คำถามจากผู้อ่าน
คริสเตียนควรเป็นห่วงมากขนาดไหนในเรื่องที่ว่าอาจมีการเพิ่มส่วนประกอบของเลือด เช่นเกล็ดพลาสมา เข้ากับผลิตภัณฑ์อาหาร?
หากมีมูลเหตุชัดแจ้งที่จะเชื่อว่ามีการใช้เลือดสัตว์ (หรือส่วนประกอบของเลือด) ในผลิตภัณฑ์อาหารในท้องถิ่นอย่างแน่นอน คริสเตียนก็ควรใช้ความระมัดระวังอย่างเหมาะสม. แต่ก็คงไม่เป็นการสุขุมที่จะขุ่นเคืองเนื่องจากเพียงแต่สงสัยหรืออยู่ด้วยความกังวลโดยไม่มีเหตุผล.
ในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคต้น ๆ พระผู้สร้างของเราทรงบัญชาว่ามนุษย์ไม่ควรรับประทานเลือด. (เยเนซิศ 9:3, 4) พระองค์แถลงว่าเลือดหมายถึงชีวิต ซึ่งเป็นของประทานจากพระองค์. เลือดที่ทำให้ไหลออกจากสัตว์ใช้ได้เฉพาะในการถวายเครื่องบูชาเท่านั้น เช่น บนแท่นบูชา. มิฉะนั้นเลือดจากสัตว์ต้องเทลงดิน ในความหมายเป็นการให้คืนแก่พระเจ้า. ไพร่พลของพระองค์ต้องหลีกเว้นจากการค้ำจุนชีวิตโดยการรับประทานเลือด. พระองค์ทรงบัญชาว่า “อย่าได้กินโลหิตสัตว์อย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะว่าชีวิตของเนื้อหนังนั้นคือโลหิต ผู้ใดได้กินโลหิตต้องตัดชีวิตผู้นั้นเสีย.” (เลวีติโก 17:11-14) ข้อห้ามของพระเจ้าในเรื่องการกินเลือดนั้นมีการบอกซ้ำอีกแก่ชนคริสเตียน. (กิจการ 15:28, 29) ดังนั้น คริสเตียนสมัยแรกจึงต้องหลีกเว้นจากอาหารที่มีเลือดอยู่ เช่นเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตายหรือไส้กรอกเลือด.
แต่ในเชิงปฏิบัติ ชนคริสเตียนเหล่านั้นจะปฏิบัติตามความตั้งใจของเขาอย่างไรที่จะ ‘ไม่รับประทานเลือด’? (กิจการ 21:25) เขาควรเพียงแต่ทำตามถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลเท่านั้นไหม ที่ว่า “ทุกสิ่งที่เขาขายตามตลาดนั้นกินได้ ไม่ต้องถามอะไรเลยโดยเห็นแก่ใจวินิจฉัยผิดและชอบนั้น.”?
เปล่าเลย. ถ้อยคำเหล่านั้นที่ 1 โกรินโธ 10:25 หมายถึงเนื้อที่อาจเอามาจากสัตว์ที่ถูกบูชายัญในโบสถ์ที่มีรูปเคารพ. ในสมัยนั้น เนื้อที่มีมากเกินไปจากโบสถ์วิหารถูกจัดการโดยขายให้พวกพ่อค้า ซึ่งอาจเอาเนื้อนั้นมารวมไว้กับเนื้อที่เขาขายในร้านของเขา. จุดที่เปาโลพูดนั้นคือว่าเนื้อที่มาจากโบสถ์วิหารนั้นไม่ได้เสียหรือสกปรก. ดูเหมือนว่าเป็นธรรมเนียมที่จะทำให้เลือดของสัตว์ที่ถูกบูชายัญที่โบสถ์วิหารนั้นไหลออกและใช้เลือดนั้นบนแท่นบูชานอกรีต. ดังนั้น ถ้าเนื้อที่เหลือนั้นบางส่วนถูกขายในตลาด โดยไม่มีความเกี่ยวโยงอย่างชัดแจ้งกับโบสถ์วิหารหรือแนวความคิดผิด ๆ ของพวกนอกรีตแล้ว คริสเตียนก็อาจเพียงแต่ซื้อเนื้อนั้นเช่นเดียวกับเนื้อที่ขายทั่วไปซึ่งเป็นเนื้อสะอาดและได้มีการทำให้เลือดไหลออกแล้ว.
กระนั้น คงจะแตกต่างไปหากคริสเตียนเหล่านั้นทราบว่าเนื้อจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย (หรือไส้กรอกเลือด) เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อที่มีให้เลือกซื้อที่ร้านในท้องถิ่นนั้น. เขาพึงต้องใช้ความรอบคอบในการเลือกเนื้อที่จะซื้อ. เขาอาจสามารถมองออกว่าผลิตภัณฑ์เนื้อนั้นมีเลือดอยู่หากเนื้อนั้นมีสีสันเป็นพิเศษ (เช่นเดียวกับไส้กรอกเลือดในทุกวันนี้ที่สามารถมองออกได้ในประเทศที่ไส้กรอกเลือดเป็นของธรรมดาทั่วไป.) หรือคริสเตียนอาจสอบถามจากคนขายเนื้อหรือพ่อค้าเนื้อที่มีชื่อเสียงดีก็ได้. หากเขาไม่มีสาเหตุใด ๆ ที่จะเชื่อว่าเนื้อบางอย่างมีเลือดอยู่ เขาก็อาจซื้อและรับประทานได้.
เปาโลเขียนไว้ด้วยว่า “จงให้ความมีเหตุผลของท่านปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) เรื่องนี้อาจใช้ได้ในเรื่องของการซื้อเนื้อด้วย. ไม่ว่ากฎหมายของชาติยิศราเอลหรือคำสั่งของคณะกรรมการปกครองแห่งคริสเตียนสมัยแรกต่างก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าไพร่พลของพระเจ้าจะต้องใช้เวลาและความพยายามมากมายในการสอบถามเกี่ยวกับเรื่องเนื้อ หรือกระทั่งกลายเป็นพวกมังสวิรัติ ถ้ามีข้อสงสัยน้อยนิดเกี่ยวกับเลือดซึ่งอยู่ในเนื้อที่มีวางขาย.
พรานชาวยิศราเอลซึ่งฆ่าสัตว์จะให้เลือดสัตว์ไหลออก. (เทียบพระบัญญัติ 12:15, 16.) หากครอบครัวของเขาไม่สามารถกินเนื้อนั้นทั้งหมด เขาก็อาจนำบางส่วนไปขาย. กระทั่งในซากสัตว์ที่ถูกทำให้เลือดไหลออกอย่างถูกต้อง เลือดปริมาณเล็กน้อยก็ยังคงมีอยู่ในเนื้อนั้น แต่ไม่มีที่ใดในคัมภีร์ไบเบิลแนะว่าชาวยิวที่ซื้อเนื้อจะต้องใช้เวลาและความพยายามให้เต็มที่เพื่อหาข้อเท็จจริง เช่นใช้เวลาเท่าไรระหว่างการฆ่าและการให้เลือดไหลออก, เส้นเลือดไหนถูกตัดเพื่อให้เลือดไหล, และสัตว์ถูกแขวนอย่างไรและนานเท่าไร. ยิ่งกว่านั้น คณะกรรมการปกครองก็ไม่ได้เขียนว่าคริสเตียนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ราวกับว่าเขาต้องได้คำตอบที่มีรายละเอียดมากที่สุดและชัดแจ้งที่สุดก่อนจะรับประทานเนื้อใด ๆ.
กฎหมาย, ประเพณี, หรือกิจปฏิบัติทางศาสนาในหลายประเทศทุกวันนี้คือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อต่าง ๆ (ยกเว้นสินค้าพิเศษ เช่นไส้กรอกเลือด) มาจากสัตว์ที่ต้องมีการให้เลือดไหลออกเมื่อทำการฆ่า. ด้วยเหตุนั้น ตามปกติแล้วคริสเตียนในดินแดนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินเหตุกับวิธีการฆ่าหรือการผลิต. ในความหมายกว้าง ๆ คือ เขาอาจเพียงแต่ ‘กินเนื้อที่ขายตามตลาด ไม่ต้องถามอะไร’ และเขาก็สามารถมีสติรู้สึกผิดชอบสะอาดที่เขาละเว้นจากเลือด.
แต่บางโอกาสก็มีรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้เลือดทางการค้าซึ่งเคยรบกวนคริสเตียนบางคน. นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อบางคนให้เหตุผลว่าเลือดจำนวนมากจากสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นสามารถเก็บรวบรวมไว้เพื่อนำไปใช้และทำประโยชน์ได้อย่างดี เช่นใช้ในปุ๋ยหรือในอาหารสัตว์. นักค้นคว้าได้ศึกษาว่าเลือด (หรือส่วนประกอบของเลือด) นั้นอาจใช้ได้ในเนื้อที่ผ่านกระบวนการผลิต. โรงงานไม่กี่แห่งเคยผลิตพลาสมาแบบเหลว, แบบแช่แข็ง, หรือพลาสมาผง (หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงฟอกขาว) ออกมาในจำนวนจำกัดซึ่งอาจใช้แทนเนื้อซึ่งมีปริมาณเล็กน้อยในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหรือตับบด. การศึกษาค้นคว้าอื่น ๆ ได้มุ่งในการใช้สารที่ได้จากเลือดซึ่งทำเป็นผงมาเป็นตัวเติมหรือเพื่อทำให้น้ำกับไขมันในเนื้อบดแข็งตัว, ในสินค้าประเภทอบหรือย่าง, หรือในอาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เพื่อเสริมโปรตีนหรือธาตุเหล็ก.
อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าสังเกตที่การค้นคว้านั้นได้ดำเนินไปเป็นเวลาหลายสิบปี. กระนั้น ดูเหมือนว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เช่นนั้นมีน้อยมาก หรือกระทั่งไม่มีอยู่เลยในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่. ตัวอย่างรายงานบางอย่างช่วยให้ทราบสาเหตุ:
“เลือดเป็นแหล่งแห่งโปรตีนที่มีผลทางโภชนาการและมีประโยชน์. อย่างไรก็ดี เลือดวัวนั้นมีการใช้กันในปริมาณจำกัดเท่านั้นสำหรับให้มนุษย์บริโภคโดยตรงเนื่องจากมีสีจัดและมีรสเฉพาะตัว.—นิตยสารวิทยาศาสตร์การอาหาร (ภาษาอังกฤษ) ปีที่ 55 เล่มที่ 2, 1990.
“โปรตีนจากพลาสมาของเลือดมีคุณสมบัติอันเป็นประโยชน์ เช่น มีคุณสมบัติในการละลายได้สูง, การทำให้เป็นน้ำนม . . . และการใช้เลือดในกระบวนการผลิตอาหารให้ประโยชน์มาก. แต่ระบบอันมีประสิทธิภาพในการทำให้พลาสมาสะอาดปราศจากเชื้อ โดยเฉพาะหลังจากการสกัดน้ำออก ยังไม่มีการก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเลย.—นิตยสารวิทยาศาสตร์การอาหาร ปีที่ 56 เล่มที่ 1, 1991.
คริสเตียนบางคนได้ตรวจดูฉลากบนอาหารที่บรรจุหีบห่อเป็นบางครั้งคราว เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่เรียกร้องให้แสดงรายการส่วนผสมไว้. และเขาอาจสมัครใจที่จะทำอย่างนี้เป็นประจำกับผลิตภัณฑ์ใด ๆ ซึ่งเขามีเหตุผลที่จะคิดว่าอาจมีเลือดผสมอยู่. แน่นอน นั่นคงเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะหลีกเลี่ยงสินค้าที่แสดงรายการสิ่งต่าง ๆ เช่น เลือด, พลาสมาของเลือด, พลาสมา, โปรตีนโกลบิน (โกลบิวลิน), หรือธาตุเหล็กจากฮีโมโกลบิน (หรือโกลบิน). ข้อมูลการตลาดจากบริษัทของยุโรปแห่งหนึ่งในด้านนี้ยอมรับว่า “ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้โกลบินเป็นส่วนผสมต้องมีการหมายไว้บนหีบห่ออาหารด้วยวิธีที่ผู้บริโภคจะไม่ถูกทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนประกอบหรือคุณค่าของอาหารนั้น.”
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งเกี่ยวกับการตรวจดูฉลากหรือการสอบถามคนขายเนื้อ ความมีเหตุมีผลก็เป็นสิ่งจำเป็น. นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องราวกับว่าคริสเตียนทุกคนทั่วโลกจะต้องอ่านฉลากและส่วนผสมบนหีบห่อที่บรรจุอาหารไปหมดทุกอย่างหรือน่าจะถามลูกจ้างที่ภัตตาคารหรือร้านอาหาร. คริสเตียนอาจถามตัวเองก่อนว่า ‘มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันไหมว่าเลือดและส่วนที่ได้จากเลือดมีการใช้ในสินค้าอาหารทั่วไปในบริเวณนี้หรือประเทศนี้? ในที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วคำตอบก็คือ ไม่มี. ฉะนั้น คริสเตียนหลายคนลงความเห็นว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาจะไม่จัดเวลาและความเอาใจใส่มากเพื่อการตรวจดูสิ่งที่มีทางเป็นไปได้น้อยมาก. คนที่ไม่รู้สึกเช่นนี้ควรทำตามสติรู้สึกผิดชอบของตน โดยไม่ตัดสินคนอื่น ๆ ซึ่งอาจตัดสินใจในเรื่องนั้นเป็นอย่างอื่นแต่ก็ด้วยสติรู้สึกผิดชอบอันดีจำเพาะพระเจ้า.—โรม 14:2-4, 12.
แม้หากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเลือดอยู่อาจมีการผลิตออกมาได้ ก็อาจเป็นได้ว่าการผลิตนี้ไม่กว้างขวางเนื่องจากค่าใช้จ่าย, การออกกฎหมาย, หรือองค์ประกอบอื่น ๆ. ยกตัวอย่าง หนังสือ กระบวนการผลิตอาหาร (ภาษาอังกฤษ, กันยายน 1991) ให้ข้อสังเกตว่า “เนื่องจากผู้ดำเนินการผลิตเหล่านั้นซึ่งมีปัญหาใดปัญหาหนึ่งกับพลาสมาจากเนื้อวัวที่สกัดน้ำออกซึ่งมีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ (ในขนมยัดไส้เนื้อ) ในส่วนผสมนั้น ก็จะใช้ส่วนผสมด้วยหางนมที่มีโปรตีนเข้มข้นแทนและอาจเป็นที่รับรองได้ตามกฎศาสนายิว.”
เหมาะสมที่จะเน้นว่ากฎหมาย, ประเพณี, และรสนิยมในหลายประเทศคือว่าตามปกติแล้ว จะให้เลือดไหลออกจากสัตว์ที่ถูกฆ่าและเลือดนั้นจะไม่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ. หากไม่มีมูลเหตุแน่นหนาสำหรับความคิดที่ว่าสภาพการณ์ย่อมต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือที่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ คริสเตียนก็ควรระวังป้องกันการถูกรบกวนโดยสิ่งที่เพียงแต่อาจเป็นไปได้หรือเป็นเพียงข่าวลือ. แต่เมื่อเป็นที่แน่นอนหรือเป็นไปได้ว่ามีการใช้เลือดอย่างกว้างขวาง—ไม่ว่าในอาหารหรือการรักษาทางแพทย์—เราก็ควรตั้งใจแน่วแน่จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ละเว้นจากเลือด.