จงให้ประชาคมสรรเสริญพระยะโฮวา
“เราจะประกาศพระนามของพระองค์แก่พี่น้องของเรา เราจะสรรเสริญพระองค์ในท่ามกลางชุมนุมชน [“ประชาคม,” ล.ม.].”—เฮ็บราย 2:12, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. เหตุใดประชาคมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และบทบาทสำคัญของประชาคมคืออะไร?
ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้คนพบมิตรภาพและความมั่นคงปลอดภัยในครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลระบุว่ามีหน่วยสังคมอีกหน่วยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนทั่วโลกในทุกวันนี้ได้รับมิตรภาพและความมั่นคงปลอดภัยเป็นพิเศษ. หน่วยดังกล่าวได้แก่ประชาคมคริสเตียน. ไม่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ใกล้ชิดกันและให้การเกื้อหนุนหรือไม่ คุณสามารถหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดให้โดยทางประชาคมได้ และควรจะรู้สึกอย่างนั้น. แน่นอน หากคุณคบหาสมาคมกับประชาคมหนึ่งของพยานพระยะโฮวาอยู่แล้ว คุณคงจะยืนยันได้ถึงมิตรภาพอันอบอุ่นที่คุณได้รับที่นั่น รวมทั้งความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่คุณมี.
2 ประชาคมไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มทางสังคม. อีกทั้งไม่ใช่สมาคมของชุมชนหรือชมรมที่ผู้คนซึ่งมีภูมิหลังคล้ายกันหรือมีความสนใจตรงกันในเรื่องกีฬาหรืองานอดิเรกมารวมตัวกัน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ประชาคมประชุมกันโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาพระเจ้า. นับตั้งแต่สมัยอดีต ผู้รับใช้ของพระเจ้าประชุมกันด้วยจุดประสงค์เช่นนั้น ดังที่พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเน้น. ที่บทเพลงสรรเสริญ 35:18 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านดังนี้: “ข้าพระองค์จะโมทนาพระคุณพระองค์ในที่ชุมนุมใหญ่ ข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์ท่ามกลางคนเป็นอันมาก.” คล้ายกัน บทเพลงสรรเสริญ 107:31, 32 (ฉบับแปลใหม่) สนับสนุนเราดังนี้: “ให้เขาขอบพระคุณพระเจ้าเพราะความรักมั่นคงของพระองค์ เพราะการอัศจรรย์ของพระองค์ที่มีต่อบุตรของมนุษย์. ให้เขายอพระเกียรติพระองค์ในชุมนุมประชาชน.”
3. ตามที่เปาโลกล่าว ประชาคมมีบทบาทอะไร?
3 คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเน้นบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประชาคมเมื่อท่านกล่าวถึง “ครอบครัวของพระเจ้า คือประชาคมของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ซึ่งเป็นหลักและรากแห่งความจริง.” (1 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) ในที่นี้เปาโลกล่าวถึงประชาคมไหน? คัมภีร์ไบเบิลในภาษาเดิมใช้คำอะไรเมื่อกล่าวถึงประชาคม?a และประชาคมควรมีผลกระทบเช่นไรต่อชีวิตและความหวังของเรา? เพื่อจะได้คำตอบ ให้เราพิจารณากันก่อนเกี่ยวกับการใช้คำ “ประชาคม” ในพระคำของพระเจ้า.
4. คำ “คาฮาล” มักใช้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างไร?
4 พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้คำ “คาฮาล” ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ชุมนุมชน,” “ที่ประชุม,” “ประชาคม.” คำนี้มาจากรากคำที่มีความหมายว่า “เรียกชุมนุม” หรือ “รวบรวม.” (พระบัญญัติ 4:10; 9:10) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญใช้คำ “คาฮาล” นี้กับกลุ่มของเหล่าทูตสวรรค์และยังใช้คำนี้พรรณนากลุ่มคนที่ชั่วร้ายด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 26:5; 89:5-7) แต่ส่วนใหญ่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้คำนี้กับชาวอิสราเอล. พระเจ้าทรงระบุว่ายาโคบจะกลายเป็น “หลายตระกูล” และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ. (เยเนซิศ 28:3; 35:11; 48:4, ล.ม.) ชาวอิสราเอลถูกเรียกออกมา หรือถูกเลือก ให้เป็น “ชุมนุมชนของพระเจ้า” “พวกสโมสรของพระเจ้า.”—อาฤธโม 20:4, ฉบับแปลใหม่; นะเฮมยา 13:1; ยะโฮซูอะ 8:35; 1 ซามูเอล 17:47; มีคา 2:5.
5. คำกรีกอะไรที่มักแปลว่า “ประชาคม” และสามารถใช้คำนี้ในความหมายใด?
5 คำกรีกที่มีความหมายตรงกันคือเอคคลีเซีย ซึ่งมาจากคำกรีกสองคำที่หมายถึง “ออกมา” และ “เรียก.” คำนี้อาจใช้ได้กับกลุ่มที่ชุมนุมกันด้วยจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ทางศาสนา เช่น “คนทั้งปวงที่ประชุมกัน” ที่เดเมเตรียวปลุกปั่นให้ต่อต้านเปาโลในเมืองเอเฟโซส์. (กิจการ 19:32, 39, 41) แต่โดยทั่วไปแล้ว คัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้กับประชาคมคริสเตียน. ฉบับแปลบางฉบับแปลคำนี้ว่า “คริสตจักร” หรือ “โบสถ์” แต่ดิ อิมพีเรียล ไบเบิล ดิกชันนารี บอกว่า คำนี้ “ไม่เคยบ่งนัยถึงตัวอาคารที่คริสเตียนมารวมตัวกันเพื่อนมัสการด้วยกัน.” อย่างไรก็ตาม น่าสนใจที่เราพบว่าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำ “เอคคลีเซีย” อย่างน้อยในสี่ความหมาย.
ประชาคมของพระเจ้าที่ถูกเจิม
6. ดาวิดและพระเยซูทำอะไรในประชาคม?
6 โดยใช้คำกล่าวของดาวิดที่พบในบทเพลงสรรเสริญ 22:22 กับพระเยซู อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ ‘เราจะประกาศพระนามของพระองค์แก่พี่น้องของเรา เราจะสรรเสริญพระองค์ในท่ามกลางชุมนุมชน [“ประชาคม,” ล.ม.].’ เหตุฉะนั้นพระองค์จึงทรงต้องเป็นเหมือนกับพี่น้องทุกอย่าง เพื่อว่าพระองค์จะได้ทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้กอปรด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อในการกระทำกิจกับพระเจ้า.” (เฮ็บราย 2:12, 17, ฉบับแปลใหม่) ดาวิดสรรเสริญพระเจ้าท่ามกลางชุมนุมชนหรือประชาคมแห่งชาติอิสราเอลโบราณ. (บทเพลงสรรเสริญ 40:9) อย่างไรก็ตาม เปาโลหมายถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวว่าพระเยซูสรรเสริญพระเจ้า “ในท่ามกลางชุมนุมชน” หรือประชาคม? เปาโลหมายถึงประชาคมไหน?
7. พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายหลักอะไร?
7 ข้อความที่เราอ่านในเฮ็บราย 2:12, 17 นั้นสำคัญทีเดียว. ข้อความดังกล่าวแสดงว่า ในความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด พระคริสต์ทรงเป็นสมาชิกของประชาคมซึ่งพระองค์ทรงประกาศพระนามของพระเจ้าแก่เหล่าพี่น้องของพระองค์ที่นั่น. ใครคือพี่น้องเหล่านั้น? ก็คือคนที่ประกอบกันเป็นส่วนของ “พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม” พี่น้องของพระคริสต์ที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ “ผู้เข้าส่วนด้วยกันในการทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์.” (เฮ็บราย 2:16–3:1; มัดธาย 25:40) ฉะนั้น ความหมายหลักของ “ประชาคม” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็คือกลุ่มเหล่าสาวกของพระคริสต์ซึ่งถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. ชนผู้ถูกเจิม 144,000 คนเหล่านี้ประกอบกันเป็น “ประชาคมแห่งบุตรหัวปีซึ่งลงทะเบียนในสวรรค์.”—เฮ็บราย 12:23, ล.ม.
8. พระเยซูทรงชี้ล่วงหน้าอย่างไรถึงการก่อตั้งประชาคมคริสเตียน?
8 พระเยซูทรงระบุว่าจะมีการก่อตั้ง “ประชาคม” คริสเตียนนี้ขึ้น. ประมาณหนึ่งปีก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงบอกอัครสาวกคนหนึ่งว่า “เจ้าคือเปโตร และบนหินก้อนใหญ่นี้ เราจะสร้างประชาคมของเรา และประตูแห่งฮาเดสจะไม่มีอำนาจเหนือประชาคมนี้.” (มัดธาย 16:18, ล.ม.) ทั้งเปโตรและเปาโลเข้าใจถูกต้องว่าพระเยซูเองทรงเป็นหินก้อนใหญ่ที่ทรงบอกไว้ล่วงหน้าในที่นี้. เปโตรเขียนว่า คนที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็น “ศิลาอันมีชีวิตอยู่” แห่งพระนิเวศฝ่ายวิญญาณซึ่งตั้งบนหินก้อนใหญ่นั้น คือพระคริสต์ ได้แก่ ‘ชนชาติที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อจะประกาศเผยแพร่คุณความดีอันล้ำเลิศ’ ของพระองค์ผู้นั้นที่ทรงเรียกพวกเขาออกมา.—1 เปโตร 2:4-9, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 118:22; ยะซายา 8:14; 1 โกรินโธ 10:1-4.
9. ประชาคมของพระเจ้าเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อไร?
9 “ชนชาติที่เป็นสมบัติพิเศษ” นี้เริ่มรวมตัวกันเป็นประชาคมคริสเตียนเมื่อไร? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 เมื่อพระเจ้าทรงเทพระวิญญาณบริสุทธิ์บนเหล่าสาวกที่มาประชุมกันในกรุงเยรูซาเลม. ต่อมาในวันนั้นเอง เปโตรได้บรรยายต่อหน้ากลุ่มชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวอย่างน่าประทับใจ. หลายคนรู้สึกแปลบปลาบใจด้วยเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู; พวกเขากลับใจและรับบัพติสมา. เราพบในรายงานอันเป็นประวัติการณ์ว่ามีสามพันคนที่ทำอย่างนั้น และทันทีหลังจากนั้นพวกเขาก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมของพระเจ้าที่เพิ่งเริ่มต้นและเติบโต. (กิจการ 2:1-4, 14, 37-47) ประชาคมนี้เติบโตขึ้นเนื่องจากมีชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอบรับความจริงที่ว่าชาติอิสราเอลไม่ได้เป็นประชาคมของพระเจ้าอีกต่อไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งประกอบกันเป็น ‘ชนอิสราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า’ ได้กลายมาเป็นประชาคมแท้ของพระเจ้า.—ฆะลาเตีย 6:16; กิจการ 20:28.
10. ความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับประชาคมของพระเจ้าเป็นเช่นไร?
10 บ่อยครั้ง คัมภีร์ไบเบิลแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระเยซูกับชนผู้ถูกเจิม เช่น ในวลี “เกี่ยวด้วยพระคริสต์และประชาคม.” พระเยซูทรงเป็นประมุขของประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณนี้. เปาโลเขียนว่าพระเจ้า “ได้ทรงตั้ง [พระเยซู] ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัตรแห่งคริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์.” (เอเฟโซ 1:22, 23; 5:23, 32, ล.ม.; โกโลซาย 1:18, 24) ในทุกวันนี้ มีชนที่เหลือแห่งสมาชิกผู้ถูกเจิมของประชาคมนี้จำนวนเพียงเล็กน้อยที่ยังคงอยู่บนแผ่นดินโลก. แต่เราแน่ใจได้ว่าประมุขของพวกเขา คือพระเยซูคริสต์ ทรงรักพวกเขา. ความรู้สึกของพระองค์ต่อพวกเขานั้นมีพรรณนาไว้ที่เอเฟโซ 5:25 (ล.ม.) ว่า “พระคริสต์ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.” พระองค์ทรงรักพวกเขาเพราะพวกเขาขันแข็งในการถวาย “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย” เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงทำเมื่อพระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก.—เฮ็บราย 13:15, ล.ม.
“ประชาคม”—ในความหมายอื่น ๆ
11. พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายที่สองเช่นไร?
11 บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายที่จำกัดกว่าหรือเจาะจงกว่า โดยไม่ได้ใช้คำนี้กับชนผู้ถูกเจิม 144,000 คนทั้งกลุ่มซึ่งประกอบกันเป็น “ประชาคมของพระเจ้า.” ตัวอย่างเช่น เปาโลเขียนถึงคริสเตียนกลุ่มหนึ่งว่า “อย่าเป็นเหตุให้พวกยิว พวกกรีก หรือประชาคมของพระเจ้าหลงผิด.” (1 โกรินโธ 10:32, ล.ม.) เห็นได้ชัด หากคริสเตียนในเมืองโครินท์โบราณทำอะไรบางอย่างไม่ถูกต้อง นั่นอาจเป็นเหตุให้บางคนสะดุด. อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวจะสามารถทำให้คนกรีก, คนยิว, หรือชนผู้ถูกเจิมทุกคนสะดุดตั้งแต่ตอนนั้นจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่. ด้วยเหตุนั้น ดูเหมือนว่าในข้อนี้ “ประชาคมของพระเจ้า” ใช้หมายถึงคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง. ฉะนั้น ใครคนหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงชี้นำ, จัดเตรียมให้, หรืออวยพรประชาคม โดยที่หมายถึงคริสเตียนทั้งหมด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนก็ตาม. หรือเราสามารถกล่าวถึงความสุขและสันติสุขซึ่งมีอยู่ทั่วไปในประชาคมของพระเจ้าในทุกวันนี้ โดยหมายถึงในหมู่คริสเตียนทั้งสิ้นที่เป็นพี่น้องกัน.
12. มีการใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายที่สามเช่นไรในคัมภีร์ไบเบิล?
12 คัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายที่สามกับคริสเตียนทั้งสิ้นในเขตหนึ่ง ๆ ทางภูมิศาสตร์. เราอ่านดังนี้: “คริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ตลอดทั่วมณฑลยูดาย, ฆาลิลาย และซะมาเรียจึงมีความสงบสุข.” (กิจการ 9:31) มีคริสเตียนมากกว่าหนึ่งกลุ่มในเขตพื้นที่อันกว้างใหญ่นั้น แต่ทุกกลุ่มในยูเดีย, แกลิลี, และซะมาเรียถูกเรียกว่า “ประชาคม.” เมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้ที่รับบัพติสมาในวันเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33 และหลังจากนั้นไม่นาน อาจมีมากกว่าหนึ่งกลุ่มเสียด้วยซ้ำที่ประชุมกันเป็นประจำในเขตกรุงเยรูซาเลม. (กิจการ 2:41, 46, 47; 4:4; 6:1, 7) เฮโรดอะกริปปาที่ 1 ปกครองยูเดียจนกระทั่งสิ้นชีวิตในปี ส.ศ. 44 และเห็นได้ชัดจาก 1 เธซะโลนิเก 2:14 (ล.ม.) ว่าอย่างช้าก็ไม่เกินปี ส.ศ. 50 ที่ปรากฏว่ามีหลายประชาคมแล้วในยูเดีย. ด้วยเหตุนั้น เมื่อเราอ่านว่าเฮโรด “ได้เหยียดหัตถ์ออกทำร้ายแก่ลางคนในคริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.]” นั่นอาจหมายถึงคริสเตียนมากกว่าหนึ่งกลุ่มที่ประชุมกันในกรุงเยรูซาเลม.—กิจการ 12:1.
13. คัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “ประชาคม” เช่นไรในความหมายที่สี่ซึ่งใช้กันโดยทั่วไป?
13 ประการที่สี่ การใช้คำ “ประชาคม” ในความหมายที่จำกัดยิ่งกว่าความหมายก่อนหน้านี้และใช้กันโดยทั่วไปมากกว่า เป็นการใช้เพื่อกล่าวถึงคริสเตียนที่ประกอบกันเป็นประชาคมท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่น ในบ้าน. เปาโลกล่าวถึง “ประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตีย.” มีมากกว่าหนึ่งประชาคมในแคว้นที่มีขนาดใหญ่อย่างนั้นของจักรวรรดิโรม. เปาโลใช้คำ “ประชาคม” ในรูปพหูพจน์สองครั้งเกี่ยวข้องกับแคว้นกาลาเทีย ซึ่งก็คงหมายรวมถึงประชาคมในเมืองอันทิโอก, เดอร์เบ, ลิสตรา, และอิโกนิอัน. ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ดูแลที่มีคุณวุฒิได้รับการแต่งตั้งในประชาคมท้องถิ่นเหล่านี้. (1 โกรินโธ 16:1; ฆะลาเตีย 1:2, ล.ม.; กิจการ 14:19-23) ตามในพระคัมภีร์ ประชาคมเหล่านั้นทุกประชาคมเป็น “คริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ของพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 11:16; 2 เธซะโลนิเก 1:4.
14. เราอาจสรุปได้เช่นไรจากการใช้คำ “ประชาคม” ในข้อพระคัมภีร์บางข้อ?
14 ในบางกรณี กลุ่มที่คริสเตียนประชุมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อจะสามารถประชุมกันในบ้านส่วนตัวได้. แม้กระนั้น คำ “ประชาคม” ก็ยังใช้กับกลุ่มเล็ก ๆ แบบนี้. เท่าที่เรารู้ก็มีประชาคมต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้านของอะกูลาและปริศกีลา, นุมฟา, และฟิเลโมน. (โรม 16:3-5; โกโลซาย 4:15; ฟิเลโมน 2) นี่น่าจะให้การหนุนใจแก่ประชาคมท้องถิ่นในทุกวันนี้ที่มีขนาดเล็ก ๆ และประชาคมที่อาจประชุมกันเป็นประจำในบ้านส่วนตัว. พระยะโฮวาทรงยอมรับประชาคมเล็ก ๆ เช่นนั้นในศตวรรษแรก และพระองค์ทรงยอมรับเช่นนั้นด้วยในทุกวันนี้อย่างแน่นอน—ทรงอวยพรประชาคมเหล่านั้นโดยทางพระวิญญาณ.
ประชาคมต่าง ๆ สรรเสริญพระยะโฮวา
15. พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจอย่างไรในบางประชาคมในยุคแรก?
15 เราได้กล่าวไปแล้วว่าในความสำเร็จเป็นจริงของบทเพลงสรรเสริญ 22:22 พระเยซูทรงสรรเสริญพระเจ้าท่ามกลางประชาคม. (เฮ็บราย 2:12) สาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ต้องทำอย่างเดียวกัน. ย้อนไปในศตวรรษแรก เมื่อคริสเตียนแท้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นบุตรทั้งหลายของพระเจ้าและด้วยเหตุนั้นจึงเป็นพี่น้องของพระคริสต์ พระวิญญาณดำเนินกิจในบางคนเพิ่มเติมในวิธีพิเศษ. พวกเขาได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณอันมหัศจรรย์. ของประทานดังกล่าวปรากฏให้เห็นในรูปคำบรรยายพิเศษที่เปี่ยมสติปัญญาหรือความรู้, อำนาจในการรักษาโรคหรือพยากรณ์, หรือแม้กระทั่งความสามารถในการพูดภาษาต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่รู้มาก่อน.—1 โกรินโธ 12:4-11.
16. จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของของประทานแห่งพระวิญญาณอันมหัศจรรย์คืออะไร?
16 เปาโลกล่าวเกี่ยวกับการพูดอีกภาษาหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าจะร้องเพลงโดยอาศัยของประทานโดยพระวิญญาณ แต่ข้าพเจ้าก็จะร้องเพลงจากใจด้วย.” (1 โกรินโธ 14:15, ล.ม.) ท่านตระหนักถึงความสำคัญที่คนอื่นจะเข้าใจคำกล่าวของท่าน และเมื่อเป็นอย่างนั้นจึงจะได้รับการสอน. จุดมุ่งหมายของเปาโลคือการสรรเสริญพระยะโฮวาในประชาคม. ท่านกระตุ้นคนอื่นที่มีของประทานแห่งพระวิญญาณว่า “จงอุสส่าห์กระทำตัวของตนให้สามารถที่จะกระทำให้คริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] จำเริญขึ้น” ซึ่งก็หมายถึงประชาคมท้องถิ่นที่พวกเขาใช้ของประทานที่ได้รับ. (1 โกรินโธ 14:4, 5, 12, 23) เห็นได้ชัด เปาโลสนใจประชาคมท้องถิ่นต่าง ๆ โดยทราบว่าในแต่ละประชาคม คริสเตียนจะมีโอกาสสรรเสริญพระเจ้า.
17. เราแน่ใจได้ในเรื่องใดเกี่ยวกับประชาคมท้องถิ่นในทุกวันนี้?
17 พระยะโฮวาทรงใช้และสนับสนุนประชาคมของพระองค์อยู่เสมอ. พระองค์ทรงอวยพรกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้. เรื่องนี้เห็นได้จากการที่ประชาชนของพระเจ้ามีอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์. (ลูกา 12:42) พระองค์กำลังอวยพรสังคมพี่น้องทั่วโลกโดยรวมทั้งหมด. และพระองค์กำลังอวยพรประชาคมท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ที่เราสรรเสริญพระผู้สร้างของเราด้วยการกระทำและความคิดเห็นที่เสริมสร้างคนอื่น ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ. ที่นั่น เราได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อเราจะสามารถสรรเสริญพระเจ้าในโอกาสอื่น ๆ เมื่อตัวเราไม่ได้อยู่กับพี่น้องในประชาคม.
18, 19. คริสเตียนที่จริงใจในประชาคมท้องถิ่นทุกแห่งต้องการทำอะไร?
18 ขอให้นึกถึงอัครสาวกเปาโลที่กระตุ้นคริสเตียนในประชาคมท้องถิ่นในเมืองฟิลิปปี มณฑลมาซิโดเนีย ว่า “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป . . . เพื่อ [ท่าน] จะเปี่ยมด้วยผลแห่งความชอบธรรม ซึ่งมีขึ้นโดยทางพระเยซูคริสต์ เพื่อสง่าราศีและคำสรรเสริญแด่พระเจ้า.” นั่นคงรวมถึงการที่พวกเขาพูดกับคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกประชาคมเรื่องความเชื่อของตนในพระเยซูและความหวังอันยอดเยี่ยม. (ฟิลิปปอย 1:9-11, ล.ม.; 3:8-11) ด้วยเหตุนั้น เปาโลกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “ให้เราถวายคำสรรเสริญพระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอโดย [พระเยซู] นั้น, คือผลแห่งริมฝีปากที่กล่าวสรรเสริญพระนามของพระองค์.”—เฮ็บราย 13:15.
19 คุณพบความยินดีในการสรรเสริญพระเจ้า “ท่ามกลางชุมนุมชน [“ประชาคม,” ล.ม.]” เช่นเดียวกับพระเยซู และในการใช้ริมฝีปากสรรเสริญพระยะโฮวาโดยพูดกับคนที่ยังไม่รู้จักและยังไม่ได้สรรเสริญพระองค์ไหม? (เฮ็บราย 2:12, ฉบับแปลใหม่; โรม 15:9-11) ในระดับหนึ่ง คำตอบของเราเป็นส่วนตัวอาจขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของประชาคมท้องถิ่นที่เราสมทบซึ่งเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ในบทความถัดไป ให้เราพิจารณากันว่าพระยะโฮวากำลังชี้นำและใช้ประชาคมท้องถิ่นของเราอย่างไรและประชาคมควรมีบทบาทเช่นไรต่อชีวิตของเราในทุกวันนี้.
[เชิงอรรถ]
a ในพระคัมภีร์ภาษาไทย ฉบับแปลต่าง ๆ ใช้คำ “คริสตจักร” เป็นส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก ในขณะที่ฉบับแปลโลกใหม่ใช้คำ “ประชาคม.” คำฮีบรูที่ความหมายตรงกันซึ่งใช้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการแปลโดยใช้คำที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง เช่น “ที่ประชุม,” “ชุมนุมชน,” “คณะประชุม,” “ฝูงคน.”
คุณจำได้ไหม?
• “ประชาคมของพระเจ้า” ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมเกิดขึ้นมาอย่างไร?
• คัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “ประชาคม” ในอีกสามความหมายอะไร?
• ดาวิด, พระเยซู, และคริสเตียนในศตวรรษแรกต้องการทำอะไรในส่วนที่เกี่ยวกับประชาคม และนั่นควรมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
[ภาพหน้า 21]
พระเยซูทรงเป็นรากของประชาคมไหน?
[ภาพหน้า 23]
กลุ่มคริสเตียนในท้องถิ่นประชุมร่วมกันในฐานะ “ประชาคมของพระเจ้า”
[ภาพหน้า 24]
เช่นเดียวกับคริสเตียนในเบนิน เราสามารถสรรเสริญพระยะโฮวาท่ามกลางคนที่ประชุมด้วยกัน