ความสว่างที่แวบขึ้นในสมัยอัครสาวก
“มีความสว่างแวบขึ้นสำหรับคนชอบธรรม และความยินดีกระทั่งสำหรับผู้มีหัวใจซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 97:11, ล.ม.
1. พยานพระยะโฮวาสมัยนี้คล้ายกันกับคริสเตียนสมัยแรกอย่างไร?
พวกเรา ฐานะคริสเตียนแท้ หยั่งรู้ค่าบทเพลงสรรเสริญ 97:11 มากเพียงใด! “มีแสงแวบขึ้น” สำหรับพวกเราครั้งแล้วครั้งเล่า. จริง ๆ แล้ว พวกเราบางคนได้เห็นความสว่างแวบขึ้นมาแต่พระยะโฮวานานหลายสิบปีแล้ว. ทั้งหมดนี้เตือนใจเราให้นึกถึงสุภาษิต 4:18 (ล.ม.) ที่ว่า “วิถีของเหล่าคนชอบธรรมเป็นดุจแสงสว่างอันรุ่งโรจน์ซึ่งส่องแสงกล้าขึ้นทุกทีจนกระทั่งถึงวันได้ตั้งขึ้นมั่นคง.” เนื่องจากพวกเราถือว่าคัมภีร์ไบเบิลมีค่ายิ่งกว่าคำสอนสืบปาก เราพยานพระยะโฮวาจึงคล้ายกันกับคริสเตียนสมัยแรก. ทัศนะของคริสเตียนเหล่านั้นเห็นได้ชัดจากพระธรรมต่าง ๆ เชิงประวัติศาสตร์และจดหมายต่าง ๆ แห่งคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่งเขียนโดยการดลใจจากพระเจ้า.
2. ในความสว่างแวบแรก ๆ ซึ่งสาวกของพระเยซูได้รับมีอะไรบ้าง?
2 ในบรรดาความสว่างแวบแรก ๆ ที่สาวกรุ่นแรกของพระเยซูคริสต์ได้รับนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมาซีฮา. อันดะเรอาบอกซีโมน เปโตรพี่ชายของตนดังนี้: “เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว.” (โยฮัน 1:41, ล.ม.) ไม่นานหลังจากนั้น พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงดลใจอัครสาวกเปโตรให้พูดเป็นพยานถึงเรื่องนี้เมื่อท่านได้ทูลพระเยซูคริสต์ว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—มัดธาย 16:16, 17; โยฮัน 6:68, 69.
ความสว่างในด้านการมอบหมายเขาให้ทำงานเผยแพร่
3, 4. ภายหลังพระเยซูได้รับการปลุกคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ได้ประทานความกระจ่างอะไรแก่สาวกของพระองค์เกี่ยวด้วยกิจกรรมของพวกเขาในวันข้างหน้า?
3 ภายหลังการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ให้ “แสงแวบขึ้น” เกี่ยวกับภาระหน้าที่ซึ่งตกอยู่กับสาวกทั้งสิ้นของพระองค์. คงเป็นในโอกาสที่สาวก 500 คนชุมนุมกัน ณ ฆาลิลาย ที่พระองค์ตรัสว่า: “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.; 1 โกรินโธ 15:6) หลังจากนั้น สาวกทุกคนของพระคริสต์ต้องเป็นผู้เผยแพร่ และงานมอบหมายให้ประกาศนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแก่ “แกะชาติยิศราเอลที่หายไป.” (มัดธาย 10:6) และพวกเขาจะไม่ให้คนรับบัพติสมาของโยฮันซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงการกลับใจเพื่อรับการให้อภัยบาป. แต่เขาต้องให้ผู้คนรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.”
4 ไม่นานก่อนพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์ อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนได้ทูลถามพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงกู้อาณาจักรให้แก่ชาวยิศราเอลคราวนี้หรือ?” แทนการตอบคำถามข้อนี้ พระเยซูได้ทรงให้คำสั่งต่อไปอีกในเรื่องงานเผยแพร่ที่เขาได้รับมอบหมาย โดยตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายจะรับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์มาประทับบนเจ้าทั้งหลาย และเจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานของเรา ทั้งในกรุงยะรูซาเลมและสิ้นทั้งยูเดียและซะมาเรียและจนกระทั่งถึงที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลก.” ก่อนหน้านี้ พวกเขาเป็นเพียงแต่พยานของพระยะโฮวา แต่พอถึงตอนนี้เขาจะเป็นพยานของพระเยซูด้วย.—กิจการ 1:6-8, ล.ม.
5, 6. มีแสงอะไรบ้างที่แวบขึ้นซึ่งเหล่าสาวกของพระเยซูได้รับในวันเพนเตคอสเต?
5 เพียงสิบวันต่อมา เหล่าสาวกของพระเยซูได้รับความสว่างแวบเจิดจ้าอะไรเช่นนั้น! ณ วันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 นับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเข้าใจเต็มที่ถึงความหมายของพระธรรมโยเอล 2:28, 29 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งว่าดังนี้: “เรา [พระยะโฮวา] จะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือมนุษย์ทั้งปวง บุตรชายบุตรหญิงของเจ้าทั้งหลายจะเผยพระวจนะ. คนชราของเจ้าจะฝัน. และคนหนุ่มของเจ้าจะเห็นนิมิต ในกาลครั้งนั้นเราจะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือกระทั่งคนใช้ชายหญิง.” เหล่าสาวกของพระเยซูได้เห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์รูปลักษณ์ดังเปลวไฟ อยู่บนศีรษะเขาสิ้นทุกคน—ชายหญิงประมาณ 120 คน—ซึ่งร่วมชุมนุมกันในกรุงยะรูซาเลม.—กิจการ 1:12-15; 2:1-4.
6 อนึ่ง ณ วันเพนเตคอสเต เหล่าสาวกเพิ่งได้มาเข้าใจถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 16:10 เป็นครั้งแรกว่าหมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้คืนพระชนม์. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวดังนี้: “พระองค์ [พระเจ้ายะโฮวา] จะไม่ทรงสละทิ้งจิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในเมืองผี [เชโอล]; ทั้งจะไม่ทรงยอมให้ผู้บริสุทธิ์ของพระองค์ถึงซึ่งเปื่อยเน่า.” เหล่าสาวกตระหนักว่า ถ้อยคำดังกล่าวไม่อาจใช้ได้กับกษัตริย์ดาวิด เพราะอุโมงค์ศพของท่านยังอยู่กับเขาจนกระทั่งเวลานั้น. จึงไม่น่าแปลก เมื่อมีผู้คนจำนวนถึง 3,000 ในท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ได้ฟังคำชี้แจงเรื่องความสว่างใหม่นี้ต่างก็มีความเชื่อมั่นมากถึงขนาดที่พวกเขาได้รับบัพติสมาวันนั้นทันที!—กิจการ 2:14-41.
7. อัครสาวกเปโตรได้รับความสว่างเจิดจ้าอะไรระหว่างที่ท่านไปเยี่ยมโกระเนเลียว นายทหารโรมัน?
7 นานตลอดหลายศตวรรษ ชาติยิศราเอลรู้สึกหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเจ้าตรัสถึงพวกเขาว่า “แต่บรรดาครอบครัวทั้งหลายแห่งแผ่นดิน เราได้รู้จักแต่ท่านพวกเดียว.” (อาโมศ 3:2) ดังนั้น จึงเป็นความสว่างที่แวบขึ้นเจิดจ้าอย่างแท้จริงซึ่งอัครสาวกเปโตรกับพวกที่ร่วมเดินทางไปยังบ้านนายทหารโรมันชื่อโกระเนเลียวได้รับ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาสถิตอยู่กับผู้เชื่อถือชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตเป็นครั้งแรก. น่าสนใจ คราวนี้เท่านั้นที่ได้มีการประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนรับบัพติสมา. แต่จำต้องเป็นเช่นนี้. มิฉะนั้นแล้ว เปโตรไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่า ชาวต่างชาติที่ไม่รับสุหนัตเหล่านั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการรับบัพติสมา. ด้วยความเข้าใจเต็มที่ต่อความหมายของปรากฏการณ์ครั้งนี้ เปโตรได้ถามดังนี้: “มีผู้ใดหรืออาจจะห้ามคนเหล่านี้ [ชาวต่างชาติ] ซึ่งได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนกับเรามิให้เขารับบัพติศมา?” แน่นอน ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่อยู่ตรงนั้นมีเหตุผลจะคัดค้าน, และด้วยเหตุนี้ คนต่างชาติเหล่านี้จึงรับบัพติสมา.—กิจการ 10:44-48; เทียบกับกิจการ 8:14-17.
การรับสุหนัตได้ยุติไปแล้ว
8. เหตุใดคริสเตียนสมัยแรกบางคนรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะละเลิกคำสอนเรื่องการรับสุหนัต?
8 ความสว่างเจิดจ้าแห่งความจริงอีกแวบหนึ่งปรากฏขึ้นเกี่ยวเนื่องกับประเด็นการรับสุหนัต. การทำสุหนัตได้เริ่มต้นเมื่อปี 1919 ก่อนสากลศักราช คราวที่พระยะโฮวาได้ตั้งคำสัญญาไมตรีกับอับราฮาม. ครั้งนั้น พระเจ้ามีบัญชาว่า อับราฮามพร้อมด้วยผู้ชายทุกคนแห่งครัวเรือนของท่านต้องรับสุหนัต. (เยเนซิศ 17:9-14, 23-27) ฉะนั้น การรับสุหนัตจึงกลายเป็นหมายสำคัญแห่งเชื้อวงศ์ของอับราฮาม. และพวกเขาช่างภูมิใจเสียจริง ๆ กับกิจปฏิบัติเช่นนี้! ผลที่ตามมา “คนไม่รับสุหนัต” กลายเป็นคำพูดเย้ยหยันดูหมิ่น. (ยะซายา 52:1; 1 ซามูเอล 17:26, 27) เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมคริสเตียนชาวยิวสมัยต้น ๆ บางคนยังคงต้องการรักษาสัญลักษณ์นี้ให้มีอยู่สืบไป. บางคนถึงกับถกเถียงเรื่องนี้กับเปาโลและบาระนาบา. เพื่อยุติประเด็นนี้ เปาโลและคนอื่น ๆ ได้ไปกรุงยะรูซาเลมเพื่อปรึกษาคริสเตียนคณะกรรมการปกครอง.—กิจการ 15:1, 2.
9. ความสว่างอะไรบ้างที่แวบขึ้นซึ่งได้รับการเปิดเผยต่อคณะกรรมการปกครองสมัยศตวรรษแรก ดังมีบันทึกไว้ที่พระธรรมกิจการบท 15?
9 คราวนี้ ไม่ใช่เพราะคริสเตียนสมัยแรกเหล่านั้นได้เห็นการอัศจรรย์อย่างชัดแจ้ง แล้วจึงมีความเข้าใจเรื่องการรับสุหนัตว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีกต่อไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาได้รับความสว่างกระจ่างชัดมากขึ้นโดยการค้นคว้าข้อคัมภีร์ต่าง ๆ, หมายพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อการชี้นำ, และได้ยินได้ฟังประสบการณ์ของเปโตรและเปาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาของชาวต่างชาติที่ไม่รับสุหนัต. (กิจการ 15:6-21) ผลการตัดสินได้แถลงในจดหมายซึ่งบางตอนอ่านดังนี้: “พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มภาระให้ท่านอีก นอกจากสิ่งจำเป็นเหล่านี้คือ ละเว้นเสมอจากสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพและจากเลือดและจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.” (กิจการ 15:28, 29, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนสมัยแรกจึงไม่อยู่ใต้คำสั่งให้ทำสุหนัตและพ้นจากข้อเรียกร้องอื่น ๆ แห่งพระบัญญัติของโมเซ. ดังนั้น เปาโลสามารถกล่าวต่อคริสเตียนที่ฆะลาเตียว่า “เพื่อเสรีภาพนั้นเองพระคริสต์ได้ทรงโปรดให้เราทั้งหลายเป็นไทย.”—ฆะลาเตีย 5:1.
ความสว่างที่มีอยู่ในกิตติคุณ
10. มีความสว่างอะไรบ้างแวบขึ้นซึ่งเปิดเผยในหนังสือกิตติคุณของมัดธาย?
10 ไม่มีข้อสงสัยที่กิตติคุณของมัดธาย ซึ่งได้รับการเขียนราว ๆ ปีสากลศักราช 41 บรรจุความสว่างที่แวบขึ้นหลายครั้งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านกิตติคุณนี้. คริสเตียนในศตวรรษแรกมีจำนวนค่อนข้างน้อยที่ได้ยินโดยตรงเมื่อพระเยซูชี้แจงคำสอนของพระองค์. กิตติคุณของมัดธายได้เน้นว่า สาระสำคัญแห่งงานเผยแพร่ของพระเยซูคือเรื่องราชอาณาจักรเป็นประการสำคัญ. และพระเยซูทรงย้ำหนักแน่นเพียงไรถึงความสำคัญของการมีเจตนาถูกต้อง! ช่างมีความสว่างที่แวบขึ้นมากมายอะไรเช่นนั้นในคำเทศน์บนภูเขาของพระองค์, ในอุทาหรณ์ของพระองค์ (ดังบันทึกไว้ในบท 13), ในคำพยากรณ์สำคัญในบท 24 และ 25! ทั้งหมดนี้ถูกยกขึ้นมากล่าวในบันทึกกิตติคุณที่มัดธายเรียบเรียงประมาณแปดปีเท่านั้นภายหลังวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เพื่อให้คริสเตียนสมัยแรกเอาใจใส่.
11. อาจพูดได้อย่างไรเกี่ยวด้วยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในกิตติคุณของลูกาและมาระโก?
11 ประมาณ 15 ปีต่อมา ลูกาได้เขียนพระธรรมกิตติคุณของท่าน. ถึงแม้เรื่องราวส่วนมากคล้ายคลึงกับกิตติคุณของมัดธาย แต่เนื้อหา 59 เปอร์เซ็นต์ไม่ปรากฏในพระธรรมมัดธาย. ลูกาได้บันทึกการอัศจรรย์ของพระเยซูหกเรื่องและอุทาหรณ์ของพระองค์มากกว่าสิบสองเรื่องซึ่งผู้เขียนกิตติคุณคนอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวถึง. ดูเหมือนสองสามปีต่อมา มาระโกได้เขียนหนังสือกิตติคุณของท่าน โดยได้เน้นว่าพระเยซูคริสต์เป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ทำการอัศจรรย์. แม้ส่วนใหญ่แล้ว มาระโกถ่ายทอดเหตุการณ์ซึ่งมัดธายและมาระโกได้บันทึกไว้ก่อน แต่ท่านบันทึกอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งซึ่งบุคคลทั้งสองไม่ได้บันทึก. ในอุทาหรณ์เรื่องนั้น พระเยซูทรงเปรียบราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นพืชที่งอกขึ้น, เจริญเติบโต, และเกิดผลเป็นลำดับ.a—มาระโก 4:26-29.
12. กิตติคุณของโยฮันให้ความกระจ่างยิ่งขึ้นถึงขนาดไหน?
12 แล้วก็มีหนังสือกิตติคุณของโยฮัน ซึ่งเขียน 30 กว่าปีภายหลังมาระโกได้เขียนบันทึกของท่าน. ช่างเป็นลำแสงที่ให้ความกระจ่างชัดจริง ๆ เมื่อโยฮันได้บันทึกเรื่องงานรับใช้ของพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการกล่าวพาดพิงไว้มากมายถึงสภาพชีวิตของพระองค์ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์! มีแต่โยฮันผู้เดียวได้บันทึกเรื่องการปลุกลาซะโรเป็นขึ้นจากตาย, และโยฮันคนเดียวเท่านั้นที่ได้พูดถึงคำตรัสที่ดีมากมายของพระเยซูต่ออัครสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ และคำอธิษฐานของพระองค์อันเป็นที่อบอุ่นใจในคืนที่มีการทรยศพระองค์ ดังบันทึกอยู่ในบท 13 ถึง 17. ที่จริง กล่าวกันว่าเนื้อหา 92 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือกิตติคุณโยฮันไม่มีบันทึกในกิตติคุณของมัดธาย, มาระโก, และลูกา.
ความสว่างต่าง ๆ ที่แวบขึ้นในจดหมายของเปาโล
13. เพราะเหตุใดบางคนถือว่าจดหมายที่เปาโลเขียนไปถึงชาวโรมันนั้นเทียบเท่ากับหนังสือกิตติคุณ?
13 อัครสาวกเปาโลถูกใช้เป็นพิเศษให้นำความสว่างแห่งความจริงที่แวบขึ้นไปยังคริสเตียนที่อยู่ในสมัยอัครสาวก. ตัวอย่างเช่น มีจดหมายของเปาโลถึงชาวโรมัน เขียนราว ๆ ปีสากลศักราช 56—ประมาณเวลาเดียวกันกับที่ลูกาเขียนกิตติคุณของท่าน. ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลเน้นข้อเท็จจริงที่ว่า ความชอบธรรมที่ได้มานั้นเป็นผลสืบเนื่องจากความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าและโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์. การเน้นของเปาโลในแง่นี้เกี่ยวกับข่าวดีเป็นเหตุให้บางคนมองว่าจดหมายที่ท่านมีไปถึงชาวโรมันเป็นเสมือนกิตติคุณเล่มที่ห้า.
14-16. (ก) ในจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธ เปาโลได้ฉายความสว่างอะไรถึงความจำเป็นที่ต้องมีเอกภาพ? (ข) มีความสว่างอะไรอีกว่าด้วยการประพฤติบรรจุไว้ในพระธรรมโกรินโธฉบับต้น?
14 เปาโลได้เขียนเรื่องราวบางอย่างซึ่งทำให้คริสเตียนที่เมืองโกรินโธลำบากใจ. จดหมายของท่านถึงชาวโกรินโธรวมเอาคำแนะนำหลายประการซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจที่เป็นประโยชน์แก่คริสเตียนเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน. ประการแรก ท่านจำต้องให้ความกระจ่างแก่ชาวโกรินโธเกี่ยวกับความผิดที่พวกเขาก่อขึ้นด้วยการตั้งกลุ่มที่ยึดถือบุคคลเด่นดัง. อัครสาวกได้ชี้แจงแก้ไขความคิดของเขา ท่านบอกเขาอย่างกล้าหาญว่า “พี่น้องทั้งหลาย โดยพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนท่านทั้งหลาย คือพวกท่านทุกคนควรพูดจาปรองดองกัน และไม่ควรมีการแบ่งแยกกันในท่ามกลางท่าน แต่ให้ท่านเป็นหนึ่งเดียวโดยมีจิตใจและแนวความคิดเดียวกัน.”—1 โกรินโธ 1:10-15, ล.ม.
15 ประชาคมคริสเตียนที่เมืองโกรินโธได้ยอมทนต่อการประพฤติผิดศีลธรรมร้ายแรง. ชายผู้หนึ่งได้เอาภรรยาบิดาเป็นเมียของตน ซึ่งทำ ‘การล่วงประเวณีแบบซึ่งไม่เคยมีแม้แต่ในพวกต่างประเทศ.’ เปาโลเขียนตรงไปตรงมาดังนี้: “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกเสียจากพวกท่าน.” (1 โกรินโธ 5:1, 11-13) สิ่งนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาคมคริสเตียน คือการตัดสัมพันธ์. อีกเรื่องหนึ่งซึ่งประชาคมโกรินโธจำเป็นต้องได้รับความกระจ่างนั้น คือข้อเท็จจริงที่สมาชิกบางคนในประชาคมได้ยื่นฟ้องพี่น้องฝ่ายวิญญาณของตนต่อศาลฝ่ายโลกเพื่อจัดการกับความโต้แย้งกัน. เปาโลได้ตำหนิพวกเขาอย่างแรงที่ทำเช่นนั้น.—1 โกรินโธ 6:5-8.
16 อีกเรื่องหนึ่งซึ่งรบกวนใจประชาคมในเมืองโกรินโธเกี่ยวข้องกับการเกี่ยวพันทางเพศ. ใน 1 โกรินโธบท 7 เปาโลชี้แจงว่า เนื่องจากการผิดศีลธรรมทางเพศมีดาษดื่น คงจะดีหากผู้ชายทุกคนมีภรรยาเป็นสิทธิ์ของตนและผู้หญิงก็เช่นกันมีสามีเป็นสิทธิ์ของตนเสีย. เปาโลชี้ให้เห็นด้วยว่า ขณะที่คนโสดสามารถรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีการว้าวุ่นใจน้อยกว่าคนที่สมรสแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนมีของประทานจะอยู่เป็นโสด. และถ้าสามีของหญิงตายแล้ว นางก็จะมีอิสระสมรสได้อีก แต่ “ต้องสมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 7:39.
17. เปาโลได้ให้ความสว่างอะไรเกี่ยวกับคำสอนเรื่องการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย?
17 ช่างเป็นความสว่างที่แวบขึ้นจริง ๆ ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้เปาโลเพื่อให้ความกระจ่างเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย! คริสเตียนผู้ถูกเจิมเมื่อได้รับการปลุกขึ้นจากตายจะมีร่างกายเช่นไร? เปาโลเขียนดังนี้: “เมื่อหว่านลงนั้นก็เป็นกายเนื้อหนัง ครั้นเมื่อถูกปลุกขึ้นมาแล้วก็เป็นกายวิญญาณ.” ร่างกายที่เป็นเลือดเนื้อจะไม่ถูกรับขึ้นสวรรค์ เพราะว่า “เนื้อและเลือดจะรับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกไม่ได้.” เปาโลกล่าวเสริมว่า ไม่ใช่ผู้ถูกเจิมทุกคนจะหลับอยู่ในความตาย แต่ระหว่างการประทับของพระเยซู บางคนจะถูกรับเข้าสู่อมตชีพทันทีเมื่อตาย.—1 โกรินโธ 15:43-53, ล.ม.
18. จดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงชาวเธซะโลนิเกให้ความสว่างอย่างไรเกี่ยวกับอนาคต?
18 โดยทางจดหมายถึงคริสเตียนที่เมืองเธซะโลนิเก พระเจ้าทรงใช้เปาโลฉายความสว่างเกี่ยวกับอนาคต. วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยดอดมาตอนกลางคืน. เปาโลได้ชี้แจงด้วยว่า “เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากล่าวว่า: ‘สันติภาพและความปลอดภัย!’ แล้วความพินาศโดยฉับพลันก็จะมาถึงเขาทันที เหมือนความปวดร้าวมาถึงหญิงมีครรภ์; และเขาจะไม่มีทางหนีให้พ้น.”—1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.
19, 20. คริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมและในยูเดียได้รับความสว่างที่แวบขึ้นเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างในจดหมายที่เปาโลมีไปถึงชาวฮีบรู?
19 โดยการเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู เปาโลได้ถ่ายทอดความสว่างที่แวบขึ้นไปยังคริสเตียนสมัยแรกในกรุงยะรูซาเลมและยูเดีย. ท่านได้ชี้แจงอย่างหนักแน่นมั่นคงถึงความเยี่ยมยอดแห่งระบบการนมัสการของคริสเตียนว่าเลิศลอยกว่าระบบการนมัสการของโมเซ! แทนการติดตามพระบัญญัติที่ถ่ายทอดผ่านทูตสวรรค์ คริสเตียนมีความเชื่อในความรอดซึ่งแรกทีเดียวตรัสโดยพระบุตรพระเจ้า ผู้ทรงเป็นเลิศยิ่งกว่าบรรดาทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวสาร. (เฮ็บราย 2:2-4) โมเซเป็นเพียงคนรับใช้ในราชนิเวศของพระเจ้า. แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ดูแลราชนิเวศนั้นทั้งหมด. พระคริสต์ทรงเป็นมหาปุโรหิตอย่างมัลคีเซเด็ค ทรงมีตำแหน่งสูงกว่าตำแหน่งปุโรหิตแห่งเชื้อวงศ์ของอาโรน. อนึ่ง เปาโลได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ชาติยิศราเอลไม่สามารถเข้าถึงที่สงบสุขแห่งพระเจ้าได้ เพราะขาดความเชื่อและไม่เชื่อฟัง แต่คริสเตียนได้ไปถึงที่สงบนั้นเนื่องจากพวกเขามีความซื่อสัตย์และเชื่อฟัง.—เฮ็บราย 3:1–4:11.
20 นอกจากนี้ คำสัญญาไมตรีใหม่ดีเยี่ยมยิ่งกว่าคำสัญญาไมตรีโดยทางพระบัญญัติ. ดังมีการพยากรณ์ไว้ก่อนหน้านาน 600 ปี ที่พระธรรมยิระมะยา 31:31-34 บรรดาผู้ที่อยู่ใต้คำสัญญาไมตรีใหม่มีกฎหมายของพระเจ้าจารึกอยู่ในหัวใจของเขาและได้รับการให้อภัยบาปอย่างแท้จริง. แทนการมีมหาปุโรหิตที่ต้องถวายเครื่องบูชาทุกปีเพื่อไถ่บาปตัวเองและบาปไพร่พลของพระเจ้า คริสเตียนมีพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิตของเขา ผู้ซึ่งปราศจากบาปและทรงถวายเครื่องบูชาสำหรับความผิดแต่เพียงครั้งเดียวและใช้ได้ตลอดไป. แทนที่พระองค์จะเข้าไปถวายเครื่องบูชาในห้องบริสุทธิ์ซึ่งสร้างด้วยมือมนุษย์ พระองค์ได้เสด็จเข้าในสวรรค์ เพื่อปรากฏจำเพาะพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น การใช้สัตว์บูชายัญภายใต้คำสัญญาแห่งพระบัญญัติของโมเซไม่อาจเพิกถอนบาปได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นเขาคงไม่ต้องถวายเครื่องบูชาเป็นประจำทุกปี. แต่เครื่องบูชาของพระคริสต์ซึ่งนำถวายครั้งเดียวสำหรับตลอดกาลนั้นลบล้างบาป. ทั้งหมดนี้ฉายแสงไปยังพระวิหารยิ่งใหญ่ฝ่ายวิญญาณ ซึ่งทุกวันนี้ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมกับ “แกะอื่น” ต่างก็พากันปฏิบัติรับใช้อยู่ในลานพระวิหารนั้น.—โยฮัน 10:16; เฮ็บราย 9:24-28.
21. การพิจารณาคราวนี้แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวข้องกับความสำเร็จสมจริงแห่งบทเพลงสรรเสริญ 97:11 และสุภาษิต 4:18 ในสมัยอัครสาวก?
21 ไม่มีเนื้อที่พอสำหรับการยกตัวอย่างมากกว่านี้ เป็นต้นว่า ความสว่างที่แวบขึ้นซึ่งเห็นได้ในจดหมายของอัครสาวกเปโตรและในจดหมายของสาวกยาโกโบและยูดา. แต่ที่กล่าวมาข้างต้นก็น่าจะพอเพื่อแสดงว่าบทเพลงสรรเสริญ 97:11 และสุภาษิต 4:18 สำเร็จสมจริงอย่างน่าทึ่งในสมัยอัครสาวก. ความจริงได้เริ่มพัฒนาจากการเป็นแบบอย่างหรือเงา ไปสู่ความสำเร็จสมจริงและเป็นความจริง.—ฆะลาเตีย 3:23-25; 4:21-26.
22. เกิดอะไรขึ้นหลังจากพวกอัครสาวกล่วงลับไปแล้ว และบทความต่อจากนี้จะชี้แจงเรื่องอะไร?
22 หลังจากเหล่าอัครสาวกของพระเยซูได้ล่วงลับไป และการออกหากตามที่บอกล่วงหน้าเริ่มปรากฏ ความสว่างแห่งความจริงริบหรี่ลงไปมาก. (2 เธซะโลนิเก 2:1-11) แต่ตามคำสัญญาของพระเยซู เมื่อเวลาล่วงผ่านไปหลายศตวรรษ องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับและทรงพบ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” กำลังแจกอาหารแก่ “คนรับใช้ทั้งหลาย” ตามเวลาที่สมควร. ผลก็คือ พระเยซูคริสต์ได้ทรงแต่งตั้งทาสผู้นั้น “ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) มีความสว่างอะไรที่แวบขึ้นตามมา? บทความถัดไปจะมีการพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a ดินในอุทาหรณ์หมายถึงสภาพแวดล้อมซึ่งคริสเตียนเลือกที่จะเพาะคุณลักษณะต่าง ๆ แห่งบุคลิกภาพ.—ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1980 หน้า 24-27.
คุณจำได้ไหม?
▫ ข้อคัมภีร์อะไรแสดงให้เห็นว่าการเข้าใจความจริงกระจ่างขึ้นตามลำดับ?
▫ มีความสว่างอะไรบ้างที่แวบขึ้นซึ่งบันทึกไว้ในพระธรรมกิจการ?
▫ ความสว่างอะไรที่หาพบในกิตติคุณทั้งสี่เล่ม?
▫ จดหมายฉบับต่าง ๆ ของเปาโลประกอบด้วยความสว่างอะไรบ้างที่แวบขึ้น?