การสร้างบุคลิกแบบคริสเตียนในตัวลูก ๆ ของเรา
มารดาของแวนดาซึ่งสามีได้ทิ้งเธอไปนั้น พยายามอย่างแข็งขันที่จะสร้างคุณลักษณะแบบคริสเตียนขึ้นในตัวลูกสาวของเธอ. เมื่อแวนดาอายุ 12 ปี การอบรมนี้ได้ถูกทดลอง. ตอนนั้น แวนดาพร้อมกับน้องชายและน้องสาว ต้องจากมารดาของเธอแล้วไปอาศัยอยู่กับบิดาชั่วระยะหนึ่ง. บิดาไม่ใช่ผู้มีความเชื่อ ดังนั้น แวนดาจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมารดาของเธอมิได้อยู่ใกล้ ๆ เพื่อเฝ้าดู?
กรณีซึ่งเกิดขึ้นกับบิดามารดาคริสเตียนทุกคนคือคราวเมื่อลูก ๆ ของเขาต้องทำการตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นการทดลองความเชื่อของเขาเอง. เด็ก ๆ อาจอยู่ต่างหากจากบิดามารดาคริสเตียน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับแวนดา. พวกเขาอาจเผชิญกับความกดดันจากคนรุ่นเดียวกันที่โรงเรียนให้กระทำผิด. หรือมิฉะนั้น เขาอาจเผชิญหน้ากับการล่อใจที่หนักหน่วง. บิดามารดาคริสเตียนหวังและอธิษฐานว่า เมื่อถึงเวลานั้น ลูก ๆ ของตนจะมีบุคลิกแบบคริสเตียนที่เข้มแข็งพอจะทนทานการทดลองได้.
บิดามารดาจะสร้างคุณลักษณะแบบคริสเตียนที่เข้มแข็งเข้าไว้ในตัวลูก ๆ ได้อย่างไร? ก่อนทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับแวนดา ขอให้เราพิจารณาดูว่าพระคัมภีร์ช่วยเราอย่างไรให้ตอบคำถามนั้น. รากฐานสำหรับคำตอบนั้นปรากฏในถ้อยคำเหล่านี้ของอัครสาวกเปาโลถึงชนคริสเตียนในเมืองโกรินโธ: “ด้วยว่าผู้ใดจะวางรากชนิดอื่นอีกไม่ได้ นอกจากที่วางไว้แล้ว คือพระเยซูคริสต์. และเขาจะเอาทองคำ เงิน หรือเพชรพลอย หรือจะเอาไม้ หญ้าแห้ง หรือฟางมาก่อขึ้นบนรากนั้น การของทุกคนก็จะได้ปรากฏแจ้ง ด้วยว่าเวลาวันนั้นจะเห็นได้ชัดเจน เหตุว่าจะเห็นชัดได้ด้วยไฟ และไฟนั้นจะได้ทดลองดูการทุกคนว่าเป็นอย่างไร.”—1 โกรินโธ 3:11-13.
รากฐาน
ทำไมเปาโลเขียนถ้อยคำเหล่านี้? ท่านได้เริ่มโครงการเกี่ยวกับการสร้างบุคลิกแบบคริสเตียนขึ้นในเมืองโกรินโธ แต่โครงการนั้นประสบกับปัญหา. แน่ละ โครงการเสริมสร้างของเปาโลมิได้เกี่ยวข้องกับลูก ๆ ฝ่ายเนื้อหนังของท่านเอง แต่พาดพิงถึงคนเหล่านั้นที่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียนโดยการประกาศของท่าน. แต่ท่านถือว่าคนเหล่านี้เป็นลูกหลานฝ่ายวิญญาณ และสิ่งที่ท่านพูดนับว่ามีคุณค่าสำหรับบิดามารดาด้วยเช่นกัน.—1 โกรินโธ 4:15.
เปาโลได้มายังเมืองโกรินโธเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนหน้านั้น และได้ตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นที่นั่น. คนเหล่านั้นที่ได้ตอบรับต่อการประกาศของท่านได้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านบุคลิกภาพของพวกเขา. แต่ก่อนบางคนเคยเป็นคนผิดศีลธรรม เป็นคนขโมย ไหว้รูปเคารพ และเมาเหล้า. (1 โกรินโธ 6:9-11) แต่พวกเขาสามารถเปลี่ยนมาสู่ความคิดแบบคริสเตียนได้เพราะเป็นหนึ่งว่าเปาโลได้วางรากที่ดีไว้. รากนั้นคืออะไร? “ผู้ใดจะวางรากชนิดอื่นอีกไม่ได้ นอกจากที่วางไว้แล้ว คือพระเยซูคริสต์.”—1 โกรินโธ 3:11.
เปาโลวางรากนี้โดยวิธีใดขณะที่ท่านสอนผู้มีความเชื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ในเมืองโกรินโธ? ท่านบอกเราว่า “พี่น้องทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้ามาหาท่าน ข้าพเจ้ามิได้มาพร้อมด้วยคำพูดหรือสติปัญญาเลิศลอยเกินความจริงประกาศข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแก่ท่าน. เพราะข้าพเจ้าได้ตัดสินใจไม่รู้จักสิ่งใด ๆ ในท่ามกลางพวกท่าน เว้นแต่พระเยซูคริสต์ และที่พระองค์ถูกตรึง.” (1 โกรินโธ 2:1, 2, ล.ม.; กิจการ 18:5) ท่านมิได้มุ่งความสนใจมายังตัวเองหรือปรุงแต่งสัจธรรมเพื่อทำให้เป็นแบบที่ดึงดูดใจปัญญาชนแบบผิวเผิน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านมุ่งความสนใจไปยังพระเยซูคริสต์และวิธีที่พระเจ้าทรงใช้ท่านผู้นี้.
ที่จริง พระเยซูเป็นรากอันมั่นคงเลิศล้ำสำหรับการสร้างแบบคริสเตียน. พระองค์ทรงจัดเตรียมเครื่องบูชาไถ่. บัดนี้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทางภาคสวรรค์ และในฐานะเช่นนั้นจะทำลายศัตรูของพระเจ้า ณ อาร์มาเก็ดดอนในไม่ช้า. ครั้นแล้ว พระองค์จะบริหารความชอบธรรมของพระเจ้าระหว่างรัชสมัยพันปี และในฐานะมหาปุโรหิตของพระเจ้า พระองค์จะค่อย ๆ ยกระดับเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์. คนเราจะต้องการรากอื่นใดหรือ?
เนื่องจากเหตุนี้ ในการสร้างบุคลิกภาพแบบคริสเตียนในตัวลูก ๆ ของเรานั้น เราสมควรจะเลียนแบบเปาโล และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาหยั่งรู้เข้าใจข้อเท็จจริงอันสำคัญยิ่งเหล่านี้. เราควรสอนลูก ๆ ของเราตั้งแต่เป็นทารกให้รักพระเยซูเนื่องด้วยสิ่งที่พระองค์เคยกระทำ และกำลังกระทำอยู่เพื่อเรา.—1 เปโตร 1:8.
การก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้เปาโลได้วางรากที่ดีเช่นนี้ก็ตาม งานก่อสร้างได้ประสบอุปสรรคบางประการหลังจากท่านไปแล้ว. (1 โกรินโธ 3:10) ปัญหานั้นไม่ต่างกันกับสิ่งที่บิดามารดาหลายคนประสบในทุกวันนี้. พวกเขาอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ของตนในความเชื่อแบบคริสเตียน และรู้สึกมั่นใจว่าเด็ก ๆ เข้าใจว่าสัจธรรมคืออะไร. แต่เมื่อเขาโตขึ้น เด็ก ๆ ลอยห่างออกไปหรือปฏิเสธความเชื่อ. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? บ่อยครั้งมีสาเหตุมาจากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น.
เปาโลกล่าวว่าอาจสร้างบุคลิกภาพนั้นได้ด้วยวัตถุมีค่าเช่น ทองคำ เงิน หรือเพชรพลอย. หรือมิฉะนั้นก็อาจสร้างได้ด้วยวัสดุราคาถูกเช่น ไม้ หญ้าแห้ง ฟาง. (1 โกรินโธ 3:12) เอาละ ถ้าหากช่างก่อใช้ทอง เงิน และเพชรพลอย เขาต้องสร้างอาคารชนิดที่มีคุณภาพเลิศ อาคารที่มีคุณค่าเยี่ยมยอด. แต่ช่างก่อที่ใช้ไม้ หญ้าแห้ง และฟาง ก็เป็นเพียงการสร้างอะไรบางอย่างที่สุกเอาเผากิน ชั่วคราว และด้อยค่า.
ดูเหมือนว่ามีการใช้วัตถุฝ่ายวิญญาณที่บอบบางในเมืองโกรินโธ. บางคนที่ดำเนินงานต่อจากรากที่อัครสาวกเปาโลวางไว้นั้น ได้สร้างขึ้นอย่างถูก ๆ ไม่ได้สร้างอาคารที่แข็งแรงทนทาน. ชาวโกรินโธเริ่มหมายพึ่งมนุษย์และมีการแตกแยก ความอิจฉา และการทะเลาะวิวาทกันในท่ามกลางพวกเขา. (1 โกรินโธ 1:10-12; 3:1-4) จะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไร? โดยการที่พวกเขาใช้วัสดุทนทานที่มีคุณภาพดีกว่า.
สิ่งเหล่านี้หมายถึงลักษณะพิเศษอันล้ำค่าเหล่านั้นซึ่งเป็นส่วนสำคัญแห่งบุคลิกภาพของคริสเตียน. ลักษณะพิเศษอะไร? อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงอย่างหนึ่งคือ “คุณภาพแห่งความเชื่อของท่านทั้งหลายที่ผ่านการทดสอบแล้ว ซึ่งมีคุณค่ามากยิ่งกว่าทองคำที่ต้องสูญเสียไป.” (1 เปโตร 1:6, 7, ล.ม.) กษัตริย์ซะโลโมได้ตรัสถึงอีกสองอย่างคือ สติปัญญาและความสังเกตเข้าใจ ซึ่งการมีสองสิ่งนี้ “ก็ดีกว่าได้เงิน.” (สุภาษิต 3:13-15) และกษัตริย์ดาวิดเตือนเราให้ระลึกว่าความเกรงกลัวพระยะโฮวาและความหยั่งรู้ค่าต่อพระบัญญัติของพระองค์นั้น “น่าปรารถนามากกว่าทองคำ.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:9, 10.
วัสดุอันล้ำค่าเหล่านี้และวัสดุอื่น ๆ อาจสร้างขึ้นในบุคลิกแบบคริสเตียนเพื่อช่วยลูก ๆ ของเราให้ผ่านพ้นการทดลองได้. แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรากำลังสร้างด้วยวัสดุดังกล่าว? โดยการเอาใจใส่ต่อหัวใจ ทั้งของลูกเราและตัวเราเอง.
งานก่อสร้างที่ประสบผลสำเร็จ
การที่หัวใจของบิดามารดามีส่วนในงานก่อสร้างนี้ปรากฏชัดในพระบัญชาที่พระยะโฮวาทรงให้แก่บิดามารดาในชาติยิศราเอลโบราณที่ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย.” ครั้นแล้วพระองค์กล่าวต่อไปว่า “และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) เนื่องจากเหตุนี้ ก่อนที่เราสร้างคนอื่นขึ้นได้ เราก็ต้องสร้างตัวเราเองขึ้น. ลูก ๆ ของเราน่าจะเห็นจากสิ่งที่เราพูดและทำว่า บุคลิกภาพของเรา สร้างขึ้นจากวัสดุที่เหมาะสม.—โกโลซาย 3:9, 10.
ต่อจากนั้น การสอนของเราต้องเข้าถึงหัวใจของเขา. พระเยซู ผู้สร้างบุคลิกภาพแบบคริสเตียนที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด ได้เข้าถึงหัวใจโดยการใช้อุทาหรณ์และคำถาม. (มัดธาย 17:24-27; มาระโก 13:34) บิดามารดาพบว่าเทคนิคการสอนอย่างเดียวกันนี้มีประสิทธิภาพทีเดียว. พวกเขาใช้อุทาหรณ์เพื่อทำให้สัจธรรมคริสเตียนดึงดูดหัวใจของลูก ๆ วัยเยาว์ และเขาใช้คำถามที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบเพื่อวินิจฉัยออกมาว่าลูก ๆ ที่โตกว่านั้นคิดอย่างไรจริง ๆ เขาหาเหตุผลอย่างไรในหัวใจของเขา.—สุภาษิต 20:5.
เมื่อโมเซพยายามจะสร้างความปรารถนาที่จะคงซื่อสัตย์อยู่ต่อไปขึ้นในตัวชนยิศราเอลนั้น ท่านบอกว่า “ให้รักษาพระบัญญัติและกฎเกณฑ์ของพระเจ้า [ยะโฮวา, ล.ม.] . . . เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 10:13, ฉบับแปลใหม่) ในทำนองเดียวกัน บิดามารดาไม่เพียงแต่สมควรอธิบายอย่างชัดเจนแก่ลูก ๆ ว่ามาตรฐานของพระเจ้าคืออะไรเท่านั้น หากแต่แสดงให้เห็นอย่างน่าเชื่อถึงเหตุผลที่สิ่งต่าง ๆ เช่นความซื่อตรง ความสะอาดทางด้านศีลธรรม และการคบหาสมาคมที่ดีนั้นก็เพื่อประโยชน์ของพวกเขา.
ประการสุดท้าย พระเยซูตรัสว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3, ล.ม.) เมื่อเด็ก ๆ รู้จักพระยะโฮวาเป็นส่วนตัวตั้งแต่วัยเยาว์ เรียนรู้ที่จะสนทนากับพระองค์ถึงเรื่องปัญหาของเขา และได้มีประสบการณ์ในการที่พระองค์ตอบคำอธิษฐานของเขาแล้ว เขาก็พัฒนาส่วนสำคัญที่สุดของบุคลิกแบบคริสเตียนคือ สัมพันธภาพเฉพาะตัวกับพระผู้สร้างของตน.
ไฟ
เปาโลได้พบว่าเมื่องานก่อสร้างในเมืองโกรินโธไม่ได้ทำกันอย่างสมควรแล้ว ลักษณะนิสัยฝ่ายโลก เช่น การแตกเป็นนิกายและความไม่ลงรอยกันงอกราก. นี้เป็นอันตราย เพราะ ดังที่ท่านอธิบายนั้น “ไฟนั้นจะได้ทดลองดูการของทุกคนว่าเป็นอย่างไร.”—1 โกรินโธ 3:13.
ไฟนั้นคืออะไร? อาจเป็นการทดลองใด ๆ ที่ซาตานนำมาเหนือคริสเตียน. อาจเป็นความกดดันจากคนรุ่นเดียวกัน การล่อใจทางฝ่ายเนื้อหนัง ลัทธิวัตถุนิยม การข่มเหง แม้แต่อิทธิพลที่กัดกร่อนของความสงสัย. การทดลองดังกล่าวจะมีมาแน่ ๆ. “การของทุกคนก็จะได้ปรากฏแจ้ง ด้วยว่าเวลานั้นจะเห็นได้ชัดเจน เหตุว่าจะเห็นชัดได้ด้วยไฟ.” บิดามารดาผู้ฉลาดสร้างบุคลิกภาพของลูก ๆ ด้วยความคาดหมาย ว่าเด็ก ๆ จะประสบการทดลองในภายหลัง. แต่เขามั่นใจว่า ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ลูกของเขาจะผ่านพ้นการทดลองได้. หากบิดามารดามีทัศนะเช่นนั้น เขาจะได้รับพระพรอย่างมากมาย.
บำเหน็จ
เปาโลบอกว่า “ถ้าการของผู้ใดที่ก่อขึ้นบนรากนั้นทนอยู่ได้ ผู้นั้นจะได้บำเหน็จ.” (1 โกรินโธ 3:14) อัครสาวกเปาโลได้รับบำเหน็จ. ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเก อันเป็นแหล่งที่ท่านได้ทำงานก่อสร้างด้วยนั้นว่า “ด้วยว่าอะไรจะเป็นความหวังหรือความชื่นชมหรือมงกุฏสำหรับมีหน้ามีตาของเรา—ก็มิใช่ท่านทั้งหลายหรือ?—จำเพาะพระพักตร์พระเยซูคริสต์เจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมา? เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นสง่าราศีและความยินดีของเรา.”—1 เธซะโลนิเก 2:19, 20.
มารดาของแวนดาได้รับบำเหน็จนี้. เมื่อแวนดาวัย 12 ปีพบว่าตัวเองถูกแยกจากมารดาของเธอ เธอร้องไห้กับตัวเองจนกระทั่งหลับไปในตอนแรก. ครั้นแล้ว เธอระลึกถึงคำแนะนำของมารดา ที่ให้ปรึกษาปัญหาของเธอกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. เธออธิษฐานและไม่ช้าก็ได้ความคิดในการค้นดูสมุดโทรศัพท์เพื่อจะทราบว่ามีพยานพระยะโฮวาคนใดอยู่ใกล้เคียงหรือไม่. เธอได้ติดต่อกับพวกเขาและทราบว่าครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ถัดจากบ้านของบิดาเธอไป. แวนดาบอกว่า “ดิฉันดีใจจริง ๆ!”
ด้วยการสนับสนุนของครอบครัวนี้ แวนดาได้จัดระเบียบเพื่อน้องชายกับน้องสาวของเธอจะกลับคืนสู่กิจกรรมฝ่ายคริสเตียน. เธอชี้แจงว่า “ดิฉันต้องรับผิดชอบต่อการเตรียมพวกเราให้พร้อมสำหรับการประชุม. ดิฉันต้องซักเสื้อผ้าของเรา หวีผม และทำให้แน่ใจว่าเราสะอาด ปรากฏตัวต่อธารกำนัลได้.” นั่นเป็นงานที่ยากสำหรับเด็กหญิง แต่เธอก็ทำ. ครั้งหนึ่งบิดาพยายามยับยั้งเขาไว้จากการเข้าร่วมประชุม แต่เด็ก ๆ อ้อนวอน เขาจึงปล่อยให้พวกเขาไป.
ต่อมา เด็ก ๆ กลับมาอยู่รวมกับมารดาของเขาอีก. เมื่อแวนดาอายุ 15 ปี เธอเป็นคริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้ว และต่อมาเธอแสดงความปรารถนาที่จะเป็นมิชชันนารี. ถูกแล้ว งานของมารดาของแวนดาได้ผ่านการทดสอบ. เธอได้รับบำเหน็จจากการเห็นลูกสาวยืนหยัดมั่นคงเพื่อความจริงด้วยตัวเอง. ขอให้บิดามารดาคริสเตียนทุกคนประสบผลสำเร็จอย่างเดียวกันขณะที่พวกเขาทำงานเพื่อสร้างบุคลิกภาพฝ่ายคริสเตียนขึ้นในตัวลูก ๆ ของเขา.
[กรอบหน้า 28]
ดังที่บทความเรื่องนี้แสดงให้เห็น ขณะที่บิดามารดาพยายามอย่างแข็งขันที่จะสร้างบุคลิกภาพแบบคริสเตียนขึ้นในตัวลูก ๆ ของตนก็ตาม พวกเด็กเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบด้วย. เช่นเดียวกับคริสเตียนทุกคน พวกเขาต้องทำงานก่อสร้างในตัวเขาเอง. (เอเฟโซ 4:22-24) ถึงแม้บิดามารดามีโอกาสอันเยี่ยมยอดที่จะช่วยในเรื่องนี้ก็ตาม ในที่สุด ปัจเจกบุคคลแต่ละคนต้องทำการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะรับใช้พระยะโฮวา.