บทสี่
ผู้นั้นซึ่งผู้พยากรณ์ทั้งหลายเป็นพยานถึง
1. ข้อเท็จจริงเรื่องการดำรงอยู่ก่อนมาเป็นมนุษย์ของพระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรในเรื่องสัมพันธภาพของพระองค์กับพระยะโฮวา?
“พระบิดาทรงมีความรักใคร่พระบุตร และทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ.” (โยฮัน 5:20, ล.ม.) ช่างเป็นสัมพันธภาพอันอบอุ่นที่พระบุตรมีกับพระบิดา พระยะโฮวา! สัมพันธภาพอันใกล้ชิดนั้นเริ่มต้นคราวที่มีการสร้างพระบุตรขึ้น นานหลายพันล้านปีก่อนที่พระองค์มากำเนิดเป็นมนุษย์. พระองค์เป็นพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า เป็นผู้เดียวที่พระยะโฮวาทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง. สิ่งอื่น ๆ ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกล้วนถูกสร้างขึ้นโดยทางพระบุตรหัวปีผู้เป็นที่รักยิ่ง. (โกโลซาย 1:15, 16) นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็นพระวาทะหรือโฆษกของพระเจ้า ซึ่งโดยทางพระบุตรนี้เอง ผู้อื่นจึงได้ทราบถึงพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระบุตรผู้นี้ที่พระเจ้าทรงรักเป็นพิเศษได้มาเป็นมนุษย์เยซูคริสต์.—สุภาษิต 8:22-30; โยฮัน 1:14, 18; 12:49, 50.
2. คำพยากรณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงพระเยซูมากแค่ไหน?
2 ก่อนที่พระบุตรหัวปีของพระเจ้าจะมากำเนิดเป็นมนุษย์อย่างน่าอัศจรรย์ ได้มีการบันทึกคำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับพระองค์ไว้หลายข้อ. อัครสาวกเปโตรยืนยันต่อโกระเนเลียวดังนี้: “ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายย่อมเป็นพยานถึงพระองค์.” (กิจการ 10:43) บทบาทของพระเยซูมีบอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลถึงขนาดที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งบอกอัครสาวกโยฮันว่า “การเป็นพยานถึงพระเยซูนั้นเป็นสิ่งดลใจให้พยากรณ์.” (วิวรณ์ 19:10, ล.ม.) คำพยากรณ์เหล่านั้นระบุอย่างแน่ชัดว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา. คำพยากรณ์เหล่านั้นชี้ถึงบทบาทหลายอย่างของพระองค์ในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ. ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับพวกเราในปัจจุบัน.
คำพยากรณ์ต่าง ๆ เผยให้เห็นอะไร
3. (ก) ในคำพยากรณ์ที่เยเนซิศ 3:15 งู, “หญิง,” และ ‘พงศ์พันธุ์ของงู’ เป็นภาพเล็งถึงใคร? (ข) เหตุใด ‘การบดขยี้หัวของงู’ เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา?
3 ในบรรดาคำพยากรณ์เหล่านั้น คำพยากรณ์แรกมีขึ้นหลังจากการกบฏในสวนเอเดน. พระยะโฮวาตรัสกับงูว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) ที่จริง คำพยากรณ์นั้นมุ่งไปยังซาตาน ซึ่งใช้งูเป็นเครื่องมือ. “หญิง” คือองค์การทางภาคสวรรค์ที่ภักดีของพระยะโฮวาเอง ซึ่งเปรียบได้กับภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ‘พงศ์พันธุ์ของงู’ ประกอบด้วยเหล่าทูตสวรรค์และมนุษย์ทั้งสิ้นซึ่งแสดงน้ำใจแบบซาตาน คนเหล่านั้นที่ต่อต้านพระยะโฮวาและไพร่พลของพระองค์. ‘การบดขยี้หัวของงู’ หมายถึงการทำลายซาตานผู้ก่อกบฏในที่สุด ซึ่งได้หมิ่นประมาทพระยะโฮวาและนำความเศร้าโศกมากมายมาสู่มนุษยชาติ. แต่ใครเป็นส่วนสำคัญของ “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะทำการบดขยี้? ตลอดหลายศตวรรษ เรื่องนั้นยังคงเป็น “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์.”—โรม 16:20, 25, 26, ล.ม.
4. เชื้อสายของพระเยซูช่วยระบุว่าพระองค์เป็นพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้อย่างไร?
4 หลังจากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ดำเนินมาราว ๆ 2,000 ปี พระยะโฮวาทรงให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีก. พระองค์เปิดเผยว่าพงศ์พันธุ์นั้นจะปรากฏในเชื้อสายของอับราฮาม. (เยเนซิศ 22:15-18) อย่างไรก็ดี เชื้อสายที่นำไปถึงพงศ์พันธุ์นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับการสืบเชื้อสายทางเนื้อหนัง แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกของพระเจ้า. ทั้ง ๆ ที่อับราฮามรักยิศมาเอล บุตรชายที่เกิดจากนางฮาฆาร พระยะโฮวาตรัสว่า “คำสัญญาไมตรีของเรา ๆ จะตั้งไว้ต่อยิศฮาคบุตรของเจ้าที่นางซาราจะคลอด.” (เยเนซิศ 17:18-21) ต่อมา คำสัญญาไมตรีนั้นได้รับการยืนยัน มิใช่กับเอซาวบุตรหัวปีของยิศฮาค แต่กับยาโคบซึ่งให้กำเนิดอิสราเอล 12 ตระกูล. (เยเนซิศ 28:10-14) ต่อมา มีการระบุว่าพงศ์พันธุ์นั้นจะมาเกิดในตระกูลยูดา ทางเชื้อสายของดาวิด.—เยเนซิศ 49:10; 1 โครนิกา 17:3, 4, 11-14.
5. เมื่อพระเยซูทรงเริ่มงานรับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก อะไรเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา?
5 มีการให้ข้อมูลอื่นอะไรอีกเกี่ยวกับการระบุตัวพงศ์พันธุ์นั้น? กว่า 700 ปีล่วงหน้า คัมภีร์ไบเบิลระบุชื่อเบทเลเฮม ว่าเป็นที่ซึ่งพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาจะมาบังเกิดเป็นมนุษย์. นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังเผยว่าพงศ์พันธุ์นั้นดำรงอยู่ก่อนแล้ว “ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์” ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ถูกสร้างขึ้นในสวรรค์. (มีคา 5:2, ล.ม.) นอกจากนี้ เวลากำหนดที่พระองค์จะมาปรากฏตัวบนแผ่นดินโลกฐานะมาซีฮานั้นยังมีบอกไว้ล่วงหน้าโดยผู้พยากรณ์ดานิเอล. (ดานิเอล 9:24-26) และเมื่อพระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ก็กลายเป็นผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา พระสุรเสียงของพระเจ้าเองจากสวรรค์ระบุตัวพระองค์อย่างแน่ชัดว่าเป็นบุตรของพระเจ้า. (มัดธาย 3:16, 17) พงศ์พันธุ์ปรากฏตัวแล้ว! ด้วยเหตุนี้ ฟิลิปจึงสามารถพูดด้วยความมั่นใจว่า “เราได้พบพระองค์นั้นที่โมเซได้กล่าวถึงในคัมภีร์พระบัญญัติและพวกศาสดาพยากรณ์ได้กล่าวถึงด้วย, คือพระเยซู.”—โยฮัน 1:45.
6. (ก) ตามลูกา 24:27 เหล่าผู้ติดตามพระเยซูได้มาตระหนักถึงอะไร? (ข) ใครเป็นส่วนสำคัญของ ‘พงศ์พันธุ์ของหญิง’ และการบดขยี้หัวงูนั้นหมายถึงอะไร?
6 หลังจากนั้น เหล่าผู้ติดตามพระเยซูได้ตระหนักว่า หลักฐานอ้างอิงเชิงพยากรณ์หลายข้อซึ่งเล็งถึงพระองค์นั้นได้มาเป็นส่วนของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (ลูกา 24:27) ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า พระเยซูเป็นส่วนสำคัญที่สุดของ ‘พงศ์พันธุ์ของหญิง’ ซึ่งจะบดขยี้หัวงู คือกำจัดซาตานออกไป. โดยทางพระเยซู คำสัญญาทั้งปวงที่พระเจ้าให้แก่มนุษยชาติ ทุกสิ่งที่เราใฝ่ฝัน ย่อมจะสำเร็จเป็นจริง.—2 โกรินโธ 1:20.
7. นอกจากการระบุตัวผู้นั้นซึ่งมีการอ้างถึงในคำพยากรณ์ต่าง ๆ แล้ว นับว่าเป็นประโยชน์ที่พึงตระหนักถึงเรื่องอะไรอีก?
7 การรู้เรื่องนี้น่าจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงขันทีชาวเอธิโอเปียซึ่งได้อ่านคำพยากรณ์เหล่านี้บางส่วนเกี่ยวกับผู้ไถ่และพระมาซีฮาที่จะเสด็จมา. ด้วยความฉงน เขาได้ถามฟิลิปผู้เผยแพร่กิตติคุณว่า “ศาสดาพยากรณ์ได้กล่าวอย่างนั้นเล็งถึงผู้ใด?” เมื่อได้รับคำตอบ ขันทีผู้นั้นไม่ได้คิดว่าจบเรื่องแล้ว. หลังจากตั้งใจฟังคำอธิบายจากฟิลิป ชายผู้นั้นตระหนักว่า การหยั่งรู้ค่าต่อคำพยากรณ์ที่สำเร็จแล้วนั้นเรียกร้องให้เขาลงมือปฏิบัติ. เขาเข้าใจว่าตนต้องรับบัพติสมา. (กิจการ 8:32-38; ยะซายา 53:3-9) เราตอบรับในทำนองเดียวกันนั้นไหม?
8. (ก) การที่อับราฮามพยายามจะถวายยิศฮาคเป็นภาพเล็งถึงอะไร? (ข) เหตุใดพระยะโฮวาตรัสแก่อับราฮามว่า ทุกชาติจะทำให้ตัวเองได้รับพระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ และเรื่องนี้หมายถึงอะไรสำหรับเราในปัจจุบัน?
8 นอกจากนี้ ขอพิจารณาเรื่องราวที่ซาบซึ้งตรึงใจเกี่ยวกับการที่อับราฮามพยายามจะถวายยิศฮาค บุตรชายคนเดียวของท่านซึ่งเกิดจากนางซารา. (เยเนซิศ 22:1-18) เรื่องนั้นเป็นภาพเล็งถึงสิ่งที่พระยะโฮวาจะทำ คือประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ ดังที่มีกล่าวไว้ “พระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) นี่ทำให้เรามั่นใจว่า พระยะโฮวาทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จฉันใด พระองค์จะ “ทรงโปรดประทานสิ่งอื่นทั้งปวงแก่เรา” ฉันนั้น. (โรม 8:32, ล.ม.) แล้วเราจำต้องทำอะไรบ้าง? ดังที่มีบันทึกไว้ในเยเนซิศ 22:18 พระยะโฮวาตรัสแก่อับราฮามว่า นานาชาติทั้งสิ้นจะทำให้ตัวเองได้รับพระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ “เพราะ [อับราฮาม] ได้เชื่อฟังเสียงของ [พระเจ้า].” เราก็เช่นกัน ต้องฟังพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ ด้วยว่า “ผู้ที่สำแดงความเชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์; ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรจะไม่เห็นชีวิต แต่พระพิโรธของพระเจ้าคงอยู่กับผู้นั้นต่อไป.”—โยฮัน 3:36, ล.ม.
9. ถ้าเราหยั่งรู้ค่าความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ซึ่งเป็นไปได้โดยเครื่องบูชาของพระคริสต์ เราจะทำอย่างไร?
9 ถ้าเราหยั่งรู้ค่าความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ซึ่งเป็นไปได้โดยเครื่องบูชาของพระคริสต์ เราจะอยากทำสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาตรัสแก่เราโดยทางพระเยซู. สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้าน. (มัดธาย 22:37-39) พระเยซูได้แสดงว่า ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาจะกระตุ้นเราให้สอนผู้อื่น “ให้ถือรักษาสิ่งสารพัตรซึ่ง [พระเยซู] ได้สั่งพวก [เรา] ไว้.” (มัดธาย 28:19, 20) และเราต้องการจะแบ่งปันความรักนี้กับเพื่อนผู้รับใช้ของพระยะโฮวาโดย “ประชุมร่วมกัน” กับพวกเขาเป็นประจำ. (เฮ็บราย 10:25, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:10) นอกจากนี้ ในการฟังพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์ เราไม่ควรคิดว่าพระองค์ทั้งสองเรียกร้องความสมบูรณ์จากเรา. เฮ็บราย 4:15 (ล.ม.) บอกว่า พระเยซูในฐานะมหาปุโรหิตของเรา “เห็นอกเห็นใจในความอ่อนแอของเรา.” ช่างเป็นการปลอบใจจริง ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเข้าเฝ้าพระเจ้าในคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือเพื่อเอาชนะความอ่อนแอของเรา!—มัดธาย 6:12.
แสดงความเชื่อในพระคริสต์
10. เหตุใดจึงไม่มีความรอดนอกเหนือจากพระเยซูคริสต์?
10 หลังจากอธิบายต่อศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเลมว่า คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลได้สำเร็จเป็นจริงในพระเยซู อัครสาวกเปโตรได้สรุปอย่างหนักแน่นดังนี้: “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งเป็นที่รอดแก่เราทั้งหลายไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า.” (กิจการ 4:12) เนื่องจากลูกหลานทุกคนของอาดามเป็นคนบาป การตายของพวกเขาไม่มีคุณค่าพอที่จะนำมาใช้เป็นค่าไถ่สำหรับใคร ๆ ได้. แต่พระเยซูเป็นมนุษย์สมบูรณ์ และชีวิตของพระองค์มีคุณค่าเป็นเครื่องบูชา. (บทเพลงสรรเสริญ 49:6-9; เฮ็บราย 2:9) พระองค์ถวายค่าไถ่แด่พระเจ้าซึ่งมีค่าเท่าเทียมทุกประการกับชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ที่อาดามได้สูญเสียไป. (1 ติโมเธียว 2:5, 6) ค่าไถ่นี้เปิดทางให้พวกเราได้รับชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ของพระเจ้า.
11. จงอธิบายว่าเครื่องบูชาของพระเยซูอาจเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเราอย่างไร.
11 ค่าไถ่ยังเปิดทางให้เราได้รับผลประโยชน์อื่นด้วย แม้แต่ในปัจจุบันนี้. ตัวอย่างเช่น แม้ว่าเราเป็นคนบาป ค่าไถ่ของพระเยซูทำให้มีทางเป็นไปได้ที่เราจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดเนื่องจากการให้อภัยบาป. นี่นับว่าบรรลุผลมากยิ่งกว่าที่ชนอิสราเอลเคยได้รับจากการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาตามข้อเรียกร้องในพระบัญญัติของโมเซ. (กิจการ 13:38, 39; เฮ็บราย 9:13, 14; 10:22) อย่างไรก็ดี ที่จะได้รับการอภัย เราต้องยอมรับด้วยใจจริงว่า เราจำเป็นต้องมีเครื่องบูชาของพระคริสต์สักเพียงไร: “ถ้าเรากล่าวว่า ‘เราไม่มีบาป’ เราก็นำตัวเราเองไปผิดทางและความจริงไม่อยู่ในเรา. ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และชอบธรรม ก็ทรงให้อภัยเราในบาปของเรา และทรงชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น.”—1 โยฮัน 1:8, 9, ล.ม.
12. เหตุใดการรับการจุ่มตัวในน้ำเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อจะได้สติรู้สึกผิดชอบอันดีจำเพาะพระเจ้า?
12 คนบาปจะแสดงความเชื่อในพระคริสต์และเครื่องบูชาของพระองค์ได้อย่างไร? เมื่อผู้คนในศตวรรษแรกเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ พวกเขาแสดงให้เห็นเรื่องนั้นอย่างเปิดเผย. โดยวิธีใด? พวกเขารับบัพติสมา. เพราะเหตุใด? เพราะพระเยซูทรงบัญชาว่า เหล่าสาวกทุกคนของพระองค์ต้องรับบัพติสมา. (มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 8:12; 18:8) เมื่อหัวใจของเขาได้รับการกระตุ้นจากการจัดเตรียมด้วยความรักของพระยะโฮวาที่ผ่านมาทางพระเยซู เขาก็จะไม่รั้งรอ. เขาจะทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จำเป็นในชีวิตของเขา, อุทิศตัวแด่พระเจ้าในคำอธิษฐาน, และแสดงเครื่องหมายการอุทิศตัวโดยรับการจุ่มตัวในน้ำ. โดยการแสดงความเชื่อในวิธีนี้แหละที่เขา “ทูลขอพระเจ้าเพื่อสติรู้สึกผิดชอบอันดี.”—1 เปโตร 3:21, ล.ม.
13. ถ้าเราตระหนักว่าได้ทำบาป เราควรจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเพราะเหตุใด?
13 แน่ล่ะ กระทั่งหลังจากรับบัพติสมาแล้ว ลักษณะของความผิดบาปยังคงปรากฏออกมา. แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? อัครสาวกโยฮันบอกว่า “ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเหล่านี้ถึงท่านทั้งหลายเพื่อท่านจะไม่ทำบาป. และถึงกระนั้น หากผู้ใดทำบาป เราก็มีผู้ช่วยเหลืออยู่กับพระบิดา คือพระเยซูคริสต์ผู้ชอบธรรม. และพระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธสำหรับบาปของเรา.” (1 โยฮัน 2:1, 2, ล.ม.) ทั้งนี้หมายความว่า ไม่ว่าเราจะทำบาปอะไร ถ้าเราทูลต่อพระเจ้าขอการอภัยแล้วเราก็จะได้รับการอภัยหรือ? ไม่เสมอไป. หลักสำคัญสำหรับการให้อภัยคือ การกลับใจอย่างแท้จริง. นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีอายุสูงกว่าซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าในประชาคมคริสเตียน. เราต้องยอมรับความผิดที่ทำลงไป แล้วรู้สึกเสียใจจริง ๆ ต่อเรื่องนั้น ถึงขนาดที่เราพยายามอย่างจริงจังที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก. (กิจการ 3:19; ยาโกโบ 5:13-16) ถ้าเราทำเช่นนั้น เราย่อมมั่นใจได้ในเรื่องความช่วยเหลือของพระเยซู และการฟื้นฟูสู่ฐานะอันเป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวา.
14. (ก) จงอธิบายว่าเครื่องบูชาของพระเยซูก่อประโยชน์อันสำคัญยิ่งต่อเราอย่างไร. (ข) ถ้าเรามีความเชื่ออย่างแท้จริง เราจะทำอะไร?
14 เครื่องบูชาของพระเยซูได้เปิดทางสู่ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์สำหรับ “ฝูงเล็ก” พงศ์พันธุ์อันดับรองซึ่งกล่าวถึงในเยเนซิศ 3:15. (ลูกา 12:32, ล.ม.; ฆะลาเตีย 3:26-29) ทั้งนี้ยังเปิดทางให้มนุษยชาติคนอื่น ๆ อีกหลายพันล้านคนมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; วิวรณ์ 20:11, 12; 21:3, 4) ชีวิตตลอดไปเป็น “ของประทานที่พระเจ้าทรงโปรดให้ . . . โดยพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23, ล.ม.; เอเฟโซ 2:8-10) ถ้าเรามีความเชื่อในของประทานนั้นและหยั่งรู้ค่าวิธีที่ทำให้มีของประทานดังกล่าว เราก็จะสำแดงความเชื่อและความหยั่งรู้ค่าให้ปรากฏ. เมื่อเราเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงใช้พระเยซูด้วยวิธีที่น่าพิศวงสักเพียงไรเพื่อทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จ และสำคัญสักเพียงไรที่เราทุกคนพึงติดตามรอยพระบาทพระเยซูอย่างใกล้ชิด เราย่อมจะทำให้งานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา. ความเชื่อของเราจะปรากฏชัดจากท่าทีที่เราบอกคนอื่น ๆ ด้วยความมั่นใจถึงเรื่องของประทานอันยอดเยี่ยมนี้จากพระเจ้า.—กิจการ 20:24.
15. ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร?
15 ความเชื่อเช่นนั้นช่างก่อผลที่ดีเพียงไรในการทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน! โดยความเชื่อเช่นนั้น เราถูกชักนำให้เข้ามาใกล้ชิดกับพระยะโฮวา, กับพระบุตรของพระองค์, และกับคนอื่น ๆ ในประชาคมคริสเตียน. (1 โยฮัน 3:23, 24) ความเชื่อนั้นทำให้เราชื่นชมยินดีที่พระยะโฮวาทรงโปรดประทาน “พระนามอันใหญ่ยิ่งเหนือนามชื่อทั้งปวง [เว้นแต่พระนามของพระเจ้า] ให้แก่พระองค์, เพื่อทุกหัวเข่าในสวรรค์ก็ดี ที่แผ่นดินโลกก็ดี ใต้พื้นแผ่นดินโลกก็ดี จะได้คุกกราบลงนมัสการในพระนามแห่งพระเยซูนั้น และเพื่อลิ้นทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า, คือถวายเกียรติยศแก่พระเจ้าพระบิดา.”—ฟิลิปปอย 2:9-11.
การอภิปรายทบทวน
• เมื่อพระมาซีฮามาปรากฏ เหตุใดการระบุตัวว่าพระองค์เป็นใคร จึงเป็นที่กระจ่างชัดต่อผู้ที่เชื่อพระคำของพระเจ้าอย่างแท้จริง?
• เราควรทำอะไรบ้างเพื่อแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อเครื่องบูชาของพระเยซู?
• เครื่องบูชาของพระเยซูเป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้วในทางใด? นั่นช่วยเราอย่างไรเมื่อเราอธิษฐานต่อพระยะโฮวาเพื่อขอการอภัยบาป?
[ภาพหน้า 36]
พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า เขาควรสอนคนอื่น ๆ ให้ถือรักษาพระบัญชาต่าง ๆ ของพระเจ้า