บท 22
“สติปัญญาจากเบื้องบน” มีผลกับชีวิตของคุณไหม?
1-3. (ก) โซโลมอนแสดงให้เห็นว่ามีสติปัญญายังไงตอนที่เขาตัดสินคดีระหว่างผู้หญิงสองคน? (ข) พระยะโฮวาสัญญาว่าจะให้อะไรกับเรา และเราจะคุยอะไรกันบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้?
มีผู้หญิงสองคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ทั้งสองคลอดลูกชายในเวลาใกล้เคียงกันแต่เด็กคนหนึ่งตาย ผู้หญิงสองคนนี้ต่างก็อ้างว่าเป็นแม่ของเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่a ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ผู้พิพากษาพยายามค้นหาความจริงแต่ก็ทำไม่ได้ ในที่สุดผู้หญิงสองคนนี้ก็มาขอให้โซโลมอนกษัตริย์ของอิสราเอลช่วยตัดสินคดีนี้ แล้วเขาจะบอกได้ไหมว่าใครเป็นแม่จริง ๆ?
2 หลังจากฟังผู้หญิงทั้งสองคนเถียงกันสักพักหนึ่ง โซโลมอนบอกให้เอาดาบมา เขาสั่งให้ผ่าเด็กเป็นสองส่วนแล้วแบ่งให้พวกเธอคนละครึ่ง ผู้หญิงที่เป็นแม่ของเด็กขอร้องให้กษัตริย์ยกเด็กให้กับผู้หญิงอีกคน แต่ผู้หญิงคนนั้นบอกให้ผ่าเด็กเป็นสองส่วน นี่ทำให้โซโลมอนรู้เลยว่าใครเป็นแม่ของเด็กจริง ๆ เขารู้ว่าคนที่เป็นแม่จะรักลูกของตัวเองมาก นี่ทำให้เขาตัดสินได้อย่างถูกต้อง ลองคิดดูสิว่าคนที่เป็นแม่จะดีใจมากขนาดไหนตอนที่โซโลมอนอุ้มเด็กมาให้และบอกว่า “เธอเป็นแม่ของเด็ก”—1 พงศ์กษัตริย์ 3:16-27
3 นั่นเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดจริง ๆ เมื่อประชาชนได้ยินว่าโซโลมอนตัดสินคดีนั้นยังไง พวกเขาก็รู้สึกประทับใจมาก “เพราะเห็นว่าโซโลมอนได้รับสติปัญญาจากพระเจ้า” จนตัดสินได้อย่างยุติธรรม สติปัญญาของโซโลมอนเป็นของขวัญจากพระยะโฮวา พระองค์ให้เขามี “ปัญญาและมีความเข้าใจ” (1 พงศ์กษัตริย์ 3:12, 28) แล้วพวกเราล่ะ? พระองค์จะให้สติปัญญากับพวกเราด้วยไหม? แน่นอน เพราะโซโลมอนได้รับการดลใจให้เขียนว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ให้สติปัญญา” (สุภาษิต 2:6) พระองค์สัญญาว่าจะให้สติปัญญากับทุกคนที่ขอ แต่เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้สติปัญญาจากพระยะโฮวา? และเราจะใช้สติปัญญานั้นในชีวิตยังไง?
เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้สติปัญญาจากพระยะโฮวา
4-7. มี 4 อย่างอะไรบ้างที่เราต้องทำเพื่อจะได้สติปัญญาจากพระเจ้า?
4 เราต้องเป็นคนฉลาดมากหรือมีการศึกษาสูงไหมเพื่อจะได้สติปัญญาจากพระเจ้า? ไม่ พระยะโฮวาเต็มใจให้สติปัญญากับเราทุกคนไม่ว่าเป็นใครหรือมีความรู้มากน้อยแค่ไหน (1 โครินธ์ 1:26-29) แต่เราก็ต้องทำบางอย่างด้วยเพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้ “เสาะหาสติปัญญา” (สุภาษิต 4:7) แล้วเราจะทำแบบนั้นได้ยังไง?
5 อย่างแรก เราต้องเกรงกลัวพระเจ้า สุภาษิต 9:10 บอกว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นจุดเริ่มต้นของสติปัญญา” ดังนั้น เพื่อจะมีสติปัญญาแท้เราต้องเกรงกลัวพระยะโฮวา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ก่อนหน้านี้เราได้เรียนแล้วว่าเพื่อจะเป็นคนฉลาดจริง ๆ เราต้องใช้ความรู้และความเข้าใจที่จะทำสิ่งที่ดี ความเกรงกลัวพระเจ้าหมายถึงการเชื่อฟังและไว้วางใจพระองค์สุดหัวใจ ไม่ใช่กลัวว่าจะถูกพระเจ้าลงโทษ ความเกรงกลัวพระเจ้ามีประโยชน์และช่วยให้เราใช้ชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์อยากให้เราทำ การใช้ชีวิตแบบนี้ดีที่สุดเพราะสิ่งที่พระยะโฮวาบอกให้เราทำมีประโยชน์กับเราเสมอ
6 อย่างที่สอง เราต้องเป็นคนถ่อมและเจียมตัว มีแต่คนถ่อมเท่านั้นที่จะมีสติปัญญาจากพระเจ้าได้ (สุภาษิต 11:2) ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ถ้าเราถ่อมและเจียมตัวเราก็จะยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง ความคิดของเราอาจไม่ถูกต้องเสมอไป และยอมรับว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะมองเรื่องต่าง ๆ แบบพระยะโฮวา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวา “ต่อต้านคนหยิ่ง” แต่พระองค์ยินดีที่จะให้สติปัญญากับคนที่มีหัวใจถ่อม—ยากอบ 4:6
7 สิ่งสำคัญอย่างที่สามคือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับสติปัญญาของพระองค์ในคัมภีร์ไบเบิล เพื่อจะมีสติปัญญาของพระเจ้าเราต้องพยายามค้นหาสติปัญญานั้น (สุภาษิต 2:1-5) อย่างที่สี่คือการอธิษฐาน ถ้าเราอธิษฐานขอสติปัญญาจากพระเจ้าอย่างจริงใจ พระองค์ก็จะเต็มใจให้สติปัญญากับเรา (ยากอบ 1:5) พระองค์จะให้พลังบริสุทธิ์กับเราด้วยถ้าเราอธิษฐานขอจากพระองค์ และพลังบริสุทธิ์ของพระองค์จะช่วยให้เราพบคำแนะนำที่ฉลาดในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจะช่วยเรารับมือกับปัญหาต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอันตราย และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง—ลูกา 11:13
เพื่อเราจะมีสติปัญญาของพระเจ้า เราต้องพยายามค้นหาสติปัญญานั้น
8. ถ้าเรามีสติปัญญาจากพระเจ้าคนอื่นจะสังเกตเห็นอะไรบ้าง?
8 ในบท 17 เราได้เรียนว่าสติปัญญาของพระยะโฮวาเป็นประโยชน์กับเราเสมอ คนอื่นจะสังเกตเห็นได้ว่าเรามีสติปัญญาจากพระเจ้าจากสิ่งที่เราทำ ยากอบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายว่าคนที่มีสติปัญญาจากพระเจ้าจะเป็นคนแบบไหน เขาเขียนว่า “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น อย่างแรกคือบริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติสุข มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง เต็มไปด้วยความเมตตา ทำให้เกิดผลดีมากมาย ไม่ลำเอียง และไม่เสแสร้ง” (ยากอบ 3:17) ตอนที่เราดูแต่ละแง่มุมของสติปัญญาของพระเจ้า เราอาจถามตัวเองว่า ‘สติปัญญาจากเบื้องบนมีผลยังไงบ้างกับชีวิตของฉัน?’
“บริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติสุข”
9. ความบริสุทธิ์หมายความว่ายังไง และทำไมถึงบอกได้ว่าความบริสุทธิ์เป็นคุณลักษณะแรกของสติปัญญาจากเบื้องบน?
9 “อย่างแรกคือบริสุทธิ์” เพื่อจะเป็นคนบริสุทธิ์เราต้องสะอาดทั้งด้านการกระทำ ความคิด และความรู้สึกด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสติปัญญา “เข้ามา” ในหัวใจ แต่พระยะโฮวาจะไม่ให้สติปัญญาของพระองค์กับคนที่มีความคิด ความต้องการ และเจตนาที่ชั่วร้าย (สุภาษิต 2:10; มัทธิว 15:19, 20) แต่ถ้าหัวใจเราบริสุทธิ์เท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็จะ ‘เลิกทำชั่ว และทำดี’ (สดุดี 37:27; สุภาษิต 3:7) คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เข้าใจชัดเจนว่าเพื่อจะได้สติปัญญาของพระเจ้าเราต้องเป็นคนสะอาดในทุกด้านก่อน เราถึงจะมีคุณลักษณะอื่น ๆ ของสติปัญญาจากเบื้องบนได้
10, 11. (ก) ทำไมถึงสำคัญที่เราจะมีสันติสุขกับคนอื่น? (ข) ถ้าคุณรู้สึกว่าทำให้พี่น้องโกรธคุณจะทำยังไงเพื่อจะคืนดีกับเขา? (ดูเชิงอรรถ)
10 “สันติสุข” ถ้าเรามีสติปัญญาจากพระยะโฮวาเราจะพยายามเต็มที่เพื่อจะมีสันติสุขกับคนอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราใช้ชีวิตตามการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า (กาลาเทีย 5:22) เราพยายามที่จะไม่ทำลาย “สันติสุขที่ผูกพัน” คนของพระยะโฮวาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน (เอเฟซัส 4:3) เรายังพยายามที่จะได้สันติสุขกลับคืนมาถ้าเรามีปัญหากับพี่น้อง ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ? คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรา “ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขต่อ ๆ ไป แล้วพระเจ้าผู้มีความรักและเป็นผู้ให้สันติสุขจะอยู่กับพวกคุณ” (2 โครินธ์ 13:11) ดังนั้น ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีสันติสุขต่อ ๆ ไปพระเจ้าผู้ให้สันติสุขจะอยู่กับเรา สิ่งที่เราพูดและทำกับเพื่อนร่วมความเชื่อมีผลมากกับความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา แต่เราจะทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่สร้างสันติได้ยังไง? ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน
11 คุณควรทำยังไงถ้ารู้สึกว่าทำให้พี่น้องโกรธ? พระเยซูบอกว่า “ดังนั้น ถ้าคุณเอาของถวายมาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่ามีคนโกรธคุณอยู่ ให้วางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาก่อนและไปคืนดีกับเขา แล้วค่อยกลับมาถวายของนั้น” (มัดธาย 5:23, 24) ดังนั้น คุณควรเข้าไปหาพี่น้องและคุยกับเขาโดยมีเป้าหมายที่จะ “คืนดี” กับเขาb แทนที่จะบอกว่าเขาไม่มีเหตุผลเลยที่รู้สึกอย่างนั้น คุณอาจต้องไปขอโทษที่ทำให้เขาเสียใจ ถ้าคุณเข้าไปหาเขาโดยมีเป้าหมายที่จะคืนดีและพยายามที่จะได้สันติสุขกลับคืนมา พวกคุณก็จะแก้ไขเรื่องที่เข้าใจผิดกันได้ พร้อมจะขอโทษและให้อภัยกัน เมื่อคุณพยายามเต็มที่เพื่อจะคืนดีกับพี่น้อง คุณก็แสดงให้เห็นว่าคุณใช้ชีวิตตามสติปัญญาของพระเจ้า
“มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง”
12, 13. (ก) คำว่า “มีเหตุผล” ที่ยากอบ 3:17 มีความหมายว่ายังไง? (ข) เราจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเราเป็นคนมีเหตุผล?
12 “มีเหตุผล” การมีเหตุผลหมายถึงอะไร? นักวิชาการบอกว่าคำภาษากรีกที่แปลว่า “มีเหตุผล” ในยากอบ 3:17 เป็นคำที่แปลยาก คำนี้อาจหมายถึง “อ่อนโยน” “อดทนอดกลั้น” หรือ “กรุณา” เราจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเป็นคนมีเหตุผล?
13 ฟีลิปปี 4:5 บอกว่า “ให้คนอื่นเห็นว่าพวกคุณเป็นคนมีเหตุผล” ข้อนี้แสดงว่าแค่เราคิดว่าเราเป็นคนมีเหตุผลยังไม่พอ แต่ที่สำคัญคือคนอื่นมองเรายังไง เราได้ชื่อว่าเป็นคนมีเหตุผลไหม คนที่มีเหตุผลจะไม่ยืนกรานให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎอย่างเคร่งครัดหรือเรียกร้องให้คนอื่นทำตามที่เขาต้องการเสมอ แต่เขาเต็มใจรับฟังคนอื่นและเมื่อเห็นว่าเหมาะสมก็ยอมทำตามที่คนอื่นต้องการ เขาจะอ่อนโยนและไม่หยาบคายกับคนอื่นด้วย ถึงแม้เรื่องนี้สำคัญสำหรับคริสเตียนทุกคน แต่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้ดูแล เพราะถ้าเขาอ่อนโยนคนอื่นก็อยากเข้ามาหาและคุยกับเขาได้ง่ายขึ้น (1 เธสะโลนิกา 2:7, 8) เราทุกคนควรถามตัวเองว่า ‘คนอื่นคิดว่าฉันเป็นคนเห็นอกเห็นใจ ยอมคนอื่น และอ่อนโยนไหม?’
14. เราจะแสดงให้เห็นได้ยังไงว่าเรา “พร้อมจะเชื่อฟัง”?
14 “พร้อมจะเชื่อฟัง” คำภาษากรีกที่แปลว่า “พร้อมจะเชื่อฟัง” มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่า คำนี้ “ใช้บ่อยครั้งกับทหารที่พร้อมจะเชื่อฟังคำสั่ง” คำนี้ยังถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับการเป็นคน “ว่านอนสอนง่าย” ด้วย คนที่ใช้ชีวิตตามสติปัญญาของพระเจ้าพร้อมจะเชื่อฟังสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก คนอื่นมองว่าเขาเป็นคนไม่เอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ และถ้ามีหลักฐานชัดเจนจากคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าเขาตัดสินใจผิดหรือทำอะไรผิดไป เขาก็พร้อมจะเปลี่ยนทันที คนอื่นมองว่าคุณเป็นอย่างนั้นไหม?
“เต็มไปด้วยความเมตตา ทำให้เกิดผลดีมากมาย”
15. ความเมตตาคืออะไร และทำไมถึงเหมาะที่ยากอบ 3:17 พูดถึง “ความเมตตา” และ “เกิดผลดี” พร้อมกัน?
15 “เต็มไปด้วยความเมตตา ทำให้เกิดผลดีมากมาย” ความเมตตาเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของสติปัญญาจากเบื้องบน เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสติปัญญา “เต็มไปด้วยความเมตตา” สังเกตว่ามีการพูดถึง “ความเมตตา” และ “เกิดผลดี” พร้อมกัน เรื่องนี้เหมาะมากเพราะคัมภีร์ไบเบิลมักจะใช้คำว่า “เมตตา” เพื่ออธิบายเกี่ยวกับคนที่สงสารคนอื่นและอยากจะทำหลายอย่างเพื่อช่วยเขา พจนานุกรมเล่มหนึ่งอธิบายความหมายของความเมตตาว่าเป็น “ความรู้สึกทุกข์ใจเมื่อเห็นใครบางคนเจอเรื่องแย่ ๆ และพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขา” ดังนั้น คนที่มีสติปัญญาของพระเจ้าจะไม่สนใจที่ข้อเท็จจริงและข้อมูลบางอย่างเท่านั้น แต่เขาจะสนใจความรู้สึกของคนอื่น เขาจะแสดงความเมตตาและเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วย แล้วเราจะแสดงว่าเราเมตตาคนอื่นได้ยังไง?
16, 17. (ก) นอกจากความรักต่อพระเจ้าแล้ว อะไรกระตุ้นเราให้มีส่วนร่วมในงานประกาศ และทำไม? (ข) เราแสดงให้เห็นยังไงอีกว่าเรามีความเมตตา?
16 วิธีหนึ่งที่สำคัญคือการประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า อะไรกระตุ้นเราให้ทำงานนี้? อย่างแรกคือความรักต่อพระเจ้า และเราก็อยากทำงานนี้เพราะเราสงสารคนอื่นด้วย (มัทธิว 22:37-39) หลายคนในทุกวันนี้ “ถูกขูดรีดและถูกทอดทิ้งเหมือนแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (มัทธิว 9:36) พวกหัวหน้าศาสนาไม่สนใจและปิดหูปิดตาพวกเขาไม่ให้รู้ความจริงจากคำสอนของพระเจ้า พวกเขาเลยไม่ได้รับการชี้นำจากสติปัญญาของพระเจ้าและไม่รู้สิ่งดีต่าง ๆ ที่รัฐบาลของพระเจ้าจะทำให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ เมื่อเราคิดถึงว่ามีหลายคนที่ต้องได้ยินข่าวดี เราก็ยิ่งรู้สึกสงสารพวกเขาและอยากจะพยายามเต็มที่ที่จะบอกพวกเขาเรื่องความประสงค์ของพระยะโฮวา
17 มีวิธีอื่นอีกไหมที่เราจะแสดงความเมตตาได้? ให้เรานึกถึงตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องคนสะมาเรียที่เจอผู้ชายคนหนึ่งนอนอยู่ข้างถนนเพราะถูกปล้นและถูกทำร้าย พอคนสะมาเรียเห็นแบบนั้นก็รู้สึกสงสารและ “ช่วยเหลือเขา” โดยพันแผลให้คนที่ถูกทำร้ายและดูแลเขาอย่างดี (ลูกา 10:29-37) เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความเมตตาเกี่ยวข้องกับการลงมือให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรา “ทำดีกับทุกคน โดยเฉพาะกับพี่น้องร่วมความเชื่อของเรา” (กาลาเทีย 6:10) ลองคิดถึงบางอย่างที่คุณอาจทำได้ เช่น พี่น้องสูงอายุอาจจำเป็นต้องมีคนช่วยพาไปหอประชุม แม่ม่ายในประชาคมอาจต้องการคนมาช่วยซ่อมแซมบ้าน (ยากอบ 1:27) คนที่ท้อใจอาจต้องการ “คำพูดดี ๆ” เพื่อจะมีกำลังใจ (สุภาษิต 12:25) เมื่อเราแสดงความเมตตาในวิธีต่าง ๆ แบบนี้ เราก็แสดงให้เห็นว่าเราใช้ชีวิตตามสติปัญญาจากพระเจ้าจริง ๆ
“ไม่ลำเอียง และไม่เสแสร้ง”
18. ถ้าเราใช้ชีวิตตามสติปัญญาของพระเจ้าเราจะขจัดอะไรจากใจเรา และทำไม?
18 “ไม่ลำเอียง” สติปัญญาของพระเจ้าช่วยเราไม่ให้คิดว่าเราดีกว่าคนอื่นที่มีเชื้อชาติหรือสีผิวต่างจากเรา ถ้าเราใช้ชีวิตตามสติปัญญาของพระเจ้า เราก็จะพยายามขจัดความลำเอียงออกจากใจเรา (ยากอบ 2:9) เราไม่ทำดีเฉพาะกับคนที่มีการศึกษา คนรวย หรือคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมเท่านั้น และเราจะไม่ดูถูกพี่น้องร่วมความเชื่อของเราถึงเขาจะดูเป็นคนที่ไม่สำคัญอะไร ถ้าพระยะโฮวาเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มารับความรักของพระองค์แล้ว เราก็น่าจะรักพวกเขาด้วยเหมือนกัน
19, 20. (ก) คำภาษากรีกที่แปลว่า “เสแสร้ง” มีที่มายังไง? (ข) เราจะแสดงว่าเรามี “ความรักอย่างจริงใจแบบพี่น้อง” ได้ยังไง และทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ?
19 “ไม่เสแสร้ง” คำภาษากรีกที่แปลว่า “เสแสร้ง” หมายถึง “นักแสดงบนเวที” ในสมัยก่อน นักแสดงกรีกและโรมันจะสวมหน้ากากขนาดใหญ่ตอนแสดงบนเวที ดังนั้น คำภาษากรีกที่แปลว่า “เสแสร้ง” เลยใช้กับคนที่ไม่จริงใจ หรือคนที่พยายามหลอกคนอื่น ถ้าเรามีสติปัญญาของพระเจ้า เราก็จะไม่ทำแบบนั้นกับพี่น้องของเรา และสติปัญญานี้ยังมีผลกับความรู้สึกที่เรามีกับพี่น้องด้วย
20 อัครสาวกเปโตรบอกว่า การที่เรา “เชื่อฟังความจริง” น่าจะทำให้เรามี “ความรักอย่างจริงใจแบบพี่น้อง” (1 เปโตร 1:22) ความรักที่เรามีต่อพี่น้องต้องไม่เห็นได้จากภายนอกเท่านั้น เราจะไม่ทำเป็นว่ารักพี่น้องเพื่อทำให้ตัวเองดูดี ความรักของเราต้องเป็นแบบที่ออกมาจากใจจริง ๆ ถ้าเราทำแบบนั้น พี่น้องก็จะไว้ใจเราเพราะพวกเขาเห็นว่าเราจริงใจกับเขา นี่จะทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้อง และเราก็จะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในประชาคม
“รักษาสติปัญญา . . . เอาไว้”
21, 22. (ก) มีอะไรที่ทำให้เราเห็นว่าโซโลมอนไม่ได้รักษาสติปัญญาไว้? (ข) เราจะรักษาสติปัญญาไว้ได้ยังไง และการทำแบบนั้นมีประโยชน์อะไร?
21 สติปัญญาเป็นของขวัญจากพระยะโฮวา ดังนั้น เราควรรักษาเอาไว้ โซโลมอนบอกว่า “ลูกพ่อ . . . รักษาสติปัญญากับความสุขุมรอบคอบเอาไว้” (สุภาษิต 3:21) แต่โซโลมอนก็ไม่ได้ทำแบบนั้น ถ้าเขาเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอเขาจะมีสติปัญญา ในที่สุด พวกภรรยาต่างชาติก็ทำให้เขาไม่ได้นมัสการพระยะโฮวาอย่างที่พระองค์ยอมรับอีกต่อไป (1 พงศ์กษัตริย์ 11:1-8) สิ่งที่เกิดขึ้นกับโซโลมอนแสดงให้เห็นว่าความรู้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเราไม่ได้เอามันไปใช้
22 เราจะรักษาสติปัญญาเอาไว้ได้ยังไง? แค่การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือต่าง ๆ ที่ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” เตรียมให้นั้นยังไม่พอ เราต้องพยายามเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ด้วย (มัทธิว 24:45) เรามีเหตุผลมากมายที่จะเอาสติปัญญาของพระเจ้ามาใช้ในชีวิต นี่จะช่วยให้เรามีความสุขในตอนนี้ และทำให้เรา “ยึดความหวังเรื่องชีวิตแท้ไว้ให้มั่น” นั่นคือชีวิตในโลกใหม่ (1 ทิโมธี 6:19) และสำคัญที่สุด การเอาสติปัญญาของพระเจ้าไปใช้จะทำให้เราใกล้ชิดมากขึ้นกับพระยะโฮวาผู้ให้สติปัญญากับเรา
a 1 พงศ์กษัตริย์ 3:16 บอกว่าผู้หญิงทั้งสองคนเป็นโสเภณี หนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ในภาษาฮีบรู ผู้หญิงสองคนนี้ถูกพูดถึงว่าเป็นโสเภณี ซึ่งอาจไม่ใช่ในแง่ของการค้าประเวณี แต่เป็นผู้หญิงที่ทำผิดศีลธรรมทางเพศ ทั้งสองคนอาจเป็นคนยิวหรืออาจเป็นคนต่างชาติก็ได้”—จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา