บท 7
“บอกข่าวดีเรื่องพระเยซู”
ฟีลิปวางตัวอย่างที่ดีในฐานะผู้ประกาศข่าวดี
จากกิจการ 8:4-40
1, 2. การข่มเหงเพื่อจะให้ประชาชนของพระเจ้าหยุดประกาศในศตวรรษแรกกลับส่งผลในทางตรงกันข้ามยังไง?
การข่มเหงอย่างรุนแรงได้เริ่มต้นขึ้น และเซาโลเริ่ม “กวาดล้าง” ประชาคม คำนี้ในภาษาเดิมทำให้เรารู้ว่าเขาทำอย่างนั้นอย่างโหดร้ายทารุณ (กจ. 8:3) พวกสาวกต้องหนี และสำหรับบางคน เขาอาจคิดว่าเปาโลทำให้คริสเตียนหยุดประกาศได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น การที่คริสเตียนกระจัดกระจายไปกลับทำให้สิ่งที่น่าทึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นคืออะไร?
2 ผู้คนที่กระจัดกระจายไปได้เริ่มต้น “ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับคำสอนของพระเจ้า” ในที่ที่พวกเขาหนีไป (กจ. 8:4) คิดดูสิ! การข่มเหงไม่สามารถหยุดประชาชนของพระเจ้าให้เลิกประกาศข่าวดี แต่กลับทำให้ข่าวดีกระจายออกไป! โดยทำให้พวกสาวกหนีกระจัดกระจายไป พวกผู้ข่มเหงได้ทำให้งานประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าแพร่ออกไปในเขตที่อยู่ห่างไกลโดยไม่รู้ตัว ในสมัยของเราก็เกิดเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ด้วย เราจะมาดูเรื่องนี้ด้วยกัน
“คนที่กระจัดกระจายไป” (กิจการ 8:4-8)
3. (ก) ฟีลิปคือใคร? (ข) ทำไมแทบจะไม่มีการประกาศข่าวดีในแคว้นสะมาเรียเลย แต่พระเยซูได้บอกล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแคว้นนั้น?
3 หนึ่งใน “คนที่กระจัดกระจายไป” คือฟีลิปa (กจ. 8:4; ดูกรอบ “ฟีลิป ‘ผู้ประกาศข่าวดี’”) เขาไปที่สะมาเรียซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยินข่าวดี เพราะครั้งหนึ่งพระเยซูเคยสั่งพวกอัครสาวกว่า “อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่ให้ไปหาเฉพาะชาวอิสราเอลที่เป็นเหมือนแกะที่หลงหาย” (มธ. 10:5, 6) อย่างไรก็ตาม พระเยซูรู้ว่าในที่สุดชาวสะมาเรียก็จะได้ยินข่าวดีด้วย เพราะก่อนขึ้นไปบนสวรรค์ ท่านบอกว่า “พวกคุณจะเป็นพยานของผมในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นสะมาเรีย และจนถึงสุดขอบโลก”—กจ. 1:8
4. ชาวสะมาเรียตอบรับยังไงต่อการประกาศของฟีลิป และอะไรอาจทำให้พวกเขาตอบรับแบบนั้น?
4 ฟีลิปพบว่าสะมาเรียเป็นเหมือน ‘ทุ่งนาที่รวงข้าวเหลืองอร่ามพร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว’ (ยน. 4:35) ข่าวสารของเขาดึงดูดใจผู้คนในสะมาเรียจริง ๆ เพราะอะไร? ปกติแล้วชาวยิวไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวสะมาเรีย หลายคนถึงกับแสดงความรังเกียจพวกเขา ในทางกลับกัน ชาวสะมาเรียพบว่ามีการประกาศข่าวดีกับทุกคน ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับสิ่งที่พวกฟาริสีเชื่อ พวกฟาริสีมีอคติและชอบคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น การที่ฟีลิปกระตือรือร้นที่จะประกาศข่าวดีกับชาวสะมาเรียทุกคนอย่างไม่ลำเอียง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้คนที่นั่น “ทุกคนก็ตั้งใจฟังเขา”—กจ. 8:6
5-7. ขอเล่าบางตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การที่คริสเตียนต้องกระจัดกระจายไปช่วยให้ข่าวดีแพร่ออกไปยังไง
5 เหมือนกับในศตวรรษแรก ในทุกวันนี้ การข่มเหงประชาชนของพระเจ้าไม่ได้ทำให้พวกเขาเลิกประกาศ หลายครั้ง ตอนที่คริสเตียนถูกบีบบังคับให้ย้ายออกจากบ้านไปที่อื่น ไม่ว่าจะไปอีกประเทศหนึ่ง หรือแม้กระทั่งถูกจับเข้าคุก พวกเขาก็จะช่วยให้ข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้ากระจายไปถึงผู้คนในเขตใหม่ ตัวอย่างเช่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พยานพระยะโฮวาสามารถประกาศกับคนอื่นถึงแม้พวกเขาอยู่ในค่ายกักกันของนาซี ชาวยิวคนหนึ่งที่ได้เจอพยานฯในค่ายกักกันเล่าว่า “ความกล้าหาญของนักโทษที่เป็นพยานพระยะโฮวาทำให้ผมมั่นใจว่า ความเชื่อของพวกเขามาจากพระคัมภีร์ นี่ทำให้ผมได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา”
6 ในบางครั้ง แม้แต่ผู้ข่มเหงก็ได้ตอบรับสิ่งที่พยานพระยะโฮวาประกาศ ตัวอย่างเช่น ตอนที่ฟรันซ์ เดช พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งถูกย้ายไปที่ค่ายกักกันกูเซนในออสเตรีย เขามีโอกาสศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสคนหนึ่ง ลองคิดดูว่าทั้งสองคนจะมีความสุขแค่ไหนที่ในอีกหลายปีต่อมา พวกเขาได้มาเข้าร่วมประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาด้วยกัน โดยที่ทั้งคู่เป็นผู้ประกาศข่าวดี!
7 มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียนบางคนที่ต้องหนีออกจากประเทศที่ตัวเองอยู่ไปอีกประเทศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษ 1970 ตอนที่พยานพระยะโฮวาจากมาลาวีถูกบีบให้หนีไปโมซัมบิก พวกเขามีโอกาสประกาศกับผู้คนมากมายที่นั่น ถึงแม้ในภายหลังเกิดการต่อต้านในโมซัมบิก แต่พี่น้องก็ไม่หยุดประกาศ ฟรานซิสโก โคอานาเล่าว่า “จริงที่พวกเราบางคนถูกจับหลายครั้งเพราะเราประกาศ แต่พอเห็นว่ามีหลายคนตอบรับข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า เราก็มั่นใจว่าพระเจ้ากำลังช่วยพวกเราอยู่ เหมือนที่พระองค์เคยช่วยคริสเตียนในศตวรรษแรก”
8. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ส่งผลยังไงต่องานประกาศ?
8 แน่นอน การข่มเหงไม่ใช่เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้คนจากหลายที่ตอบรับข่าวดี ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจยังเปิดโอกาสให้ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไปถึงผู้คนหลายเชื้อชาติและหลายภาษาด้วย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกจากประเทศที่ตัวเองอยู่ไปอีกประเทศหนึ่งเพราะภัยสงคราม หรือเพื่อหางานทำ นี่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ยินข่าวดีและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในที่ใหม่ที่พวกเขาย้ายไป ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับผู้คนในประเทศที่พวกเขาย้ายไป พี่น้องของเราเลยต้องพยายามเรียนภาษาของพวกเขาเพื่อจะประกาศกับพวกเขาได้ คุณพยายามประกาศกับผู้คน “จากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา” ที่อยู่ในเขตของคุณไหม?—วว. 7:9
“ขอให้ผมมีอำนาจอย่างนี้ด้วย” (กิจการ 8:9-25)
9. ซีโมนเป็นใคร และอะไรอาจทำให้เขาสนใจฟีลิป?
9 ฟีลิปได้ทำการอัศจรรย์หลายอย่างในสะมาเรีย ตัวอย่างเช่น เขาได้รักษาคนพิการและถึงกับขับไล่ปีศาจออกจากคนที่มันสิงอยู่ (กจ. 8:6-8) มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อซีโมน เขารู้สึกทึ่งที่เห็นการอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ที่ฟีลิปทำ ซีโมนเป็นคนใช้เวทมนต์คาถาที่ผู้คนนับถืออย่างมาก หลายคนพูดถึงเขาว่า “คนนี้มีฤทธิ์อำนาจยิ่งใหญ่จากพระเจ้า” แต่ตอนนี้ซีโมนได้เห็นฤทธิ์อำนาจที่แท้จริงของพระเจ้าจากการอัศจรรย์ที่ฟีลิปทำ และซีโมนได้เข้ามาเป็นสาวก (กจ. 8:9-13) แต่อะไรเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเข้ามาเป็นคริสเตียน?
10. (ก) เปโตรกับยอห์นทำอะไรในสะมาเรีย? (ข) ซีโมนทำอะไรเมื่อเห็นว่าสาวกใหม่ ๆ ได้รับพลังบริสุทธิ์ตอนที่เปโตรกับยอห์นได้วางมือบนพวกเขา?
10 เมื่อพวกอัครสาวกรู้ว่ามีหลายคนได้เข้ามาเป็นคริสเตียน พวกเขาก็ส่งเปโตรกับยอห์นไปที่นั่น (ดูกรอบ “เปโตรใช้ ‘ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์’”) พอไปถึง อัครสาวกทั้ง 2 คนได้วางมือบนพวกสาวกใหม่ นี่ช่วยให้แต่ละคนได้รับพลังบริสุทธิ์b เมื่อซีโมนเห็นเหตุการณ์นี้ก็รู้สึกทึ่ง เขาได้บอกอัครสาวกว่า “ขอให้ผมมีอำนาจอย่างนี้ด้วย เพื่อทุกคนที่ผมวางมือจะได้รับพลังบริสุทธิ์” ซีโมนถึงกับเสนอจะให้เงินพวกเขา โดยหวังว่าพระเจ้าจะให้อำนาจนี้กับเขาด้วย—กจ. 8:14-19
11. เปโตรเตือนอะไรซีโมน และซีโมนตอบรับยังไง?
11 อัครสาวกเปโตรให้คำตอบที่หนักแน่นกับซีโมนว่า “ให้เงินของคุณพินาศไปพร้อมกับคุณ เพราะคุณคิดว่าจะใช้เงินซื้อของที่พระเจ้าให้ฟรี ๆ ได้ คุณไม่มีทางจะได้สิ่งนี้เพราะพระเจ้าเห็นว่าใจคุณไม่ซื่อ” จากนั้นเปโตรได้กระตุ้นซีโมนให้กลับใจและอธิษฐานขอการอภัย เปโตรบอกว่า “กลับใจและเลิกคิดชั่ว ๆ แบบนี้ซะ ให้คุณอ้อนวอนพระยะโฮวา เผื่อว่าพระองค์จะให้อภัยที่คุณมีความคิดผิด ๆ แบบนี้” ดูเหมือนว่า ซีโมนไม่ใช่คนชั่ว เขาต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่เขาแค่พลาดและหันไปทำตามความต้องการของตัวเองอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อได้ยินอย่างนั้น ซีโมนได้อ้อนวอนพวกอัครสาวกว่า “ขอให้พวกคุณช่วยอ้อนวอนพระยะโฮวาเพื่อผมด้วย อย่าให้สิ่งที่คุณพูดนั้นเกิดขึ้นกับผมเลย”—กจ. 8:20-24
12. การซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นทั่วไปยังไงในคริสตจักร?
12 คำตำหนิของเปโตรเป็นคำเตือนอย่างดีสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ เรื่องนี้ช่วยให้รู้ว่าผิดที่จะมีการซื้อขายตำแหน่งต่าง ๆ ในประชาคม อย่างไรก็ตาม สำหรับคริสตจักรแล้ว การทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไป ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มหนึ่งที่พิมพ์ตั้งแต่ปี 1878 บอกว่า ทุกครั้งที่มีการคัดเลือกสันตะปาปา ก็จะมีการจ่ายเงินเพื่อจะได้ตำแหน่งนั้น หลายคนทำแบบนี้โดยไม่รู้สึกอะไร พวกเขาไม่คิดด้วยซ้ำว่าต้องปิดบังเรื่องแบบนี้
13. คริสเตียนต้องทำอะไรเพื่อจะไม่เป็นเหมือนคนที่ซื้อขายตำแหน่งในประชาคม?
13 คริสเตียนต้องระวังที่จะไม่ซื้อขายตำแหน่งในประชาคม ตัวอย่างเช่น เขาไม่ควรพยายามเอาใจคนที่สามารถให้สิทธิพิเศษกับคนอื่นในประชาคม โดยพยายามให้ของขวัญหรือยกย่องชมเชยจนออกนอกหน้า ในอีกด้านหนึ่ง คนที่สามารถให้สิทธิพิเศษกับคนอื่นได้ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับคนที่มีเงินมากเป็นพิเศษ การกระทำทั้ง 2 แบบนี้ไม่ถูกต้อง ที่จริง ผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคนควรทำตัวเป็น “คนต่ำต้อย” และให้พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาแต่งตั้งเขาให้มีสิทธิพิเศษในการรับใช้ (ลก. 9:48) คนที่พยายาม “หาเกียรติยศใส่ตัว” จะอยู่ในองค์การของพระเจ้าไม่ได้—สภษ. 25:27
“คุณเข้าใจเรื่องที่อ่านอยู่ไหม?” (กิจการ 8:26-40)
14, 15. (ก) “ข้าราชการชาวเอธิโอเปีย” เป็นใคร และฟีลิปพบเขาได้ยังไง? (ข) ข้าราชการชาวเอธิโอเปียตอบรับข่าวสารของฟีลิปยังไง และทำไมการรับบัพติศมาของเขาจึงไม่ได้เป็นแบบหุนหันพลันแล่น? (ดูเชิงอรรถ)
14 ตอนนี้ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาสั่งให้ฟีลิปเดินทางไปตามถนนจากกรุงเยรูซาเล็มไปถึงเมืองกาซา ถ้าฟีลิปสงสัยว่าเขาจะไปทำอะไรที่นั่น เขาก็จะได้รับคำตอบในไม่ช้า ฟีลิปได้เจอขันทีที่เป็นข้าราชการชาวเอธิโอเปียคนหนึ่ง ข้าราชการคนนี้กำลัง “อ่านออกเสียงข้อความในหนังสือของผู้พยากรณ์อิสยาห์” (ดูกรอบ “‘ขันที’ อาจหมายถึงคนแบบไหนบ้าง?”) พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาก็กระตุ้นให้ฟีลิปเข้าไปใกล้รถม้าของผู้ชายคนนั้น ตอนวิ่งอยู่ข้างรถม้า ฟีลิปถามเขาว่า “คุณเข้าใจเรื่องที่อ่านอยู่ไหม?” ผู้ชายชาวเอธิโอเปียตอบว่า “ถ้าไม่มีใครอธิบาย ผมจะเข้าใจได้ยังไงล่ะ?”—กจ. 8:26-31
15 ข้าราชการชาวเอธิโอเปียเชิญฟีลิปขึ้นรถม้า ลองคิดดูสิว่าทั้งสองจะพูดคุยกันอย่างตื่นเต้นแค่ไหน ข้าราชการคนนี้คงเป็นเหมือนกับคนอื่นอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้เลยว่า “แกะ” หรือ “ผู้รับใช้” ที่อิสยาห์พูดถึงในคำพยากรณ์ของเขาคือใคร (อสย. 53:1-12) แต่ตอนที่พวกเขาเดินทางไปด้วยกัน ฟีลิปได้อธิบายให้เขาเข้าใจว่า “แกะ” หรือ “ผู้รับใช้” ที่พูดถึงในคำพยากรณ์นั้นหมายถึงพระเยซูคริสต์ ที่จริง ข้าราชการชาวเอธิโอเปียคนนี้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวอยู่แล้ว ดังนั้น เหมือนกับหลายคนที่ได้รับบัพติศมาในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33 ข้าราชการคนนี้รู้ทันทีว่าเขาควรทำอะไร เขาบอกฟีลิปว่า “ดูสิ ที่นี่มีน้ำด้วย มีอะไรไหมที่ทำให้ผมยังรับบัพติศมาไม่ได้?” ฟีลิปได้ให้บัพติศมาเขาทันที!c (ดูกรอบ “การรับบัพติศมาใน ‘แหล่งน้ำแห่งหนึ่ง’”) หลังจากนั้น พลังของพระยะโฮวาได้ชี้นำให้ฟีลิปไปที่เมืองอัชโดดซึ่งเป็นเขตงานมอบหมายใหม่ของเขา ฟีลิปได้ประกาศข่าวดีที่นั่นต่อไป—กจ. 8:32-40
16, 17. ทูตสวรรค์มีส่วนช่วยในงานประกาศยังไงในทุกวันนี้?
16 คริสเตียนในทุกวันนี้มีสิทธิพิเศษที่จะทำงานเหมือนที่ฟีลิปทำ ตอนที่พวกเขามีโอกาสได้เจอผู้คนที่พร้อมจะฟังข่าวดี พวกเขาก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความพยายามของพวกเขาเอง แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพวกทูตสวรรค์กำลังชี้นำงานประกาศเพื่อให้ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไปถึง “ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา และทุกชนชาติ” (วว. 14:6) พระเยซูก็บอกด้วยว่าทูตสวรรค์จะมีส่วนช่วยในงานประกาศ ท่านบอกไว้ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช พระเยซูบอกว่าในช่วงเวลาเกี่ยวซึ่งก็คือช่วงสุดท้ายของยุค “คนเกี่ยวหมายถึงทูตสวรรค์” ท่านยังบอกอีกว่า พวกทูตสวรรค์จะ “คัดคนที่เป็นต้นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดและคัดคนทำชั่วออกไปจากรัฐบาลของท่าน” (มธ. 13:37-41) ในเวลาเดียวกันนั้น พวกทูตสวรรค์จะรวบรวมผู้คนที่จะเข้ามารับรัฐบาลสวรรค์เป็นมรดก แล้วหลังจากนั้นก็จะรวบรวม “ชนฝูงใหญ่” ที่เป็น “แกะอื่น” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พระยะโฮวาชักนำให้เข้ามาในองค์การของพระองค์—วว. 7:9; ยน. 6:44, 65; 10:16
17 เราอาจเคยเห็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยบางคนที่เราประกาศเจอบอกว่าเขาได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ให้เรามาดูประสบการณ์หนึ่งด้วยกัน มีผู้ประกาศ 2 คนไปกับเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง ตอนใกล้เที่ยง ผู้ประกาศทั้งสองกำลังจะหยุดประกาศ แต่เด็กคนที่ไปด้วยกลับอยากไปต่ออีกสักบ้าน เขาเป็นคนไปเคาะประตูบ้านถัดไปเองด้วยซ้ำ พอมีผู้หญิงคนหนึ่งเปิดประตูออกมา ผู้ประกาศทั้ง 2 คนก็เข้าไปพูดคุยกับเธอ แล้วพวกเขาก็แปลกใจที่ได้รู้ว่า ผู้หญิงคนนั้นเพิ่งอธิษฐานขอให้มีคนมาหาเพื่อช่วยเธอให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล เธอตกลงศึกษาพระคัมภีร์ทันที!
18. ทำไมเราควรรักษาสิทธิพิเศษในการประกาศของเรา?
18 คุณที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียน ตอนนี้ คุณมีสิทธิพิเศษได้ทำงานร่วมกับทูตสวรรค์ในการประกาศในขอบเขตที่กว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขอให้คุณรักษาสิทธิพิเศษนี้ไว้ต่อ ๆ ไป ถ้าคุณประกาศอย่างกระตือรือร้น คุณก็จะมีความสุขที่ได้บอกคนอื่นเกี่ยวกับ “ข่าวดีเรื่องพระเยซู” ต่อ ๆ ไป—กจ. 8:35
a นี่ไม่ใช่อัครสาวกฟีลิป เหมือนที่บอกไว้ในบท 5 ของหนังสือนี้ เขาคือฟีลิปที่อยู่ในกลุ่ม ‘ผู้ชาย 7 คนที่มีชื่อเสียงดี’ ที่ถูกแต่งตั้งให้จัดระเบียบการแจกอาหารประจำวันให้กับแม่ม่ายคริสเตียนที่พูดภาษากรีก และแม่ม่ายที่พูดภาษาฮีบรูในกรุงเยรูซาเล็ม—กจ. 6:1-6
b ดูเหมือนว่า ตามปกติแล้วเหล่าสาวกใหม่ในตอนนั้นจะถูกเจิม หรือได้รับพลังบริสุทธิ์ตอนที่พวกเขารับบัพติศมา นี่ทำให้พวกเขามีความหวังที่จะปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระเยซูในสวรรค์ (2 คร. 1:21, 22; วว. 5:9, 10; 20:6) แต่เหตุการณ์นี้เป็นกรณีพิเศษ สาวกใหม่ไม่ได้ถูกเจิมตอนที่พวกเขารับบัพติศมา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาได้รับพลังบริสุทธิ์และความสามารถที่จะทำการอัศจรรย์หลังจากที่เปโตรกับยอห์นวางมือบนพวกเขา
c นี่ไม่ใช่การกระทำแบบหุนหันพลันแล่น เนื่องจากเป็นผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว ชาวเอธิโอเปียคนนี้จึงมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์อยู่แล้ว รวมทั้งคำพยากรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเมสสิยาห์ด้วย ตอนนี้เมื่อได้รับความรู้ในเรื่องบทบาทของพระเยซูเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า เขาจึงสามารถรับบัพติศมาได้โดยไม่ลังเล