ความสุขแท้อยู่ที่การรับใช้พระยะโฮวา
“ผู้ใดที่มีพระเจ้าของยาโคบเป็นผู้ช่วยก็เป็นสุข คือคนที่ไว้ใจในพระยะโฮวาพระเจ้าของตน.”—บทเพลงสรรเสริญ 146:5.
1, 2. มีการกล่าวอย่างไรถึงความหมายของความสุข และความสุขหมายถึงอะไรสำหรับผู้คนมากมายในทุกวันนี้?
ความสุขคืออะไร? นักเรียบเรียงพจนานุกรม, นักปรัชญา, และนักเทววิทยา เคยพยายามจะให้คำนิยามแก่คำนี้กันมาหลายร้อยปีแล้ว. แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้จัดให้มีคำนิยามอันเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์. สารานุกรม บริแทนนิกา ยอมรับว่า “‘ความสุข’ คือหนึ่งในคำที่นิยามยากที่สุดคำหนึ่ง.” ปรากฏชัดว่าความสุขหมายถึงสิ่งที่แตกต่างกันไปในผู้คนที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทัศนะที่เขามีต่อชีวิต.
2 สำหรับหลายคนแล้ว ความสุขเกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพดี, มีทรัพย์สิ่งของ, และมีมิตรภาพที่น่าพอใจ. กระนั้น มีผู้คนซึ่งมีสิ่งทั้งปวงนั้น แต่ก็ไม่มีความสุข. สำหรับชายและหญิงที่อุทิศตัวแด่พระเจ้ายะโฮวาแล้วนั้น คัมภีร์ไบเบิลจัดให้มีแนวความคิดเกี่ยวกับความสุขซึ่งค่อนข้างแตกต่างไปจากแง่คิดโดยทั่วไป.
แง่คิดหนึ่งที่ต่างออกไปในเรื่องความสุข
3, 4. (ก) ใครที่พระเยซูทรงแถลงว่าเขามีความสุข? (ข) อาจสังเกตเห็นอะไรได้เกี่ยวกับปัจจัยของความสุขที่พระเยซูทรงกล่าวถึง?
3 ในคำเทศน์ของพระองค์บนภูเขา พระเยซูคริสต์ไม่ได้ตรัสว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพที่ดี, การมีทรัพย์สิ่งของ, และสิ่งอื่นในทำนองนี้. พระองค์ทรงแถลงว่าคนเหล่านั้นมีความสุขแท้ซึ่ง “รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน” และคนเหล่านั้นที่ “หิวกระหายความชอบธรรม.” ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสองอย่างนี้ซึ่งจำเป็นสำหรับความสุขแท้ คือคำตรัสของพระเยซูที่ดูเหมือนขัดแย้งกันที่ว่า “บุคคลผู้ใดโศกเศร้าก็เป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับความบรรเทาทุกข์.” (มัดธาย 5:3-6) แน่นอน พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าผู้คนจะมีความสุขโดยอัตโนมัติเมื่อเขาสูญเสียผู้เป็นที่รักไป. แต่ทว่า พระองค์ตรัสถึงคนเหล่านั้นซึ่งคร่ำครวญในสถานะความบาปของตนและผลลัพธ์ของมัน.
4 อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงมนุษย์ที่คร่ำครวญอยู่ภายใต้ความบาปโดยอาศัยความหวังว่าตนจะได้รับการ “ปลดปล่อยจากการเป็นทาสความเสื่อมเสีย.” (โรม 8:21, 22, ล.ม.) มนุษยชาติซึ่งยอมรับการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในการให้อภัยบาปโดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ และผู้ซึ่งกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะได้รับการปลอบประโลมและทำให้มีความสุข. (โรม 4:6-8) ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูยังทรงแถลงถึงความสุขที่มีแก่ “ผู้มีใจอ่อนสุภาพ,” “ผู้มีใจเมตตา,” “ผู้มีใจบริสุทธิ์,” และ “ผู้สร้างสันติ (ล.ม.).” พระองค์ทรงให้คำรับรองว่าแม้จะถูกข่มเหง คนถ่อมใจเช่นนั้นก็จะไม่สูญเสียไปซึ่งความสุขของตน. (มัดธาย 5:5-11) น่าสนใจที่สังเกตเห็นว่าปัจจัยซึ่งกระตุ้นความสุขเหล่านี้จัดให้ทั้งคนมั่งมีและคนจนอยู่เสมอภาคกัน.
พื้นฐานสำหรับความสุขแท้
5. อะไรคือพื้นฐานแห่งความสุขของผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระยะโฮวา?
5 แหล่งแห่งความสุขแท้ไม่พบในความมั่งคั่งด้านวัตถุ. กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดรอบรู้ตรัสดังนี้: “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.” (สุภาษิต 10:22) สำหรับสิ่งมีชีวิตซึ่งยอมรับสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา ความสุขเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับพระพรของพระเจ้าจนไม่อาจแยกออกจากกันได้. บุคคลผู้อุทิศตัวแล้วซึ่งมี และรู้สึก ถึงพระพรของพระยะโฮวาที่มีเหนือเขาหรือเธอย่อมมีความสุขอย่างแท้จริง. เมื่อคิดคำนึงตามหลักพระคัมภีร์ ความสุขเกี่ยวข้องกับความรู้สึกอิ่มใจ, ความพอใจ, และความสำเร็จผลในงานรับใช้พระยะโฮวา.
6. อะไรคือข้อเรียกร้องสำหรับไพร่พลของพระยะโฮวาเพื่อเขาจะมีความสุขอย่างแท้จริง?
6 ความสุขแท้เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพอันถูกต้องกับพระยะโฮวา. ความสุขแท้อาศัยความรักที่มีต่อพระเจ้าและความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระเจ้าเห็นด้วยอย่างเต็มหัวใจกับถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “ในพวกเราไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองฝ่ายเดียว. . . . เราทั้งหลายมีชีวิตอยู่ก็มีเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า (พระยะโฮวา, ล.ม.) . . . เราเป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า (พระยะโฮวา, ล.ม.).” (โรม 14:7, 8) เพราะฉะนั้น ความสุขแท้ไม่อาจบรรลุถึงได้นอกจากจะเชื่อฟังพระยะโฮวาและยอมตัวอยู่ใต้พระทัยประสงค์ของพระองค์ด้วยความยินดี. พระเยซูตรัสว่า “คนทั้งหลายที่ได้ยินคำของพระเจ้า และได้ถือรักษาคำนั้นไว้ ก็เป็นสุข.”—ลูกา 11:28.
ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ของความสุข
7, 8. (ก) จะแยกประเภทปัจจัยของความสุขได้อย่างไร? (ข) อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับการสมรสและการกำเนิดบุตร?
7 ปัจจัยของความสุขดังกล่าวข้างต้นนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัย “พื้นฐาน” หรือ ปัจจัย “คงตัว” เพราะปัจจัยเหล่านั้นใช้ได้ผลตลอดเวลากับผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระยะโฮวา. นอกจากนี้ มีปัจจัยที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ซึ่งอาจยังผลด้วยความสุขในเวลาหนึ่ง แต่ในอีกเวลาหนึ่งอาจมีความสุขน้อยมากหรือไม่มีเลย. ในสมัยของบรรพบุรุษและสมัยก่อนคริสเตียน การสมรสและการกำเนิดบุตรถือกันว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการมีความสุข. สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในคำอ้อนวอนอันสะเทือนอารมณ์ของนางราเฮ็ลที่มีต่อยาโคบที่ว่า “ขอให้ฉันมีบุตรด้วย ถ้าหาไม่ฉันจะตาย.” (เยเนซิศ 30:1) ทัศนะต่อการกำเนิดบุตรนี้เหมาะกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับช่วงเวลานั้น.—เยเนซิศ 13:14-16; 22:17.
8 ท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวาในสมัยต้น ๆ มีการถือว่าการสมรสและการกำเนิดบุตรเป็นพระพรที่พระเจ้าทรงประทานให้. แต่ความโศกเศร้าก็มาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้และสภาพการณ์อื่น ๆ ในระหว่างช่วงแห่งภัยพิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา. (เทียบบทเพลงสรรเสริญ 127, 128 กับยิระมะยา 6:12; 11:22; บทเพลงร้องทุกข์ 2:19; 4:4, 5.) ฉะนั้น นั่นจึงเป็นพยานหลักฐานว่าการสมรสและการกำเนิดบุตรไม่ใช่ปัจจัยคงตัวของความสุข.
การมีความสุขโดยไม่สมรสในครั้งอดีต
9. เหตุใดบุตรสาวยิพธาจึงได้รับการชมเชยทุกปี?
9 ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนได้พบความสุขแท้โดยไม่ได้สมรส. เนื่องด้วยความนับถือต่อคำปฏิญาณของบิดา บุตรีของยิพธาจึงคงความเป็นโสดไว้. เป็นระยะเวลาหนึ่งเธอกับพวกเพื่อน ๆ พากันร้องไห้เนื่องด้วยการที่เธอต้องรักษาพรหมจารีไว้. แต่เธอคงมีความยินดีเพียงไรที่รับใช้เต็มเวลา ณ ราชสำนักของพระยะโฮวา คงจะเป็นในท่ามกลาง “เหล่าผู้หญิงที่ปรนนิบัติ ณ ประตูกระโจมประชุม”! (เอ็กโซโด 38:8) เนื่องด้วยการรับใช้นี้เธอจึงได้รับคำชมเชยทุกปี.—ผู้วินิจฉัย 11:37-40.
10. พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้ยิระมะยาทำอะไร และปรากฏว่าเขาดำเนินชีวิตอย่างขาดความสุขไหมเนื่องจากเหตุนั้น?
10 เนื่องด้วยสมัยอันน่าตื่นเต้นซึ่งยิระมะยามีชีวิตอยู่ พระเจ้าทรงเรียกให้ท่านงดเว้นจากการสมรสและการให้กำเนิดบุตร. (ยิระมะยา 16:1-4) แต่ยิระมะยาก็ได้ประสบกับความเป็นจริงแห่งพระคำของพระเจ้าที่ว่า “ความสุขมากหลายจะมีแก่คนนั้นผู้ได้วางใจในพระยะโฮวา และที่พระยะโฮวาได้เป็นที่วางใจของตัว.” (ยิระมะยา 17:7) ตลอดกว่า 40 ปีแห่งงานรับใช้พยากรณ์ ยิระมะยารับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ในฐานะคนโสด. เท่าที่เราทราบ ท่านไม่เคยสมรสและมีบุตร. กระนั้น ใครจะสงสัยได้ว่ายิระมะยามีความสุข เช่นเดียวกับชาวยิวที่เหลืออยู่ซึ่ง “ปลาบปลื้มเพราะความดีของพระเจ้า”?—ยิระมะยา 31:12, ฉบับแปลใหม่.
11. มีตัวอย่างอะไรบ้างในพระคัมภีร์เกี่ยวกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาซึ่งมีความสุขถึงแม้พวกเขาไม่มีคู่สมรส?
11 คนอื่น ๆ อีกมากได้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความยินดีโดยไม่ได้สมรส. พวกเขามีทั้งที่เป็นคนโสด, แม่ม่าย, หรือพ่อม่าย. ในพวกเหล่านี้ก็มี ผู้พยากรณ์หญิงอันนา, คงจะเป็นโดระกาหรือตะบีธาด้วย, อัครสาวกเปาโล และแบบอย่างอันใหญ่ยิ่ง—พระเยซูคริสต์.
เป็นโสดแต่มีความสุขในทุกวันนี้
12. ผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วซึ่งมีความสุขได้จัดให้มีที่ไว้สำหรับสิ่งใด และเพราะเหตุใด?
12 ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวามากมายรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์โดยไม่มีคู่สมรส. บางคนสามารถตอบรับคำเชิญของพระเยซูที่ว่า “ผู้ที่สามารถทำ [เป็นโสด] ได้ก็จงทำเถิด.” พวกเขาได้ทำเช่นนี้ “เพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.” (มัดธาย 19:11, 12, ล.ม.) นั่นคือ พวกเขาใช้เสรีภาพที่พระเจ้าทรงประทานแก่เขาให้เป็นประโยชน์โดยการอุทิศเวลาและพลังงานมากขึ้นเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. พวกเขาหลายคนรับใช้เป็นไพโอเนียร์, มิชชันนารี, หรือสมาชิกครอบครัวเบเธลที่สำนักงานกลางของสมาคมว็อชเทาเวอร์หรือที่สำนักงานสาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง.
13. ตัวอย่างอะไรที่แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนสามารถเป็นโสดและมีความสุขได้?
13 พี่น้องหญิงสูงอายุคนหนึ่งอันเป็นที่รักของพี่น้องคริสเตียนได้ให้ชีวประวัติของเธอมีชื่อเรื่องว่า “เป็นโสดและมีความสุขในฐานะไพโอเนียร์.” (เดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 1985 หน้า 23–26) พี่น้องหญิงโสดอีกคนหนึ่งซึ่งรับใช้ ณ เบเธลเป็นเวลากว่า 50 ปีบอกว่า “ดิฉันพอใจเต็มที่กับชีวิตและการงานของดิฉัน. ตอนนี้ดิฉันง่วนกับงานที่ดิฉันรักมากนั้นยิ่งกว่าแต่ก่อน. ดิฉันไม่มีอะไรจะเสียใจ. ดิฉันคงจะตัดสินใจอย่างเดียวกันนี้อีก.”—หอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 1982 หน้า 21.
14, 15. (ก) ตามที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ อะไรคือสิ่งจำเป็นเพื่อจะคงความเป็นโสด? (ข) เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่าบุคคลที่เป็นโสดนั้นทำ “ดีกว่า” และ “เป็นสุขกว่า”?
14 ขอสังเกตคำว่า “การตัดสินใจ.” เปาโลเขียนว่า “แต่ถ้าคนหนึ่งคนใดตั้งมั่นในหัวใจของเขา ไม่มีความจำเป็น แต่มีอำนาจเหนือความตั้งใจของตน และได้กระทำการตัดสินเช่นนั้นในหัวใจของตนเอง ให้รักษาพรหมจรรย์ของตน เขาจะทำดี. เหตุฉะนั้น ผู้ซึ่งให้พรหมจรรย์ของตนในการสมรสก็ทำดี แต่ผู้ซึ่งไม่ให้พรหมจรรย์ของตนในการสมรสจะทำดีกว่า.” (1 โกรินโธ 7:37, 38, ล.ม.) เพราะเหตุใดจึง “ดีกว่า”? เปาโลอธิบายว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะให้ท่านทั้งหลายพ้นจากความกระวนกระวาย. ฝ่ายคนที่ไม่มีภรรยาก็เอาใจใส่ในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะทำสิ่งซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า. . . . ฝ่ายหญิงที่ไม่มีสามีและสาวพรหมจารีนั้นก็เอาใจใส่ในการขององค์พระผู้เป็นเจ้า . . . ข้าพเจ้าได้ว่าอย่างนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ของท่านทั้งหลาย . . . เพื่อความดีความงามของท่าน ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย.”—1 โกรินโธ 7:32-35.
15 การ “ปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย” ด้วยคำนึงถึง ‘การได้รับความพอพระทัยจากองค์พระผู้เป็นเจ้า’ เกี่ยวพันกับความสุขไหม? ปรากฏชัดว่าเปาโลคิดเช่นนี้. เมื่อกล่าวถึงแม่ม่ายคริสเตียน ท่านบอกว่า “นางก็มีอิสระสมรสกับชายใดได้ตามใจนาง แต่ต้องสมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า. แต่ตามความคิดของข้าพเจ้าก็เห็นว่า ถ้านางจะอยู่อย่างนั้นก็เป็นสุขกว่า และข้าพเจ้าเห็นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ฝ่ายข้าพเจ้าด้วย.”—1 โกรินโธ 7:39, 40.
ข้อได้เปรียบของสถานภาพเป็นโสด
16. อะไรบ้างคือข้อได้เปรียบที่พยานพระยะโฮวาซึ่งเป็นโสดได้ชื่นชม?
16 ไม่ว่าคริสเตียนจะเป็นโสดเนื่องด้วยการตัดสินใจด้วยตนเองหรือเนื่องด้วยสภาพการณ์บังคับ สถานภาพเป็นโสดก็นำมาซึ่งข้อได้เปรียบเป็นส่วนตัวหลายประการ. โดยทั่วไปแล้ว คนโสดมีเวลามากกว่าในการศึกษาและไตร่ตรองพระคำของพระเจ้า. หากเขาใช้ข้อนี้ให้เป็นประโยชน์ สภาพฝ่ายวิญญาณของเขาก็ยิ่งจะแข็งแรง. การไม่มีคู่สมรสซึ่งจะร่วมรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยกันทำให้หลายคนเรียนรู้ถึงการหมายพึ่งพระยะโฮวามากขึ้นและแสวงหาการทรงนำจากพระองค์ในทุกเรื่อง. (บทเพลงสรรเสริญ 37:5) สิ่งนี้ช่วยให้มีสัมพันธภาพใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา.
17, 18. (ก) โอกาสอะไรบ้างสำหรับการขยายขอบเขตงานรับใช้ที่มีอยู่พร้อมสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่เป็นโสด? (ข) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่เป็นโสดบางคนได้พรรณนาถึงความสุขของเขาไว้อย่างไร?
17 คริสเตียนโสดมีโอกาสต่าง ๆ สำหรับการขยายขอบเขตงานรับใช้เพื่อการสรรเสริญพระยะโฮวา. การฝึกอบรมพิเศษ ณ โรงเรียนฝึกอบรมเพื่อการรับใช้ จำกัดเฉพาะพี่น้องชายโสดหรือเป็นม่าย. พี่น้องหญิงโสดก็เช่นกัน มีอิสระมากกว่าในการเอื้อมแขนออกไปเพื่อสิทธิพิเศษในงานรับใช้พระเจ้า. พี่น้องหญิงสูงอายุซึ่งมีกล่าวถึงก่อนหน้านี้ได้อาสาสมัครไปรับใช้ที่ประเทศหนึ่งในแอฟริกาในตอนที่ เธอเป็น “ผู้หญิงที่ค่อนข้างอ่อนแออายุกว่า 50 ปี” ดังที่เธอกล่าว. และเธออยู่ที่นั่น แม้ในระหว่างที่มีการสั่งห้าม เมื่อมิชชันนารีทุกคนถูกขับออกจากประเทศ. เธอก็ยังรับใช้อยู่ที่นั่นในฐานะไพโอเนียร์ แม้เดี๋ยวนี้เธอจะอายุกว่า 80 ปีแล้วก็ตาม. เธอมีความสุขไหม? เธอเขียนในชีวประวัติของเธอว่า “ดิฉันสามารถใช้เสรีภาพพิเศษและความคล่องตัวเนื่องด้วยความเป็นโสดนั้นเพื่อเอาใจใส่ในงานรับใช้ และการทำเช่นนี้ทำให้ดิฉันมีความสุขมาก. . . . ตลอดหลายปีนี้ สัมพันธภาพของดิฉันกับพระยะโฮวายิ่งแน่นแฟ้น. ด้วยฐานะสตรีโสดในประเทศหนึ่งในแอฟริกา ดิฉันได้มองพระองค์ในฐานะผู้อารักขา.”
18 ถ้อยคำของพี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งรับใช้อยู่ที่สำนักงานกลางของสมาคมว็อชเทาเวอร์มานานหลายสิบปีก็น่าสนใจเช่นกัน. เขามีความสุขถึงแม้เขาไม่เคยสมรสและแม้เขาจะมีความหวังทางภาคสวรรค์โดยไม่คาดหมายจะสมรส. ตอนที่อายุ 79 ปี เขาเขียนว่า “ผมทูลอธิษฐานทุกวันต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้ทรงเป็นที่รักของพวกเรา ขอความช่วยเหลือและสติปัญญาเพื่อจะรักษาสุขภาพและความแข็งแรงฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกายเพื่อผมจะสามารถกระทำตามพระทัยประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ต่อ ๆ ไปได้. ในระหว่างสี่สิบเก้าปีที่ผ่านไปนี้ในงานรับใช้พระยะโฮวา ผมชื่นชมยินดีจริง ๆ กับแนวชีวิตที่มีความสุข มีบำเหน็จและได้รับพระพร. และด้วยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา ผมเฝ้ารอคอยจะรับใช้เพื่อพระเกียรติและสง่าราศีของพระองค์และเพื่อพระพรแก่ไพร่พลของพระองค์. . . . ความยินดีของพระยะโฮวาช่วยผมให้ต่อสู้อย่างดีต่อไปเพื่อความเชื่อ คอยเวลาที่เหล่าศัตรูของพระยะโฮวาจะไม่มีอีกต่อไปและแผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะเต็มไปด้วยสง่าราศีของพระองค์.”—อาฤธโม 14:21; นะเฮมยา 8:10; เดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 1968 หน้า 699-702.
ความสุขแท้ขึ้นอยู่กับอะไร?
19. ความสุขของเราย่อมขึ้นอยู่กับอะไรเสมอ?
19 สัมพันธภาพอันมีค่าล้ำของเรากับพระยะโฮวา, การเป็นที่พอพระทัยพระองค์, และพระพรของพระองค์—สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยซึ่งจะนำความสุขแท้มาให้เราจนตลอดนิรันดร์กาล. ด้วยทัศนะอันถูกต้องในเรื่องสิ่งซึ่งก่อความสุขที่แท้จริง แม้แต่ผู้รับใช้ที่สมรสแล้วของพระยะโฮวาก็ตระหนักว่าการสมรสของพวกเขานั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา. พวกเขาเอาใจใส่คำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอบอกเช่นนี้ว่า เวลานั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้คนเหล่านั้นที่มีภรรยาได้เป็นเหมือนไม่มี.” (1 โกรินโธ 7:29) นี่ไม่ได้หมายความถึงการละเลยภรรยาของเขา. คริสเตียนอาวุโสให้งานรับใช้พระยะโฮวาอยู่อันดับแรก และภรรยาผู้เลื่อมใสพระเจ้า, ที่เปี่ยมด้วยความรัก, และสนับสนุนสามี ก็ทำเช่นนั้นด้วย ภรรยาบางคนกระทั่งยังรับใช้เต็มเวลาเป็นคู่เคียงสามีของเธอด้วยซ้ำ.—สุภาษิต 31:10-12, 28; มัดธาย 6:33.
20. ทัศนะที่ถูกต้องอะไรซึ่งคริสเตียนหลายคนมีต่อสิทธิพิเศษแห่งการสมรสของเขา?
20 พี่น้องชายที่สมรสแล้วซึ่งเป็นผู้ดูแลเดินทาง, ผู้อาสาสมัครทำงานที่เบเธล, ผู้ปกครองในประชาคม—อันที่จริง คริสเตียนที่สมรสแล้วทุกคนซึ่งให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่อันดับแรก—ต่างไม่ได้ ‘ใช้ของในโลกนี้อย่างเต็มที่’ พวกเขาทำงานเพื่อทำให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ของการสมรสที่เขามีนั้นประสานกับชีวิตที่เขาได้อุทิศให้กับงานรับใช้พระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 7:31) กระนั้น พวกเขาก็มีความสุข. เพราะเหตุใด? ก็เพราะสาเหตุสำคัญอันดับแรกแห่งความสุขของพวกเขานั้นไม่ใช่การสมรส แต่เป็นการรับใช้พระยะโฮวา. และคู่สามีภรรยาที่ซื่อสัตย์มากมาย—ใช่แล้ว รวมทั้งลูก ๆ ของพวกเขาด้วย—ต่างก็มีความสุขที่สิ่งต่าง ๆ เป็นเช่นนั้น.
21, 22. (ก) โดยอาศัยยิระมะยา 9:23, 24 สิ่งใดน่าจะทำให้เราเปี่ยมด้วยความสุข? (ข) ในสุภาษิต 3:13-18 มีการกล่าวถึงปัจจัยอะไรบ้างของความสุข?
21 ผู้พยากรณ์ยิระมะยาเขียนว่า “พระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ตรัสดังนี้ว่า อย่าให้ผู้มีปัญญาอวดในสติปัญญาของตน อย่าให้ชายฉกรรจ์อวดในความเข้มแข็งของตน อย่าให้คนมั่งมีอวดในความมั่งคั่งของตน แต่ให้ผู้อวดอวดในสิ่งนี้คือ ในการที่เขาเข้าใจและรู้จักเราว่าเราคือพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ทรงสำแดงความรักมั่นคง ความยุติธรรม และความชอบธรรมในโลก เพราะว่าเราพอใจในสิ่งเหล่านี้ พระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ตรัสดังนี้แหละ.”—ยิระมะยา 9:23, 24, ฉบับแปลใหม่.
22 ไม่ว่าเราจะเป็นคนโสดหรือสมรสแล้ว แหล่งแห่งความสุขของเราควรเป็นความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและความเชื่อมั่นว่าเราได้รับพระพรจากพระองค์เพราะเรากระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. นอกจากนั้น เรายังมีความสุขที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจว่า สิ่งที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยนั่นเองคือเครื่องวัดคุณค่าแท้ของสิ่งต่าง ๆ. กษัตริย์ซะโลโมซึ่งทรงสมรสหลายครั้งไม่ได้ถือว่าการสมรสคือปัจจัยสำคัญอย่างเดียวที่นำสู่ความสุข. ท่านกล่าวว่า “ความผาสุกมีแก่คนนั้นที่พบพระปัญญา และแก่คนนั้นที่รับความเข้าใจ. เพราะว่าการหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์. พระปัญญามีค่ายิ่งกว่าทับทิม และไม่มีสิ่งใด ๆ ซึ่งเจ้าพึงปรารถนาเอามาเทียบกับพระปัญญาได้. ในระยะพระหัตถ์เบื้องขวาของพระปัญญานั้นมีวันคืนอยู่ยืดยาว และในพระหัตถ์เบื้องซ้ายมีทรัพย์มั่งคั่งและเกียรติศักดิ์. วิถีของพระปัญญานั้นคือทางแห่งความโสมนัส และทางทั้งหลายของพระปัญญานั้นคือสันติสุข. พระปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่คนนั้น ๆ ที่ฉวยเอาพระ [ปัญญา] ไว้ได้ และทุกคนที่ยึดถือพระ [ปัญญา] ไว้นั้นก็จะมีความผาสุก.”—สุภาษิต 3:13-18.
23, 24. ทำไมเราจึงสามารถมั่นใจได้ว่าผู้รับใช้ทั้งหลายของพระยะโฮวาจะมีความสุขในระเบียบใหม่แห่งสิ่งต่าง ๆ?
23 ขอให้เราทั้งหลายซึ่งสมรสแล้วนั้นได้พบความยินดีนิรันดร์ในการกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. และขอให้พี่น้องชายหญิงที่รักของเราซึ่งเป็นโสดเนื่องด้วยการเลือกเอาหรือโดยสภาพการณ์บังคับจงเพียรอดทนการทดลองทุกอย่างและพบความสุขและความอิ่มใจพอใจในการรับใช้พระยะโฮวาในขณะนี้และตลอดไป. (ลูกา 18:29, 30; 2 เปโตร 3:11-13) ในระบบใหม่แห่งสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังจะมาของพระเจ้า “ม้วนหนังสือ” จะถูกคลี่ออก.” (วิวรณ์ 20:12) ม้วนหนังสือเหล่านี้จะมีบรรจุไว้ด้วยพระบัญชาและกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นซึ่งจะส่งเสริมให้มีความสุขแก่มนุษยชาติที่อ่อนน้อมยอมเชื่อฟัง.
24 แน่นอน เราสามารถรู้สึกมั่นใจได้ว่า “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” ของเราทรงมีสิ่งดีต่าง ๆ อันวิเศษไว้สำหรับเราซึ่งจะยังผลด้วยความสุขสมบูรณ์ของเรา. (1 ติโมเธียว 1:11) พระเจ้าจะทรงดำเนินการต่อไปเพื่อ ‘แบพระหัตถ์ของพระองค์ และประทานให้แก่สรรพชีวิตทั้งหลายสมตามความปรารถนา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 145:16) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีความสุขแท้และจะมีเสมอไปในการรับใช้พระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อะไรคือพื้นฐานแห่งความสุขสำหรับผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระยะโฮวา?
▫ ในสมัยพระคัมภีร์ ใครบ้างเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาที่มีความสุขซึ่งเป็นโสด?
▫ ทำไมเปาโลแนะนำให้เป็นโสด และคริสเตียนบางคนได้พบอย่างไรว่าการทำเช่นนั้นเป็นชีวิตที่มีความสุข?
▫ ความสุขของเราย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งใดเสมอ?
▫ ทำไมเราจึงควรมั่นใจว่าผู้ซื่อสัตย์ทุกคนในระเบียบการใหม่จะมีความสุข?
[รูปภาพหน้า 16]
พี่น้องหญิงโสดหลายคนรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุขในฐานะผู้รับใช้เต็มเวลา
[รูปภาพหน้า 18]
การรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของพระยะโฮวาเป็นแหล่งสำคัญอันดับแรกของความสุข