บท 7
คุณเห็นคุณค่าชีวิตเช่นเดียวกับพระเจ้าไหม?
“บ่อเกิดแห่งชีวิตอยู่กับพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.
1, 2. (ก) เราได้รับของประทานที่ล้ำค่าอะไรจากพระเจ้า? (ข) ทำไมความสามารถที่จะหาเหตุผลในหลักการของคัมภีร์ไบเบิลจึงสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้?
พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ได้ประทานสมบัติอันล้ำค่าให้เรา อันได้แก่ของประทานเกี่ยวกับชีวิตฐานะมนุษย์ที่มีเชาวน์ปัญญาซึ่งสามารถเลียนแบบคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์. (เยเนซิศ 1:27) เนื่องจากมีของประทานอันล้ำค่านี้ เราจึงสามารถเข้าใจว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไร. โดยนำหลักการเหล่านั้นมาใช้ เราสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณซึ่งรักพระยะโฮวาและเป็นผู้ที่ “ได้ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.”—ฮีบรู 5:14.
2 ความสามารถที่จะเข้าใจหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและนำมาใช้นับว่าสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกทุกวันนี้ ซึ่งมีความซับซ้อนมากเสียจนไม่มีกฎหมายเพียงพอที่จะนำมาใช้ได้กับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต. วิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นตัวอย่างที่เหมาะในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องผลิตภัณฑ์และกระบวนการเกี่ยวกับเลือด. นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการเชื่อฟังพระยะโฮวา. กระนั้น หากเราเข้าใจหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวข้องด้วย เราก็น่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาดสุขุมทั้งสอดคล้องกับสติรู้สึกผิดชอบของเราและทำให้เราเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ. (สุภาษิต 2:6-11) ขอพิจารณาหลักการเหล่านี้บางข้อ.
ชีวิตและเลือดศักดิ์สิทธิ์
3, 4. พระคัมภีร์กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดเป็นครั้งแรกเมื่อไร และโดยอาศัยหลักการอะไร?
3 พระยะโฮวาทรงเปิดเผยความเกี่ยวพันอันใกล้ชิดระหว่างชีวิตกับเลือด รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ของสองสิ่งนี้เป็นครั้งแรกไม่นานหลังจากคายินได้ฆ่าเฮเบล. พระเจ้าตรัสกับคายินว่า “เสียงโลหิตของน้องร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงเรา.” (เยเนซิศ 4:10) จากทัศนะของพระยะโฮวา โลหิตของเฮเบลเป็นเครื่องหมายแสดงถึงชีวิตของเขาซึ่งถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด. ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าโลหิตของเฮเบลได้ร้องขอพระเจ้าให้แก้แค้น.—ฮีบรู 12:24.
4 หลังจากน้ำท่วมโลกสมัยโนฮา พระเจ้าทรงอนุญาตให้มนุษย์กินเนื้อสัตว์ แต่ห้ามกินเลือด. พระเจ้าตรัสว่า “เว้นแต่เนื้อที่ยังมีชีวิตอยู่เจ้าอย่ากินเลย, คือยังมีเลือดอยู่นั้น. โลหิตที่เป็นชีวิตของเจ้านั้นเราจะทวงเอา.” (เยเนซิศ 9:4, 5) พระบัญชานี้นำมาใช้กับลูกหลานทั้งสิ้นของโนฮาจนกระทั่งสมัยของเรา. พระบัญชานี้ยืนยันสิ่งที่พระเจ้าหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสกับคายินก่อนหน้านั้น ที่ว่าเลือดเป็นเครื่องหมายแสดงถึงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งสิ้น. พระบัญชาดังกล่าวยังพิสูจน์ว่าพระยะโฮวา ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตจะถือว่าทุกคนที่ไม่นับถือชีวิตและเลือดจะต้องให้การต่อพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 36:9.
5, 6. พระบัญญัติของโมเซแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์ทั้งยังมีค่าด้วย? (ดูกรอบ “เห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์.”)
5 ความจริงที่สำคัญยิ่งสองประการดังกล่าวยังปรากฏชัดในพระบัญญัติของโมเซด้วย. เลวีติโก 17:10, 11 (ล.ม.) อ่านว่า “ส่วนชาวอิสราเอลคนใด . . . ซึ่งกินเลือดอย่างหนึ่งอย่างใด, เราจะตั้งหน้าต่อสู้คนที่กินเลือดนั้นเป็นแน่, และเราจะตัดเขาออกจากพรรคพวกของเขาอย่างแน่นอน เพราะว่าชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด และเราเองได้เอาเลือดไว้บนแท่นบูชาเพื่อเจ้าจะไถ่ความผิดสำหรับชีวิตของเจ้า เพราะเลือดนั้นแหละคือสิ่งไถ่ความผิดโดยชีวิตที่อยู่ในเลือด.”a—ดูกรอบ “พลังไถ่ถอนของเลือด.”
6 หากเลือดของสัตว์ที่ถูกฆ่าไม่ได้ใช้บนแท่นบูชาแล้ว ก็ต้องเทเลือดนั้นลงบนดิน. ด้วยวิธีนี้ จึงเป็นประหนึ่งว่า ชีวิตกลับคืนไปยังผู้เป็นเจ้าของชีวิตแต่ดั้งเดิม. (พระบัญญัติ 12:16; ยะเอศเคล 18:4) แต่สังเกตว่า ชาวอิสราเอลไม่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเกินไปในการพยายามเอาเลือดออกจากเส้นเลือดทุกเส้นในเนื้อสัตว์ที่เขาจะรับประทาน. ตราบใดที่สัตว์นั้นถูกฆ่าและเอาเลือดออกอย่างถูกวิธี พวกเขาก็สามารถรับประทานเนื้อสัตว์นั้นด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดหมดจด เนื่องจากการเอาเลือดออกโดยวิธีนั้นจะเป็นการแสดงความนับถือต่อผู้ประทานชีวิต.
7. ดาวิดได้แสดงความนับถือต่อความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดโดยวิธีใด?
7 ดาวิดซึ่งเป็น ‘คนที่พระเจ้าพอพระทัย’ เข้าใจหลักการที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือด. (กิจการ 13:22) มีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านกระหายน้ำมาก พลทหารสามนายของท่านได้ฝ่าอันตรายเข้าไปในค่ายของศัตรู ตักน้ำจากบ่อมาให้ท่าน. ดาวิดมีปฏิกิริยาอย่างไร? ท่านกล่าวว่า “ควรที่ข้าพระองค์จะดื่มโลหิตของผู้ที่ตักมาด้วยการเสี่ยงชีวิตของเขาหรือ.” จากทัศนะของดาวิด การดื่มน้ำนั้นที่แท้แล้วคงจะเป็นเหมือนการดื่มเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตทหารสามนายซึ่งได้เสี่ยงชีวิตตนไปเอาน้ำนั้นมา. ดังนั้น แม้จะกระหายน้ำ ท่านก็ได้ “เท [น้ำนั้น] ออกบูชาถวายพระยะโฮวา.”—2 ซามูเอล 23:15-17, ฉบับแปลใหม่.
8, 9. ทัศนะของพระเจ้าในเรื่องชีวิตและเลือดได้เปลี่ยนไปพร้อมกับการตั้งประชาคมคริสเตียนไหม? จงอธิบาย.
8 ราว ๆ 2,400 ปีหลังจากมีการให้พระบัญชาในเรื่องเลือดแก่โนฮา และประมาณ 1,500 ปีหลังจากมีการทำสัญญาเกี่ยวกับพระบัญญัติ พระยะโฮวาได้ทรงดลใจคณะกรรมการปกครองของประชาคมคริสเตียนยุคแรกให้เขียนว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์และพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่วางภาระหนักบนพวกท่านเว้นแต่สิ่งจำเป็นเหล่านี้ คือ ให้ละเว้นจากของที่บูชาแก่รูปเคารพ จากเลือด จากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.”—กิจการ 15:28, 29.
9 เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการปกครองยุคแรกเข้าใจว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์ และการใช้เลือดอย่างผิด ๆ ถือว่าเป็นการทำผิดศีลธรรมเหมือนกับการไหว้รูปเคารพหรือการผิดประเวณี. คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ยอมรับจุดยืนดังกล่าว. ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพวกเขาคิดถึงการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้แทนที่จะคาดหมายคำสั่งที่เฉพาะเจาะจง พวกเขาจึงสามารถทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยเมื่อตัดสินใจในเรื่องการใช้เลือด.
การใช้เลือดในทางการแพทย์
10, 11. (ก) พยานพระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อการถ่ายเลือดครบส่วนและส่วนประกอบหลักของเลือด? (ข) คริสเตียนอาจมีความเห็นที่ต่างกันในขอบเขตใดบ้างเกี่ยวกับเลือด?
10 พยานพระยะโฮวายอมรับว่า “[การ] ละเว้นจาก . . . เลือด” หมายถึงการไม่ยอมรับการถ่ายเลือดและไม่บริจาคหรือเก็บเลือดของตนเองไว้เพื่อใช้ในการถ่ายเลือด. นอกจากนี้ เนื่องด้วยมีความนับถือต่อกฎหมายของพระเจ้า พวกเขาจึงไม่ยอมรับส่วนประกอบหลักสี่อย่างของเลือดคือ เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, เกล็ดเลือด, และพลาสมา.
11 ในทุกวันนี้ บ่อยครั้งมีการแยกส่วนประกอบหลักเหล่านี้เป็นส่วนประกอบย่อยโดยนำไปผ่านกระบวนการอีก แล้วนำไปใช้ในหลากหลายวิธี. คริสเตียนจะยอมรับส่วนประกอบย่อยดังกล่าวได้ไหม? เขาถือว่าส่วนประกอบย่อยเหล่านั้นเป็น “เลือด” ไหม? แต่ละคนต้องตัดสินใจเองในเรื่องนี้. หลักเดียวกันนำมาใช้กับกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การลดความเข้มข้นของเลือด, และการเก็บรักษาเซลล์เม็ดเลือดโดยการใช้เลือดของตัวเอง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เก็บเลือดนั้นไว้.—ดูภาคผนวก “ส่วนประกอบย่อยของเลือดและการดำเนินการระหว่างผ่าตัด.”
12. เราควรมีทัศนะอย่างไรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสติรู้สึกผิดชอบ และควรจัดการกับเรื่องดังกล่าวโดยวิธีใด?
12 เรื่องที่เราต้องตัดสินใจเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับพระยะโฮวาไหม? ไม่ เพราะพระองค์สนพระทัยอย่างแท้จริงในความคิดและแรงกระตุ้นของเรา. (สุภาษิต 17:3; 21:2; 24:12) ดังนั้น หลังจากอธิษฐานขอการชี้นำจากพระเจ้าและทำการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และขั้นตอนในการรักษาแล้ว เราควรเอาใจใส่ฟังสติรู้สึกผิดชอบของเราที่ได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล. (โรม 14:2, 22, 23) แน่นอน ไม่ควรให้คนอื่นตัดสินใจแทนเรา หรือบังคับเราให้ทำตามการตัดสินใจของเขา ทั้งเราไม่ควรถามเขาว่า “ถ้าคุณเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับฉัน คุณจะทำอย่างไร?” ในเรื่องดังกล่าว คริสเตียนแต่ละคนควร “แบกภาระของตนเอง.”b—กาลาเทีย 6:5; โรม 14:12; ดูกรอบ “ฉันถือว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์ไหม?”
กฎหมายของพระยะโฮวาสะท้อนความรักฉันบิดา
13. กฎหมายและหลักการของพระยะโฮวาเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระองค์? จงยกตัวอย่าง.
13 กฎหมายและหลักการที่พบในคัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเป็นทั้งผู้ประทานกฎหมายองค์ฉลาดสุขุมและเป็นพระบิดาองค์เปี่ยมด้วยความรักซึ่งใฝ่พระทัยอย่างลึกซึ้งในสวัสดิภาพแห่งเหล่าบุตรของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11) ถึงแม้พระบัญชาที่ให้ “ละเว้นจาก . . . เลือด” มิใช่กฎที่ตั้งไว้เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ แต่ก็ป้องกันเราไว้จากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเลือด. (กิจการ 15:20) ที่จริง หลายคนในวงการแพทย์ถือว่าการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดเป็นวิธีรักษาพยาบาลสมัยปัจจุบันที่มีคุณภาพมากที่สุด. สำหรับคริสเตียนแล้ว พัฒนาการดังกล่าวยืนยันสติปัญญาที่สุดจะหยั่งถึงและความรักฉันบิดาของพระยะโฮวา.—ยะซายา 55:9; โยฮัน 14:21, 23.
14, 15. (ก) มีการสะท้อนให้เห็นความรักที่พระเจ้ามีต่อประชาชนของพระองค์ในกฎหมายอะไรบ้าง? (ข) คุณจะนำหลักการที่แฝงอยู่ในกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร?
14 มีการสะท้อนให้เห็นความห่วงใยที่พระเจ้ามีต่อสวัสดิภาพของประชาชนของพระองค์ในอิสราเอลโบราณในกฎหมายหลายข้อของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงกำหนดว่าชาวอิสราเอลต้องทำขอบกั้นรอบดาดฟ้าหลังคาบ้านเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เนื่องจากดาดฟ้าหลังคาบ้านเป็นสถานที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง. (พระบัญญัติ 22:8; 1 ซามูเอล 9:25, 26; นะเฮมยา 8:16; กิจการ 10:9) นอกจากนี้ พระเจ้าทรงบัญชาให้กักขังโคตัวผู้ที่เป็นอันตราย. (เอ็กโซโด 21:28, 29) การละเลยข้อเรียกร้องเหล่านี้แสดงถึงการไม่ใส่ใจเสียเลยต่อสวัสดิภาพของคนอื่นและอาจยังผลให้เกิดความผิดฐานทำให้โลหิตตก.
15 คุณจะนำหลักการที่แฝงอยู่ในกฎหมายเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร? ขอให้คิดถึงรถยนต์, นิสัยในการขับรถของคุณ, สัตว์ที่คุณเลี้ยง, บ้าน, สถานที่ทำงานของคุณ, รวมทั้งนันทนาการที่คุณเลือก. ในบางประเทศ อุบัติเหตุเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเสียชีวิตในท่ามกลางคนหนุ่มสาว บ่อยครั้งเนื่องจากพวกเขาเสี่ยงชีวิตโดยไม่จำเป็น. อย่างไรก็ดี หนุ่มสาวที่ต้องการเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอถือว่าชีวิตมีค่าและไม่แสวงหาความตื่นเต้นจากกิจกรรมที่เป็นอันตราย. พวกเขาไม่คิดอย่างโง่ ๆ ว่าตัวเองไม่มีทางได้รับบาดเจ็บ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาชื่นชมยินดีในวัยหนุ่มสาวโดยป้องกันตนเองไว้ไม่ให้ประสบความเสียหายที่ไม่จำเป็น.—ท่านผู้ประกาศ 11:9, 10.
16. หลักการอะไรในคัมภีร์ไบเบิลนำมาใช้กับการทำแท้ง? (ดูเชิงอรรถด้วย.)
16 แม้แต่ชีวิตของทารกในครรภ์ก็มีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า. ในอิสราเอลโบราณ หากมีคนทำอันตรายผู้หญิงที่มีครรภ์ และทำให้เธอหรือไม่ก็ ทารกในครรภ์เธอเสียชีวิต พระเจ้าทรงถือว่าคนนั้นมีความผิดฐานเป็นผู้ฆ่าคน และเขาต้องชดใช้ด้วย “ชีวิตแทนชีวิต.”c (เอ็กโซโด 21:22, 23, ล.ม.) ดังนั้น คิดดูสิว่า พระยะโฮวาคงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อทรงเห็นว่าทารกในครรภ์จำนวนนับไม่ถ้วนถูกทำแท้งโดยเจตนาทุกปี ทารกหลายคนถูกฆ่าอันเป็นผลมาจากความเห็นแก่ตัวและการหละหลวมทางศีลธรรม.
17. คุณจะปลอบโยนคนที่เคยทำแท้งก่อนมาเรียนรู้มาตรฐานของพระเจ้าอย่างไร?
17 แต่จะว่าอย่างไรกับผู้หญิงที่เคยทำแท้งก่อนมารู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล? นี่หมายความว่าพระเจ้าจะไม่แสดงความเมตตาต่อเธอไหม? ไม่ใช่เช่นนั้นแน่! จริง ๆ แล้วคนที่กลับใจอย่างแท้จริงสามารถคาดหมายการให้อภัยจากพระยะโฮวาโดยอาศัยพระโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออก. (บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14; เอเฟโซส์ 1:7) ที่จริง พระคริสต์เองได้ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเรียกคนชอบธรรม แต่มาเรียกคนบาปให้กลับใจ.”—ลูกา 5:32.
หลีกเลี่ยงความคิดที่ก่อความเสียหาย!
18. คัมภีร์ไบเบิลระบุว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าคนคืออะไร?
18 เราไม่เพียงแต่ไม่ทำอันตรายคนอื่นเท่านั้น พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรากำจัดสาเหตุที่แท้จริงของการฆ่าคนให้หมดไปจากหัวใจ นั่นคือความเกลียดชัง. อัครสาวกโยฮันได้เขียนว่า “ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องก็เป็นผู้ฆ่าคน.” (1 โยฮัน 3:15) คนเช่นนั้นไม่เพียงแค่ไม่ชอบพี่น้องของตน แต่อยากให้เขาตาย. ความเกลียดชังของเขาอาจแสดงออกโดยการใส่ร้ายหรือการกล่าวหาเท็จว่ามีการกระทำซึ่งถ้าหากเป็นความจริงก็สมควรได้รับการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า. (เลวีติโก 19:16; พระบัญญัติ 19:18-21; มัดธาย 5:22) ดังนั้น นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราพยายามกำจัดความมุ่งร้ายใด ๆ ที่อาจอยู่ในหัวใจเราออกไป!—ยาโกโบ 1:14, 15; 4:1-3.
19. บุคคลที่ดำเนินชีวิตโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมีทัศนะอย่างไรต่อข้อพระคัมภีร์ เช่น บทเพลงสรรเสริญ 11:5 และฟิลิปปอย 4:8, 9?
19 คนที่เห็นคุณค่าชีวิตเช่นเดียวกับพระยะโฮวาและต้องการทำให้ตัวเองเป็นที่รักของพระองค์เสมอยังหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ. บทเพลงสรรเสริญ 11:5 กล่าวว่า “คนใดที่ชอบความรุนแรงนั้น [พระยะโฮวา] ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.” ข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงถ้อยคำที่พรรณนาบุคลิกลักษณะของพระเจ้า; แต่มีหลักการชี้นำวิธีที่เราควรดำเนินชีวิต. หลักการนี้กระตุ้นคนที่รักพระเจ้าให้หลีกเลี่ยงความบันเทิงแบบใด ๆ ที่อาจส่งเสริมให้นิยมชมชอบความรุนแรง. เช่นเดียวกัน ถ้อยคำที่ว่า พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งสันติสุข” กระตุ้นผู้รับใช้ของพระองค์ที่จะทำให้จิตใจและหัวใจของเขาเปี่ยมด้วยสิ่งที่น่ารัก, สิ่งที่มีคุณความดี, และสิ่งที่น่าสรรเสริญ ซึ่งทำให้เกิดสันติสุข.—ฟิลิปปอย 4:8, 9.
หลีกเลี่ยงองค์การที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตก
20-22. คริสเตียนยึดจุดยืนเช่นไรต่อโลก และเพราะเหตุใด?
20 ในทัศนะของพระเจ้า โลกของซาตานทั้งสิ้นมีความผิดฐานทำให้โลหิตตก. มีการแสดงภาพระบบทางการเมืองของโลกว่าเป็นสัตว์ร้ายที่ได้ฆ่าคนจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้งผู้รับใช้หลายคนของพระยะโฮวา. (ดานิเอล 8:3, 4, 20-22; วิวรณ์ 13:1, 2, 7, 8) โดยร่วมมือกับอำนาจทางการเมืองเหล่านี้ที่เป็นเหมือนสัตว์ร้าย อำนาจทางการค้าของโลกและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ได้สร้างอาวุธร้ายแรงที่สุดเท่าที่จะนึกออกได้ และกอบโกยกำไรมหาศาล. เป็นความจริงสักเพียงไรที่ว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย”!—1 โยฮัน 5:19.
21 เนื่องจากเหล่าสาวกของพระเยซู “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก” แต่รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเมืองและสงคราม พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงความผิดฐานทำให้โลหิตตกทั้งความผิดที่ตนเองกระทำและความผิดร่วมกันกับคนอื่นในชุมชน.d (โยฮัน 15:19; 17:16) และในการเลียนแบบพระคริสต์ พวกเขาจึงไม่ได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเมื่อคนอื่นข่มเหงเขา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาแสดงความรักต่อศัตรู ถึงกับอธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นด้วยซ้ำ.—มัดธาย 5:44; โรม 12:17-21.
22 เหนือสิ่งอื่นใด คริสเตียนแท้หลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จซึ่งมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกยิ่งกว่าใครอื่นทั้งหมด. พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ในเมืองนี้มีเลือดของผู้พยากรณ์ ผู้บริสุทธิ์ และเลือดคนทั้งปวงที่ถูกฆ่าบนแผ่นดินโลก.” ด้วยเหตุนี้ เราได้รับคำเตือนว่า “ประชาชนของเรา จงออกมาจากเมืองนี้.”—วิวรณ์ 17:6; 18:2, 4, 24.
23. การออกจากบาบิโลนใหญ่หมายความว่าอย่างไร?
23 การละทิ้งบาบิโลนใหญ่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ถอนชื่อออกจากการเป็นสมาชิกของศาสนาเท็จ. นี่ยังหมายรวมถึงการเกลียดชังกิจปฏิบัติที่ชั่วร้ายซึ่งศาสนาเท็จยอมให้หรือส่งเสริมอย่างเปิดเผย เช่น การผิดศีลธรรม, การเข้าไปยุ่งกับการเมือง, และการแสวงหาความมั่งคั่งอย่างละโมบ. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10; วิวรณ์ 18:7, 9, 11-17) บ่อยสักเพียงไรที่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการฆ่ากัน!
24, 25. (ก) พระเจ้าอาศัยอะไรเป็นพื้นฐานสำหรับการแสดงความเมตตาต่อคนที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตกแต่ได้กลับใจ? (ข) สิ่งนี้เตือนเราให้นึกถึงการจัดเตรียมอะไรในสมัยคัมภีร์ไบเบิล?
24 ก่อนมาเป็นผู้นมัสการแท้ เราแต่ละคนได้สนับสนุนระบบของซาตานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และด้วยเหตุนี้จึงมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกอยู่บ้าง. อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราได้เปลี่ยนแปลงความประพฤติ, ปลูกฝังความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์, และได้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้า เราจึงได้รับความเมตตาจากพระองค์ อีกทั้งได้รับการปกป้องไว้จากสิ่งที่อาจก่อความเสียหายต่อสัมพันธภาพของเรากับพระองค์. (กิจการ 3:19) การปกป้องแบบนั้นทำให้เรานึกถึงเมืองลี้ภัยในสมัยคัมภีร์ไบเบิล.—อาฤธโม 35:11-15; พระบัญญัติ 21;1-9.
25 การจัดเตรียมเกี่ยวกับเมืองลี้ภัยคืออย่างไร? หากชาวอิสราเอลคนหนึ่งได้ทำให้อีกคนหนึ่งเสียชีวิตโดยบังเอิญ เขาต้องหนีไปยังเมืองลี้ภัยเมืองหนึ่ง. หลังจากผู้พิพากษาที่มีคุณวุฒิได้ตัดสินเรื่องนั้นแล้ว คนที่ฆ่าคนโดยไม่ได้ตั้งใจต้องอาศัยอยู่ในเมืองลี้ภัยนั้นจนกระทั่งมหาปุโรหิตเสียชีวิต. หลังจากนั้นเขาจะมีอิสระที่จะไปอยู่ที่อื่นได้. ช่างเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นอะไรเช่นนี้เกี่ยวกับความเมตตาของพระเจ้าและการที่พระองค์ทรงถือว่าชีวิตมนุษย์มีค่ามาก! การจัดเตรียมของพระเจ้าที่อาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ก็คล้ายกันกับเมืองลี้ภัยในสมัยโบราณ เครื่องบูชาไถ่ปกป้องเราไว้จากความตายเนื่องจากการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและเลือดโดยไม่ตั้งใจ. คุณเห็นคุณค่าการจัดเตรียมนี้ไหม? คุณจะแสดงว่าเห็นคุณค่าในเรื่องนี้โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือ โดยการเชิญชวนคนอื่น ๆ ให้ยอมรับการจัดเตรียมเรื่องการปกป้องของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่ใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว.—มัดธาย 24:21; 2 โครินท์ 6:1, 2.
เห็นคุณค่าชีวิตโดยประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร
26-28. สภาพการณ์ของเราในทุกวันนี้คล้ายกับสภาพการณ์ของผู้พยากรณ์ยะเอศเคลในทางใด และเราจะทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอได้อย่างไร?
26 สภาพการณ์ของประชาชนของพระเจ้าในสมัยเราเตือนให้ระลึกถึงยะเอศเคล ผู้พยากรณ์ในสมัยโบราณซึ่งพระยะโฮวาทรงมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนยามประกาศคำเตือนของพระเจ้าแก่หมู่ชนชาวอิสราเอล. พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าได้ยินถ้อยคำจากปากของเราเมื่อไรเจ้าจงให้คำตักเตือนของเราแก่ประชาชน.” หากยะเอศเคลละเลยงานที่ได้รับมอบหมาย ท่านเองคงจะต้องรับผิดชอบต่อเลือดของคนที่ถูกสำเร็จโทษตอนที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. (ยะเอศเคล 33:7-9, ฉบับแปลใหม่) แต่ยะเอศเคลเชื่อฟังและไม่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตก.
27 ทุกวันนี้ อวสานของโลกทั้งสิ้นของซาตานอยู่ตรงหน้าเรา. ดังนั้น พยานพระยะโฮวาถือว่าเป็นทั้งพันธะหน้าที่และสิทธิพิเศษที่จะประกาศ “วันแห่งการแก้แค้น” ของพระเจ้าพร้อมกับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. (ยะซายา 61:2, ฉบับแปลใหม่; มัดธาย 24:14) คุณมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานสำคัญนี้ไหม? อัครสาวกเปาโลถือว่างานมอบหมายของท่านในการประกาศเป็นเรื่องสำคัญ. ฉะนั้น ท่านจึงพูดได้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องรับผิดชอบการตายของคนทั้งปวง เพราะข้าพเจ้าได้ทุ่มเทตัวเพื่อบอกพวกท่านให้รู้เรื่องพระประสงค์ทั้งปวงของพระเจ้าแล้ว.” (กิจการ 20:26, 27) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีสักเพียงไรที่เราพึงเลียนแบบ!
28 แน่นอน เพื่อเราจะได้รับความรักอันอบอุ่นฉันบิดาจากพระยะโฮวาเสมอ เราต้องไม่เพียงมีทัศนะต่อชีวิตและเลือดเช่นเดียวกับพระยะโฮวา. เราต้องสะอาด หรือบริสุทธิ์ในสายพระเนตรของพระองค์อยู่เสมอด้วย ดังที่เราจะได้พิจารณาในบทต่อไป.
a เกี่ยวกับถ้อยคำที่พระเจ้าตรัสว่า “ชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด” วารสารไซเยนติฟิก อเมริกันให้ข้อสังเกตว่า “ถึงแม้เป็นความจริงที่อาจถือได้ว่าเลือดเป็นการเปรียบเทียบ หรือเป็นสัญลักษณ์ใช้แทนชีวิต แต่ถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นจริงตามตัวอักษร นั่นก็คือ เซลล์เลือดแต่ละชนิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต.”
b ดูตื่นเถิด! เดือนสิงหาคม 2006 หน้า 3-12 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
c ผู้เรียบเรียงพจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ถ้อยคำที่ใช้ในข้อความภาษาฮีบรู “ดูเหมือนจะแปลคำนี้ในแบบที่เป็นไปไม่ได้ว่าจะพาดพิงถึงการทำอันตรายผู้หญิงเท่านั้น.” ขอให้สังเกตด้วยว่า คัมภีร์ไบเบิลมิได้กล่าวอะไรเกี่ยวกับอายุของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ที่จะเป็นปัจจัยในการพิพากษาของพระยะโฮวา.
d ดูบท 5 “วิธีแยกอยู่ต่างหากจากโลก.”
e สำหรับข้อมูลที่ละเอียด ดูภาคผนวก “ส่วนประกอบย่อยของเลือดและการดำเนินการระหว่างผ่าตัด.”