พระยะโฮวารักคนที่ “เกิดผลด้วยความอดทน”
“และสำหรับบางคนที่มีหัวใจดีและซื่อสัตย์ . . . พวกเขาได้ยินคำสอนนั้นแล้วก็ยึดถือไว้ และเกิดผลด้วยความอดทน”—ลูกา 8:15
1, 2. (ก) ทำไมเราถึงได้กำลังใจเมื่อเห็นพี่น้องหลายคนยังประกาศในเขตของตัวเองต่อไปทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครฟัง? (ดูภาพแรก) (ข) พระเยซูพูดอย่างไรเกี่ยวกับการประกาศใน “ถิ่นของตัวเอง”? (ดูเชิงอรรถ)
เซอร์จิโอกับโอลินดาคู่สามีภรรยาเป็นไพโอเนียร์ที่สหรัฐ ทั้งคู่อายุมากกว่า 80 แล้ว ไม่นานมานี้ พวกเขาเจ็บขาและเดินไปไหนมาไหนลำบาก แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นพวกเขาก็ยังทำเหมือนที่เคยทำมาตลอดหลายปี ตอน 7 โมงเช้าพวกเขาจะเดินไปที่ลานสาธารณะและประกาศกับผู้คนใกล้ ๆ ป้ายรถเมล์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนใจ แต่เซอร์จิโอกับโอลินดาก็ยังอยู่ตรงนั้นและยิ้มให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา พอถึงตอนเที่ยงพวกเขาก็ค่อย ๆ เดินกลับบ้าน วันต่อมา พวกเขาก็ไปที่ป้ายรถเมล์ตอน 7 โมงเช้าอีก พวกเขาประกาศกับผู้คนแบบนี้อาทิตย์ละ 6 วันตลอดทั้งปี
2 พี่น้องที่ซื่อสัตย์อีกหลายคนก็เหมือนกับเซอร์จิโอและโอลินดาที่ประกาศหลายปีในเขตที่ตัวเองอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครฟัง คุณอาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ เราขอชมคุณเพราะคุณได้อดทนและยังประกาศต่อ ๆ ไปแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายa ตัวอย่างของคุณยังให้กำลังใจพี่น้องคนอื่น ๆ แม้แต่พี่น้องที่มีประสบการณ์ในงานรับใช้ก็ได้กำลังใจด้วย เช่น ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งบอกว่า “พอได้ทำงานกับพี่น้องที่ซื่อสัตย์แบบนี้ มันทำให้ผมกระตือรือร้นมากขึ้นเพราะเห็นตัวอย่างของพวกเขา” อีกคนหนึ่งบอกว่า “พอผมได้เห็นพี่น้องยังซื่อสัตย์รับใช้ต่อ ๆ ไป มันทำให้ผมอดทนแล้วก็กล้าที่จะทำงานของตัวเองต่อไปได้” ส่วนอีกคนบอกว่า “ตัวอย่างของพวกเขาดีจริง ๆ ผมรู้สึกประทับใจมากครับ”
3. เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถาม 3 ข้ออะไรในบทความนี้? และทำไม?
3 บทความนี้จะตอบคำถาม 3 ข้อ คือ (1) ทำไมบางครั้งเรารู้สึกท้อ? (2) การเกิดผลหมายถึงอะไร? และ (3) อะไรจะช่วยเราให้เกิดผลด้วยความอดทนต่อ ๆ ไป? การรู้คำตอบเหล่านี้จะทำให้เรามีกำลังใจและทำงานประกาศต่อไปได้ ซึ่งงานนี้พระเยซูมอบหมายให้เราทุกคนทำ
ทำไมเราอาจรู้สึกท้อ?
4. (ก) การที่ชาวยิวไม่ฟังเปาโลทำให้เขารู้สึกอย่างไร? (ข) ทำไมเปาโลรู้สึกอย่างนั้น?
4 คุณเคยรู้สึกท้อเพราะหลายคนไม่ฟังตอนที่คุณประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไหม? ถ้าคุณเคยรู้สึกอย่างนั้น คุณก็คงเข้าใจความรู้สึกของเปาโล เขาประกาศมา 30 ปีแล้วและก็เคยช่วยคนมากมายให้เข้ามาเป็นคริสเตียน (กิจการ 14:21; 2 โครินธ์ 3:2, 3) แต่ถึงอย่างนั้น เปาโลก็ไม่สามารถช่วยชาวยิวหลายคนซึ่งเป็นคนชาติเดียวกันกับเขาให้มาเป็นคริสเตียนได้ ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่ฟังเขาแถมยังมีบางคนข่มเหงเขาด้วย (กิจการ 14:19; 17:1, 4, 5, 13) นี่ทำให้เปาโลรู้สึกอย่างไร? เปาโลบอกว่า “ผมเศร้าจริง ๆ และปวดร้าวใจไม่หาย” (โรม 9:1-3) ทำไมเปาโลรู้สึกแบบนั้น? ก็เพราะว่าเขารักงานประกาศมากและรักผู้คนมาก เปาโลเป็นห่วงชาวยิว เขาจึงเสียใจเมื่อชาวยิวไม่ยอมรับความเมตตาจากพระเจ้า
5. (ก) อะไรกระตุ้นเราให้เราประกาศ? (ข) ทำไมไม่แปลกที่บางครั้งเราอาจรู้สึกท้อ?
5 เหมือนกับเปาโล เราไปประกาศเพราะเป็นห่วงและอยากช่วยผู้คน (มัทธิว 22:39; 1 โครินธ์ 11:1) เราได้เจอกับตัวเองว่าการรับใช้พระยะโฮวาเป็นชีวิตที่ดีที่สุด เราจึงอยากช่วยให้คนอื่นเห็นเหมือนกันว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นขนาดไหนถ้าเขามารับใช้พระยะโฮวา เราเลยพยายามสนับสนุนให้คนอื่นมาเรียนความจริงเรื่องพระยะโฮวาและความประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ การทำแบบนี้มันเหมือนกับว่าเรากำลังเอาของขวัญสวย ๆ ไปให้พวกเขา แล้วก็ขอร้องพวกเขาว่า “รับไว้เถอะนะ” พอพวกเขาไม่เอา มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรู้สึกเสียใจและ “ปวดร้าวใจ” เหมือนกับที่เปาโลเคยรู้สึก ที่เรารู้สึกแบบนั้นมันไม่ได้เป็นเพราะเราขาดความเชื่อ แต่มันเป็นเพราะเรารักผู้คนจริง ๆ ต่างหาก ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอาจจะรู้สึกท้อแต่เราก็ยังอยากประกาศต่อไป เราคงเห็นด้วยกับเอเลนาซึ่งเป็นไพโอเนียร์มามากกว่า 25 ปีแล้ว เธอบอกว่า “ก็จริงที่งานประกาศมันยาก แต่ก็ไม่มีงานไหนที่ฉันอยากทำมากเท่านี้อีกแล้ว”
การเกิดผลหมายถึงอะไร?
6. ตอนนี้เราจะคุยเกี่ยวกับคำถามอะไร?
6 ทำไมเรามั่นใจได้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในงานรับใช้ได้ไม่ว่าเราจะประกาศที่ไหน? เพื่อจะตอบคำถามที่สำคัญนี้ได้ ให้เรามาคุยกันเกี่ยวกับตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 เรื่องของพระเยซูที่พูดถึงความจำเป็นที่ต้อง “เกิดผล” (มัทธิว 13:23) ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องแรกคือเรื่องต้นองุ่น
7. (ก) ใครคือ “ผู้ดูแลสวนองุ่น”? “ต้นองุ่น”? และ “กิ่ง”? (ข) คำถามอะไรที่เรายังต้องได้คำตอบ?
7 อ่านยอห์น 15:1-5, 8 พระเยซูอธิบายตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องนี้ว่า “ผู้ดูแลสวนองุ่น” หมายถึงพระยะโฮวา “ต้นองุ่น” หมายถึงตัวท่านเอง และ “กิ่ง” หมายถึงสาวกของท่านb แล้วพระเยซูก็บอกกับอัครสาวกว่า “พ่อของผมจะได้รับการยกย่อง เมื่อพวกคุณเกิดผลมากอยู่เรื่อย ๆ และแสดงตัวว่าเป็นสาวกของผม” การเกิดผลหมายถึงอะไร? ถึงแม้ว่าพระเยซูไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าผลที่พูดถึงคืออะไร แต่เราก็รู้คำตอบได้จากสิ่งที่ท่านพูด
8. (ก) จากตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ ทำไม “การเกิดผล” ไม่ได้หมายถึงการช่วยคนใหม่ให้เข้ามาเป็นสาวก? (ข) พระยะโฮวาจะไม่ขออะไรจากเรา?
8 พระเยซูพูดถึงพ่อของท่านว่า “ทุกกิ่งที่แตกออกจากผม ถ้าไม่ออกผล พระองค์จะตัดทิ้งไป” พูดอีกอย่างหนึ่งคือเราจะเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้ก็ต่อเมื่อเราเกิดผล (มัทธิว 13:23; 21:43) ดังนั้น ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ได้หมายความว่าการเกิดผลเป็นการช่วยคนใหม่ให้เข้ามาเป็นสาวก (มัทธิว 28:19) เพราะถ้าการเกิดผลหมายถึงการช่วยคนให้มาเป็นสาวก นี่ก็หมายความว่าถึงใครคนหนึ่งจะเป็นพยานฯ ที่ซื่อสัตย์ แต่ถ้าเขาไม่เคยช่วยใครให้เข้ามาเป็นสาวก เขาก็เป็นเหมือนกิ่งที่ไม่เกิดผล ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้! เพราะเราบังคับใครให้มาเป็นสาวกไม่ได้ และพระยะโฮวาก็เป็นความรัก พระองค์ไม่เคยขอให้เราทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ แต่ให้เราทำสิ่งที่เราทำได้เท่านั้น—เฉลยธรรมบัญญัติ 30:11-14
9. (ก) เราจะเกิดผลได้อย่างไร? (ข) เราจะคุยเกี่ยวกับตัวอย่างเปรียบเทียบอะไรต่อ?
9 ถ้าอย่างนั้นการเกิดผลหมายถึงอะไร? การเกิดผลต้องเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ แล้วพระยะโฮวาให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนทำอะไรล่ะ? พระองค์ให้เราประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระองค์นั่นเองc (มัทธิว 24:14) ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนที่หว่านเมล็ดพืชจะช่วยเราให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ขอเรามาดูด้วยกัน
10. (ก) เมล็ดและดินในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้คืออะไร? (ข) ต้นข้าวออกผลเป็นอะไร?
10 อ่านลูกา 8:5-8, 11-15 จากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนที่หว่านเมล็ดพืช พระเยซูอธิบายว่าเมล็ดพืชหมายถึง “คำสอนของพระเจ้า” ซึ่งก็คือเรื่องรัฐบาลของพระองค์ ดินหมายถึงหัวใจของผู้คน เมล็ดพืชที่ตกในดินดีจะงอกราก กลายเป็นต้นอ่อน และก็ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้น แล้วก็จะ “ออกผล 100 เท่า” ถ้าต้นที่ว่านี้เป็นต้นข้าว มันจะออกผลเป็นอะไร? เป็นต้นข้าวเล็ก ๆ ไหม? ไม่ใช่แน่นอน ผลที่ได้ต้องเป็นเมล็ดข้าวซึ่งจะค่อย ๆ โตขึ้นเป็นต้นข้าวทีหลัง ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ เมล็ดข้าว 1 เมล็ดออกผลเป็นเมล็ดข้าว 100 เมล็ด เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างเปรียบเทียบนี้?
11. (ก) ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนที่หว่านเมล็ดพืชสอนอะไรเราเกี่ยวกับงานรับใช้? (ข) เราจะออกผลเป็นเมล็ดใหม่ได้อย่างไร?
11 ตอนพ่อแม่หรือพี่น้องคริสเตียนสอนความจริงให้เราเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเป็นครั้งแรก มันก็เหมือนกับพวกเขาได้เพาะเมล็ดไว้ในดินดี และพวกเขาคงมีความสุขมากที่เห็นเราเอาความจริง เมล็ดนั้นเจริญงอกงามขึ้นจนพร้อมที่จะเกิดดอกออกผล มันก็เหมือนกับต้นข้าวที่พูดถึงก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้ออกผลเป็นต้นข้าวต้นใหม่ แต่เป็นเมล็ดใหม่ เหมือนกัน การเกิดผลของเราไม่ได้หมายถึงการทำให้มีสาวกคนใหม่ แต่เป็นเมล็ดใหม่d มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร? ทุกครั้งที่เราบอกคนอื่นเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า มันก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำให้เมล็ดที่อยู่ในใจของเราเพิ่มจำนวนขึ้นและหว่านออกไป (ลูกา 6:45; 8:1) ถ้าเราประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าต่อไป เราก็จะ “เกิดผลด้วยความอดทน”
12. (ก) เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องต้นองุ่นและคนที่หว่านเมล็ดพืช? (ข) บทเรียนนี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร?
12 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 เรื่องนี้? การที่เราจะเกิดผล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนฟังเราหรือเปล่า แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเรายังทำงานประกาศต่อ ๆ ไปไหม เปาโลพูดคล้ายกันว่า “แต่ละคนจะได้รับรางวัลตามงานที่เขาทำ” (1 โครินธ์ 3:8) พระยะโฮวาจะให้รางวัลตามงานที่ทำ ไม่ใช่ตามผลงาน มาทิลดาซึ่งเป็นไพโอเนียร์มา 20 ปีแล้วบอกว่า “ฉันมีความสุขที่รู้ว่าถ้าเราพยายามทำงานให้กับพระยะโฮวา พระองค์ก็จะให้รางวัลกับเรา”
เราจะเกิดผลด้วยความอดทนได้อย่างไร?
13, 14. ตามที่เขียนไว้ที่โรม 10:1, 2 อะไรเป็นเหตุผลที่เปาโลไม่หยุดประกาศ?
13 อะไรช่วยเรา “เกิดผลด้วยความอดทน”? ขอดูตัวอย่างของเปาโลด้วยกันอีกครั้ง เปาโลรู้สึกท้อที่ชาวยิวไม่ฟังตอนที่เขาประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า แต่ถึงอย่างนั้นเปาโลก็ไม่ได้หยุดประกาศกับพวกเขา เปาโลอธิบายความรู้สึกที่มีต่อชาวยิวว่า “ผมหวังดีกับพวกอิสราเอลจากใจจริงและผมอ้อนวอนพระเจ้าให้พวกเขาได้รับความรอด ผมบอกได้ว่า พวกเขามีใจกระตือรือร้นเพื่อพระเจ้า แต่ขาดความรู้ที่ถูกต้อง” (โรม 10:1, 2) ทำไมเปาโลยังประกาศต่อ ๆ ไปทั้ง ๆ ที่ชาวยิวไม่ฟัง?
14 เหตุผลอย่างแรกคือ เปาโลบอกว่าที่เขาประกาศกับชาวยิวต่อไปก็เพราะ ‘เขาหวังดีจากใจจริง’ เขาอยากช่วยให้ชาวยิวรอด (โรม 11:13, 14) อย่างที่สอง เปาโลบอกว่าเขา “อ้อนวอนพระเจ้าให้พวกเขา” เปาโลอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยชาวยิวแต่ละคนให้ฟังเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า และอย่างที่สาม เปาโลพูดถึงชาวยิวว่า “พวกเขามีใจกระตือรือร้นเพื่อพระเจ้า” คำพูดนี้แสดงว่าเปาโลเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวชาวยิวและมองว่าพวกเขาสามารถรับใช้พระยะโฮวาได้ เขารู้ว่าชาวยิวที่กระตือรือร้นอาจเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ที่กระตือรือร้นเหมือนกับเขา
15. เราจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไร? ขอยกตัวอย่าง
15 เราจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไร? อย่างแรก ตัวเราเองต้องอยากช่วยผู้คนจริง ๆ เราต้องอยากหาคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป” อย่างที่สอง เราต้องอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคนที่อยากรู้ความจริงให้เปิดใจฟังตอนที่เราประกาศ (กิจการ 13:48; 16:14) ซิลวานาซึ่งเป็นไพโอเนียร์มาเกือบ 30 ปีแล้วก็ทำแบบนั้น เธอบอกว่า “ก่อนที่ฉันจะเข้าไปคุยแต่ละบ้าน ฉันจะอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยฉันให้คิดบวก” เราเองก็สามารถอธิษฐานขอให้ทูตสวรรค์พาเราไปหาคนที่สนใจได้ (มัทธิว 10:11-13; วิวรณ์ 14:6) โรเบิร์ตที่เป็นไพโอเนียร์มากกว่า 30 ปีแล้วบอกว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นจริง ๆ ที่ได้ทำงานกับทูตสวรรค์ที่รู้ว่าสถานการณ์ในชีวิตของคนที่เราจะไปประกาศเป็นยังไง” อย่างที่สาม เราต้องพยายามมองหาสิ่งดี ๆ ในตัวผู้คนและคิดว่าพวกเขาอาจเข้ามาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก็ได้ ตัวอย่างเช่น คาลที่เป็นผู้ดูแลและรับบัพติศมามากกว่า 50 ปีแล้วบอกว่า “ผมจะมองหาสัญญาณเล็ก ๆ อะไรสักอย่างที่อาจช่วยให้ผมรู้ว่าเขาสนใจจริง ๆ ไหม เช่น เขาอาจจะยิ้ม ท่าทางใจดี หรือถามเพราะอยากรู้จริง ๆ” ถ้าเราทำทั้งหมดนี้เราก็จะ “เกิดผลด้วยความอดทน” เหมือนกับเปาโล
“อย่าหยุด”
16, 17. (ก) เราได้บทเรียนอะไรจากปัญญาจารย์ 11:6? (ข) งานประกาศของเรามีผลกับคนที่มองเราอยู่อย่างไร?
16 เราต้องไม่ลืมว่างานประกาศของเราอาจมีผลกับคนอื่นมากแม้ดูเหมือนไม่มีใครสนใจเลย (อ่านปัญญาจารย์ 11:6) หลายคนมองดูเราอยู่ พวกเขาสังเกตว่าเราแต่งตัวเรียบร้อย สุภาพ และดูท่าทางเป็นมิตร สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พวกเขาประทับใจ และอาจถึงกับทำให้คนที่เคยมองเราไม่ดีเริ่มเปลี่ยนความคิดและมองเราดีขึ้น เซอร์จิโอกับโอลินดาเคยเจอเรื่องนี้ด้วยตัวเองมาแล้ว
17 เซอร์จิโอบอกว่า “ช่วงหนึ่งเราไม่ได้ไปที่ลานสาธารณะเพราะเราป่วย พอกลับมาประกาศที่นั่นเหมือนเดิม คนแถวนั้นก็ทักเราว่า ‘หายไปนานเลย เราคิดถึงลุงกับป้านะ’” โอลินดายิ้มแล้วก็พูดเสริมว่า “คนขับรถเมล์หลายคนโบกมือให้เรา บางคนถึงกับตะโกนมาว่า ‘กลับมาแล้ว สุดยอดจริง ๆ!’ พวกเขาถึงขนาดเดินมาขอหนังสือกับเราด้วย” มีผู้ชายคนหนึ่งเอาช่อดอกไม้มาให้พวกเขาที่รถเข็นประกาศสาธารณะพร้อมกับขอบคุณสำหรับงานที่พวกเขาทำ เรื่องนี้ทำให้เซอร์จิโอกับโอลินดาเซอร์ไพรส์มาก
18. ทำไมคุณตั้งใจที่จะ “เกิดผลด้วยความอดทน”?
18 ถ้าคุณ ‘ไม่หยุด’ บอกเรื่องรัฐบาลของพระเจ้ากับคนอื่นแม้ว่าพวกเขาจะไม่ฟัง คุณก็มีส่วนสำคัญในการช่วย “ให้คนทุกชาติมีโอกาสได้ยิน” (มัทธิว 24:14) และที่สำคัญที่สุด คุณจะมีความสุขมากที่รู้ว่าคุณกำลังทำให้พระยะโฮวามีความสุข พระองค์รักทุกคนที่ “เกิดผลด้วยความอดทน”
a ขนาดพระเยซูก็ยังบอกว่า การประกาศใน “ถิ่นเดิมของตัวเอง” เป็นเรื่องยาก ซึ่งหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มมีการบันทึกเรื่องนี้—มัทธิว 13:57; มาระโก 6:4; ลูกา 4:24; ยอห์น 4:44
b แม้ว่า “กิ่ง” ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้หมายถึงคริสเตียนที่จะไปสวรรค์ แต่ผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคนก็ได้บทเรียนจากตัวอย่างนี้ด้วย
c คำว่า “การเกิดผล” หมายถึง “ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” ด้วย แต่ในบทความนี้และบทความหน้าจะเน้นเกี่ยวกับการเกิดผลโดยการประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเพื่อสรรเสริญพระองค์—กาลาเทีย 5:22, 23; ฮีบรู 13:15
d ในครั้งอื่น ๆ พระเยซูใช้ตัวอย่างเรื่องการหว่านและการเกี่ยวเพื่อเปรียบเทียบกับงานสอนคนให้เป็นสาวก—มัทธิว 9:37; ยอห์น 4:35-38