‘จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวคุณเป็นเช่นไร’
“จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวท่านเป็นเช่นไร.”—2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.
1, 2. (ก) ความไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อเชื่ออาจส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร? (ข) สภาพการณ์อะไรในประชาคมโครินท์สมัยศตวรรษแรกอาจทำให้บางคนไม่แน่ใจว่าจะดำเนินต่อไปในทางใด?
ชายคนหนึ่งที่ท่องไปตามชนบทเดินทางมาถึงทางแยกแห่งหนึ่ง. เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเส้นทางไหนไปยังจุดหมายที่ต้องการ เขาจึงถามคนที่ผ่านมาแถวนั้น แต่ก็ได้รับคำตอบที่ต่างกันไป. เนื่องจากสับสน เขาจึงไม่สามารถเดินทางต่อได้. การมีความสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อของเราก็อาจก่อผลคล้าย ๆ กันต่อเรา. ความไม่แน่ใจดังกล่าวอาจทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจ ทำให้ไม่แน่ใจว่าเราควรเดินในเส้นทางใด.
2 มีสภาพการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นที่อาจก่อผลกระทบดังกล่าวต่อบางคนในประชาคมคริสเตียนที่เมืองโครินท์ ประเทศกรีซ ในสมัยศตวรรษแรก. “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” ตั้งข้อกังขาในเรื่องอำนาจของอัครสาวกเปาโล โดยกล่าวว่า “จดหมายของเขามีน้ำหนักและมีพลัง แต่การปรากฏตัวของเขา อ่อนแอและคำพูดของเขาไม่น่านับถือ.” (2 โกรินโธ 10:7-12; 11:5, 6, ล.ม.) ทัศนะเช่นนี้อาจทำให้บางคนในประชาคมโครินท์ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินในทางไหนดี.
3, 4. ทำไมคำแนะนำที่เปาโลให้แก่คริสเตียนในโครินท์เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจ?
3 เปาโลก่อตั้งประชาคมในเมืองโครินท์ระหว่างที่ท่านไปเยือนที่นั่นในปี ส.ศ. 50. ท่านพักอยู่ที่โครินท์ “สั่งสอนพระคำของพระเจ้าตลอดปีหนึ่งกับหกเดือน.” อันที่จริง “ชาวโกรินโธหลายคนเมื่อได้ฟังแล้วก็ได้เชื่อถือและรับบัพติศมา.” (กิจการ 18:5-11) เปาโลห่วงใยสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเพื่อนร่วมความเชื่อในเมืองโครินท์อย่างมาก. นอกจากนี้ ชาวโครินท์ได้เขียนจดหมายไปขอคำแนะนำบางเรื่องจากเปาโล. (1 โกรินโธ 7:1) ฉะนั้น ท่านจึงให้คำแนะนำที่ดีเยี่ยมแก่พวกเขา.
4 เปาโลเขียนว่า “จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวท่านเป็นเช่นไร.” (2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) การนำคำแนะนำนี้ไปใช้จะช่วยป้องกันไม่ให้พี่น้องเหล่านั้นสงสัยว่าจะเดินต่อไปในทางใด. คำแนะนำดังกล่าวช่วยปกป้องเราในทุกวันนี้เช่นกัน. ถ้าอย่างนั้น เราจะปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลได้โดยวิธีใด? เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่? และการพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเราเป็นเช่นไรนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร?
“จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่”
5, 6. เรามีอะไรเป็นมาตรฐานที่จะวัดว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่ และทำไมสิ่งนั้นจึงเป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์แบบ?
5 ปกติแล้ว การตรวจสอบจะมีคนหรือสิ่งที่ถูกตรวจสอบกับเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าคนหรือสิ่งที่ถูกตรวจสอบนั้นได้มาตรฐานหรือไม่. ในกรณีนี้ สิ่งที่ถูกตรวจสอบไม่ใช่ความเชื่อของเรา—หลักข้อเชื่อต่าง ๆ ที่เราเชื่อ แต่เป็นตัวเราเอง. ในการตรวจสอบนี้ เรามีมาตรฐานที่ใช้ตรวจสอบที่สมบูรณ์. บทเพลงหนึ่งที่ประพันธ์โดยดาวิดกล่าวว่า “กฎหมายของพระยะโฮวาดีรอบคอบ [“สมบูรณ์,” ล.ม.], เป็นที่ให้จิตต์วิญญาณฟื้นตื่นขึ้น; คำโอวาทของพระยะโฮวาก็แน่นอน, เตือนสติคนรู้น้อยให้มีปัญญา. ข้อสั่งสอนของพระยะโฮวานั้นเที่ยงตรง, ทำให้จิตต์วิญญาณได้ความชื่นบาน ข้อบัญญัติของพระยะโฮวาก็บริสุทธิ์, กระทำให้ดวงตากระจ่างสว่างไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:7, 8) คัมภีร์ไบเบิลบรรจุกฎหมายที่สมบูรณ์, ข้อสั่งสอนที่เที่ยงตรง, คำโอวาทที่แน่นอน, และข้อบัญญัติอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเป็นมาตรฐานอันสมบูรณ์เพื่อใช้ในการตรวจสอบ.
6 อัครสาวกเปาโลกล่าวเกี่ยวกับข่าวสารที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าว่า “พระคำของพระเจ้าประกอบด้วยชีวิต, และด้วยฤทธิ์เดช, และคมกว่าดาบสองคม, และแทงทะลุกะทั่งจิตต์และวิญญาณ, ทั้งข้อกะดูกและไขในกะดูก, และอาจวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจ.” (เฮ็บราย 4:12) ใช่แล้ว พระคำของพระเจ้าสามารถตรวจสอบหัวใจของเรา คือตัวตนที่เราเป็นอยู่จริง ๆ. เราจะได้ประโยชน์จากข่าวสารที่คมดุจดาบและประกอบด้วยฤทธิ์เดชนี้โดยวิธีใด? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้ชัดเจนว่าเราจะตรวจสอบหัวใจของเราด้วยพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร. ท่านร้องเพลงว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่ . . . ความปีติยินดีของเขาอยู่ในพระบัญญัติของพระยะโฮวา และเขาอ่านพระบัญญัติของพระองค์ด้วยเสียงแผ่วเบาทั้งกลางวันและกลางคืน.” (บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2, ล.ม.) “พระบัญญัติของพระยะโฮวา” มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร. เราต้องรู้สึกยินดีในการอ่านพระคำของพระยะโฮวา. ที่จริงแล้ว เราต้องจัดเวลาไว้สำหรับการอ่านออกเสียงเบา ๆ หรือสำหรับการคิดรำพึงในสิ่งที่ได้อ่าน. ขณะที่เราทำเช่นนี้ เราจะต้องยอมให้ตัวเราเองถูกตรวจสอบด้วยพระคำนั้น.
7. อะไรคือวิธีที่ดีเยี่ยมในการตรวจสอบว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
7 ดังนั้น วิธีที่ดีเยี่ยมในการตรวจสอบว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่ก็คือ การอ่านพระคำของพระเจ้าและคิดรำพึง แล้วตรวจสอบว่าความประพฤติของเราสอดคล้องกับสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมากน้อยแค่ไหน. เราย่อมรู้สึกยินดีที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างมากให้เข้าใจพระคำของพระเจ้า.
8. สรรพหนังสือที่จัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ช่วยเราได้อย่างไรให้ตรวจสอบว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
8 พระยะโฮวาจัดเตรียมคำสอนและคำแนะนำแก่เราผ่านทางหนังสืออธิบายพระคัมภีร์ที่จัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงกรอบที่ชื่อ “คำถามสำหรับใคร่ครวญ” ที่อยู่ตอนท้ายของแทบทุกบทของหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา.a ลักษณะพิเศษนี้ของหนังสือจัดให้เรามีโอกาสที่ดีเยี่ยมจริง ๆ สำหรับการใคร่ครวญเป็นส่วนตัว! เรื่องต่าง ๆ มากมายที่มีการพิจารณาในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ก็ช่วยเราเช่นกันในการตรวจสอบดูว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งกล่าวถึงบทความที่อธิบายข้อคัมภีร์ในพระธรรมสุภาษิตซึ่งตีพิมพ์ในวารสารหอสังเกตการณ์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ดิฉันพบว่าบทความเหล่านั้นใช้ได้ผลจริง ๆ ช่วยดิฉันให้ตรวจสอบว่า คำพูด, ความประพฤติ, และเจตคติของตัวดิฉันเองสอดคล้องกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวาหรือไม่.”
9, 10. พระยะโฮวาจัดเตรียมอะไรเพื่อช่วยเราตรวจสอบอยู่เรื่อย ๆ ว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
9 นอกจากนี้ เรายังได้รับการชี้นำและการหนุนใจมากมายจากการประชุมประจำประชาคมและการประชุมใหญ่. สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าประทานแก่บรรดาผู้ที่ยะซายาพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับพวกเขาว่า “เมื่อถึงสมัยสุดท้ายนั้น, ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งพระยะโฮวานั้น, จะถูกสถาปนาขึ้นให้เท่าเทียมกับขุนเขาสูงทั้งหลาย, และจะถูกยกชูขึ้นให้สูงเยี่ยมเหนือภูเขาทั้งมวล; และประชาชนจะหลั่งไหลไปถึงที่นั่น. และประชาชาติเป็นอันมากจะพากันกล่าวว่า, ‘มาเถิดพวกเรา, ให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา, . . . พระองค์จะได้ทรงสอนเราให้รู้จักวิถีทางของพระองค์, และเราจะได้เดินไปตามทางของพระองค์นั้น.’ ” (ยะซายา 2:2, 3) การได้รับการสอนให้รู้จักวิถีทางของพระยะโฮวาย่อมเป็นพระพรอย่างแน่นอน.
10 ที่ไม่ควรมองข้ามไปก็คือคำแนะนำที่ได้จากผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ ซึ่งรวมถึงคริสเตียนผู้ปกครอง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับพวกเขาว่า “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนโยน ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย.” (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรสำหรับการจัดเตรียมนี้ที่ช่วยปรับเราให้เข้าที่!
11. การตรวจสอบว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่นั้นเราต้องทำอะไร?
11 สรรพหนังสือของเรา, การประชุมคริสเตียน, พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้ง ต่างเป็นของประทานอันยอดเยี่ยมจากพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่นั้นเรียกร้องให้มีการตรวจสอบตัวเอง. ฉะนั้น เมื่อเราอ่านสรรพหนังสือของเราหรือฟังคำแนะนำจากพระคัมภีร์ เราต้องถามตัวเองว่า ‘ข้อนี้กล่าวถึงตัวฉันไหม? ฉันทำอย่างนั้นไหม? ฉันยึดมั่นกับหลักข้อเชื่อต่าง ๆ ของคริสเตียนไหม?’ เจตคติที่เรามีต่อความรู้ที่ได้รับผ่านทางการจัดเตรียมเหล่านี้มีผลกระทบต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเราเช่นกัน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มนุษย์ธรรมดาจะรับสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้าไม่ได้ ด้วยสิ่งเหล่านั้นเขาเห็นเป็นความโง่ . . . แต่มนุษย์ฝ่ายวิญญาณจึงสังเกตสิ่งสารพัตรได้.” (1 โกรินโธ 2:14, 15) เราควรพยายามรักษาทัศนะที่หยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่เราได้อ่านจากหนังสือ, วารสาร, และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ รวมทั้งต่อสิ่งที่เราได้ยินจากการประชุมและจากผู้ปกครองมิใช่หรือ?
“จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวท่านเป็นเช่นไร”
12. การพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเราเป็นเช่นไรนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร?
12 การพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเราเป็นเช่นไรนั้นเกี่ยวข้องกับการประเมินดูตัวเอง. จริงอยู่ เราอาจอยู่ในความจริง แต่ว่าเราดำเนินชีวิตตามความจริงถึงขีดไหน? การพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเราเป็นเช่นไรเกี่ยวข้องกับการแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเรามีความอาวุโสและหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณ.
13. ตามที่กล่าวในเฮ็บราย 5:14 อะไรพิสูจน์ถึงความอาวุโสของเรา?
13 เราจะมองหาอะไรในตัวเราเองที่พิสูจน์ว่าเราอาวุโสฝ่ายคริสเตียน? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “อาหารแข็งเป็นของผู้อาวุโส คือผู้ซึ่งด้วยการใช้ ได้ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) เราให้หลักฐานพิสูจน์ถึงความอาวุโสด้วยการฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเรา. นักกีฬาจะต้องฝึกกล้ามเนื้อบางส่วนให้แข็งแรงขึ้นโดยใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นซ้ำ ๆ ก่อนที่เขาจะเล่นกีฬาได้ดีฉันใด ความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเราก็ต้องได้รับการฝึกฝนโดยการใช้เมื่อเราใช้หลักการจากคัมภีร์ไบเบิลฉันนั้น.
14, 15. ทำไมเราควรพยายามอย่างขยันขันแข็งในการศึกษาสิ่งลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้า?
14 แต่ก่อนที่เราจะฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเราได้ เราต้องมีความรู้. เพื่อจะได้ความรู้มา การศึกษาส่วนตัวอย่างเอาจริงเอาจังนับว่าจำเป็น. เมื่อเราศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้า ความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเราจะพัฒนาขึ้น. มีเรื่องลึกซึ้งหลายเรื่องที่มีการพิจารณาในวารสารหอสังเกตการณ์ต ลอดหลายปีที่ผ่านมา. เรามีท่าทีอย่างไรเมื่อเจอบทความที่มีการพิจารณาความจริงที่ลึกซึ้ง? เรามีแนวโน้มจะเลี่ยงบทความเหล่านั้นไหมเพียงเพราะมี “บางเรื่อง . . . ที่เข้าใจยาก”? (2 เปโตร 3:16, ล.ม.) ตรงกันข้าม เรายิ่งเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนั้น ๆ.—เอเฟโซ 3:18.
15 แต่ถ้าเรารู้สึกว่าการศึกษาส่วนตัวเป็นเรื่องยากสำหรับเราล่ะ? เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพยายามพัฒนาความรู้สึกเพลิดเพลินยินดีในการศึกษา.b (1 เปโตร 2:2) เพื่อจะเติบโตสู่ความอาวุโส เราต้องเรียนรู้ที่จะรับเอาสิ่งที่บำรุงเลี้ยงจากอาหารแข็ง หรือความจริงที่ลึกซึ้งจากพระคำของพระเจ้า. มิฉะนั้นแล้ว ความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเราจะมีอยู่อย่างจำกัด. อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่พิสูจน์ถึงความอาวุโสไม่ใช่อยู่ที่มีความสามารถในการสังเกตเข้าใจเท่านั้น. เราต้องนำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาส่วนตัวอย่างขยันขันแข็งนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน.
16, 17. สาวกยาโกโบให้คำแนะนำอย่างไรในเรื่องการเป็น “ผู้ปฏิบัติตามพระคำ”?
16 นอกจากนี้ หลักฐานที่พิสูจน์ว่าตัวเราเป็นเช่นไรนั้นยังเห็นได้จากการที่เราแสดงออกถึงความหยั่งรู้ค่าต่อความจริงอีกด้วย กล่าวคือมีการกระทำที่แสดงถึงความเชื่อ. สาวกยาโกโบใช้คำเปรียบที่มีพลังเพื่อกล่าวถึงการประเมินดูตัวเองในขอบเขตนี้ว่า “จงเป็นคนประพฤติตามคำนั้น [“ผู้ปฏิบัติตามพระคำ,” ล.ม.], ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ฟังเท่านั้น, และล่อลวงตนเอง. เพราะว่าถ้าผู้ใดฟังคำเท่านั้น, แต่ไม่ได้ประพฤติตาม, ผู้นั้นเป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตัวในกระจก ด้วยว่าคนนั้นแลดูตัวเองแล้วไปเสีย, และประเดี๋ยวก็ลืมว่าตัวเป็นอย่างไร. ฝ่ายผู้ใดที่พิจารณาดูในพระบัญญัติแห่งเสรีภาพอันบริสุทธิ์, และจะตั้งอยู่ในพระบัญญัตินั้น, ผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้ฟังแล้วหลงลืม, แต่เป็นคนประพฤติตาม คนนั้นจะได้ความสุขในการของตน.”—ยาโกโบ 1:22-25.
17 ยาโกโบกำลังบอกว่า ‘จงส่องดูกระจกเงาที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า และดูว่าตัวเองเป็นอย่างไร. ทำอย่างนี้เป็นประจำ ตรวจสอบตัวเองอย่างถี่ถ้วนโดยอาศัยสิ่งที่เรียนรู้จากพระคำของพระเจ้านั้น. แล้วก็อย่าด่วนหลงลืมสิ่งที่ได้มองเห็น. จงแก้ไขในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นต้องแก้.’ ถึงกระนั้น บางครั้งการทำตามคำแนะนำนี้ก็ยาก.
18. ทำไมการทำตามคำแนะนำของยาโกโบจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย?
18 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้คิดถึงการที่เราต้องเข้าร่วมในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร. เปาโลเขียนว่า “ด้วยหัวใจ คนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปาก คนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.” (โรม 10:10, ล.ม.) การประกาศด้วยปากอย่างเปิดเผยเพื่อความรอดเรียกร้องการปรับเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต. สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้ว การจะเข้าร่วมในงานประกาศใช่ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ. การมีใจแรงกล้าในงานประกาศและการจัดให้งานนี้อยู่ในอันดับที่สำคัญในชีวิตก็ยิ่งต้องปรับเปลี่ยนและเสียสละตัวเองมากกว่านั้นอีก. (มัดธาย 6:33) แต่เมื่อเราได้ทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมาย เราจะเป็นสุข เพราะการทำเช่นนั้นนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา. ดังนั้นแล้ว เราเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้าไหม?
19. การกระทำที่แสดงถึงความเชื่อของเราควรรวมถึงอะไรบ้าง?
19 การกระทำที่แสดงถึงความเชื่อของเราควรครอบคลุมขอบเขตขนาดไหน? เปาโลกล่าวว่า “สิ่งสารพัตรที่ท่านได้เรียนและได้รับไว้และได้ยินและได้เห็นในข้าพเจ้าแล้ว, จงกระทำสิ่งเหล่านั้น และพระเจ้าแห่งสันติสุขจะสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย.” (ฟิลิปปอย 4:9) เราแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเราเป็นเช่นไรโดยการปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้, ได้ยอมรับ, ได้ยิน, และได้เห็น—ในวิถีชีวิตทั้งสิ้นของการเป็นสาวกคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว. พระยะโฮวาชี้แนะผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!”—ยะซายา 30:21.
20. บุคคลแบบใดที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาคม?
20 เหล่าชายหญิงที่ขยันศึกษาพระคำของพระเจ้า, ประกาศข่าวดีด้วยใจแรงกล้า, ผู้ซึ่งรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง, และสนับสนุนราชอาณาจักรด้วยความภักดีนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาคม. การมีพวกเขาอยู่ด้วยเสริมความเข้มแข็งแก่ประชาคมที่เขาร่วมสมทบนั้น. คนเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากในประชาคมมีคนใหม่ ๆ จำนวนมากซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแล. หากเราเอาใจใส่อย่างดีต่อคำแนะนำของเปาโลที่ให้ ‘ตรวจสอบอยู่เสมอว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่ และพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวเราเป็นเช่นไร’ เราก็จะก่อแรงชักจูงในทางที่ดีต่อคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน.
จงยินดีในการประพฤติตามพระทัยประสงค์พระเจ้า
21, 22. เราจะยินดีในการประพฤติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร?
21 กษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัย [“พระทัยประสงค์,” ล.ม.] ของพระองค์; แท้จริงพระบัญญัติของพระองค์อยู่ในใจของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 40:8) ดาวิดยินดีในการประพฤติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เพราะเหตุใด? เพราะพระบัญญัติของพระยะโฮวาอยู่ในหัวใจท่าน. ดาวิดไม่มีความสงสัยว่าควรจะเดินไปทางไหน.
22 เมื่อกฎหมายของพระเจ้าอยู่ในหัวใจของเรา เราจะไม่สงสัยเลยว่าจะดำเนินในทางใด. เราจะยินดีในการประพฤติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ดังนั้น ในทุกทางที่ทำได้ ให้เรา “บากบั่นอย่างแข็งขัน” ในการรับใช้พระยะโฮวาจากใจจริง.—ลูกา 13:24, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
b สำหรับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีศึกษา โปรดดูหนังสือการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า หน้า 27-32 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
• เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
• การพิสูจน์ว่าตัวเราเป็นเช่นไรเกี่ยวข้องกับอะไร?
• เราจะให้อะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนของเรา?
• การกระทำที่แสดงถึงความเชื่อช่วยเราอย่างไรในการประเมินดูตัวเอง?
[ภาพหน้า 23]
คุณรู้ไหมว่าอะไรคือวิธีที่ดีเยี่ยมในการตรวจสอบว่าคุณอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
[ภาพหน้า 24]
เราให้หลักฐานพิสูจน์ถึงความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนด้วยการใช้ความสามารถในการสังเกตเข้าใจ
[ภาพหน้า 25]
เราพิสูจน์ว่าตัวเราเป็นเช่นไรโดย ‘ไม่เป็นผู้ฟังที่หลงลืม แต่เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ’