จงให้พระยะโฮวานำคุณไปถึงเสรีภาพแท้
“[จง] พินิจพิจารณากฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ.”—ยโก. 1:25
คุณอธิบายได้ไหม?
กฎหมายอะไรที่นำไปสู่เสรีภาพแท้ และใครได้รับประโยชน์จากกฎหมายนั้น?
มีเคล็ดลับอะไรที่จะทำให้ได้รับเสรีภาพแท้?
ทุกคนที่รักษาตัวอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิตจะได้รับเสรีภาพแบบใด?
1, 2. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเสรีภาพของผู้คนในโลก และเพราะเหตุใด? (ข) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความหวังที่จะได้รับเสรีภาพเช่นไร?
เราอยู่ในสมัยที่ความโลภ การละเลยกฎหมาย และความรุนแรงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ. (2 ติโม. 3:1-5) ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลทั้งหลายจึงออกกฎหมายเพิ่มขึ้น เสริมกำลังตำรวจ และติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสอดส่องดูแล. ในบางประเทศ ผู้คนพยายามเพิ่มความปลอดภัยโดยการติดตั้งระบบเตือนภัยในบ้านส่วนตัว ใส่กุญแจเพิ่มให้แน่นหนา และแม้แต่ติดตั้งรั้วไฟฟ้า. หลายคนไม่ออกไปไหนตอนกลางคืนหรือไม่ปล่อยให้เด็กเล่นนอกบ้านโดยไม่มีใครดูแล ไม่ว่าจะตอนกลางวันหรือกลางคืน. เห็นได้ชัดว่า เสรีภาพกำลังหดหาย และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ.
2 ย้อนไปในสวนเอเดน ซาตานอ้างว่าสิ่งที่ทำให้คนเรามีเสรีภาพอย่างแท้จริงก็คือการไม่ขึ้นกับพระยะโฮวา. ช่างเป็นการโกหกที่ส่อเจตนาร้ายและชั่วร้ายจริง ๆ! จริงทีเดียว ยิ่งคนเราไม่นับถือขอบเขตด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงวางไว้ สังคมโดยรวมก็ยิ่งได้รับผลเสียหาย. สภาพที่แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างนี้ยังส่งผลต่อเราที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาด้วย. อย่างไรก็ตาม เรามีความหวังที่จะหลุดพ้นจากการเป็นทาสของบาปและความเสื่อมทรามและมีความหวังที่จะชื่นชมกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.” (โรม 8:21) ที่จริง พระยะโฮวาทรงเตรียมผู้รับใช้ของพระองค์ไว้แล้วเพื่อจะได้รับเสรีภาพนั้น. โดยวิธีใด?
3. พระยะโฮวาได้ประทานกฎหมายอะไรแก่เหล่าสาวกของพระคริสต์ และเราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 เพื่อเตรียมผู้รับใช้ของพระองค์ให้พร้อมสำหรับเสรีภาพนั้นในวันข้างหน้า พระยะโฮวาประทานสิ่งที่ยาโกโบเรียกว่า “กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ.” (อ่านยาโกโบ 1:25) คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลอื่น ๆ แปลวลีนี้ว่า “กฎหมายที่ทำให้เราเป็นอิสระ” (เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) และ “บทบัญญัติอันสมบูรณ์ซึ่งให้เสรีภาพ” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ). แน่นอน เมื่อพูดถึงกฎหมายตามปกติแล้วเราไม่นึกถึงเสรีภาพ แต่นึกถึงข้อจำกัดต่าง ๆ. ถ้าอย่างนั้น “กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ” คืออะไร? และกฎหมายนี้ทำให้เราเป็นอิสระอย่างไร?
กฎหมายที่ทำให้เป็นอิสระ
4. “กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ” คืออะไร และใครได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้?
4 “กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ” นี้ไม่ใช่พระบัญญัติของโมเซ เพราะประมวลกฎหมายของโมเซทำให้การล่วงละเมิดปรากฏชัดและพระคริสต์ทรงทำให้พระบัญญัตินี้สำเร็จ. (มัด. 5:17; กลา. 3:19) ถ้าอย่างนั้น ยาโกโบกำลังกล่าวถึงกฎหมายอะไร? ท่านคิดถึง “บัญญัติของพระคริสต์” ซึ่งถูกเรียกด้วยว่า “กฎของความเชื่อ” และ “กฎหมายของเสรีชน.” (กลา. 6:2; โรม 3:27; ยโก. 2:12) ด้วยเหตุนั้น “กฎหมายอันสมบูรณ์” นี้จึงครอบคลุมทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายจากเรา. ทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้.—โย. 10:16
5. เหตุใดกฎหมายแห่งเสรีภาพจึงไม่เป็นภาระหนัก?
5 ไม่เหมือนกับประมวลกฎหมายของหลายประเทศ “กฎหมายอันสมบูรณ์” นี้ไม่ซับซ้อนและไม่เป็นภาระหนัก แต่ประกอบด้วยพระบัญญัติง่าย ๆ และหลักการพื้นฐาน. (1 โย. 5:3) พระเยซูตรัสว่า “แอกของเราพอเหมาะและภาระของเราก็เบา.” (มัด. 11:29, 30) นอกจากนั้น “กฎหมายอันสมบูรณ์” นี้ไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษยาวเหยียดเพราะอาศัยความรักเป็นพื้นฐานและจารึกบนจิตใจและหัวใจ ไม่ใช่บนแผ่นหิน.—อ่านฮีบรู 8:6, 10
“กฎหมายอันสมบูรณ์” ทำให้เราเป็นอิสระอย่างไร?
6, 7. เราอาจกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับมาตรฐานของพระยะโฮวา และกฎหมายแห่งเสรีภาพทำให้เราทำอะไรได้?
6 พระยะโฮวาทรงวางขอบเขตไว้สำหรับสิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญาเพื่อประโยชน์ของพวกเขาและเพื่อปกป้องพวกเขา. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงกฎทางกายภาพต่าง ๆ ที่ควบคุมพลังงานและสสาร. ไม่มีใครบ่นว่าถูกกฎเหล่านี้บีบบังคับ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คนเราเห็นคุณค่ากฎเหล่านั้นเพราะตระหนักว่ากฎธรรมชาติเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา. ในทำนองเดียวกัน มาตรฐานด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาซึ่งเห็นได้จาก “กฎหมายอันสมบูรณ์” ของพระคริสต์ก็มีไว้เพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์.
7 นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องแล้ว กฎหมายแห่งเสรีภาพยังทำให้เราสามารถสนองความปรารถนาที่เหมาะสมของเราได้โดยไม่ทำให้ตัวเราเองได้รับความเสียหายหรือรุกล้ำสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น. ดังนั้น เรามีอิสระที่จะทำสิ่งที่เราปรารถนาได้ก็ต่อเมื่อเรามีความปรารถนาที่ถูกต้องเท่านั้น. นี่หมายความว่าเราควรปรารถนาจะทำสิ่งที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยและสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหมายให้เราทำ. เราต้องเรียนรู้ที่จะรักสิ่งที่พระยะโฮวาทรงรักและเกลียดสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด. กฎหมายแห่งเสรีภาพช่วยเราให้ทำอย่างนั้น.—อาโมศ 5:15
8, 9. คนที่ยึดมั่นกับกฎหมายแห่งเสรีภาพได้รับประโยชน์เช่นไร? จงยกตัวอย่าง.
8 ในสภาพที่เราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราพยายามเหนี่ยวรั้งความปรารถนาที่ผิด. อย่างไรก็ตาม เมื่อเรายึดมั่นกับกฎหมายแห่งเสรีภาพอย่างภักดี เราสามารถมีเสรีภาพในระดับหนึ่งแม้แต่ในขณะนี้. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของเจย์ซึ่งติดบุหรี่. เมื่อเขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเขาได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยนิสัยนี้. เขาต้องตัดสินใจว่าจะทำตามความปรารถนาของกายที่มีบาปต่อไปหรือจะเชื่อฟังพระยะโฮวา. เขาเลือกอย่างฉลาดที่จะรับใช้พระเจ้า แม้ว่าต้องทนทรมานจากอาการขาดนิโคติน. เขารู้สึกอย่างไรหลังจากเลิกนิสัยนี้ได้? เขากล่าวในเวลาต่อมาว่า “ผมรู้สึกเป็นอิสระอย่างน่าอัศจรรย์ใจและยินดีอย่างเหลือล้น.”
9 เจย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าเสรีภาพของโลกนี้ซึ่งทำให้ผู้คน ‘สนใจแต่ความปรารถนาทางกาย’ นั้นจริง ๆ แล้วทำให้คนเราเป็นทาส ในขณะที่เสรีภาพของพระยะโฮวาซึ่งหมายถึง “การใฝ่ใจกับพระวิญญาณ” ทำให้เป็นอิสระและนำไปสู่ “ชีวิตและสันติสุข.” (โรม 8:5, 6) เจย์ได้รับกำลังเข้มแข็งให้เอาชนะนิสัยที่ทำให้เขาตกเป็นทาสจากที่ไหน? ไม่ใช่จากตัวเขาเอง แต่จากพระเจ้า. เขากล่าวว่า “ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ อธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ และตอบรับความช่วยเหลือด้วยความรักจากประชาคมคริสเตียน.” การจัดเตรียมเหล่านี้สามารถช่วยเราทุกคนในการแสวงหาเสรีภาพแท้. ขอให้เรามาพิจารณาว่าเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร.
พินิจพิจารณาพระคำของพระเจ้า
10. การ “พินิจพิจารณา” กฎหมายของพระเจ้าหมายถึงอะไร?
10 ยาโกโบ 1:25 อ่านว่า “ผู้ที่พินิจพิจารณา กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและยึดมั่น กับกฎหมายนั้น เขาจะมีความสุขที่ทำ เช่นนั้น.” คำในภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “พินิจพิจารณา” หมายถึง “ก้มลงตรวจดู” ซึ่งแฝงนัยถึงความพยายามด้วยใจจดจ่อ. ใช่แล้ว ถ้าเราต้องการให้กฎหมายแห่งเสรีภาพส่งผลต่อจิตใจและหัวใจของเรา เราต้องทำส่วนของเราโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างขยันขันแข็งและใคร่ครวญสิ่งที่เราอ่านอย่างจริงจัง.—1 ติโม. 4:15
11, 12. (ก) พระเยซูทรงเน้นให้เห็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ความจริงเป็นทางชีวิตอย่างไร? (ข) ดังที่เห็นในตัวอย่างนี้ มีอันตรายอะไรที่คนหนุ่มสาวต้องระวังเป็นพิเศษ?
11 ในขณะเดียวกัน เราต้อง “ยึดมั่น” ในการใช้พระคำของพระเจ้า และโดยวิธีนั้นจึงทำให้ความจริงเป็นแนวทางชีวิตของเรา. พระเยซูทรงแสดงแง่คิดคล้าย ๆ กันนี้เมื่อพระองค์ตรัสกับคนที่เชื่อพระองค์ว่า “ถ้าพวกเจ้ายึดมั่น กับคำสอนของเรา พวกเจ้าก็เป็นสาวกของเราอย่างแท้จริง และพวกเจ้าจะรู้ ความจริง แล้วความจริงจะทำให้พวกเจ้าเป็นอิสระ.” (โย. 8:31, 32) หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า คำ “รู้” ในที่นี้ยังหมายถึงการเห็นคุณค่า เพราะ “สิ่งที่เรา ‘รู้’ มีค่าหรือมีความสำคัญต่อคนที่รู้.” ด้วยเหตุนั้น เรา “รู้” ความจริงอย่างเต็มที่ตามความหมายของคำนี้เมื่อเราทำให้ความจริงเป็นทางชีวิตของเรา. เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า ‘พระคำของพระเจ้าดำเนินงาน’ อยู่ในตัวเรา หล่อหลอมบุคลิกภาพของเราจนทำให้เราเลียนแบบพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ได้ดียิ่งขึ้น.—1 เทส. 2:13
12 ขอให้ถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันรู้ ความจริงอย่างแท้จริงไหม? ฉันได้ทำให้ความจริงเป็นทางชีวิตของฉันไหม หรือว่าฉันยังคงโหยหา “เสรีภาพ” บางอย่างที่โลกเสนอให้?’ เมื่อมองย้อนไปตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งพ่อแม่เป็นคริสเตียนเขียนว่า “เมื่อคนเราเติบโตขึ้นมาในความจริง ก็เหมือนกับว่าพระยะโฮวาทรงอยู่ที่นั่นเสมอ. แต่ในกรณีของดิฉัน ดิฉันไม่เคยรู้จักพระองค์จริง ๆ. ดิฉันไม่เคยเรียนรู้ที่จะเกลียดสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด. ดิฉันไม่เคยเชื่อว่าพระองค์ทรงสนใจสิ่งที่ดิฉันทำ. และดิฉันไม่เคยเรียนรู้ที่จะเข้าหาพระองค์เมื่อมีปัญหายุ่งยาก. ดิฉันพึ่งความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่าเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะเพราะดิฉันไม่รู้อะไรเลย.” น่ายินดีที่ในภายหลังพี่น้องหญิงคนนี้ตระหนักว่าเธอคิดผิดไปมาก และเธอได้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองขนานใหญ่. เธอถึงกับเริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำด้วย.
พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้คุณเป็นอิสระได้
13. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยเราเป็นอิสระอย่างไร?
13 เราอ่านที่ 2 โครินท์ 3:17 ว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่ที่ไหน ก็มีเสรีภาพที่นั่น.” พระวิญญาณบริสุทธิ์ส่งเสริมให้เรามีเสรีภาพอย่างไร? นอกเหนือจากสิ่งอื่น ๆ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้เรามีคุณลักษณะที่จำเป็นเพื่อจะมีเสรีภาพ กล่าวคือ “ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดกลั้นไว้นาน ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนโยน การควบคุมตนเอง.” (กลา. 5:22, 23) ถ้าไม่มีคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก ก็จะไม่มีสังคมใดที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดในโลกทุกวันนี้. น่าสนใจ หลังจากที่อัครสาวกเปาโลแจกแจงผลของพระวิญญาณแล้ว ท่านกล่าวเพิ่มว่า “สิ่งเหล่านี้ไม่มีพระบัญญัติห้ามเลย.” ท่านหมายถึงอะไร? ผลพระวิญญาณของพระเจ้าไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกฎหมายใด ๆ ที่ทำให้ผลของพระวิญญาณไม่เติบโตในชีวิตเรา. (กลา. 5:18) ที่จริง มีประโยชน์อะไรที่จะมีกฎหมายเช่นนั้น? พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราพัฒนาคุณลักษณะแบบพระคริสต์ตลอดไปและแสดงคุณลักษณะเหล่านั้นอย่างเต็มที่.
14. น้ำใจของโลกทำให้คนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของมันกลายเป็นทาสอย่างไร?
14 คนเหล่านั้นที่หลงใหลอยู่กับน้ำใจของโลกและคนที่หมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาของกายที่มีบาปอาจคิดว่าพวกเขาเป็นอิสระ. (อ่าน 2 เปโตร 2:18, 19) แต่ความจริงนั้นตรงกันข้ามเลยทีเดียว. รัฐบาลต่าง ๆ จำเป็นต้องออกกฎหมายมากมายเพื่อควบคุมความปรารถนาและการกระทำต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียหาย. เปาโลกล่าวว่า “กฎหมายไม่ได้ถูกตราขึ้นไว้สำหรับคนชอบธรรม แต่สำหรับคนละเมิดกฎหมาย คนเหลือขอ.” (1 ติโม. 1:9, 10) พวกเขายังเป็นทาสของบาปด้วย. พวกเขาถูกกระตุ้นให้ทำ “สิ่งที่กาย . . . ต้องการ” และกายนั้นเป็นนายที่โหดร้าย. (เอเฟ. 2:1-3) ในแง่หนึ่ง คนเช่นนั้นเป็นเหมือนแมลงที่ไต่ลงไปในชามน้ำผึ้ง. เพราะอยากกินน้ำผึ้ง ในที่สุดแมลงพวกนี้จึงติดอยู่ในนั้น.—ยโก. 1:14, 15
เป็นอิสระในประชาคมคริสเตียน
15, 16. การคบหาสมาคมกับประชาคมสำคัญเพียงไร และเรารู้สึกเป็นอิสระอย่างไร?
15 เมื่อคุณเริ่มสมทบกับประชาคมคริสเตียน คุณไม่ได้ร่วมกับชมรมหรือสโมสร. คุณเข้ามาในประชาคมคริสเตียนเพราะพระยะโฮวาทรงชักนำคุณ. (โย. 6:44) อะไรกระตุ้นพระองค์ให้ทำอย่างนั้น? พระองค์ทรงเห็นคุณเป็นคนชอบธรรมและเกรงกลัวพระเจ้าไหม? คุณอาจพูดว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นเลย!” ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าทรงเห็นอะไร? พระองค์ทรงเห็นว่าคุณมีหัวใจที่จะตอบรับกฎหมายของพระองค์ที่ทำให้มีเสรีภาพ และเป็นหัวใจที่จะอ่อนน้อมต่ออำนาจและอิทธิพลที่กรุณาของพระองค์. ในประชาคม พระยะโฮวาทรงบำรุงเลี้ยงหัวใจของคุณด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณ ทำให้คุณเป็นอิสระจากคำสอนของศาสนาเท็จและการถือโชคลาง และทรงสอนคุณให้พัฒนาบุคลิกภาพแบบพระคริสต์. (อ่านเอเฟโซส์ 4:22-24) ผลก็คือ คุณมีสิทธิพิเศษได้อยู่ท่ามกลางประชาชนกลุ่มเดียวในโลกที่อาจเรียกได้อย่างถูกต้องว่าเป็น “เสรีชน.”—ยโก. 2:12
16 ขอให้พิจารณาอย่างนี้: เมื่อคุณอยู่ด้วยกันกับคนที่รักพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ คุณรู้สึกกลัวไหม? คุณต้องคอยชำเลืองหลังด้วยความระแวงไหม? ขณะพูดคุยกันที่หอประชุมราชอาณาจักร คุณจับกระเป๋าของคุณไว้แน่นเพราะกลัวหายไหม? ตรงกันข้าม! คุณรู้สึกผ่อนคลายและเป็นอิสระ. คุณจะรู้สึกอย่างนั้นไหมเมื่อไปร่วมในงานอื่น ๆ ที่คนทั่วไปจัด? คงไม่เป็นอย่างนั้น! ยิ่งกว่านั้น เสรีภาพที่มีอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าเป็นเพียงภาพตัวอย่างของเสรีภาพที่จะมีมาในวันข้างหน้า.
“เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า”
17. เสรีภาพของมนุษยชาติเกี่ยวข้องกับ “การปรากฏแห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า” อย่างไร?
17 เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับเสรีภาพที่พระยะโฮวาจะประทานแก่ประชาชนของพระองค์บนแผ่นดินโลก เปาโลเขียนว่า “สิ่งทรงสร้างซึ่งคาดหวังอย่างแรงกล้ากำลังคอยท่าการปรากฏแห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.” แล้วท่านก็กล่าวอีกว่า “สิ่งทรงสร้างจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสความเสื่อมและจะมีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.” (โรม 8:19-21) “สิ่งทรงสร้าง” หมายถึงมนุษยชาติที่มีความหวังจะมีชีวิตบนแผ่นดินโลก และเป็นคนที่จะได้รับประโยชน์จาก “การปรากฏ” แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้าซึ่งได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ. การปรากฏดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “บุตร” เหล่านี้ ซึ่งถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ ร่วมกับพระคริสต์ในการชำระแผ่นดินโลกให้สะอาดจากความชั่วและพิทักษ์รักษา “ชนฝูงใหญ่” ให้เข้าสู่ระบบใหม่.—วิ. 7:9, 14
18. มนุษยชาติที่เชื่อฟังจะได้รับเสรีภาพเพิ่มขึ้นอย่างไร และในที่สุดพวกเขาจะมีเสรีภาพแบบใด?
18 เมื่อถึงตอนนั้น มนุษยชาติที่ได้รับการไถ่ถอนจะมีเสรีภาพที่พิเศษสุด. พวกเขาจะเป็นอิสระพ้นจากอิทธิพลของซาตานและพวกปิศาจ. (วิ. 20:1-3) นั่นจะทำให้เราโล่งใจสักเพียงไร! หลังจากนั้น ชน 144,000 คนซึ่งเป็นกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระคริสต์จะปลดปล่อยมนุษยชาติต่อไปด้วยการใช้ผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบาปที่เกิดจากอาดามและความไม่สมบูรณ์ถูกขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง. (วิ. 5:9, 10) คนที่พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์แม้ถูกทดสอบจะได้รับเสรีภาพที่สมบูรณ์แบบซึ่งพระยะโฮวาทรงประสงค์จะประทานแก่พวกเขา คือ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.” คิดดูสิ! จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปที่คุณจะทำสิ่งที่ถูกในสายพระเนตรของพระเจ้า เพราะอวัยวะทุกส่วนของร่างกายคุณจะสมบูรณ์และบุคลิกภาพของคุณก็จะถูกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบุคลิกภาพของพระเจ้าอย่างครบถ้วน.
19. ทุกวันนี้เราต้องทำอะไรต่อ ๆ ไปเพื่อรักษาตัวอยู่ในเส้นทางสู่เสรีภาพแท้?
19 คุณปรารถนาจะมี “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า” ไหม? ถ้าเช่นนั้น จงให้ “กฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ” โน้มนำความคิดจิตใจและหัวใจของคุณอยู่เสมอ. ใช่แล้ว จงขยันศึกษาพระคัมภีร์. จงทำให้ความจริงเป็นทางชีวิตของคุณ. จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์. จงรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาคมคริสเตียนและอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาทรงจัดให้. อย่าปล่อยให้ซาตานหลอกคุณอย่างที่มันหลอกฮาวาให้คิดว่าทางของพระเจ้าเข้มงวดเกินไป. แม้ว่าพญามารฉลาดมาก แต่เราจะชนะมันได้เพราะ “เรารู้อุบายของมัน” ดังที่เราจะพิจารณาในบทความถัดไป.—2 โค. 2:11
[ภาพหน้า 9]
ฉันยังคงโหยหา “เสรีภาพ” บางอย่างที่โลกนี้เสนอให้ไหม?
[ภาพหน้า 9]
ฉันได้ทำให้ความจริงเป็นทางชีวิตของฉันไหม?