คุณจะตอบสนองความรักของพระเยซูไหม?
“ความรักของพระคริสต์ได้บังคับเราอยู่.”—2 โกรินโธ 5:14.
1. เราจะพรรณนาความรักของพระเยซูโดยวิธีใด?
ความรักของพระเยซูช่างประหลาดล้ำเลิศเสียจริง ๆ! เมื่อเราพิจารณาว่าพระองค์ทนทุกข์เกินจะหาถ้อยคำพรรณนาได้ขณะที่พระองค์จัดค่าไถ่ ซึ่งโดยสิ่งนี้เท่านั้นเราอาจได้รับชีวิตนิรันดร์ จึงเป็นที่แน่นอนว่าหัวใจของเราถูกกระตุ้นให้หยั่งรู้ค่าสำหรับสิ่งที่พระองค์กระทำ! พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูทรงได้ริเริ่มเรื่องนี้. พระองค์ทั้งสองทรงรักเราก่อน ขณะที่เรายังเป็นคนบาป. (โรม 5:6-8; 1 โยฮัน 4:9-11) อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า การรู้จัก “ความรักของพระคริสต์ . . . เกินความรู้.” (เอเฟโซ 3:19) แท้จริง ความรักของพระเยซูสูงส่งเกินความรู้อันปราดเปรื่องด้านวิชาการ. ความรักอย่างนี้เหนือกว่าสิ่งใด ๆ เท่าที่มนุษย์เคยรู้เห็นหรือประสบมา.
2. อะไรไม่สามารถทำให้เราขาดจากความรักของพระเยซู?
2 เมื่อเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม เปาโลถามว่า “ใครผู้ใดจะให้เราทั้งหลายขาดความรักของพระคริสต์เล่า? จะเป็นการยากลำบากหรือความทุกข์ในใจ หรือการเคี่ยวเข็ญ หรือการกันดารอาหาร หรือการเปลือยกาย หรือการถูกโพยภัย หรือการถูกคมดาบหรือ?” สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวไม่มีแม้แต่สิ่งเดียวจะทำให้เราขาดความรักของพระคริสต์. เปาโลกล่าวต่อ “เหตุว่าข้าพเจ้าเชื่อมั่นคงว่าแม้ความตายหรือชีวิตหรือทูตสวรรค์ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ หรือสิ่งซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้ หรือสิ่งซึ่งจะเป็นมาภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย หรือความสูง หรือความลึก หรือสิ่งใด ๆ ที่ทรงสร้างแล้วจะไม่อาจกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย.”—โรม 8:35-39.
3. อะไรแต่อย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นเหตุให้พระเยซูกับพระบิดาของพระองค์ทรงละทิ้งเรา?
3 ความรักของพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูที่แสดงต่อคุณเป็นความรักที่ทรงอานุภาพ. มีอย่างเดียวเท่านั้นจะระงับพระองค์ไม่ให้รักคุณ และนั้นก็คือการที่ตัวคุณเองเจตนาปฏิเสธความรักของพระองค์โดยการไม่ยอมทำตามที่พระองค์ทรงขอร้อง. ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าเคยชี้แจงแก่กษัตริย์ชาติยูดาดังนี้: “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกท่านเมื่อท่านอยู่ฝ่ายพระองค์ ถ้าพวกท่านแสวงหาพระองค์ พระองค์จะทรงโปรดให้พวกท่านประสบ แต่ทว่าถ้าท่านละทิ้งพระองค์ พระองค์จะละทิ้งพวกท่านเสีย.” (2 โครนิกา 15:2) พวกเรามีใครบ้างต้องการจะละทิ้งมหามิตรผู้มีพระทัยเอ็นดูอย่างพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์?
การตอบสนองความรักของพระเยซูอย่างสมควร
4, 5. (ก) ความรักที่พระเยซูมีต่อพวกเราน่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์? (ข) เนื่องด้วยพระเยซูทรงรักพวกเรา เราจึงควรแสดงความรักต่อใครอีก?
4 โดยส่วนตัวแล้วคุณได้รับผลกระทบจากความรักอันไม่มีขีดจำกัดของพระเยซูไหม? คุณควรวางตัวอย่างไร? พระเยซูทรงชี้แจงว่าการสำแดงความรักของพระองค์นั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเรากับเพื่อนมนุษย์. หลังจากพระเยซูได้ทรงล้างเท้าพวกอัครสาวกโดยความถ่อมพระทัยแล้ว พระองค์ตรัสว่า “เราได้วางแบบอย่างให้เจ้าทั้งหลายแล้ว เพื่อให้เจ้าทำเหมือนที่เราได้กระทำแก่เจ้านั้นด้วย.” พระองค์ตรัสเสริมว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลายคือว่า ให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน. เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย.” (โยฮัน 13:15, 34, ล.ม.) บรรดาสาวกของพระองค์เรียนข้อนี้และเขามีความรู้สึกอยากจะทำอย่างที่พระองค์กระทำ. อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “เช่นนี้แหละเรารู้จักความรัก คือว่าเพราะพระองค์ได้ทรงยอมวางชีวิตของพระองค์ลงเพื่อเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายควรจะวางชีวิตของเราลงเพื่อพวกพี่น้อง.”—1 โยฮัน 3:16.
5 กระนั้น เราอาจพลาดไปจากวัตถุประสงค์แห่งวิถีชีวิตและงานสั่งสอนของพระเยซูก็ได้ ถ้าเราถูกกระตุ้นโดยตัวอย่างของพระองค์เพียงจะรักและทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เท่านั้น. ที่พระเยซูทรงรักเรานั้นน่าจะทำให้เราแสดงความรักต่อพระองค์ด้วยมิใช่หรือและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รักพระบิดาของพระองค์ ผู้ได้ทรงสอนพระเยซูทุกสิ่งที่พระองค์รู้จัก? คุณจะตอบสนองความรักของพระคริสต์และปฏิบัติพระบิดาของพระองค์อย่างที่พระองค์ได้กระทำไหม?—เอเฟโซ 5:1, 2; 1 เปโตร 1:8, 9.
6. อัครสาวกเปาโลได้รับผลกระทบอย่างไรเนื่องด้วยความรักของพระเยซูที่มีต่อท่าน?
6 ให้เราพิจารณากรณีของเซาโล ซึ่งในเวลาต่อมามีชื่อเรียกว่าเปาโล. ครั้งหนึ่งท่านเคยข่มเหงพระเยซู “ขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซูเสีย.” (กิจการ 9:1-5; มัดธาย 25:37-40) เมื่อเปาโลได้รู้จักพระเยซูจริง ๆ ท่านสำนึกในพระกรุณาคุณที่ท่านได้รับอภัยโทษ ท่านจึงไม่เพียงแต่เต็มใจทนทุกข์ลำบากเพราะเห็นแก่พระเยซู แต่ท่านยังพร้อมจะพลีชีวิตเพื่อพระองค์ด้วย. ท่านเขียนไว้อย่างนี้: “ข้าพเจ้าถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป . . . ชีวิตซึ่งข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินอยู่โดยศรัทธาในพระบุตรของพระเจ้า ผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้าและได้ทรงสละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า.”—ฆะลาเตีย 2:20, ฉบับแปลใหม่.
7. ความรักของพระเยซูน่าจะเป็นพลังผลักดันเราให้ทำอะไร?
7 ความรักที่พระเยซูทรงมีต่อเรานั้นควรเป็นพลังควบคุมชีวิตของพวกเราอย่างแท้จริง! “เพราะความรักของพระคริสต์ได้ควบคุมเราอยู่” เปาโลได้เขียนถึงชาวโกรินโธ ‘เพื่อจะมิได้มีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง แต่อยู่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ซึ่งได้วายพระชนม์เพื่อเราทั้งหลาย และทรงเป็นขึ้นมาใหม่.’ (2 โกรินโธ 5:14, 15) อันที่จริง ความกตัญญูรู้คุณพระเยซูผู้ทรงสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของพวกเราจึงน่าจะกระตุ้นพวกเราทำอะไรก็ตามที่พระองค์ทรงขอร้อง. โดยวิธีเดียวนี้แหละเราจะพิสูจน์ได้ว่าเรารักพระองค์จริง. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายรักเรา เจ้าก็จะปฏิบัติตามบัญญัติของเรา. . . . ผู้ที่มีบัญญัติของเรา และปฏิบัติตามพระบัญญัตินั้น ผู้นั้นแหละเป็นผู้ที่รักเรา.”—โยฮัน 14:15, 21, ล.ม.; เทียบกับ 1 โยฮัน 2:3-5.
8. ความรักของพระเยซูมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตคนบาปหลายคน?
8 เมื่อได้เรียนรู้บัญญัติต่าง ๆ ของพระเยซูแล้ว คนที่เคยประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ, ผิดผัวเมียเขา, เป็นคนรักร่วมเพศ, ขโมย, เมาเหล้า, และฉ้อโกงในเมืองโกรินโธสมัยโบราณจึงได้ตอบสนองความรักของพระเยซูโดยเลิกกิจปฏิบัติเหล่านั้น. เปาโลเขียนถึงคนเหล่านั้นว่า “ท่านได้รับการชำระแล้ว . . . ได้รับการทำให้เป็นผู้ชอบธรรมในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า.” (1 โกรินโธ 6:9-11, ฉบับแปลใหม่) ทำนองเดียวกัน ความรักของพระเยซูบังคับให้ผู้คนมากมายสมัยนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตของตนได้อย่างน่าทึ่ง. อย่างที่จอห์น ลอร์ด นักประวัติศาสตร์ บันทึกดังนี้: “ชัยชนะของศาสนาคริสเตียนนั้นเห็นได้จากการสร้างคนดีจากคนเหล่านั้นที่ยอมรับหลักคำสอนของศาสนา. เรามีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าชีวิตของเขาไม่มีที่ตำหนิ และพวกเขามีคุณธรรมอย่างหาที่ติไม่ได้ และพวกเขาเป็นพลเมืองดีและเป็นคริสเตียนที่ประกอบคุณงามความดี.” คำสอนของพระเยซูก่อความเปลี่ยนแปลงอะไรเช่นนั้น!
9. การรับฟังพระเยซูหมายความถึงอะไร?
9 เป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีการศึกษาใด ๆ ที่คนสมัยนี้จะเรียนได้ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการศึกษาเรื่องชีวิตและงานสั่งสอนของพระเยซูคริสต์. อัครสาวกเปาโลได้สนับสนุนให้ “มองเขม้นไปที่พระเยซู . . . จริงทีเดียว จงเอาใจใส่พิจารณาพระองค์.” (เฮ็บราย 12:2, 3) ในระหว่างที่พระเยซูทรงจำแลงพระกายนั้น พระเจ้าได้ทรงบัญชาให้ปฏิบัติต่อพระบุตรของพระองค์ดังนี้: “จงเชื่อฟังท่านเถิด.” (มัดธาย 17:5) อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรได้รับการเน้นคือการเชื่อฟังพระเยซูไม่หมายความแต่เพียงรับฟังสิ่งที่พระองค์ตรัส. การเชื่อฟังหมายถึง ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ เลียนแบบการกระทำของพระองค์โดยกระทำอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ. เราตอบสนองความรักของพระเยซูโดยที่เรายอมรับพระองค์เป็นตัวอย่างของเรา และเจริญรอยตามพระองค์อย่างใกล้ชิด.
สิ่งที่พระเยซูทรงประสงค์ให้เราทำ
10. พระเยซูทรงฝึกอบรมผู้ใด และเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร?
10 หน้าที่มอบหมายซึ่งพระเยซูรับจากพระเจ้าคือที่จะประกาศสั่งสอนเรื่องราชอาณาจักรของพระบิดา และพระองค์ทรงฝึกอบรมบรรดาสาวกให้ทำงานอย่างเดียวกัน. พระองค์ทรงสั่งสาวกชุดแรกว่า “ให้เราทั้งหลายเข้าไปในบ้านเมืองใกล้เคียง เพื่อเราจะได้เทศนาที่นั่นด้วย ที่เราได้มาก็เพราะเหตุนั้นเอง.” (มาระโก 1:38; ลูกา 4:43) ในเวลาต่อมา หลังจากการฝึกอบรมอัครสาวก 12 คนอย่างกว้างขวางแล้ว พระเยซูทรงสอนเขาว่า “ในเวลาที่ไปนั้น จงประกาศว่า ‘แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว.’” (มัดธาย 10:7) หลายเดือนต่อมา ภายหลังจากการอบรมสาวกอีก 70 คน พระองค์ทรงส่งคนเหล่านั้นออกไปพร้อมกับสั่งว่า “จงสอนเขาว่า ‘แผ่นดินของพระเจ้ามาใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว.’” (ลูกา 10:9) ปรากฏชัดว่าพระเยซูทรงประสงค์ให้สาวกของพระองค์เป็นผู้ประกาศสั่งสอนและเป็นครู.
11. (ก) โดยวิธีใดบรรดาสาวกของพระเยซูจะทำการงานใหญ่กว่าที่พระองค์กระทำ? (ข) เกิดอะไรขึ้นกับเหล่าสาวกหลังจากพระเยซูถูกปลงพระชนม์?
11 พระเยซูทรงอบรมสาวกอย่างต่อเนื่องสำหรับงานนี้. ในช่วงเย็นวันสุดท้ายก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงชูใจพวกเขาโดยตรัสว่า “ผู้ที่สำแดงความเชื่อในเรา ผู้นั้นจะกระทำการงานที่เรากระทำเช่นกัน และเขาจะกระทำการงานที่ใหญ่กว่านั้นอีก.” (โยฮัน 14:12, ล.ม.) การงานที่สาวกจะกระทำจะใหญ่กว่าการงานที่พระองค์กระทำก็เพราะพวกสาวกจะทำงานเทศนาสั่งสอนในขอบข่ายกว้างไกลกว่า และพบปะผู้คนมากกว่า อีกทั้งใช้ระยะเวลานานกว่าด้วย. กระนั้น หลังจากพระเยซูถูกประหาร สาวกของพระองค์ต่างก็ชะงักงันไม่แข็งขันเนื่องจากกลัว. พวกเขาหนีไปซ่อนตัวและไม่ดำเนินงานสานต่อตามที่พระองค์ได้ฝึกอบรมให้เขาทำ. บางคนได้หวนกลับไปทำธุรกิจจับปลาเสียด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ดี พระองค์ยังความประทับใจแก่คนทั้งเจ็ดเหล่านั้นอย่างไม่มีวันลืม สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์จะให้เขาและสาวกทุกคนของพระองค์กระทำ.
12. (ก) พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อะไรที่ทะเลฆาลิลาย? (ข) ดูเหมือนว่าพระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ถามเปโตรว่าท่านรักพระองค์ “มากกว่าเหล่านี้”?
12 พระเยซูทรงแปลงร่างเป็นมนุษย์และได้ปรากฏตัวที่ทะเลฆาลิลาย. อัครสาวกเจ็ดคนออกเรือไปหาปลา แต่ตลอดทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย. จากชายฝั่งพระเยซูได้ทรงเรียกพวกเขาและสั่งว่า “จงทอดอวนลงทางด้านขวาเรือเถิด แล้วเจ้าจะได้บ้าง.” เมื่อลงอวนและได้ปลามากมายอย่างน่าอัศจรรย์จนอวนแทบจะขาด คนในเรือจึงรู้ว่าผู้ที่อยู่บนฝั่งคือพระเยซู และเขาจึงต่างก็รีบเร่งไปยังที่ที่พระองค์รออยู่. ภายหลังจัดอาหารเช้าให้พวกเขารับประทานกันแล้ว พระเยซูซึ่งคงจะเพ่งเล็งอยู่กับปลามากมายที่จับมาได้ จึงถามเปโตรว่า “ซีโมนบุตรโยฮันเอ๋ย เจ้ารักเรามากกว่าเหล่านี้หรือ?” (โยฮัน 21:1-15, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัย พระเยซูคงหมายความทำนองนี้: เจ้ายังติดใจอยู่หรือในธุรกิจหาปลายิ่งกว่างานประกาศสั่งสอนซึ่งเราได้เตรียมพวกเจ้าไว้สำหรับงานนี้?
13. พระเยซูตรัสอย่างหนักแน่นโดยวิธีใดเพื่อสาวกของพระองค์จะรู้ว่าควรจะตอบสนองความรักของพระองค์อย่างไร?
13 เปโตรตอบว่า “จริงทีเดียว พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพเจ้ารักชอบพระองค์.” พระเยซูตรัสตอบว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด.” พระเยซูตรัสถามคำรบสองว่า “ซีโมนบุตรโยฮันเอ๋ย เจ้ารักเราหรือ?” อีกครั้งหนึ่งเปโตรตอบด้วยน้ำเสียงที่เต็มด้วยความมั่นใจมากขึ้นว่า “จริงทีเดียว พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงทราบอยู่ว่าข้าพเจ้ารักชอบพระองค์.” แล้วอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงบัญชาว่า “เจ้าเลี้ยงแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด.” พระเยซูตรัสเป็นคำรบสามว่า “ซีโมนบุตรโยฮันเอ๋ย เจ้ามีความรักชอบต่อเราหรือ?” มาถึงตอนนี้เปโตรเป็นทุกข์จริง ๆ. เมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ ท่านได้ปฏิเสธสามครั้งว่าไม่รู้จักพระเยซู. ดังนั้น ท่านอาจนึกคิดก็ได้ว่าพระเยซูทรงสงสัยในความซื่อสัตย์มั่นคงของตน. ด้วยเหตุนี้ เปโตรจึงตอบเป็นหนที่สาม อาจจะด้วยน้ำเสียงวิงวอนว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงทราบสารพัดสิ่ง พระองค์ทรงทราบแล้วว่าข้าพเจ้ามีความรักชอบต่อพระองค์.” พระเยซูทรงตอบแต่เพียงว่า “จงเลี้ยงดูแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด.” (โยฮัน 21:15-17, ล.ม.) จะสงสัยอะไรอีกไหมเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงประสงค์ให้เปโตรพร้อมกับเพื่อนใกล้ชิดของท่านกระทำ? พระองค์ทรงกล่าวอย่างหนักแน่นเพียงใดกระทั่งทำให้เขาเกิดความประทับใจ—เช่นเดียวกับคนซึ่งเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์ในสมัยนี้—คือถ้าพวกเขารักพระองค์ เขาจะร่วมในงานทำให้คนเป็นสาวก!
14. ในโอกาสอื่นอีก พระเยซูทรงแจ้งแก่สาวกของพระองค์อย่างไรถึงวิธีที่เขาควรจะตอบสนองความรักของพระองค์?
14 เพียงไม่กี่วันภายหลังการสนทนาที่ชายฝั่งครั้งนั้น พระเยซูทรงปรากฏพระกายที่ภูเขาแห่งฆาลิลาย แล้วได้จัดประชุมสั่งสอนแนะนำกลุ่มสาวกที่มีความสุขประมาณ 500 คนว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.; 1 โกรินโธ 15:6) คิดดูซิ! บรรดาชายหญิงและเด็กทุกคนต่างก็ได้รับหน้าที่มอบหมายอย่างเดียวกัน. และในเวลาต่อมา ไม่นานก่อนการเสด็จสู่สวรรค์ พระเยซูรับสั่งแก่สาวกของพระองค์ดังนี้: “เจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานของเรา . . . จนกระทั่งถึงที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8, ล.ม.) หลังจากได้รับคำตักเตือนหลายครั้งเช่นนี้ ไม่แปลกที่เปโตรได้กล่าวหลายปีต่อมาว่า “[พระเยซู] ได้ทรงสั่งเราทั้งหลายให้ประกาศแก่ผู้คนและให้กล่าวคำพยานอย่างครบถ้วน.”—กิจการ 10:42, ล.ม.
15. ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร?
15 ไม่เป็นที่สงสัยอีกเลยว่า เราควรตอบสนองความรักของพระเยซูอย่างไร. ดังที่พระองค์ตรัสแก่อัครสาวกของพระองค์: “ถ้าเจ้าปฏิบัติตามบัญญัติของเรา เจ้าก็จะตั้งมั่นอยู่ในความรักของเรา . . . เจ้าทั้งหลายเป็นมิตรของเราถ้าเจ้าปฏิบัติตามที่เราสั่งเจ้า.” (โยฮัน 15:10-14, ล.ม.) ปัญหาคือว่า คุณจะแสดงความหยั่งรู้ค่าความรักของพระเยซูไหม โดยปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ที่ให้ร่วมงานทำให้คนเป็นสาวก? จริงอยู่ งานนี้อาจไม่ง่ายสำหรับคุณด้วยเหตุผลหลายอย่าง. แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับพระเยซูเหมือนกัน. จงพิจารณาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่พระองค์ต้องกระทำ.
ติดตามตัวอย่างของพระเยซู
16. พระเยซูทรงให้ตัวอย่างอะไรอันน่าทึ่ง?
16 พระบุตรที่รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้าเคยรุ่งโรจน์ด้วยเกียรติยศสูงส่งทางภาคสวรรค์ยิ่งกว่าทูตสวรรค์ทั้งปวง. พระองค์บริบูรณ์มั่งคั่งอย่างแท้จริง! กระนั้น พระองค์ทรงเต็มพระทัยยอมสละทุกสิ่งลงมาบังเกิดในครอบครัวที่ยากจน และเติบใหญ่ขึ้นท่ามกลางผู้คนที่เจ็บป่วยและที่จะตายไป. พระองค์ทรงกระทำสิ่งนี้เพื่อเรา ดังที่อัครสาวกเปาโลชี้แจงว่า “เพราะว่าท่านทั้งหลายรู้จักพระกรุณาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราว่า ครั้นพระองค์มั่งคั่งอยู่แล้ว พระองค์ยังทรงยอมเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนมั่งมีเนื่องจากความยากจนของพระองค์.” (2 โกรินโธ 8:9; ฟิลิปปอย 2:5-8) ช่างเป็นตัวอย่างอะไรเช่นนั้น! เป็นการสำแดงความรักอย่างแท้จริง! ไม่มีใครอีกแล้วที่ได้เสียสละหรือทนรับทุกข์เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่านี้. และไม่มีใครเคยจัดช่องทางไว้สำหรับผู้อื่นจะรับความมั่งคั่งบริบูรณ์มากกว่านี้คือชีวิตนิรันดร์ในสภาพสมบูรณ์ทุกประการ.
17. แนวทางอะไรที่วางไว้ตรงหน้าพวกเรา และผลของการปฏิบัติแนวทางนี้จะเป็นเช่นไร?
17 เราจะปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซูและทำตนเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นเหมือนอย่างพระองค์ได้. พระเยซูทรงสนับสนุนประชาชนหลายครั้งหลายหนให้ติดตามพระองค์. (มาระโก 2:14; ลูกา 9:59; 18:22) ที่จริง เปโตรเขียนอย่างนี้: “ท่านทั้งหลานถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่าไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) คุณจะตอบสนองความรักของพระคริสต์ถึงขั้นจะยอมทนทุกข์เพื่อปฏิบัติรับใช้พระบิดาอย่างที่พระองค์ได้กระทำไหม? การทำดังกล่าวจะเป็นคุณประโยชน์กับคนอื่นมากเพียงใด! อันที่จริง โดยการติดตามตัวอย่างของพระเยซู โดยการใช้หลักคำสอนซึ่งพระองค์ได้รับจากพระบิดา “ท่านจะช่วยทั้งตัวของท่านและคนทั้งปวงที่ฟังท่านให้รอดได้.”—1 ติโมเธียว 4:16.
18. (ก) พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับทัศนะของพระองค์ที่มีต่อผู้คน? (ข) ประชาชนตอบสนองบุคลิกภาพของพระเยซูด้วยท่าทีอย่างไร?
18 ที่จะช่วยประชาชนได้มากที่สุดนั้น เราต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนอย่างที่พระองค์แสดงต่อพวกเขา. คำพยากรณ์พูดถึงพระองค์ดังนี้: “พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:13) สาวกของพระเยซูสามารถรู้ได้ทีเดียวว่าพระองค์ “ทรงรัก” ผู้คนที่พระองค์ทรงสนทนาด้วย และที่ว่าพระองค์ต้องการช่วยคนเหล่านั้นจริง ๆ. (มาระโก 1:40-42; 10:21) คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างนี้: “เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงพระกรุณาเขา ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) แม้กระทั่งคนบาปฉกรรจ์ก็ยังสำนึกถึงความรักของพระองค์และใคร่จะเข้ามาใกล้พระองค์. จากน้ำเสียงของพระองค์, อากัปกิริยา, และวิธีสั่งสอน เขาจึงรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ. ผลที่ตามมา แม้แต่คนเก็บภาษีและหญิงแพศยาซึ่งเป็นที่ดูหมิ่นก็มาหาพระองค์.—มัดธาย 9:9-13; ลูกา 7:36-38; 19:1-10.
19. เปาโลเลียนแบบพระเยซูโดยวิธีใด และเมื่อเราทำอย่างเดียวกันจะมีผลประการใด?
19 สาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกได้เลียนแบบอย่างความรักใคร่ของพระองค์. เปาโลเขียนถึงชนที่ท่านเคยสั่งสอนดังนี้: “เราได้อยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลายโดยใจอ่อนสุภาพ เหมือนแม่ลูกอ่อนที่กำลังให้ลูกกินนม ทะนุถนอมลูกของตน . . . เหมือนบิดาได้ปฏิบัติต่อลูกของตนฉันใด เราก็คอยตักเตือนทุกคนในพวกท่าน ทั้งปลอบใจและให้คำพยานแก่ท่านฉันนั้น.” (1 เธซะโลนิเก 2:7-11, ล.ม.) คุณรู้สึกห่วงใยอย่างจริงจังต่อคนเหล่านั้นที่พบในเขตทำงานไหม ดังบิดามารดาผู้ประกอบด้วยความรักรู้สึกเป็นห่วงบุตรของตน? การสำแดงความรักความห่วงใยของคุณโดยทางน้ำเสียง ทางสีหน้าและการกระทำย่อมจะกระตุ้นผู้คนที่เป็นเหมือนแกะให้มาสนใจฟังข่าวราชอาณาจักร.
20, 21. ในปัจจุบัน มีตัวอย่างอะไรบ้างเกี่ยวด้วยผู้คนที่ปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซูในด้านความรัก?
20 วันหนึ่งในประเทศสเปนอากาศหนาวจัด สตรีพยานฯสองคนได้พบกับหญิงชราซึ่งเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันรักแร้ และหนาวเหน็บอยู่ภายในบ้านเพราะฟืนจะก่อไฟก็ไม่มี. นางรอให้ลูกชายกลับจากงานแล้วไปตัดฟืนมาให้. พยานฯได้ช่วยตัดฟืน ทั้งยังได้ฝากวารสารบางฉบับไว้ให้นางอ่านด้วย. เมื่อลูกชายกลับมาถึงบ้าน เขาเกิดความประทับใจมากที่พยานฯแสดงความรักและห่วงใยมารดา เขาจึงอ่านหนังสือเหล่านั้น เริ่มศึกษาพระคัมภีร์แล้วรับบัพติสมา ไม่นานหลังจากนั้นได้ร่วมงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์.
21 ในประเทศออสเตรเลีย สองสามีภรรยาได้เล่าให้พยานฯที่มาเยี่ยมว่าตนไม่มีเงินซื้ออาหารเลี้ยงดูครอบครัว. พยานฯคู่สามีภรรยาได้ออกไป และซื้ออาหาร รวมทั้งขนมหวานสำหรับเด็ก. บิดามารดาของเด็กถึงกับร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ และพูดว่าพวกเขาท้อแท้สุดประมาณถึงกับคิดอยากฆ่าตัวตาย. ทั้งสองคนก็เริ่มศึกษาพระคัมภีร์ ภรรยาเพิ่งรับบัพติสมาเมื่อไม่นานมานี้เอง. ผู้หญิงคนหนึ่งในสหรัฐซึ่งเคยมีอคติต่อพยานพระยะโฮวา ได้รายงานหลังจากพบพยานฯว่า “จริง ๆ แล้วฉันก็จำไม่ได้ว่าเราคุยกันเรื่องอะไร แต่ที่จำได้แม่นก็คือเธอเป็นคนใจดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อและอ่อนโยนจริง ๆ. ฉันมีความรู้สึกอยากใกล้ชิดกับเธอเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง. ฉันยังคงรักษามิตรภาพกับเธอมาตลอดจนถึงวันนี้.”
22. หลังจากได้พิจารณาดูชีวิตของพระเยซูแล้ว เราลงความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์?
22 เมื่อเราตอบสนองความรักของพระเยซูโดยทำงานตามวิธีที่พระองค์ทรงกระทำ เราได้รับพระพรนานาประการอย่างน่าทึ่งเสียนี่กระไร! ความใหญ่ยิ่งของพระเยซูนั้นกระจ่างชัดและมีเหลือล้น. เรารับการกระตุ้นที่จะสะท้อนคำพูดของปนเตียว ปีลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมันที่ว่า “ดูเถอะ! นี่แหละลูกผู้ชาย!” ถูกแล้ว “ลูกผู้ชาย” บุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น.—โยฮัน 19:5, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความรักของพระเยซูใหญ่ยิ่งขนาดไหน?
▫ ความรักของพระเยซูน่าจะเป็นเหตุให้เรารักใคร และความรักของพระองค์ควรเป็นพลังผลักดันให้เราทำอะไร?
▫ พระเยซูทรงประสงค์ให้เราทำงานอะไร?
▫ พระเยซูทรงมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยสิ่งใด และทำไมพระองค์จึงกลายมาเป็นผู้ยากจน?
▫ เราควรเลียนแบบพระเยซูอย่างไรในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อประชาชน?
[รูปภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงวางแบบอย่างการแสดงความรัก
[รูปภาพหน้า 17]
พระเยซูทรงให้อุทาหรณ์อันมีพลังชี้ถึงวิธีที่สาวกของพระองค์ควรแสดงความรักต่อพระองค์