‘พวกเขาได้แล่นเรือไปยังเกาะไซปรัส’
ด้วยถ้อยคำดังกล่าว พระธรรมกิจการเริ่มต้นเรื่องราวด้วยประสบการณ์ของเปาโล, บาระนาบา, และโยฮันมาระโก ซึ่งเป็นเหล่ามิชชันนารีคริสเตียน เมื่อพวกเขาแวะเยี่ยมที่เกาะกุบโรหรือไซปรัสประมาณปี ส.ศ. 47. (กิจการ 13:4) ในตอนนั้น เช่นเดียวกับในปัจจุบัน ไซปรัสมีความสำคัญอย่างยิ่งในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก.
ชาวโรมันอยากได้เกาะนี้ และไซปรัสได้มาอยู่ใต้การปกครองของชาวโรมันในปี 58 ก่อน ส.ศ. ก่อนหน้านั้น ไซปรัสมีประวัติอันเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ. ไซปรัสถูกยึดครองโดยชาวฟินิเซีย, ชาวกรีก, ชาวอัสซีเรีย, ชาวเปอร์เซีย, และชาวอียิปต์. พวกนับรบครูเสด, ชาวแฟรงก์, และชาวเวนิซได้เข้ายึดครองในช่วงยุคกลาง ตามด้วยชาวออตโตมาน. ในปี 1914 ชาวบริเตนได้ยึดเกาะนี้และปกครองจนกระทั่งไซปรัสได้รับเอกราชในปี 1960.
การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักในปัจจุบัน แต่ในสมัยของเปาโล ไซปรัสอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชาวโรมันฉวยประโยชน์ไปบำรุงคลังของโรม. มีการค้นพบแร่ทองแดงในประวัติช่วงแรก ๆ ของเกาะนี้ และมีการคาดคะเนว่า พอถึงปลายยุคโรมัน ได้มีการถลุงแร่ทองแดงถึง 250,000 ตัน. อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแร่ทองแดงได้ผลาญป่าไม้หนาทึบจำนวนมากเพื่อวัตถุประสงค์ในการถลุงแร่. ป่าไม้จำนวนมากบนเกาะได้สูญไปแล้วในตอนที่เปาโลมาถึง.
ไซปรัสภายใต้การปกครองของโรม
ตามที่สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ) กล่าว จูเลียส ซีซาร์และหลังจากนั้นมาร์ก แอนโทนี ได้มอบไซปรัสแก่อียิปต์. อย่างไรก็ตาม ภายใต้การปกครองของเอากุสตุส ไซปรัสได้กลับไปเป็นของโรมและผู้สำเร็จราชการ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อโรม ได้ปกครองไซปรัส เป็นดังที่ลูกา ผู้เขียนพระธรรมกิจการ ได้บันทึกไว้อย่างแม่นยำ. เซระเฆียวเปาโลเป็นผู้สำเร็จราชการเมื่อเปาโลไปประกาศที่นั่น.—กิจการ 13:7.
พักซ์ โรมานา สันติภาพนานาชาติที่โรมบังคับใช้ ได้สนับสนุนการขยายเหมืองแร่และอุตสาหกรรมในไซปรัส ซึ่งทำให้เกิดความเฟื่องฟูทางการค้า. รายได้เสริมได้มาจากกองทหารโรมันซึ่งอยู่ที่นั่นและจากผู้แสวงบุญที่รวมกลุ่มกันเพื่อนมัสการอัฟโรดิเต เทพธิดาผู้พิทักษ์เกาะ. ผลก็คือ มีการสร้างถนนใหม่, ท่าเรือใหม่, และอาคารสาธารณะอันหรูหรา. ภาษากรีกยังคงใช้เป็นภาษาราชการ และมีการนมัสการอัฟโรดิเต, อะพอลโล, และซูสอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการนมัสการจักรพรรดิโรมัน. ประชาชนชื่นชมกับความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งเพลิดเพลินกับชีวิตสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย.
นี่เป็นสภาพแวดล้อมซึ่งเปาโลประสบขณะที่ท่านเดินทางไปยังไซปรัสและสอนประชาชนเรื่องพระคริสต์. อย่างไรก็ตาม มีการนำศาสนาคริสเตียนเข้าไปในไซปรัสก่อนที่เปาโลมาถึงที่นั่น. บันทึกในพระธรรมกิจการบอกเราว่า หลังจากการเสียชีวิตของซะเตฟาโน คริสเตียนคนแรกซึ่งพลีชีพเพื่อความเชื่อ คริสเตียนบางคนในยุคแรกได้หนีไปยังไซปรัส. (กิจการ 11:19) บาระนาบา เพื่อนร่วมงานของเปาโล เป็นชาวไซปรัส และเพราะคุ้นเคยกับเกาะนี้เป็นอย่างดี ไม่มีข้อสงสัยว่า ท่านเป็นคนนำทางที่ดีเยี่ยมแก่เปาโลในการเดินทางเผยแพร่ครั้งนี้.—กิจการ 4:36; 13:2.
ย้อนรอยการเดินทางของเปาโล
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ภาพอย่างละเอียดอีกครั้งเกี่ยวกับการเดินทางของเปาโลในไซปรัส. อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีมีความคิดที่แจ่มชัดทีเดียวเกี่ยวกับระบบถนนที่ยอดเยี่ยมในสมัยโรมัน. เนื่องจากภูมิประเทศของเกาะ ตามธรรมดาแล้ว แม้แต่ทางหลวงในสมัยปัจจุบันก็ต้องใช้เส้นทางเดิมซึ่งเหล่ามิชชันนารียุคแรกอาจเคยได้ใช้.
เปาโล, บาระนาบา, และโยฮันมาระโกได้แล่นเรือจากเซลูเซีย (ซิลิเซีย) ไปยังท่าเรือซะลามิ (ซาลามิส). เหตุใดจึงแล่นเรือไปยังซาลามิส ในเมื่อเมืองหลวงและเมืองท่าสำคัญคือปาโฟ (ปาโฟส)? เหตุผลหนึ่งก็คือ ซาลามิสตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออก เพียง 200 กิโลเมตรจากซิลิเซียซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่. แม้ว่าพวกโรมันตั้งปาโฟสเป็นเมืองหลวงแทนซาลามิส แต่ซาลามิสก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของเกาะในด้านวัฒนธรรม, การศึกษา, และการค้า. ซาลามิสมีชุมชนชาวยิวกลุ่มใหญ่ และเหล่ามิชชันนารีเริ่ม “ประกาศคำของพระเจ้าในธรรมศาลาของพวกยูดาย.”—กิจการ 13:5.
ทุกวันนี้ สิ่งที่หลงเหลือจากซาลามิสคือซากปรักหักพัง. กระนั้น การค้นพบทางโบราณคดีให้หลักฐานถึงชื่อเสียงและความมั่งคั่งในอดีตของเมืองนี้. ตลาดซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและกิจกรรมทางศาสนา อาจจะเป็นตลาดโรมันที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดค้นพบในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. ซากปรักหักพังของซาลามิส ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยของซีซาร์เอากุสตุส ได้แสดงให้เห็นพื้นโมเสกที่ออกแบบอย่างประณีต, โรงพลศึกษา, ระบบโรงอาบน้ำอันยอดเยี่ยม, สนามกีฬาและโรงมหรสพ, หลุมฝังศพอันงดงาม, และโรงละครขนาดใหญ่ซึ่งมีที่นั่ง 15,000 ที่! ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นซากปรักหักพังของวิหารอันสง่างามของซูส.
อย่างไรก็ดี ซูสไม่สามารถปกป้องเมืองจากการถูกทำลายด้วยแผ่นดินไหว. แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 15 ก่อน ส.ศ. ได้ทำลายเมืองซาลามิสเกือบทั้งหมด แม้ภายหลังเอากุสตุสได้สร้างเมืองนี้ขึ้นใหม่. แผ่นดินไหวได้ทำลายซาลามิสอีกในปี ส.ศ. 77 และมีการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง. ในศตวรรษที่สี่ ซาลามิสถูกทำลายด้วยแผ่นดินไหวติดต่อกันหลายครั้ง และเมืองนี้จึงไม่ได้รับความรุ่งโรจน์อีกดังเช่นในอดีต. พอถึงยุคกลาง ท่าเรือของเมืองนี้ก็เกิดตื้นเขินและจึงได้เลิกใช้.
ประชาชนในเมืองซาลามิสตอบรับการประกาศของเปาโลอย่างไรนั้นไม่ได้มีการบอกไว้. แต่เปาโลก็ต้องประกาศแก่ชุมชนอื่นด้วยเช่นกัน. เมื่อออกจากซาลามิส เหล่ามิชชันนารีมีทางเลือกสามเส้นทางหลักคือ เส้นทางแรกไปทางชายฝั่งตอนเหนือ เดินข้ามเทือกเขาคิรีเนีย; อีกเส้นทางหนึ่งไปทางตะวันตกข้ามที่ราบเมเซารีอาผ่านส่วนหลักของเกาะ; และเส้นทางที่สามไปตามชายฝั่งตอนใต้.
ตามที่เล่าสืบกันมา เปาโลได้ไปตามเส้นทางที่สาม. เส้นทางนี้ผ่านไร่นาอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีดินสีแดงเป็นลักษณะพิเศษ. เส้นทางนี้เฉียดเข้าใกล้เมืองลาร์นาคาประมาณ 50 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนจะหักเลี้ยวขึ้นเหนือไปทางใจกลางเกาะ.
“ตลอดเกาะนั้น”
ไม่นาน ทางหลวงก็ไปถึงเมืองลีดราโบราณ. ทุกวันนี้ เมืองหลวงยุคปัจจุบันคือนิโคเซียตั้งอยู่บนตำแหน่งนี้. หลักฐานใด ๆ ของอาณาจักรเมืองโบราณนี้ได้สูญหายไป. ทว่า ภายในกำแพงแบบเวนิซจากศตวรรษที่ 16 ซึ่งล้อมรอบใจกลางเมืองนิโคเซียนั้นเป็นถนนที่แคบและพลุกพล่านซึ่งใช้ชื่อว่าถนนลีดรา. เราไม่ทราบว่า เปาโลเดินทางไปที่เมืองลีดราหรือไม่. คัมภีร์ไบเบิลเพียงแต่บอกเราว่า เปาโลและเพื่อนร่วมงานของท่านได้เดินทาง “ตลอดเกาะนั้น.” (กิจการ 13:6) ภูมิประเทศทางประวัติศาสตร์แห่งดินแดนในคัมภีร์ไบเบิลของวิคลิฟฟ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “นี่อาจหมายถึงการเดินทางค่อนข้างทั่วถึงตามชุมชนต่าง ๆ ของชาวยิวบนเกาะไซปรัส.”
เปาโลสนใจอย่างแน่นอนในการเข้าถึงประชาชนมากเท่าที่เป็นไปได้ในไซปรัส. ด้วยเหตุนี้ ท่านอาจได้ไปตามเส้นทางตอนใต้จากลีดราเข้าสู่อามาทัสและคูเรียน ซึ่งเป็นเมืองนานาชาติสองเมืองใหญ่ที่มีประชากรเจริญมั่งคั่ง.
เมืองคูเรียนตั้งอยู่ในที่สูงเหนือทะเลบนหน้าผาสูงซึ่งตั้งตระหง่านขึ้นมาจากชายหาดข้างล่าง. เมืองกรีก-โรมันอันงดงามนี้ถูกโจมตีด้วยแผ่นดินไหวครั้งเดียวกับที่ได้ทำลายเมืองซาลามิสในปี ส.ศ. 77. มีซากปรักหักพังของวิหารที่อุทิศแด่อะพอลโลซึ่งมีอายุย้อนหลังตั้งแต่ปี ส.ศ. 100. สนามกีฬาสามารถจุผู้ชมได้ 6,000 คน. รูปแบบชีวิตที่หรูหราของประชาชนมากมายในคูเรียนอาจเห็นได้จากการตกแต่งพื้นโมเสกอันงดงามในบ้านพักส่วนตัว.
การเดินทางสู่ปาโฟส
เส้นทางที่งดงามออกจากคูเรียนไปทางตะวันตกผ่านแถบที่เป็นแหล่งผลิตเหล้าองุ่น แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับสูงขึ้นจนกระทั่งจู่ ๆ ถนนก็ลาดชันลงและคดเคี้ยวเลียบหน้าผาลงสู่ชายทะเลที่มีแต่ก้อนกรวด. ตามเทพนิยายกรีก ณ ตำแหน่งนี้เองที่ทะเลได้ให้กำเนิดเทพธิดาอัฟโรดิเต.
อัฟโรดิเตเป็นเทพธิดากรีกซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบมากที่สุดในไซปรัสและได้รับการนมัสการอย่างแรงกล้าจนถึงศตวรรษที่สองสากลศักราช. ศูนย์กลางการนมัสการอัฟโรดิเตอยู่ในปาโฟส. มีการจัดเทศกาลยิ่งใหญ่ที่นั่นทุก ๆ ฤดูใบไม้ผลิเพื่อเป็นเกียรติแก่อัฟโรดิเต. ผู้แสวงบุญจากเอเชียน้อย, อียิปต์, กรีซ, และไกลถึงเปอร์เซีย จะมาที่ปาโฟสเพื่อการฉลองเทศกาลต่าง ๆ. เมื่อไซปรัสอยู่ภายใต้การปกครองของปโตเลมี ชาวไซปรัสได้มาคุ้นเคยกับการนมัสการพวกฟาโรห์.
ปาโฟสเป็นนครหลวงแห่งไซปรัสของชาวโรมันและทำเนียบของผู้สำเร็จราชการอยู่ที่นั่น และปาโฟสได้รับมอบอำนาจให้ทำเหรียญทองแดงขึ้น. ปาโฟสถูกทำลายด้วยแผ่นดินไหวในปี 15 ก่อน ส.ศ. เช่นกัน และเช่นเดียวกับกรณีของเมืองซาลามิส เอากุสตุสได้มอบเงินให้เพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่. การขุดค้นได้เผยให้เห็นรูปแบบชีวิตที่หรูหราของคนที่มั่งคั่งแห่งปาโฟสในศตวรรษแรก ซึ่งได้แก่ถนนที่กว้างใหญ่ในเมือง, บ้านพักส่วนตัวที่ตกแต่งอย่างหรูหรา, โรงเรียนสอนดนตรี, โรงพลศึกษา, และโรงมหรสพ.
นี่คือเมืองปาโฟสที่เปาโล, บาระนาบา, และโยฮันมาระโก ได้แวะเยี่ยม และเมืองนี้เองที่ผู้สำเร็จราชการเซระเฆียวเปาโล—“ผู้มีความรู้”—“ปรารถนาจะฟังพระคำของพระเจ้า” แม้เอลุมาคนทำเล่ห์กลได้ต่อต้านอย่างรุนแรง. ผู้สำเร็จราชการก็ “อัศจรรย์ใจด้วยพระคำของพระเจ้า.”—กิจการ 13:6-12.
หลังจากประสบความสำเร็จในการประกาศที่ไซปรัส เหล่ามิชชันนารีได้ทำงานต่อไปในเอเชียน้อย. การเดินทางเผยแพร่รอบแรกของเปาโลนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญในการแพร่ศาสนาคริสเตียนแท้ออกไป. หนังสือการเดินทางของนักบุญเปาโลในแถบตะวันออกของกรีก (ภาษาอังกฤษ) เรียกการเดินทางเผยแพร่นั้นว่า “การเริ่มต้นอันแท้จริงแห่งงานมอบหมายคริสเตียนและแห่ง . . . งานมิชชันนารีของเปาโล.” หนังสือนั้นกล่าวเสริมว่า “การตั้งอยู่ ณ ที่ชุมนุมกันแห่งเส้นทางเลียบทะเลไปสู่ซีเรีย, เอเชียน้อย, และกรีซ ไซปรัสดูเหมือนเป็นสถานที่แห่งแรกของการผจญภัยในงานมิชชันนารีอย่างเลี่ยงไม่ได้.” ทว่า นั่นเป็นเพียงสถานที่เริ่มต้นเท่านั้น. เกือบสองพันปีต่อมา งานมิชชันนารีของคริสเตียนดำเนินต่อไป และอาจกล่าวได้จริง ๆ ว่า ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวานั้นได้ไปถึง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก” แล้วอย่างแท้จริง.—กิจการ 1:8.
[แผนที่หน้า 20]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ไซปรัส
นิโคเซีย (ลีดรา)
ปาโฟส
คูเรียน
อามาทัส
ลาร์นาคา
ซาลามิส
เทือกเขาคิรีเนีย
ที่ราบเมเซารีอา
เทือกเขาทรูโดส
[ภาพหน้า 21]
เปาโลซึ่งประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้ทำให้เอลุมาคนทำเล่ห์กลนั้นตาบอดขณะอยู่ที่ปาโฟส