“จงประพฤติอย่างลูกของความสว่าง”
“สวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:24, ล.ม.
1. พระยะโฮวาได้ทรงประทานพระพรอะไรแก่ผู้ที่นมัสการพระองค์? เพราะเหตุใด?
พระเจ้ายะโฮวาเป็น “พระบิดาผู้ทรงบันดาลให้มีดวงสว่าง” และ “ความมืดในพระองค์ไม่มีเลย.” (ยาโกโบ 1:17; 1 โยฮัน 1:5) พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้าตรัสเกี่ยวกับตนเองว่า “เราเป็นความสว่างของโลก. ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.” (โยฮัน 8:12, ล.ม.) เหตุฉะนั้น ผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวา ผู้ติดตามพระบุตรของพระองค์ จึงได้รับพระพรโดยมีความสว่าง—ทางจิตใจ, ศีลธรรม, และฝ่ายวิญญาณ—และพวกเขาเป็น “ดุจดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก.”—ฟิลิปปอย 2:15.
2. มีการบอกไว้ล่วงหน้าถึงความแตกต่างอะไรระหว่างไพร่พลของพระเจ้ากับโลก?
2 นานมาแล้ว ผู้พยากรณ์ยะซายาได้รับการดลใจให้บอกล่วงหน้าเรื่องความแตกต่างดังนี้: “ดูเถอะ, ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้มิด; แต่ส่วนเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องแสงให้, และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า.” ที่จริง มีการพูดถึงมนุษยชาติทั้งสิ้นที่เหินห่างจากพระเจ้าว่าอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของ “ผู้ครอบครองในโมหะความมืดแห่งโลกนี้.”—ยะซายา 60:2; เอเฟโซ 6:12.
3. เพราะเหตุใดเราจึงสนใจอย่างจริงจังในคำแนะนำของเปาโลที่ทันต่อเหตุการณ์?
3 อัครสาวกเปาโลเป็นห่วงเพื่อนคริสเตียนเพื่อว่าเขาจะรักษาตัวให้พ้นจากความมืดดังกล่าว. ท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาที่จะ “ไม่ดำเนินอย่างนานาชาติอีกต่อไป” แต่จะ “ประพฤติอย่างลูกของความสว่าง.” (เอเฟโซ 4:17, (ล.ม.); 5:8) นอกจากนั้น ท่านได้ชี้แจงว่าเขาจะกระทำการนี้สำเร็จได้โดยวิธีใด. ทุกวันนี้ ความมืดมนได้แผ่คลุมนานาชาติหนาทึบมากขึ้นทุกที. โลกจมลึกลงไปในปลักแห่งการล้มละลายด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. ผู้นมัสการของพระยะโฮวาต้องทำการสู้รบที่หนักหน่วงน่ากลัวมากยิ่งขึ้น. ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงสนใจอย่างจริงจังในสิ่งที่เปาโลได้กล่าว.
เรียนรู้จักพระคริสต์
4. เปาโลนึกถึงอะไรเมื่อกล่าวว่า “ท่านไม่ได้เรียนรู้จักพระคริสต์อย่างนั้น”?
4 ภายหลังการพรรณนาถึงการมุ่งแสวงอันไร้ประโยชน์และความไม่สะอาดของโลกนี้แล้ว อัครสาวกเปาโลได้มุ่งความเอาใจใส่กลับไปที่เพื่อนคริสเตียนในเมืองเอเฟโซ. (โปรดอ่านเอเฟโซ 4:20, 21.) เปาโลได้ใช้เวลาประกาศสั่งสอนที่เมืองนั้นประมาณสามปี และท่านคงได้รู้จักคุ้นเคยกับหลายคนในประชาคมนั้นเป็นส่วนตัว. (กิจการ 20:31-35) ดังนั้น เมื่อท่านพูดว่า “ท่านไม่ได้เรียนรู้จักพระคริสต์อย่างนั้น” ท่านกล่าวตามที่ท่านรู้มาว่าคริสเตียนชาวเอเฟโซไม่ได้รับการสั่งสอนรูปแบบแห่งความจริงที่ยอมให้ตามใจ, ที่จืดจางไปซึ่งยอมให้กับการกระทำผิดอย่างมหันต์ดังที่ท่านได้บรรยายไว้ในข้อ 17 ถึง 19. ท่านทราบดีว่าคนเหล่านั้นได้รับการสอนวิถีชีวิตเยี่ยงคริสเตียนแท้อย่างถูกต้องและถี่ถ้วน ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงวางตัวอย่างไว้. ด้วยเหตุผลนี้เอง พวกเขาจึงไม่ดำเนินในความมืดเหมือนนานาชาติดำเนินอยู่ แต่พวกเขาเป็นลูกของความสว่าง.
5. ต่างกันอย่างไรระหว่างการอยู่ในความจริงอย่างผิวเผินกับการมีความจริงอยู่ภายในตัวเรา?
5 เช่นนั้นแล้ว เป็นสิ่งสำคัญเพียงไรที่จะ “เรียนรู้จักพระคริสต์” ด้วยวิธีอันเหมาะสม! มีวิธีที่ผิดไหมในการเรียนรู้จักพระคริสต์? มีแน่นอน. ก่อนหน้านั้น ที่เอเฟโซ 4:14 เปาโลได้เตือนพวกพี่น้องว่า “เราจะไม่เป็นเด็กต่อไป, ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง, และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง.” ปรากฏชัดว่ามีบางคนซึ่งได้มารู้จักพระคริสต์แล้ว แต่ยังดำเนินในทางของโลกและกระทั่งพยายามชักชวนคนอื่นให้ไปทางนั้นด้วยซ้ำ. ทั้งนี้แสดงให้เราเห็นถึงอันตรายของการเพียงแต่อยู่ในความจริงไหม อย่างที่บางคนเคยพูด แทนที่จะมีความจริงอยู่ภายในตัวเรา? ในสมัยเปาโล คนที่มีความเข้าใจแค่ผิวเผินมักจะถูกคนอื่นชักนำได้โดยง่ายดายและอย่างเร็ว และทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นด้วย. เพื่อป้องกันมิให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เปาโลได้กล่าวต่อไปว่าชาวเอเฟโซจำเป็นต้อง ‘ได้ยินพระคริสต์และได้รับการสั่งสอนโดยทางพระเยซู.’—เอเฟโซ 4:21, ล.ม.
6. สมัยนี้ พวกเราสามารถเรียนรู้, ได้ยิน, และรับการสั่งสอนจากพระคริสต์ได้โดยวิธีใด?
6 คำว่า “เรียนรู้” “ได้ยิน” และ “รับการสั่งสอน” ตามที่เปาโลใช้คำเหล่านี้หมายถึงกระบวนการสั่งสอนและการให้ความรู้ เช่นเดียวกับในโรงเรียน. จริงอยู่ ทุกวันนี้ เราไม่ได้ยิน, หรือเรียน, หรือได้รับการสอนโดยตรงจากพระเยซู. แต่พระองค์ทรงนำในด้านให้การศึกษาขนานใหญ่ทั่วโลก โดยทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” ของพระองค์. (มัดธาย 24:45-47; 28:19, 20) เราสามารถจะ “เรียนรู้จักพระคริสต์” ได้อย่างเหมาะสมและถี่ถ้วนถ้าเรารับอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำตามที่ชนจำพวกบ่าวจัดหาให้ ศึกษาด้วยความขยันหมั่นเพียรทั้งโดยส่วนตัวหรือในประชาคม, คิดรำพึงสิ่งที่เรียน, และนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ. จงทำให้แน่ใจว่าเราใช้การจัดเตรียมทั้งหมดอย่างเต็มที่ เพื่อเราจะพูดได้ด้วยความสัตย์จริงว่าเราได้ ‘ฟังเรื่องพระองค์และได้รับการสอนโดยพระองค์.’
7. อาจแลเห็นความหมายอะไรเป็นพิเศษในถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “ความสัตย์จริงซึ่งมีอยู่ในพระเยซู”?
7 น่าสนใจ ที่เอเฟโซ 4:21 (ล.ม.) หลังจากเน้นกระบวนการเรียนรู้แล้ว เปาโลกล่าวเสริมดังนี้: “เหมือนที่ความจริงมีอยู่ในพระเยซู.” ผู้เขียนข้อสังเกตคัมภีร์ไบเบิลบางคนให้ความสนใจข้อเท็จจริงที่ว่านาน ๆ ครั้งเปาโลใช้พระนามเยซูโดด ๆ โดยไม่มีบรรดาศักดิ์ต่อท้ายในการเขียนของท่าน. ที่จริง ข้อนี้เท่านั้นเป็นครั้งเดียวของการใช้พระนามนั้นในวิธีนี้ในจดหมายที่เขียนถึงชาวเอเฟโซ. มีความสำคัญอะไรเป็นพิเศษหรือเกี่ยวกับเรื่องนี้? บางทีเปาโลอาจนึกถึงตัวอย่างซึ่งพระเยซูวางไว้ในฐานะเป็นบุคคล. จำไว้ว่าครั้งหนึ่งพระเยซูตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต.” (โยฮัน 14:6; โกโลซาย 2:3) พระเยซูได้ตรัสดังนี้: “เราเป็น . . . ความจริง” เนื่องจากพระองค์ไม่เพียงแต่พูดและสอนความจริงแต่ทรงดำเนินชีวิตตามความจริงและให้ความจริงปรากฏออกมาในบุคลิกของพระองค์. ถูกแล้ว ศาสนาคริสเตียนหาใช่เป็นแค่แนวความคิดเท่านั้น แต่เป็นทางแห่งชีวิต. ที่จะ “เรียนรู้จักพระคริสต์” หมายรวมถึงเรียนรู้จะเอาอย่างพระองค์ในการดำเนินชีวิตตามความจริง. คุณจัดชีวิตของคุณตามแบบพระเยซูไหม? แต่ละวันคุณติดตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิดไหม? โดยกระทำดังกล่าวเท่านั้น เราจะสามารถประพฤติอย่างลูกของความสว่างได้.
“จงละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่า”
8. เปาโลใช้อุทาหรณ์อะไรที่เอเฟโซ 4:22-24 และทำไมจึงเหมาะสม?
8 เพื่อชี้ให้เห็นวิธีที่เราจะ “เรียนรู้จักพระคริสต์” ได้สำเร็จ และประพฤติอย่างลูกของความสว่าง เปาโลจึงกล่าวต่อไปที่เอเฟโซ 4:22-24 (ล.ม.) ว่ามีสามขั้นตอนต่าง ๆ กันที่เราต้องปฏิบัติตาม. ขั้นตอนแรกคือ “ท่านทั้งหลายควรละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของท่าน และซึ่งถูกทำให้เสื่อมเสียตามความปรารถนาอันหลอกลวง” ของบุคลิกลักษณะเก่านั้น. (เอเฟโซ 4:22, ล.ม.) คำพูดที่ว่า “ละทิ้ง” (“ถอด” คิงดอมอินเทอร์ลิเนีย) และ “สวมใส่” (ข้อ 24) ทำให้เกิดภาพในใจว่าเป็นการถอดและสวมใส่เสื้อผ้า. นี้เป็นการอุปมาแฝงซึ่งเปาโลใช้บ่อยและเป็นวิธีพูดที่ได้ผล. (โรม 13:12, 14; เอเฟโซ 6:11-17; โกโลซาย 3:8-12; 1 เธซะโลนิเก 5:8) เมื่อเสื้อผ้าที่เราสวมอยู่มีรอยเปื้อน เช่น เกิดขึ้นระหว่างรับประทานอาหาร เราจะเปลี่ยนเร็วที่สุดเท่าที่มีโอกาส. เราควรเป็นห่วงไม่น้อยกว่ากันมิใช่หรือเมื่อเกิดรอยเปื้อนกับสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา?
9. คนเราละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าโดยวิธีใด?
9 ถ้าเช่นนั้น เราจะถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าของเราออกไปโดยวิธีใด? คำ“ละทิ้ง” ในภาษากรีกเป็นรูปของกริยาที่เรียกว่ากาลอาโอริสต์. รูปนี้ของกริยาระบุการกระทำครั้งเดียวแล้วก็เสร็จไป. ทั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า “บุคลิกลักษณะเก่า” (“คนเก่า,” คิงดอมอินเทอร์ลิเนีย) พร้อมด้วย “การประพฤติแต่ก่อน ๆ ของเรา” จะต้องละทิ้งเสียและด้วยการกระทำที่เด็ดเดี่ยว ทิ้งให้หมดเกลี้ยง เด็ดขาด. ไม่ใช่อะไรบางอย่างที่เราจะทำช้า ๆ หรือลังเลใจแล้วจะเป็นผลสำเร็จ. เพราะเหตุใด?
10. เหตุใดคนเราต้องแน่วแน่และเด็ดขาดในการถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่า?
10 ถ้อยคำที่ว่า “ซึ่งถูกทำให้เสื่อมเสีย” แสดงว่า “คนเก่า” อยู่ในแนวทางอย่างต่อเนื่องแห่งการเสื่อมทรามทางศีลธรรม ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น. ตามความเป็นจริงแล้ว เนื่องจากการปฏิเสธความสว่างฝ่ายวิญญาณ มนุษยชาติทั้งปวงกำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ. เปาโลพูดว่านี้แหละคือผลของ “ความปรารถนาอันล่อลวง.” ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังเป็นที่หลอกลวงเพราะสิ่งเหล่านั้นอาจดูไม่มีอันตราย แต่เป็นสิ่งยังความเสียหายในที่สุด. (เฮ็บราย 3:13) หากไม่ได้หยุดยั้ง ผลสุดท้ายจะเป็นความเสื่อมเสียและความตาย. (โรม 6:21; 8:13) ด้วยเหตุนี้ จึงต้องละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่า ถอดทิ้งด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่เด็ดขาด เช่นเดียวกับการถอดทิ้งเสื้อผ้าเก่าและสกปรกนั่นเอง.
“พลังที่กระตุ้นจิตใจ” ที่เปลี่ยนใหม่
11. การเริ่มต้นใหม่ฝ่ายวิญญาณต้องเริ่มขึ้นที่ไหน?
11 คนเราที่ขึ้นมาจากปลักที่มีแต่โคลนไม่เพียงแต่จะต้องถอดเสื้อผ้าเปื้อนสกปรก แต่ต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้หมดจดก่อนจะสวมเสื้อผ้าที่สะอาดเอี่ยม. นี้แหละคือสิ่งที่เปาโลให้เค้าโครงขั้นตอนที่สองไปสู่ความสว่างฝ่ายวิญญาณ: “ท่านทั้งหลายควรถูกเปลี่ยนใหม่ในพลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน.” (เอเฟโซ 4:23, ล.ม.) ดังที่ท่านได้ชี้แจงตอนต้น ในข้อ 17 และ 18 นานาชาติดำเนิน “ด้วยความคิดอันไร้ประโยชน์” และอยู่ “ในความมืดทางจิตใจ.” พูดกันโดยเหตุผล จิตใจเป็นศูนย์การหยั่งเห็นและความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงใหม่จำต้องเริ่มต้นที่นี่. จะทำเช่นนั้นอย่างไร? เปาโลชี้แจงว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้โดยการเปลี่ยนพลังที่กระตุ้นจิตใจของเราเสียใหม่. พลังนั้นได้แก่อะไร?
12. พลังที่กระตุ้นจิตใจคืออะไร?
12 พลังที่กระตุ้นจิตใจของเรา ตามที่เปาโลได้กล่าวนั้น เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ไหม? ไม่ใช่. วลี “พลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน” ตามตัวอักษรอ่านว่า “วิญญาณแห่งจิตใจของท่าน.” ไม่มีกล่าวที่ใดในคัมภีร์ไบเบิลว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้านั้นมนุษย์เป็นเจ้าของหรือเป็นส่วนประกอบของมนุษย์. คำ “วิญญาณ” โดยพื้นฐานแล้วหมายถึง “ลมหายใจ” แต่นอกจากนั้น ในคัมภีร์ไบเบิลคำนี้ใช้ “เพื่อชี้ถึงพลังซึ่งบันดาลใจบุคคลให้สำแดงทัศนะ, น้ำใจ, หรืออารมณ์เฉพาะอย่าง หรือลงมือกระทำการหรือแนวทางบางอย่าง.” (อินไซต์ออนเดอะสคริปเจอร์ส, เล่ม 2 หน้า 1026) ดังนั้น “วิญญาณแห่งจิตใจ” คือพลังที่กระตุ้นหรือผลักดันจิตใจของเรา แนวโน้มหรือความเอนเอียงของจิตใจเราเอง.
13. ทำไมจำต้องเปลี่ยนความโน้มเอียงทางใจของเราเสียใหม่?
13 แนวโน้มหรือความเอนเอียงโดยธรรมชาติแห่งจิตใจที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นไปในทางกายภาพ, เนื้อหนัง, และสิ่งต่าง ๆ ด้านวัตถุ. (ท่านผู้ประกาศ 7:20; 1 โกรินโธ 2:14; โกโลซาย 1:21; 2:18) ถึงแม้คนเราจะได้ละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าพร้อมด้วยกิจปฏิบัติต่าง ๆ แล้วก็ตาม แนวโน้มของจิตใจของเขาที่เอนในทางบาป ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่ช้าก็เร็วก็จะกระตุ้นเขาให้กลับไปหาสิ่งที่เขาได้สลัดทิ้งไป. เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของหลายคนมิใช่หรือ ผู้ซึ่งเคยพยายามจะเลิกสูบบุหรี่, เลิกเมาเหล้า, หรือกิจปฏิบัติที่ไม่ดีอื่น ๆ? ถ้าเขาไม่บากบั่นพยายามจะเปลี่ยนพลังกระตุ้นจิตใจของตนเสียใหม่ การกลับไปเป็นเหมือนเดิมนั้นเป็นสิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้. การเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างแท้จริงต้องหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจิตใจใหม่อย่างถอนราก.—โรม 12:2.
14. พลังกระตุ้นจิตใจอาจถูกเปลี่ยนใหม่ได้อย่างไร?
14 ทีนี้ คนเราจะสร้างพลังใหม่นั้นโดยวิธีใดเพื่อว่าพลังนั้นจะทำให้จิตใจของผู้นั้นเอียงในทางที่ถูกต้อง? คำกริยา “ถูกเปลี่ยนใหม่” ในคัมภีร์กรีกอยู่ในรูปกาลปัจจุบัน แสดงการกระทำที่ต่อเนื่อง. ดังนั้น โดยการที่ศึกษาพระวจนะของพระเจ้าอยู่เรื่อยไป และโดยการใคร่ครวญว่าสิ่งนั้น ๆ หมายถึงอะไรนั่นเองที่พลังกระตุ้นจะได้รับการเปลี่ยนใหม่. นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่าในสมองของคนเรา ความรู้ในรูปสัญญาณไฟฟ้าหรือสัญญาณเคมีเดินทางจากนิวรอนหนึ่งถึงนิวรอนหนึ่ง ผ่านข้ามจุดเชื่อมต่อมากมายที่เรียกว่าซินเนปส์. “ความจำเกี่ยวกับลักษณะบางอย่างถูกสร้างขึ้นที่ซินเนปส์ของเซลล์ประสาทขณะรหัสสัญญาณผ่าน ทิ้งรอยพิมพ์ไว้เบื้องหลัง” ตามที่กล่าวในหนังสือชื่อสมอง (ภาษาอังกฤษ). เมื่อสัญญาณอย่างเดียวกันผ่านครั้งต่อไป เซลล์ประสาทจำได้และตอบรับเร็วขึ้น. เมื่อเวลาผ่านไป อาการเช่นนี้ได้สร้างรูปแบบการคิดแนวใหม่ในตัวบุคคล. ขณะที่เราพากเพียรในการรับเอาความรู้ฝ่ายวิญญาณอันมีคุณค่า ก็มีการสร้างรูปแบบความคิดใหม่ ๆ ขึ้น และพลังที่กระตุ้นจิตใจของเราก็ถูกเปลี่ยนใหม่.—ฟิลิปปอย 4:8.
“ควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่”
15. บุคลิกลักษณะใหม่นั้นใหม่ในแง่ไหน?
15 ประการสุดท้าย เปาโลกล่าวว่า “และควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.” (เอเฟโซ 4:24, ล.ม.) ใช่แล้ว คริสเตียนสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่. “ใหม่” ที่นี่ไม่หมายถึงเวลา แต่ใหม่ด้านคุณภาพ. ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแง่เรื่องใหม่หรือแบบใหม่ล่าสุด แต่หมายถึงบุคลิกลักษณะใหม่เอี่ยมอ่อง “ถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า.” ที่โกโลซาย 3:10 เปาโลใช้ถ้อยคำคล้าย ๆ กันและพูดว่า “กำลังทรงสร้างขึ้นใหม่ในความรู้ตามแบบพระฉายของพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างขึ้นนั้น.” บุคลิกลักษณะใหม่นี้มีขึ้นมาอย่างไร?
16. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าบุคลิกลักษณะใหม่ “ถูกสร้างขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”?
16 พระเจ้ายะโฮวาได้ทรงสร้างมนุษย์คู่แรกคืออาดามกับฮาวา ตามแบบฉายาของพระองค์. เขาทั้งสองได้รับมอบคุณลักษณะทางศีลธรรมและคุณลักษณะฝ่ายวิญญาณเป็นของประทานซึ่งทำให้เขาต่างไปจากสัตว์ทั้งปวงและมีอำนาจเหนือสัตว์เหล่านั้น. (เยเนซิศ 1:26, 27) แม้ว่าการกบฏของเขาเป็นเหตุให้มนุษยชาติทั้งสิ้นตกเข้าสู่บาปและความไม่สมบูรณ์ พวกเราที่เป็นเชื้อสายของอาดามก็ยังมีสมรรถนะจะแสดงออกซึ่งคุณลักษณะทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. พระประสงค์ของพระเจ้าคือให้บรรดาคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าและรับความพอใจใน “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 6:6; 8:19-21; ฆะลาเตีย 5:1, 24.
17. เหตุใดความชอบธรรมและความภักดีเป็นลักษณะเด่นปรากฏอยู่ในบุคลิกลักษณะใหม่?
17 ความชอบธรรมและความภักดีอันแท้จริงเป็นคุณลักษณะสองประการซึ่งเปาโลได้จำแนกไว้เป็นลักษณะพิเศษของบุคลิกลักษณะใหม่. ข้อนี้เน้นหนักยิ่งขึ้นอีกว่าบุคลิกลักษณะใหม่ถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบพระฉายของพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างขึ้นนั้น. บทเพลงสรรเสริญ 145:17 (ล.ม.) แจ้งไว้ว่า “พระยะโฮวาทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์ และภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์.” และวิวรณ์ 16:5 กล่าวถึงพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์เจ้าข้า, ผู้ทรงสภาพอยู่บัดนี้, ผู้ได้ทรงสภาพอยู่ในกาลก่อน, และทรงเป็นผู้บริสุทธิ์, [ผู้ภักดี, ล.ม.] พระองค์ทรงเป็นผู้ชอบธรรม.” จริง ๆ แล้ว ความชอบธรรมและความภักดีเป็นคุณลักษณะสำคัญ ถ้าเราจะประพฤติให้สมกับการถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบพระฉายของพระเจ้า เป็นการสะท้อนสง่าราศีของพระองค์. ขอให้เราเป็นอย่างซะคาเรีย บิดาของโยฮันผู้ให้บัพติสมา ซึ่งได้รับการกระตุ้นโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้กล่าวสรรเสริญพระเจ้า เพราะได้ทรงโปรดให้ไพร่พลของพระองค์ “ปฏิบัติพระองค์ปราศจากความกลัว ด้วยใจสัตย์ซื่อและด้วยความชอบธรรม.”—ลูกา 1:74, 75.
“จงประพฤติอย่างลูกของความสว่างต่อ ๆ ไป”
18. โดยวิธีใดเปาโลช่วยพวกเราแลเห็นแนวทางของโลกอย่างที่เป็นจริง?
18 เมื่อได้พิจารณาคำพูดของเปาโลที่เอเฟโซ 4:17-24 อย่างละเอียดแล้ว เรามีหลายสิ่งที่จะไตร่ตรอง. ในข้อ 17 ถึง 19 เปาโลช่วยเราให้มองเห็นแนวทางของโลกว่าที่แท้แล้วเป็นอย่างไร. การปฏิเสธความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและทำใจให้แข็งกระด้างต่อพระองค์ คนเหล่านั้นที่ยังอยู่กับโลกได้ตัดตัวเองจากบ่อเกิดแห่งชีวิตที่แท้จริง. ผลที่ตามมาก็คือ เขาอยู่อย่างปราศจากจุดหมายแท้หรือขาดการชี้นำ ความพยายามทุกอย่างของเขาสิ้นสุดลงอย่างหาประโยชน์มิได้และปราศจากแก่นสาร. เขาจมลึกลงไปทุกทีและล้มละลายทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. ช่างเป็นสภาพที่น่าอเนจอนาถอะไรเช่นนั้น! นับว่าเป็นเหตุผลที่หนักแน่นสำหรับพวกเราเสียจริง ๆ ที่จะแน่วแน่ตั้งใจประพฤติตนอย่างลูกของความสว่างต่อ ๆ ไป!
19. การชูใจสุดท้ายอะไรที่เราได้รับจากเปาโลเพื่อจะดำเนินต่อไปในการประพฤติตนอย่างลูกแห่งความสว่าง?
19 ครั้นแล้ว ที่ข้อ 20 และ 21 เปาโลก็กล่าวย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ความจริงอย่างจริงจัง เพื่อเราจะไม่เพียงแค่เข้ามาคลุกคลีใกล้ชิดกับความจริง แต่ดำเนินตามความจริงเหมือนที่พระเยซูทรงกระทำ. ประการสุดท้าย ที่ข้อ 22 ถึง 24 ท่านตักเตือนพวกเราให้ถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าและสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่—ทำอย่างเด็ดเดี่ยวและด้วยความตั้งใจ. ในขณะเดียวกัน เราต้องคอยระวังแนวโน้มของจิตใจให้มุ่งไปในช่องทางอันเป็นคุณประโยชน์, ในทิศทางที่เป็นฝ่ายวิญญาณ. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พวกเราต้องหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อการช่วยเหลือ ขณะที่เราดำเนินต่อไปในการประพฤติอย่างลูกของความสว่าง. “เพราะว่าพระเจ้าคือผู้ได้ตรัสว่า: ‘จงให้ความสว่างส่องออกจากความมืด’ และพระองค์ทรงส่องสว่างยังหัวใจของเรา ให้สว่างด้วยความรู้อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าโดยพระพักตร์พระคริสต์.”—2 โกรินโธ 4:6, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
▫ สมัยนี้พวกเราจะ “เรียนรู้จักพระคริสต์” โดยวิธีใด?
▫ ทำไมจะต้องถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าโดยเด็ดขาด?
▫ พลังกระตุ้นจิตใจคืออะไร, และถูกสร้างใหม่อย่างไร?
▫ คุณลักษณะอะไรซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงบุคลิกลักษณะใหม่?
[รูปภาพหน้า 15]
พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต”
[รูปภาพหน้า 16]
“จงถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่า”—ความโกรธ, ความโทโส, ความชั่วร้าย, การพูดเสียดสี, การพูดโลนลามก, และการโกหก.—โกโลซาย 3:8, 9
[รูปภาพหน้า 17]
“และควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:24, ล.ม.