‘จงเดินเที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้’
‘จงเดินเที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้ให้ทั่วด้านยาวด้านกว้างเถิด.’—เยเนซิศ 13:17.
1. พระเจ้าให้พระบัญชาอะไรที่น่าตื่นเต้นแก่อับราฮาม?
คุณชอบออกไปเที่ยวไกล ๆ นอกเมืองไหม อาจเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ในช่วงปลายสัปดาห์? บางคนชอบท่องเที่ยวโดยใช้จักรยานเพื่อจะได้ออกกำลังกายและเห็นทิวทัศน์ในแบบสบาย ๆ มากกว่า. มีบางคนด้วยที่เลือกใช้วิธีเดินเพื่อจะศึกษาและชื่นชมภูมิประเทศได้อย่างเต็มที่. ปกติแล้วการท่องเที่ยวอย่างนั้นทำได้ในช่วงเวลาที่จำกัด. แต่ขอให้ลองนึกภาพดูว่าอับราฮามจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเจ้าบอกท่านว่า “เจ้าจงลุกขึ้นเดินเที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้ให้ทั่วด้านยาวด้านกว้างเถิด; ด้วยแผ่นดินนี้เราจะยกให้เจ้า”!—เยเนซิศ 13:17.
2. อับราฮามไปไหนภายหลังออกจากอียิปต์?
2 ขอให้เราพิจารณาเหตุการณ์ก่อนหน้าพระบัญชาดังกล่าว. อับราฮามพร้อมกับภรรยาของท่านและคนอื่น ๆ อาศัยอยู่ชั่วคราวในอียิปต์. เยเนซิศบท 13 (ฉบับแปลใหม่) บอกเราว่าต่อมาพวกเขาย้ายออกจากอียิปต์พร้อมกับฝูงสัตว์ไปยัง “เนเกบ.” จากนั้น อับราฮาม “เดินทางเป็นระยะ ๆ ต่อไปจากเนเกบจนมาถึงเมืองเบธเอล.” เมื่อเกิดปัญหาขึ้นระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ของท่านกับของโลตหลานชาย และดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหาทุ่งเลี้ยงสัตว์แยกจากกัน อับราฮามใจกว้างให้โลตเลือกก่อน. โลตเลือก “ที่ลุ่มแม่น้ำจอร์แดน” ซึ่งเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ดั่ง “อุทยานของพระเจ้า” แล้วต่อมาก็อาศัยในเมืองโซโดม. พระเจ้าตรัสแก่อับราฮามว่า “เจ้าจงเงยหน้าแลดูสถานที่ ตั้งแต่เจ้าอยู่นี้ไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก.” ดูเหมือนว่าจากพื้นที่สูงใกล้เมืองเบทเอล อับราฮามสามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดินนั้น. แต่ไม่ใช่แค่ดูเท่านั้น. พระเจ้าเชิญท่านให้ “เดินเที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้” ทำความคุ้นเคยกับลักษณะและขอบเขตของแผ่นดินดังกล่าว.
3. เหตุใดจึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะมโนภาพการเดินทางของอับราฮาม?
3 ไม่ว่าอับราฮามจะเดินเที่ยวไปทั่วแผ่นดินนั้นได้แค่ไหนก่อนไปถึงเฮบโรน ท่านย่อมคุ้นเคยกับแผ่นดินตามคำสัญญามากกว่าพวกเราส่วนใหญ่แน่ ๆ. ขอให้คิดถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น คือ เนเกบ, เบทเอล, ที่ลุ่มแม่น้ำจอร์แดน, โซโดม, และเฮบโรน. คุณรู้สึกลำบากไหมที่จะนึกภาพว่าสถานที่เหล่านี้อยู่ที่ไหน? นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคน เพราะมีประชาชนของพระยะโฮวาน้อยคนที่เคยได้ไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ที่พวกเขาอ่านพบในคัมภีร์ไบเบิล และได้เดินทางไปทั่วแผ่นดินนั้น. ถึงกระนั้น เรามีเหตุผลที่จะให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อจะรู้ว่าสถานที่ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลอยู่ที่ไหน. เพราะเหตุใด?
4, 5. (ก) สุภาษิต 18:15 มาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับดินแดนต่าง ๆ ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล? (ข) ซะฟันยาบท 2 เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นอะไรในเรื่องนี้?
4 พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ใจของคนที่มีความเข้าใจก็ได้ความรู้ และหูของคนมีปัญญาแสวงหาความรู้.” (สุภาษิต 18:15, ล.ม.) มีหลายเรื่องที่คนเราจะหาความรู้ได้ กระนั้น ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระราชกิจต่าง ๆ ของพระองค์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด. แน่นอน สิ่งที่เราอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อจะบรรลุความรู้ถ่องแท้นั้น. (2 ติโมเธียว 3:16) แต่ขอสังเกตว่าความเข้าใจเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. นั่นคือความสามารถในการมองลึกลงไปในเรื่องหนึ่ง ๆ มองออกหรือเข้าใจว่าแต่ละส่วนของเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไรและเกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งหมดอย่างไร. ข้อนี้เป็นจริงด้วยกับสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น พวกเราส่วนใหญ่รู้ว่าอียิปต์อยู่ที่ไหน แต่เราเข้าใจดีแค่ไหนเมื่ออ่านว่า อับราฮามออกจากอียิปต์ไปเนเกบ แล้วก็ไปเบทเอล และจากนั้นก็เฮบโรน? คุณเข้าใจไหมว่าสถานที่เหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
5 หรือในกำหนดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์ คุณอาจได้อ่านซะฟันยาบท 2 ไปแล้ว. ในบทนั้น คุณได้อ่านชื่อเมือง, ชื่อคน, และชื่อดินแดนต่าง ๆ. มีการกล่าวถึงเมืองฆาซา, อัศคะโลน, อัศโดด, เอคโรน, ซะโดม, และนีนะเว รวมทั้งแผ่นดินคะนาอัน, โมอาบ, อำโมน, และอาซูรยา ทั้งหมดในบทนั้นบทเดียว. คุณนึกภาพตำแหน่งที่ตั้งสถานที่เหล่านี้ออกได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นที่ที่เคยมีคนจริง ๆ อาศัยอยู่ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ของพระเจ้า?
6. คริสเตียนบางคนเห็นคุณค่าของการใช้แผนที่เนื่องจากอะไร? (ดูกรอบ)
6 นักศึกษาพระคำของพระเจ้าหลายคนได้ประโยชน์มากจากการค้นดูแผนที่ดินแดนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. ที่พวกเขาทำอย่างนั้นไม่ใช่เพียงเพราะตื่นตาตื่นใจกับแผนที่ แต่เพราะตระหนักว่าการใช้แผนที่จะช่วยให้เขามีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. แผนที่ยังช่วยพวกเขาให้เข้าใจดีขึ้น ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับข้อมูลอื่น ๆ. ขณะที่เราพิจารณาบางตัวอย่าง คุณคงจะรู้สึกขอบพระคุณพระยะโฮวามากขึ้น และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในพระคำของพระองค์ลึกซึ้งขึ้น.—ดูกรอบหน้า 14.
การรู้ระยะทางทำให้เข้าใจดีขึ้น
7, 8. (ก) ซิมโซนกระทำการอะไรที่น่าทึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองกาซา? (ข) ข้อมูลอะไรที่ทำให้เราประทับใจยิ่งขึ้นกับความสามารถของซิมโซน? (ค) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับซิมโซนนี้เป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไร?
7 ที่พระธรรมวินิจฉัย 16:2 คุณสามารถอ่านเรื่องราวของผู้วินิจฉัยซิมโซนขณะที่อยู่ในเมืองกาซา (ฆาซา). ชื่อกาซาปรากฏบ่อย ๆ ในรายงานข่าวทุกวันนี้ ดังนั้น คุณคงพอจะนึกภาพออกว่าซิมโซนอยู่ที่ไหนในดินแดนฟิลิสตินใกล้ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. [11] ทีนี้ ขอสังเกตที่วินิจฉัย 16:3 ที่กล่าวว่า “ซิมโซนนอนอยู่จนสองยาม, ครั้นเที่ยงคืนก็ลุกขึ้น, จับบานประตูเมือง, และเสาทั้งคู่ทั้งกลอน, ใส่บ่าแบกขึ้นไปบนยอดภูเขาตรงหน้าเฮ็บโรน.”
8 ไม่ต้องสงสัยว่า บานประตูและเสาประตูทั้งสองข้างของเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแรงอย่างกาซาคงทั้งใหญ่ทั้งหนัก. ลองนึกภาพการพยายามแบกประตูพร้อมกับเสาทั้งสองข้างดูสิ! ซิมโซนทำอย่างนั้น ทว่าท่านแบกไปไหน และต้องเดินทางแบบใด? เมืองกาซาอยู่บนชายฝั่งทะเลที่ระดับความสูงใกล้เคียงระดับน้ำทะเล. [15] แต่เมืองเฮบโรนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกที่ระดับความสูง 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล. นั่นเป็นการเดินขึ้นเขาอย่างแท้จริง! เราไม่อาจระบุตำแหน่งที่แน่นอนของ “ภูเขาตรงหน้าเฮ็บโรน” ได้ แต่ก็รู้ว่าเมืองนี้อยู่ห่างจากเมืองกาซาประมาณ 60 กิโลเมตร และยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ามากอีกด้วย! การรู้ระยะทางเช่นนี้ทำให้เห็นความสามารถของซิมโซนในแง่มุมใหม่มิใช่หรือ? และขอให้คิดถึงสาเหตุที่ทำให้ซิมโซนทำแบบนั้นได้ นั่นเพราะ “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาสวมทับซิมโซน.” (วินิจฉัย 14:6, 19; 15:14) ฐานะคริสเตียนในทุกวันนี้ เราไม่คาดหมายให้พระวิญญาณของพระเจ้าประทานพละกำลังที่ผิดธรรมดาให้กับเรา. กระนั้น พระวิญญาณเดียวกันนี้ที่ทรงพลังสามารถช่วยเราให้มีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้ง และทำให้บุคคลที่เราเป็นอยู่ภายในมีความเข้มแข็ง. (1 โกรินโธ 2:10-16; 13:8; เอเฟโซ 3:16, ล.ม.; โกโลซาย 1:9, 10) ใช่แล้ว ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับซิมโซนนี้ทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยเราได้.
9, 10. (ก) ชัยชนะที่ฆิดโอนมีเหนือชาวมีเดียนมีอะไรรวมอยู่ด้วย? (ข) ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยทำให้เรื่องราวนี้มีความหมายมากขึ้นอย่างไรสำหรับเรา?
9 เรื่องที่ฆิดโอนมีชัยเหนือชาวมีเดียน (มิดยาน) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นคุณค่าของการรู้ระยะทาง. ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่รู้ว่าผู้วินิจฉัยฆิดโอนพร้อมทหาร 300 นายได้เอาชนะกองทัพร่วมของผู้รุกรานจำนวน 135,000 นาย ซึ่งประกอบด้วยชาวมีเดียน, อะมาเลค, และพวกอื่น ๆ ที่ตั้งค่ายบนที่ราบยิศเรเอล (เยศเรล) ใกล้ภูเขาโมเรห์. [18] ทหารของฆิดโอนเป่าแตร ต่อยหม้อแตกให้คบเพลิงส่องสว่าง แล้วร้องตะโกนว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน”! นี่ทำให้กองทัพศัตรูแตกตื่นชุลมุน จนเริ่มฆ่าฟันกันเอง. (วินิจฉัย 6:33; 7:1-22) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในคืนนั้นเป็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไหม? ขออ่านต่อไปในวินิจฉัยบท 7 และ 8. คุณจะเห็นว่าฆิดโอนรุกต่อไป. สำหรับชื่อสถานที่หลายแห่งที่มีการเอ่ยถึง บางแห่งระบุไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหนในปัจจุบัน จึงไม่มีปรากฏอยู่ในแผนที่ดินแดนสมัยคัมภีร์ไบเบิล. ถึงกระนั้น ตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ เท่าที่ทราบก็มีมากพอที่จะติดตามปฏิบัติการของฆิดโอนได้.
10 ฆิดโอนไล่ตามกองกำลังผสมที่เหลืออยู่ผ่านตำบลเบท-ชิททาห์ (เบธชีตา) แล้วต่อไปทางใต้ถึงเขตเมืองเอเบล-เมโฮลาห์ (อาเบนมะโฮลา) ใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน. (วินิจฉัย 7:22-25) บันทึกกล่าวว่า ฆิดโอน “มาที่แม่น้ำจอร์แดนและข้ามไป ทั้งท่านและทหารสามร้อยคนที่อยู่ด้วย ถึงจะอ่อนเปลี้ยแต่ก็ยังติดตามไป.” พอข้ามไปแล้ว ชาวอิสราเอลก็ตามล่าเหล่าศัตรูไปทางใต้ถึงเมืองซุคโคท (ซุโคธ) และเมืองเพนูเอล (พะนูเอล) ซึ่งอยู่ใกล้ลำธารยับโบก (ยาโบค) แล้วจากนั้น ก็ขึ้นเขาต่อไปยังเมืองโยกเบฮาห์ (ยัฆบะฮา) (ใกล้อัมมาน เมืองหลวงประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน). เส้นทางรบและไล่ล่านี้รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 80 กิโลเมตร. ฆิดโอนจับกษัตริย์มีเดียนสององค์ได้และสังหารเสีย แล้วก็กลับไปเมืองของท่าน คือโอฟราห์ (อัฟรา) ใกล้กับสถานที่ที่การต่อสู้เริ่มขึ้น. (วินิจฉัย 8:4-12, 21-27, ฉบับแปลใหม่) เห็นได้ชัดว่า ผลสำเร็จในการทำศึกของฆิดโอนไม่ใช่การเป่าแตร, โบกคบเพลิง, และตะโกนร้องในช่วงแค่ไม่กี่นาที. และคิดดูสิว่าการรู้อย่างนี้ทำให้ข้อความที่กล่าวถึงผู้มีความเชื่อแท้มีความน่าประทับใจมากขึ้นสักเพียงไรที่ว่า “เวลาไม่พอที่จะกล่าวถึงฆิดโอน [และคนอื่น ๆ ผู้ซึ่ง] เมื่อก่อนอ่อนกำลังแล้วก็มีกำลังมากขึ้น, มีกำลังเรี่ยวแรงมากในการสงคราม.” (เฮ็บราย 11:32-34) คริสเตียนอาจอ่อนเปลี้ยได้เช่นกัน แต่สำคัญมิใช่หรือที่เราจะมุ่งทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าต่อ ๆ ไป?—2 โกรินโธ 4:1, 16; ฆะลาเตีย 6:9.
ผู้คนมีความคิดและปฏิกิริยาเช่นไร?
11. มีการเดินทางเช่นไรก่อนถึงคาเดชและหลังจากนั้น?
11 บางคนอาจค้นดูแผนที่ดินแดนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เพื่อจะหาตำแหน่งที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ แต่คุณคิดว่าแผนที่นั้นจะช่วยให้หยั่งเห็นเข้าใจความคิดของผู้คนในสมัยนั้นได้ไหม? ขอให้พิจารณาชาวอิสราเอลที่ย้ายจากภูเขาไซนายไปยังแผ่นดินตามคำสัญญาเป็นตัวอย่าง. หลังจากเดินทางและหยุดพักเป็นระยะ ๆ ในที่สุดพวกเขาก็มาถึงคาเดช (หรือคาเดช-บาร์เนีย). [9] พระบัญญัติ 1:2 บอกให้ทราบว่าการเดินทางนี้ใช้เวลา 11 วัน เป็นระยะทางประมาณ 270 กิโลเมตร. จากที่นั่น โมเซส่งชาย 12 คนเข้าไปสอดแนมในแผ่นดินตามคำสัญญา. (อาฤธโม 10:12, 33; 11:34, 35; 12:16; 13:1-3, 25, 26) คนสอดแนมขึ้นเหนือผ่านเนเกบ คงผ่านเบเออร์-เชบา (บะเอระซาบา) แล้วผ่านเมืองเฮบโรน และขึ้นไปจนถึงชายแดนเหนือสุดของแผ่นดินตามคำสัญญา. (อาฤธโม 13:21-24) เนื่องจากเชื่อรายงานในแง่ลบของคนสอดแนม 10 คน ชาวอิสราเอลจึงต้องร่อนเร่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี. (อาฤธโม 14:1-34) เรื่องนี้เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความเชื่อและความเต็มใจของพวกเขาที่จะวางใจพระยะโฮวา?—พระบัญญัติ 1:19-33; บทเพลงสรรเสริญ 78:22, 32-43; ยูดา 5.
12. เราสามารถลงความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับความเชื่อของชาวอิสราเอล และทำไมเราควรตรึกตรองเรื่องนี้?
12 ขอคิดถึงเรื่องนี้โดยคำนึงถึงภูมิประเทศ. หากชาวอิสราเอลได้แสดงความเชื่อและทำตามที่ยะโฮซูอะกับคาเลบแนะนำ จะมีความจำเป็นอะไรไหมที่พวกเขาจะต้องเดินทางไกลเพื่อไปถึงแผ่นดินตามคำสัญญา? คาเดชอยู่ห่างประมาณ 16 กิโลเมตรจากเบเออร์-ลาไฮ-โรย (บ่อน้ำลาฮายรอย) ที่ซึ่งยิศฮาคกับริบะคาเคยอาศัยอยู่. [7] คาเดชอยู่ห่างจากเบเออร์-เชบาไม่ถึง 95 กิโลเมตร ที่ซึ่งมีการกล่าวว่าเป็นพรมแดนทางใต้ของแผ่นดินตามคำสัญญา. (เยเนซิศ 24:62; 25:11; 2 ซามูเอล 3:10) หลังจากเดินทางจากอียิปต์ไปภูเขาไซนาย และต่อมาอีก 270 กิโลเมตรถึงคาเดช พวกเขาก็อยู่ตรงจุดที่จะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา. ในกรณีของเรา เราอยู่ตรงจุดที่จะเข้าสู่อุทยานบนแผ่นดินโลกตามคำสัญญา. บทเรียนสำหรับเราคืออะไร? อัครสาวกเปาโลเชื่อมโยงสภาพการณ์ของชาวอิสราเอลนี้กับคำแนะนำที่ว่า “เหตุฉะนั้น ให้เราทั้งหลายทำสุดกำลังของเราเพื่อเข้าสู่การหยุดพักนั้น ด้วยเกรงว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะล้มลงด้วยการไม่เชื่อฟังแบบเดียวกัน.”—เฮ็บราย 3:16–4:11, ล.ม.
13, 14. (ก) ชาวเมืองกิบโอนดำเนินการอย่างแน่วแน่ภายใต้สภาพการณ์เช่นไร? (ข) อะไรเผยให้เห็นเจตคติของชาวเมืองกิบโอน และบทเรียนอะไรที่เราน่าจะได้จากเรื่องนี้?
13 เจตคติที่ต่างออกไป—เจตคติที่วางใจพระเจ้าให้ดำเนินการตามที่พระองค์ทรงประสงค์—จะเห็นจากเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชาวเมืองกิบโอน (ฆิบโอน). หลังจากยะโฮซูอะนำชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาแก่ครอบครัวอับราฮาม ก็เป็นเวลาที่พวกเขาจะต้องกวาดล้างชาวคะนาอันออกจากแผ่นดินนั้น. (พระบัญญัติ 7:1-3) นั่นรวมถึงชาวเมืองกิบโอนด้วย. ชาวอิสราเอลได้ทำลายเมืองเยริโคและเมืองอาย (ฮาย) และตั้งค่ายใกล้กับกิลกาล (ฆีละฆาล). ชาวเมืองกิบโอนไม่อยากตายอย่างชาวคะนาอันที่ถูกสาปแช่ง จึงส่งทูตไปพบยะโฮซูอะที่กิลกาล. พวกเขาแสร้งทำเป็นว่าเดินทางมาจากนอกเขตแดนคะนาอันเพื่อจะสามารถทำสัญญาไมตรีกับชาวฮีบรู.
14 คณะทูตนั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามาแต่เมืองไกลนัก ด้วยเห็นแก่พระนามแห่งยะโฮวาพระเจ้าของท่าน.” (ยะโฮซูอะ 9:3-9) เสื้อผ้าและเสบียงอาหารของพวกเขาดูเหมือนให้หลักฐานว่าพวกเขามาจากแดนไกล แต่แท้จริงเมืองกิบโอนอยู่ห่างจากกิลกาลประมาณ 30 กิโลเมตร. [19] เนื่องจากเชื่อว่าเป็นจริง ยะโฮซูอะและบรรดาหัวหน้าประชาชนจึงทำสัญญาไมตรีกับเมืองกิบโอนและเมืองใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์กับกิบโอน. วิธีนี้เป็นอุบายของชาวเมืองกิบโอนเพียงเพื่อจะให้พ้นจากการถูกทำลายเท่านั้นไหม? ตรงกันข้าม การกระทำดังกล่าวแสดงถึงความปรารถนาที่จะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าของชาติอิสราเอล. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยชาวเมืองกิบโอนและให้พวกเขาเป็น “ผู้ตัดฟืนและตักน้ำสำหรับพวกยิศราเอล, และสำหรับแท่นแห่งพระยะโฮวา” คือจัดหาฟืนสำหรับแท่นบูชา. (ยะโฮซูอะ 9:11-27) นับแต่นั้นเรื่อยมา ชาวเมืองกิบโอนยังคงแสดงความเต็มใจรับใช้พระยะโฮวาด้วยการรับเอางานที่ต่ำต้อย. พวกเขาบางคนคงรวมอยู่ในพวกนะธีนิมที่กลับจากบาบิโลนและรับใช้ในพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่. (เอษรา 2:1, 2, 43-54; 8:20) เราสามารถเลียนแบบเจตคติของพวกเขาโดยพยายามรักษาสันติสุขกับพระเจ้าและเต็มใจรับใช้พระองค์แม้แต่ในงานมอบหมายที่ดูต่ำต้อย.
การเสียสละตัวเราเอง
15. ทำไมลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดินแดนในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ?
15 ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดินแดนในสมัยคัมภีร์ไบเบิลรวมถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกด้วย เช่น การเดินทางและงานรับใช้ของพระเยซูและอัครสาวกเปาโล. (มาระโก 1:38; 7:24, 31; 10:1; ลูกา 8:1; 13:22; 2 โกรินโธ 11:25, 26) ในเรื่องต่อไปนี้ ให้พยายามมโนภาพการเดินทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
16. คริสเตียนในเมืองเบโรยะแสดงความหยั่งรู้ค่าเปาโลโดยวิธีใด?
16 ในการเดินทางเผยแพร่ต่างแดนรอบที่สองของเปาโล (เส้นสีม่วงในแผนที่) ท่านไปถึงเมืองฟิลิปปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรีซ. [33] ท่านให้คำพยานที่นั่น ถูกจำคุก แล้วได้รับการปล่อยตัว และเดินทางต่อไปยังเมืองเทสซาโลนิเก. (กิจการ 16:6–17:1) เมื่อชาวยิวปลุกปั่นให้เกิดจลาจล พี่น้องชาวเมืองเทสซาโลนิเกเร่งเร้าให้เปาโลไปเมืองเบโรยะ ที่อยู่ห่างออกไปราว 65 กิโลเมตร. เปาโลทำงานเผยแพร่ในเมืองเบโรยะได้อย่างบังเกิดผล แต่ชาวยิวก็ตามมายุยงชาวเมืองอีก. ดังนั้น “พวกพี่น้องจึงส่งเปาโลออกทะเลทันที” และ “พวกที่ไปส่งเปาโลนั้นได้ส่งท่านถึงกรุงเอเธนส์.” (กิจการ 17:5-15, ฉบับแปล 2002) ดูเหมือนว่ามีผู้เชื่อถือใหม่บางคนยินดีเดินเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตรถึงทะเลอีเจียน จ่ายค่าเรือโดยสาร และโดยสารเรือไปอีกประมาณ 500 กิโลเมตร. การเดินทางดังกล่าวอาจมีอันตรายหลายอย่าง แต่พี่น้องก็พร้อมจะเสี่ยง ซึ่งทำให้พวกเขาได้อยู่ใกล้ชิดมากขึ้นกับตัวแทนเดินทางของพระเจ้าผู้นี้.
17. เราเข้าใจอะไรดีมากขึ้นเมื่อรู้ระยะทางระหว่างเมืองมิเลโทสกับเมืองเอเฟโซส์?
17 ในการเดินทางรอบที่สาม (เส้นสีเขียวในแผนที่) เปาโลไปถึงเมืองท่ามิเลโทส. ท่านเชิญบรรดาผู้ปกครองในประชาคมเอเฟโซส์ที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 50 กิโลเมตรมาพบ. ลองนึกภาพผู้ปกครองเหล่านั้นว่าพวกเขาได้หยุดการงานอื่น ๆ เพื่อจะมาพบเปาโล. ขณะเดินมาด้วยกัน พวกเขาคงพูดคุยกันอย่างตื่นเต้นเกี่ยวกับการประชุมที่จะมีขึ้น. หลังการประชุมกับเปาโลและได้ฟังคำทูลอธิษฐานของท่าน “เขาทั้งหลายจึงร้องไห้มากมาย, และก้มหน้าลงที่คอของเปาโล, แล้วจุบท่าน.” จากนั้น “เขาก็ไปส่งเปาโลที่เรือ” เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเยรูซาเลม. (กิจการ 20:14-38) พวกเขาคงมีหลายสิ่งที่จะคิดและพูดคุยกันระหว่างเดินทางกลับไปเมืองเอเฟโซส์. คุณประทับใจมิใช่หรือในความหยั่งรู้ค่าที่พวกเขาแสดงออกด้วยการเดินเป็นระยะทางขนาดนั้นเพื่อมาพบผู้ดูแลเดินทางที่จะสอนและหนุนใจพวกเขาได้? คุณเห็นอะไรไหมในเรื่องนี้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตและการตัดสินใจของคุณได้?
เรียนรู้เกี่ยวกับแผ่นดินนั้นและสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า
18. เราสามารถตั้งเป้าจะทำอะไรเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล?
18 ตัวอย่างต่าง ๆ ที่กล่าวไปแสดงให้เห็นคุณค่าของการคุ้นเคยกับแผ่นดินที่พระเจ้าประทานแก่ชาวอิสราเอลและเป็นแผ่นดินที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องราวมากมายในคัมภีร์ไบเบิล. (และเมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับดินแดนโดยรอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลด้วย เราจะมีภาพกว้างขึ้นไปอีก.) ขณะที่เรามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับแผ่นดินตามคำสัญญา เราควรจดจำข้อเรียกร้องสำคัญสำหรับชาวอิสราเอลเพื่อจะได้เข้าและชื่นชมกับแผ่นดินที่อุดมด้วย “น้ำนมและน้ำผึ้ง.” นั่นคือต้องยำเกรงพระยะโฮวาและรักษาข้อบัญญัติของพระองค์.—พระบัญญัติ 6:1, 2; 27:3.
19. อุทยานสองแบบใดที่ควรได้รับความสนใจจากเราเสมอ?
19 ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องทำส่วนของเรา นั่นคือ ยำเกรงพระยะโฮวาและยึดมั่นกับแนวทางของพระองค์. โดยการทำเช่นนี้ เราจะมีส่วนช่วยปรับปรุงและตกแต่งความงามให้อุทยานฝ่ายวิญญาณที่มีอยู่ท่ามกลางประชาคมคริสเตียนทั่วโลกขณะนี้. เราจะมีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับลักษณะและพระพรต่าง ๆ ของอุทยานฝ่ายวิญญาณนั้น. และเรารู้ว่ายังมีพระพรอย่างอื่นอีก. ยะโฮซูอะนำชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าสู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และยังความอิ่มใจพอใจ. ปัจจุบัน เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะคอยท่าอุทยานจริง ๆ ซึ่งเป็นแผ่นดินอันดีที่รออยู่เบื้องหน้าเรานั้น ด้วยความมั่นใจ.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรปรารถนาจะเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินแดนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล?
• รายละเอียดใดทางภูมิศาสตร์ที่พิจารณาไปในบทความนี้ซึ่งทำให้คุณได้ความรู้เป็นพิเศษ?
• บทเรียนอะไรที่คุณได้รับการย้ำให้เห็นชัดเมื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภูมิประเทศที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บางอย่าง?
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
“ไปดูแผ่นดินอันดี”
ในการประชุมภาคปี 2003 พยานพระยะโฮวามีความยินดีเมื่อได้รับจุลสาร “ไปดูแผ่นดินอันดี.” จุลสารใหม่ซึ่งมีแล้วในราว 80 ภาษานี้ เต็มไปด้วยภาพสี ซึ่งแสดงแผนที่ดินแดนต่าง ๆ ของโลกที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินตามคำสัญญาในยุคสมัยต่าง ๆ.
บทความศึกษานี้อ้างถึงแผนที่ในหน้าต่าง ๆ โดยพิมพ์เลขหน้าเป็นตัวหนา เช่น [15]. หากคุณมีจุลสารใหม่นี้ ขอให้ใช้เวลาบ้างทำความคุ้นเคยกับลักษณะเฉพาะของจุลสารนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความรู้ความเข้าใจพระคำของพระเจ้าดียิ่งขึ้น.
(1) แผนที่ส่วนใหญ่มีคำอธิบายภาพหรือกรอบคำอธิบายสัญลักษณ์พิเศษหรือเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ใช้ในแผนที่นั้น [18]. (2) แผนที่แทบทุกอันมีมาตราส่วนบอกระยะเป็นไมล์กับกิโลเมตรเพื่อช่วยให้คุณทราบขนาดหรือระยะทาง [26]. (3) ตามปกติแล้วลูกศรชี้ไปทิศเหนือ ทำให้คุณรู้ทิศทาง [19]. (4) บ่อยครั้งมีการให้สีต่างกันบนแผนที่เพื่อบอกระดับสูงต่ำของภูมิประเทศอย่างคร่าว ๆ [12]. (5) บริเวณกรอบแผนที่อาจมีตัวอักษรและตัวเลขเพื่อให้คุณสามารถสร้างจุดตัดขึ้นในใจซึ่งช่วยให้ระบุตำแหน่งที่ตั้งเมืองหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้ [23]. (6) ในดัชนีชื่อสถานที่ทั้งสองหน้า [34-35] คุณจะเห็นเลขหน้าพิมพ์ด้วยตัวหนา ซึ่งส่วนใหญ่จะตามด้วยพิกัดตำแหน่ง เช่น E2. หลังจากใช้ลักษณะเฉพาะของจุลสารที่กล่าวไปนี้ไม่กี่ครั้ง คุณอาจทึ่งที่พบว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยคุณได้มากทีเดียวในการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลให้ลึกซึ้งขึ้น..
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 16, 17]
แผนภูมิของภูมิภาคต่าง ๆ
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
A. ชายฝั่งทะเลใหญ่
B. ที่ราบทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
1. ที่ราบอาเชอร์
2. แถบชายฝั่งโดร์
3. ทุ่งหญ้าชาโรน
4. ที่ราบฟิลิสเตีย
5. หุบเขาตามแนวตะวันออก-ตะวันตกในภาคกลาง
a. ที่ราบเมกิดโด
b. ที่ราบต่ำยิศเรเอล
C. ภูเขาทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
1. เขาในแกลิลี
2. เขาคาร์เมล
3. เขาในซะมาเรีย
4. เชเฟลาห์ (เขาเตี้ย)
5. เขตที่เป็นเขาในยูดาห์
6. ถิ่นทุรกันดารในยูดาห์
7. เนเกบ
8. ถิ่นทุรกันดารพาราน
D. อาระบาห์ (หุบเขาทรุด)
1. แอ่งแผ่นดินฮูลา
2. บริเวณรอบ ๆ ทะเลแกลิลี
3. หุบเขาจอร์แดน
4. ทะเลเค็ม (ทะเลเดดซี)
5. อาระบาห์ (ทางใต้ของทะเลเค็ม)
E. เขตภูเขา/ที่ราบทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
1. บาชาน
2. กิเลียด
3. อัมโมนและโมอาบ
4. ที่ราบบนภูเขาเอโดม
F. ภูเขาในเลบานอน
[แผนที่]
ภ. เฮอร์โมน
โมเรห์
เอเบล-เมโฮลาห์
ซุคโคท
โยกเบฮาห์
เบทเอล
กิลกาล
กิบโอน
เยรูซาเลม
เฮบโรน
กาซา
เบเออร์-เชบา
โซโดม?
คาเดช
[แผนที่/ภาพหน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
คะนาอัน
เมกิดโด
กิเลียด
โดทาน
เชเคม
เบทเอล (ลุซ)
อาย
เยรูซาเลม (ซาเลม)
เบทเลเฮม (เอฟราท)
มัมเร
เฮบโรน (มัคเพลาห์)
เกราร์
เบเออร์-เชบา
โซโดม?
เนเกบ
เรโฮโบท?
[ภูเขา]
โมรียาห์
[แหล่งน้ำ]
ทะเลเค็ม
[แม่น้ำ]
จอร์แดน
[รูปภาพ]
อับราฮามเดินทางไปตลอดทั่วแผ่นดินนั้น
[แผนที่หน้า 18]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
โตรอัส
ซาโมเทรซ
เนอาโปลิส
ฟิลิปปี
อัมฟิโปลิส
เบโรยะ
เอเธนส์
โครินท์
เอเฟโซส์
เทสซาโลนิเก
มิเลโทส
โรดส์