ขอพระยะโฮวาทรงพิจารณาความดีความชอบให้กับคุณ
“โอ้พระเจ้าข้า, ขอทรงโปรดระลึกถึงข้าพเจ้าในการนี้ . . . โอ้พระเจ้าข้า, ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพเจ้า, และทรงสำแดงความเมตตากรุณาแก่ข้าพเจ้า.”—นะเฮมยา 13:22, 31.
1. อะไรช่วยให้คนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าให้คำให้การที่ดีต่อพระยะโฮวา?
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับความช่วยเหลือทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อจะให้คำให้การที่ดีต่อพระองค์ได้. ทำไม? เพราะพวกเขามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การทางแผ่นดินโลกนี้. พระองค์ได้ทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ให้พวกเขาทราบ และพระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือและความเข้าใจอันลึกซึ้งทางฝ่ายวิญญาณโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 51:11; 119:105; 1 โกรินโธ 2:10-13) เมื่อพิจารณาสภาพการณ์พิเศษเหล่านี้ ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทางแผ่นดินโลกนี้ให้คำให้การสำหรับตัวเองทั้งในเรื่องที่ว่าเขาเป็นคนชนิดใด และสิ่งที่พวกเขาทำให้สำเร็จลุล่วงด้วยความเข้มแข็งจากพระองค์และด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.
2. (ก) ในทางใดบ้างที่นะเฮมยาได้ให้คำให้การที่ดีของตนเองต่อพระเจ้า? (ข) นะเฮมยาลงท้ายพระธรรมที่เรียกตามชื่อของท่านด้วยคำวิงวอนอะไร?
2 ชายคนหนึ่งที่ได้ให้คำให้การที่ดีของตัวเองต่อพระเจ้าคือนะเฮมยา พนักงานถวายน้ำองุ่นของกษัตริย์อะระธาสัศธา (ลองจิมานุส) แห่งเปอร์เซีย. (นะเฮมยา 2:1) ต่อมานะเฮมยาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการชาวยิวและบูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลมทั้งที่มีศัตรูและภยันตรายรอบด้าน. ด้วยความกระตือรือร้นเพื่อการนมัสการแท้ ท่านได้บังคับใช้พระบัญญัติของพระเจ้าและแสดงความห่วงใยคนที่ถูกกดขี่. (นะเฮมยา 5:14-19) นะเฮมยากระตุ้นเตือนพวกเลวีให้ชำระตัวเองให้สะอาดเป็นประจำ, จัดเวรยามเฝ้าประตู, และทำให้วันซะบาโตเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสามารถอธิษฐานได้ว่า “โอ้พระเจ้าข้า, ขอทรงโปรดระลึกถึงข้าพเจ้าในการนี้ด้วย, และทรงโปรดแก่ข้าพเจ้าตามพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระองค์.” อย่างที่นับว่าเหมาะสมเช่นกัน นะเฮมยาลงท้ายพระธรรมที่ท่านได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เขียนนั้นด้วยคำวิงวอนดังนี้: “โอ้พระเจ้าข้า, ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพเจ้า, และทรงสำแดงความเมตตากรุณาแก่ข้าพเจ้า [“ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยความโปรดปราน,” ล.ม.].”—นะเฮมยา 13:22, 31.
3. (ก) คุณจะพรรณนาเกี่ยวกับคนที่ทำดีอย่างไร? (ข) การคิดไตร่ตรองแนวทางของนะเฮมยาอาจทำให้เราถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
3 คนที่ทำดีเป็นคนมีคุณธรรมและกระทำการซื่อตรงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น. นะเฮมยาเป็นคนเช่นนั้น. ท่านเคารพยำเกรงพระเจ้าและกระตือรือร้นอย่างยิ่งเพื่อการนมัสการแท้. ยิ่งกว่านั้น ท่านสำนึกขอบพระคุณสำหรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในการรับใช้พระเจ้าและให้คำให้การที่ดีเกี่ยวกับท่านเองต่อพระยะโฮวา. เมื่อใคร่ครวญดูแนวทางของท่านคงจะทำให้เราถามตัวเองว่า ‘ฉันมีทัศนะอย่างไรต่อสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงประทานให้? คำให้การแบบไหนที่ฉันรายงานเกี่ยวกับตัวเองต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์?’
ความรู้ทำให้เรามีพันธะต้องให้การ
4. พระเยซูทรงให้งานมอบหมายอะไรแก่ผู้ติดตามของพระองค์ และคนที่ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์” ได้ทำอะไร?
4 พระเยซูทรงให้งานมอบหมายแก่เหล่าผู้ติดตามพระองค์ดังที่เราอ่านว่า “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมา . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) การทำให้คนเป็นสาวกทำได้โดยการสอนพวกเขา. คนที่ได้รับการสอนเช่นนั้นและเป็นคนที่ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์” จะรับบัพติสมา เช่นเดียวกับที่พระเยซูได้ทรงกระทำ. (กิจการ 13:48, ล.ม.; มาระโก 1:9-11) ความปรารถนาของพวกเขาที่จะปฏิบัติตามทุกสิ่งที่พระองค์ได้บัญชาไว้นั้นจะมาจากหัวใจ. พวกเขาจะมาถึงขั้นอุทิศตัวด้วยการยอมรับและนำเอาความรู้ที่ถ่องแท้แห่งพระคำของพระเจ้าไปใช้.—โยฮัน 17:3.
5, 6. เราควรเข้าใจยาโกโบ 4:17 อย่างไร? โปรดยกตัวอย่างการใช้ข้อนี้.
5 ยิ่งเรามีความรู้ในพระคัมภีร์ลึกซึ้งมากเท่าไร รากฐานสำหรับความเชื่อของเราก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น. ขณะเดียวกัน พันธะที่ต้องให้การต่อพระเจ้าก็ยิ่งมากขึ้นด้วย. ยาโกโบ 4:17 (ล.ม.) บอกว่า “หากคนหนึ่งรู้วิธีที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่กระนั้นก็มิได้ทำ นั่นเป็นบาปแก่เขา.” เห็นได้ชัดว่า ประโยคนี้เป็นการสรุปสิ่งที่ท่านสาวกยาโกโบเพิ่งจะได้กล่าวไปเกี่ยวกับการพูดโอ้อวดแทนที่จะพึ่งอาศัยพระเจ้าอย่างแท้จริง. ถ้าคนเรารู้ว่า เขาไม่สามารถทำสิ่งใดสำเร็จลุล่วงไปได้โดยปราศจากการช่วยเหลือของพระยะโฮวา แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่รู้เช่นนั้น นั่นเป็นบาป. แต่คำพูดของยาโกโบยังสามารถใช้ได้ด้วยกับบาปในการละเว้นไม่กระทำ. ตัวอย่างเช่น ในอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องแกะกับแพะ แพะถูกพิพากษาลงโทษไม่ใช่เนื่องด้วยการกระทำชั่ว แต่เพราะไม่ได้ช่วยพวกพี่น้องของพระคริสต์.—มัดธาย 25:41-46.
6 ชายคนหนึ่งที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาไม่ค่อยก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณ ดูเหมือนว่าเป็นเพราะเขาไม่ยอมเลิกสูบบุหรี่ แม้เขารู้ว่าควรทำเช่นนั้น. ผู้ปกครองคนหนึ่งขอให้เขาอ่านยาโกโบ 4:17. หลังจากที่ได้อธิบายถึงความหมายของข้อพระคัมภีร์นี้ ผู้ปกครองคนนั้นกล่าวว่า “แม้ว่าคุณยังไม่ได้รับบัพติสมา คุณก็ต้องให้การและต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการตัดสินใจของคุณ.” น่ายินดี ชายคนนั้นตอบรับ เลิกสูบบุหรี่ และไม่นานก็มีคุณวุฒิจะรับบัพติสมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า.
ต้องให้การสำหรับการรับใช้ของเรา
7. ทางหนึ่งที่จะแสดงความขอบคุณสำหรับ “ความรู้ของพระเจ้า” นั้นคืออะไร?
7 ความปรารถนาอย่างเต็มหัวใจของเราควรจะเป็นเพื่อทำให้พระผู้สร้างของเราพอพระทัย. ทางหนึ่งที่เราจะแสดงความสำนึกในบุญคุณสำหรับ “ความรู้ของพระเจ้า” คือ การทำหน้าที่มอบหมายในการทำให้คนเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์. นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งด้วยในการแสดงความรักของเราต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้านของเรา. (สุภาษิต 2:1-5; มัดธาย 22:35-40) ถูกแล้ว ความรู้ของพระเจ้าทำให้เราต้องให้การต่อพระองค์ และเราจำเป็นต้องมองดูเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยคิดถึงความเป็นไปได้ว่าเขาอาจเข้ามาเป็นสาวก.
8. เหตุใดเรากล่าวได้ว่าเปาโลรู้สำนึกถึงพันธะที่ต้องให้การต่อพระเจ้าสำหรับงานรับใช้ของท่าน?
8 อัครสาวกเปาโลรู้ว่า การยอมรับและเชื่อฟังข่าวดีอย่างสิ้นสุดหัวใจนำไปสู่ความรอด ส่วนการปฏิเสธข่าวนี้อาจนำไปสู่ความพินาศ. (2 เธซะโลนิเก 1:6-8) ด้วยเหตุนั้น ท่านรู้สึกถึงพันธะที่ต้องให้การต่อพระยะโฮวาสำหรับการรับใช้ของท่าน. ที่จริง เปาโลและเพื่อนร่วมงานของท่านหยั่งรู้ค่าการรับใช้ของตนมากจนพวกเขาได้หลีกเลี่ยงด้วยความระมัดระวังจะไม่กลายเป็นดูเหมือนว่ากำลังหาผลประโยชน์ทางการเงินจากการรับใช้นั้น. ยิ่งกว่านั้น หัวใจของเปาโลกระตุ้นท่านให้กล่าวดังนี้: “ที่ข้าพเจ้าประกาศกิตติคุณนั้น, ข้าพเจ้าไม่มีอะไรที่จะอวดได้ เพราะว่าเป็นการจำเป็นซึ่งข้าพเจ้าจะประกาศกิตติคุณนั้น ถ้าข้าพเจ้ามิได้ประกาศ, วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้า.”—1 โกรินโธ 9:11-16.
9. คริสเตียนทุกคนมีหนี้สำคัญอะไรที่ต้องชำระ?
9 เนื่องจากเราเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระยะโฮวา ‘จำเป็นซึ่งเราจะประกาศกิตติคุณนั้น.’ การประกาศข่าวเรื่องราชอาณาจักรเป็นงานมอบหมายสำหรับเรา. เรายอมรับเอาความรับผิดชอบนั้นเมื่อเราอุทิศตัวเราเองแด่พระเจ้า. (เทียบกับลูกา 9:23, 24.) นอกจากนั้น เรามีหนี้จะต้องชำระ. เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นหนี้ทั้งพวกเฮเลนและพวกต่างประเทศด้วย, เป็นหนี้ทั้งนักปราชญ์และคนเขลาด้วย. เหตุฉะนั้นส่วนข้าพเจ้าเต็มใจพร้อมที่จะประกาศกิตติคุณนั้นแก่ท่านทั้งหลายที่อยู่ในกรุงโรมด้วย.” (โรม 1:14, 15) เปาโลเป็นลูกหนี้เพราะท่านรู้ว่า เป็นหน้าที่ของท่านต้องประกาศเพื่อให้ประชาชนได้ยินได้ฟังข่าวดีและได้รับการช่วยให้รอด. (1 ติโมเธียว 1:12-16; 2:3, 4) ดังนั้น ท่านบากบั่นเพื่อทำให้งานมอบหมายของท่านสำเร็จและชำระหนี้ของท่านแก่เพื่อนมนุษย์. ฐานะคริสเตียน เรามีหนี้เช่นนั้นด้วยที่จะต้องชำระ. การประกาศข่าวเรื่องราชอาณาจักรยังเป็นวิธีหลักอย่างหนึ่งด้วยในการแสดงความรักต่อพระเจ้า, ต่อพระบุตรของพระองค์, และต่อเพื่อนบ้านของเรา.—ลูกา 10:25-28.
10. บางคนทำอะไรเป็นการขยายงานรับใช้ของตนออกไป?
10 วิธีหนึ่งที่จะให้การต่อพระเจ้าอย่างที่ได้รับการยอมรับคือการใช้ความสามารถของเราขยายการรับใช้ของเราออกไป. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้มีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติหลั่งไหลเข้าไปในบริเตน. เพื่อให้ข่าวดีไปถึงคนเหล่านี้ มีไพโอเนียร์ (ผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรเต็มเวลา) มากกว่า 800 คนและพยานฯคนอื่น ๆ อีกหลายร้อยคนที่กำลังเรียนภาษาต่าง ๆ. การทำเช่นนี้ส่งผลเป็นการกระตุ้นให้ตื่นตัวในงานรับใช้ได้เป็นอย่างดี. ไพโอเนียร์คนหนึ่งที่สอนชั้นเรียนภาษาจีนกล่าวว่า “ดิฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะได้สอนภาษาของตัวเองให้พยานฯคนอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาแบ่งปันความจริงแก่ผู้อื่นด้วยวิธีนี้. นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสียจริง ๆ!” คุณจะขยายขอบเขตงานรับใช้ของคุณด้วยวิธีคล้าย ๆ กันได้ไหม?
11. เกิดผลเช่นไรเมื่อคริสเตียนคนหนึ่งให้คำพยานเมื่อสบโอกาส?
11 เราแต่ละคนคงจะทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความกระตือรือร้นคล้าย ๆ กันในการใช้ความสามารถของพวกเขาเพื่อให้คำพยานในทุกโอกาส. เมื่อไม่นานมานี้มีพยานฯหญิงคนหนึ่งนั่งข้าง ๆ ผู้หญิงคนหนึ่งในรถโดยสารประจำทางและได้พูดกับเธอเรื่องพระคัมภีร์. ด้วยความตื่นเต้นในเรื่องที่เธอได้ยิน ผู้หญิงคนนี้ถามคำถามหลายข้อ. เมื่อพยานฯจะลงรถ ผู้หญิงคนนี้ขอร้องให้ไปที่บ้านของเธอแทนที่จะลงรถ เพราะเธอยังมีคำถามอีกหลายข้อ. พยานฯคนนั้นตอบตกลง. ผลเป็นอย่างไร? ได้มีการเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และหกเดือนต่อมาผู้หญิงคนนี้ก็ได้เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ยังไม่รับบัพติสมา. ไม่ช้าเธอเองได้นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านหกราย. ช่างเป็นบำเหน็จที่น่าตื่นเต้นเสียจริง ๆ ที่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ในงานราชอาณาจักร!
12. เราจะสามารถใช้ความสามารถของเราให้เป็นประโยชน์ในงานรับใช้ตามบ้านได้อย่างไร?
12 ฐานะเป็นผู้รับใช้พระเจ้า เราสามารถใช้ความสามารถของเราในเขตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้สรรพหนังสืออย่างเช่นหนังสือซึ่งมีขนาด 192 หน้าที่มีชื่อว่าความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. เมื่อถึงเดือนเมษายน 1996 คณะกรรมการฝ่ายการเขียนแห่งคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาได้อนุมัติให้มีการพิมพ์หนังสือความรู้ นี้กว่า 140 ภาษา และตอนนั้นก็ได้มีการพิมพ์หนังสือนี้ไปแล้วถึง 30,500,000 เล่มใน 111 ภาษา. หนังสือนี้เขียนขึ้นมาเพื่อช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้เรียนพระคำและวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของพระเจ้ามากพอที่จะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมาได้. เนื่องจากผู้ประกาศราชอาณาจักรจะไม่นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านกับนักศึกษาคนเดียวเป็นเวลาหลายปี พวกเขาจึงสามารถนำการศึกษากับคนมากขึ้น หรือมีส่วนร่วมในงานประกาศตามบ้านและการรับใช้ในรูปแบบอื่นได้มากขึ้น. (กิจการ 5:42; 20:20, 21) ด้วยสำนึกถึงพันธะที่ต้องให้การต่อพระเจ้า พวกเขามุ่งความสนใจไปยังคำเตือนที่มาจากพระเจ้า. (ยะเอศเคล 33:7-9) แต่ความสนใจหลักของพวกเขาคือ เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาและช่วยคนมากเท่าที่ทำได้ให้เรียนข่าวดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ยังเหลืออยู่สำหรับระบบชั่วนี้.
ให้คำให้การที่ดีฐานะครอบครัว
13. เหตุใดครอบครัวที่เลื่อมใสพระเจ้าควรจะมีการศึกษาประจำครอบครัวเป็นประจำ?
13 แต่ละคนและแต่ละครอบครัวที่รับรองเอาศาสนาคริสเตียนแท้ต้องให้การต่อพระเจ้า และด้วยเหตุนั้นควรจะ “รุดหน้าสู่ความอาวุโส” และ “มั่นคงในความเชื่อ.” (เฮ็บราย 6:1-3, ล.ม.; 1 เปโตร 5:8, 9) ตัวอย่างเช่น คนที่ได้ศึกษาหนังสือความรู้ และได้รับบัพติสมาแล้วจำเป็นต้องเพิ่มเติมความรู้ของตนในพระคัมภีร์ให้แน่นยิ่งขึ้นต่อไปโดยเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ รวมไปถึงการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือคริสเตียนอื่น ๆ. ครอบครัวที่เลื่อมใสในพระเจ้าควรจะมีการศึกษาประจำครอบครัวเป็นประจำด้วย เพราะนั่นเป็นวิธีที่สำคัญในการ ‘ตื่นอยู่, ยืนมั่นในความเชื่อ, ปฏิบัติอย่างผู้ชาย, และเข้มแข็งขึ้น.’ (1 โกรินโธ 16:13, ล.ม.) หากคุณเป็นหัวหน้าครอบครัว คุณต้องให้การต่อพระเจ้าเป็นพิเศษที่จะทำให้แน่ใจว่าครอบครัวคุณได้รับการเลี้ยงดูฝ่ายวิญญาณอย่างดี. เช่นเดียวกับอาหารฝ่ายกายที่มีคุณค่าทางโภชนาการนั้นส่งเสริมสุขภาพให้ปกติสุข อาหารฝ่ายวิญญาณที่มีอย่างอุดมและสม่ำเสมอก็จำเป็นเพื่อคุณและครอบครัวคุณจะรักษาตัวให้ “ปกติสุขในความเชื่อ.”—ติโต 1:13, ล.ม.
14. เกิดผลเป็นเช่นไรจากการให้คำพยานของเด็กหญิงชาวยิศราเอลที่ได้รับการสอนอย่างดี?
14 ถ้ามีบุตรอยู่ในบ้านของคุณ พระเจ้าจะทรงจดจำการดีของคุณในการที่คุณได้ให้การศึกษาอบรมพวกเขาอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณ. การสอนเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขา ดังที่เห็นได้ในกรณีของเด็กหญิงชาวยิศราเอลที่ถูกพวกซีเรียจับเป็นเชลยในสมัยของอะลีซาผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. เธอได้ไปเป็นคนปรนนิบัติภรรยาของนามานแม่ทัพซีเรียซึ่งเป็นโรคเรื้อน. แม้ว่าเด็กหญิงคนนี้อายุยังน้อย เธอบอกกับนายหญิงของเธอว่า “ถ้านามานนายของข้าพเจ้าอยู่กับผู้พยากรณ์ที่กรุงซะมาเรียก็จะดีมาก! ด้วยผู้พยากรณ์อาจรักษาท่านให้หายจากโรคเรื้อน.” เนื่องด้วยคำพยานที่เธอให้ นามานจึงเดินทางไปยังประเทศยิศราเอล และในที่สุดเมื่อเขายอมทำตามการชี้นำของอะลีซาที่ให้จุ่มตัวในแม่น้ำยาระเดนเจ็ดครั้ง เขาก็หายจากโรคเรื้อน. ยิ่งกว่านั้น นามานได้กลายมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. นั่นคงจะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กหญิงคนนั้นตื่นเต้นดีใจสักเพียงไร!—2 กษัตริย์ 5:1-3, 13-19.
15. เหตุใดจึงสำคัญสำหรับบิดามารดาจะฝึกอบรมบุตรของตนอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณ? โปรดให้ตัวอย่าง.
15 ไม่ง่ายเลยที่จะอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เกรงกลัวพระเจ้าในโลกที่เสื่อมศีลธรรมนี้ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของซาตาน. (1 โยฮัน 5:19) อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ติโมเธียวยังเป็นทารก โลอีผู้เป็นยายและยูนิเกแม่ของท่านได้สอนพระคัมภีร์แก่ท่านอย่างที่ได้ผล. (2 ติโมเธียว 1:5; 3:14, 15) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับบุตรของคุณ, การพาเขาไปยังการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ, และในที่สุดการพาเขาไปด้วยกันกับคุณในงานเผยแพร่ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมซึ่งคุณจะต้องให้การต่อพระเจ้า. คริสเตียนคนหนึ่งที่เวลส์ ปัจจุบันเธอมีอายุได้ 80 กว่าปี เล่าว่า ในช่วงต้นทศวรรษปี 1920 บิดาของเธอพาเธอไปด้วยเมื่อท่านได้เดินเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตรข้ามภูเขาลูกหนึ่ง (ไปกลับรวมเป็น 20 กิโลเมตร) เพื่อแจกใบปลิวให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ในหุบเขาถัดไป. เธอกล่าวด้วยความหยั่งรู้ค่าว่า “ในระหว่างการเดินเหล่านี้แหละที่คุณพ่อได้ปลูกความจริงไว้ในหัวใจของดิฉันทีละน้อย.”
ผู้ปกครองให้การ—โดยวิธีใด?
16, 17. (ก) ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณในยิศราเอลโบราณได้รับสิทธิพิเศษอะไรบ้าง? (ข) เมื่อเทียบกับสภาพการณ์ในยิศราเอลโบราณ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องเอาจากผู้ปกครองคริสเตียนในปัจจุบันนี้มากกว่า?
16 ซะโลโมบุรุษผู้ชาญฉลาดกล่าวไว้ว่า “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม.” (สุภาษิต 16:31) แต่ไม่ใช่เพียงแค่อายุเท่านั้นที่ทำให้คนเราพร้อมสำหรับความรับผิดชอบในประชาคมแห่งไพร่พลของพระเจ้า. ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณในยิศราเอลโบราณรับใช้ฐานะผู้พิพากษาและเป็นเจ้าหน้าที่ในการปกครองเพื่อให้ความยุติธรรมและคงไว้ซึ่งความสงบสุข, ความเป็นระเบียบเรียบร้อย, และสุขภาพทางฝ่ายวิญญาณ. (พระบัญญัติ 16:18-20) แม้ว่าเป็นจริงเช่นเดียวกันกับประชาคมคริสเตียน แต่ว่าขณะที่อวสานของระบบนี้กำลังใกล้เข้ามามีการเรียกร้องเอาจากผู้ปกครองคริสเตียนมากกว่า. เพราะเหตุใด?
17 ชนชาติยิศราเอลเป็น ‘ชนผู้ถูกเลือกสรร’ ซึ่งพระเจ้าทรงช่วยออกมาจากอียิปต์โบราณ. เนื่องจากพวกเขาได้รับพระบัญญัติผ่านทางโมเซผู้กลางของพวกเขา ลูกหลานของเขาจึงได้ถือกำเนิดมาเป็นชาติที่อุทิศตัวและคุ้นเคยกับตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ของพระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 7:6, 11) อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครในทุกวันนี้ที่เกิดมาในชาติที่อุทิศตัวเช่นนั้น และเมื่อเทียบกันแล้วมีน้อยคนที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งคุ้นเคยกับความจริงในพระคัมภีร์. โดยเฉพาะคนที่อาจจะเพิ่งเริ่ม “ดำเนินอยู่ในความจริง” จำเป็นต้องได้รับการสอนถึงวิธีที่จะดำเนินชีวิตตามหลักการพระคัมภีร์. (3 โยฮัน 4, ล.ม.) นั่นเป็นความรับผิดชอบซึ่งผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์มีพันธะจะต้องแบกรับเอาขณะที่พวกเขา “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” และช่วยไพร่พลของพระยะโฮวา!—2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.
18. ผู้ปกครองในประชาคมต้องพร้อมจะให้การช่วยเหลืออะไร และเพราะเหตุใด?
18 เด็กน้อยที่หัดเดินอาจสะดุดและล้มลง. เขารู้สึกไม่มั่นคงและต้องการความช่วยเหลือและการช่วยให้มั่นใจจากบิดามารดา. ปัจเจกบุคคลที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาอาจสะดุดหรือล้มลงทางฝ่ายวิญญาณได้ในลักษณะเดียวกัน. แม้แต่อัครสาวกเปาโลก็พบว่าจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อจะทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้า. (โรม 7:21-25) ผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้วยความรักแก่คริสเตียนผู้ซึ่งได้ทำผิดพลาดแต่กลับใจอย่างแท้จริง. เมื่อผู้ปกครองเยี่ยมสตรีที่อุทิศตัวแล้วคนหนึ่งซึ่งได้ทำความผิดร้ายแรง เธอกล่าวต่อหน้าสามีที่อุทิศตัวแล้วของเธอว่า “ดิฉันรู้ว่าพวกคุณจะตัดสัมพันธ์ดิฉัน!” แต่แล้วเธอก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อผู้ปกครองบอกว่า พวกเขาต้องการจะดูว่ามีอะไรที่จำเป็นเพื่อจะช่วยฟื้นฟูครอบครัวขึ้นมาใหม่ทางฝ่ายวิญญาณ. ด้วยสำนึกว่าพวกเขาต้องให้การ เหล่าผู้ปกครองยินดีที่จะช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อที่กลับใจ.—เฮ็บราย 13:17.
จงให้คำให้การที่ดีอยู่ต่อไป
19. เราจะให้คำให้การที่ดีของเราต่อพระเจ้าอยู่เสมอได้โดยวิธีใด?
19 ผู้ปกครองในประชาคมและผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าจำเป็นต้องให้คำให้การที่ดีของตนเองต่อพระยะโฮวาอยู่เสมอ. เรื่องนี้เป็นไปได้ถ้าเรายึดมั่นในพระคำของพระเจ้าและทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (สุภาษิต 3:5, 6; โรม 12:1, 2, 9) เราต้องการทำดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนเหล่านั้นที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ. (ฆะลาเตีย 6:10) อย่างไรก็ดี งานเกี่ยวยังมีอีกมาก และคนงานยังมีน้อย. (มัดธาย 9:37, 38) ดังนั้น ให้เราทำดีต่อคนอื่นโดยประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรอย่างขยันขันแข็ง. พระยะโฮวาจะทรงพิจารณาความดีความชอบของเราถ้าเราดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวของเรา, ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์, และประกาศข่าวดีด้วยความซื่อสัตย์.
20. เราเรียนอะไรจากการพิจารณาแนวทางของนะเฮมยา?
20 ดังนั้น ให้เราทำการขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้บริบูรณ์อยู่เสมอ. (1 โกรินโธ 15:58) และนับว่าดีที่เราจะพิจารณาดูนะเฮมยา ผู้ได้บูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลม, บังคับใช้พระบัญญัติของพระเจ้า, และส่งเสริมการนมัสการแท้ด้วยความกระตือรือร้น. ท่านอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาพระเจ้าทรงระลึกถึงท่านสำหรับการดีที่ท่านได้ทำ. ขอให้คุณพิสูจน์ตัวว่าเลื่อมใสในพระยะโฮวาเช่นกัน และขอพระองค์ทรงพิจารณาความดีความชอบให้กับคุณ.
คำตอบของคุณเป็นเช่นไร?
▫ นะเฮมยาได้วางตัวอย่างอะไร?
▫ เหตุใดความรู้ทำให้เรามีพันธะต้องให้การต่อพระเจ้า?
▫ เราจะสามารถให้การอย่างที่พระยะโฮวายอมรับได้ในงานรับใช้ของเราอย่างไร?
▫ ครอบครัวจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้คำให้การที่ดีต่อพระเจ้า?
▫ ผู้ปกครองคริสเตียนให้คำให้การอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 18]
เช่นเดียวกับเปาโล เราสามารถให้คำให้การที่ดีต่อพระเจ้าในฐานะที่เป็นผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักร
[รูปภาพหน้า 19]
บุตรของคุณแข็งแรงในความเชื่อเหมือนเด็กหญิงชาวยิศราเอลที่อยู่ในบ้านของนามานไหม?