ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
ให้อภัยและลืม—เป็นไปได้อย่างไร?
“เราจะยกความบาป [“การผิด”, ล.ม.] ของเขา, และไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย.”—ยิระมะยา 31:34.
ถ้อยคำเหล่านี้ซึ่งได้รับการบันทึกโดยผู้พยากรณ์ยิระมะยาเผยให้เห็นบางสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับความเมตตาของพระยะโฮวา: เมื่อพระองค์ทรงให้อภัย พระองค์ทรงลืม. (ยะซายา 43:25) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.) ฉะนั้น ในฐานะคริสเตียนเราควรเลียนแบบการให้อภัยของพระยะโฮวา.
อย่างไรก็ดี มีคำถามสำคัญบางข้อเกิดขึ้น. เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ไม่จดจำความบาปของเราอีกต่อไปจริง ๆ หรือ? และเมื่อเราให้อภัย เราต้องลืมในความหมายที่ว่าไม่สามารถนึกได้กระนั้นไหม? อาจกล่าวได้ไหมว่าหากเราไม่ลืมในลักษณะนั้น เราก็ยังไม่ได้ให้อภัยอย่างแท้จริง?
วิธีที่พระยะโฮวาทรงให้อภัย
การให้อภัยเกี่ยวข้องกับการไม่เก็บความแค้นเคืองไว้. เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงทำเช่นนั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์.a ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “[พระยะโฮวา] จะไม่ทรงติเตียนเป็นนิตย์; หรือทรงพระพิโรธตลอดชั่วนิรันดร์. ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด, พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:9, 12, 13.
ความสมบูรณ์แบบแห่งการให้อภัยของพระเจ้าได้รับการอธิบายไว้ในกิจการ 3:19 (ล.ม.) อีกว่า “เพราะฉะนั้น จงกลับใจ และหันกลับเพื่อบาปของท่านทั้งหลายจะถูกปลดเปลื้อง.” วลีที่ว่า ‘ถูกปลดเปลื้อง’ มาจากคำกริยากรีก (เอ็กซาเลอิ ʹโฟ) ซึ่งหมายถึง “เช็ดออกไป, ลบล้าง.” (ดูวิวรณ์ 7:17; 21:4) พจนานุกรมเดอะ นิว อินเตอร์แนชันแนล ดิกชันนารี ออฟ นิว เทสตาเมนต์ อธิบายว่า “ภาพซึ่งแสดงออกโดยคำกริยานี้ ณ ที่นี้และอาจจะที่อื่น ๆ ด้วย น่าจะเป็นการปาดผิวกระดานขี้ผึ้งให้เรียบเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ([เปรียบเทียบ] ‘การลบกระดานดำให้สะอาด’).” เมื่อเรากลับใจจากบาปของเรา พระยะโฮวาทรงลบสิ่งนั้นออกไปจากประวัติชีวิตของเรา. นั่นหมายความว่าพระองค์จะไม่ทรงระลึกถึงความบาปของเราอีกต่อไปไหม? ให้เรามาพิจารณาดูสักตัวอย่างหนึ่งซึ่งบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.
เมื่อกษัตริย์ดาวิดล่วงประเวณีกับนางบัธเซบะและต่อมาได้พยายามปกปิดโดยการหยิบยื่นความตายให้แก่สามีของนาง พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์นาธานไปว่ากล่าวดาวิด. (2 ซามูเอล 11:1-17; 12:1-12) ผลเป็นเช่นไร? ดาวิดได้กลับใจอย่างแท้จริง และพระยะโฮวาทรงให้อภัยท่าน. (2 ซามูเอล 12:13; บทเพลงสรรเสริญ 32:1-5) พระยะโฮวาทรงลืมความบาปของดาวิดไหม? ไม่เลย! ต่อมา ฆาดและนาธานผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ในพระธรรมสองซามูเอล (เสร็จราวปี 1040 ก่อนสากลศักราช) ไม่นานก่อนการสิ้นพระชนม์ของดาวิด.
ดังนั้นบันทึก หรือความทรงจำ ในเรื่องความบาปของดาวิด—รวมทั้งบันทึกเกี่ยวกับการกลับใจของท่านและต่อมาการให้อภัยจากพระยะโฮวา—ยังดำรงต่อไป เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลจนถึงสมัยนี้. (โรม 15:4; 1 โกรินโธ 10:11) อันที่จริง เนื่องจาก “คำตรัสของพระยะโฮวา [ซึ่งบรรจุอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล] ดำรงอยู่เป็นนิตย์” บันทึกเรื่องความบาปของดาวิดจะไม่มีวันถูกลืม!—1 เปโตร 1:25, ล.ม.
ถ้าเช่นนั้นอาจกล่าวได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงลบกระดานให้สะอาดเมื่อเรากลับใจจากความบาปของเราอย่างแท้จริง? เราจะเข้าใจคำตรัสของพระยะโฮวาได้อย่างไรที่ว่า “เราจะยกความบาป [“การผิด,” ล.ม.] ของเขา, และไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย”?—ยิระมะยา 31:34.
วิธีที่พระยะโฮวาทรงลืม
คำกริยาภาษาฮีบรูที่ถูกแปลว่า “ระลึกถึง” (รูปแบบหนึ่งของคำซาคาร์ʹ) ไม่ได้หมายเพียงแต่การนึกถึงอดีตเท่านั้น. ตามหนังสือ ธีโอโลจิคัล เวิร์ดบุ๊ก ออฟ ดิ โอลด์ เทสตาเมนต์ คำนี้อาจหมายความว่า “เอ่ยถึง, แถลง, เล่า, ประกาศ, เรียกร้อง, เป็นอนุสรณ์ถึง, กล่าวโทษ, สารภาพ.” พจนานุกรม ธีโอโลจิคัล ดิกชันนารี ออฟ ดิ โอลด์ เทสตาเมนต์ เสริมอีกว่า “ที่จริง บ่อยครั้งมากที่ [ซาคาร์ʹ] แสดงนัยถึงการกระทำหรือปรากฏในรูปของการประกอบกับคำกริยาที่แสดงการกระทำ.” ฉะนั้น เมื่อพระยะโฮวาตรัสกับผู้ที่หันเหจากพระองค์ว่าพระองค์ “จะระลึกถึงความอสัตย์อธรรมของเขา” พระองค์ทรงหมายความว่าพระองค์จะ ลงโทษ พวกเขาหากไม่กลับใจ. (ยิระมะยา 14:10) ในทางกลับกัน เมื่อพระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะ . . . ไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย” พระองค์ทรงรับรองกับเราว่าเมื่อพระองค์ทรงให้อภัยความบาปของเราแล้ว พระองค์จะไม่ยกเรื่องนั้นขึ้นมาเพื่อกล่าวโทษ, ประณาม, หรือลงโทษเราอีก.
โดยทางผู้พยากรณ์ยะเอศเคล พระยะโฮวาทรงอธิบายความหมายแห่งการให้อภัยและการลืมของพระองค์ดังนี้: “ถ้าคนชั่วนั้นกลับเสียจากความบาปของเขา, ซึ่งเขาได้กระทำนั้น, และจะรักษากฎหมายทั้งปวงของเรา, และประพฤติความสัตย์และความชอบธรรม, เขาจะมีชีวิตเป็นแน่, เขาจะมิได้ตาย. บรรดาความชั่วของเขาที่เขาได้กระทำจะไม่เป็นที่ระลึกต่อเขา, เขาจะมีชีวิตในการชอบธรรมที่เขาได้กระทำนั้น.” (ยะเอศเคล 18:21, 22; 33:14-16) ใช่แล้ว เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัยผู้กระทำบาปที่กลับใจ พระองค์ทรงลบกระดานให้สะอาดและทรงลืมในความหมายที่ว่าพระองค์จะไม่ลงโทษผู้นั้นสำหรับความบาปดังกล่าวอีกเลยในวันข้างหน้า.—โรม 4:7, 8.
เนื่องจากเราต่างก็ไม่สมบูรณ์ เราจึงไม่สามารถให้อภัยในความหมายสมบูรณ์ดังที่พระยะโฮวาทรงกระทำได้เลย ความคิดและวิถีทางของพระองค์สูงส่งกว่าของเราอย่างสุดจะพรรณนา. (ยะซายา 55:8, 9) ดังนั้น ถึงขอบเขตไหนที่เราอาจถูกคาดหมายได้อย่างสมเหตุสมผลในการให้อภัยและลืมเมื่อผู้อื่นทำบาปต่อเรา?
วิธีที่เราสามารถให้อภัยและลืมได้
เอเฟโซ 4:32 (ล.ม.) กระตุ้นเรา “ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้าง.” ดังที่ผู้เรียบเรียงปทานุกรม ดับเบิลยู. อี. ไวน์ ว่าไว้ คำกรีกซึ่งได้รับการแปลว่า “ให้อภัยด้วยใจกว้าง” (คาริʹโซมาย) หมายถึง “ให้ความโปรดปรานอย่างไม่มีเงื่อนไข.” เมื่อการกระทำผิดต่อเราเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เราคงจะให้อภัยได้ไม่ยากนัก. การระลึกอยู่เสมอว่าเราเองก็ไม่สมบูรณ์เช่นกันย่อมช่วยเราให้สามารถอภัยในข้อบกพร่องของผู้อื่นได้. (โกโลซาย 3:13) เมื่อเราให้อภัย เราไม่เก็บความแค้นเคืองไว้ และสัมพันธภาพระหว่างเรากับผู้กระทำผิดอาจไม่ได้รับความเสียหายถาวร. ในที่สุด ความทรงจำเกี่ยวกับการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนั้นอาจเป็นไปได้ว่าเลือนหายไป.
แต่ถ้าผู้อื่นกระทำผิดต่อเราในทางที่ร้ายแรงกว่า โดยสร้างบาดแผลลึก ๆ ไว้ให้เราล่ะ? ในกรณีสุดมหันต์ เช่นการร่วมประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิด, การข่มขืน, และพยายามลอบสังหาร การให้อภัยอาจเกี่ยวข้องกับหลายประเด็น. เรื่องนี้อาจเป็นความจริงโดยเฉพาะเมื่อไม่มีการยอมรับว่าทำบาป, ไม่มีการกลับใจ, และไม่มีการขออภัยจากผู้กระทำผิด.b (สุภาษิต 28:13) พระยะโฮวาเองก็ไม่ทรงให้อภัยผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจและใจแข็งกระด้าง. (เฮ็บราย 6:4-6; 10:26) เมื่อบาดแผลฝังลึก เราอาจไม่มีวันสำเร็จในการขจัดสิ่งที่เกิดขึ้นออกไปจากจิตใจอย่างสมบูรณ์. อย่างไรก็ดี เราสามารถรับการปลอบประโลมใจจากคำรับรองที่ว่า ในโลกใหม่ที่กำลังจะมา “สิ่งก่อนนั้นจะไม่ระลึกถึงอีก ทั้งจะไม่คำนึงถึงในหัวใจ.” (ยะซายา 65:17, ล.ม.; วิวรณ์ 21:4) สิ่งใดก็ตามที่เราระลึกได้ในตอนนั้นจะไม่ก่อความเจ็บปวดรวดร้าวล้ำลึกอย่างที่เราอาจรู้สึกอยู่ในเวลานี้.
ในกรณีอื่น ๆ เราอาจจำต้องเป็นฝ่ายริเริ่มเพื่อจัดการเรื่องราวต่าง ๆ อาจรวมถึงการพูดกับผู้กระทำผิด ก่อนที่เราจะให้อภัยเขาได้. (เอเฟโซ 4:26) ด้วยวิธีนี้ความเข้าใจผิดใด ๆ ย่อมได้รับการแก้ไข, มีการขออภัยอย่างเหมาะสม, และมีการให้อภัย. แล้วเรื่องของการลืมล่ะ? เราไม่อาจขจัดสิ่งนั้นออกจากจิตใจอย่างหมดสิ้น แต่เราสามารถลืมได้ในแง่ที่ว่าเราไม่เก็บความแค้นเคืองที่มีต่อผู้ที่กระทำผิดหรือยกเรื่องนั้นขึ้นมาอีกในวันข้างหน้า. เราไม่นำเรื่องนั้นไปซุบซิบ หรือหนีหน้าคนนั้นโดยสิ้นเชิง. แต่ อาจต้องใช้เวลาบ้างเพื่อสมานสัมพันธภาพระหว่างเรากับผู้กระทำผิด และอาจจะไม่สนิทสนมเหมือนเดิม.
ลองพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง: สมมุติว่าคุณเล่าเรื่องส่วนตัวที่สุดแก่เพื่อนคนหนึ่งที่คุณไว้ใจ และต่อมาคุณทราบว่าเขาได้เปิดเผยเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น ทำให้คุณอับอายและเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง. คุณเข้าหาเขาเพื่อพูดคุยถึงเรื่องนั้น และเขาเสียใจอย่างมาก เขากล่าวคำขอโทษและขออภัย. เมื่อได้ยินคำขอโทษจากใจจริง หัวใจคุณก็ถูกกระตุ้นที่จะให้อภัยเขา. คุณลืมสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายไหม? คงจะไม่ ไม่ต้องสงสัยคุณจะระวังอย่างมากเรื่องการไว้วางใจเขาอีกในวันข้างหน้า. ทว่าคุณให้อภัยเขา คุณไม่ยกเรื่องนั้นขึ้นมาพูดกับเขาเรื่อย ๆ. คุณไม่เก็บความแค้นเคืองไว้ หรือพูดซุบซิบนินทาเรื่องนั้นกับคนอื่น. คุณอาจไม่รู้สึกสนิทสนมกับเขาเหมือนเมื่อก่อน แต่คุณก็ยังคงรักเขาในฐานะพี่น้องคริสเตียน.—เทียบกับสุภาษิต 20:19.
แต่จะว่าอย่างไรหากทั้ง ๆ ที่คุณพยายามจัดการเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว ผู้กระทำผิดก็ยังไม่ยอมรับความผิดของตนและไม่ขออภัย? คุณสามารถให้อภัยในความหมายของการไม่เก็บความแค้นเคืองไว้ได้ไหม? การให้อภัยผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าเรายกโทษหรือลดความสำคัญของสิ่งที่เขาได้ทำไป. ความแค้นเคืองเป็นภาระหนักอึ้งที่จะแบก มันอาจครอบงำความคิดของเรา, ปล้นเอาสันติสุขไปจากเรา. การเฝ้าคอยคำขออภัยซึ่งไม่มีวันได้รับนั้น รังแต่จะทำให้เราข้องขัดใจมากขึ้นเรื่อย ๆ. อันที่จริง เราปล่อยให้ผู้กระทำผิดควบคุมอารมณ์ของเรา. ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้อภัยผู้อื่น หรือไม่เก็บความแค้นเคืองไว้ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา เท่านั้นแต่รวมทั้งของเราเองด้วยเพื่อที่เราจะดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่มีอะไรทำให้เขว.
การให้อภัยผู้อื่นใช่ว่าง่ายเสมอไป. แต่เมื่อมีการกลับใจอย่างจริงใจ เราอาจพยายามเลียนแบบการให้อภัยของพระยะโฮวา. เมื่อพระองค์ทรงอภัยผู้กระทำผิดที่กลับใจ พระองค์ไม่เก็บความเคืองพระทัยไว้ พระองค์ทรงลบกระดานให้สะอาดและทรงลืมโดยที่พระองค์จะไม่ถือโทษพวกเขาสำหรับบาปเหล่านั้น ในวันหน้า. เราก็เช่นกันอาจพยายามไม่เก็บความแค้นเคืองไว้เมื่อผู้กระทำผิดกลับใจ. อย่างไรก็ดี อาจมีบางกรณีที่เราไม่มีพันธะต้องให้อภัย. ไม่ควรที่เหยื่อคนใดซึ่งได้รับการปฏิบัติอย่างอยุติธรรมหรือโหดร้ายสุดมหันต์จะถูกบีบบังคับเพื่อให้อภัยผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจ. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 139:21, 22.) แต่ในกรณีส่วนใหญ่แล้วเมื่อผู้อื่นกระทำบาปต่อเรา เราสามารถให้อภัยในแง่ที่ว่าไม่เก็บความแค้นเคืองไว้ และเราสามารถลืมได้ในความหมายที่ว่าไม่ถือโทษพี่น้องของเราสำหรับเรื่องนั้น ในวันหน้า.
[เชิงอรรถ]
a ดูบทความ “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล: การให้อภัยโทษของพระเจ้านั้นสมบูรณ์เพียงใด?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 ธันวาคม 1993 หน้า 18-19.
b อินไซต์ ออน เดอะ สคริปเจอร์ส เล่ม 1 หน้า 862 กล่าวว่า “คริสเตียนมิได้ถูกเรียกร้องที่จะให้อภัยแก่ผู้ปฏิบัติแบบประสงค์ร้าย, จงใจทำบาปโดยไม่กลับใจ. คนเหล่านั้นกลายเป็นศัตรูของพระเจ้า.”—จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ออฟ นิวยอร์ก.
[รูปภาพหน้า 23]
โจเซฟและพี่น้องของท่าน