พวกเขาทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา
เปาโลให้คำพยานอย่างกล้าหาญต่อผู้มีตำแหน่งสูง
ความแตกต่างระหว่างสองบุคคลนี้มีมากมาย. คนหนึ่งสวมมงกุฎ อีกคนหนึ่งถูกล่ามโซ่ตรวน. คนหนึ่งเป็นกษัตริย์ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ต้องหา. หลังจากเปาโลติดคุกสองปี ตอนนี้ท่านยืนอยู่ต่อหน้ากษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่สองผู้ซึ่งครอบครองชาวยิว. กษัตริย์และมเหสีเบระนิเกเสด็จมา “พร้อมด้วยราชบริพารเป็นสง่าผ่าเผยมาก, จึงได้เข้าไปประทับในที่ออกขุนนางพร้อมกับนายพันและคนสำคัญ ๆ ทั้งหลายในเมืองนั้น.” (กิจการ 25:23) งานค้นคว้าชิ้นหนึ่งกล่าวว่า “บางทีอาจมีหลายร้อยคนอยู่ที่นั่น.”
เฟศโตซึ่งพึ่งถูกแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการจัดการประชุมนี้ขึ้น. เฟลิกซ์ ผู้สำเร็จราชการคนก่อนพอใจจะปล่อยให้เปาโลทนทุกข์อยู่ในคุก. แต่เฟศโตตั้งข้อสงสัยว่าข้อกล่าวหาเปาโลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่. เปาโลยืนยันความบริสุทธิ์ของท่านถึงขนาดยื่นอุทธรณ์ถึงซีซาร์! คดีของเปาโลทำให้กษัตริย์อะฆะริปาอยากรู้อยากเห็น. กษัตริย์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าจะใคร่ฟังปากคำคนนั้นด้วย.” เฟศโตจัดการประชุมขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ที่ท่านอยากรู้ว่ากษัตริย์จะทรงมีความคิดอย่างไรต่อผู้ต้องหาที่ไม่เหมือนใครคนนี้.—กิจการ 24:27–25:22.
วันต่อมา เปาโลยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนผู้ทรงเกียรติ. ท่านกล่าวต่ออะฆะริปาว่า “ข้าพเจ้าถือว่าเป็นลาภใหญ่ที่ได้โอกาสแก้คดีต่อพักตร์ท่านวันนี้ . . . เพราะท่านมีความรู้ชำนาญในบรรดาขนบธรรมเนียมและปัญหาต่าง ๆ ของพวกยูดายโดยถ้วนถี่แล้ว. เหตุฉะนั้นขอท่านได้โปรดทนฟังข้าพเจ้า.”—กิจการ 26:2, 3.
คำแก้คดีอันกล้าหาญของเปาโล
ตอนแรก เปาโลบอกอะฆะริปาถึงอดีตของท่านที่เป็นผู้กดขี่ข่มเหงคริสเตียน. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้า . . . บังคับเขาให้กล่าวคำหมิ่นประมาท [“เลิกนับถือ,” ล.ม.]. . . . ข้าพเจ้าได้ตามไปข่มเหงเขาถึงเมืองต่างประเทศ.” เปาโลกล่าวต่อไปว่าท่านได้เห็นนิมิตที่น่าอัศจรรย์อย่างไร ซึ่งพระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์ตรัสถามท่านว่า “เจ้าข่มเหงเราทำไม? ซึ่งเจ้าจะถีบประตักก็ยากนัก [“เจ็บตัวเจ้าเอง,” ฉบับแปลใหม่].”a—กิจการ 26:4-14.
หลังจากนั้นพระเยซูทรงมอบหมายเซาโลออกไปให้คำพยานแก่ทุกชาติ “ถึงเหตุการณ์ซึ่งเจ้าได้เห็น, และถึงเหตุการณ์ที่เราจะสำแดงตัวเราเองแก่เจ้าในเวลาภายหน้า.” เปาโลเล่าว่าท่านพยายามบากบั่นทำงานมอบหมายของท่านให้สำเร็จ. กระนั้น ท่านบอกอะฆะริปาว่า “เพราะเหตุเหล่านั้นพวกยูดายจึงจับข้าพเจ้าที่ในโบสถ์, และพยายามหาช่องที่จะฆ่าข้าพเจ้าเสีย.” เพื่อกระตุ้นความสนใจที่อะฆะริปามีอยู่แล้วต่อศาสนายูดาย ท่านจึงเน้นว่าคำพยานของท่าน แท้จริง “ไม่พูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องซึ่งบรรดาศาสดาพยากรณ์กับโมเซได้กล่าวไว้ว่าจะเกิดมีขึ้น” เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระมาซีฮา.—กิจการ 26:15-23.
เฟศโตร้องขัดจังหวะเปาโลว่า “เจ้าเรียนรู้วิชามากจึงทำให้เจ้าคลั่งไป.” เปาโลตอบว่า, “ท่านเฟศโตเจ้าข้า, ข้าพเจ้าไม่คลั่งเลย แต่ว่าได้พูดคำสัตย์จริงและคำที่ปกติชนจะพูด.” แล้วเปาโลกล่าวแก่อะฆะริปาว่า, “ท่านกษัตริย์ทรงทราบข้อความเหล่านี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงกล้ากล่าวต่อพระพักตร์ของท่านด้วยจริงใจ เพราะข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นก็ประจักษ์แจ้งอยู่ในใจของท่านแล้ว, เพราะการเหล่านั้นได้กระทำในที่เปิดเผย.”—กิจการ 26:24-26.
แล้วเปาโลพูดกับอะฆะริปาโดยตรงว่า “กษัตริย์อะฆะริปาเจ้าข้า, ท่านเชื่อพระคัมภีร์ของพวกศาสดาพยากรณ์หรือ”? คำถามนี้คงทำให้อะฆะริปาไม่สบายใจ. ถึงอย่างไรพระองค์ต้องรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง และถ้าเห็นด้วยกับเปาโลก็เท่ากับเห็นด้วยกับสิ่งที่เฟศโตเรียกว่าความ “คลั่ง.” บางทีเปาโลอาจจะเห็นว่าอะฆะริปาลังเลใจ ท่านจึงตอบคำถามของตนเองว่า “ข้าพเจ้าทราบ ว่าท่านเชื่อ.” ตอนนี้อะฆะริปาจึงตรัสออกมาแต่ก็ไม่ตรัสแบบที่จะผูกมัดตัวเอง. ท่านตรัสกับเปาโลว่า “เจ้าใคร่จะชวนเราให้เป็นคริสเตียนด้วยคำชักชวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.”—กิจการ 26:27, 28.
เปาโลใช้คำตรัสแบบเลี่ยงของอะฆะริปาอย่างชำนิชำนาญเพื่อเน้นจุดที่มีพลัง. ท่านกล่าวว่า “จำเพาะพระพักตร์พระเจ้าข้าพเจ้ามีความปรารถนายิ่งนักไม่ว่าด้วยคำชักชวนน้อยหรือมาก, ที่จะให้เป็นเหมือนอย่างข้าพเจ้า, มิใช่ท่านผู้เดียวแต่คนทั้งปวงที่ฟังข้าพเจ้าวันนี้ด้วย, เว้นเสียแต่เครื่องจำจองนี้.”—กิจการ 26:29.
อะฆะริปาและเฟศโตเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นสาเหตุทำให้เปาโลสมควรถูกประหารหรือถูกจำคุก. กระนั้น คำอุทธรณ์ของเปาโลต่อซีซาร์ไม่สามารถเพิกถอนได้. นั่นเป็นสาเหตุที่อะฆะริปาตรัสกับเฟศโตว่า “ถ้าคนนี้มิได้อุทธรณ์ถึงกายะซาแล้วจะปล่อยเขาก็ได้.”—กิจการ 26:30-32.
บทเรียนสำหรับเรา
วิธีของเปาโลในการให้คำพยานต่อผู้มีตำแหน่งสูงให้ตัวอย่างดีเยี่ยมแก่เรา. เมื่อเปาโลสนทนากับกษัตริย์อะฆะริปาท่านใช้ความสุขุมรอบคอบ. ท่านคงทราบเรื่องฉาวโฉ่ระหว่างอะฆะริปาและนางเบระนิเกแน่ ๆ. ทั้งสองแต่งงานกันระหว่างญาติใกล้ชิด ที่แท้แล้วนางเบระนิเกเป็นน้องสาวของอะฆะริปา. แต่เปาโลไม่ได้เลือกจะให้คำบรรยายเรื่องศีลธรรมในโอกาสนี้. แทนที่ท่านจะทำเช่นนั้น ท่านเน้นหนักข้อที่ท่านและอะฆะริปาเห็นพ้องกัน. นอกจากนั้น แม้ว่าเปาโลได้รับการสอนจากผู้รู้ฆามาลิเอลชาวฟาริซาย ท่านยอมรับว่าอะฆะริปามีความชำนาญด้านประเพณีของชาวยิว. (กิจการ 22:3) เปาโลพูดกับอะฆะริปาด้วยความเคารพถึงแม้ว่าอะฆะริปาเป็นผู้ผิดศีลธรรม เพราะอะฆะริปาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ.—โรม 13:7.
เมื่อเราให้คำพยานเรื่องความเชื่อของเราอย่างกล้าหาญ ไม่ใช่เป้าหมายของเราที่จะเปิดโปงหรือประณามการประพฤติที่ไม่สะอาดของผู้ที่ฟังเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรเน้นด้านบวกของข่าวดีและย้ำความหวังที่เรามีคล้ายกันกับพวกเขา เพื่อจะช่วยพวกเขาให้รับเอาความจริงได้ง่ายขึ้น. เมื่อพูดกับผู้ที่อาวุโสกว่าเราหรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ เราควรยอมรับตำแหน่งของเขา. (เลวีติโก 19:32) โดยวิธีนี้ เราสามารถเลียนแบบเปาโล ผู้กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดเพราะเห็นแก่คนทั้งปวง, เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้าง.”—1 โกรินโธ 9:22.
[เชิงอรรถ]
a สำนวน “ถีบประตัก” พรรณนาถึงกิริยาของวัวที่ถีบหรือเตะประตักที่แหลมคมแล้วทำให้ตัวเองบาดเจ็บ. ประตักนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นหรือนำทางสัตว์. คล้ายกัน เมื่อเซาโลข่มเหงคริสเตียน ท่านเพียงแต่จะนำความเสียหายมาสู่ตนเอง เนื่องจากท่านต่อสู้กับประชาชนที่มีพระเจ้าเป็นผู้หนุนหลัง.