อย่าตัดสินตามที่เห็นภายนอก
“เลิกตัดสินตามที่เห็นภายนอกเถอะ แต่ให้ตัดสินอย่างยุติธรรม”—ยอห์น 7:24
1. อิสยาห์พยากรณ์อะไรเกี่ยวกับพระเยซู? และทำไมคำพยากรณ์นี้ทำให้มีกำลังใจ?
คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับพระเยซูทำให้เรามีกำลังใจและมีความหวัง อิสยาห์บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูจะ “ไม่พิพากษาตามที่ตาเห็น หรือตัดสินแค่ตามที่หูได้ยิน” และท่านจะ “ให้ความเป็นธรรมกับคนจน” (อิสยาห์ 11:3, 4) ทำไมเรื่องนี้ทำให้เราได้กำลังใจ? เพราะเราอยู่ในโลกที่มีแต่อคติ ผู้คนชอบตัดสินกันตามที่เห็น เราจึงรอคอยพระเยซูผู้พิพากษาที่ตัดสินอย่างสมบูรณ์แบบและไม่มีทางตัดสินจากสิ่งที่เห็น
2. พระเยซูสั่งให้เราทำอะไร? และเราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
2 ทุกวันมีสถานการณ์ที่ทำให้เราตัดสินคนอื่น แต่เราไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนพระเยซู เราเลยไม่มีทางตัดสินได้ถูกต้องเสมอ สิ่งที่เราเห็นมักจะมีอิทธิพลต่อความคิดเรา แต่พระเยซูสั่งว่า “เลิกตัดสินตามที่เห็นภายนอกเถอะ แต่ให้ตัดสินอย่างยุติธรรม” (ยอห์น 7:24) พระเยซูอยากให้เราทำเหมือนท่าน และไม่ตัดสินคนอื่นตามสิ่งที่เห็น ในบทความนี้เราจะเรียน 3 อย่างที่อาจมีอิทธิพลต่อความคิดเรา (1) เชื้อชาติหรือสีผิว (2) ฐานะ และ (3) อายุ ในแต่ละกรณีเราจะเรียนว่าเราจะเชื่อฟังพระเยซูและไม่ตัดสินตามที่เห็นได้อย่างไร
อย่าตัดสินจากเชื้อชาติหรือสีผิว
3, 4. (ก) ทำไมเปโตรมองคนต่างชาติเปลี่ยนไป? (ดูภาพแรก) (ข) พระยะโฮวาช่วยให้เปโตรได้รับความเข้าใจใหม่อะไร?
3 ขอให้ลองนึกภาพว่าเปโตรรู้สึกอย่างไรตอนที่ถูกขอให้ไปที่บ้านของคนต่างชาติคนหนึ่งที่ชื่อโคร์เนลิอัสในเมืองซีซารียา (กิจการ 10:17-29) เปโตรถูกสอนแต่ไหนแต่ไรว่าคนต่างชาติไม่สะอาดตามกฎหมายของพระเจ้า แต่ก็มีบางอย่างเกิดขึ้นซึ่งทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เช่น เขาได้เห็นนิมิตเรื่องหนึ่งจากพระเจ้า (กิจการ 10:9-16) ในนิมิตนั้นเปโตรเห็นอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนผ้าผืนหนึ่งถูกหย่อนลงมาจากสวรรค์ ในผ้าผืนนั้นมีสัตว์ต่าง ๆ ที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของพระเจ้า แล้วก็มีเสียงสั่งเขาว่า “เปโตร ลุกขึ้นมาฆ่าสัตว์พวกนี้กินสิ” เปโตรปฏิเสธ แต่ก็มีเสียงตอบว่า “สิ่งที่พระเจ้าทำให้สะอาดแล้ว อย่าถือว่าไม่สะอาดอีกเลย” เปโตรไม่เข้าใจว่าเสียงนั้นอยากให้เขาทำอะไร ตอนที่เขายังงงและสงสัยอยู่ก็มีคนของโคร์เนลิอัสมาที่หน้าบ้านของเขา และพลังบริสุทธิ์ก็สั่งให้เขาไปที่บ้านโคร์เนลิอัส เปโตรก็เลยไป
4 ถ้าเปโตรตัดสิน “ตามที่เห็นภายนอก” เขาไม่มีทางที่จะไปบ้านโคร์เนลิอัสแน่นอน ปกติแล้วชาวยิวจะไม่ไปที่บ้านคนต่างชาติ แล้วทำไมเปโตรถึงไป? แม้เขาจะมีอคติกับคนต่างชาติ แต่นิมิตที่เขาเพิ่งเห็นรวมทั้งการได้รับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป และหลังจากที่เปโตรได้ฟังโคร์เนลิอัสพูด เขาก็บอกว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจจริง ๆ แล้วว่าพระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ยอมรับทุกคนที่เกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม” (กิจการ 10:34, 35) เปโตรตื่นเต้นกับความเข้าใจใหม่นี้ และนั่นส่งผลต่อคริสเตียนทุกคนอย่างไร?
5. (ก) พระยะโฮวาอยากให้คริสเตียนทุกคนเข้าใจอะไร? (ข) แม้เราจะรู้ความจริงแล้ว แต่เราอาจยังมีความรู้สึกอะไรอยู่?
5 พระยะโฮวาใช้เปโตรช่วยคริสเตียนทุกคนให้เข้าใจว่าพระองค์ไม่ลำเอียง พระองค์ไม่ได้สนใจว่าเราเป็นคนประเทศไหน เชื้อชาติอะไร เผ่าอะไร หรือพูดภาษาไหน และถ้าเราเกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง พระองค์ก็จะยอมรับเรา (กาลาเทีย 3:26-28; วิวรณ์ 7:9, 10) คุณคงต้องรู้เรื่องนี้อยู่แล้วแน่ ๆ แต่ถ้าคุณโตมาในครอบครัวหรือในประเทศที่ผู้คนชอบมีอคติล่ะ? คุณอาจคิดว่าคุณไม่ใช่คนลำเอียง แต่จริง ๆ แล้วคุณมีอคติหน่อย ๆ ไหม? เปโตรเองหลังจากช่วยคนอื่นให้เห็นว่าพระเจ้าไม่ลำเอียง ตัวเขาเองก็ยังคงมีอคติอยู่ (กาลาเทีย 2:11-14) ดังนั้น เราจะเชื่อฟังพระเยซูและเลิกตัดสินตามที่เห็นได้อย่างไร?
6. (ก) อะไรจะช่วยกำจัดอคติให้หมดจากใจเรา? (ข) สิ่งที่ผู้ดูแลคนหนึ่งเขียนในรายงานทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขา?
6 เพื่อจะดูว่าเรายังคงมีอคติอยู่ไหม เราต้องตรวจสอบตัวเอง โดยเปรียบเทียบความคิดของเรากับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน (สดุดี 119:105) นอกจากนั้น เราอาจถามเพื่อนว่าเราเป็นคนมีอคติไหม เพราะเราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ (กาลาเทีย 2:11, 14) เราอาจเป็นอย่างนี้จนชินและไม่คิดว่าตัวเราเองมีอคติ พี่น้องผู้ดูแลคนหนึ่งเป็นแบบนี้เหมือนกัน เขาเขียนรายงานถึงสำนักงานสาขาเกี่ยวกับผู้รับใช้เต็มเวลาคู่หนึ่งที่ขยันทำงานรับใช้มาก คนที่เป็นสามีมาจากชนกลุ่มน้อยที่หลายคนดูถูกและถือว่าต่ำกว่า พี่น้องผู้ดูแลคนนั้นเขียนชมสามีเยอะมาก แต่ตอนท้ายเขาก็สรุปว่า “แม้พี่น้องคนนี้มาจาก [ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้] แต่นิสัยและการใช้ชีวิตของเขาทำให้คนอื่นเห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น [ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้] จะต้องสกปรกหรือไม่มีวัฒนธรรมเหมือนพวกเขาส่วนใหญ่” บทเรียนคืออะไร? ไม่ว่าเราจะมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในองค์การของพระยะโฮวา เราต้องคอยตรวจสอบตัวเองและยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อดูว่าเรายังมีอคติอยู่ไหม แล้วยังมีอะไรอีกไหมที่เราควรทำ?
7. เราจะทำอย่างไรที่แสดงให้เห็นว่า “เราเปิดใจให้กว้างแล้ว”?
7 ถ้า “เราเปิดใจให้กว้าง” เราจะเอาความรักมาแทนที่อคติได้ (2 โครินธ์ 6:11-13) คุณชอบใช้เวลาและสนิทแต่กับคนที่มาจากประเทศเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกัน เผ่าเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน หรือสีผิวเหมือนกันเท่านั้นไหม? ถ้าใช่ ลองสนิทและใช้เวลากับคนอื่นด้วยสิ คุณอาจชวนพี่น้องที่มีภูมิหลังต่างจากคุณมาประกาศด้วยกัน หรืออาจชวนมากินข้าวที่บ้านและสังสรรค์กัน (กิจการ 16:14, 15) ถ้าคุณทำแบบนี้ หัวใจคุณจะเต็มไปด้วยความรักและไม่มีที่ว่างให้กับอคติ ตอนนี้ให้เรามาดูอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เรา “ตัดสินตามที่เห็นภายนอก”
อย่าตัดสินจากฐานะ
8. เลวีนิติ 19:15 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเราอาจตัดสินคนอื่นจากฐานะ?
8 เป็นไปได้ที่เราอาจมองคนที่ความรวยหรือความจน ที่เลวีนิติ 19:15 บอกว่า “อย่าตัดสินคดีอย่างไม่ยุติธรรม อย่าลำเอียงเข้าข้างคนยากจนหรือเห็นแก่หน้าคนร่ำรวย พวกเจ้าต้องตัดสินคดีด้วยความยุติธรรม” ความรวยหรือความจนส่งผลต่อวิธีที่เรามองคนอื่นอย่างไร?
9. โซโลมอนเขียนความจริงที่น่าเศร้าอะไร? และเรื่องนี้สอนอะไรเรา?
9 โซโลมอนได้รับการดลใจให้เขียนความจริงที่น่าเศร้าว่า “คนจนแม้แต่เพื่อนบ้านก็ยังรังเกียจเขา แต่คนรวยมีเพื่อนเยอะ” (สุภาษิต 14:20) ข้อนี้สอนอะไรเรา? ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจอยากเป็นเพื่อนกับพี่น้องที่รวยมากกว่าพี่น้องที่จน ทำไมการตัดสินคนอื่นโดยอาศัยฐานะถึงอันตรายมาก?
10. ยากอบเตือนพี่น้องคริสเตียนเกี่ยวกับปัญหาอะไร?
10 ถ้าเราตัดสินพี่น้องจากฐานะของเขา เราอาจทำให้ประชาคมแตกแยก เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในบางประชาคมสมัยศตวรรษแรกมาแล้ว และยากอบก็เตือนพวกเขาในเรื่องนี้ (อ่านยากอบ 2:1-4) เราต้องไม่ปล่อยให้เกิดความแตกแยกในประชาคม แล้วเราจะไม่ตัดสินพี่น้องจากฐานะได้อย่างไร?
11. ความรวยและความจนเกี่ยวข้องกันไหมกับการสนิทกับพระยะโฮวา? ขออธิบาย
11 เราต้องมองพี่น้องเหมือนที่พระยะโฮวามอง คนเรามีค่าในสายตาพระองค์ไม่ใช่เพราะเขารวยหรือจน การที่เราสนิทกับพระยะโฮวาไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรามีเงินเท่าไรหรือมีทรัพย์สมบัติมากแค่ไหน ก็จริงที่พระเยซูบอกว่า “คนรวยจะเข้ารัฐบาลสวรรค์นั้นก็ยากจริง ๆ” แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ (มัทธิว 19:23) ในอีกครั้งหนึ่ง พระเยซูบอกว่า “พวกคุณที่ยากจนก็มีความสุข เพราะรัฐบาลของพระเจ้าเป็นของคุณ” (ลูกา 6:20) แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนยากจนทุกคนจะฟังพระเยซูและได้รับพรเป็นพิเศษ มีคนจนมากมายที่ไม่ติดตามพระเยซู จุดสำคัญก็คือเราไม่สามารถตัดสินคนคนหนึ่งว่าเขาสนิทหรือไม่สนิทกับพระยะโฮวาโดยดูจากฐานะของเขาหรือทรัพย์สินเงินทองที่เขามี
12. คัมภีร์ไบเบิลสอนทั้งคนรวยและคนจนอย่างไรบ้าง?
12 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีทั้งคนรวยและคนจน ทุกคนรักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์สุดหัวใจ คัมภีร์ไบเบิลบอกกับคนรวยว่า “อย่าฝากความหวังไว้กับทรัพย์สมบัติที่ไม่ยั่งยืน แต่ให้ฝากไว้กับพระเจ้า” (อ่าน 1 ทิโมธี 6:17-19) คัมภีร์ไบเบิลยังเตือนผู้รับใช้ทุกคนทั้งคนรวยและคนจนว่าการรักเงินอันตรายมาก (1 ทิโมธี 6:9, 10) ถ้าเรามองพี่น้องเหมือนที่พระยะโฮวามอง เราจะไม่ตัดสินพวกเขาจากสิ่งที่พวกเขามีหรือไม่มี แล้วเรื่องอายุล่ะ? เราควรตัดสินคนอื่นจากอายุไหม?
อย่าตัดสินจากอายุ
13. คัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรเรื่องการให้ความนับถือคนที่อายุมาก?
13 คัมภีร์ไบเบิลบอกบ่อย ๆ ว่าต้องนับถือคนที่อายุมาก เลวีนิติ 19:32 บอกว่า “ให้เคารพคนผมหงอก และนับถือคนสูงอายุ ให้เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเจ้า” ส่วนสุภาษิต 16:31 ก็บอกว่า “ผมหงอกเป็นมงกุฎที่สวยงาม เมื่ออยู่บนหัวของคนที่เดินในทางที่ถูกต้องชอบธรรม” เปาโลบอกทิโมธีว่าอย่าตำหนิผู้ชายสูงอายุแรง ๆ แต่ให้ทำดีกับพวกเขาเหมือนเป็นพ่อ (1 ทิโมธี 5:1, 2) แม้ทิโมธีมีสิทธิ์จะให้คำแนะนำพี่น้องชายที่อายุมาก แต่เขาก็ต้องเห็นอกเห็นใจและแสดงความนับถือด้วย
14. เมื่อไรที่เราอาจจำเป็นต้องให้คำแนะนำคนที่อายุมากกว่าเรา?
14 แล้วถ้าพี่น้องที่อายุมากกว่าเราตั้งใจทำผิดหรือสนับสนุนคนอื่นให้ทำสิ่งที่พระยะโฮวาไม่ชอบล่ะ? พระยะโฮวาจะไม่มองข้ามคนที่ตั้งใจทำผิดแน่นอนแม้คนนั้นจะอายุมากหรือเป็นคนที่ใคร ๆ ก็นับถือ ขอให้สังเกตหลักการในอิสยาห์ 65:20 ที่บอกว่า “ขนาดคนบาปที่ตายเพราะถูกสาปแช่งก็ยังมีอายุเป็นร้อยปี” เราพบหลักการเดียวกันนี้ในนิมิตของเอเสเคียลด้วย (เอเสเคียล 9:5-7) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องนับถือพระยะโฮวาผู้มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ (ดาเนียล 7:9, 10, 13, 14) การนับถือพระองค์จะทำให้เรามีความกล้าที่จะให้คำแนะนำคนที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไรก็ตาม—กาลาเทีย 6:1
15. เราเรียนอะไรจากอัครสาวกเปาโลในเรื่องการให้เกียรติพี่น้องชายที่อายุน้อย?
15 แล้วถ้าเป็นพี่น้องชายที่อายุน้อยล่ะ แปลว่าเขาไม่สมควรได้รับความนับถือไหม? ไม่ใช่ เปาโลเขียนถึงทิโมธีว่า “อย่าให้ใครดูถูกคุณเพราะเห็นว่าคุณยังหนุ่ม แต่ให้คำพูด ความประพฤติ ความรัก ความเชื่อ และความบริสุทธิ์ของคุณเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนที่ซื่อสัตย์” (1 ทิโมธี 4:12) ตอนที่เปาโลเขียนข้อนี้ทิโมธีอายุแค่ประมาณ 30 แต่เปาโลก็ยังให้หน้าที่สำคัญมากกับเขา บทเรียนคืออะไร? เราจะไม่ตัดสินพี่น้องชายที่อายุน้อยโดยดูจากอายุของเขา ลองคิดถึงทุกอย่างที่พระเยซูทำตอนอายุแค่ 30 ต้น ๆ ดูสิ
16, 17. (ก) ผู้ดูแลจะตัดสินอย่างไรว่าพี่น้องชายคนหนึ่งมีคุณสมบัติจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ดูแลได้หรือไม่? (ข) ความคิดของเราหรือความคิดของคนในท้องถิ่นอาจขัดกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างไร?
16 ในบางวัฒนธรรม คนทั่วไปไม่นับถือผู้ชายที่อายุยังน้อย ผลก็คือผู้ดูแลบางคนไม่เสนอพี่น้องชายอายุน้อยให้เป็นผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ดูแลแม้พี่น้องคนนั้นจะมีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นได้แล้ว แต่คัมภีร์ไบเบิลไม่เคยบอกว่าต้องอายุเท่าไรถึงจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ดูแลได้ (1 ทิโมธี 3:1-10, 12, 13; ทิตัส 1:5-9) ถ้าผู้ดูแลคนหนึ่งตั้งกฎเรื่องนี้เพราะได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมท้องถิ่นของเขา ก็แปลว่าเขาไม่ได้ทำตามคัมภีร์ไบเบิล ผู้ดูแลต้องไม่ตัดสินโดยอาศัยความคิดของตัวเองหรืออาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล—2 ทิโมธี 3:16, 17
17 ถ้าผู้ดูแลไม่ทำตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลในการแต่งตั้งผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ดูแล พวกเขาก็ขัดขวางพี่น้องที่มีคุณสมบัติไม่ให้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศหนึ่งมีผู้ช่วยงานรับใช้คนหนึ่งที่ทำหน้าที่รับผิดชอบสำคัญได้ดี และผู้ดูแลคนอื่นก็เห็นว่าเขามีคุณสมบัติตามคัมภีร์ไบเบิลที่จะเป็นผู้ดูแลได้ แต่มีผู้ดูแลสูงอายุบางคนบอกว่าเขาดูเด็กเกินไปที่จะเป็นผู้ดูแล ก็เลยไม่เสนอให้แต่งตั้งเขา มันน่าเสียดายจริง ๆ ที่พี่น้องหนุ่มคนนั้นไม่ได้รับการแต่งตั้งเพราะแค่เขาดูเด็ก ดูเหมือนว่ามีหลายประเทศเป็นแบบนี้ ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะพึ่งคัมภีร์ไบเบิลแทนที่จะพึ่งความคิดของเราเองหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วเราจะเชื่อฟังพระเยซูและเลิกตัดสินตามสิ่งที่เห็นได้อย่างไร?
ตัดสินตามมาตรฐานที่ถูกต้องชอบธรรม
18, 19. อะไรจะช่วยเราให้มองคนอื่นแบบที่พระยะโฮวามอง?
18 เราไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะมองคนอื่นแบบที่พระยะโฮวามองได้ คือไม่มีอคติกับใคร (กิจการ 10:34, 35) เราต้องใส่ใจข้อเตือนใจจากคัมภีร์ไบเบิลเสมอ ถ้าเราทำตาม เราก็เชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูที่ให้ “เลิกตัดสินตามที่เห็นภายนอก”—ยอห์น 7:24
19 อีกไม่นานพระเยซูกษัตริย์ของเราจะพิพากษาตัดสินทุกคนโดยอาศัยมาตรฐานที่ถูกต้องชอบธรรมของพระยะโฮวา ไม่ใช่ตามที่ตาท่านเห็นหรือตามที่หูท่านได้ยิน (อิสยาห์ 11:3, 4) เราอยากให้เวลาที่ยอดเยี่ยมนั้นมาถึงจริง ๆ