ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
เหตุที่การตัดสัมพันธ์เป็นการจัดเตรียมอันแสดงถึงความรัก
บัพพาชนียกรรม—เป็นแนวความคิดที่เร้าให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กันท่ามกลางศาสนิกชนจำนวนมาก.a คนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าศาสนาจำเป็นต้องมีวินัย. แต่หลายคนมองบัพพาชนียกรรมว่าเป็นธรรมเนียมตกทอดมาแต่อดีต เป็นวินัยที่เข้มงวด ซึ่งทำให้พวกเขานึกถึงสมัยที่มีศาลศาสนาและการปราบแม่มด.
ที่เพิ่มเข้ากับปัญหาก็คืออิทธิพลของโลกซึ่งส่งผลกระทบไปทั่ว. ดังนั้น นิกายส่วนใหญ่ในคริสต์ศาสนจักรจึงรับเอาทัศนะที่ยอมผ่อนปรนมากขึ้นในเรื่องบาป. ฉะนั้น ไม่แปลกที่นักบวชคนหนึ่งในคริสตจักรนิกายเอพิสโคพัลกล่าวว่า “บัพพาชนียกรรมเป็นส่วนหนึ่งในจารีตประเพณีของพวกเรา แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่ามีการนำมาใช้ในศตวรรษนี้.”
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจเมื่อรู้ว่าท่ามกลางพยานพระยะโฮวายังคงมีการตัดสัมพันธ์ (เทียบเท่ากับบัพพาชนียกรรม) และถือเป็นเรื่องจริงจัง. จริงอยู่ การตัดสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ ทว่า เป็นการจัดเตรียมที่ประกอบด้วยความรัก. อย่างไรกัน?
การตัดสัมพันธ์เทิดทูนพระนามพระเจ้า
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าองค์บริสุทธิ์. พระองค์ไม่อดกลั้นกับผู้ที่เจตนาทำบาปซึ่งกล่าวอ้างว่าได้นมัสการพระองค์. อัครสาวกเปโตรเขียนถึงบรรดาคริสเตียนดังนี้: “จงเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งสิ้นของท่าน เพราะมีคำเขียนไว้แล้วว่า ‘ท่านทั้งหลายต้องเป็นคนบริสุทธิ์เพราะเราเป็นผู้บริสุทธิ์.’” (1 เปโตร 1:15,16, ล.ม.) ฉะนั้น การตัดสัมพันธ์คนทำบาปซึ่งไม่กลับใจเช่นนั้น จึงเป็นการเทิดทูนพระนามอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า เป็นการแสดงความรักเพื่อพระนามนั้น.—เทียบกับเฮ็บราย 6:10.
ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าคริสเตียนยอมแพ้ความอ่อนแอหรือก้าวพลาดกระทำบาปร้ายแรง เขาจะถูกขับออกจากประชาคมโดยอัตโนมัติไหม? ไม่เป็นเช่นนั้น! พระยะโฮวาไม่ใช่จอมเผด็จการไร้ความปรานี. พระองค์ประกอบด้วยพระเมตตาคุณและความเข้าใจ. พระองค์ทรงระลึกว่าเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) พระยะโฮวาทรงทราบเป็นอย่างดีว่า “คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า.” (โรม 3:23, ล.ม.) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณภายในประชาคม เผื่อว่าถ้าคริสเตียนคนใด “ก้าวพลาดไป” หรือถึงกับกระทำบาปร้ายแรง เขาอาจได้รับการ ‘ปรับให้เข้าที่’ ด้วยน้ำใจอันอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความรัก. (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) โดยการยอมรับคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าและแสดงความรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริง และต้องการกลับใจจริง ๆ คนที่หลงผิดจากทางแห่งความชอบธรรมสามารถจะ “ได้รับการรักษาให้หาย” ทางฝ่ายวิญญาณ.—ยาโกโบ 5:13-16, ล.ม.
แต่จะว่าอย่างไรหากคริสเตียนซึ่งรับบัพติสมาแล้วกระทำผิดร้ายแรง และความเพียรพยายามทุกอย่างเพื่อช่วยเขาคืนสภาพปกตินั้นไม่เป็นผลสำเร็จ? หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าผู้ทำผิดยังดื้อรั้นไม่ยอมแก้ไขแนวทางชั่วของตนล่ะ?
การตัดสัมพันธ์ป้องกันประชาคม
คัมภีร์ไบเบิลกำชับคริสเตียนดังนี้: “ถ้าผู้ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องแล้ว, แต่ยังเป็นคนผิดประเวณี, เป็นคนโลภ, เป็นคนไหว้รูปเคารพ, เป็นคนปากร้าย, เป็นคนขี้เมา, หรือเป็นคนฉ้อโกง, อย่าคบให้สนิทกับคนอย่างนั้น แม้จะกินด้วยกันก็อย่าเลย.”—1 โกรินโธ 5:11.
กฎข้อนี้ในคัมภีร์ไบเบิลเข้มงวดและทำให้เสียศักดิ์ศรีไหม? ขอพิจารณาเรื่องนี้: เมื่ออาชญากรที่ไม่สำนึกผิดถูกส่งเข้าคุกเพราะการละเมิดกฎหมาย จะมองการลงโทษ ว่าเป็นไปอย่างเข้มงวดและไร้ความปรานีกระนั้นหรือ? หามิได้ เนื่องจากประชาชนมีสิทธิที่จะรักษาความสงบและความปลอดภัยในชุมชน. อันที่จริง อาชญากรผู้นั้นถูกตัดขาดจากสังคมที่รักษากฎหมาย ระหว่างที่เขาติดคุกนั่นเอง.
ทำนองเดียวกัน ประชาคมคริสเตียนก็มีเหตุผลจะขับไล่ผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจออกไปจากพวกเขา. ทำไม? เพราะประชาคมต้องเป็นสถานที่ที่ปลอดพวกประพฤติผิดศีลธรรม และพวกที่เจตนาประพฤติการชั่วอื่น ๆ.
โดยที่รู้ว่า “คนบาปคนเดียวย่อมบั่นรอนความดีเสียเป็นอันมาก” อัครสาวกเปาโลจึงสั่งบรรดาเพื่อนร่วมความเชื่อดังนี้: “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกเสียจากพวกท่าน.” (ท่านผู้ประกาศ 9:18; 1 โกรินโธ 5:13) การนี้ย่อมป้องกันผู้ทำผิดแพร่กระจายความเสื่อมเสียไปทั่วประชาคม และปกป้องชื่อเสียงอันดีของประชาคม.—เทียบกับ 1 ติโมเธียว 3:15.
การป้องกันปัจเจกบุคคล
อนึ่ง การตัดสัมพันธ์ย่อมป้องกันสมาชิกประชาคมเป็นรายบุคคล. ให้เรายกตัวอย่างเปรียบเทียบ: สร้างมโนภาพว่าเสียงแตรรถหรือสัญญาณกันขโมยปลุกเราตื่นจากหลับ. คงยากที่จะทำเฉยต่อเสียงแหลมแสบแก้วหูเช่นนั้น ที่จริง เสียงนั้นทำให้คุณตื่นตกใจ! เช่นเดียวกัน เมื่อคนใดคนหนึ่งถูกขับออกจากประชาคม การดำเนินการเช่นนี้คาดหวังว่าคงจับความสนใจของสมาชิกทุกคนในประชาคม. เรื่องเช่นนี้รบกวนความรู้สึกของพวกเขา ซึ่งไม่อาจมองข้ามได้. สิ่งนี้จะเป็นการป้องกันอย่างไร?
พยานฯ คนหนึ่งพูดว่า “เมื่อฉันได้ยินครั้งแรกที่หอประชุมว่ามีคนถูกตัดสัมพันธ์ ปฏิกิริยาแรกของฉันก็คือช็อค. ครั้นแล้วเรื่องนี้ทำให้ฉันเลิกทะนงตน. ทำให้ฉันรู้ว่าตัวเองก็เช่นกันอาจจะพลาดพลั้งได้.” ตามถ้อยคำที่เธอกล่าวออกมา การตัดสัมพันธ์อาจกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้ประเมินความประพฤติของตัวเอง.—1 โกรินโธ 10:12.
โดยถามตัวเอง เช่น ‘ในแง่ฝ่ายวิญญาณมีขอบข่ายใด ๆ ในชีวิตของฉันที่ง่ายต่อการถูกโจมตี?’ เราจะได้รับการช่วยเหลือให้สำรวจฐานะของตัวเองจำเพาะพระเจ้า. ด้วยวิธีนี้เราสามารถจะ “ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น” ต่อ ๆ ไป.—ฟิลิปปอย 2:12.
กลับมาหาพระเจ้า
คริสเตียนซึ่งเคยถูกตัดสัมพันธ์ชั่วระยะหนึ่งบอกว่า “จะยากเพียงไรก็ตาม การที่ฉันถูกตีสอนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นและจำต้องได้รับอย่างมาก และปรากฏว่า เป็นการช่วยชีวิตจริง ๆ.” คำกล่าวเช่นนี้บ่งบอกถึงความสำคัญอีกด้านหนึ่งของการตัดสัมพันธ์. การนี้อาจกระตุ้นผู้เคยทำผิดซึ่งแต่ก่อนไม่สำนึกถึงการกลับใจให้ดำเนินการขั้นแรกที่จะกลับมาหาพระเจ้า.
อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “พระยะโฮวารักผู้ใด พระองค์ทรงตีสอนผู้นั้น.” (เฮ็บราย 12:6, ล.ม.) และถึงแม้เป็นความจริงที่ว่า “ไม่มีการตีสอนใดดูเหมือนน่าชื่นใจเมื่อได้รับอยู่ แต่น่าเศร้าใจ; กระนั้นในภายหลังผู้ที่ได้รับการฝึกโดยการตีสอนก็ได้ผลที่ก่อให้เกิดสันติสุข คือความชอบธรรม.”—เฮ็บราย 12:11, ล.ม.
สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับริชาร์ด. ภายหลังถูกตัดสัมพันธ์ไปแล้วเกือบสองปี เขาได้กลับใจ, แก้ไขการประพฤติของตนที่หลู่พระเกียรติพระเจ้า, และถูกรับกลับสู่ประชาคมคริสเตียนอีก. เมื่อมองย้อนหลัง เขาพูดถึงประสบการณ์นั้นดังนี้: “ผมรู้ว่าจะต้องถูกตัดสัมพันธ์ และสมควรจะถูกตัดอย่างยิ่ง. ผมถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างแท้จริง และช่วยให้ผมมองเห็นว่าแนวทางของผมเลวร้ายเพียงไร และจำเป็นต้องแสวงการให้อภัยจากพระยะโฮวา.”
อาจไม่ง่ายที่จะอดทนต่อการตีสอน. ต้องมีความถ่อมใจที่จะรับการตีสอน แต่คนเหล่านั้นที่เรียนรู้จากการตีสอนได้รับผลตอบแทนมากมาย.
ดังนั้น การตัดสัมพันธ์เป็นวิธีการจัดเตรียมอันแสดงถึงความรัก เพราะวิธีการนี้เทิดทูนพระนามบริสุทธิ์ของพระเจ้า และป้องกันประชาคมไว้จากอิทธิพลอันเสื่อมทรามแห่งบาป. อนึ่ง การตัดสัมพันธ์เป็นการแสดงความรักต่อผู้ทำผิด โดยกระตุ้นเขาให้กลับใจ และ “หันกลับเพื่อบาปของ [เขา] จะถูกปลดเปลื้อง เพื่อฤดูแห่งความสดชื่นจะมาจากพระพักตร์ของพระยะโฮวา.”—กิจการ 3:19, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a บัพพาชนียกรรมเป็นการลงโทษทางวินัยซึ่งยังผลให้สมาชิกภาพถูกตัดขาดจากศาสนา.
[ที่มาของภาพหน้า 26]
The New Testament: A Pictorial Archive from Nineteenth-Century Sources, by Don Rice/Dover Publications, Inc.