“จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย”
ก่อนและหลัง—หลักการในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ตอนที่เอเดรียนเป็นวัยรุ่น เขาก้าวร้าวและรู้สึกขุ่นเคืองเสมอ. อารมณ์ฉุนเฉียวของเขานำไปสู่การบันดาลโทสะอย่างรุนแรง. เขาดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, และดำเนินชีวิตอย่างผิดศีลธรรม. เอเดรียนเป็นที่รู้กันว่าเป็นพวกพังก์ และเขามีรอยสักบนร่างกายซึ่งส่อนัยว่าเขาเชื่อถือลัทธิอนาธิปไตย. เมื่อเล่าถึงชีวิตสมัยนั้น เขาพูดว่า “ทรงผมของผมเป็นแบบที่พวกพังก์นิยม ใช้เจลเหนียวเป็นพิเศษลูบเส้นผมให้ตั้งเด่ และบางครั้งก็ย้อมสีผมให้แดงหรือให้เป็นสีอื่น.” นอกจากนั้นเอเดรียนยังเจาะจมูกด้วย.
เอเดรียนย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านร้างสภาพทรุดโทรมกับเด็กหนุ่มที่ขืนอำนาจอีกสองสามคน. ที่นั่น พวกเขาดื่มเหล้าและเสพยา. เอเดรียนเล่าว่า “ผมเสพยาบ้าและเวลาเดียวกันผมก็ฉีดแวเลียม และอะไรก็ได้เท่าที่ผมหาได้. เมื่อหายาเสพหรือหากาวดมไม่ได้ ผมก็ใช้สายยางดูดเอาเบนซินจากถังน้ำมันในรถของคนอื่นแล้วสูดดมจนเมา.” เนื่องจากใช้ชีวิตอย่างอาชญากรตามท้องถนน เอเดรียนจึงกลายเป็นคนชอบข่มขู่และใช้ความรุนแรงอย่างยิ่ง. ผู้คนโดยทั่วไปไม่อยากข้องแวะกับเขา. ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงของเขากลับดึงดูดเพื่อนไม่ดีเข้ามารุมล้อม.
เอเดรียนได้ตระหนักทีละน้อยว่า “เพื่อนฝูง” ที่เขาคบหาด้วยนั้นเพียงแต่ต้องการผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว. มากกว่านั้น เขาลงความเห็นว่า “โทสะและความรุนแรงทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น.” ด้วยความรู้สึกอ้างว้าง ไร้จุดหมายและคับข้องใจ เขาเลิกคบเพื่อนเหล่านั้น. เมื่อเขาเจอวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับหนึ่งที่บริเวณก่อสร้าง เนื้อความในวารสารที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิลดึงดูดใจเขา และนี่เองนำไปสู่การศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. ด้วยใจแรงกล้า เอเดรียนตอบรับคำเชิญที่ว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) ผลก็คือ จากนั้นไม่นาน เอเดรียนมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเริ่มใช้หลักการต่าง ๆ ที่พบในพระคัมภีร์.
ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่เพิ่มพูนขึ้นมีผลกระทบที่ดีต่อสติรู้สึกผิดชอบของเอเดรียนและชี้นำเขาให้เปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่. เขาได้รับความช่วยเหลือให้ระงับอารมณ์ฉุนเฉียวและพัฒนาการควบคุมตัวเอง. โดยฤทธิ์เดชแห่งพระคำของพระเจ้า บุคลิกภาพของเอเดรียนได้เปลี่ยนไปมากทีเดียว.—เฮ็บราย 4:12.
แต่คัมภีร์ไบเบิลก่อผลกระทบอันทรงพลังเช่นนั้นได้อย่างไร? ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลช่วยเรา “สวมบุคลิกภาพใหม่.” (เอเฟโซ 4:24, ล.ม.) ใช่แล้ว บุคลิกภาพของเราเปลี่ยนได้โดยที่เรานำเอาความรู้ถ่องแท้ซึ่งพบในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้. แต่ความรู้ดังกล่าวทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงโดยวิธีใด?
ประการแรก คัมภีร์ไบเบิลระบุชัดเจนถึงลักษณะนิสัยแห่งบุคลิกภาพซึ่งไม่เป็นที่น่าปรารถนาซึ่งจำต้องสลัดทิ้ง. (สุภาษิต 6:16-19) ประการที่สอง คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้แสดงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่น่าปรารถนาอันเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. คุณลักษณะเหล่านี้รวมเอา “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การควบคุมตนเอง.”—ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.
อาศัยความเข้าใจข้อเรียกร้องของพระเจ้าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นนี่เอง เอเดรียนจึงได้ตรวจสอบตัวเองและเห็นลักษณะนิสัยแห่งบุคลิกภาพที่พึงปลูกฝังและนิสัยที่จำเป็นต้องขจัดให้หมดสิ้น. (ยาโกโบ 1:22-25) แต่นั่นเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น. นอกจากความรู้ แรงกระตุ้นก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จะกระตุ้นเอเดรียนให้ต้องการเปลี่ยน.
เอเดรียนเรียนรู้ว่าสามารถจะนวดปั้นบุคลิกภาพใหม่ที่น่าปรารถนา “ตามแบบของพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างบุคลิกภาพใหม่นั้น.” (โกโลซาย 3:10, ล.ม.) เขาได้มาตระหนักว่าบุคลิกภาพของคริสเตียนต้องคล้ายคลึงกับบุคลิกภาพของพระเจ้า. (เอเฟโซ 5:1) โดยการศึกษาพระคัมภีร์ เอเดรียนได้เรียนรู้ถึงวิธีที่พระเจ้าติดต่อเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และสังเกตเห็นคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระเจ้า อาทิ ความรัก, ความกรุณา, ความดี, ความเมตตา, และความชอบธรรม. ความรู้ดังกล่าวกระตุ้นเอเดรียนให้รักพระเจ้าและพยายามเป็นบุคคลชนิดที่พระยะโฮวาทรงโปรดปราน.—มัดธาย 22:37.
ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เอเดรียนสามารถข่มห้ามอารมณ์รุนแรงของตนได้. เวลานี้เขากับภรรยาถือเอาเป็นธุระในการช่วยคนอื่นเปลี่ยนแนวทางชีวิตของเขา โดยอาศัยความรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. เอเดรียนบอกว่า “ไม่เหมือนกับเพื่อนแต่ก่อนหลายคนซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ผมยังมีชีวิตอยู่และชีวิตครอบครัวก็มีความสุข.” เขาเป็นพยานหลักฐานที่มีชีวิตซึ่งแสดงว่า คัมภีร์ไบเบิลมีพลังที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น.
[คำโปรยหน้า 25]
“โทสะและความรุนแรงทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น”
[กรอบหน้า 25]
หลักการในคัมภีร์ไบเบิลใช้ได้ผล
ต่อไปนี้คือหลักการบางข้อของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้ช่วยหลายคนที่โมโหฉุนเฉียวและชอบความรุนแรงให้กลายเป็นคนรักความสงบสุข:
“จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง. อย่าแก้แค้นเสียเอง พี่น้องที่รัก แต่จงหลีกทางให้พระพิโรธของพระเจ้า.” (โรม 12:18, 19, ล.ม.) จงให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินว่าพระองค์จะทำการแก้แค้นใครและเมื่อไร. พระองค์สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยความรู้อันบริบูรณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ และการแก้แค้นที่มาจากพระองค์ย่อมสะท้อนความยุติธรรมอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์.
“โกรธเถิด และถึงกระนั้นก็อย่าทำบาป; อย่าให้ตะวันตกโดยที่ท่านยังขุ่นเคืองอยู่ และอย่าเปิดช่องแก่พญามาร.” (เอเฟโซ 4:26, 27, ล.ม.) บางโอกาส คนเราอาจบันดาลโทสะด้วยเหตุอันควร. ถ้าเป็นเช่นนั้น เขาไม่ควรจมอยู่ในสภาพ “ขุ่นเคือง.” เพราะเหตุใด? เพราะหากยังอยู่ในสภาพนั้นเขาอาจถูกกระตุ้นให้ทำการชั่ว จึง “เปิดช่องแก่พญามาร” ยังผลทำให้ไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาพระเจ้า.
“จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) การไม่ระงับอารมณ์นำไปสู่การกระทำที่ควบคุมไม่ได้. ถ้าคนเรายอมแพ้ความโทโส เขาผู้นั้นคงจะพูดหรือทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วยรู้สึกเจ็บใจ.