจ. 10:42.
1. เมื่อพูดกับคอร์เนลิอุส เปโตรเน้นถึงงานมอบหมายอะไร?
นายร้อยชาวอิตาลีเรียกบรรดาญาติมิตรให้มารวมตัวกันในเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ในเรื่องวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อมนุษย์เรา. ชายที่ยำเกรงพระเจ้าผู้นี้คือคอร์เนลิอุส. อัครสาวกเปโตรบอกคนกลุ่มนี้ว่าเหล่าอัครสาวกได้รับพระบัญชาให้ “ประกาศแก่ผู้คนและเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วถึงกัน” ในเรื่องพระเยซู. การเป็นพยานยืนยันของเปโตรเกิดผลอย่างมาก. ชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตได้รับพระวิญญาณของพระเจ้า, รับบัพติสมา, และมีความหวังจะเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ร่วมกับพระเยซู. การเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วถึงกันของเปโตรก่อให้เกิดผลที่ดีจริง ๆ!—กิจ. 10:22, 34-48.
2. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระบัญชาที่ให้ประกาศไม่ได้จำกัดไว้กับเฉพาะอัครสาวก 12 คน?
2 เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในสากลศักราช 36. ประมาณสองปีก่อนหน้านั้น ชายผู้มีใจร้อนรนคนหนึ่งที่ต่อต้านศาสนาคริสเตียนประสบเหตุการณ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา. ขณะที่เซาโลชาวเมืองทาร์ซัสกำลังเดินทางไปเมืองดามัสกัส พระเยซูทรงปรากฏแก่เขาและตรัสว่า “จง . . . เข้าไปในเมือง แล้วจะมีคนบอกเจ้าว่าจะต้องทำอะไร.” พระเยซูทรงรับรองกับสาวกคนหนึ่ง คืออะนานีอัส ว่าเซาโลจะประกาศ “แก่ชนต่างชาติรวมทั้งกษัตริย์ทั้งหลายและชนอิสราเอล.” (อ่านกิจการ 9:3-6, 13-20.) เมื่ออยู่ด้วยกันกับเซาโล อะนานีอัสกล่าวว่า “พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกเราทรงเลือกท่าน . . . เพราะท่านจะต้องเป็นพยานฝ่ายพระองค์ [ต่อ] คนทั้งปวง.” (กิจ. 22:12-16) เซาโล ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อเปาโล รับงานมอบหมายให้ประกาศอย่างจริงจังขนาดไหน?
ท่านประกาศอย่างทั่วถึงจริง!
3. (ก) เราจะพิจารณาเรื่องใดเป็นพิเศษ? (ข) ผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ตอบสนองอย่างไรต่อข่าวที่เปาโลส่งมา และนั่นเป็นตัวอย่างที่ดีเช่นไร?
3 คงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะศึกษาในรายละเอียดทั้งหมดที่เปาโลทำหลังจากนั้น แต่ตอนนี้ให้เราพิจารณาคำบรรยายของเปาโลเมื่อประมาณ ส.ศ. 56 ดังที่พรรณนาไว้ในกิจการบท 20. เปาโลเสนอคำบรรยายนี้เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการเดินทางในฐานะมิชชันนารีรอบที่สาม. ท่านขึ้นฝั่งที่มิเลโทส เมืองท่าชายฝั่งทะเลอีเจียน และท่านได้ใช้คนให้ไปตามผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์. เอเฟโซส์อยู่ห่างออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร แต่ระยะทางในการเดินทางจริง ๆ ไกลกว่านั้นเนื่องจากหนทางคดเคี้ยว. คุณอาจนึกภาพได้ว่าผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์คงตื่นเต้นขนาดไหนเมื่อได้รับข่าวจากเปาโล. (เทียบกับสุภาษิต 10:28.) แต่พวกเขาคงต้องวางแผนเพื่อเดินทางไปเมืองมิเลโทส. มีบางคนไหมที่ต้องลางานหรือปิดร้าน? คริสเตียนหลายคนในทุกวันนี้ทำอย่างนั้นเพื่อเขาจะไม่พลาดการประชุมภาคประจำปีแม้แต่ส่วนเดียว.
4. เปาโลดำเนินชีวิตอย่างไรในช่วงที่ท่านอยู่ในเมืองเอเฟโซส์?
4 คุณคิดว่าเปาโลทำอะไรในเมืองมิเลโทสระหว่างสามสี่วันที่รอผู้ปกครองเหล่านั้นมาถึง? ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอะไร? (เทียบกับกิจการ 17:16, 17.) คำพูดของเปาโลที่พูดกับผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ช่วยเราให้หาคำตอบได้. ท่านพรรณนาถึงแบบแผนการใช้ชีวิตของท่านตลอดหลายปีก่อนหน้านั้น รวมถึงตอนที่ท่านอยู่ในเมืองเอเฟโซส์. (อ่านกิจการ 20:18-21.) โดยไม่กลัวว่าจะมีคนแย้ง ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายรู้ดีว่าข้าพเจ้าประพฤติอย่างไร . . . ตั้งแต่วันแรกที่ข้าพเจ้าเข้ามาในแคว้นเอเชีย . . . ข้าพเจ้าอธิบายอย่างถี่ถ้วนให้ทั้งชาวยิวและชาวกรีกเข้าใจเรื่องการกลับใจและหันมาหาพระเจ้ากับเรื่องความเชื่อในพระเยซูเจ้าของเรา.” ท่านมุ่งมั่นทำงานที่พระเยซูทรงมอบหมายให้สำเร็จ. ท่านทำงานของท่านในเมืองเอเฟโซส์ให้สำเร็จโดยวิธีใด? วิธีหนึ่งก็คือโดยประกาศกับชาวยิว ไปยังที่ที่จะพบหลายคน. ลูการายงานว่าเมื่อเปาโลอยู่ในเมืองเอเฟโซส์ประมาณ ส.ศ. 52-55 ท่าน “บรรยายและพูดจูงใจผู้ฟัง” ในธรรมศาลา. เมื่อชาวยิว “ทำใจแข็งกระด้างและไม่เชื่อ” เปาโลก็ไปหาคนชาติอื่น โดยย้ายไปประกาศที่อื่นในเมืองนั้น. โดยวิธีนี้ ท่านประกาศกับชาวยิวและชาวกรีกในเมืองใหญ่เมืองนี้.—กิจ. 19:1, 8, 9.
5, 6. เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าเมื่อเปาโลประกาศตามบ้านท่านพูดกับคนที่ไม่มีความเชื่อ?
5 ในที่สุด บางคนที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนก็มีคุณวุฒิเป็นผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ที่เปาโลพูดด้วยในเมืองมิเลโทส. เปาโลเตือนให้พวกเขานึกถึงวิธีที่ท่านใช้: “ข้าพเจ้าทุ่มเทตัวเพื่อบอกทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายและเพื่อสอนพวกท่านทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.” บางคนในสมัยของเราอ้างว่าในที่นี้เปาโลเพียงแต่กล่าวถึงการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงผู้มีความเชื่อทั้งหลาย. แต่จริง ๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น. คำพรรณนาที่ว่า ‘สอนในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน’ ส่วนใหญ่ใช้กับการประกาศข่าวดีแก่คนที่ไม่มีความเชื่อ. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำกล่าวถัดจากนั้น. เปาโลกล่าวว่าท่านได้อธิบาย “ให้ทั้งชาวยิวและชาวกรีกเข้าใจเรื่องการกลับใจและหันมาหาพระเจ้ากับเรื่องความเชื่อในพระเยซูเจ้าของเรา.” เห็นได้ชัด เปาโลประกาศข่าวดีแก่คนที่ไม่มีความเชื่อซึ่งจำเป็นต้องกลับใจและเชื่อในพระเยซู.—กิจ. 20:20, 21.
6 ในการวิเคราะห์พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกอย่างละเอียด ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวถึงกิจการ 20:20 ว่า “เปาโลอยู่ที่เมืองเอเฟโซส์สามปี. ท่านเยี่ยมบ้านทุกหลัง หรืออย่างน้อยก็ประกาศแก่ผู้คนทั้งปวง (ข้อ 26). ข้อนี้ให้พื้นฐานตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการเผยแพร่ตามบ้านเช่นเดียวกับการจัดการประชุมสาธารณะ.” ไม่ว่าท่านได้ไปเยี่ยมบ้านทุกหลังจริง ๆ หรือไม่ ตามที่ผู้คงแก่เรียนคนนี้อ้าง เปาโลไม่ต้องการให้ผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ลืมวิธีที่ท่านได้ประกาศข่าวดีและผลของการประกาศที่ท่านทำ. ลูการายงานว่า “ชาวแคว้นเอเชียทั้งปวง ทั้งชาวยิวและชาวกรีก ต่างได้ยินพระคำขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (กิจ. 19:10) แต่ชาวแคว้นเอเชีย “ทั้งปวง” ได้ยินข่าวดีได้อย่างไร และนี่อาจบอกอะไรเกี่ยวกับการประกาศของเรา?
7. การประกาศของเปาโลคงได้ก่อผลอย่างไรบ้างไม่เฉพาะกับคนที่ท่านได้ประกาศข่าวดีโดยตรง?
7 เพราะเปาโลประกาศในที่สาธารณะและตามบ้าน หลายคนจึงได้ยินข่าวสารที่ท่านประกาศ. คุณคิดว่าทุกคนที่ได้ยินข่าวสารคงจะอยู่ในเมืองเอเฟโซส์ตลอดไป โดยที่ไม่มีใครย้ายไปอยู่ที่อื่นเลยเพื่อทำการค้า, เพื่อไปอยู่ใกล้ ๆ ญาติ, หรือเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่อย่างนั้นไหม? คุณคงไม่คิดอย่างนั้น. หลายคนในทุกวันนี้ได้ย้ายที่อยู่ด้วยเหตุผลดังกล่าว; คุณเองก็อาจเคยย้ายที่อยู่ด้วยเหตุผลอย่างนั้นด้วย. นอกจากนั้น ในสมัยนั้นผู้คนจากที่อื่น ๆ มักมาเยือนเอเฟโซส์เพื่อเยี่ยมญาติมิตรหรือเพื่อทำการค้า. ระหว่างอยู่ที่เอเฟโซส์ พวกเขาอาจพบกับเปาโลหรือได้ยินการประกาศของท่าน. เกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกเขากลับบ้าน? คนที่ได้ตอบรับความจริงก็จะประกาศกับคนอื่น. คนอื่น ๆ อาจไม่ได้เปลี่ยนเป็นผู้มีความเชื่อ แต่พวกเขาคงจะพูดให้คนอื่นฟังถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟังระหว่างอยู่ในเมืองเอเฟโซส์. ด้วยเหตุนั้น ญาติ ๆ, เพื่อนบ้าน, หรือลูกค้าของพวกเขาจึงได้ยินได้ฟังความจริง และอาจมีบางคนที่ตอบรับ (เทียบกับมาระโก 5:14.) เรื่องนี้ชี้ให้เห็นอะไรเกี่ยวกับผลที่การประกาศอย่างถี่ถ้วนของคุณอาจก่อให้เกิดขึ้นได้?
8. ผู้คนทั่วแคว้นเอเชียอาจได้ยินความจริงโดยวิธีใด?
8 เมื่อกล่าวเกี่ยวกับช่วงก่อนหน้านั้นที่ท่านรับใช้ในเมืองเอเฟโซส์ เปาโลเขียนว่า “ประตูใหญ่” แห่งการงานเปิดกว้างให้ท่านแล้ว. (1 โค. 16:8, 9, เชิงอรรถ) ประตูอะไร และประตูนี้เปิดกว้างให้ท่านอย่างไร? งานรับใช้ที่เปาโลทำอย่างต่อเนื่องในเมืองเอเฟโซส์ทำให้ข่าวดีแพร่กระจายไป. ขอให้พิจารณาเมืองโกโลซาย, ลาโอดิเคีย, และฮีราโปลิส สามเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินห่างจากเมืองเอเฟโซส์ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล. เปาโลไม่เคยเยือนเมืองเหล่านี้ แต่ข่าวดีไปถึงเมืองเหล่านี้. เอปาฟรัสมาจากท้องที่ดังกล่าว. (โกโล. 2:1; 4:12, 13) เอปาฟรัสได้ยินเปาโลประกาศในเมืองเอเฟโซส์และเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกไว้. แต่เมื่อเอปาฟรัสเผยแพร่ความจริงในเขตบ้านเกิด เขาอาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเปาโล. (โกโล. 1:7) นอกจากนี้ ข่าวสารของคริสเตียนอาจไปถึงเมืองต่าง ๆ เช่น ฟีลาเดลเฟีย, ซาร์ดิส, และทิอาทิราในช่วงหลายปีที่เปาโลประกาศข่าวดีในเมืองเอเฟโซส์.
9. (ก) เปาโลมีความปรารถนาอะไรจากใจจริง? (ข) ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2009 คืออะไร?
9 ด้วยเหตุนั้น ผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์มีเหตุผลมากมายที่จะยอมรับคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้าก็ไม่ถือว่าชีวิตข้าพเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ ขอเพียงให้ข้าพเจ้าได้วิ่งจนถึงเส้นชัยและทำงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้าให้สำเร็จ คือการประกาศข่าวดีเรื่องพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน.” ข้อพระคัมภีร์ประจำปีที่กระตุ้นหนุนใจสำหรับปี 2009: ‘จงประกาศข่าวดีอย่างถี่ถ้วน’ มาจากข้อพระคัมภีร์นี้.—กิจ. 20:24.
การประกาศข่าวดีอย่างถี่ถ้วนในปัจจุบัน
10. เรารู้ได้อย่างไรว่าเราต้องประกาศข่าวดีอย่างทั่วถึงด้วยเช่นกัน?
10 พระบัญชาที่ให้ “ประกาศแก่ผู้คนและเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วถึงกัน” ในที่สุดก็เป็นข้อเรียกร้องสำหรับคนอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากเหล่าอัครสาวก. เมื่อพระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ตรัสกับเหล่าสาวกที่มาชุมนุมกันในแกลิลี ซึ่งดูเหมือนว่ามีจำนวนประมาณ 500 คน พระองค์ทรงมีพระบัญชาว่า “ฉะนั้น จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติสมาในนามของพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนพวกเขาให้ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เราสั่งพวกเจ้าไว้.” พระบัญชานั้นเป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียนแท้ทุกคนในทุกวันนี้ ดังเห็นได้จากคำตรัสของพระเยซูที่ระบุว่า “เราจะอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนถึงช่วงสุดท้ายของยุค.”—มัด. 28:19, 20.
11. เป็นที่ยอมรับกันว่าพยานพระยะโฮวากำลังทำงานสำคัญอะไร?
11 คริสเตียนที่กระตือรือร้นทำตามพระบัญชานั้นเสมอ พยายาม “ประกาศข่าวดี . . . อย่างถี่ถ้วน.” วิธีหลักที่คริสเตียนทำอย่างนั้นคือโดยใช้วิธีที่เปาโลกล่าวถึงเมื่อพูดกับผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ ซึ่งก็คือการประกาศตามบ้าน. หนังสือเกี่ยวกับงานมิชชันนารีที่มีประสิทธิภาพที่เดวิด จี. สจ๊วต จูเนียร์เขียนในปี 2007 กล่าวว่า “วิธีที่เน้นการปฏิบัติจริงซึ่งพยานพระยะโฮวาใช้ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นใจสมาชิกของพวกเขาให้มีส่วนร่วมในงานเผยแพร่มากกว่ากันมาก เมื่อเทียบกับ [การปลุกเร้าใจจากธรรมาสน์] ซึ่งเป็นเพียงทฤษฎีและไม่เป็นรูปธรรม. สำหรับพยานพระยะโฮวาจำนวนมาก การพูดคุยเรื่องความเชื่อของตนกับคนอื่น ๆ เป็นกิจกรรมที่พวกเขาชอบเป็นพิเศษ.” ผลเป็นอย่างไร? “ในปี 1999 มีเพียง 2 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่ผมสำรวจในเมืองหลวงสองเมืองของยุโรปตะวันออกที่รายงานว่ามิชชันนารีของกลุ่มสิทธิชนยุคสุดท้ายหรือ ‘มอร์มอน’ เคยมาเยี่ยมเขา. มีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่รายงานว่าพยานพระยะโฮวาเคยเข้ามาพูดคุยกับเขาโดยตรง และหลายรายบอกว่าพยานฯมาเยี่ยมหลายครั้ง.”
12. (ก) เหตุใดเราจึงไปเยี่ยมตามบ้านในเขตของเรา “หลายครั้ง”? (ข) คุณจะเล่าประสบการณ์ของคนที่ท่าทีของเขาต่อข่าวสารของเราเปลี่ยนไปได้ไหม?
12 ประชาชนในเขตที่คุณอยู่อาจมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนั้น. คุณคงมีส่วนร่วมที่ทำให้เป็นอย่างนั้น. เมื่อคุณ ‘พูดคุยกับผู้คนโดยตรง’ ในงานรับใช้ตามบ้าน คุณได้พูดกับชาย, หญิง, และเยาวชนที่หน้าบ้าน. บางคนอาจไม่ฟังแม้ว่ามีคนมาเยี่ยม “หลายครั้ง.” คนอื่นอาจฟังแค่ประเดี๋ยวเดียวเมื่อคุณคุยกับเขาโดยใช้ข้อคัมภีร์หรือพิจารณาแง่คิดจากพระคัมภีร์. แต่ก็มีบางคนที่คุณสามารถให้คำพยานที่ดี และพวกเขาตอบรับ. การตอบสนองทั้งหมดดังกล่าวเป็นไปได้เมื่อเรา ‘ประกาศข่าวดีอย่างถี่ถ้วน.’ ดังที่คุณคงทราบ มีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่ว่าคนที่แทบไม่แสดงความสนใจเลยเมื่อมีคนมาเยี่ยม “หลายครั้ง” แต่กลับเปลี่ยนท่าทีในภายหลัง. บางทีมีบางสิ่งเกิดขึ้นกับเขาหรือกับคนที่เขารักซึ่งทำให้เขาเปิดใจและตอบรับความจริง. เดี๋ยวนี้ พวกเขาเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา. ดังนั้น อย่าท้อถอยแม้ว่าคุณพบคนที่ตอบรับไม่มากนักในช่วงไม่นานมานี้. เราไม่คาดหมายว่าทุกคนจะเข้ามาอยู่ในแนวทางของความจริง. แต่สิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหมายจากเราก็คือให้เราประกาศอย่างถี่ถ้วนต่อ ๆ ไปอย่างขยันขันแข็งและกระตือรือร้น.
ผลที่เราอาจไม่รู้
13. การประกาศข่าวดีที่เราทำอาจทำให้เกิดผลโดยที่เราไม่รู้ได้อย่างไร?
13 ผลที่เกิดจากงานรับใช้ของเปาโลไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่คนที่ท่านได้ช่วยโดยตรงให้เข้ามาเป็นคริสเตียน ผลที่เกิดจากงานรับใช้ของเราก็เช่นเดียวกัน. เราจัดเวลาไว้เพื่อร่วมในงานรับใช้ตามบ้านเป็นประจำ ประกาศกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. เราบอกข่าวดีกับเพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนนักเรียน, และญาติ ๆ. เรารู้ผลทั้งหมดไหม? สำหรับบางคน อาจเกิดผลที่ดีทันที. ในกรณีอื่น ๆ เมล็ดแห่งความจริงอาจพักตัวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ภายหลังก็แตกรากในดินแห่งหัวใจของบางคนและงอกงามขึ้นมา. แม้แต่หากไม่เกิดผลอย่างนั้น ผู้คนที่เราพูดด้วยอาจพูดกับคนอื่นถึงเรื่องที่เราพูด, ความเชื่อของเรา, และความประพฤติของเรา. ดังนั้น พวกเขาอาจทำให้เมล็ดความจริงเหล่านั้นตกลงในดินที่ตอบรับและเกิดผลในที่อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ.
14, 15. การประกาศของพี่น้องชายคนหนึ่งเกิดผลในที่สุดอย่างไร?
14 ถ้าจะยกสักเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของไรอันและแมนดี คู่สามีภรรยาซึ่งอยู่ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา. ในที่ทำงาน ไรอันประกาศอย่างไม่เป็นทางการกับเพื่อนร่วมงาน. ชายคนนี้ ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวฮินดู รู้สึกประทับใจการแต่งกายและการพูดจาของไรอัน. ในการสนทนากันหลายครั้ง ไรอันหยิบยกเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาคุยกัน เช่น เรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายและสภาพของคนตาย. เย็นวันหนึ่งในเดือนมกราคม ชายผู้นี้ถามภรรยาของเขาที่ชื่อโจดีว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา. เธอเป็นคาทอลิก และเธอกล่าวว่าสิ่งเดียวที่เธอรู้เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาก็คือพวกเขา “ประกาศตามบ้าน.” ดังนั้น โจดีค้นข้อมูลเพิ่มเติมโดยพิมพ์คำว่า “พยานพระยะโฮวา” ในเว็บไซต์สำหรับค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตซึ่งนำเธอไปสู่เว็บไซต์ของสมาคม www.watchtower.org. โจดีอ่านเนื้อหาต่าง ๆ ที่ลงในเว็บไซต์นี้ รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิลและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประมาณสองสามเดือน.
15 ในที่สุด โจดีก็พบกับแมนดี เพราะทั้งคู่เป็นพยาบาล. แมนดียินดีตอบคำถามต่าง ๆ ของโจดี. หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง ทั้งสองก็พิจารณาด้วยกันสารพัดเรื่อง อย่างที่โจดีบอกว่าคุยกัน “ตั้งแต่อาดามจนถึงอาร์มาเก็ดดอน.” โจดีตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่บ้าน. ไม่ช้าเธอก็เริ่มไปประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักร. ในเดือนตุลาคม โจดีเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา และเธอรับบัพติสมาในเดือนกุมภาพันธ์. เธอเขียนว่า “ตอนนี้ดิฉันรู้ความจริงแล้ว ดิฉันมีชีวิตที่เป็นสุขและอิ่มใจอย่างมาก.”
16. ประสบการณ์ของพี่น้องที่ฟลอริดาชี้ให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความพยายามของเราในการประกาศอย่างทั่วถึง?
16 ไรอันไม่รู้เลยว่าการที่เขาประกาศกับชายคนหนึ่งจะเกิดผลทำให้อีกคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในความจริง. จริงอยู่ ในกรณีนี้เขารู้ถึงผลกระทบของการที่เขามุ่งมั่น ‘ประกาศอย่างถี่ถ้วน.’ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่าคุณประกาศตามบ้าน, ในที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, หรือเมื่อสบโอกาส และนั่นกลายเป็นช่องทางในการกระจายความจริงไปถึงคนอื่น ๆ โดยที่คุณไม่รู้เลย. เช่นเดียวกับที่เปาโลไม่รู้ผลของการประกาศของท่านทั้งหมดใน “แคว้นเอเชีย” คุณก็อาจไม่มีทางรู้ได้เลยเกี่ยวกับผลที่ดีทุกอย่างที่เกิดจากการประกาศอย่างถี่ถ้วนของคุณ. (อ่านกิจการ 23:11; 28:23.) แต่สำคัญเพียงไรที่คุณจะทำอย่างนั้นต่อ ๆ ไป!
17. คุณมุ่งมั่นจะทำอะไรระหว่างปี 2009?
17 ระหว่างปี 2009 ขอให้เราทุกคนพยายามเอาใจใส่อย่างจริงจังต่องานมอบหมายที่ให้เราประกาศตามบ้านและประกาศด้วยวิธีอื่น ๆ. ด้วยเหตุนั้น เราจะอยู่ในฐานะที่จะแสดงความรู้สึกคล้าย ๆ กับเปาโลซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าก็ไม่ถือว่าชีวิตข้าพเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ ขอเพียงให้ข้าพเจ้าได้วิ่งจนถึงเส้นชัยและทำงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้าให้สำเร็จ คือการประกาศข่าวดีเรื่องพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน.”
คุณจะตอบอย่างไร?
• อัครสาวกเปโตรและเปาโลกับคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกประกาศอย่างถี่ถ้วนอย่างไร?
• เหตุใดผลจากการประกาศของเราอาจไปไกลกว่าที่เรารู้?
• ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2009 คืออะไร และเหตุใดคุณจึงคิดว่าเป็นข้อคัมภีร์ที่เหมาะ?
[คำโปรยหน้า 19]
ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2009 คือ ‘จงประกาศข่าวดีอย่างถี่ถ้วน.’—กิจ. 20:24.
[ภาพหน้า 17]
ผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์รู้ว่าเปาโลประกาศตามบ้านเป็นประจำ
[ภาพหน้า 18]
ผลจากการที่คุณประกาศอย่างถี่ถ้วนจะกว้างไกลขนาดไหน?