ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การให้อภัยโทษของพระเจ้านั้นสมบูรณ์เพียงใด?
“ดิฉันรู้สึกว่าพระเจ้าจะไม่มีวันอภัยบาปของดิฉัน. พระองค์ไม่ต้องการดิฉันอีกแล้ว เพราะสิ่งที่ดิฉันได้ทำไป.”—กลอเรีย.
กลอเรียไม่มีความยุ่งยากในการบอกคนอื่น ๆ ว่าพระยะโฮวาอาจให้อภัยบาปของพวกเขาได้.a แต่เมื่อเธอครุ่นคิดถึงความผิดที่เธอทำ กลอเรียรู้สึกว่าตนต้องถูกลงโทษ. ดูเหมือนไม่มีทางจะได้รับการอภัยจากพระยะโฮวา.
การสำนึกถึงการกระทำหรือแนวทางชีวิตที่ผิด อาจรบกวนสติรู้สึกผิดชอบได้. ดาวิดได้เขียนหลังจากท่านทำบาปว่า “ข้าพเจ้าอ่อนล้าไปเพราะเหตุคร่ำครวญตลอดวัน กำลังของข้าพเจ้าก็เหือดแห้งไปจนหมดสิ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 32:3,4, ทูเดย์ส อิงลิช เวอร์ชัน; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 51:3.) น่าดีใจ พระยะโฮวาทรงมีพระทัยยินดีในการยกความผิด. พระองค์ทรง “พร้อมที่จะประทานอภัย.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ฉบับแปลใหม่; ยะเอศเคล 33:11.
อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรที่หัวใจ. การให้อภัยของพระองค์ไม่ใช่อาศัยพื้นฐานเพียงแค่อารมณ์. (เอ็กโซโด 34:7; 1ซามูเอล 16:7) ผู้กระทำบาปต้องยอมรับความผิดของตนอย่างเปิดเผย, แสดงความเสียใจแท้, และละทิ้งแนวทางชั่วของตนราวกับเป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียนและน่าเกลียดชัง. (บทเพลงสรรเสริญ 32:5; โรม 12:9; 2โกรินโธ 7:11) เฉพาะเมื่อทำเช่นนี้เท่านั้นที่ผู้กระทำผิดจะได้รับการอภัยและประสบกับ “เวลาชื่นใจยินดี” จากพระยะโฮวา.—กิจการ 3:19.
กระนั้น แม้ภายหลังการกลับใจ บางคนก็ยังรู้สึกว่าตนต้องถูกลงโทษ. พวกเขาต้องแบกภาระหนักหน่วงแห่งความผิดนั้นตลอดไปไหม? จะพบการปลอบโยนอะไรได้บ้างในคัมภีร์ไบเบิลสำหรับผู้ที่ได้กลับใจจากบาปของตนแล้ว และละทิ้งการบาปเหล่านั้น แต่บาปยังรบกวนใจอยู่.—บทเพลงสรรเสริญ 94:19.
การยกภาระหนักออกไป
เพราะโศกเศร้าเนื่องด้วยความผิดของตน ดาวิดจึงทูลต่อพระยะโฮวาว่า “ขอทรงพิจารณาความทุกข์ยากและความยากลำบากของข้าพระองค์ และทรงยกบาปทั้งสิ้นของข้าพระองค์เสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:18, ฉบับแปลใหม่) ที่นี่ ดาวิดทูลขอให้พระยะโฮวาทรงทำมากกว่าการให้อภัย. ท่านทูลขอให้พระยะโฮวาทรง “ยกโทษ” ความบาปของท่าน. นี่หมายถึงการยก, การแบก, การรับเอาไป. ความบาปมีผลร้ายแรง และไม่ต้องสงสัยว่าสำหรับดาวิดแล้ว สิ่งนี้รวมถึงภาระหนักแห่งสติรู้สึกผิดชอบที่เจ็บปวดทรมาน.
ทุกปีชาวยิศราเอลได้รับการเตือนใจแบบที่มองเห็นได้ในเรื่องที่ว่าพระยะโฮวาสามารถยกความบาปของชาตินี้ออกไปได้. ในวันไถ่โทษ ปุโรหิตใหญ่จะวางมือของตนบนศีรษะแพะ สารภาพความบาปของประชาชนลงบนแพะนั้น แล้วนำแพะไปปล่อยที่ห่างไกลในป่า. ใครก็ตามซึ่งอยู่ที่นั่นสามารถนึกภาพออกได้ถึงการยกเอาความบาปของชนชาตินั้นออกไป.—เลวีติโก 16:20-22.
ฉะนั้น คนที่กลับใจจากบาปของตนสามารถสบายใจได้. ขั้นตอนดำเนินการต่าง ๆ ในวันไถ่โทษนั้นเป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงการจัดเตรียมที่ยิ่งใหญ่กว่ามากนักในเรื่องการยกบาปออกไป นั่นคือเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. ยะซายาเขียนถึงพระเยซูในเชิงพยากรณ์ดังนี้: “เขาแบกความผิดบาปของคนทั้งหลาย.” (ยะซายา 53:12) ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ความบาปต่าง ๆ ในอดีตโถมถ่วงสติรู้สึกผิดชอบจนเป็นทุกข์หนัก. แต่พระยะโฮวาจะทรงระลึกถึงความบาปนั้นอีกไหมในกาลภายหน้า?
การยกหนี้
ในคำอธิษฐานอันเป็นแบบฉบับของพระเยซู พระองค์ตรัสดังนี้: “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้า.” (มัดธาย 6:12) คำภาษากรีกซึ่งแปลว่า “ยก” ในที่นี้เป็นรูปหนึ่งของคำกริยาซึ่งหมายความว่า “ปล่อย.” ดังนั้น จึงเปรียบการให้อภัยบาปเหมือนกับการปล่อยไป, หรือการยกเลิกหนี้.—เทียบกับมัดธาย 18:23-35.
เปโตรขยายความในเรื่องนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “จงหันกลับและตั้งใจเสียใหม่ เพื่อความผิดบาปของท่านจะได้ลบล้างเสีย.” (กิจการ 3:19) คำ “ลบล้าง” หมายถึงการทำลาย หรือทำให้หมดสิ้นไป. คำนี้แนะให้คิดถึงการลบบันทึกที่เขียนไว้, การลบล้างจนเกลี้ยง.—เทียบกับโกโลซาย 2:13,14.
ฉะนั้น คนที่กลับใจจึงไม่จำเป็นต้องกลัวว่าพระเจ้าจะเรียกร้องให้จ่ายหนี้ที่พระองค์ได้ยกเลิกไปแล้ว. พระองค์ตรัสดังนี้: “เราจะไม่จดจำบาปของเจ้าไว้เลย.” (ยะซายา 43:25; โรม 4:7,8) นี้หมายความอย่างไรสำหรับคนบาปที่กลับใจ?
การขจัดคราบเปรอะเปื้อน
พระยะโฮวาได้ตรัสผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาดังนี้: “แม้บาปของเจ้าจะแดงเป็นเหมือนสีที่แดงก่ำ บาปนั้นก็อาจจะกลับกลายเป็นสีขาวเหมือนอย่างหิมะ แม้บาปของเจ้าจะแดงเป็นเหมือนสีที่แดงเข้ม บาปนั้นก็อาจจะขาวเหมือนอย่างขนแกะ.”—ยะซายา 1:18.
ความพยายามเพื่อจะขจัดคราบเปรอะเปื้อนที่ฝังลึกออกจากเสื้อผ้าบ่อยครั้งไร้ผล. อย่างดีที่สุดคราบนั้นจางลง แต่ถึงอย่างไรก็ยังสังเกตเห็นได้. เป็นการปลอบประโลมใจจริง ๆ ที่พระยะโฮวาสามารถทำให้บาปที่อุกฉกรรจ์เด่นชัดเสมือนสีแดงก่ำหรือสีแดงเลือดนกกลับกลายเป็นสีขาวดังหิมะได้.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 51:7.
ด้วยเหตุนั้น คนบาปที่กลับใจจึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเขามีรอยเปรอะติดอยู่ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ. พระยะโฮวาจะไม่ทำแค่ให้ความผิดจางลงเท่านั้น อันเป็นเหตุให้คนที่กลับใจจมอยู่กับความละอายไปชั่วชีวิต.—เทียบกับกิจการ 22:16.
การสนับสนุนจากคนอื่น ๆ
ถึงแม้พระยะโฮวาทรงยกเอาภาระหนักออกไป, ยกเลิกหนี้, และขจัดรอยเปรอะเปื้อนของบาป แต่บางครั้ง คนที่กลับใจอาจยังคงรู้สึกท่วมท้นด้วยความเสียใจในการทำผิด. เปาโลได้เขียนถึงคนทำผิดที่กลับใจในประชาคมที่โกรินโธซึ่งได้รับการอภัยจากพระเจ้าแล้วแต่อาจ “จมลงในความทุกข์เหลือล้น.”—2โกรินโธ 2:7.
จะช่วยคนเช่นนี้ได้อย่างไร? เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าวิงวอนท่านให้ยืนยันความรักต่อคนนั้น.” (2โกรินโธ 2:8, ฉบับแปลใหม่.) คำที่เปาโลใช้สำหรับคำ “ยืนยัน” เป็นคำทางกฎหมายซึ่งมีความหมายว่า “ทำให้มีผล.” ใช่แล้ว คนที่กลับใจซึ่งได้รับการอภัยจากพระยะโฮวาต้องการคำยืนยันหรือเครื่องหมายแสดงการยอมรับจากเพื่อนคริสเตียนด้วยเช่นกัน.
เป็นที่เข้าใจได้ว่าเรื่องนี้อาจใช้เวลา. คนที่กลับใจต้องดำเนินชีวิตต่อ ๆ ไปจนผู้คนลืมความเสื่อมเสียเกี่ยวกับความบาปของเขาและสร้างประวัติแห่งความชอบธรรมที่ทำให้คนอื่นมั่นใจ. เขาต้องเพียรอดทนกับความรู้สึกของใครก็ตามซึ่งเคยได้รับผลกระทบเป็นส่วนตัวจากความผิดของเขาในอดีต. ในระหว่างนั้น เขาก็จะมั่นใจได้ในการให้อภัยอันสมบูรณ์ของพระยะโฮวา ดังที่ดาวิดมั่นใจ: “ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด [พระยะโฮวา] ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:12.
[เชิงอรรถ]
a ชื่อได้รับการเปลี่ยน.
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Return of the Prodigal Son by Rembrandt. Scala/Art