คุณค่าอันล้ำเลิศของการศึกษาที่มาจากพระเจ้า
“ข้าพเจ้าถือว่าทุกสิ่งไร้ประโยชน์จริง ๆ เช่นกันเนื่องจากคุณค่าอันเลิศล้ำแห่งความรู้เรื่องพระคริสต์เยซู.”—ฟิลิป. 3:8
1, 2. คริสเตียนบางคนได้เลือกทำอะไร และเพราะเหตุใด?
ตั้งแต่อายุยังน้อย โรเบิร์ตเป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก. เมื่อเขาอายุได้เพียงแปดขวบ ครูคนหนึ่งมาเยี่ยมเขาเป็นพิเศษที่บ้านและบอกว่าเขาจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเรียนอะไร. เธอตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้เป็นแพทย์. ความสำเร็จทางการศึกษาของเขาขณะที่เรียนชั้นมัธยมปลายทำให้เขามีคุณสมบัติจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศได้ทุกแห่ง. แต่โรเบิร์ตเลือกสละสิ่งที่หลายคนถือว่าเป็นโอกาสที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิตเพื่อจะทำตามเป้าหมายของเขา คือการรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ.
2 เช่นเดียวกับโรเบิร์ต คริสเตียนจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีโอกาสจะก้าวหน้าในระบบนี้. บางคนเลือกที่จะไม่ใช้ประโยชน์เต็มที่จากโอกาสเหล่านั้น เพื่อเขาจะสามารถทำตามเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ. (1 โค. 7:29-31) อะไรกระตุ้นคริสเตียนอย่างโรเบิร์ตให้ทุ่มเทตัวเองในงานประกาศ? นอกจากความรักที่มีต่อพระยะโฮวาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด พวกเขาเห็นคุณค่าอันล้ำเลิศของการศึกษาที่มาจากพระเจ้า. คุณได้พิจารณาเมื่อเร็ว ๆ นี้ไหมว่าชีวิตของคุณอาจเป็นอย่างไรถ้าคุณไม่ได้เรียนรู้ความจริง? การใคร่ครวญพระพรที่โดดเด่นบางประการที่เราได้รับซึ่งเป็นผลจากการที่พระยะโฮวาทรงสอนเราจะช่วยเราให้เห็นคุณค่าของข่าวดีต่อ ๆ ไป และมีใจแรงกล้าที่จะประกาศข่าวดีแก่คนอื่น ๆ.
มีสิทธิพิเศษที่ได้รับการสอนจากพระเจ้า
3. เหตุใดเราจึงแน่ใจว่าพระยะโฮวาทรงยินดีสอนมนุษย์ไม่สมบูรณ์?
3 ด้วยความดีของพระองค์ พระยะโฮวาทรงยินดีสอนมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. ยะซายา 54:13 (ล.ม.) พยากรณ์ถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และสันติสุขแห่งเหล่าบุตรของเจ้าจะมีบริบูรณ์.” หลักการในคำตรัสดังกล่าวใช้ได้กับ “แกะอื่น” ของพระคริสต์ด้วยเช่นกัน. (โย. 10:16) เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำพยากรณ์ที่กำลังสำเร็จเป็นจริงในสมัยของเรา. ยะซายาห์เห็นในนิมิตว่ามีผู้คนจากทุกชาติหลั่งไหลมายังการนมัสการแท้. ท่านพรรณนาถึงคนเหล่านั้นที่พูดชวนกันว่า “ให้เราขึ้นไปยังภูเขาของพระเจ้า ยังพระนิเวศแห่งพระเจ้าของยาโคบ เพื่อพระองค์จะทรงสอนวิถีของพระองค์แก่เรา และเพื่อเราจะเดินในมรรคาของพระองค์.” (ยซา. 2:1-3, ฉบับ R73) ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้รับการสอนจากพระเจ้า!
4. คนที่จะได้รับการสอนจากพระยะโฮวาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
4 เราจะมีคุณสมบัติที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาที่มาจากพระเจ้าได้อย่างไร? ข้อเรียกร้องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเราต้องอ่อนน้อมและสอนได้ง่าย. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ดีประเสริฐและซื่อตรง. . . . พระองค์จะทรงฝึกสอนเขาให้รู้ทางของพระองค์.” (เพลง. 25:8, 9) และพระเยซูตรัสว่า “พระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์และแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ต่อหน้าคนทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้จากคนมีปัญญาและคนฉลาด แต่ทรงเปิดเผยแก่เด็กเล็ก.” (ลูกา 10:21) การที่เรารู้ว่าพระเจ้า “ทรงพระกรุณาคนถ่อมใจอย่างใหญ่หลวง” ทำให้เราอยากเข้าใกล้พระองค์มิใช่หรือ?—1 เป. 5:5
5. เราสามารถเข้าใจความรู้ของพระเจ้าได้โดยวิธีใดเท่านั้น?
5 เป็นเพราะความสามารถหรือสติปัญญาของเราเองไหมที่เราได้พบความจริง? ไม่. ที่จริง เราไม่มีทางเข้าใจความรู้ของพระเจ้าด้วยตัวเราเอง. พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีใครจะมาหาเราได้เว้นแต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” (โย. 6:44) พระยะโฮวากำลังชักนำผู้คนที่มีลักษณะเยี่ยงแกะ ซึ่งเป็น “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” โดยทางงานประกาศและพระวิญญาณบริสุทธิ์. (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) คุณรู้สึกขอบคุณมิใช่หรือที่ได้เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนที่พระยะโฮวาชักนำให้มาหาพระบุตรของพระองค์?—อ่านยิระมะยา 9:23, 24
พลังที่เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น
6. การรับเอา “ความรู้ฝ่ายพระยะโฮวา” สามารถก่อให้เกิดผลที่น่าทึ่งต่อผู้คนอย่างไร?
6 คำพยากรณ์ของยะซายาห์ใช้ภาพพจน์ที่งดงามเพื่อพรรณนาให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนบุคลิกภาพของคนเรา ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสมัยนี้. คนที่เคยเป็นคนรุนแรงกลายเป็นคนรักสันติ. (อ่านยะซายา 11:6-9) คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูกันเนื่องด้วยความแตกต่างด้านเชื้อชาติ, สัญชาติ, เผ่าพันธุ์, หรือภูมิหลังอื่น ๆ ด้านวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีเอกภาพ. อาจกล่าวโดยนัยได้ว่า พวกเขาได้ “เอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา.” (ยซา. 2:4) อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งดังกล่าว? ผู้คนได้รับเอา “ความรู้ฝ่ายพระยะโฮวา” และใช้ความรู้นั้นในชีวิต. แม้ว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นคนไม่สมบูรณ์ แต่พวกเขาประกอบกันเป็นสังคมในระดับนานาชาติที่เป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง. การที่ข่าวดีนี้ดึงดูดใจผู้คนทั่วโลกและก่อผลดีเป็นข้อพิสูจน์ว่าการศึกษาที่มาจากพระเจ้ามีคุณค่าล้ำเลิศ.—มัด. 11:19
7, 8. (ก) การศึกษาที่มาจากพระเจ้าช่วยผู้คนให้ทำลาย “สิ่งที่ฝังรากลึก” อะไรบ้าง? (ข) ตัวอย่างอะไรแสดงให้เห็นว่าการศึกษาที่มาจากพระเจ้าทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ?
7 อัครสาวกเปาโลเปรียบงานรับใช้ของประชาชนของพระเจ้ากับการสู้รบฝ่ายวิญญาณ. ท่านเขียนว่า “อาวุธที่เราใช้สู้รบไม่ใช่แบบของมนุษย์ แต่มีพลังมากเนื่องจากพระเจ้าเพื่อจะทำลายสิ่งที่ฝังรากลึก. ด้วยว่าเรากำลังหักล้างการหาเหตุผลผิด ๆ และโค่นสิ่งสูงส่งทุกอย่างที่ขัดกับความรู้ของพระเจ้า.” (2 โค. 10:4, 5) การศึกษาที่มาจากพระเจ้าช่วยปลดปล่อยผู้คนจาก “สิ่งที่ฝังรากลึก” อะไรบ้าง? ขอยกให้เห็นแค่สองสามอย่าง เช่น ภาระหนักที่เกิดจากคำสอนเท็จ, ความเชื่อเรื่องโชคลาง, และปรัชญาของมนุษย์. (โกโล. 2:8) การศึกษาที่มาจากพระเจ้าช่วยผู้คนให้เลิกกิจปฏิบัติที่ไม่ดีและพัฒนาคุณลักษณะแบบพระเจ้า. (1 โค. 6:9-11) การศึกษาที่มาจากพระเจ้าช่วยให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น. และการศึกษาที่มาจากพระเจ้าช่วยคนที่ไม่มีความหวังให้มีจุดมุ่งหมายแท้ในชีวิต. นี่แหละคือการศึกษาแบบที่ผู้คนในทุกวันนี้จำเป็นต้องได้รับ.
8 คุณลักษณะอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงช่วยผู้คนให้พัฒนาก็คือความซื่อสัตย์ ดังที่ประสบการณ์ต่อไปนี้แสดงให้เห็น. (ฮีบรู 13:18) สตรีคนหนึ่งในประเทศอินเดียตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและต่อมาก็มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา. วันหนึ่ง ขณะที่เธอกลับบ้านจากการทำงานในโครงการก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร เธอพบสร้อยทองมูลค่า 28,000 บาทตกอยู่ที่พื้นใกล้ ๆ สถานีรถประจำทาง. แม้ว่าเธอเป็นคนจน แต่เธอก็ได้นำสร้อยนั้นไปที่สถานีตำรวจให้ช่วยหาและคืนสร้อยนั้นแก่เจ้าของ. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับเรื่องแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง! ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนหนึ่งถามเธอว่า “ทำไมคุณจึงเอาสร้อยนี้มาคืนล่ะ?” เธออธิบายว่า “คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตของดิฉัน ทำให้เดี๋ยวนี้ดิฉันเป็นคนซื่อสัตย์แล้ว.” ตำรวจคนนั้นรู้สึกประทับใจและพูดกับคริสเตียนผู้ปกครองที่มาสถานีตำรวจด้วยกันกับเธอว่า “ในรัฐนี้มีประชาชนมากกว่า 38 ล้านคน. ถ้าคุณช่วยสักสิบคนให้เป็นอย่างผู้หญิงคนนี้ได้ ก็จะถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้เลย.” เมื่อเราคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีหลายล้านคนที่ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเพราะการศึกษาที่มาจากพระเจ้า เรามีเหตุผลมากมายมิใช่หรือที่จะสรรเสริญพระยะโฮวา?
9. เป็นไปได้อย่างไรที่คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองอย่างสิ้นเชิง?
9 พลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพระคำของพระเจ้า พร้อมกับความช่วยเหลือที่พระเจ้าประทานโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ สามารถทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองอย่างสิ้นเชิง. (โรม 12:2; กลา. 5:22, 23) โกโลซาย 3:10 กล่าวว่า “[จง] สวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งกำลังถูกสร้างขึ้นใหม่โดยความรู้ถ่องแท้ตามแบบพระองค์ผู้ทรงสร้างบุคลิกภาพใหม่นั้น.” ข่าวสารที่พบในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า มีพลังที่จะเผยให้เห็นว่าใครคนหนึ่งเป็นคนอย่างไรจริง ๆ ในส่วนลึกของเขา และสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและแม้กระทั่งความรู้สึกที่เขามีต่อสิ่งต่าง ๆ. (อ่านฮีบรู 4:12) ด้วยการรับเอาความรู้ถ่องแท้ในพระคัมภีร์และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวา คนเราสามารถเป็นมิตรกับพระเจ้าและมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไป.
เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
10. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงเป็นผู้เดียวที่สามารถเตรียมเราไว้ให้พร้อมสำหรับอนาคต? (ข) จะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นอะไรในไม่ช้าซึ่งจะมีผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น?
10 พระยะโฮวาทรงเป็นผู้เดียวที่สามารถช่วยเราให้เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกไม่ช้า. พระองค์ทรงกำหนดไว้แล้วว่าอนาคตของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร. (ยซา. 46:9, 10) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยว่า “วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว.” (ซฟัน. 1:14, ล.ม.) สุภาษิต 11:4 กล่าวถึงสิ่งที่จะเป็นจริงในวันนั้นว่า “ทรัพย์สมบัติจะไม่เป็นประโยชน์ในวันพระพิโรธ; แต่ความชอบธรรมจะช่วยให้พ้นจากความตาย.” เมื่อการพิพากษาลงโทษจากพระยะโฮวาต่อโลกชั่วของซาตานมาถึง สิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงก็คือการที่เราได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. เงินจะไร้ความหมาย. ที่จริง ยะเอศเคล 7:19 กล่าวว่า “เขาจะทิ้งเงินของเขาที่ถนนทั้งหลาย, และทองคำของเขาจะเป็นดุจของโสโครก.” การรู้ล่วงหน้าอย่างนี้สามารถช่วยเราให้ลงมือทำอย่างฉลาดสุขุมในเวลานี้.
11. วิธีหนึ่งซึ่งการศึกษาที่มาจากพระเจ้าเตรียมเราให้พร้อมสำหรับอนาคตคืออะไร?
11 วิธีหนึ่งที่เด่นชัดซึ่งการศึกษาที่มาจากพระเจ้าเตรียมเราให้พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาที่จะมาถึงก็คือโดยช่วยเราให้จัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้อง. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “จงสั่งคนที่มั่งมีในยุคนี้อย่าให้เป็นคนยโส และอย่าฝากความหวังไว้กับทรัพย์สมบัติที่ไม่ยั่งยืน แต่ให้ฝากไว้กับพระเจ้า.” แม้ว่าเราไม่ร่ำรวย เราก็สามารถได้รับประโยชน์จากคำแนะนำซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าข้อนี้. คำแนะนำนี้เกี่ยวข้องกับอะไร? แทนที่จะสะสมความมั่งคั่งด้านวัตถุ เราควรพยายาม “ทำการดี และทำให้มาก ๆ.” โดยให้สิ่งฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิต เรา “สะสมทรัพย์ที่คงทนไว้เป็นฐานรากอันดีสำหรับอนาคต.” (1 ติโม. 6:17-19) แนวทางที่เสียสละเช่นนั้นสะท้อนถึงวิจารณญาณที่ดี เพราะดังที่พระเยซูตรัส “จะเป็นประโยชน์อะไรแก่มนุษย์เล่าถ้าเขาได้โลกทั้งโลกแต่เสียชีวิต?” (มัด. 16:26, 27) เมื่อคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาที่กำลังใกล้เข้ามา เราแต่ละคนควรตรวจสอบตัวเองว่า ‘ฉันกำลังสะสมทรัพย์ไว้ที่ไหน? ฉันเป็นทาสของพระเจ้าหรือของทรัพย์สมบัติ?’—มัด. 6:19, 20, 24
12. เหตุใดเราไม่ควรท้อใจถ้ามีคนดูถูกเหยียดหยามงานรับใช้ที่เราทำ?
12 “การดี” ที่สำคัญที่สุดสำหรับคริสเตียนตามที่ระบุไว้ในพระคำของพระเจ้าก็คืองานช่วยชีวิตผู้คนด้วยการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและการทำให้คนเป็นสาวก. (มัด. 24:14; 28:19, 20) บางคนอาจดูถูกเหยียดหยามงานรับใช้ที่เราทำ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษแรก. (อ่าน 1 โครินท์ 1:18-21) แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าของข่าวสารที่เราประกาศเปลี่ยนไป และไม่ได้ลดความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเชื่อในข่าวสารนั้นขณะที่ยังมีเวลาอยู่. (โรม 10:13, 14) ขณะที่เราช่วยคนอื่นให้รับประโยชน์จากการศึกษาที่มาจากพระเจ้า เราก็จะได้รับพระพรมากมาย.
ได้รับพระพรเพราะการเสียสละ
13. อัครสาวกเปาโลเสียสละอะไรเพื่อข่าวดี?
13 ก่อนมาเป็นคริสเตียน อัครสาวกเปาโลได้รับการอบรมเพื่อจะประสบความสำเร็จในระบบยิว. ดูเหมือนว่าเมื่ออายุยังไม่ถึง 13 ปี ท่านย้ายจากทาร์ซัสบ้านเกิดของท่านมายังกรุงเยรูซาเลมเพื่อศึกษากับกามาลิเอล ครูสอนพระบัญญัติซึ่งได้รับความนับถืออย่างสูง. (กิจ. 22:3) ต่อมา เปาโลเริ่มโดดเด่นกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน และหากท่านยังคงอยู่ในแนวทางนี้ต่อไป ท่านก็อาจได้รับตำแหน่งสูงในศาสนายิว. (กลา. 1:13, 14) เมื่อท่านตอบรับข่าวดีและเริ่มทำงานประกาศ ท่านละทิ้งสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด. เปาโลเสียใจไหมที่เลือกอย่างนั้น? ไม่เลย. ที่จริง ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าถือว่าทุกสิ่งไร้ประโยชน์จริง ๆ เช่นกันเนื่องจากคุณค่าอันเลิศล้ำแห่งความรู้เรื่องพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า. เพราะเห็นแก่พระองค์ ข้าพเจ้าจึงยอมสละทุกสิ่งและถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนเศษขยะ.”—ฟิลิป. 3:8
14, 15. เราได้รับพระพรอะไรในฐานะ “ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า”?
14 เช่นเดียวกับเปาโล คริสเตียนในทุกวันนี้ก็เสียสละเพื่อข่าวดีด้วย. (มโก. 10:29, 30) การทำอย่างนั้นทำให้เราขาดสิ่งดี ๆ ในชีวิตไหม? โรเบิร์ต ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนต้น พูดแทนความรู้สึกของหลาย ๆ คนว่า “ผมไม่เสียใจเลยแม้แต่น้อย. งานรับใช้เต็มเวลาทำให้ผมอิ่มใจยินดี และทำให้ผมได้ ‘ชิมดูและรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ.’ เมื่อไรก็ตามที่ผมเสียสละเพื่อทำตามเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ พระยะโฮวาทรงอวยพรเสมอให้ผมได้รับมากยิ่งกว่าที่ผมเสียสละไป. เหมือนกับว่าผมไม่ได้เสียสละอะไรไปจริง ๆ. ผมมีแต่ได้กับได้เท่านั้น!”—เพลง. 34:8; สุภา. 10:22
15 ถ้าคุณร่วมทำงานประกาศและงานสอนมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณก็มีโอกาสได้ชิมดูและรู้ว่าพระยะโฮวาทรงประเสริฐ. มีบางครั้งไหมที่คุณรู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระองค์ขณะที่คุณกำลังบอกข่าวดีแก่คนอื่น ๆ? คุณเคยเห็นดวงตาบางคนเป็นประกายขณะที่พระยะโฮวาทรงเปิดใจของพวกเขาให้สนใจข่าวสารไหม? (กิจ. 16:14) พระยะโฮวาเคยช่วยคุณไหมให้เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งอาจเปิดทางให้คุณขยายงานรับใช้ได้? พระองค์ทรงค้ำจุนคุณในยามยากลำบากไหม ซึ่งทำให้คุณรับใช้พระองค์ต่อไปได้แม้แต่เมื่อคุณรู้สึกหมดแรง? (ฟิลิป. 4:13) เมื่อเราเองได้รับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาขณะที่เราทำงานรับใช้ พระองค์ทรงกลายเป็นจริงยิ่งขึ้นสำหรับเราและเรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น. (ยซา. 41:10) นับเป็นพระพรจริง ๆ มิใช่หรือที่ได้เป็น “ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า” ในงานสอนที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์?—1 โค. 3:9
16. คุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องความพยายามและการเสียสละของคุณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มาจากพระเจ้า?
16 หลายคนหวังจะประสบความสำเร็จในบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายยั่งยืนในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่. เราได้เห็นแล้วว่า แม้แต่ความสำเร็จที่โดดเด่นในโลกปัจจุบันก็มักถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว. อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่างานในสมัยปัจจุบันที่พระยะโฮวากำลังทำให้สำเร็จในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์จะได้รับการพิทักษ์รักษาไว้เป็นบันทึกถาวรในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ตามระบอบของพระเจ้า. ประชาชนของพระเจ้าจะระลึกถึงงานนี้ตลอดไป. (สุภา. 10:7; ฮีบรู 6:10) ขอให้เราทะนุถนอมสิทธิพิเศษของเราในการมีส่วนร่วมในงานสอนของพระเจ้าที่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คนที่จะได้รับการสอนจากพระยะโฮวาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
• การศึกษาที่มาจากพระเจ้าทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นอย่างไร?
• เราได้รับพระพรในทางใดบ้างจากการช่วยคนอื่น ๆ ให้รับประโยชน์จากการศึกษาที่มาจากพระเจ้า?
[ภาพหน้า 23]
คนที่ได้รับการสอนจากพระยะโฮวาประกอบกันเป็นสังคมในระดับนานาชาติที่เป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง
[ภาพหน้า 24]
เป็นพระพรจริง ๆ มิใช่หรือที่ได้เป็น “ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า”?