มีชัยเหนือความอ่อนแอของมนุษย์
“การใฝ่ใจทางเนื้อหนังหมายถึงความตาย.”—โรม 8:6, ล.ม.
1. บางคนมีทัศนะอย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ และคำถามอะไรที่ควรพิจารณา?
“ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์ เพราะข้าพเจ้าถูกสร้างอย่างน่าพิศวงในวิธีที่น่าเกรงขาม.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังข้างต้นขณะที่คิดใคร่ครวญสิ่งทรงสร้างอย่างหนึ่งของพระยะโฮวา—ร่างกายมนุษย์. ตรงข้ามกับคำสรรเสริญซึ่งเปี่ยมด้วยเหตุผลดังกล่าว มีศาสนาจารย์บางคนที่ถือว่าร่างกายเป็นแหล่งซุ่มซ่อนและเครื่องมือของบาป. ร่างกายถูกเรียกว่า “อาภรณ์แห่งความเขลา, รากฐานแห่งความชั่วร้าย, พันธนาการแห่งความเสื่อม, กรงขังแห่งความมืด, สภาพตายทั้งเป็น, ซากศพที่ยังมีลมหายใจ, ซากศพที่เดินได้.” จริงอยู่ อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ในเนื้อหนังของข้าพเจ้า ไม่มีความดีประการใดเลย.” (โรม 7:18) แต่นี่หมายความว่าเราถูกกักไว้ในกายที่ผิดบาปโดยปราศจากซึ่งความหวังไหม?
2. (ก) “การใฝ่ใจทางเนื้อหนัง” หมายความอย่างไร? (ข) มีการต่อสู้กันเช่นไรระหว่าง “เนื้อหนัง” กับ “วิญญาณ” ภายในตัวมนุษย์ผู้ปรารถนาจะทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย?
2 บางครั้ง พระคัมภีร์ใช้คำ “เนื้อหนัง” เพื่อหมายถึงมนุษย์ซึ่งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นลูกหลานที่ผิดบาปของอาดามผู้ขืนอำนาจ. (เอเฟโซ 2:3; บทเพลงสรรเสริญ 51:5; โรม 5:12) มรดกที่เราได้รับจากอาดามได้ทำให้เกิด ‘ความอ่อนแอของเนื้อหนัง.’ (โรม 6:19) และเปาโลเตือนว่า “การใฝ่ใจทางเนื้อหนังหมายถึงความตาย.” (โรม 8:6, ล.ม.) “การใฝ่ใจทางเนื้อหนัง” หมายถึงการถูกควบคุมและถูกกระตุ้นด้วยความปรารถนาของเนื้อหนังที่ผิดบาป. (1 โยฮัน 2:16) ดังนั้น หากเราพยายามทำให้พระเจ้าพอพระทัย ย่อมจะเกิดการต่อสู้กันระหว่างสภาพฝ่ายวิญญาณกับธรรมชาติที่ผิดบาปของเราซึ่งกดดันเราอย่างไม่หยุดหย่อนให้ทำ “การของเนื้อหนัง.” (ฆะลาเตีย 5:17-23; 1 เปโตร 2:11) หลังจากพรรณนาถึงการต่อสู้อันเจ็บปวดในตัวท่าน เปาโลกล่าวออกมาดังนี้: “โอข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจจริง! ใครหนอจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากกายแห่งความตายนี้?” (โรม 7:24) เปาโลเป็นเหยื่อของการล่อใจโดยปราศจากการปกป้องไหม? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบที่หนักแน่นว่า ไม่!
ความเป็นจริงเกี่ยวกับการล่อใจและบาป
3. หลายคนมีทัศนะอย่างไรต่อบาปและการล่อใจ แต่คัมภีร์ไบเบิลเตือนให้ระวังเจตคติเช่นนั้นอย่างไร?
3 สำหรับหลายคนในปัจจุบัน บาปเป็นแนวคิดที่ไม่อาจรับได้. บางคนใช้คำ “บาป” อย่างติดตลกโดยถือว่าเป็นคำล้าสมัยที่ใช้พรรณนาถึงข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของมนุษย์. พวกเขาไม่ตระหนักว่า “จำเป็นเราทั้งหลายทุกคนต้องปรากฏตัวที่หน้าบัลลังก์ของพระคริสต์, เพื่อทุกคนจะได้รับสมกับการที่ได้ประพฤติในร่างกายนี้, แล้วแต่จะดีหรือชั่ว.” (2 โกรินโธ 5:10) บ้างก็พูดอย่างไม่ใส่ใจนักว่า “ผมต้านทานได้ทุกสิ่ง ยกเว้นการล่อใจ!” บางคนดำเนินชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่เน้นหนักในการสนองความพอใจทันที ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอาหาร, กามารมณ์, ความสนุก, หรือความสำเร็จ. ไม่เพียงแต่พวกเขาต้องการทุกสิ่ง แต่ยังต้องการในทันทีด้วย! (ลูกา 15:12) พวกเขาไม่มองให้ไกลกว่าความเพลิดเพลินในปัจจุบันเพื่อจะเห็นถึงความยินดีแห่ง “ชีวิตแท้” ในอนาคต. (1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลสอนเราให้คิดอย่างรอบคอบและมองให้ไกล หลีกห่างสิ่งใดก็ตามที่เป็นอันตรายต่อเราทางฝ่ายวิญญาณหรือในด้านอื่น. สุภาษิตซึ่งเขียนไว้โดยการดลใจกล่าวว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว; แต่คนโง่เดินเซ่อไปและก็จะเป็นอันตราย.”—สุภาษิต 27:12.
4. เปาโลให้คำเตือนสติอะไรที่ 1 โกรินโธ 10:12, 13?
4 เมื่อเปาโลเขียนถึงคริสเตียนที่อยู่ในโกรินโธ—เมืองซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเสื่อมศีลธรรม—ท่านได้ให้คำเตือนที่ตรงตามความเป็นจริงให้ระวังการล่อใจและพลังของบาป. ท่านกล่าวว่า “ให้ผู้ที่คิดว่าเขายืนอยู่ระวังเพื่อเขาจะไม่ล้มลง. ไม่มีการล่อใจใด ๆ มาถึงท่านทั้งหลายเว้นไว้แต่การล่อใจซึ่งมนุษย์เคยประสบมา. แต่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย เพื่อท่านจะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:12, 13, ล.ม.) เราทุกคน ไม่ว่าหนุ่มหรือสูงอายุ ชายหรือหญิง ต่างเผชิญการล่อใจมากมายในโรงเรียน, ที่ทำงาน, หรือที่อื่น ๆ. ด้วยเหตุนั้น ให้เราตรวจสอบคำกล่าวของเปาโลเพื่อดูว่าคำเหล่านั้นมีความหมายเช่นไรสำหรับเรา.
อย่ามั่นใจเกินไป
5. เหตุใดการมีความมั่นใจมากเกินไปจึงอันตราย?
5 เปาโลกล่าวว่า “ให้ผู้ที่คิดว่าเขายืนอยู่ระวังเพื่อเขาจะไม่ล้มลง.” (1 โกรินโธ 10:12, ล.ม.) ความมั่นใจเกินไปในความเข้มแข็งด้านศีลธรรมนับว่าอันตราย. ความมั่นใจเช่นนี้เผยถึงการขาดความเข้าใจในธรรมชาติและพลังของบาป. เนื่องจากบุคคลเช่นโมเซ, ดาวิด, ซะโลโม, และอัครสาวกเปโตรต่างพลาดพลั้งทำบาป สมควรไหมที่เราจะคิดว่าเราคงพลาดพลั้งได้ยาก? (อาฤธโม 20:2-13; 2 ซามูเอล 11:1-27; 1 กษัตริย์ 11:1-6; มัดธาย 26:69-75) สุภาษิต 14:16 กล่าวว่า “คนมีปัญญานั้นกลัวและหลีกออกจากความชั่ว; แต่คนโฉดเขลานั้นถือทิฏฐิจองหองและไว้ใจในตัวเอง.” นอกจากนั้น พระเยซูตรัสว่า “ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ.” (มัดธาย 26:41, ล.ม.) เนื่องจากไม่มีมนุษย์ไม่สมบูรณ์คนใดที่ไม่มีความปรารถนาผิด ๆ เราจำเป็นต้องคิดอย่างจริงจังในคำเตือนของเปาโลและต้านทานการล่อใจ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เราเสี่ยงต่อการล้มพลาด.—ยิระมะยา 17:9.
6. เราควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการล่อใจเมื่อไรและอย่างไร?
6 นับเป็นความสุขุมที่จะเตรียมพร้อมสำหรับความยุ่งยากซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด. กษัตริย์อาซาตระหนักว่าช่วงเวลาที่มีสันติสุขเป็นเวลาเหมาะที่ท่านจะสร้างเครื่องป้องกันเมือง. (2 โครนิกา 14:2, 6, 7) ท่านทราบว่าย่อมสายเกินไปหากจะเตรียมการเมื่อถูกโจมตีแล้ว. ในทำนองเดียวกัน การตัดสินใจว่าจะทำเช่นไรหากมีการล่อใจเกิดขึ้นควรทำเมื่อเรามีความคิดที่ปลอดโปร่งในยามที่ไม่มีปัญหา. (บทเพลงสรรเสริญ 63:6) ดานิเอลและสหายของท่านที่เกรงกลัวพระเจ้าตั้งใจมั่นว่าจะรักษากฎหมายของพระยะโฮวาก่อนที่พวกเขาจะถูกกดดันให้รับประทานเครื่องเสวยของกษัตริย์. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะยึดมั่นอยู่กับความเชื่อและไม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นมลทิน. (ดานิเอล 1:8) ก่อนที่สถานการณ์ล่อใจจะเกิดขึ้น ให้เราเสริมความตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาความสะอาดด้านศีลธรรม. เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจะมีกำลังต้านทานบาป.
7. เหตุใดจึงนับเป็นการปลอบโยนที่ทราบว่าคนอื่น ๆ ต้านทานการล่อใจได้สำเร็จ?
7 เราได้รับการปลอบโยนจากคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “ไม่มีการล่อใจใด ๆ มาถึงท่านทั้งหลายเว้นไว้แต่การล่อใจซึ่งมนุษย์เคยประสบมา”! (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “จงยืนหยัดต่อต้าน [พญามาร] มั่นคงในความเชื่อ โดยรู้ว่า สิ่งเดียวกันในด้านความลำบากเกิดขึ้นอยู่ในสังคมพี่น้องทั้งสิ้นของท่านทั้งหลายในโลก.” (1 เปโตร 5:9, ล.ม.) ถูกแล้ว คนอื่น ๆ ต่างก็เผชิญการล่อใจคล้าย ๆ กันและได้ต้านทานการล่อใจเหล่านั้นได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า และเราก็สามารถทำได้. อย่างไรก็ตาม ในฐานะคริสเตียนแท้ซึ่งอยู่ในโลกอันเสื่อมทราม เราทุกคนคาดหมายได้ว่าจะถูกล่อใจไม่ช้าก็เร็ว. ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรที่จะมีชัยเหนือความอ่อนแอของมนุษย์และการล่อใจให้ทำบาป?
เราสามารถต้านทานการล่อใจได้!
8. อะไรคือวิธีพื้นฐานอย่างหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการล่อใจ?
8 วิธีพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะ “ไม่เป็นทาสของบาปนั้นต่อไป” ก็คือให้หลีกเลี่ยงการล่อใจเมื่อเป็นไปได้. (โรม 6:6) สุภาษิต 4:14, 15 กระตุ้นดังนี้: “อย่าย่างเข้าไปในทางของคนชั่วร้าย, และอย่าเดินในทางของคนบาป. จงหลีกเสีย, อย่าเข้าใกล้มันเลย; จงหันไปจากมัน, และผ่านเลยไปเสียเถิด.” เรามักจะรู้ล่วงหน้าว่าสภาพการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมีทีท่าว่าจะนำไปสู่บาปหรือไม่. ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าคริสเตียนควรทำก็คือ “ผ่านเลยไปเสีย” คืออยู่ให้ห่างจากบุคคลใดก็ตาม, สิ่งใดก็ตาม, และสถานที่ใดก็ตามที่อาจจุดความปรารถนาผิด ๆ และทำให้เราเร่าร้อนด้วยกิเลสตัณหา.
9. มีการเน้นอย่างไรในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการหลีกหนีจากสถานการณ์ที่ล่อแหลม?
9 การหลีกหนีจากสถานการณ์ที่ล่อใจเป็นขั้นตอนพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะมีชัยเหนือการล่อใจ. เปาโลให้คำแนะนำว่า “จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี.” (1 โกรินโธ 6:18, ล.ม.) ท่านเขียนไว้ว่า “จงหลีกหนีจากการไหว้รูปเคารพ.” (1 โกรินโธ 10:14, ล.ม.) ท่านอัครสาวกยังเตือนติโมเธียวด้วยให้หลีกหนีจากความปรารถนาเกินควรเพื่อจะร่ำรวยทางวัตถุ รวมทั้ง “จากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว.”—2 ติโมเธียว 2:22, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 6:9-11.
10. มีสองตัวอย่างอะไรที่ต่างกันซึ่งแสดงถึงประโยชน์ของการหลีกหนีจากการล่อใจ?
10 ขอพิจารณากรณีของดาวิดกษัตริย์ชาติยิศราเอล. เมื่อท่านมองลงมาจากดาดฟ้าพระราชวัง ท่านเห็นหญิงงามคนหนึ่งกำลังอาบน้ำ และความปรารถนาผิด ๆ เข้าครอบงำหัวใจท่าน. ท่านควรไปจากดาดฟ้าและหลีกหนีจากการล่อใจ. แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านสอบถามเกี่ยวกับหญิงผู้นี้—คือนางบัธเซบะ—และยังผลให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก. (2 ซามูเอล 11:1–12:23) ในทางตรงกันข้าม โยเซฟทำอย่างไรเมื่อภรรยาผู้ไร้ศีลธรรมของนายชวนท่านให้นอนกับนาง? บันทึกบอกเราว่า “เมื่อนางชวนโยเซฟทุก ๆ วัน, โยเซฟไม่ยอมนอนกับเขาหรืออยู่ด้วยกัน.” แม้ว่าในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายแห่งพระบัญญัติของโมเซ โยเซฟตอบนางว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า?” วันหนึ่ง นางยึดเหนี่ยวท่านไว้ กล่าวว่า “จงนอนอยู่ด้วยเราเถิด.” โยเซฟรั้งรออยู่ที่นั่นและพยายามหาเหตุผลกับนางไหม? ไม่. ท่าน “หนีไปข้างนอก.” โยเซฟไม่ปล่อยให้มีโอกาสที่จะเกิดการล่อใจมากไปกว่านั้น. ท่านหนีไป!—เยเนซิศ 39:7-16.
11. อาจทำอะไรได้หากเราประสบกับการล่อใจที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า?
11 บางครั้ง การวิ่งหนีอาจถูกมองว่าขี้ขลาด แต่บ่อยครั้งการพาตัวเราเองออกไปจากสถานการณ์ที่ไม่ดีนับว่าเป็นแนวทางที่สุขุม. เราอาจกำลังประสบกับการล่อใจซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในที่ทำงาน. แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนงาน อาจมีวิธีอื่นที่เราจะพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมที่ล่อใจ. เราจำเป็นต้องหนีจากสิ่งใดก็ตามที่เรารู้ว่าผิด และเราควรตั้งใจแน่วแน่จะทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง. (อาโมศ 5:15) ในกรณีอื่น ๆ การหนีจากการล่อใจอาจหมายถึงการหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่แสดงเรื่องลามกในอินเทอร์เน็ตและสถานบันเทิงที่น่าสงสัย. นอกจากนี้ ยังอาจหมายถึงการทิ้งวารสารบางเล่มหรือการหาเพื่อนกลุ่มใหม่—คนที่รักพระเจ้าและสามารถช่วยเราได้. (สุภาษิต 13:20) ไม่ว่าจะมีอะไรก็ตามมาล่อใจเราให้ทำบาป เราแสดงความฉลาดสุขุมหากเราปฏิเสธสิ่งนั้นอย่างเด็ดเดี่ยว.—โรม 12:9.
วิธีที่คำอธิษฐานช่วยได้
12. เราทูลขออะไรจากพระเจ้าเมื่อเราอธิษฐานว่า “ขออย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าสู่การล่อใจ”?
12 เปาโลให้คำรับรองที่น่าชื่นใจว่า “พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย เพื่อท่านจะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาช่วยเราคือโดยทรงตอบคำอธิษฐานที่เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อรับมือการล่อใจ. พระเยซูคริสต์ทรงสอนเราให้อธิษฐานดังนี้: “ขออย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าสู่การล่อใจ แต่ขอทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นจากตัวชั่วร้าย.” (มัดธาย 6:13, ล.ม.) ในการตอบคำอธิษฐานจากหัวใจเช่นนั้น พระยะโฮวาจะไม่ทรงทอดทิ้งเราให้ถูกล่อใจ; พระองค์จะทรงช่วยเราให้พ้นจากซาตานและการกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน. (เอเฟโซ 6:11, เชิงอรรถ, ล.ม.) เราควรทูลขอให้พระเจ้าทรงช่วยเราให้ตระหนักถึงการล่อใจที่เกิดขึ้นกับเราและมีกำลังต่อต้านการล่อใจเหล่านั้น. หากเราวิงวอนพระองค์ให้ช่วยเพื่อเราจะไม่เพลี่ยงพล้ำเมื่อถูกล่อใจ พระองค์จะทรงช่วยเราไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของซาตาน “ตัวชั่วร้าย.”
13. เราควรทำอะไรเมื่อเผชิญกับการล่อใจอยู่เรื่อย ๆ?
13 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องอธิษฐานอย่างแรงกล้าเมื่อเผชิญกับการล่อใจอยู่เรื่อย ๆ. การล่อใจบางอย่างอาจก่อให้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงในทางความคิดและเจตคติ ซึ่งเตือนใจเราอย่างชัดเจนว่าเราอ่อนแอจริง ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5) ยกตัวอย่าง เราจะทำอะไรได้บ้างหากเรารู้สึกทรมานใจเนื่องด้วยความทรงจำเกี่ยวกับกิจปฏิบัติที่เลวร้ายในอดีต? จะว่าอย่างไรหากเราถูกล่อใจให้หวนกลับไปหาการกระทำดังกล่าว? แทนที่จะเพียงแต่พยายามข่มห้ามความรู้สึกเช่นนั้น จงนำเรื่องนั้นทูลต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน—ซ้ำหลายครั้งหากจำเป็น. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) ด้วยอำนาจแห่งพระคำและพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์สามารถช่วยเราให้ชำระจิตใจของเราให้หมดจดจากแนวโน้มที่ไม่สะอาด.—บทเพลงสรรเสริญ 19:8, 9.
14. เหตุใดการอธิษฐานจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรับมือความอ่อนแอของมนุษย์?
14 เมื่อสังเกตเห็นความง่วงเหงาของเหล่าอัครสาวกในสวนเฆ็ธเซมาเน พระเยซูทรงกระตุ้นว่า “จงเฝ้าระวังต่อไปและอธิษฐานอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อว่าท่านจะไม่ได้ตกสู่การล่อใจ. แน่ล่ะ ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ.” (มัดธาย 26:41, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่จะเอาชนะการล่อใจคือตื่นตัวเสมอต่อการล่อใจซึ่งอาจมาในหลายรูปแบบ อีกทั้งว่องไวในการสังเกตเข้าใจลักษณะอันแยบยลของมัน. เป็นเรื่องสำคัญด้วยที่เราควรอธิษฐานเกี่ยวกับการล่อใจโดยไม่ลังเล เพื่อเราจะพร้อมเสมอทางฝ่ายวิญญาณที่จะต่อสู้การล่อใจ. เนื่องจากการล่อใจโจมตีตรงจุดเปราะบางที่สุดของเรา เราไม่สามารถต้านทานการล่อใจแต่เพียงลำพังตัวเอง. การอธิษฐานจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกำลังจากพระเจ้าสามารถสนับสนุนเราในการต่อต้านการโจมตีของซาตาน. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) เราอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณและคำอธิษฐานของ “บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคม” ด้วย.—ยาโกโบ 5:13-18, ล.ม.
ต้านทานการล่อใจอย่างแข็งขัน
15. การต้านทานการล่อใจเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?
15 นอกจากจะหลีกเลี่ยงการล่อใจเมื่อเป็นไปได้ เราต้องต้านทานการล่อใจอย่างแข็งขันจนกว่าการล่อใจนั้นจะผ่านไปหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป. เมื่อพระเยซูทรงถูกซาตานล่อใจ พระองค์ทรงต้านทานจนกระทั่งพญามารหนีไป. (มัดธาย 4:1-11) สาวกยาโกโบเขียนว่า “จงต่อต้านพญามาร แล้วมันจะหนีไปจากท่านทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 4:7, ล.ม.) การต้านทานเริ่มด้วยการเสริมให้จิตใจของเราเข้มแข็งด้วยพระคำของพระเจ้า และตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าเราจะยึดมั่นอยู่กับมาตรฐานของพระองค์. เราควรจำข้อพระคัมภีร์หลัก ๆ ที่เกี่ยวกับข้ออ่อนแอของเราไว้ให้แม่นและคิดรำพึงในข้อเหล่านี้. นับว่าสุขุมด้วยที่จะขอคริสเตียนอาวุโสคนหนึ่ง—อาจเป็นผู้ปกครอง—ให้รับทราบจุดที่เราเป็นห่วงและเราสามารถขอความช่วยเหลือได้เมื่อเกิดการล่อใจให้ทำผิด.—สุภาษิต 22:17.
16. เราจะรักษาความซื่อตรงด้านศีลธรรมได้โดยวิธีใด?
16 พระคัมภีร์กระตุ้นเราให้สวมบุคลิกภาพใหม่. (เอเฟโซ 4:24) นี่หมายถึงการยอมให้พระยะโฮวาทรงนวดปั้นและเปลี่ยนแปลงตัวเรา. ในข้อความที่เขียนถึงติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่าน เปาโลกล่าวว่า “จงติดตามความชอบธรรม, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความเชื่อ, ความรัก, ความอดทน, มีใจอ่อนโยน. จงเข้าในการสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ ยึดมั่นอยู่กับชีวิตนิรันดร์ตามที่ได้ทรงเลือกท่านไว้.” (1 ติโมเธียว 6:11, 12, ล.ม.) เรา “ติดตามความชอบธรรม” ได้ด้วยการขยันศึกษาพระคำของพระเจ้าเพื่อจะรู้จักคุ้นเคยกับบุคลิกภาพของพระองค์ แล้วประพฤติสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระองค์. การรักษาตารางเวลาในกิจกรรมของคริสเตียนอย่างครบถ้วน เช่น การประกาศข่าวดีและการเข้าร่วมประชุม ก็สำคัญมากเช่นกัน. การเข้าใกล้พระเจ้าและรับประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมของพระองค์ทางฝ่ายวิญญาณจะช่วยเราให้เติบโตฝ่ายวิญญาณและรักษาความซื่อตรงด้านศีลธรรม.—ยาโกโบ 4:8.
17. เราทราบอย่างไรว่าพระเจ้าจะไม่ทรงทิ้งเราเมื่อเราถูกทดลอง?
17 เปาโลรับรองกับเราว่าการล่อใจที่เราประสบจะไม่เกินกำลังที่เราได้รับจากพระเจ้าจะรับมือได้. พระยะโฮวาจะทรง ‘จัดทางออกให้ เพื่อเราจะสามารถทนได้.’ (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) ที่จริง พระเจ้าไม่ปล่อยให้การล่อใจหนักมากจนเราขาดกำลังฝ่ายวิญญาณที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง หากเราไว้วางใจในพระองค์อยู่เสมอ. พระองค์ทรงประสงค์ให้เราประสบความสำเร็จในการต้านทานอย่างแข็งขันต่อการล่อใจให้ทำสิ่งผิดในสายพระเนตรพระองค์. นอกจากนั้น เราสามารถมีความเชื่อในคำสัญญาของพระองค์ที่ว่า “เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.”—เฮ็บราย 13:5, ล.ม.
18. เหตุใดเราแน่ใจได้ถึงชัยชนะเหนือความอ่อนแอของมนุษย์?
18 เปาโลไม่ได้ขาดความมั่นใจเกี่ยวกับผลของการที่ท่านต่อสู้กับความอ่อนแอของมนุษย์. ท่านไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นเหยื่อผู้น่าสงสารที่ไม่มีทางต่อกรกับความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง. ตรงกันข้าม ท่านกล่าวว่า “การวิ่งของข้าพเจ้าไม่ใช่ไร้จุดหมาย; การชกของข้าพเจ้าไม่ใช่เพื่อชกลม; แต่ข้าพเจ้าทุบตีร่างกายของข้าพเจ้า และจูงมันเยี่ยงทาส เพื่อว่าหลังจากข้าพเจ้าได้ประกาศแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะไม่กลายเป็นคนที่ไม่เป็นที่พอพระทัยในทางใดทางหนึ่ง.” (1 โกรินโธ 9:26, 27, ล.ม.) เราเองก็สามารถต่อสู้กับเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์ได้สำเร็จเช่นกัน. โดยทางพระคัมภีร์, สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก, การประชุมคริสเตียน, และเพื่อนคริสเตียนที่อาวุโส พระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักของเราทรงให้ข้อเตือนใจแก่เราอยู่เสมอซึ่งช่วยเราให้ติดตามแนวทางที่ซื่อตรง. ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ เราสามารถมีชัยเหนือความอ่อนแอของมนุษย์!
คุณจำได้ไหม?
• “การใฝ่ใจทางเนื้อหนัง” หมายถึงอะไร?
• เราจะเตรียมตัวให้พร้อมรับการล่อใจได้อย่างไร?
• เราสามารถทำอะไรได้เพื่อรับมือการล่อใจ?
• การอธิษฐานมีบทบาทเช่นไรในการรับมือการล่อใจ?
• เหตุใดเราทราบว่าเป็นไปได้ที่จะมีชัยเหนือความอ่อนแอของมนุษย์?
[ภาพหน้า 10]
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สอนว่าเราเป็นเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ของความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง
[ภาพหน้า 12]
การหลีกหนีจากการล่อใจเป็นวิธีพื้นฐานอย่างหนึ่งในการหลีกเลี่ยงบาป