การสร้างบุคลิกลักษณะใหม่ในชีวิตสมรส
“ท่านทั้งหลายควรถูกเปลี่ยนใหม่ในพลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน และควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่.”—เอเฟโซ 4:23, 24, ล.ม.
1. ทำไมไม่ควรถือว่าการสมรสเป็นเรื่องเล่น ๆ ไม่จริงจัง?
การสมรสเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในชีวิต ฉะนั้น จึงไม่ควรถือเป็นเรื่องเล่น ๆ ไม่จริงจัง. ทำไมเป็นเช่นนั้น? เนื่องจากการสมรสเรียกร้องการผูกพันกับอีกคนหนึ่งตราบเท่าชีวิตจะหาไม่. การสมรสหมายถึงการร่วมชีวิตโดยสิ้นเชิงกับบุคคลผู้นั้น. หากจะให้การผูกพันนั้นเป็นการถูกทำนองคลองธรรมย่อมต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ. นอกจากนั้นยังต้องมีพลังโน้มน้าวในทางบวก ‘กระตุ้นจิตใจและจึงสร้างเสริมบุคลิกลักษณะใหม่.’—เอเฟโซ 4:23, 24, ล.ม.; เทียบกับเยเนซิศ 24:10-58; มัดธาย 19:5, 6.
2, 3. (ก) อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะเลือกคู่สมรสอย่างรอบคอบ? (ข) มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการสมรส?
2 มีเหตุผลที่ดีที่จะไม่รีบแต่งงาน โดยยอมให้เป็นไปตามอารมณ์อันเร่าร้อนแห่งความปรารถนาของเนื้อหนัง. เวลาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการเพื่อความเป็นผู้อาวุโสทั้งด้านอุปนิสัยและบุคลิกภาพ. อนึ่ง พร้อมกับกาลเวลาที่ผ่านไปนำมาซึ่งประสบการณ์และความรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิจารณญาณที่ดี. ครั้นแล้ว การเลือกคู่ชีวิตที่เข้ากันได้ดีจึงนับว่าจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่า. ในเรื่องนี้ภาษิตสเปนว่าไว้ชัดเจนทำนองนี้: “เดินคนเดียวดีกว่ามีคู่สมรสที่เข้ากันไม่ได้.”—สุภาษิต 21:9; ท่านผู้ประกาศ 5:2.
3 ชัดแจ้งแล้วว่า การเลือกคู่ที่เหมาะสมเป็นหลักสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตสมรส. คริสเตียนต้องยึดเอาเครื่องนำทางที่ได้จากคัมภีร์ไบเบิลเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ใช่โดยการที่ตนยอมให้ความสวยสะดุดตาและความกดดันในทางรัก ๆ ใคร่ ๆ ครอบงำตนเกินขอบเขต. การสมรสไม่หมายแต่เพียงว่าร่างกายของสองคนร่วมผูกพันกันและกัน. แต่เป็นการร่วมประสานสองบุคลิกภาพ สองครอบครัวและภูมิหลังทางการศึกษาเข้าด้วยกัน อาจคลุมไปถึงวัฒนธรรมสองอย่างและสองภาษาก็เป็นได้. การผูกพันสองบุคคลเป็นหนึ่งเดียวโดยสายสมรสเรียกร้องการใช้ลิ้นอย่างเหมาะสม, ด้วยพลังของคำพูด เราอาจรื้อทำลายลงหรือไม่ก็เสริมสร้างขึ้นได้. จากจุดต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด เราสำนึกถึงสติปัญญาในคำแนะนำของเปาโลที่ให้ ‘สมรสกับผู้เชื่อถือในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น’ คือสมรสกับเพื่อนร่วมความเชื่อ.—1 โกรินโธ 7:39; เยเนซิศ 24:1-4; สุภาษิต 12:18; 16:24.
การรับมือกับความกดดันต่าง ๆ ในสายสมรส
4. ทำไมบางครั้งเกิดมีความไม่ปรองดองกันและความตึงเครียดขึ้นมาในชีวิตสมรส?
4 ถึงแม้เริ่มด้วยรากฐานที่ดี บางครั้งก็เกิดความไม่ปรองดองกัน, ความกดดัน, และความเครียด. สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าคนที่สมรสแล้วหรือไม่สมรส. ปัญหาเกี่ยวกับการเงินและสุขภาพอาจก่อความตึงเครียดขึ้นได้กับสัมพันธภาพใด ๆ ก็ได้. อารมณ์ที่ผันผวนอาจนำไปสู่การปะทะกันทางบุคลิกภาพที่ต่างกันของคู่สมรสที่ดีที่สุด. ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือไม่มีใครเลยสามารถควบคุมลิ้นได้อย่างสมบูรณ์พร้อม อย่างที่ยาโกโบระบุว่า “เราทุกคนต่างก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งในวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์ สามารถเหนี่ยวรั้งทั้งร่างกายของตนได้ด้วย . . . . ลิ้นก็เหมือนกันเป็นอวัยวะเล็ก ๆ แต่กระนั้นก็คุยโต. ดูซิ! ไฟเพียงน้อยนิดก็พอที่จะทำให้ป่าไม้อันกว้างใหญ่ไพศาลลุกไหม้!”—ยาโกโบ 3:2, 5, ล.ม.
5, 6. (ก) อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเกิดความเข้าใจผิด? (ข) อาจต้องทำประการใดเพื่อสมานความร้าวฉาน?
5 เมื่อความกดดันก่อตัวขึ้นในชีวิตสมรส เราจะควบคุมสถานการณ์อย่างไร? เราจะป้องกันไม่ให้การเข้าใจผิดลุกลามกลายเป็นการวิวาทและการวิวาทกลายเป็นการบาดหมางกระทั่งตัดขาดความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้อย่างไร? ตอนนี้แหละที่พลังกระตุ้นจิตใจมีบทบาท. พลังกระตุ้นนี้อาจเป็นในทางบวกหรือทางลบ, เสริมสร้างกันขึ้นและสนใจทางฝ่ายวิญญาณหรือทำให้เสื่อมถอย ถูกควบคุมโดยความโน้มเอียงของเนื้อหนัง. หากเป็นในทางเสริมสร้าง ผู้นั้นก็จะลงมือปฏิบัติเพื่อสมานรอยร้าว เพื่อรักษาการสมรสของตนให้ดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง. การโต้เถียง และการไม่เห็นพ้องต้องกันจะไม่เป็นเหตุให้การสมรสถึงขั้นแตกหัก. ความเข้าใจผิดใด ๆ จะถูกขจัดให้หมดไปและความนับถือความเข้าใจระหว่างกันจะคืนมาอีกได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งมาจากคัมภีร์ไบเบิล.—โรม 14:19; เอเฟโซ 4:23, 26, 27.
6 คำพูดของเปาโลเหมาะกับสภาพการณ์ดังกล่าวอย่างแท้จริงที่ว่า “เหตุฉะนั้น ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมตัวท่านด้วยความเอ็นดูอย่างลึกซึ้ง, ความกรุณา, ใจถ่อม, ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นาน. จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้าง ถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องเชื่อมสามัคคีที่ดีพร้อม.”—โกโลซาย 3:12-14, ล.ม.
7. บางคนอาจมีปัญหาอะไรในชีวิตสมรสของตน?
7 ข้อคัมภีร์นี้อ่านง่าย แต่ภายใต้ความกดดันในชีวิตสมัยปัจจุบัน ที่จะปฏิบัติตามนั้นไม่ง่ายเสมอไป. ปัญหาหลักอาจจะเป็นอะไร? บางครั้ง โดยไม่รู้ตัว คริสเตียนอาจดำเนินชีวิตโดยการติดตามมาตรฐานสองอย่างต่างกัน. ที่หอประชุมเขาอยู่ท่ามกลางพี่น้อง และเขาประพฤติด้วยท่าทีกรุณาและด้วยการคำนึงถึงผู้อื่น. ครั้นแล้ว เมื่ออยู่ที่บ้าน ทำกิจวัตรต่าง ๆ เขาอาจไม่ค่อยนึกถึงสัมพันธภาพฝ่ายวิญญาณของตนเอง. ที่นั่นมีเพียงสามีและภรรยา “เขา” และ “เธอ.” ครั้นตกอยู่ในสภาพกดดัน เขา (หรือเธอ) ก็อาจพูดคุยด้วยวาจาที่ขาดความกรุณา ซึ่งจะไม่พูดเช่นนั้นในหอประชุม. เกิดอะไรขึ้น? เพียงชั่วขณะเดียว ความเป็นคริสเตียนสูญหายไป. ผู้รับใช้ของพระเจ้าลืมไปว่า ที่บ้านเขา (หรือเธอ) ก็ยังเป็นพี่น้องคริสเตียนอยู่. พลังกระตุ้นจิตใจเป็นไปในแง่ลบเสียแล้ว แทนที่จะเป็นไปในทางบวก.—ยาโกโบ 1:22-25.
8. จะมีผลอะไรตามมาเมื่อพลังกระตุ้นจิตใจเป็นในทางลบ?
8 อะไรเป็นผลตามมา? สามีอาจเลิกที่จะ ‘อยู่กับภรรยาตามความรู้ ให้เกียรติแก่เธอเหมือนเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า.’ ส่วนภรรยาก็อาจไม่นับถือสามีของตนอีกต่อไป; “จิตใจอ่อนสุภาพและสงบเสงี่ยม” ของเธอหมดไปเสียแล้ว. พลังกระตุ้นความคิดนั้นมุ่งในด้านกายภาพแทนการมุ่งฝ่ายวิญญาณ. “ความคิดของเนื้อหนัง” ได้เข้าครอบงำ. ดังนั้น พึงทำประการใดเพื่อรักษาพลังกระตุ้นนี้เป็นฝ่ายวิญญาณและไปในทางบวก? เราต้องเสริมสภาพฝ่ายวิญญาณของเราให้เข้มแข็ง.—1 เปโตร 3:1-4, 7; โกโลซาย 2:18.
เสริมพลังให้เข้มแข็ง
9. ในชีวิตประจำวัน เราต้องทำการเลือกเอาในเรื่องอะไร?
9 พลังกระตุ้นนั้นคือความโน้มเอียงของจิตใจซึ่งเข้ามามีบทบาทขณะที่เราต้องทำการตัดสินใจและการเลือกในโอกาสต่าง ๆ. ชีวิตยื่นเสนอเรื่องราวหรือเหตุการณ์มากมายที่เลือกได้—ทั้งดีและชั่ว, เห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัว, ตรงตามศีลธรรมหรือผิดศีลธรรม. อะไรจะช่วยเราทำการตัดสินใจอย่างถูกต้อง? พลังกระตุ้นจิตใจนั่นเอง หากแน่วแน่มุ่งจะกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้อธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงแนะนำข้าพเจ้าไปในทางข้อกฎหมายของพระองค์; และข้าพเจ้าจะรักษาทางนั้นไว้จนถึงที่สุดปลาย.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:33; ยะเอศเคล 18:31; โรม 12:2.
10. เราจะเสริมพลังกระตุ้นจิตใจให้เข้มแข็งในทางก่อโดยวิธีใด?
10 สัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับพระยะโฮวาจะส่งเสริมเราให้กระทำเป็นที่พอพระทัยของพระองค์และหลีกห่างจากสิ่งชั่ว รวมไปถึงการไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสด้วย. ชนชาติยิศราเอลถูกกระตุ้นให้ “กระทำซึ่งการดีและการชอบในคลองพระเนตรพระยะโฮวาพระเจ้า [ของพวกเขา].” แต่นอกจากนี้ พระเจ้าทรงแนะนำอีกว่า “ท่านทั้งหลายที่รักพระยะโฮวา, จงเกลียดการชั่ว.” เมื่อคำนึงถึงบัญญัติข้อที่เจ็ดแห่งพระบัญญัติสิบประการที่ว่า “อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา” ชาวยิศราเอลก็ต้องเกลียดการผิดประเวณี. บัญญัติข้อนั้นแสดงว่าพระเจ้าทรงเคร่งครัดในเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส.—พระบัญญัติ 12:28; บทเพลงสรรเสริญ 97:10; เอ็กโซโด 20:14; เลวีติโก 20:10.
11. เราจะเสริมพลังกระตุ้นจิตใจของเราให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นโดยวิธีใด?
11 เราจะเสริมพลังซึ่งกระตุ้นจิตใจให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นได้โดยวิธีใด? โดยที่เราหยั่งรู้ค่ากิจกรรมและค่านิยมต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณ. ข้อนี้หมายความว่าเราต้องศึกษาพระวจนะของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอจนเป็นที่หนำใจ และพึงเรียนรู้ที่จะมีความยินดีในการพิจารณาพระดำริและคำแนะนำของพระยะโฮวาด้วยกัน. ความรู้สำนึกจากหัวใจของเราควรเป็นอย่างความรู้สึกของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ: “ข้าพเจ้าได้แสวงหาพระองค์ด้วยสุดใจ; ขออย่าให้ข้าพเจ้าหลงไปจากข้อบัญญัติของพระองค์เลย. พระดำรัสของพระองค์นั้นข้าพเจ้าได้จดจำไว้ในใจ, เพื่อข้าพเจ้าจะไม่กระทำผิดต่อพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงแนะนำข้าพเจ้าไปในทางข้อกฎหมายของพระองค์; และข้าพเจ้าจะรักษาทางนั้นไว้จนถึงที่สุดปลาย. ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจ, แล้วข้าพเจ้าจะได้รักษาพระบัญญัติของพระองค์ไว้; ข้าพเจ้าจะถือรักษาไว้ด้วยสุดใจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:10, 11, 33, 34.
12. สิ่งที่จะช่วยให้เราสะท้อนพระทัยของพระคริสต์ร่วมกันนั้นมีอะไรบ้าง?
12 ที่จะคงไว้ซึ่งการหยั่งรู้ค่าแบบนี้ต่อหลักการต่าง ๆ อันชอบธรรมของพระยะโฮวาก็ใช่ว่าเป็นเพียงการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่โดยการมีส่วนร่วมการประชุมคริสเตียนและเข้าส่วนร่วมงานรับใช้ของคริสเตียนด้วยกันเป็นประจำ. สิ่งที่มีอิทธิพลที่ก่อผลกว้างขวางสองประการเหล่านี้ย่อมเสริมแรงกระตุ้นจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อวิถีชีวิตอันไม่เห็นแก่ตัวของเราจะสะท้อนพระทัยของพระคริสต์เสมอ.—โรม 15:5; 1 โกรินโธ 2:16.
13. (ก) เหตุใดการอธิษฐานเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมพลังกระตุ้นจิตใจ? (ข) ในเรื่องนี้พระเยซูได้ทรงวางตัวอย่างอะไร?
13 ปัจจัยอีกข้อหนึ่งก็คือสิ่งที่เปาโลเน้นในจดหมายที่ท่านมีไปถึงชาวเอเฟโซที่ว่า “โดยคำอธิษฐานวิงวอนทุกอย่างจงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา.” (เอเฟโซ 6:18) สามีกับภรรยาจำต้องอธิษฐานด้วยกัน. การอธิษฐานเช่นนั้นมักจะเป็นการเปิดหัวใจและนำไปสู่การสนทนาจากใจจริงซึ่งจะแก้ไขการแตกร้าวใด ๆ ได้. ยามมีการทดลองและสิ่งล่อใจ จำเป็นที่เราพึงเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการอธิษฐานขอการช่วยเหลือ ขอความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเพื่อจะทำสิ่งที่สอดคล้องกับพระทัยของพระคริสต์. แม้พระเยซูผู้สมบูรณ์พร้อมก็ได้อธิษฐานขอต่อพระบิดาของพระองค์ในวาระต่าง ๆ กันหลายครั้งเพื่อจะมีพลังเข้มแข็ง. การอธิษฐานของพระองค์แสดงความรู้สึกจากหัวใจและเร่าร้อน. ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ในยามที่ถูกล่อใจ เราสามารถได้รับความเข้มแข็งเพื่อทำการตัดสินใจอย่างถูกต้องโดยที่เราทูลขอพระยะโฮวาโปรดช่วยเราต้านทานความปรารถนาที่ยอมแพ้แก่ตัณหาแล้วทรยศต่อคำปฏิญาณการสมรส.—บทเพลงสรรเสริญ 119:101, 102.
ตัวอย่างเปรียบเทียบการประพฤติ
14, 15. (ก) โยเซฟมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการล่อใจ? (ข) อะไรเป็นเครื่องช่วยโยเซฟต่อต้านการล่อใจ?
14 เราจะเผชิญการล่อใจได้อย่างไร? ในเรื่องนี้เราเห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างแนวทางการประพฤติของโยเซฟและดาวิด. เมื่อภรรยาของโพติฟาพยายามอย่างไม่ลดละที่จะล่อโยเซฟชายรูปงามให้ทำผิด ดูเหมือนว่าตอนนั้นโยเซฟเป็นชายโสด ในที่สุดท่านก็ได้ตอบนางว่า “ในเรือนนี้ก็ไม่มีใครใหญ่กว่าข้าพเจ้า; นาย [สามีของนาง] มิได้หวงสิ่งใดไว้จากข้าพเจ้า; ยกเสียแต่ตัวท่านเพราะเป็นภรรยาของนาย: ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.”—เยเนซิศ 39:6-9.
15 อะไรได้ช่วยโยเซฟให้เลือกแนวทางที่ถูกต้องในเมื่อการถลำตัวกระทำผิดนั้นช่างง่ายดายนัก? ท่านมีพลังที่เข้มแข็งกระตุ้นจิตใจของท่าน. ท่านสำนึกอย่างแท้จริงถึงสัมพันธภาพระหว่างตัวท่านเองกับพระยะโฮวา. ท่านรู้ว่าการประพฤติผิดศีลธรรมกับหญิงที่ลุ่มหลงคนนี้ย่อมเป็นบาปอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ทำผิดต่อสามีของนาง แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือเป็นบาปต่อพระเจ้า.—เยเนซิศ 39:12.
16. ดาวิดมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการล่อใจ?
16 ในทางตรงกันข้าม เกิดอะไรขึ้นกับดาวิด? ท่านเป็นชายที่สมรสแล้ว มีภรรยาหลายคนตามที่กฎหมายอนุญาต. เย็นวันหนึ่ง จากราชวัง ท่านได้เฝ้าดูสตรีนางหนึ่งอาบน้ำ. นางคือบัธเซบะ ผู้มีความสวยงาม เป็นภรรยาของอูรียา. เห็นได้ชัดว่า ดาวิดมีทางเลือกปฏิบัติ—จะคอยเฝ้ามองอยู่ต่อไปขณะที่ราคะก่อตัวขึ้นในหัวใจ หรือเดินหนีไปให้พ้นและต่อต้านการล่อใจเช่นนั้น. ท่านเลือกทำอะไร? ท่านได้สั่งให้คนไปพานางมาที่ราชวัง และท่านได้เล่นชู้กับนาง. ซ้ำร้ายกว่านั้น ท่านดำเนินการขั้นต่อไปจนเป็นเหตุให้สามีของนางเสียชีวิต.—2 ซามูเอล 11:2-4, 12-27.
17. เราพอจะอนุมานอะไรได้เกี่ยวด้วยสภาพฝ่ายวิญญาณของดาวิด?
17 อะไรคือปัญหาของดาวิด? จากคำสารภาพของท่านด้วยใจรันทดในเวลาต่อมาในเพลงสรรเสริญบท 51, (ฉบับแปลใหม่) เราสามารถสืบสาวหาข้อเท็จจริงได้บางข้อ. ท่านกล่าวดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า, ขอทรงสร้างใจสะอาดภายในข้าพระองค์ แลฟื้นน้ำใจที่หนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์.” ปรากฏชัดว่าตอนที่ท่านถูกการทดลองครั้งนั้น น้ำใจของท่านไม่สะอาดและไม่มั่นคง. อาจเป็นได้ที่ท่านได้ละเลยการอ่านบทบัญญัติของพระยะโฮวา จึงทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณของท่านอ่อนแอไป. หรือท่านอาจได้ปล่อยให้ตำแหน่งและอำนาจการเป็นกษัตริย์บ่อนทำลายความคิดของท่านให้เสียไป กระทั่งหลงไปติดบ่วงราคะตัณหา. เป็นที่แน่นอน พลังกระตุ้นจิตใจของท่านในตอนนั้นเป็นแบบที่เห็นแก่ตัวและชั่ว. ดังนั้น ท่านได้มาตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมี “น้ำใจที่หนักแน่นขึ้นใหม่ภายใน.”—บทเพลงสรรเสริญ 51:10, ฉบับแปลใหม่; พระบัญญัติ 17:18-20.
18. พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการเล่นชู้?
18 ชีวิตสมรสของคริสเตียนบางรายพังทลายเพราะสามีหรือภรรยาหรือทั้งสองฝ่ายปล่อยตัวเองอยู่ในสภาพอ่อนแอฝ่ายวิญญาณคล้าย ๆ กันกับกษัตริย์ดาวิด. ตัวอย่างของท่านน่าจะเป็นเครื่องเตือนสติพวกเราที่จะไม่มองหญิงอื่นหรือชายอื่นด้วยใจกำหนัดอยู่เรื่อย ๆ เพราะในที่สุดอาจยังผลเป็นการเล่นชู้ได้. พระเยซูทรงแสดงว่าพระองค์เข้าใจอารมณ์ของมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะพระองค์ได้ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า, ‘อย่าล่วงประเวณีผัวเมีย’ ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า, ผู้ใดแลดูผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น, ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว.” ในกรณีดังกล่าว พลังกระตุ้นจิตใจนั้นเป็นแบบที่เห็นแก่ตัวและเต็มไปด้วยราคะตัณหา, ไม่เป็นฝ่ายวิญญาณ. เช่นนั้นแล้ว คริสเตียนพึงทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเล่นชู้และรักษาชีวิตสมรสของตนให้ราบรื่นเป็นสุขและเกิดความอิ่มใจ?—มัดธาย 5:27, 28.
เสริมความผูกพันในสายสมรสให้มั่นคง
19. อาจเสริมชีวิตสมรสให้มั่นคงได้อย่างไร?
19 กษัตริย์ซะโลโมทรงจารึกไว้ดังนี้: “ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายเขา, สองคนคงจะช่วยเขาไว้ได้; เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้.” แน่นอน สองคนร่วมประสานกันในชีวิตสมรสสามารถยืนหยัดร่วมกันต้านศัตรูได้ดีกว่าคนเดียว. แต่ถ้าเกลียวสัมพันธ์ของเขาเป็นเหมือนเชือกสามเกลียวโดยการมีพระเจ้าร่วมด้วย ชีวิตสมรสก็จะมั่นคง. และพระเจ้าจะรวมอยู่ในชีวิตสมรสได้อย่างไร? โดยที่บุคคลทั้งสองนำหลักการและคำแนะนำของพระองค์มาใช้ในชีวิตสมรสของตน.—ท่านผู้ประกาศ 4:12.
20. คำแนะนำอะไรในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยสามีได้?
20 แน่ใจได้ทีเดียว หากสามีปฏิบัติตามคำแนะนำจากข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ ชีวิตสมรสของเขาคงต้องมีพื้นฐานอันมั่นคงยิ่งขึ้นเพื่อความสำเร็จ:
“ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับเขาต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลายเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง เนื่องจากท่านทั้งหลายเป็นผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับเขา เพื่อคำอธิษฐานของท่านจะไม่ถูกขัดขวาง.”—1 เปโตร 3:7, ล.ม.
“สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม. โดยวิธีนี้สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง.”—เอเฟโซ 5:25, 28, ล.ม.
“สามีของนางก็สรรเสริญเขาด้วยว่า: สตรีหลายคนได้ประพฤติดี; แต่เธอนั้นเยี่ยมกว่าเพื่อน.”—สุภาษิต 31:28, 29.
“บุรุษใดเล่าเมื่อเอาไฟใส่ที่หน้าอกของตน, เสื้อผ้าของเขาจะไม่ไหม้หรือ? เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ใดที่เข้าหาภรรยาของเพื่อนบ้าน; ใครที่แตะต้องหญิงนั้นจะไม่ได้รับโทษหามิได้. ชายที่ล่วงประเวณี . . . เป็นผู้ทำลายวิญญาณของตนเอง.”—สุภาษิต 6:28, 29, 32.
21. คำแนะนำอะไรในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยภรรยาได้?
21 ถ้าภรรยาเอาใจใส่ปฏิบัติตามหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลดังต่อไปนี้ นั่นจะเป็นส่วนช่วยให้ชีวิตสมรสของเธอยั่งยืน:
“ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา เนื่องจากได้เห็นประจักษ์ถึงการประพฤติอันบริสุทธิ์ของท่านทั้งหลายพร้อมกับความนับถืออันสุดซึ้ง.”—1 เปโตร 3:1-4, ล.ม.
“สามีควรให้แก่ภรรยา [ของตน ] ตามที่เธอควรได้รับ แต่ภรรยาควรกระทำเช่นกันต่อสามี [ของตน ] ด้วย. อย่ารอนสิทธิของกันและกัน เว้นแต่ทั้งสองฝ่ายยินยอมเป็นระยะเวลาหนึ่ง.”—1 โกรินโธ 7:3-5, ล.ม.
22. (ก) ปัจจัยอื่น ๆ อะไรบ้างจะยังผลกระทบในทางที่ดีต่อชีวิตสมรส? (ข) พระยะโฮวาทรงมีทัศนะเช่นไรต่อการหย่าร้าง?
22 อนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เห็นว่า ความรัก, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ, ความเพียรอดทน, ความเข้าใจ, ความชูใจ, และการยกย่อง เป็นด้านอื่น ๆ ที่สำคัญของอัญมณีแห่งสายสมรส. ชีวิตสมรสซึ่งขาดคุณลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าวก็เหมือนต้นพืชที่ขาดแสงแดดและน้ำ—มักจะไม่ออกดอก. ฉะนั้น จงยอมให้พลังกระตุ้นจิตใจผลักดันตัวเราให้สนับสนุนและทำให้เกิดความสุขสดชื่นแก่กันและกันในชีวิตสมรสของเรา. พึงจำไว้ว่า พระยะโฮวาทรง ‘เกลียดการหย่าร้าง.’ ถ้าได้ปฏิบัติต่อกันด้วยความรักแบบคริสเตียนอยู่เสมอ การเล่นชู้และชีวิตสมรสที่พังทลายก็จะไม่เกิดขึ้น. เพราะเหตุใด? “เพราะความรักไม่ล้มเหลวเลย.”—มาลาคี 2:16; 1 โกรินโธ 13:4-8, ล.ม. เอเฟโซ 5:3-5.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ อะไรเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่ชีวิตสมรสที่มีความสุข?
▫ พลังกระตุ้นจิตใจอาจส่งผลกระทบชีวิตสมรสได้อย่างไร?
▫ เราสามารถจะทำประการใดเพื่อเสริมพลังกระตุ้นจิตใจให้เข้มแข็ง?
▫ โยเซฟและดาวิดประพฤติต่างกันอย่างไรเมื่อตกอยู่ภายใต้การล่อใจ?
▫ คำแนะนำอะไรในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยทั้งสามีและภรรยาที่จะเสริมความเกี่ยวพันในชีวิตสมรสให้มั่นคง?
[รูปภาพหน้า 18]
เรามีมาตรฐานสองแบบไหม—อ่อนโยนในประชาคมและหยาบคายเมื่ออยู่ที่บ้าน?