การมีส่วนร่วมในการปลอบโยนที่พระยะโฮวาทรงจัดให้
“ความหวังของเราที่มีต่อท่านทั้งหลายไม่หวั่นไหว โดยรู้อยู่ว่า ท่านมีส่วนในความทุกข์ยากฉันใด ท่านจะมีส่วนในการปลอบโยนฉันนั้น.”—2 โกรินโธ 1:7, ล.ม.
1, 2. ประสบการณ์ของหลายคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนในทุกวันนี้เป็นเช่นไร?
ผู้อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ ในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ได้เติบโตมาโดยที่ไม่ทราบความจริงของพระเจ้า. บางทีเป็นเช่นนั้นในกรณีของคุณด้วย. หากเป็นเช่นนั้น ขอให้นึกย้อนไปว่าคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อตาแห่งความเข้าใจของคุณเริ่มจะเปิด. ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเข้าใจเป็นครั้งแรกว่าคนตายไม่ได้ประสบความทุกข์ทรมาน หากแต่อยู่ในสภาพไม่รู้สึกอะไรอีก คุณไม่รู้สึกโล่งใจหรือ? และเมื่อคุณเรียนถึงความหวังสำหรับคนตาย ที่ว่าหลายพันล้านคนจะได้รับการปลุกสู่ชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้า คุณรู้สึกได้รับการปลอบโยนมิใช่หรือ?—ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; โยฮัน 5:28, 29.
2 จะว่าอย่างไรกับคำสัญญาของพระเจ้าที่จะยุติความชั่วและเปลี่ยนแผ่นดินโลกนี้ให้เป็นอุทยาน? เมื่อคุณรู้เรื่องนี้ คุณรู้สึกได้รับการปลอบโยนและเต็มไปด้วยความคาดหวังอย่างกระตือรือร้นมิใช่หรือ? คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อคุณได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ต้องตายเลย แต่จะรอดผ่านเข้าสู่อุทยานทางแผ่นดินโลกนี้ที่กำลังจะมีมา? ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงรู้สึกตื่นเต้นยินดี. ถูกแล้ว คุณได้กลายมาเป็นผู้รับข่าวสารที่ปลอบโยนของพระเจ้า ซึ่งเวลานี้พยานพระยะโฮวากำลังประกาศออกไปทั่วโลก.—บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11, 29; โยฮัน 11:26; วิวรณ์ 21:3-5.
3. เหตุใดคนที่แบ่งปันข่าวสารที่ให้การปลอบโยนของพระเจ้าก็ประสบความทุกข์ยากลำบากด้วย?
3 อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณพยายามจะแบ่งปันข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้อื่น คุณก็ได้มาตระหนักด้วยว่า “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน.” (2 เธซะโลนิเก 3:2) บางทีเพื่อนเก่าบางคนอาจเยาะเย้ยคุณที่ได้แสดงความเชื่อในคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิล. คุณอาจถึงขั้นถูกกดขี่ข่มเหงเพราะไม่ยอมเลิกการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. การต่อต้านอาจทวีความรุนแรงขึ้นขณะที่คุณเริ่มเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อนำชีวิตของคุณมาเข้าประสานกับหลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล. คุณเริ่มประสบความทุกข์ลำบากที่ซาตานและโลกของมันก่อให้เกิดแก่ทุกคนที่รับเอาการปลอบโยนจากพระเจ้า.
4. ผู้สนใจใหม่ ๆ อาจมีปฏิกิริยาต่อความทุกข์ลำบากแตกต่างกันไปอย่างไรบ้าง?
4 น่าเศร้า ดังที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้า ความทุกข์ลำบากทำให้บางคนสะดุดและเลิกคบหากับประชาคมคริสเตียน. (มัดธาย 13:5, 6, 20, 21) คนอื่นยอมทนกับความทุกข์ลำบากโดยเพ่งเล็งความคิดจิตใจไปที่คำสัญญาต่าง ๆ ที่ให้การปลอบโยนซึ่งพวกเขากำลังเรียนรู้อยู่. ในที่สุด พวกเขาก็อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมาเป็นสาวกของพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์. (มัดธาย 28:19, 20; มาระโก 8:34) แน่นอน ความทุกข์ลำบากไม่หมดไปเมื่อคริสเตียนรับบัพติสมา. ตัวอย่างเช่น การรักษาความบริสุทธิ์สะอาดอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้อย่างหนักสำหรับคนที่เคยมีภูมิหลังชีวิตที่ผิดศีลธรรมมาก่อน. ส่วนคนอื่นนั้นก็จำต้องสู้กับการต่อต้านอย่างไม่ละลดจากสมาชิกครอบครัวที่ไม่เชื่อ. ไม่ว่าความทุกข์ลำบากจะเป็นเช่นใดก็ตาม บรรดาคนเหล่านั้นที่ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์สามารถมั่นใจได้ในสิ่งหนึ่ง. พวกเขาจะได้รับการปลอบโยนและการช่วยเหลือจากพระเจ้าเป็นส่วนตัว.
“พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง”
5. นอกเหนือจากการทดลองมากมายที่เปาโลต้องทนรับเอา ท่านประสบอะไรด้วย?
5 คนหนึ่งที่หยั่งรู้ค่าอย่างมากต่อการปลอบโยนที่พระเจ้าทรงจัดให้ก็คืออัครสาวกเปาโล. หลังจากผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นพิเศษในมณฑลอาเซียและมากะโดเนีย ท่านโล่งใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ยินว่า ประชาคมโกรินโธได้แสดงการตอบรับที่ดีต่อจดหมายว่ากล่าวตักเตือนของท่าน. การที่ได้ทราบเช่นนี้กระตุ้นท่านให้เขียนจดหมายฉบับที่สองถึงพวกเขา ซึ่งมีเนื้อความแสดงการเทิดทูนดังต่อไปนี้: “จงสรรเสริญพระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุนและพระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง พระองค์ผู้ทรงปลอบโยนเราในความทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา.”—2 โกรินโธ 1:3, 4, ล.ม.
6. เราเรียนอะไรจากคำพูดของเปาโลที่ 2 โกรินโธ 1:3, 4?
6 ถ้อยคำเหล่านี้ที่มีขึ้นด้วยการดลใจให้รายละเอียดข้อมูลแก่เรามากทีเดียว. ให้เรามาวิเคราะห์ดู. เมื่อเปาโลกล่าวสรรเสริญหรือขอบพระคุณพระเจ้าหรือวิงวอนขอต่อพระองค์ในจดหมายของท่าน เรามักจะพบว่า ท่านยังรวมเอาความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อพระเยซู ผู้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนเข้าไว้ด้วย. (โรม 1:8; 7:25; เอเฟโซ 1:3; เฮ็บราย 13:20, 21) ดังนั้น เปาโลกล่าวถ้อยคำสรรเสริญแด่ “พระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา.” จากนั้น เป็นครั้งแรกในข้อเขียนของท่าน ท่านใช้คำนามภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ความเมตตาอันอ่อนละมุน.” คำนามนี้มาจากคำที่ใช้แสดงความเสียใจต่อความทุกข์ยากของอีกคนหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ เปาโลพรรณนาความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเจ้าที่มีต่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ซึ่งประสบความทุกข์ยากลำบาก—ความรู้สึกอันอ่อนละมุนที่กระตุ้นพระเจ้าให้ทรงปฏิบัติการด้วยพระทัยเมตตาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา. ท้ายที่สุด เปาโลหมายพึ่งพระยะโฮวาฐานะเป็นแหล่งแห่งคุณลักษณะที่น่าปรารถนานี้ โดยเรียกพระองค์ว่า “พระบิดา แห่งความเมตตาอันอ่อนละมุน.”
7. เหตุใดเรากล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง”?
7 “ความเมตตาอันอ่อนละมุน” ของพระเจ้าทำให้คนที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบากรู้สึกได้รับการบรรเทาทุกข์. ดังนั้น เปาโลพรรณนาต่อไปเกี่ยวกับพระยะโฮวาฐานะทรงเป็น “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง.” ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเราได้รับการปลอบโยนในเรื่องใดก็ตามจากความกรุณาของเพื่อนร่วมความเชื่อ เราสามารถหมายพึ่งพระยะโฮวาฐานะที่พระองค์ทรงเป็นแหล่งที่มาของการปลอบโยนนั้น. ไม่มีการปลอบโยนที่แท้จริงและยั่งยืนใด ๆ ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้สร้างมนุษย์ตามแบบพระฉายของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ทำให้เราสามารถเป็นผู้ปลอบโยนได้. และพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้านั่นเองที่ก่อแรงบันดาลใจให้ผู้รับใช้ของพระองค์แสดงความเมตตาอันอ่อนละมุนต่อคนเหล่านั้นที่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน.
รับการฝึกอบรมเป็นผู้ปลอบโยน
8. แม้ว่าพระเจ้าไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดการทดลองต่าง ๆ ที่เราประสบ การอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากอาจก่อผลประโยชน์เช่นไรแก่เรา?
8 ขณะที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงยอมให้มีการทดลองต่าง ๆ หลายประการเกิดแก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ พระองค์ไม่เคยเป็นบ่อเกิดของการทดลองเหล่านั้น. (ยาโกโบ 1:13) อย่างไรก็ตาม การปลอบโยนที่พระองค์ทรงจัดให้เมื่อเราทนความทุกข์ลำบากอยู่นั้นสามารถฝึกเราให้มีความรู้สึกไวขึ้นต่อความจำเป็นของผู้อื่น. ผลเป็นเช่นไร? “เผื่อว่าเราจะสามารถปลอบโยนคนเหล่านั้นในความทุกข์ยากอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยการปลอบโยนซึ่งตัวเราเองได้รับการปลอบโยนจากพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 1:4, ล.ม.) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงฝึกเราให้เป็นผู้มีส่วนอย่างมีประสิทธิภาพในการปลอบโยนเพื่อนร่วมความเชื่อของเราและคนเหล่านั้นที่เราพบในงานรับใช้ของเราขณะที่เราเลียนแบบพระคริสต์และ “เล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า.”—ยะซายา 61:2; มัดธาย 5:4.
9. (ก) อะไรจะช่วยเราอดทนกับความทุกข์ยาก? (ข) คนอื่นได้รับการปลอบโยนอย่างไรเมื่อเราอดทนความทุกข์ยากลำบากด้วยความซื่อสัตย์?
9 เปาโลทนการยากลำบากหลายอย่างได้ เนื่องด้วยการปลอบโยนมากมายที่ท่านได้รับจากพระเจ้าผ่านทางพระคริสต์. (2 โกรินโธ 1:15) เราเองก็เช่นกันสามารถรับการปลอบโยนอย่างล้นเหลือ โดยการใคร่ครวญคำสัญญาอันล้ำค่าของพระเจ้า, โดยการอธิษฐานขอการสนับสนุนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์, และโดยการประสบว่าพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเรา. โดยวิธีนี้ เราจะได้รับความเข้มแข็งที่จะเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป และพิสูจน์ว่าพญามารเป็นตัวมุสา. (โยบ 2:4; สุภาษิต 27:11) เมื่อเราทนความยากลำบากอย่างซื่อสัตย์ไม่ว่ารูปใด เราควรเป็นเหมือนเปาโล คือยกคุณงามความดีทุกประการแด่พระยะโฮวา เพราะการปลอบโยนของพระองค์ทำให้คริสเตียนสามารถรักษาตัวซื่อสัตย์ได้ภายใต้การทดลอง. ความอดทนของคริสเตียนที่ซื่อสัตย์มีผลเป็นการปลอบโยนต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น ทำให้คนอื่น ๆ แน่วแน่จะ “เพียรสู้ทนความทุกข์” แบบเดียวกัน.—2 โกรินโธ 1:6.
10, 11. (ก) ปัจจัยใดบ้างที่ก่อความทุกข์ยากแก่ประชาคมโกรินโธในกาลโบราณ? (ข) เปาโลปลอบโยนประชาคมโกรินโธอย่างไร และท่านได้แสดงความหวังในเรื่องอะไร?
10 ชาวโกรินโธมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากที่เกิดแก่คริสเตียนแท้ทุกคน. นอกจากนี้ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำให้ตัดสัมพันธ์คนหนึ่งที่ประพฤติผิดประเวณีโดยไม่กลับใจ. (1 โกรินโธ 5:1, 2, 11, 13) เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติอย่างนั้นและไม่ยุติการทะเลาะและการแตกแยก จึงก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อประชาคม. แต่ในที่สุดพวกเขาทำตามคำแนะนำของเปาโลและแสดงการกลับใจอย่างแท้จริง. ดังนั้น ท่านชมเชยพวกเขาอย่างอบอุ่นและบอกว่า การตอบรับที่ดีของพวกเขาต่อจดหมายของท่านทำให้ท่านได้รับการปลอบโยน. (2 โกรินโธ 7:8, 10, 11, 13) ดูเหมือนว่า คนที่ถูกตัดสัมพันธ์ไปนั้นก็ได้กลับใจด้วย. ดังนั้น เปาโลแนะนำพวกเขาให้ “ยกโทษคนนั้น . . . เพื่อเขาจะได้ความบรรเทา กลัวว่าเขาจะจมลงในความทุกข์เหลือล้น.”—2 โกรินโธ 2:7.
11 จดหมายของเปาโลฉบับที่สองนี้ต้องได้ให้การปลอบโยนแก่ประชาคมโกรินโธอย่างแน่นอน. และนี่คือความตั้งใจอย่างหนึ่งของท่าน. ท่านอธิบายดังนี้: “ความหวังของเราที่มีต่อท่านทั้งหลายไม่หวั่นไหว โดยรู้อยู่ว่า ท่านมีส่วนในความทุกข์ยากฉันใด ท่านจะมีส่วนในการปลอบโยนฉันนั้น.” (2 โกรินโธ 1:7, ล.ม.) ในตอนท้ายของจดหมาย เปาโลกระตุ้นเตือนดังนี้: “จง . . . รับการปลอบโยน . . . ต่อ ๆ ไป; และพระเจ้าแห่งความรักและสันติจะสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย.”—2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.
12. คริสเตียนทุกคนมีความต้องการในเรื่องใด?
12 ช่างเป็นบทเรียนสำคัญจริง ๆ ที่เราสามารถเรียนได้จากเรื่องนี้! สมาชิกทุกคนของประชาคมคริสเตียนจำเป็นต้อง “มีส่วนในการปลอบโยน” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้ทางพระคำของพระองค์, ทางพระวิญญาณบริสุทธิ์, และทางองค์การของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้. แม้แต่คนที่ถูกตัดสัมพันธ์อาจจะต้องการการปลอบโยนถ้าพวกเขาได้กลับใจและแก้ไขแนวทางผิดของตนแล้ว. ด้วยเหตุนี้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้กำหนดให้มีการจัดเตรียมด้วยความเมตตาเพื่อช่วยคนเหล่านี้. ปีละครั้งผู้ปกครองสองคนอาจไปเยี่ยมคนที่ถูกตัดสัมพันธ์บางคน. คนเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงเจตคติขัดขืนอำนาจหรือพัวพันในบาปที่ร้ายแรงอีกต่อไป และอาจต้องการความช่วยเหลือให้ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อประชาคมจะรับเขากลับสู่ฐานะเดิม.—มัดธาย 24:45; ยะเอศเคล 34:16.
ความทุกข์ยากลำบากของเปาโลในมณฑลอาเซีย
13, 14. (ก) เปาโลพรรณนาอย่างไรถึงช่วงเวลาที่ท่านประสบความทุกข์ยากแสนเข็ญในมณฑลอาเซีย? (ข) เปาโลอาจคิดถึงเหตุการณ์อะไร?
13 ความเดือดร้อนที่ประชาคมโกรินโธประสบจนถึงจุดนี้ไม่อาจเอาไปเทียบได้กับความยากลำบากมากมายที่เปาโลต้องทนเอา. ด้วยเหตุนั้น ท่านสามารถเตือนให้พวกเขาระลึกว่า “พี่น้องทั้งหลาย เราใคร่ให้ท่านทั้งหลายทราบถึงความทุกข์ลำบากที่บังเกิดแก่เราในมณฑลอาเซียซึ่งหนักใจเหลือกำลัง, จนถึงกับทำให้เราหมดหวังที่จะเอาชีวิตรอดได้. ที่จริงเราคาดว่าถึงที่ตายแล้ว, แต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อมิให้ไว้ใจตนเอง, ให้ไว้ใจพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้คนทั้งปวงเป็นขึ้นมาจากความตาย. พระองค์นั้นทรงช่วยให้เราพ้นจากความตายอันใหญ่หลวง, และพระองค์จะทรงช่วยเราอีก. เราไว้ใจพระองค์ว่าพระองค์ยังจะทรงช่วยเราต่อไป.”—2 โกรินโธ 1:8-10.
14 ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนเชื่อว่า เปาโลกล่าวถึงการจลาจลในเมืองเอเฟโซซึ่งไม่เพียงเกือบคร่าชีวิตเปาโล แต่คาโยและอะริศตาโคซึ่งเป็นชาวมากะโดเนียเพื่อนร่วมเดินทางของท่านก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดด้วย. คริสเตียนทั้งสองนี้ถูกลากถูลู่ถูกังไปที่โรงละครที่มีฝูงชนแน่นไปหมด ผู้ซึ่ง “ส่งเสียงร้องพร้อมกันอยู่ประมาณสักสองชั่วโมงว่า, ‘พระอะระเตมีของชาวเอเฟโซเป็นใหญ่.’” ในที่สุดเจ้าหน้าที่ฝ่ายการปกครองก็สามารถทำให้ฝูงชนเงียบลงได้. การคุกคามชีวิตของคาโยและอะริศตาโคคงต้องได้ทำให้เปาโลเป็นทุกข์อย่างยิ่งทีเดียว. ที่จริง ท่านต้องการจะเข้าไปและหาเหตุผลกับฝูงชนที่บ้าคลั่ง แต่ท่านถูกห้ามไว้ไม่ให้เอาชีวิตไปเสี่ยงแบบนี้.—กิจการ 19:26-41.
15. สถานการณ์ที่คับขันอย่างยิ่งที่ได้มีการพรรณนาถึงที่ 1 โกรินโธ 15:32 นั้นอาจเป็นอะไร?
15 อย่างไรก็ดี เปาโลอาจได้พรรณนาสถานการณ์ในครั้งหนึ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้มากนัก. ในจดหมายฉบับแรกของท่านที่เขียนไปถึงชาวโกรินโธ เปาโลถามดังนี้: “ที่ข้าพเจ้าได้สู้กับสัตว์ร้ายในเมืองเอเฟโซ, ตามความเห็นของมนุษย์จะมีประโยชน์อะไรแก่ข้าพเจ้า?” (1 โกรินโธ 15:32) ข้อนี้อาจหมายถึงว่า ชีวิตของเปาโลถูกคุกคามไม่เพียงแค่จากมนุษย์ที่เป็นเยี่ยงสัตว์ป่า แต่จากสัตว์ป่าจริง ๆ ในสนามกีฬาของเมืองเอเฟโซ. บางครั้ง อาชญากรถูกลงโทษด้วยการบังคับให้ต่อสู้กับสัตว์ป่าต่อหน้าฝูงชนผู้กระหายเลือดที่ดูอยู่. ถ้าสิ่งที่เปาโลพูดหมายถึงสัตว์ป่าจริง ๆ ในช่วงขณะที่คับขันถึงที่สุดนั้นท่านคงต้องได้รับการช่วยให้รอดพ้นความตายอย่างทารุณด้วยวิธีอัศจรรย์ เช่นเดียวกับที่ดานิเอลได้รับการช่วยให้พ้นจากปากของสิงโตจริง ๆ นั้นทีเดียว.—ดานิเอล 6:22.
ตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน
16. (ก) เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าพยานพระยะโฮวาหลายคนประสบความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ที่เปาโลประสบ? (ข) เราสามารถแน่ใจในสิ่งใดเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ตายไปเนื่องด้วยความเชื่อของตน? (ค) การที่คริสเตียนบางคนได้รอดตายอย่างหวุดหวิดก่อให้เกิดผลดีเช่นไรต่อคริสเตียนคนอื่น ๆ?
16 คริสเตียนหลายคนในปัจจุบันสามารถร่วมความรู้สึกถึงความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ที่เปาโลได้ประสบ. (2 โกรินโธ 11:23-27) ทุกวันนี้ มีคริสเตียนที่ตกอยู่ในสภาพ “ซึ่งหนักใจเหลือกำลัง” ด้วยเช่นกัน และหลายคนเผชิญสถานการณ์ที่พวกเขาถึงกับ “หมดหวัง [“ไม่แน่ใจ,” ล.ม.] ที่จะเอาชีวิตรอดได้.” (2 โกรินโธ 1:8) บางคนได้ตายไปด้วยน้ำมือของฆาตกรที่สังหารหมู่และผู้ข่มเหงที่โหดร้าย. เราสามารถมั่นใจได้ว่า อำนาจในการปลอบโยนของพระเจ้าได้ทำให้พวกเขาอดทนได้ และมั่นใจได้ว่าพวกเขาตายด้วยหัวใจและความคิดจิตใจที่มั่นอยู่ในความสำเร็จสมจริงแห่งความหวังของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความหวังฝ่ายสวรรค์หรือทางแผ่นดินโลกนี้ก็ตาม. (1 โกรินโธ 10:13; ฟิลิปปอย 4:13; วิวรณ์ 2:10) ในกรณีอื่น ๆ พระยะโฮวาได้ทรงพลิกผันเหตุการณ์ และพี่น้องของเราจึงได้รับการช่วยให้พ้นความตาย. ไม่ต้องสงสัยว่าคนเหล่านั้นที่เคยได้รับการช่วยชีวิตเช่นนั้นได้พัฒนาความไว้วางใจของตนใน “พระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้คนทั้งปวงเป็นขึ้นมาจากความตาย.” (2 โกรินโธ 1:9) เวลาต่อมา พวกเขาสามารถพูดด้วยความมั่นใจที่ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก ขณะที่พวกเขาแบ่งปันข่าวสารที่ให้การปลอบโยนของพระเจ้าแก่คนอื่น ๆ.—มัดธาย 24:14.
17-19. ประสบการณ์อะไรที่แสดงว่าพี่น้องของเราในรวันดาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการปลอบโยนของพระเจ้า?
17 ไม่นานมานี้ พี่น้องที่รักของเราในรวันดาผ่านประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับของเปาโลและเพื่อน ๆ. หลายคนเสียชีวิต แต่ความพยายามของซาตานไม่อาจจะทำลายความเชื่อของพวกเขา. ตรงกันข้าม พี่น้องของเราในดินแดนแห่งนี้ได้ประสบการปลอบโยนจากพระเจ้าเป็นส่วนตัวในหลายวิธีด้วยกัน. ระหว่างที่เกิดการฆ่าล้างชาติพันธุ์ระหว่างเผ่าฮูตูและทุตซีที่อาศัยในรวันดา มีชาวฮูตูที่เสี่ยงชีวิตของตนเพื่อปกป้องชาวทุตซีและชาวทุตซีที่ปกป้องชาวฮูตู. ในหมู่คนเหล่านี้ มีบางคนถูกพวกหัวรุนแรงฆ่าเนื่องจากให้การปกป้องเพื่อนร่วมความเชื่อของตน. ตัวอย่างเช่น พยานฯชาวฮูตูคนหนึ่งชื่อกาฮีซีถูกฆ่าหลังจากที่ได้ให้ที่ซ่อนแก่พี่น้องหญิงชาวทุตซีคนหนึ่งชื่อชังทาล. ชาง ซึ่งเป็นชาวทุตซีสามีของชังทาลได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องหญิงชาวฮูตูชื่อชาร์ลอตให้ซ่อนอยู่อีกที่หนึ่ง. เป็นเวลา 40 วันที่ชางและพี่น้องชาวทุตซีอีกคนหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในปล่องไฟขนาดใหญ่ ออกมาได้บ้างเพียงชั่วครู่ชั่วยามในตอนกลางคืน. ตลอดช่วงเวลานี้ ชาร์ลอตจัดหาอาหารมาให้และคอยปกป้องพวกเขา แม้ว่าอาศัยอยู่ใกล้ค่ายทหารเผ่าฮูตูก็ตาม. ในหน้านี้ คุณจะเห็นภาพของชางและชังทาลที่ได้อยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองรู้สึกขอบคุณที่เพื่อนผู้นมัสการชาวฮูตูได้ “เสี่ยงชีวิตของเขา” เพื่อพวกเขา เช่นเดียวกับที่ปริศกีลาและอะกูลาได้ทำเพื่อช่วยอัครสาวกเปาโล.—โรม 16:3, 4, ฉบับแปลใหม่.
18 พยานฯชาวฮูตูอีกคนหนึ่งชื่อรวาคาบูบู ได้รับการสดุดีวีรกรรมจากหนังสือพิมพ์อินตาเรมารา ที่ได้ปกป้องเพื่อนร่วมความเชื่อชาวทุตซีหลายคน.a หนังสือพิมพ์นี้รายงานว่า “แล้วก็ยังมีรวาคาบูบูซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง ผู้ซึ่งได้ซ่อนหลายคนไว้ที่นี่บ้างที่นั่นบ้างให้อยู่ในหมู่พวกพี่น้องของเขา (พวกเขาเรียกกันและกันในหมู่เพื่อนร่วมความเชื่ออย่างนั้น). เขาใช้เวลาทั้งวันเอาอาหารและน้ำดื่มไปให้พวกพี่น้องของเขาแม้ว่าเขาเป็นโรคหืด. แต่พระเจ้าทรงทำให้เขาแข็งแรงผิดธรรมดา.”
19 ขอให้พิจารณาเรื่องของคู่สมรสชาวฮูตูที่เป็นผู้สนใจคู่หนึ่งที่ชื่อนิโกแดมและอะตานาซีด้วย. ก่อนที่การฆ่าล้างชาติพันธุ์จะปะทุขึ้น คู่สมรสคู่นี้ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานฯชาวทุตซีชื่ออัลฟงส์. พวกเขาเสี่ยงชีวิตซ่อนอัลฟงส์ไว้ในบ้านของตน. ต่อมาพวกเขาตระหนักว่า บ้านของเขาไม่ใช่ที่ปลอดภัย เพราะเพื่อนบ้านชาวฮูตูทราบเรื่องของเพื่อนชาวทุตซีคนนี้. ดังนั้นนิโกแดมและอะตานาซีจึงซ่อนอัลฟงส์ในหลุมที่อยู่ในบริเวณสนามบ้านของตน. นับเป็นการเคลื่อนย้ายที่ทำได้เหมาะเจาะทีเดียว เพราะพวกเพื่อนบ้านเริ่มมาค้นหาตัวอัลฟงส์เกือบทุกวัน. ขณะที่อยู่ในหลุมนี้เป็นเวลา 28 วัน อัลฟงส์คิดรำพึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเช่นเรื่องราฮาบ ผู้ได้ซ่อนชาวยิศราเอลสองคนไว้บนหลังคาบ้านของเธอในเมืองยะริโฮ. (ยะโฮซูอะ 6:17) ทุกวันนี้ อัลฟงส์ยังคงรับใช้ต่อไปในรวันดาฐานะผู้ประกาศข่าวดี ด้วยความรู้สึกขอบคุณนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชาวฮูตูที่ได้เสี่ยงชีวิตช่วยเขา. และนิโกแดมกับอะตานาซีล่ะเป็นอย่างไร? ตอนนี้พวกเขาได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้วและนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับผู้สนใจมากกว่า 20 ราย.
20. พระยะโฮวาทรงปลอบโยนพี่น้องของเราในรวันดาโดยวิธีใด แต่หลายคนในพวกเขามีความต้องการในเรื่องใดต่อ ๆ ไป?
20 ตอนที่การฆ่าล้างชาติพันธุ์ในรวันดาเปิดฉากขึ้น มีผู้ประกาศข่าวดีในประเทศนี้ 2,500 คน. แม้ว่าหลายร้อยคนเสียชีวิตหรือถูกบีบให้ต้องหนีออกนอกประเทศ จำนวนพยานฯได้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งตอนนี้มีมากกว่า 3,000 คน. นั่นเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงปลอบโยนพวกพี่น้องของเราจริง ๆ. บรรดาลูกกำพร้าและแม่ม่ายมากมายที่อยู่ท่ามกลางพยานพระยะโฮวาล่ะเป็นเช่นไร? ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเหล่านี้ยังคงทนทุกข์และต้องการการปลอบโยนอยู่ต่อไป. (ยาโกโบ 1:27) น้ำตาของพวกเขาจะถูกเช็ดออกไปจนหมดสิ้นก็ต่อเมื่อมีการกลับเป็นขึ้นจากตายในโลกใหม่ของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยการดูแลเอาใจใส่จากพี่น้องของเขา และเนื่องจากพวกเขาเป็นผู้นมัสการ “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง” พวกเขาจึงสามารถรับมือกับชีวิตได้.
21. (ก) มีที่ใดอีกที่พี่น้องของเราอยู่ในสภาพซึ่งต้องการการปลอบโยนจากพระเจ้าอย่างยิ่ง และทางหนึ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยได้คืออะไร? (ดูกรอบที่ชื่อ “การปลอบโยนในช่วงสงครามสี่ปี.”) (ข) เมื่อไรความจำเป็นของเราในเรื่องการปลอบโยนจะได้รับการสนองตอบอย่างครบถ้วน?
21 ในอีกหลายแห่ง อย่างเช่นที่เอริเทรีย, สิงคโปร์, และอดีตยูโกสลาเวีย พี่น้องของเราคงรับใช้พระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์ต่อไปแม้เผชิญความทุกข์ยากลำบาก. ขอให้เราช่วยพี่น้องที่อยู่ในสภาพเช่นนี้โดยการวิงวอนขอเป็นประจำให้พวกเขาได้รับการปลอบโยน. (2 โกรินโธ 1:11) และขอให้เราอดทนด้วยความซื่อสัตย์กระทั่งถึงเวลาเมื่อพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์ “จะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตา” ของเราในความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์. ถึงเวลานั้น เราจะประสบการปลอบโยนอย่างเต็มขนาดที่พระยะโฮวาจะทรงจัดให้ในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระองค์.—วิวรณ์ 7:17; 21:4; 2 เปโตร 3:13.
[เชิงอรรถ]
a หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1995 หน้า 26 เล่าประสบการณ์ของเดบอรา ลูกสาวของรวาคาบูบู ซึ่งคำอธิษฐานของเธอจับใจพวกทหารชาวฮูตูกลุ่มหนึ่งและดังนั้นช่วยให้ทั้งครอบครัวรอดจากการถูกฆ่า.
คุณทราบไหม?
▫ เหตุใดพระยะโฮวาทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง”?
▫ เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อความทุกข์ยากลำบาก?
▫ เราสามารถให้การปลอบโยนแก่ผู้ใด?
▫ ความจำเป็นของเราที่จะได้รับการปลอบโยนจะได้รับการตอบสนองอย่างครบถ้วนอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 17]
ชองและชังทาล แม้ว่าเป็นพยานฯชาวทุตซีได้รับการซ่อนตัวอยู่คนละแห่งจากพยานฯชาวฮูตูในช่วงที่มีการฆ่าล้างชาติพันธุ์ในรวันดา
[รูปภาพหน้า 17]
พยานพระยะโฮวายังคงมีส่วนร่วมการแบ่งปันข่าวสารที่ให้การปลอบโยนของพระเจ้าแก่เพื่อนบ้านของตนต่อไปในรวันดา