ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นเรื่องแน่นอน!
“ข้าพเจ้ามีความหวังในพระเจ้า . . . ว่าจะมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย.”—กิจ. 24:15, ล.ม.
1. เหตุใดเราสามารถมีความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
พระยะโฮวาทรงให้เหตุผลอันหนักแน่นแก่เราสำหรับความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตาย. เราได้รับคำรับรองจากพระองค์ว่าคนตายจะเป็นขึ้น ลุกขึ้นมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง. และพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวด้วยคนที่หลับอยู่ในความตายจะสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอน. (ยะซายา 55:11; ลูกา 18:27) ที่จริง พระเจ้าได้เคยสำแดงอำนาจในการปลุกคนตายมาแล้ว.
2. ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร?
2 ความเชื่อในการจัดเตรียมของพระเจ้าที่จะปลุกคนตายให้เป็นขึ้นโดยทางพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ สามารถค้ำจุนเราได้ในสมัยอันเต็มไปด้วยความตึงเครียด. ความแน่นอนแห่งความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายยังช่วยเราได้ด้วยให้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราถึงขนาดที่ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต. ความหวังของเราในการกลับเป็นขึ้นจากตายน่าจะได้รับการเสริมให้มั่นคงขึ้นเมื่อเราพิจารณาการฟื้นคืนสู่ชีวิตของหลายคนซึ่งมีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. การอัศจรรย์ทั้งหมดนี้สำเร็จได้โดยอำนาจจากพระยะโฮวา พระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร.
พวกเขาได้รับคนที่ตายไปโดยการกลับเป็นขึ้นจากตาย
3. เอลียาได้รับอำนาจให้ทำอะไรเมื่อบุตรชายหญิงม่ายเมืองซาเร็บตาเสียชีวิต?
3 ในการทบทวนที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความเชื่อของเหล่าพยานของพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียน อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พวกผู้หญิงได้รับพวกของตนที่ตายไปโดยการกลับเป็นขึ้นจากตาย.” (เฮ็บราย 11:35, ล.ม.; 12:1) ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้ได้แก่หญิงม่ายยากจนในเมืองซาเร็บตาแห่งฟินิเซีย. เนื่องด้วยการที่เธอได้ต้อนรับขับสู้เอลียาผู้พยากรณ์ของพระเจ้า เธอจึงมีแป้งและน้ำมันใช้ไม่รู้จักหมดอย่างอัศจรรย์ ในช่วงที่เกิดการกันดารอาหารซึ่งคงจะทำให้เธอและบุตรชายเสียชีวิต. ต่อมา เมื่อเด็กคนนี้ได้เสียชีวิตไป เอลียาวางเขาลงบนที่นอน อธิษฐาน เหยียดตัวทับเด็กนั้นสามครั้ง และทูลวิงวอนว่า “ข้าแต่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของข้าพระองค์ขอชีวิต [“จิตวิญญาณ,” ล.ม.] ของเด็กคนนี้มาเข้าในตัวเขาอีก.” พระเจ้าทรงบันดาลให้จิตวิญญาณหรือชีวิตกลับเข้าในตัวเด็กคนนี้จริง ๆ. (1 กษัตริย์ 17:8-24, ฉบับแปลใหม่) ขอให้นึกภาพดูก็แล้วกันถึงความยินดีของหญิงม่ายคนนี้เมื่อความเชื่อของเธอได้รับรางวัลตอบแทนด้วยการกลับเป็นขึ้นจากตายครั้งแรกที่มีบันทึกไว้—การกลับเป็นขึ้นจากตายของบุตรชายสุดที่รักของเธอเอง!
4. อะลีซาทำการอัศจรรย์อะไรในเมืองซุเนม?
4 สตรีอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับคนที่ตายไปโดยการกลับเป็นขึ้นจากตายอาศัยอยู่ในเมืองซุเนม. เธอผู้นี้ซึ่งเป็นภรรยาของชายสูงอายุ ได้แสดงความกรุณาต่อผู้พยากรณ์อะลีซาและคนรับใช้. เธอได้รับรางวัลตอบแทนด้วยการมีบุตรชายคนหนึ่ง. อย่างไรก็ดี หลายปีต่อมา เธอใช้คนให้ไปตามผู้พยากรณ์ และเมื่อท่านมาที่บ้านของเธอก็พบว่าเด็กนั้นตายเสียแล้ว. หลังจากอะลีซาอธิษฐานและทำตามขั้นตอนบางอย่าง “เนื้อของเด็กนั้นก็อุ่นขึ้น.” เด็กนั้น “จามเจ็ดครั้ง, แล้วก็ลืมตาขึ้น.” ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกลับเป็นขึ้นจากตายดังกล่าวนำความยินดีอันใหญ่หลวงมาสู่แม่ลูกทั้งสอง. (2 กษัตริย์ 4:8-37; 8:1-6) แต่ทั้งสองจะมีความสุขมากกว่านี้สักเพียงใด เมื่อได้รับการปลุกให้มีชีวิตบนแผ่นดินโลกใน “การกลับเป็นขึ้นจากตายที่ดีกว่า” ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะไม่ตายอีกเลย! นั่นย่อมเป็นสาเหตุอันยอดเยี่ยมที่จะขอบคุณพระยะโฮวา พระเจ้าแห่งการกลับเป็นขึ้นจากตายผู้เปี่ยมด้วยความรัก!—เฮ็บราย 11:35, ล.ม.
5. อะลีซามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอัศจรรย์อย่างไรแม้แต่หลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว?
5 แม้แต่หลังจากอะลีซาเสียชีวิตและถูกฝังแล้ว พระเจ้าทรงบันดาลให้กระดูกของท่านมีฤทธิ์เดชโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. เราอ่านดังนี้: “เมื่อ [ชาวยิศราเอลกลุ่มหนึ่ง] กำลังส่งศพคนหนึ่งไป นี่แน่ะ เขาเห็นโจร [ชาวโมอาบ] หมู่หนึ่ง เขาจึงโยนศพชายคนนั้นลงไปในอุโมงค์ของเอลีชา พอศพชายคนนั้นแตะต้องกระดูกของเอลีชา เขาก็คืนชีวิตลุกขึ้นยืน.” (2 กษัตริย์ 13:20, 21, ฉบับแปลใหม่) ชายคนนั้นคงต้องประหลาดใจและมีความสุขสักเพียงไร! ขอให้นึกภาพถึงความยินดีที่เราจะประสบเมื่อผู้เป็นที่รักของเราได้รับการปลุกให้กลับมีชีวิต ตามพระประสงค์ที่ไม่มีทางล้มเหลวของพระยะโฮวาพระเจ้า!
พระบุตรของพระเจ้าทรงปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก
6. พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อะไรใกล้ ๆ เมืองนาอิน และเหตุการณ์นี้อาจมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
6 พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้าทรงให้เหตุผลอันหนักแน่นแก่เราที่จะเชื่อว่า คนตายสามารถถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย พร้อมด้วยความคาดหวังที่จะมีชีวิตนิรันดร์. เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นใกล้ ๆ เมืองนาอินช่วยเราให้ตระหนักว่า การอัศจรรย์เช่นนั้นเป็นไปได้โดยอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า. ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงพบกับหลายคนที่โศกเศร้ากำลังหามศพชายหนุ่มคนหนึ่งออกไปจากเมืองเพื่อจะเอาไปฝัง. เขาเป็นลูกโทนของหญิงม่าย. พระเยซูตรัสแก่เธอว่า “หยุดร้องไห้เถิด.” จากนั้น พระองค์ทรงแตะแคร่หามศพนั้นแล้วตรัสว่า “ชายหนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า ลุกขึ้นเถิด!” เมื่อตรัสขาดคำ เขาก็ลุกขึ้นนั่งและพูด. (ลูกา 7:11-15, ล.ม.) การอัศจรรย์นี้เสริมความเชื่อมั่นของเราแน่ ๆ ว่า ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นเรื่องแน่นอน.
7. เกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวของญายโร?
7 ขอให้พิจารณาด้วยถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับญายโร นายธรรมศาลาในเมืองกัปเรนาอูม. เขาทูลขอให้พระเยซูเสด็จมาช่วยลูกสาวอายุ 12 ปีผู้เป็นที่รักของเขา ซึ่งนอนป่วยอยู่ใกล้ตาย. ไม่ช้า มีคนมารายงานว่าเด็กหญิงนี้ตายเสียแล้ว. พระเยซูทรงกระตุ้นญายโรผู้เป็นทุกข์โศกให้สำแดงความเชื่อ แล้วทรงร่วมเดินทางไปที่บ้านของเขา ซึ่งฝูงชนกำลังร้องไห้ร้องห่มอยู่ในที่นั้น. พวกเขาหัวเราะเมื่อพระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “เด็กนั้นไม่ตาย, แต่นอนหลับอยู่.” เธอตายแล้วจริง ๆ แต่พระเยซูกำลังจะแสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถถูกปลุกให้กลับมีชีวิตแบบเดียวกับที่เขาถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับสนิท. พระองค์ทรงจับมือเด็กหญิงนั้นไว้ แล้วตรัสว่า “ลูกเอ๋ย, จงลุกขึ้นเถิด!” เธอลุกขึ้นทันที และ “บิดามารดาของเด็กนั้นก็ประหลาดใจนัก [“ตื่นเต้นอย่างยิ่ง,” ล.ม.] ” ด้วยความปีติยินดี. (มาระโก 5:35-43; ลูกา 8:49-56) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมาชิกในครอบครัวจะ “ตื่นเต้นอย่างยิ่ง” เมื่อผู้เป็นที่รักซึ่งตายไปได้ถูกปลุกให้มีชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.
8. พระเยซูทรงทำอะไรที่อุโมงค์ศพของลาซะโร?
8 ลาซะโรได้ตายไปแล้วสี่วันเมื่อพระเยซูทรงไปที่อุโมงค์ศพของเขาและสั่งให้กลิ้งหินที่ปิดอยู่ตรงปากทางเข้าออกไป. หลังจากทรงอธิษฐานอย่างเปิดเผยให้ผู้ที่ดูอยู่ทราบว่าพระองค์ทรงหมายพึ่งอำนาจจากพระเจ้า พระเยซูตรัสด้วยเสียงอันดังว่า “ลาซะโรเอ๋ย ออกมาเถิด!” และเขาก็ออกมา! มือและเท้าของเขายังคงพันด้วยผ้าพันศพ และใบหน้าก็ถูกปิดไว้ด้วยผ้า. พระเยซูตรัสว่า “จงแก้เขาและให้เขาไปเถิด.” เมื่อเห็นการอัศจรรย์นี้ หลายคนที่อยู่ที่นั่นเพื่อปลอบโยนมาเรียและมาธาพี่สาวของลาซะโรจึงแสดงความเชื่อในพระเยซู. (โยฮัน 11:1-45, ล.ม.) บันทึกนี้ทำให้คุณมีความหวังว่าคนที่คุณรักอาจถูกปลุกให้มีชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้ามิใช่หรือ?
9. เหตุใดเราแน่ใจได้ว่าในเวลานี้พระเยซูทรงสามารถปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก?
9 เมื่อโยฮันผู้ให้บัพติสมาถูกจำคุกอยู่ พระเยซูทรงส่งข่าวสารที่ให้กำลังใจไปถึงท่านดังนี้: “คนตาบอดก็เห็นได้, . . . คนตายแล้วก็เป็นขึ้นมา.” (มัดธาย 11:4-6) เนื่องจากเมื่อครั้งอยู่บนแผ่นดินโลกพระเยซูทรงปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าในเวลานี้พระองค์ทรงสามารถทำอย่างนั้นได้ในฐานะกายวิญญาณที่เปี่ยมด้วยอำนาจซึ่งได้รับจากพระเจ้า. พระเยซูทรงเป็น “การกลับเป็นขึ้นจากตายและเป็นชีวิต” และช่างให้การปลอบประโลมใจสักเพียงใดที่ทราบว่าอีกไม่นาน “บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของพระองค์ และจะออกมา”!—โยฮัน 5:28, 29; 11:25, ล.ม.
การกลับเป็นขึ้นจากตายอื่น ๆ เสริมความหวังของเรา
10. คุณจะพรรณนาอย่างไรถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายครั้งแรกที่มีรายงานว่าทำโดยอัครสาวก?
10 เมื่อพระเยซูส่งอัครสาวกออกไปให้เป็นผู้ประกาศเรื่องราชอาณาจักร พระองค์ตรัสว่า “จง . . . ปลุกคนตายให้ฟื้น.” (มัดธาย 10:5-8, ล.ม.) แน่นอน เพื่อจะทำอย่างนั้น พวกเขาต้องหมายพึ่งอำนาจของพระเจ้า. ที่เมืองยบเปในปี ส.ศ. 36 โดระกา (ตะบีธา) สตรีผู้เลื่อมใสในพระเจ้าได้เสียชีวิตลง. เธอเคยทำการดีหลายอย่าง ซึ่งก็รวมถึงการเย็บเสื้อผ้าให้แก่เหล่าแม่ม่ายที่ขัดสน การเสียชีวิตของเธอจึงทำให้แม่ม่ายเหล่านี้ร่ำไห้กันมาก. เหล่าสาวกได้เตรียมศพไว้พร้อมที่จะฝัง และใช้คนให้ไปตามอัครสาวกเปโตร ซึ่งก็คงจะเพื่อให้ท่านมาปลอบโยน. (กิจการ 9:32-38) ท่านบอกทุกคนให้ออกไปเสียจากห้องชั้นบน อธิษฐาน แล้วกล่าวว่า “ตะบีธาเอ๋ย, จงลุกขึ้น.” เธอลืมตา ลุกขึ้นนั่ง จับมือเปโตรไว้ และท่านก็พยุงเธอให้ลุกขึ้น. การกลับเป็นขึ้นจากตายในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีรายงานไว้ว่าทำโดยอัครสาวก ทำให้หลายคนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. (กิจการ 9:39-42) เรื่องนี้ยังได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมแก่เราด้วยที่จะมีความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
11. การกลับเป็นขึ้นจากตายคราวใดเป็นครั้งสุดท้ายที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล?
11 การกลับเป็นขึ้นจากตายครั้งสุดท้ายที่คัมภีร์ไบเบิลบันทึกไว้เกิดขึ้นที่เมืองโตรอา. เมื่อเปาโลแวะที่นั่นในการเดินทางมิชชันนารีรอบที่สาม ท่านบรรยายยืดยาวไปจนถึงเที่ยงคืน. ด้วยความอ่อนเพลียและอาจจะเนื่องจากความร้อนของตะเกียงหลายดวง ตลอดจนความแออัดยัดเยียดในที่ประชุม ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อยูตุโคจึงผล็อยหลับและพลัดตกจากหน้าต่างชั้นสาม. “เมื่อยกขึ้นก็เห็นว่าตายเสียแล้ว” ไม่ใช่แค่สลบไป. เปาโลลดตัวลงไปทับตัวยูตุโคและกอดเขาไว้ แล้วบอกผู้ที่ดูอยู่ว่า “อย่าเป็นทุกข์เลย ด้วยว่าวิญญาณจิตต์ยังอยู่ในตัวเขา.” เปาโลหมายความว่าชีวิตของชายหนุ่มคนนี้ถูกกู้กลับคืนมาแล้ว. คนทั้งหลายที่อยู่ที่นั่น “ก็ปลื้มใจยินดีเป็นอันมาก.” (กิจการ 20:7-12) ปัจจุบัน ผู้รับใช้ของพระเจ้าพบความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าเพื่อนร่วมรับใช้พระเจ้าของพวกเขาในอดีตจะประสบความสำเร็จเป็นจริงของความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
การกลับเป็นขึ้นจากตาย—ความหวังที่มีมาช้านาน
12. เปาโลแสดงความเชื่อมั่นเช่นไรเมื่ออยู่ต่อหน้าเฟลิกซ์ผู้สำเร็จราชการชาวโรมัน?
12 เมื่อถูกพิจารณาคดีต่อหน้าเฟลิกซ์ ผู้สำเร็จราชการชาวโรมัน เปาโลให้การว่า “ข้าพเจ้าได้เชื่อถือคำซึ่งเขียนไว้ในคัมภีร์พระบัญญัติและในคัมภีร์ของศาสดาพยากรณ์ทั้งหมด. ข้าพเจ้ามีความหวังใจในพระเจ้า . . . ว่าคนทั้งปวงทั้งคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.” (กิจการ 24:14, 15) ส่วนต่าง ๆ ในพระคำของพระเจ้า เช่น “พระบัญญัติ” ชี้อย่างไรถึงการปลุกคนตายให้ฟื้น?
13. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงพาดพิงถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายเมื่อพระองค์ตรัสคำพยากรณ์แรก?
13 พระเจ้าเองทรงพาดพิงถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายในคราวที่พระองค์ตรัสคำพยากรณ์แรกในสวนเอเดน. เมื่อพิพากษา “งูตัวแรกเดิม” คือซาตานพญามาร พระเจ้าตรัสว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (วิวรณ์ 12:9, ล.ม.; เยเนซิศ 3:14, 15, ล.ม.) การบดขยี้ส้นเท้าของพงศ์พันธุ์ของหญิงหมายถึงการฆ่าพระเยซูคริสต์. หากพงศ์พันธุ์นั้นจะเป็นผู้ทำให้หัวของงูฟกช้ำในภายหลัง พระคริสต์ก็จะต้องถูกปลุกให้คืนพระชนม์.
14. หมายความอย่างไรที่ว่าพระยะโฮวา “มิได้เป็นพระเจ้าของคนตาย, แต่เป็นพระเจ้าของคนเป็น”?
14 พระเยซูทรงประกาศว่า “ที่คนตายจะเป็นขึ้นใหม่นั้น โมเซก็ยังได้สำแดงในเรื่องพุ่มไม้คือที่ได้เรียกพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าของอับราฮาม, พระเจ้าของยิศฮาค, และพระเจ้าของยาโคบ. เพราะว่าพระเจ้ามิได้เป็นพระเจ้าของคนตาย, แต่เป็นพระเจ้าของคนเป็น ด้วยว่าจำเพาะพระเจ้าคนทุกคนยังเป็นอยู่.” (ลูกา 20:27, 37, 38; เอ็กโซโด 3:6) อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบได้ตายไปแล้ว แต่พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะปลุกพวกเขาให้เป็นขึ้นนั้นจะต้องสำเร็จอย่างแน่นอนถึงขนาดที่ว่า จำเพาะพระองค์ พวกเขาเป็นเหมือนคนที่ยังมีชีวิตอยู่.
15. เหตุใดอับราฮามจึงมีเหตุผลที่จะเชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
15 อับราฮามมีเหตุผลสำหรับความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตาย เพราะเมื่อท่านกับภรรยาคือซาราชรามากและได้ตายไปแล้วในด้านความสามารถที่จะให้กำเนิดบุตร พระเจ้าทรงฟื้นฟูอำนาจในการสืบพันธุ์ให้แก่ทั้งสองอย่างอัศจรรย์. เรื่องนี้คล้ายกันกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (เยเนซิศ 18:9-11; 21:1-3; เฮ็บราย 11:11, 12) เมื่อยิศฮาคบุตรชายของทั้งสองอายุประมาณ 25 ปี พระเจ้ามีรับสั่งให้อับราฮามถวายเขาเป็นเครื่องบูชา. อย่างไรก็ตาม ขณะที่อับราฮามกำลังจะฆ่ายิศฮาคนั้นเอง ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาก็ฉุดรั้งมือของท่านไว้. อับราฮาม “ถือว่าพระเจ้าสามารถจะปลุก [ยิศฮาค] ให้เป็นขึ้นจากตายได้; และจากสภาพนั้น ท่านได้รับเขาคืนมาในแบบที่เป็นตัวอย่าง.”—เฮ็บราย 11:17-19, ล.ม.; เยเนซิศ 22:1-18.
16. ในเวลานี้ อับราฮามหลับอยู่ในความตายคอยท่าอะไรอยู่?
16 อับราฮามมีความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตายภายใต้การปกครองของพระมาซีฮา พงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้. จากมุมมองของพระองค์ก่อนจะลงมาเป็นมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าทรงสังเกตเห็นความเชื่อของอับราฮาม. ในฐานะมนุษย์เยซูคริสต์ พระองค์จึงตรัสแก่ชาวยิวว่า “อับราฮามบิดาของเจ้าทั้งหลายชื่นชมยินดีเป็นอันมากที่จะได้เห็นวันของเรา.” (โยฮัน 8:56-58, ล.ม.; สุภาษิต 8:30, 31) บัดนี้อับราฮามหลับอยู่ในความตาย คอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตบนแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า.—เฮ็บราย 11:8-10, 13.
หลักฐานจากพระบัญญัติและบทเพลงสรรเสริญ
17. “คำซึ่งเขียนไว้ในคัมภีร์พระบัญญัติ” ชี้ถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์อย่างไร?
17 ความหวังของเปาโลในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายสอดคล้องกับ “คำซึ่งเขียนไว้ในคัมภีร์พระบัญญัติ.” พระเจ้าตรัสแก่ชาวยิศราเอลว่า “จงเอาฟ่อนข้าวมัดหนึ่งที่เกี่ยวไว้ก่อนมาถึงปุโรหิต. และ [ในวันที่ 16 เดือนไนซาน] ปุโรหิตจะเอาฟ่อนข้าวนั้นยกขึ้นเหวี่ยงไปมาต่อพระพักตร์พระยะโฮวา, จะเป็นที่ให้ได้ความชอบ.” (เลวีติโก 23:9-14) อาจเป็นได้ว่าโดยคิดถึงพระบัญญัติข้อนี้ เปาโลจึงเขียนว่า “พระคริสต์ทรงคืนพระชนม์แล้ว, และทรงเป็นผลแรกในพวกคนทั้งหลายที่ได้ล่วงหลับไปแล้วนั้น.” ในฐานะ “ผลแรก” พระเยซูถูกปลุกให้คืนพระชนม์ในวันที่ 16 เดือนไนซาน ส.ศ. 33. ภายหลัง ในระหว่างการประทับของพระองค์ จะมีการกลับเป็นขึ้นจากตายของ ‘ผลหลัง’ ซึ่งก็คือเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณนั่นเอง.— 1 โกรินโธ 15:20-23; 2 โกรินโธ 1:21; 1 โยฮัน 2:20, 27.
18. เปโตรแสดงอย่างไรว่าการคืนพระชนม์ของพระเยซูมีบอกไว้ล่วงหน้าในบทเพลงสรรเสริญ?
18 พระธรรมบทเพลงสรรเสริญก็ให้การสนับสนุนเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายด้วย. ในวันเพนเตคอสเต ส.ศ. 33 อัครสาวกเปโตรยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 16:8-11 โดยกล่าวว่า “กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวถึง [พระคริสต์] ไว้ว่า, ‘ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าตรงหน้าข้าพเจ้าเป็นนิตย์ เพราะว่าพระองค์ทรงสถิตอยู่ข้างมือขวาของข้าพเจ้า, เพื่อข้าพเจ้าจะมิได้สะเทือนสะท้านไป. เหตุฉะนั้นใจข้าพเจ้าจึงชื่นชม, ลิ้นข้าพเจ้าจึงยินดี, และเนื้อข้าพเจ้าจะพักพิงอยู่ในความไว้ใจ เพราะว่าพระองค์จะไม่ทิ้งจิตต์วิญญาณข้าพเจ้าไว้ในเมืองผี [“ฮาเดส,” ล.ม.], ทั้งจะไม่ทรงให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เปื่อยเน่าไป.’ ” เปโตรเสริมอีกว่า “ดาวิดก็ล่วงรู้เหตุนี้ก่อน, จึงกล่าวถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์ว่าวิญญาณจิตต์ของพระองค์ไม่ต้องละไว้ในเมืองผี [“ฮาเดส,” ล.ม.], ทั้งพระมังสะของพระองค์ก็ไม่เปื่อยเน่าไป. พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว.”—กิจการ 2:25-32.
19, 20. เปโตรยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 118:22 ในโอกาสใด และเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระเยซู?
19 ไม่กี่วันต่อมา เปโตรยืนต่อหน้าศาลซันเฮดรินและยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญอีกครั้งหนึ่ง. เมื่อถูกถามว่าท่านรักษาขอทานพิการโดยวิธีใด อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “ก็ให้ท่านทั้งหลายกับบรรดาพลยิศราเอลทราบเถิดว่า, โดยพระนามของพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ, ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนและซึ่งพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คืนพระชนม์, โดยพระองค์นั้นคนป่วยนี้ที่ยืนอยู่ต่อหน้าท่านทั้งหลายได้หายเป็นปกติ. [พระเยซู] นั้นแหละเป็น ‘ศิลาที่ท่านทั้งหลายผู้เป็นช่างก่อได้ประมาทไม่ยอมใช้แล้ว, แต่ผู้นั้นยังตั้งเป็นหัวมุมอยู่.’ ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งเป็นที่รอดแก่เราทั้งหลายไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า.”—กิจการ 4:10-12.
20 ในที่นี้ เปโตรยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 118:22 ใช้ข้อนี้กับการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระเยซู. โดยถูกกระตุ้นจากพวกหัวหน้าศาสนา ชาวยิวปฏิเสธพระเยซู. (โยฮัน 19:14-18; กิจการ 3:14, 15) ‘การที่พวกช่างก่อปฏิเสธศิลานั้น’ ยังผลเป็นการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ แต่ ‘ศิลานั้นได้กลายมาเป็นหัวมุม’ บ่งชี้ถึงการที่พระองค์ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์สู่สง่าราศีฝ่ายวิญญาณในสวรรค์. ดังที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบอกไว้ล่วงหน้า “นี่แหละเป็นกิจการของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 118:23) การทำ “ศิลา” นี้ให้เป็นหัวมุมหมายรวมถึงการยกพระองค์ขึ้นเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์.—เอเฟโซ 1:19, 20.
ได้รับการค้ำจุนโดยความหวังเรื่อง การกลับเป็นขึ้นจากตาย
21, 22. โยบแสดงออกถึงความหวังในเรื่องใด ดังบันทึกไว้ที่โยบ 14:13-15 และเรื่องนี้ให้การปลอบโยนอย่างไรสำหรับผู้ที่สูญเสียผู้เป็นที่รักในทุกวันนี้?
21 แม้ว่าเราเองไม่เคยเห็นใครถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย เราได้สังเกตเรื่องราวบางเรื่องในพระคัมภีร์ที่ทำให้เรามั่นใจในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ด้วยเหตุนั้น เราสามารถมีความหวังอย่างที่โยบผู้ซื่อตรงได้แสดงให้เห็น. เมื่อท่านทนทุกข์อยู่นั้น ท่านทูลวิงวอนว่า “โอ้หากว่าพระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงซ่อนข้าฯ ไว้ในหลุมฝังศพ . . . โดยมีเวลาที่ทรงกำหนดไว้สำหรับข้าฯ, แล้วจะระลึกถึงข้าฯ อีกทีก็จะดี. ถ้ามนุษย์ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาอีกหรือ? . . . พระองค์จะทรงเรียก, และข้าฯ จะทูลตอบ, และพระองค์จะทรงพอพระทัย [“อาลัยอาวรณ์,” ฉบับแปลใหม่] ในหัตถกรรมของพระองค์.” (โยบ 14:13-15) พระเจ้า ‘จะทรงอาลัยอาวรณ์ผลงานแห่งฝีพระหัตถ์ของพระองค์’ ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะปลุกโยบให้มีชีวิตอีก. นั่นช่างให้ความหวังแก่เราสักเพียงไร!
22 สมาชิกในครอบครัวที่เกรงกลัวพระเจ้าอาจเจ็บป่วยอย่างหนัก เหมือนกับที่โยบเป็น และอาจถึงกับพ่ายแพ้แก่ความตายซึ่งเป็นศัตรู. ผู้ที่สูญเสียผู้เป็นที่รักอาจหลั่งน้ำตาแห่งความทุกข์โศก เหมือนกับที่พระเยซูทรงกันแสงเพราะการตายของลาซะโร. (โยฮัน 11:35) แต่ช่างให้การปลอบประโลมใจสักเพียงไรที่ได้ทราบว่าพระเจ้าจะทรงเรียก และคนเหล่านั้นที่อยู่ในความทรงจำของพระองค์จะขานรับ! จะเป็นราวกับว่า พวกเขาเพิ่งกลับมาจากการเดินทาง—ไม่ล้มป่วยหรืออ่อนแอ แต่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง.
23. บางคนได้แสดงความเชื่อมั่นอย่างไรในความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
23 การเสียชีวิตของคริสเตียนผู้สูงอายุที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อให้เขียนดังนี้: “ขอแสดงความเห็นใจอย่างสุดซึ้งที่คุณสูญเสียมารดาไป. อีกไม่นานเราจะได้ต้อนรับเธอกลับมา—สวยงามและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา!” บิดามารดาคู่หนึ่งผู้ซึ่งได้สูญเสียบุตรชายไปกล่าวว่า “เราคอยท่าให้ถึงวันที่เจสันจะตื่นขึ้นมา! เขาจะมองไปรอบ ๆ และเห็นอุทยานที่เขาปรารถนาจะได้เห็นเป็นอย่างยิ่ง. . . . ช่างเป็นเรื่องที่กระตุ้นใจสักเพียงไรสำหรับพวกเราที่รักเขาที่จะพยายามเพื่อจะได้อยู่ที่นั่นด้วย.” ใช่แล้ว เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นเรื่องแน่นอน!
คุณจะตอบเช่นไร?
• ความเชื่อในการจัดเตรียมของพระเจ้าที่จะปลุกคนตายให้มีชีวิตอีกเป็นประโยชน์แก่เราอย่างไร?
• เหตุการณ์อะไรบ้างซึ่งมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ให้เหตุผลแก่เราสำหรับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
• เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าการกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นความหวังที่มีมาช้านานแล้ว?
• เราสามารถมีความหวังอะไรเกี่ยวกับคนตายซึ่งให้การปลอบโยน?
[ภาพหน้า 10]
ด้วยอำนาจจากพระยะโฮวา เอลียาคืนชีวิตให้แก่บุตรชายเยาว์วัยของหญิงม่าย
[ภาพหน้า 12]
เมื่อพระเยซูปลุกลูกสาวของญายโรให้กลับมีชีวิต บิดามารดาของเธอปีติยินดีอย่างยิ่ง
[ภาพหน้า 15]
ในวันเพนเตคอสเต ส.ศ. 33 อัครสาวกเปโตรให้การอย่างกล้าหาญว่าพระเยซูได้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว