หมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อการปลอบโยน
“ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีทัศนคติอย่างเดียวกันในท่ามกลางพวกท่านเหมือนพระเยซูคริสต์ทรงมี.”—โรม 15:5, ล.ม.
1. เหตุใดขณะที่แต่ละวันผ่านไปจำเป็นต้องมีการปลอบโยนมากขึ้น?
แต่ละวันที่ผ่านไปนำมาซึ่งความจำเป็นต้องมีการปลอบโยนมากขึ้น. ดังที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลผู้หนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 1,900 กว่าปีมาแล้วที่ว่า “บรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญและเป็นทุกข์ลำบากเจ็บปวดด้วยกันจนทุกวันนี้.” (โรม 8:22) ในสมัยของเรา ‘การคร่ำครวญ’ และ ‘ความเจ็บปวด’ หนักกว่าที่เคยเป็นมา. นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มนุษยชาติทนทุกข์ด้วยวิกฤตการณ์อย่างแล้วอย่างเล่าในรูปสงคราม, อาชญากรรม, และพิบัติภัยทางธรรมชาติซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการดูแลจัดการแผ่นดินโลกนี้อย่างผิด ๆ.—วิวรณ์ 11:18.
2. (ก) ใครที่สมควรถูกตำหนิมากที่สุดสำหรับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติในปัจจุบัน? (ข) ข้อเท็จจริงอะไรที่เป็นพื้นฐานสำหรับการปลอบโยน?
2 เหตุใดจึงมีความทุกข์ยากเดือดร้อนมายมายในสมัยของเรานี้? ด้วยการพรรณนาถึงการเหวี่ยงซาตานลงมาจากสวรรค์หลังจากที่ราชอาณาจักรถือกำเนิดขึ้นในปี 1914 คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบดังนี้: “วิบัติแก่แผ่นดินโลกและทะเล เพราะพญามารได้ลงมาถึงพวกเจ้าแล้ว มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยรู้ว่ามันมีระยะเวลาอันสั้น.” (วิวรณ์ 12:12, ล.ม.) หลักฐานที่ชัดเจนในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ย่อมหมายความว่า เราใกล้จะถึงอวสานแห่งการปกครองที่ชั่วร้ายของซาตานแล้ว. ช่างเป็นการปลอบโยนจริง ๆ ที่รู้ว่า ในไม่ช้าชีวิตบนแผ่นดินโลกจะกลับไปสู่สภาพสงบสุขที่เคยมีอยู่ก่อนซาตานชักนำบิดามารดาแรกของเราให้กบฏ!
3. เมื่อไรที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน?
3 ในตอนเริ่มแรก พระผู้สร้างมนุษย์ทรงจัดให้มีสวนอันงดงามเป็นบ้านสำหรับมนุษย์คู่แรก. สวนนี้ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าเอเดน ซึ่งมีความหมายว่า “ความยินดี” หรือ “ความเพลิดเพลิน.” (เยเนซิศ 2:8, ล.ม. เชิงอรรถ) ยิ่งกว่านั้น อาดามและฮาวามีสุขภาพที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยความคาดหวังที่จะไม่ตายเลย. ขอคิดดูถึงหลาย ๆ ขอบเขตซึ่งเขาสามารถจะพัฒนาความสามารถด้านต่าง ๆ ของตน—การทำสวน, ศิลปะ, การก่อสร้าง, ดนตรี. ลองคิดดูด้วยถึงบรรดาผลงานแห่งการทรงสร้างทั้งสิ้นที่เขาทั้งสองอาจได้ศึกษาขณะที่ทำหน้าที่มอบหมายให้ปราบแผ่นดินโลกและทำให้เป็นอุทยาน. (เยเนซิศ 1:28) ที่จริง ชีวิตความเป็นอยู่ของอาดามและฮาวาคงจะไม่ใช่เป็นแบบที่เต็มด้วยการคร่ำครวญและความเจ็บปวด แต่เปี่ยมด้วยความเพลิดเพลินและความยินดี. เห็นได้ชัดว่า พวกเขาคงจะไม่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน.
4, 5. (ก) เหตุใดอาดามและฮาวาไม่ผ่านการทดสอบการเชื่อฟัง? (ข) โดยวิธีใดมนุษยชาติได้มาอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน?
4 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาดามและฮาวาจำเป็นต้องมีคือ การปลูกฝังความรักและความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อพระบิดาทางภาคสวรรค์ที่เปี่ยมด้วยพระกรุณาของพวกเขา. ความรักเช่นนั้นจะกระตุ้นพวกเขาให้เชื่อฟังพระเจ้าไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร. (เทียบกับโยฮัน 14:31.) น่าเศร้า บิดามารดาแรกเดิมของเราทั้งคู่ไม่ได้เชื่อฟังพระยะโฮวา องค์บรมมหิศรผู้ทรงสิทธิ์ของพวกเขา. แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขากลับยอมให้ตัวเองอยู่ใต้การปกครองอันชั่วร้ายของทูตสวรรค์องค์หนึ่งที่เสื่อมทราม คือพญามารซาตาน. ซาตานนี้เองที่ได้ล่อใจฮาวาให้ทำบาปและกินผลไม้ต้องห้าม. ต่อจากนั้น อาดามก็ได้ทำบาปเมื่อเขากินผลจากต้นไม้นั้นเช่นกัน ต้นไม้ที่พระเจ้าทรงเตือนเอาไว้ชัดเจนว่า “ในวันซึ่งเจ้ากินจากต้นนั้นเจ้าจะตายเป็นแน่.”—เยเนซิศ 2:17, ล.ม.
5 ด้วยวิธีนี้ มนุษย์ที่ผิดบาปคู่นี้จึงเริ่มเข้าสู่ความตาย. เมื่อประกาศคำพิพากษาให้ถึงแก่ความตาย พระเจ้ายังได้ทรงแจ้งแก่อาดามอีกด้วยว่า “แผ่นดินจึงต้องถูกแช่งสาปเพราะตัวเจ้า; เจ้าจะต้องหากินที่แผ่นดินด้วยความลำบากจนสิ้นชีวิต; แผ่นดินจะงอกต้นไม้ที่มีหนามให้แก่เจ้า, และเจ้าจะกินผักที่ทุ่งนา.” (เยเนซิศ 3:17, 18) ด้วยเหตุนี้ อาดามและฮาวาสูญเสียความหวังในการทำให้แผ่นดินโลกที่ยังมิได้มีการเพาะปลูกให้กลายสภาพเป็นอุทยาน. เนื่องด้วยการถูกขับออกจากสวนเอเดน พวกเขาต้องตรากตรำทำงานหนักเพื่อจะได้อาหารจากแผ่นดินที่ถูกสาปด้วยความยากลำบาก. ลูกหลานของพวกเขา ซึ่งได้รับสภาพที่ผิดบาปนี้ที่ทำให้ตกเข้าสู่ความตาย จึงได้มาอยู่ในสภาพที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการปลอบโยน.—โรม 5:12.
คำสัญญาอันเป็นการปลอบโยนสำเร็จผลสมจริง
6. (ก) พระเจ้าทรงทำคำสัญญาที่ให้การปลอบโยนอะไรหลังจากมนุษยชาติตกเข้าสู่บาป? (ข) คำพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับการปลอบโยนที่ลาเม็คได้กล่าว?
6 เมื่อทรงพิพากษาผู้ยุยงส่งเสริมมนุษย์ให้กบฏ พระยะโฮวาทรงพิสูจน์พระองค์ว่าเป็น ‘พระเจ้าผู้ทรงให้การปลอบโยน.’ (โรม 15:5, ล.ม.) พระองค์ทรงทำเช่นนั้นโดยสัญญาว่าจะส่ง “พงศ์พันธุ์” ผู้ซึ่งในที่สุดจะช่วยลูกหลานของอาดามให้รอดจากผลอันเป็นความหายนะแห่งการกบฏขัดขืนของอาดาม. (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) ต่อมา พระเจ้ายังได้ทรงจัดให้มีความสว่างต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นการช่วยให้รอดนี้ล่วงหน้า. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงดลใจให้ลาเม็ค ลูกหลานห่าง ๆ คนหนึ่งของอาดามซึ่งสืบเชื้อสายทางเซธบุตรของเขา ให้พยากรณ์ถึงสิ่งที่บุตรของลาเม็คจะทำดังนี้: “บุตรคนนี้จะเป็นที่หนุนใจของเราในเวลาที่มือของเราทำการหนักและเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากแผ่นดินที่พระเจ้าได้ทรงสาปไว้นั้น.” (เยเนซิศ 5:29) สอดคล้องกับคำสัญญานี้ เด็กคนนั้นได้ชื่อว่าโนฮา ซึ่งเข้าใจกันว่าชื่อนี้มีความหมายว่า “การพักผ่อน” หรือ “การปลอบใจ.”
7, 8. (ก) สภาพการณ์อะไรที่ทำให้พระยะโฮวารู้สึกเสียพระทัยที่ได้สร้างมนุษย์ และพระองค์ทรงประสงค์จะทำอะไร? (ข) โนฮาดำเนินชีวิตสมกับความหมายของชื่อท่านอย่างไร?
7 ขณะเดียวกัน ซาตานก็กำลังได้ผู้เจริญรอยตามจากท่ามกลางเหล่าทูตสวรรค์. ทูตสวรรค์เหล่านี้แปลงกายเป็นมนุษย์และสมรสอยู่กินกับบุตรสาวแสนสวยที่เป็นลูกหลานของอาดาม. การร่วมประเวณีธรรมชาติเช่นนี้ยิ่งทำให้สังคมมนุษย์เสื่อมทรามลงไปและก่อกำเนิดพวกเนฟิลิมที่ไม่นับถือพระเจ้า “นักโค่น” ซึ่งทำให้โลกเต็มไปด้วยความรุนแรง. (เยเนซิศ 6:1, 2, 4, 11; ยูดา 6) “เหตุฉะนั้น พระยะโฮวาทรงเห็นว่า ความชั่วของมนุษย์มีมากมายในแผ่นดินโลก . . . และพระยะโฮวาทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ได้สร้างมนุษย์ไว้บนแผ่นดิน และพระองค์ทรงรู้สึกปวดร้าวพระทัย.”—เยเนซิศ 6:5, 6, ล.ม.
8 พระยะโฮวาทรงประสงค์จะทำลายโลกชั่วนั้นด้วยน้ำท่วมโลก แต่ก่อนจะทำดังนั้นพระองค์ได้ให้โนฮาสร้างนาวาขึ้นเพื่อพิทักษ์ชีวิตให้รอด. ด้วยวิธีนั้น เชื้อสายของมนุษย์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้รับการช่วยให้รอด. โนฮาและครอบครัวของเขาคงจะรู้สึกโล่งใจสักเพียงไรหลังน้ำท่วมผ่านไปขณะที่พวกเขาก้าวออกจากนาวาสู่โลกที่ได้รับการชำระให้สะอาด! ช่างเป็นการปลอบโยนเสียนี่กระไรที่พบว่า มีการยกเลิกคำสาปและการทำการเกษตรนั้นง่ายขึ้นมาก! จริงทีเดียว คำพยากรณ์ของลาเม็คปรากฏว่าเป็นจริง และโนฮาดำเนินชีวิตสมกับความหมายแห่งชื่อของท่าน. (เยเนซิศ 8:21) ฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า โนฮาเป็นเครื่องมือในการนำการ “ปลอบโยน” มาสู่มนุษยชาติถึงระดับหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม อิทธิพลชั่วของซาตานและทูตสวรรค์ที่กลายเป็นผีปิศาจพรรคพวกของมันมิได้หมดสิ้นไปพร้อมกับน้ำท่วม และมนุษยชาติยังคงคร่ำครวญอยู่ต่อไปภายใต้ภาระหนักแห่งบาป, ความป่วยไข้, และความตาย.
ผู้ซึ่งใหญ่กว่าโนฮา
9. พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้เห็นเช่นไรว่าเป็นผู้ช่วยและผู้ปลอบโยนมนุษย์ที่กลับใจ?
9 ในที่สุด ณ ช่วงท้าย ๆ ของระยะเวลาประมาณ 4,000 ปีแห่งประวัติศาสตร์มนุษย์ พงศ์พันธุ์แห่งคำทรงสัญญาก็ได้มาปรากฏ. โดยที่ถูกกระตุ้นจากความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมนุษยชาติ พระยะโฮวาพระเจ้าทรงส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ลงมายังโลกเพื่อวายพระชนม์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติผู้ผิดบาป. (โยฮัน 3:16) พระเยซูคริสต์ทรงนำการบรรเทาทุกข์อย่างมากมาสู่คนบาปที่กลับใจผู้ได้แสดงความเชื่อในความตายของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่. ทุกคนผู้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและมาเป็นสาวกที่รับบัพติสมาของพระบุตรต่างก็ได้ประสบความสดชื่นและการปลอบโยนที่ยั่งยืนนาน. (มัดธาย 11:28-30; 16:24) แม้ว่าไม่สมบูรณ์ พวกเขาพบความยินดีอย่างลึกซึ้งในการรับใช้พระเจ้าด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. ช่างเป็นการปลอบโยนสำหรับพวกเขาเสียจริง ๆ ที่รู้ว่า หากพวกเขาแสดงความเชื่อในพระเยซูอยู่ต่อ ๆ ไป พวกเขาจะได้รับบำเหน็จคือชีวิตนิรันดร์! (โยฮัน 3:36; เฮ็บราย 5:9) หากพวกเขาได้ทำผิดร้ายแรงเนื่องด้วยความอ่อนแอ พวกเขามีผู้ช่วย หรือผู้ปลอบโยน ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้รับการปลุกให้ฟื้นคืนพระชนม์. (1 โยฮัน 2:1, 2) ด้วยการสารภาพบาปและทำตามขั้นตอนตามหลักพระคัมภีร์เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นผู้ทำบาปเป็นอาจิณ พวกเขาได้รับการบรรเทา โดยรู้อยู่ว่า ‘พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อและชอบธรรมจะทรงให้อภัยบาปของพวกเขา.’—1 โยฮัน 1:9; 3:6; สุภาษิต 28:13.
10. เราเรียนอะไรจากการอัศจรรย์ที่พระเยซูกระทำเมื่อพระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก?
10 ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูได้นำความสดชื่นมาให้ด้วยการช่วยคนที่ถูกผีสิงให้เป็นอิสระ, รักษาความป่วยไข้ทุกชนิด, และปลุกคนผู้เป็นที่รักที่ตายไปให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง. จริงอยู่ การอัศจรรย์เช่นนั้นเป็นประโยชน์แต่เพียงชั่วคราว เนื่องจากคนที่ได้รับพระพรเช่นนั้นต่อมาก็แก่ลงและตายไป. อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีนี้พระเยซูทรงชี้ไปยังพระพรถาวรในอนาคตที่พระองค์จะเทลงเหนือมนุษยชาติทั้งสิ้น. ฐานะเป็นกษัตริย์ทางภาคสวรรค์องค์ทรงฤทธิ์อยู่ในขณะนี้ อีกไม่ช้าพระองค์จะทรงทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ไม่ใช่แค่ขับผี. พระองค์จะขังพวกมันไว้ในเหวลึกพร้อมกับซาตานผู้นำของพวกมัน ให้อยู่ในสภาพไร้ซึ่งกิจกรรมใด ๆ. จากนั้นการครอบครองอันรุ่งเรืองแห่งรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ก็จะเริ่มต้น.—ลูกา 8:30, 31; วิวรณ์ 20:1, 2, 6.
11. เหตุใดพระเยซูทรงเรียกตัวเองว่าเป็น “เจ้าแห่งวันซะบาโต”?
11 พระเยซูตรัสว่า พระองค์ทรงเป็น “เจ้าแห่งวันซะบาโต” และมีอยู่หลายครั้งที่พระองค์รักษาคนเจ็บในวันซะบาโต. (มัดธาย 12:8-13; ลูกา 13:14-17; โยฮัน 5:15, 16; 9:14) ทำไมพระองค์ทรงทำการรักษาในวันซะบาโต? ซะบาโตเป็นส่วนหนึ่งของพระบัญญัติของพระเจ้าที่ให้แก่ชาวยิศราเอล และดังนั้นทำหน้าที่เป็น “เงาของสิ่งดีที่จะมาภายหน้า.” (เฮ็บราย 10:1) หกวันที่เป็นวันทำงานในแต่ละสัปดาห์เตือนเราให้ระลึกถึงช่วง 6,000 ปีที่ผ่านไปแห่งการเป็นทาสต่อการปกครองที่กดขี่ของซาตาน. วันซะบาโตในตอนปลายสัปดาห์ทำให้ระลึกถึงการพักผ่อนที่ให้การปลอบโยนซึ่งมนุษยชาติจะได้ประสบระหว่างรัชสมัยพันปีแห่งโนฮาผู้ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์นั่นเอง.—เทียบกับ 2 เปโตร 3:8.
12. เราสามารถคอยท่าประสบการณ์อะไรที่เป็นการปลอบโยน?
12 ช่างจะเป็นความรู้สึกปลอดโปร่งอะไรเช่นนั้นสำหรับไพร่ฟ้าประชากรที่อยู่ทางโลกนี้แห่งการปกครองของพระคริสต์ เมื่อในที่สุดพวกเขาพบว่าตนเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากอิทธิพลชั่วของซาตาน! และจะยิ่งเป็นการปลอบโยนมากขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขาได้รับการเยียวยาให้หายจากความเจ็บป่วยทางกาย, ทางอารมณ์, และทางจิตใจ. (ยะซายา 65:17) และขอให้ลองคิดถึงความปีติยินดีขณะที่พวกเขาเริ่มต้อนรับผู้ซึ่งเป็นที่รักกลับสู่ชีวิต! ด้วยแนวทางเหล่านี้พระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา.” (วิวรณ์ 21:4) ขณะที่คุณค่าแห่งเครื่องบูชาค่าไถ่ของพระเยซูถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประชากรที่เชื่อฟังแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าจะก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์ จนกระทั่งถึงขั้นเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากผลที่ไม่ดีทุกอย่างแห่งบาปของอาดาม. (วิวรณ์ 22:1-5) จากนั้น ซาตานจะถูกปล่อยออกมา “ชั่วขณะหนึ่ง.” (วิวรณ์ 20:3, 7) บรรดามนุษย์ที่เชิดชูพระบรมเดชานุภาพอันถูกต้องของพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ก็จะได้รับบำเหน็จคือชีวิตนิรันดร์. ขอให้นึกภาพความยินดีและความโล่งใจจนเกินจะบรรยายได้จากการได้รับ “การปลดปล่อยจากการเป็นทาสความเสื่อมเสีย” อย่างสิ้นเชิง! ด้วยเหตุนั้น มนุษยชาติที่เชื่อฟังจะ “มีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 8:21, ล.ม.
13. เหตุใดคริสเตียนแท้ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยนที่พระเจ้าทรงจัดไว้ให้?
13 ในระหว่างนี้ เรายังคงต้องทนทุกข์และเจ็บปวดซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนผู้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบชั่วของซาตาน. การเพิ่มขึ้นของความป่วยไข้และความแปรปรวนทางอารมณ์มีผลกระทบคนทุกประเภท รวมทั้งคริสเตียนที่ซื่อสัตย์. (ฟิลิปปอย 2:25-27; 1 เธซะโลนิเก 5:14) นอกจากนี้ ฐานะเป็นคริสเตียนเรามักจะต้องทนการเยาะเย้ยและการกดขี่ข่มเหงที่ไม่ยุติธรรมซึ่งซาตานทับถมลงบนเราเนื่องจากเรา “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 5:29, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราจะอดทนในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าจนถึงอวสานแห่งโลกของซาตาน เราจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน, การช่วยเหลือ, และความเข้มแข็งที่พระองค์ทรงจัดไว้ให้.
ที่ซึ่งจะพบการปลอบโยน
14. (ก) พระเยซูทรงให้คำสัญญาอะไรในคืนก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์? (ข) อะไรที่นับว่าจำเป็นหากเราต้องการจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการปลอบโยนที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า?
14 ในคืนก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูแสดงให้อัครสาวกที่ซื่อสัตย์เห็นชัดว่า ไม่ช้าพระองค์จะจากพวกเขาไปและจะกลับไปหาพระบิดาของพระองค์. เรื่องนี้รบกวนใจและทำให้พวกเขาเป็นทุกข์มาก. (โยฮัน 13:33, 36; 14:27-31) โดยตระหนักถึงความจำเป็นที่พวกเขาต้องได้รับการปลอบโยนอย่างต่อเนื่อง พระเยซูทรงสัญญาดังนี้: “เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์ก็จะประทานผู้ปลอบโยนอีกผู้หนึ่งให้แก่เจ้าทั้งหลาย เพื่อจะอยู่กับพวกเจ้าตลอดไป.” (โยฮัน 14:16, ล.ม. เชิงอรรถ) ณ ที่นี้พระเยซูกล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งเทลงเหนือพวกสาวกของพระองค์ 50 วันหลังจากที่พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์.a นอกจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว พระวิญญาณของพระเจ้ายังได้ปลอบโยนพวกเขาในยามที่ถูกทดลองและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นเพื่อกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าต่อไป. (กิจการ 4:31) อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเช่นนั้นไม่ควรถูกมองว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติ. เพื่อได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คริสเตียนแต่ละคนต้องอธิษฐานต่อ ๆ ไปขอความช่วยเหลือสำหรับการปลอบโยนที่พระเจ้าทรงจัดไว้ให้ทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.—ลูกา 11:13.
15. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้เราได้รับการปลอบโยนในทางใดบ้าง?
15 อีกวิธีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมการปลอบโยนให้คือ โดยทางคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์. เปาโลเขียนดังนี้: “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่าโดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.” (โรม 15:4, ล.ม.) นี่ทำให้เห็นความจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาและไตร่ตรองเป็นประจำในเรื่องต่าง ๆ ที่เขียนในคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่ใช้พระคัมภีร์เป็นหลัก. เราจำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำด้วย ที่ซึ่งเราจะร่วมแบ่งปันข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ให้การปลอบโยนจากพระคำของพระเจ้า. วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการชุมนุมกันเช่นนั้นคือ เพื่อหนุนใจกันและกัน.—เฮ็บราย 10:25.
16. การจัดเตรียมต่าง ๆ ที่ให้การปลอบโยนของพระเจ้าควรจะก่อแรงบันดาลใจเช่นไรต่อเรา?
16 จดหมายของเปาโลถึงชาวโรมันยังได้กล่าวต่อไปแสดงให้เห็นผลดีต่าง ๆ ที่เราได้รับจากการใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าที่ให้การปลอบโยน. เปาโลเขียนดังต่อไปนี้: “ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีทัศนคติอย่างเดียวกันในท่ามกลางพวกท่านเหมือนพระเยซูคริสต์ทรงมี เพื่อว่า ท่านทั้งหลายจะปรองดองกันพูดเป็นเสียงเดียวกันสรรเสริญพระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 15:5, 6, ล.ม.) ใช่แล้ว โดยการรับเอาประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระเจ้าที่ให้การปลอบโยน เราจะเลียนแบบพระเยซูคริสต์ผู้นำที่กล้าหาญของเราได้ดียิ่งขึ้น. นี่จะก่อแรงบันดาลใจให้เราใช้ปากของเราต่อไปในการสรรเสริญพระเจ้าของเราในงานให้คำพยาน, ณ หอประชุม, ในการสนทนากันเป็นส่วนตัวกับเพื่อนร่วมความเชื่อ, และในคำอธิษฐานของเรา.
ในยามผจญการทดลองอย่างหนัก
17. พระยะโฮวาทรงปลอบโยนพระบุตรของพระองค์อย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
17 พระเยซูทรง “โศกเศร้าโทมนัสในพระทัยยิ่งนัก” และ “เป็นทุกข์เพียงจะตาย” ในคืนก่อนการวายพระชนม์อันแสนจะเจ็บปวด. (มัดธาย 26:37, 38) ดังนั้น พระองค์ทรงปลีกตัวออกไปสักหน่อยหนึ่งจากพวกสาวก และอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระบิดาของพระองค์. “พระองค์ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัยเนื่องด้วยพระองค์เกรงกลัวพระเจ้า.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่ [พระเยซู] ช่วยชูกำลังของพระองค์.” (ลูกา 22:43) แนวทางที่กล้าหาญและเป็นแบบลูกผู้ชายในการที่พระเยซูทรงเผชิญหน้าอย่างไม่ลดละกับพวกผู้ต่อต้านพระองค์เป็นหลักฐานว่า วิธีที่พระเจ้าทรงปลอบโยนพระบุตรของพระองค์นั้นก่อผลดีเยี่ยม.—โยฮัน 18:3-8, 33-38.
18. (ก) ช่วงใดในชีวิตของอัครสาวกเปาโลที่ประสบกับการทดลองเป็นพิเศษ? (ข) เราจะสามารถเป็นที่ปลอบโยนแก่ผู้ปกครองผู้ทำงานหนักและเปี่ยมด้วยความรักได้โดยวิธีใด?
18 อัครสาวกเปาโลก็เช่นกัน ผ่านช่วงแห่งการทดลองอย่างสาหัส. ตัวอย่างเช่น งานรับใช้ของท่านในเมืองเอเฟโซปรากฏเด่นชัดด้วย “น้ำตาไหลและการทดลองซึ่งเกิดแก่ [ท่าน] เพราะแผนร้ายของพวกยิว.” (กิจการ 20:17-20, ล.ม.) ในที่สุด เปาโลจากเมืองเอเฟโซไปหลังจากที่พวกผู้สนับสนุนพระอะระเตมีได้ก่อความไม่สงบขึ้นในเมืองเพื่อต่อต้านงานการประกาศของท่าน. (กิจการ 19:23-29; 20:1) ขณะที่เปาโลมุ่งขึ้นเหนือไปยังโตรอา มีบางสิ่งที่ทำให้ท่านหนักใจมาก. ช่วงหนึ่งก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในเอเฟโซ ท่านได้รับรายงานที่รบกวนใจ. ประชาคมในเมืองโกรินโธซึ่งเพิ่งเริ่มมาได้ไม่นาน ถูกปัญหารบกวนโดยเกิดการแตกแยกกัน และมีการยอมให้กับการผิดประเวณี. ดังนั้น จากเมืองเอเฟโซเปาโลเขียนจดหมายว่ากล่าวอย่างแรงไปถึงที่นั่น โดยหวังว่าจะช่วยแก้ไขสภาพการณ์ให้ถูกต้อง. ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ท่านจะทำเช่นนั้น. ต่อมา ท่านได้เปิดเผยในจดหมายฉบับที่สองบอกว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือฝากมาถึงท่านทั้งหลายนั้น, ข้าพเจ้าได้มีความทุกข์ร้อนใจเป็นอันมากและน้ำตาไหล.” (2 โกรินโธ 2:4) เช่นเดียวกับเปาโล บรรดาผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยความรักพบว่า ไม่ง่ายเลยที่จะให้คำแนะนำแก้ไขและการว่ากล่าว ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากพวกเขาตระหนักดีถึงความอ่อนแอของตนเอง. (ฆะลาเตีย 6:1) ดังนั้น ขอให้เราเป็นที่ปลอบโยนแก่คนเหล่านั้นที่นำหน้าในหมู่พวกเรา โดยพร้อมจะตอบรับคำแนะนำอันเต็มด้วยความรักตามหลักคัมภีร์ไบเบิล.—เฮ็บราย 13:17.
19. เหตุใดเปาโลจึงเดินทางจากโตรอาต่อไปยังมากะโดเนีย และผลที่สุดท่านได้รับการช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นโดยวิธีใด?
19 ระหว่างที่อยู่ในเมืองเอเฟโซ เปาโลไม่เพียงแค่เขียนไปถึงพี่น้องในเมืองโกรินโธ แต่ท่านยังได้ส่งติโตให้ไปช่วยพวกเขาด้วย โดยมอบหมายเขาให้รายงานปฏิกิริยาตอบรับของพวกพี่น้องต่อจดหมายที่ส่งไปนั้น. เปาโลหวังว่าจะไปดักรอพบติโตที่เมืองโตรอา. ที่นั่น เปาโลได้รับพระพรโดยที่ได้มีโอกาสดีหลายครั้งในการทำให้คนเป็นสาวก. แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ท่านคลายความกังวลลงไป เพราะติโตยังไม่ได้มาถึง. (2 โกรินโธ 2:12, 13) ดังนั้น ท่านเดินทางต่อไปที่มากะโดเนีย โดยหวังว่าจะพบติโตที่นั่น. สภาพกระวนกระวายของเปาโลยิ่งแย่เข้าไปอีกเนื่องด้วยมีการต่อต้านงานรับใช้ของท่านอย่างหนัก. ท่านอธิบายว่า “เมื่อเรามาถึงมณฑลมากะโดเนียแล้ว, ฝ่ายเนื้อหนังของเราก็ไม่มีการพักผ่อนเลย, แต่เรามีความลำบากอยู่รอบข้าง ภายนอกก็มีการต่อสู้, ทั้งภายในก็มีความกลัว. แต่ถึงกระนั้นก็ดี, พระเจ้าผู้ทรงหนุนน้ำใจคนทั้งหลายที่ท้อใจ, ได้ทรงหนุนน้ำใจของเราโดยที่ได้ทรงให้ติโตมา.” (2 โกรินโธ 7:5, 6) เปาโลคงจะรู้สึกโล่งใจสักเพียงไรเมื่อในที่สุดติโตก็มาถึงเพื่อบอกท่านเกี่ยวกับการตอบรับในทางบวกของพี่น้องชาวโกรินโธที่มีต่อจดหมายของท่าน!
20. (ก) ดังในกรณีของเปาโล อะไรที่นับว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่สำคัญซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดให้มีการปลอบโยน? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
20 ประสบการณ์ของเปาโลเป็นที่ปลอบโยนผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ ซึ่งหลายคนต้องพบกับการทดลองที่ทำให้พวกเขา “ท้อใจ” หรือ “หดหู่” เช่นเดียวกัน. ถูกแล้ว “พระเจ้าผู้ทรงหนุนน้ำใจ” ทรงทราบความจำเป็นในด้านต่าง ๆ ของเราแต่ละคน และสามารถใช้พวกเราให้ปลอบโยนกันและกัน ดังที่เปาโลได้รับการปลอบโยนจากข่าวที่ติโตรายงานให้ทราบเกี่ยวกับเจตคติที่กลับใจของพี่น้องชาวโกรินโธ. (2 โกรินโธ 7:11-13) ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาการตอบกลับไปอย่างอบอุ่นของเปาโลที่มีไปถึงชาวโกรินโธ และวิธีที่เรื่องนี้สามารถช่วยเราให้เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการปลอบโยนของพระเจ้าในปัจจุบันนี้.
[เชิงอรรถ]
a ปฏิบัติการสำคัญอย่างหนึ่งของพระวิญญาณของพระเจ้าต่อคริสเตียนในศตวรรษแรกคือ การเจิมพวกเขาให้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและเป็นน้องของพระเยซู. (2 โกรินโธ 1:21, 22) นี่จำกัดไว้เฉพาะสาวกที่เป็นชน 144,000 คนของพระคริสต์เท่านั้น. (วิวรณ์ 14:1, 3) ทุกวันนี้ คริสเตียนจำนวนมากได้รับพระกรุณาโปรดประทานความหวังชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. แม้ว่าไม่ได้รับการเจิม พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือและการปลอบโยนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเช่นกัน.
คุณตอบได้ไหม?
▫ โดยวิธีใดมนุษยชาติได้มาอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน?
▫ พระเยซูทรงปรากฏว่ายิ่งใหญ่กว่าโนฮาอย่างไร?
▫ ทำไมพระเยซูเรียกตัวเองว่า “เจ้าแห่งวันซะบาโต”?
▫ พระเจ้าทรงจัดให้มีการปลอบโยนอย่างไรในทุกวันนี้?
[แผนที่/รูปภาพหน้า 10]
เปาโลประสบการปลอบโยนอย่างมากเนื่องด้วยรายงานเกี่ยวกับชาวโกรินโธที่ติโตนำมาให้
มาระโดเนีย
ฟิลิปปอย
กรีซ
โกรินโธ
อาเซีย
โตรอา
เอเฟโซ